fbpx
เชียร์ลีดเดอร์ในเงามืด อีกด้านอันน่าเศร้าของอาชีพผู้นำเชียร์

เชียร์ลีดเดอร์ในเงามืด อีกด้านอันน่าเศร้าของอาชีพผู้นำเชียร์

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในอเมริกันเกม คุณไม่ได้จ่ายค่าตั๋วหลายสิบเหรียญฯ ต่อหนึ่งแมตช์ เพื่อดูแค่นักกีฬาวิ่งพล่านไปทั้งสนาม แต่ยังมีมาสค็อตเรียกน้ำย่อย รอบลึกหน่อยมีโชว์เปิดพิเศษ ตลอดจนของสมนาคุณมากมาย และทุกรอบ ที่ขาดไม่ได้คือเชียร์ลีดเดอร์ หรือคนที่ออกมาทำหน้าที่เรียกขวัญกำลังใจให้เหล่านักกีฬา พร้อมกับสร้างความกระชุ่มกระชวยให้คนดูทั้งสองฝั่ง พวกเธอเหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกีฬาและความเป็นอเมริกันชน พร้อมกับภาพฝันแสนหวาน ได้แต่งตัวสวยๆ ได้ใกล้ชิดคนดัง กระทั่งเป็นใบเบิกทางไปสู่อาชีพในวงการอื่นๆ ที่ทำเงินมากกว่าการเป็นคนนำเชียร์

แต่เช่นเดียวกับอีกหลายๆ อาชีพ หลังม่านของเชียร์ลีดเดอร์ก็ซุกซ่อนบาดแผลและความดำมืดไว้มากมาย นับตั้งแต่ประเด็นค่าแรง ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ไปจนถึงความเป็นมนุษย์

น่าสนใจว่าแรกเริ่มนั้น การนำเชียร์เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนชายมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและรัตเกอร์สในนิวเจอร์ซีตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 และเช่นเดียวกับอีกหลายประเด็นในยุคสมัยนั้น การนำเชียร์ไม่ได้มีพื้นที่ให้ผู้หญิงเลย

การนำเชียร์ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับกีฬาซึ่งถูกจัดประเภทไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็นกิจกรรมแบบ ‘ผู้ชาย’ จนล่วงเข้าปี 1923 มหาวิทยาลัยมินนิโซตาก็เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามาร่วมทีมเชียร์ แต่กว่าจะได้รับความนิยมก็อีกนานหลังจากนั้น เพราะแทบไม่มีที่อื่นเลยที่ให้ผู้หญิงเข้าร่วมทีม กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สองราวปี 1940 ที่ผู้ชายถูกเกณฑ์ออกไปรบ จึงเกิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้าร่วม จับกลุ่ม และทำกิจกรรมทั้งในและนอกสนามกีฬา

กระทั่งปี 1970 ผู้นำเชียร์หญิงถูกมองว่า ‘มีมูลค่า’ เป็นครั้งแรกๆ ผ่านสายตาของ เท็กซ์ ชาร์ม ผู้บริหารทีมดัลลัสคาวบอยในลีกอเมริกันฟุตบอล เขาเห็นว่าราคาตั๋วกีฬายังพุ่งขึ้นได้สูงกว่านี้ ถ้าทำให้คนดูเข้าใจว่า พวกเขาไม่ได้มาดูผู้ชายตัวเปื้อนเหงื่อวิ่งขว้างบอลกันอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะได้ดูสาวๆ ในชุดแนบเนื้อเต้นเชียร์อยู่ริมสนามด้วย

หากจะนับว่าชาร์มหัวใสที่มองเห็นหนทางการทำเงินจากค่าตั๋วกีฬาจนสร้างมูลค่าจากผู้นำเชียร์ขึ้นมา เราอาจต้องนับด้วยว่า คนที่หัวใสไม่แพ้กันคือ เจฟฟ์ เว็บบ์ อดีตเชียร์ลีดเดอร์ชายที่ผันตัวมาเป็นพ่อค้าด้วยการทุ่มเงินก้อนจำนวน 85,000 เหรียญฯ ตั้งบริษัท Varsity ที่ในเวลาต่อมากลายเป็นบริษัทตัดชุดกีฬาและผู้นำเชียร์ที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนี้

