fbpx

“ประวัติศาสตร์ศูนย์กลางสร้างอคติทางชาติพันธุ์” ชัชวาลย์ โคตรสงคราม นักเขียนผู้เรียกตัวเองว่าลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง

“ผมเป็นนักเขียนลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง”

ชัชวาลย์ โคตรสงครามกล่าวประโยคนี้ หลังพิธีกรในงานประชุมที่มหาสารคามแนะนำว่าเขาเป็น ‘นักเขียนอีสาน’

เขาเล่าว่า หลังจากเขาพูดประโยคนั้นจบ ทุกคนในงานนิ่งเงียบ

หลายคนอาจรู้จัก ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ในฐานะนักเขียนเจ้าของผลงาน ทะเลน้ำนม ผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2552 และหลายคนก็อาจรู้จักเขาในฐานะนักเขียนที่หยิบยกคำว่า ‘ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ ที่เลือนหายไปหลายสิบปีมาใช้นิยามตนเอง

101 ชวนคุยถึงตัวตนและความเป็น ‘ลาวอีสาน’ ของชัชวาลย์ โคตรสงคราม ถึงจุดมุ่งหมายในการเขียนหนังสือของเขา สาเหตุที่เขาเลือกหยิบคำว่า ‘ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ มาใช้ คำนี้จะทำให้เกิดอะไรต่อไปในอนาคต รวมถึงชวนวิพากษ์รัฐไทยที่พยายามเปลี่ยน ‘คนลาวภาคอีสาน’ ให้กลายเป็น ‘คนไทย’

“ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายข้อไหนที่บอกว่าต้องทำให้คนลาวเป็นคนไทย แต่ในการปฏิบัติจริง เขากระทำผ่านบางอย่างที่เรามองไม่เห็น คล้ายกับว่าเป็นจารีตที่ไม่ได้เขียนเอาไว้” เขากล่าวขณะให้สัมภาษณ์

อะไรคือ ‘จารีตที่ไม่ได้เขียนเอาไว้’ หาคำตอบได้ในบรรทัดถัดไป

ในทัศนะของคุณ ‘อีสาน’ คืออะไร คุณนิยามตัวเองว่าเป็นคนอีสานไหม

คำว่า ‘อีสาน’ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2442 เป็นต้นมา ภายหลังสยามดึงเอาพื้นที่ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งขวาของแม่น้ำโขงมาขึ้นอยู่กับสยามแล้วปฏิรูปหัวเมือง เปลี่ยนมณฑลลาวให้เป็นมณฑลอีสาน จากนั้นก็พ่วงมาเรียกคนในภูมิภาคนี้ว่าเป็นคนอีสาน ดังนั้น ‘อีสาน’ จึงไม่ใช่ชื่อเรียกเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์ แต่เป็นชื่อของทิศทางที่มองจากกรุงเทพฯ เป็นชื่อที่ทางรัฐชาตินิยมเรียกเท่านั้นเอง

สำหรับการนิยามตัวตนของผม ในทางรัฐชาตินิยมเราก็เป็นคนไทย เพราะเรามีเลขบัตรประชาชน มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย แต่ถ้ามองที่วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภาษา เราเป็นคนลาว เพราะเราใช้ภาษาลาว วัฒนธรรมลาว เพียงแต่เราถูกเปลี่ยนให้มาใช้ภาษาแบบกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสาขาภาษาหนึ่งร่วมกับภาษาลาว เลยมีคำเรียกต่อว่าเป็นลาวภาคอีสาน ก็ถือว่าผมเป็นลาวอีสาน ถึงแม้ว่าช่วงหลังมานี้ คำว่า ‘ลาว’ หรือ ‘อีสาน’ เริ่มจะไม่ถูกใช้ จะใช้ว่าเป็น ‘คนไทย หรือ ‘ไทยอีสาน’ ไม่มี ‘ลาวอีสาน’ แล้ว และคนลาวในฝั่งซ้ายจะไม่มีความเข้าใจว่าเราคือคนลาวแล้วก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพราะสำนึกของเขาถูกกล่อมเกลาผ่านแนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่ที่ละเลยความจริงเรื่องชาติพันธุ์ เพื่อกดทับ ลดทอนหรือโยกย้ายที่อยู่ให้เป็นหนึ่งเดียว อย่างไรก็ตาม เราก็ยังเป็นลาวอยู่โดยวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

