fbpx
ปลดล็อกรัฐธรรมนูญ สู่ทางออกวิกฤตการเมืองไทย กับ จาตุรนต์ ฉายแสง

ปลดล็อกรัฐธรรมนูญ สู่ทางออกวิกฤตการเมืองไทย กับ จาตุรนต์ ฉายแสง

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่แหลมคมมากขึ้นทุกขณะ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นความหวังรูปธรรมของสังคมในการก้าวข้ามผ่านวิกฤตอย่างสันติ กระนั้น การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ง่ายและอาจกลายเป็นอีกหนึ่งปมของความขัดแย้ง

101 คุยกับจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และนักเรียน รวมไปถึงโจทย์ใหญ่ทางการเมืองของไทย และของตัวเขาเอง

 

 

:: ปัญหาของการใช้มาตรา 116 ::

 

 

สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ คือการตั้งข้อหาที่ไม่ถูกต้อง นี่เป็นปัญหาของระบบกฎหมายไทย ซึ่งต่อเนื่องมาจากสมัยคสช. การตั้งข้อหามาตรา 116 มันเกินกว่าเหตุไปมาก ถ้าให้ถูกต้อง ต้องไม่ตั้งกันง่ายๆ แบบนี้ และต้องให้คนฟ้องกลับได้ด้วย ทุกวันนี้ ถึงทนายจะบอกว่าฟ้องกลับได้ แต่ก็ทำได้ยาก และอาจจะไม่มีผล

มาตรา 116 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง การยุยงปลุกปั่น ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ้านเมืองโดยวิธีรุนแรง ยั่วยุให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ซึ่งการมีคนขึ้นไปบนเวที วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี ไม่ได้ไปยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน หรือไปพังโรงพัก การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญก็ดี การยุบสภาก็ดี หรือให้หยุดคุกคามประชาชน จึงเป็นข้อเรียกร้องที่ทำได้ตามครรลอง ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญา แต่เขาก็ยังตั้งข้อหามาเรื่อยๆ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็เหมือนกัน คดีคอมพิวเตอร์ต้องนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แล้วทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง เป็นภัยต่อความมั่นคง ปัญหาของระบบกฎหมายไทย คือ ทำให้ความเห็นกลายเป็นเรื่องความเท็จ ซึ่งความเห็นเป็นเท็จไม่ได้ หรือถ้าเท็จ ก็ยังต้องดูว่าทำให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงหรือเปล่า ยกตัวอย่าง ผมบอกว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก นี่เป็นเท็จ แต่ไม่ทำให้คนเดือดร้อน จึงไม่ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ผิดมาตรา 116 เป็นแค่มุกตลก

เพราะฉะนั้น การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ตอนนี้จึงเป็นการใช้เกินกว่าเหตุและสร้างความเดือดร้อนให้คนต้องสู้คดี นี่เป็นสิ่งที่คสช.ทำมาตลอด และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ยังทำแบบเดิม

 

:: หยุดคุกคาม หยุดสร้างความเกลียดชัง ::

 

 

การที่รัฐยังคงคุกคามประชาชน ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างแสดงความเห็นได้อย่างเสรี และเป็นไปตามกฎหมาย จะสร้างแรงกดต่อประชาชน ส่วนปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน คนบางกลุ่มชุมนุมกันแต่ไม่โดนตั้งข้อหา พอทำมากขึ้น คนจะเกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาล

ตอนนี้คนเห็นปัญหาเรื่องความไม่ยุติธรรมมากขึ้นแล้ว รู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผล เกินกว่าเหตุ ต่อไปถ้าตั้งข้อหามากกว่านี้ แล้วไม่ให้ประกันตัว การกระทำแบบนี้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ของรัฐ จะเป็นต้นเหตุให้เกิดความไม่พอใจ เกิดความขัดแย้ง และอาจนำไปสู่ความรุนแรง สิ่งที่รัฐทำอยู่ตอนนี้คือการเพาะเชื้อ เพิ่มความไม่พอใจต่อระบบ และทำลายความพยายามเคลื่อนไหวแสดงความเห็นโดยสันติวิธี

ความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงจากภาครัฐ ยังเกิดจากการพยายามสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งระหว่างประชาชน ด้วยการสร้างกลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมา ใช้วาทกรรม ข้อความที่รุนแรง ซึ่งบางครั้งก็เกินความเป็นจริงไปมาก โดยที่รัฐบาลก็ไม่ได้ห้ามหรือดูแลอะไร กลายเป็นว่ามีเสรีภาพในการพูดให้เกิดความเกลียดชัง กลายเป็นความโกรธแค้นต่อกัน มันก็อาจจะนำไปสู่ความเสียหายได้

แต่สุดท้าย มันไม่จำเป็นต้องเกิดความรุนแรงเสมอ มันสามารถป้องกันได้ หาทางออกที่เป็นสันติวิธี แก้ปัญหาร่วมกันได้ แต่ก็ไม่ง่ายอีกเช่นกัน จะแก้ปัญหาได้ ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องเข้าใจ ต้องปรับท่าทีใหม่ หยุดการคุกคาม และหยุดการสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ที่นำไปสู่ความรุนแรงหรือการใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่าง

 

:: ยุทธศาสตร์ปิดตายอนาคต ::

 

 

ถ้าเห็นแก่บ้านเมือง รัฐบาลต้องยอมถอย ไม่ใช่แค่เพราะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงความรุนแรง ความสูญเสีย แต่เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายของประเทศทั้งประเทศ ในตอนนี้ การที่ออกแบบรัฐธรรมนูญ สร้างกลไกต่างๆ เข้าไปแทรกแซง องค์กรอิสระก็ไม่อิสระ จนเราได้รัฐบาลแบบนี้มาจากกติกาแบบนี้ ประเทศมันไม่มีอนาคตจริงๆ

จุดแข็งของการเคลื่อนไหวของนักศึกษา คือ เขาพูดถูกประเด็นว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต เขารู้สึกว่าไม่มีอนาคตสำหรับเขา แต่จริงๆ รวมถึงพ่อแม่ ครอบครัว ญาติพี่น้องเขาด้วย หรือก็คือไม่มีอนาคตสำหรับประเทศทั้งประเทศ เนื่องจากรัฐบาลแบบนี้จะไม่มีทางตอบสนองความต้องการของประชาชน รัฐบาลแบบนี้ ในวิกฤตแบบนี้ จะหาคนมาบริหารประเทศไม่ได้ พิสูจน์แล้วด้วยการที่คุณปรีดี (ปรีดี ดาวฉาย) ลาออก

ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเสียงส่วนใหญ่มาจากส.ส. ส.ว. ไม่เกี่ยว ก็ยังไม่อาจบริหารประเทศได้ เพราะว่าติดยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ทุกวันนี้ สมมติว่าเป็นคนอื่น รัฐบาลอื่นที่มาจากการเลือกตั้งลองทำแบบพลเอกประยุทธ์ คือ การปฏิรูปไม่คืบหน้า ไม่ได้ทำสิ่งที่เขียนในยุทธศาสตร์ชาติสักเรื่อง คงถูกถอดถอนไปแล้ว และหลายคนคงต้องติดคุก เพราะตามกลไกจะให้ส.ว.และคณะทำงานต่างๆ มาตรวจสอบ ส่งป.ป.ช.