ทั้งแผนเดินแต้มของชาร์มบวกกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทเสื้อผ้าของเว็บบ์ เปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้นำเชียร์เกือบหมดสิ้น เชียร์ลีดเดอร์หญิงไม่ได้ใส่แค่ชุดแนบเนื้อหรือชุดแบบนักกีฬายิมนาสติกอีกต่อไป แต่พวกเธอต้องสวมชุดวาบหวิวแสนจะแฟนตาซี แถมกฎการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ก็เปลี่ยนไป จากที่เป็นแค่คนช่วยเชียร์นักกีฬา กลับต้องเป็นสาวสวยที่มีความสามารถด้านกีฬาพอสมควร (ก่อนหน้านี้ ชาร์มพยายามจ้างนางแบบให้มานำเชียร์ข้างสนาม ปรากฏว่าเหล่านางแบบไม่แข็งแรงขนาดจะเต้นและเชียร์ได้นานเท่าที่ชาร์มหวัง เขาจึงต้องหาหญิงสาวที่ทั้งสวยและแข็งแรงมากๆ มาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ในที่สุด) และนั่นเองที่กลายมาเป็นมาตรฐานสากลของผู้นำเชียร์ในปัจจุบัน

หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี เชียร์ลีดเดอร์กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล สำหรับหลายๆ คน มันคือใบเบิกทางสำคัญในการไปสู่อาชีพอื่นที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะนางแบบหรือนักแสดง (ซึ่งทำเงินมากกว่าการเป็นคนทำเชียร์แน่ๆ) วงการเชียร์จึงก่อร่างสร้างคนเข้ามาในระบบตั้งแต่สเกลเล็กสุดอย่างโรงเรียน เรื่อยมาจนมหาวิทยาลัย และระดับลีกอาชีพ

“บางคนอาจจะมองว่าผู้นำเชียร์ก็แค่โบกพู่ไปๆ มาๆ เท่านั้นแหละใช่ไหม แต่ถ้าคุณมองอย่างจริงจังสักหน่อยก็คงจะเห็นว่าการนำเชียร์ในยุคใหม่มันมีมากกว่านั้น” ชาร่า ไบร์ซ ผู้ก่อตั้งบริษัทนำเชียร์ในสหราชอาณาจักรออกความเห็น

“มันคือการส่งมอบพลังให้คนรุ่นใหม่ ให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตมีทางเลือกที่จะออกกำลังและแข็งแรง มีทางเลือกที่จะไม่ใช้ชีวิตอย่างปราศจากสุขภาวะที่ดี”

ก็อาจจะเป็นอย่างที่ไบร์ซบอก การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ไม่ใช่แค่โบกพู่ไปมา แต่มันเรียกร้องร่างกายที่แข็งแรงและกล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่น ผู้นำเชียร์หลายคนจึงมีพื้นฐานกีฬายิมนาสติกที่ติดตัวมาตั้งแต่ยังเด็ก (หรือไม่ก็ไปเรียนเพิ่มตอนโต)

หลายครั้งการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ก็สานฝันให้เด็กสาวที่เติบโตมากับภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่กล่อมเกลาว่า ตำแหน่งเชียร์ลีดเดอร์คือ ‘ควีน’ ของห่วงโซ่ในโรงเรียน สานต่อภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยของชาร์ม พวกเธอไม่ได้เป็นแค่เด็กสาวในงานกีฬา พวกเธอคือหญิงสาวที่มีเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้าม

ไม่มากก็น้อย เสน่ห์แบบเชียร์ลีดเดอร์เป็นหนึ่งในทางออกที่ตอบสนองความต้องการของเหล่าเด็กมัธยมที่อยากหลุดออกจากการเป็นเด็กสาวไปสู่วัยหญิงสาวอย่างเปิดเผย อุตสาหกรรมเชียร์ลีดเดอร์ในโรงเรียนมัธยมจึงได้รับความนิยมสูงลิ่วเสมอมา ยังไม่ต้องพูดถึงระดับอาชีพที่เคี่ยวกรำกันหนักเพื่อช่วงชิงตำแหน่งสาวนำเชียร์ในแต่ละทีม กับค่าแรงราวๆ 70-150 เหรียญฯ ต่อชั่วโมง