น่าแปลกใจที่รัฐไทยยังใช้คำว่า ‘หนึ่งเดียวเหนือความหลากหลายทางชาติพันธุ์’ ในขณะที่ลาวสมัยใหม่หลังปฏิวัติ 2 ธันวาคม 2518 กลับเลือกใช้ว่า ‘ความหลากหลายสร้างความเป็นเอกภาพ’   

คุณเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Writer ว่าคุณไปกรุงเทพฯ ก็ถูกบอกว่าเป็นคนลาว พอไปลาวก็ถูกบอกว่าเป็นคนไทย สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร

เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ผมไปเวียงจันทน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน เขาพูดกันว่า “พวกไทยมาแล้ว” เราไม่มีสิทธิ์จะอธิบาย หรือโต้แย้งเขาเลย เขาเห็นว่าเราเป็นคนไทยไปแล้ว ทั้งๆ ที่เราก็คือลาว

ผมไม่แน่ใจว่าสำนึกทางเชื้อชาติของคนลาวและเครือญาติชาติพันธุ์ในลาวฝั่งซ้ายที่คิดว่าลาวฝั่งขวาเป็นคนไทย เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด น่าจะเป็นช่วงที่เปลี่ยนหัวเมืองลาว คือ มณฑลลาวกาว มณฑลลาวพวน และมณฑลลาวกลางเป็นภาคอีสาน อันเป็นผลจากการที่ฝรั่งเศสเข้ามาช่วยลาวหลวงพระบางปราบปรามพวกฮ่อ ในขณะที่สยามที่มีลาวเป็นประเทศราชส่งกองทัพไปช่วยไม่ทัน ทำให้ปัญหาอำนาจระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในดินแดนในอารักขาเกิดขึ้นตามมา เหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้รัฐสยามต้องตื่นตัวเข้ามายึดครองดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตกมาอยู่ภายใต้สยามจนถึงปัจจุบัน

ทีนี้เมื่อไปกรุงเทพฯ เนื่องจากก่อนที่พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจะมาขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเคยขึ้นตรงกับเวียงจันทน์มาก่อน คนกรุงเทพฯ เลยมีน้ำเสียงดูติดจะเหยียดคนลาวอยู่ ถึงจะไม่ได้รุนแรงอะไร แต่เขาก็ถือว่าลาวเป็นเมืองขึ้น เลยมีน้ำเสียงว่าลาวต่ำกว่า กระทั่งสถานะทางสังคมที่ถูกกำหนดโดยรัฐชาตินิยมก็มองว่า แม้ว่าตามกฎหมายจะเป็นคนไทย แต่เขาก็จัดให้เราต่ำกว่า เพราะลึกๆ เขาก็ยังมองว่าเราเป็นคนลาว ซึ่งเป็นผู้มาอาศัย เป็นข้าผู้รับใช้ในระบบศักดินาทาสที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงหนึ่งพันปี แต่มันก็ฝังรากลึกลงในมโนทัศน์

แสดงว่าคนไทยภาคอื่นๆ ก็ยังไม่ได้ยอมรับว่าคนลาวอีสานเท่าเทียมกับเขา?