แม้รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ทำตามแผนปฏิรูป แต่ก็คิดวิสัยทัศน์อะไรไม่ได้ และถึงทำ ก็คงแก้อะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นแผนคร่ำครึที่วางไว้ถึง 20 ปี ทั้งที่ประเทศเปลี่ยนไปทุกวัน แค่มีโควิด-19 เข้ามาก็เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล กติกาแบบนี้ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลกและสถานการณ์ประเทศตัวเอง ต้องยอมรับว่ากติกาที่พวกคุณวางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ มันกำลังทำให้ประเทศไม่มีทางออก ไม่มีทางรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้

 

:: ส.ว. ต้องกล้าที่จะใช้เหตุใช้ผลของตัวเอง ::

 

 

ผมยังพอมีความหวังอยู่บ้างเมื่อเห็นส.ว.สายที่เรียกว่าเคยเด็ดเดี่ยวแน่วแน่กับการสนับสนุนระบอบเผด็จการอย่างมาก เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย ออกมาบอกว่าต้องยอมลดอำนาจตัวเอง เหมือนเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง นี่เป็นเรื่องน่ายินดี แต่เสียงตอบรับของส.ว.คนอื่นยังไม่กว้าง เริ่มมีเสียงที่ไม่ยอม ก็เลยไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร

สำหรับส.ว. ถ้าคิดถึงบ้านเมือง ก็ควรต้องยอมลดอำนาจ อย่างน้อยที่สุด ต้องยอมบางประเด็น เช่น ให้มี ส.ส.ร.  ลดอำนาจตัวเองในการเลือกนายก เพราะถ้ายุบสภาขึ้นมา แล้วรัฐธรรมนูญใหม่ที่คอยกำหนดอำนาจของส.ว.ว่ามีแค่ไหนยังไม่เสร็จ แต่ส.ว.ยังใช้อำนาจเลือกนายกเหมือนเดิม มันก็จะวนอยู่กับที่ เรียกว่าวนเป็นเกลียวสว่านลึกลงไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งเองก็จะยิ่งแย่ลง เพราะงั้นส.ว.ควรจะยอม

ทีนี้ ถ้าให้ส.ว.แต่ละคนหันไปใช้เหตุใช้ผลของตัวเอง ผมคิดว่าเขาคงไม่กล้าเหมือนกัน เพราะประเพณีปฏิบัติของเขายังเป็นนอร์มอลเดิม คือ ฟังคำสั่งพลเอกประยุทธ์ 100% เห็นได้จากตั้งแต่เลือกนายกมา มีมติสำคัญอะไรก็มีความเห็นไปทางเดียวกันหมด เป็นประเพณีปฏิบัติที่ตกลงกันว่าคุณได้มาเป็น คุณต้องทำตามพลเอกประยุทธ์เสมอ

นี่เป็นหน้าที่พลเอกประยุทธ์กับพวกที่ไปแต่งตั้งส.ว.เหล่านี้ ว่าต้องคุยกับส.ว.ให้ยอม สำหรับเรื่องนี้ บ้านเมืองจะไปสู่วิกฤตหรือไม่ จะพ้นจากวิกฤตหรือไม่ พลเอกประยุทธ์มีส่วนสำคัญมาก แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนอยู่เฉยๆ รอพลเอกประยุทธ์นะ (หัวเราะ) ทุกฝ่ายต้องประสานเสียงบอกพลเอกประยุทธ์ด้วยว่าต้องแก้ โดยไม่ได้มองแค่แก้เพราะเรื่องการเคลื่อนไหวของนักศึกษา แต่ต้องมองเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น

 

:: #ไม่เอารัฐประหาร ::

 

 

การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยมาตลอดชีวิต และเห็นว่ายิ่งทำ จะยิ่งเดือดร้อนเสียหาย

ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจเลือกใช้การรัฐประหาร ประเทศจะพังยับเยิน ผู้ยึดอำนาจจะพังยับเยิน ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการยึดอำนาจ จะเสียหายยับเยิน ผมเชื่อแบบนั้น