น่าเศร้าที่แม้ว่าหน้าที่ของพวกเธอคือการนำเชียร์และสร้างความคึกคักให้เหล่านักกีฬาและคนดู หากแต่หลังม่านนั้นคือความอลหม่านอย่างแท้จริง แทบทุกปี จะมี (อดีต) ผู้นำเชียร์ออกมาแฉวงการนี้ว่าโหดร้ายขนาดไหน พวกเธอไม่ได้แค่ต้องซ้อมอย่างหนัก ต้องสวยและดูดี แต่ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาอย่างไม่เป็นธรรมหรือรุนแรงถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศ (ซึ่งเป็นข่าวฟ้องร้องกันอยู่บ่อยๆ)

ลอว์เรน เฮอร์ริงตัน อดีตเชียร์ลีดเดอร์ทีมบาสเก็ตบอลลีก NBA เคยเล่าอย่างเศร้าๆ ว่าแม้เธอจะออกกำลังกายและลดน้ำหนักอย่างดุเดือดแล้ว แต่ก็ยังไม่ผอมพอสำหรับโค้ชอยู่ดี “โค้ชจะตรงเข้ามาหาฉันแล้วจับตรงช่วงก้นหรือข้างๆ ท้องฉันแล้วบอกว่า ‘ขอล่ะ ไปเอาออกอีกสักห้าปอนด์เถอะแล้วเธอจะสวยแจ่มไปเลย'” เฮอร์ริงตันว่า มากไปกว่านั้น ความอ้วนผอมของเชียร์ลีดเดอร์ยังวัดจากขนาดชุดแนบเนื้อ หากพวกเธอใส่ชุดไม่ได้แปลว่าเธอยังผอมไม่พอ

และจากหน้าที่คนนำเชียร์ หลายต่อหลายครั้งรูปภาพและเรือนร่างของพวกเธอถูกนำไปใช้ในเชิงธุรกิจอย่างไม่เต็มใจ หลายคนถูกบังคับให้ลงภาพเปลือยท่อนบนลงอินเตอร์เน็ตเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับค่าตั๋วในแต่ละเกม

นำมาสู่คำถามว่า แล้วอะไรทำให้เหล่าหญิงสาวยังยอมทนอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่เห็นคุณค่าของเธอเป็นเวลายาวนานขนาดนี้

Refinery29 เคยสำรวจประเด็นนี้และนั่งคุยกับ ซาร่าห์ แบล็คเวล ทนายที่ช่วยว่าความให้เหล่าเชียร์ลีดเดอร์สาวๆ มาแล้วหลายต่อหลายครั้งทั้งจากคดีค่าแรงไปจนถึงการคุกคามทางเพศ เธอให้เหตุผลอย่างรวบรัดว่า เพราะหญิงสาวเหล่านี้ถูกทำให้เชื่อว่าพวกเธอเป็นแค่ตัวเบี้ยธรรมดาในสังเวียนการแข่งขันอันใหญ่โต “ไม่มีเชียร์ลีดเดอร์สักคนเลยที่ไม่พูดกับฉันว่า พวกเธอถูกบอกมาแบบนี้ แบบที่ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ผู้หญิงในเครื่องแบบ พวกเธอไม่ได้พิเศษอะไร และจะถูกแทนที่ด้วยผู้หญิงคนอื่นๆ อีกนับล้านคนเมื่อไหร่ก็ได้”

สิ่งสำคัญที่แบล็คเวลล์ชี้ให้เห็นคือ ระบบอุตสาหกรรมเช่นนี้ลดทอนผู้นำเชียร์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างน่าเศร้า “อุตสาหกรรมควบคุมพวกเธอ ดูถูกพวกเธอจนขาดความมั่นใจอย่างรุนแรง จนที่สุดแล้ว พวกเธอก็รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและไม่อาจลุกขึ้นต่อสู้หรือตั้งคำถามกับระบบได้”

หากเรามองไล่ย้อนกลับไปถึงวันที่เท็กซ์ ชาร์ม ตัดสินใจว่าผู้นำเชียร์เหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้ทางการตลาดได้ ผสานเข้ากับโลกแบบที่ชายเป็นใหญ่ ซึ่งคล้ายว่าจะยังก้าวไม่พ้นจุดเดิมแม้เวลาจะล่วงมาอีกหลายทศวรรษนับจากนั้น ก็นับว่าอุตสาหกรรมผู้นำเชียร์ดูจะมาไกลก็แต่ในเรื่องการทำเงินเท่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save