ถ้ามองในช่วงหนึ่งร้อยกว่าปีมานี้ ผมคิดว่าส่วนลึกของคนที่อยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนในชนชั้นส่วนนำของประเทศไทย หรือคนที่ใช้ภาษาภาคกลางไม่ได้ยอมรับเราว่าเป็นคนไทยนะ เขามองว่าเราเป็นคนลาว เหมือนกับที่ยังมองเขมรว่าเป็นเขมร ผู้ไทคือผู้ไท ญ้อคือญ้อ

ถ้าเราไปมองดูการพัฒนาในภาคอีสานตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำในด้านนโยบายและงบประมาณเยอะ ผมเห็นว่าด้วยระบบโลกและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภูมิภาคทำให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐไทยต้องสูญเสียความเชื่อมั่นในดินแดนอีสานไปมาก คนลาวในภาคอีสานถูกระแวงในเรื่องชาติกำเนิด ระแวงว่าจะแบ่งแยก หวาดกลัวว่าคนหนุ่มสาวจะก่อตัวเป็นขบวนการ เนื่องจากเราอยู่ในระบบรัฐศูนย์กลางอำนาจ ทุกอย่างต้องรวมอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะแบบนั้นจึงเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญคือมีลักษณะของการพัฒนาโดยใช้การตัดสินใจจากส่วนกลาง เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจให้กลุ่มทุนแฝงรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือบางครั้งจึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพของคนหรือสิ่งแวดล้อมตามมา เพราะเขาทำโดยที่เราไม่มีสิทธิ์ไปร่วมตัดสินใจและไม่สนใจผลกระทบ

ในทางการเมืองก็เช่นกัน เมื่อเกิดปัญหาทางการเมือง คนลาวภาคอีสานจะถูกปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียมและค่อนข้างถูกรัฐกระทำความรุนแรง เพราะคนกุมอำนาจรัฐชาตินิยมคือคนไทยสยามและคนจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองและการเคลื่อนไหว การปราบกบฏผู้มีบุญ กรณีสี่รัฐมนตรีอีสาน ไล่มาจนถึง 66/23 เหตุการณ์ปี 2553 ที่คนเสื้อแดงถูกยิงที่วัดปทุมวนาราม และการบังคับบุคคลสูญหาย ผมเชื่อว่าที่เขากล้าทำก็เพราะเขามองว่าคนในพื้นที่อีสานที่เป็นคนส่วนมากในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เท่าเทียมกับเขา เขาเลยทำแบบนี้ได้ คือเขายังติดกับดักการมองแบบต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” นั่นละ

พื้นที่ทางภาคอีสานของไทยถูกระแวงมาตลอด ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อีสานถูกมองว่ามีความพยายามจะแบ่งแยกดินแดน หากเคลื่อนไหวแบบที่ไม่ตรงตามที่รัฐยินยอมก็จะถูกมองว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนทันที เพราะแบบนั้นนักการเมือง นักเขียน ปัญญาชนของอีสานจึงมักถูกมองว่ามีความพยายามเช่นนี้ ช่วงหลังเหตุการณ์สังหารสี่รัฐมนตรีอีสาน นักการเมือง นักเขียน ปัญญาชนก็เริ่มระวังตัว สงวนท่าที ไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากนัก

คุณนิยามตัวเองว่าเป็น นักเขียนสาธารณรัฐลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขงทำไมถึงต้องเป็น สาธารณรัฐลาวล้านช้างคำนี้มีความหมายเฉพาะเจาะจงไหม เกี่ยวข้องกับนัยทางประวัติศาสตร์หรือเปล่า

เป็นนัยของสำนึกทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในโลกการเมืองและประวัติศาสตร์ ผมมองว่าในอดีต ดินแดนอีสานเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรล้านช้าง เมื่อศึกษาจนเห็นประวัติศาสตร์ความเป็นจริงและการถูกกระทำทางสังคมแล้วก็ต้องการแสดงให้เห็นว่าเรายังเป็นลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขงอยู่ ความคิดหรือสำนึกของเรายังคงเป็นลาว แม้ว่าในทางกฎหมายเราจะเป็นคนไทยก็ตาม ก็เหมือนว่าเราเป็นอาณานิคมภายในของสยามหรือกรุงเทพฯ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ‘ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ จึงไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหาว่าเราจะกบฏแบ่งแยกดินแดน หรือทำตัวเป็นภัยต่ออำนาจรัฐ ส่วนคำว่า ‘สาธารณรัฐ’ ที่นำมาใช้หมายถึงพื้นที่ทางนามธรรม เพื่อให้เป็นเรื่องการชี้ประเด็นทางปัญญาและความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ดังนั้นคำว่า ‘สาธารณรัฐลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ จึงเป็นหมุดหมายของการศึกษาความจริงทางประวัติศาสตร์ และเป็นคำที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอยู่