ก่อนการรัฐประหาร 2 ครั้งก่อน ผมก็วิเคราะห์และเชื่อล่วงหน้าหลายเดือนว่าจะมีการยึดอำนาจ และมันก็เกิดขึ้นจริง การยึดอำนาจแต่ละครั้งถึงรู้ว่าคงไม่มีแรงต่อต้านอะไรเท่าไร แต่บ้านเมืองก็ยังเสียหายอยู่ดี ครั้งนี้ผมประเมินว่าจะมีแรงต่อต้านมาก จะจัดการยากมาก และอยู่ยากมาก เพราะขนาดทุกวันนี้พลเอกประยุทธ์ยังหาคนมาเป็นรัฐมนตรียาก หากใครจะมารัฐประหาร ผมเชื่อว่ายิ่งหาไม่ได้เลย เศรษฐกิจก็จะดิ่งลงไปอีก ยับเยินที่สุด หลังยึดอำนาจเสร็จจะมะงุมมะงาหรากันไปหมดว่าจะบริหารประเทศอย่างไร

ที่สำคัญคือ คนคัดค้านจะเยอะ แม้จะไม่ได้ออกมาสู้รบกันเลยทีเดียว แต่จะเกิดชุมนุม แฟลชม็อบเต็มไปหมด แล้วคุณจะปราบกันไม่หวาดไม่ไหว ยิ่งปราบก็จะยิ่งกระทบต่อผู้ที่ยึดอำนาจด้วย

ในเวลานี้ ประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีความสำคัญต่อความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจสองฝ่าย ถ้ามีการยึดอำนาจอีก เป็นธรรมดาที่ฝั่งตะวันตกจะไม่เห็นด้วย และประเทศไทยก็จะยิ่งถลำลึกไปสู่จีนมากขึ้น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยที่จะเอียงไปหาจีนชนิดตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประเทศที่เป็นมิตรกันมานาน และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนกันมามาก มันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้น การยึดอำนาจเป็นทางเลือกที่ต้องตัดออก

 

:: ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง ::

 

 

หลักการใหญ่ คือ รัฐบาลพลเรือนต้องมีอำนาจเหนือกองทัพ อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายต้องอยู่ที่รัฐบาลพลเรือน ไม่ใช่คณะกรรมการที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นเสียงส่วนใหญ่ และไม่ใช่เกิดเหตุการณ์ศึกสงครามขึ้นมาจะย้ายผบ.ทบ.ไม่ได้เลย นั่นผิดหลักการ

เราต้องปรับปรุงกองทัพให้มีประสิทธิภาพ มีความกะทัดรัด มีคุณภาพ ไม่ให้มีส่วนเกิน งบประมาณกองทัพต้องฟรีซ และต่อไปต้องลดลง ต้องเปลี่ยนบทบาทและลดอำนาจ กอ.รมน. ที่เอาทหารมาปกครองอย่างจริงจัง ทหารไม่มีหน้าที่ปกครอง ต้องกลับเข้ากรมกองไป ไม่ใช่แทรกเข้าไปทุกอณูของสังคม การเมือง และทำให้หน่วยงานความมั่นคงมีมิติของการดูแลประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์เสียง ไม่ใช่ไปกด คอยสกัดกั้นไม่ให้ผู้เห็นต่างได้แสดงความเห็น

ผมว่าสภาความมั่นคงของไทยต้องเปลี่ยน ต้องใช้มิติใหม่ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ ยกตัวอย่างจากเรื่องง่ายๆ ที่ทำไม่เคยถูกเลย เช่น แรงงานข้ามชาติ เศรษฐกิจไทยก็ต้องอาศัยแรงงานเหล่านี้ แต่ทุกวันนี้แรงงานข้ามมาไม่ได้ หรือข้ามมาได้ก็ถูกเก็บเงินเข้ารัฐ เข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่ มันไม่ได้ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ประเทศเพื่อนบ้านอยู่ได้ดี และดีกับเรา เราน่าจะมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน มีทุนการศึกษา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำมาค้าขาย สิ่งเหล่านี้สภาความมั่นคงไทยต้องคิดให้เป็น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save