คำว่า ‘สาธารณรัฐลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ เป็นหมุดหมายของการศึกษาความจริงทางประวัติศาสตร์ และเป็นคำที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอยู่

สยามเริ่มดำเนินการยึดเอาพื้นที่ทางภาคอีสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตั้งแต่ช่วงไหน

ช่วงที่ประเทศตะวันตกเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแสวงหาอาณานิคม อีสานในขณะนั้นยังไม่ถูกจัดระเบียบ คนในพื้นที่อีสานยังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับคนในพื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงต้องมีการปฏิรูปหัวเมืองอีสาน ในช่วงปี 2441-2443 มีการเปลี่ยนจากหัวเมืองลาว จากมณฑลลาวในเขตต่างๆ มาเป็นหัวเมืองภาคอีสาน มีศูนย์กลางอยู่ที่อุบลราชธานี อุดรธานี และมีการจัดระบบใหม่หลายอย่าง เช่น ระบบจัดเก็บภาษี ระบบโรงเรียน ระบบภาษาและไวยากรณ์ วัดที่เป็นแหล่งหรือสำนักความรู้ของชุมชนถูกปรับเปลี่ยนบทบาททางอำนาจและวัฒนธรรม การสร้างทางรถไฟ ช่วงนี้แหละที่คำว่า ‘อีสาน’ ได้ถือกำเนิดขึ้น และคำว่า ‘ลาว’ เริ่มหายไป

เหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการต่อต้าน คือกบฏผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ผู้มีบุญที่อุบลราชธานี ที่เสลภูมิ ร้อยเอ็ด เลย ขอนแก่น และขุขันธ์ ศรีสะเกษ โดยเฉพาะที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล อุบลราชธานีที่เพิ่งมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนลาวในรอบ 120+1 ปี ไปเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้เป็นการต่อต้านในฐานะพลเมืองของสยามใหม่ เกิดการต่อต้านการเก็บภาษีที่ในยุคนั้นเก็บภาษีหัวละสี่บาท ซึ่งปีละสี่บาทนี่ถือว่าแพงมาก เพราะเขาลำบาก ไม่มีเงินจ่าย แต่ก็ถูกเอามาใช้ในทางชาตินิยมว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน ไม่ต้องการขึ้นกับสยาม

กบฏผู้มีบุญที่ถูกปราบปราม จับไปคุมขังและสังหารนี้ที่โนนโพธิ์และที่ตระการพืชผลมีประมาณ 300 ศพ มีคนอีกจำนวนมากที่ถูกจับกุม และเกิดการแตกบ้านแตกเมือง ผู้คนหนีไปอยู่พื้นที่ใหม่เพราะรู้สึกกลัว การต่อต้านเริ่มต้นจากจุดนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มาก คนลาวในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงต่อต้านสยาม ส่วนคนลาวในพื้นที่ทางฝั่งซ้ายอย่างจำปาสัก ปากเซ อัตตะปือก็ลุกขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสที่ขึ้นบกที่เวียดนาม

สยามหวาดระแวงว่าคนในพื้นที่ภาคอีสานจะแบ่งแยกดินแดนมาตลอดเลยหรือเปล่า

ผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความคิดของชนชั้นนำที่ตกทอดมาจากสยามเก่านะ ในความเป็นจริงคนลาวไม่ได้เพิ่งเข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนหน้านั้นในสมัยอยุธยา ที่อยุธยาก็มีคนลาวอยู่เยอะแล้ว เพียงแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 สยามยกทัพมาตีเวียงจันทน์และกวาดต้อนคนลาวมาจำนวนมาก ซึ่งคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมานี้ก็ไปอยู่แถวนครปฐม ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และฝั่งธนบุรี เมื่อไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ก็อาจมีส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีสำนึกความเป็นลาวค่อนข้างมาก และมีอิทธิพลต่อความคิด ผมคิดว่าฝ่ายผู้มีอำนาจระแวงมาก ระแวงจนทำให้เกิดความรุนแรงในหลายๆ เหตุการณ์ ทั้งๆ ที่คนลาวไม่ได้มีความคิดจะยึดดินแดนคืน หรือจะกลับไปขึ้นตรงกับเวียงจันทน์ ถึงแม้ในช่วงปี 2518 ในช่วงเปลี่ยนแปลงการเมืองในลาว เวียดนาม และกัมพูชา จะมีแนวคิดเรื่องเอาอีสานกลับคืนไป แต่ก็เป็นเพียงความคิดเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่มเท่านั้น

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ชนชั้นนำของสยามเก่าและไทยสมัยใหม่หวาดระแวงจนเกิดการจับกุมและลอบสังหารนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ชาวนา ครูอาจารย์ นักเขียนและปัญญาชน คือภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อาวุธยุทโธปกรณ์ที่อเมริกาส่งมาให้ไทยใช้ต่อต้านญี่ปุ่นและกำลังทหารรวมอยู่ที่ภูพาน สกลนคร เป็นจำนวนมาก ทำให้คนลาวในภาคอีสานถูกมองว่าจะก่อตัวตั้งเป็นกองทัพอิสระแล้วแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า นำไปสู่การต่อต้านและการประหารชีวิตนักการเมืองจังหวัดสกลนครประมาณ 3-4 คนที่สนามบินสว่างแดนดิน

คุณทราบประวัติศาสตร์เรื่องนี้จากการเรียนในสถาบันการศึกษาหรือเปล่า

ไม่ได้เรียนจากโรงเรียน ต้องศึกษาเอาจากเอกสารนอกห้องเรียน พูดง่ายๆ ว่าในตำราไม่มีเขียนเรื่องพวกนี้หรอก ในระดับอุดมศึกษาก็ไม่มี

ประวัติศาสตร์ฝ่ายไหนเขียนก็จะเขียนเข้าข้างตัวเอง อย่างถ้าเราไปอ่านเรื่องเจ้าอนุวงศ์ ในตำราฝั่งเวียงจันทน์เจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษ แต่ถ้ามองแบบไทยก็จะเป็นกบฏ  

ไทยไม่ยอมเล่าประวัติศาสตร์เรื่องนี้เพราะกลัวตัวเองจะถูกมองว่าเป็นคนร้ายหรือเปล่า

ผมเห็นด้วยว่าถ้ามีการพูดถึงสาระข้อเท็จจริงที่ทั้งเอกสารของฝั่งไทยและลาวจดบันทึกไว้ตรงกัน สยามไทยก็จะกลายเป็นฝ่ายที่ไปรุกรานลาว ไปต้อนเอาคน ทรัพยากร กระทั่งใบลานก็เอาขึ้นหลังช้างมาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ จะเห็นว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สยามก็ขนใบลานเหล่านี้ไปไว้ที่บางปะอิน ก็เลยมีกรณีที่คนลาวอย่างมหาสิลา วีระวงส์ ไปทำงานที่หอสมุดแห่งชาติแล้วเจอเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง และคัดลอกนำมาพิมพ์เป็นเล่มในภายหลัง

พระพุทธรูปลาวสมัยล้านช้างก็ไปอยู่ในวัดในกรุงเทพฯ เยอะมาก อย่างพระแก้วมรกต พระสุก พระใส พระแสน รวมทั้งพระพุทธรูปองค์อื่นที่ไปเอาคืนมาก็กลับมาไม่ถึงเวียงจันทน์ อยู่ที่ร้อยเอ็ดบ้าง หนองคายบ้าง ยโสธรบ้าง ศรีสะเกษบ้าง รวมทั้งช่างศิลปะ ช่างรำ ช่างฟ้อน ช่างขับต่างๆ พวกนี้ก็ถูกต้อนไปและต้อนมาด้วย

ผมไม่ได้พูดเพื่อให้เกิดความขัดแย้งนะ ผมพูดสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเมื่อทัพสยามไปดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงว่ามีเหตุการณ์พวกนี้อยู่ และไม่ค่อยจะถูกเปิดเผยให้ได้ทราบกัน

สิ่งที่ไทยไปยึดมาจากลาว ไทยบอกว่าเป็นของไทย หรือยังคงบอกว่าเป็นของลาว

เท่าที่ดูมาแล้ว ในประวัติศาสตร์จริงๆ อย่างในกรณีพระแก้วมรกตก็มีข้อมูลบอกว่าเอามาจากไหนนะครับ คนจะรู้กันอยู่ เช่น บอกว่าเอามาจากเวียงจันทน์ในสมัยไหน ก่อนมาเวียงจันทน์มาจากไหน แต่ก็จะไม่ค่อยเผยแพร่ข้อมูลนี้อย่างเป็นทางการนัก เนื่องจากกลัวจะเกิดการมองในแง่ลบ เรื่องนี้เป็นปัญหาทางความรู้สึกมากกว่าจะคุยกันในแง่ข้อเท็จจริงและใช้คุณค่าหรือประโยชน์ทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมกัน ผมเคยคิดว่า เมื่อถึงวันสงกรานต์ ทำไมเราไม่อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่จังหวัดหนองคาย หรือนครพนม หรือที่พระธาตุพนม เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงได้มากราบไหว้บูชาและสรงน้ำหอมล่ะครับ

ตอนนี้พระแก้วมรกตกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปแล้ว และกลุ่มบุคคลก็อาศัยความศักดิ์สิทธิ์นั้นมาอยู่เหนือประชาชนอีกทีหนึ่ง ถ้าเราจะยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ต้องจัดให้พระแก้วมรกตเป็นมรดกร่วมทางศาสนาและประเพณี ทุกฝ่ายมีส่วนในการปกปักรักษาและประกอบพิธีกรรมด้วยกัน นี่คือทางที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เอามาเป็นมูลเหตุอคติเกลียดชังแก่งแย่งทำลายและเข่นฆ่ากันไปมาอย่างที่เป็นอยู่  

ในตำราของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว เขามองว่าสยามเป็นผู้รุกราน พูดง่ายๆ คือเขาเขียนเหมือนที่ไทยเขียนให้พม่าเป็นคนร้าย เขาเขียนไล่มาตั้งแต่สมัยเจ้าอนุวงศ์จนถึงสมัยสงครามลับในลาว ที่ไทยให้อเมริกามาตั้งฐานทัพ แล้วอเมริกาไปทิ้งระเบิดในลาวและเวียดนาม เรื่องเหล่านี้เป็นเครื่องมือปลุกกระแสชาตินิยม ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของรัฐทั่วโลกว่าเราต้องปลูกฝังให้คนเกลียดชาติอื่นๆ เพราะว่ามันหมายถึงความมั่นคงของการเป็นรัฐชาติ และอันที่จริงรัฐชาติก็คือกลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจรัฐ มีผลประโยชน์เครือข่าย ดังนั้น จะการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มันก็แค่ฉากหน้า เป็นแค่ข้ออ้างของพวกปกครอง

คนลาวเขาก็ยังอยากได้พระแก้วมรกตคืน เขายังถือว่าพระแก้วมรกตเป็นของเขาอยู่นะ อันนี้เป็นความคิดของคนรุ่นอายุ 40-50 ที่ถูกปลูกฝังว่าพระแก้วมรกตเป็นของลาว เพราะแบบนั้นในหอพระแก้วเก่าที่เวียงจันทน์ จึงเขียนไว้ว่าปัจจุบันพระแก้วมรกตได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานที่ประเทศอื่น แล้วตรงที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตก็จะเว้นว่างเอาไว้ ไม่เอาพระพุทธรูปองค์อื่นไปวางแทน เขาผูกพันนะ เรื่องความเชื่อพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ในสมัยที่พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ก็เคยสร้างพระแก้วมรกตจำลอง เท่าที่จำได้ ทำขนาดไม่ใหญ่เท่าองค์จริง เพราะกรมศิลป์ไม่อนุญาตให้ทำ ไปมอบให้ทางกรรมการศูนย์กลางพรรค นครหลวงเวียงจันทน์ แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าเวียงจันทน์ยกเอามาตั้งไว้ที่ไหน

คุณคิดว่าอะไรบ้างที่รัฐไทยกำหนดให้คุณทำเพื่อที่คุณจะได้เป็นคนอีสาน

ประการแรก คือ การเปลี่ยนจากการเป็น ‘คนลาวในบังคับสยาม’ มาเป็น ‘เชื้อชาติลาว สัญชาติไทย’ แล้วก็กลายมาเป็น เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย’ การปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้คนลาวไม่ได้ใช้ตัวเขียนภาษาลาวในระบบการศึกษาในโรงเรียน พอเข้าสู่ระบบการปฏิรูปการศึกษาหัวเมือง คนก็ต้องออกจากวัด เมื่อออกจากวัด ตัวอักษรดั้งเดิมของลาวล้านช้าง ทั้งอักษรลาวและอักษรธรรมล้านช้างที่อยู่ในใบลานก็ไม่มีแล้ว คนลาวในภาคอีสานก็จะไม่ได้เขียนตัวอักษรลาวอย่างปัจจุบัน เพราะฉะนั้นคนในภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร ส่วย ญ้อ เยอ ผู้ไท แม้จะพูดภาษาตัวเองแต่เขาไม่มีตัวเขียนแล้ว ส่วนคนลาว แม้เราจะยังพูดลาวกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ต้องใช้ตัวเขียนกรุงเทพฯ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ประการที่สอง คือถึงแม้จะไม่มีกฎหมายข้อไหนที่บอกว่าต้องทำให้คนลาวเป็นคนไทย แต่ในการปฏิบัติจริง เขากระทำผ่านอะไรบางอย่างที่เรามองไม่เห็น คล้ายกับว่าเป็นจารีตที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ ทำให้การรื้อฟื้นความเป็นชาติพันธุ์ลาวทำได้ยากมาก ข้าราชการก็เป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นฟูขึ้นมา

ถ้าเราไปดูในจดหมายเหตุ หรือเอกสาร ตั้งแต่สมัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เวลารายงานเข้าส่วนกลาง พื้นที่ไหนที่เขาทำสำเร็จเขาก็จะแจ้งรัชกาลที่ 5 ว่าได้ทำสิ่งใดบ้างเพื่อลดความเป็นลาว จะทำให้ลาวลืมความเป็นลาวได้ด้วยการเอาการศึกษาเข้าไป ลดเพิ่มส่วนไหนมีในรายงานหมด รวมทั้งทางหัวเมืองภาคเหนือที่เป็นล้านนาด้วย เพราะล้านนาก็ลาว แต่เป็นลาวที่มีอิทธิพลพม่าและมอญ ถ้าเราไปมองรายละเอียดก็จะเห็นว่าถึงจะไม่มีกฎหมายเขียนไว้แต่เขาทำผ่านกลไกของการเมือง การศึกษา และระบบเศรษฐกิจ มันได้ผลมากนะ ทุกวันนี้คนในต่างจังหวัดก็พูดภาษากรุงเทพฯ แต่ในชนบทไกลๆ ก็ยังพูดลาวอยู่ ถือว่ากลมกลืนกันแล้วละ เพราะพูดลาวก็จริง แต่ไม่มีสำนึกที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐชาตินิยมสมัยใหม่ แต่เป็นในแง่ที่ว่าได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการสังคมแบบนี้มากกว่า

แสดงว่าสยามไม่ต้องการให้คนลาวอีสานมีสำนึกรักความเป็นลาวใช่ไหม

อย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้ สยามไม่ได้พูดเป็นนโยบายสาธารณะหรือเปิดเผย แต่ในทางปฏิบัติมันหน่วงหนัก เขากระทำผ่านลัทธิทหารและทางปกครอง มันมีเส้นกั้นบางๆ อยู่ จะเรียกว่า ‘พรมแดนกั้นความเป็นมนุษย์’ ก็ว่าได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ในช่วงสงครามปลดปล่อยชาติจากจักรวรรดินิยมตะวันตกของเวียดนามและลาว คนลาวในภาคอีสานของไทยจะแสดงตัวตนสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ จะให้ความช่วยเหลือและส่งปัจจัยสนับสนุนก็ต้องทำอย่างลับๆ แม้กระนั้นก็ยังถูกจับกุม คุมขัง และสังหารก็เยอะ เพราะการแสดงความเป็นลาวในสถานการณ์สงคราม มันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐชาตินิยมไทยที่ต้องการเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาค

คำว่า ‘สำนึกรักบ้านเกิด’ มันคลุมเครือ ไปไม่ถึงรากของความเป็นมนุษย์ในฐานะชาติพันธุ์และเครือญาติ เพราะคำว่า ‘บ้านเกิด’ คือพื้นที่เชิงการเมืองของรัฐที่มีการยึดครองและแปรรูปเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถบอกให้คนรักบ้านเกิดได้ แต่มันไม่มีจิตวิญญาณ มันว่างเปล่า เพราะทั้งแรงงานหยาดเหงื่อและเงินภาษีถูกดูดเข้าสู่ส่วนกลางทั้งหมด ดังนั้นคำว่า ‘บ้านเกิด’ จึงเบาหวิวและตื้นเขิน และไม่สามารถที่จะนำไปเทียบกับคำว่า ‘มาตุภูมิ’ ได้แม้แต่น้อย 

สำนึกรักบ้านเกิด แฝงความจริงอยู่ว่า ถึงในช่วงหลังๆ เราจะมีเพลง มีการกระทำพวกนี้ แต่มันไม่ได้บอกว่าเราจะต้องรักความเป็นลาว และในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้บอกให้รักความเป็นไทย คล้ายๆ ว่าอยากจะให้มโนทัศน์หรือจิตวิญญาณค่อยๆ เคลื่อนจากความเป็นลาวเข้ามาสู่ความเป็นไทยโดยไม่รู้ตัวด้วยกระบวนทัศน์ทางสังคม เพราะเขารู้ว่าถ้ากดทับลาวลงไปก็จะเกิดแรงต้านตีกลับ ส่วนถ้าเขาบอกว่ารักบ้านเกิดต้องรักความเป็นไทย ความเป็นไทยก็เบาบาง กระจัดกระจายและแฝงเร้นไปอยู่ในโลกสาธารณะและโลกส่วนตัว ก็จะเกิดการต่อต้านเหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าเท่าที่ผ่านมาไม่มีการระบุชัดเจน แต่จริงๆ แล้วมีมโนทัศน์ที่แฝงเร้นอยู่ตลอดกระบวนทัศน์ทางสังคม ก็คือความเป็นไทย ซึ่งพอมีมากมันก็จะไปลดความเป็นลาวโดยอัตโนมัติเอง

คนรุ่นผมในสายตาของรัฐก็เป็นไทยเต็มที่แล้ว คือรัฐคิดจะยื่นอะไร ยัดสิ่งใดมาให้เป็น ให้อยู่ ให้ยอมรับ ก็ไม่ตะขิดตะขวงใจ ไม่ลังเลอีกแล้ว เพราะกำแพงจิตวิญญาณพังทลายลงไปตั้งนานมาแล้ว ด้วยการทำอย่างหนักหน่วงของระบบรัฐราชการนั่นละ ผ้าทอลาวก็กลายเป็นผ้าทอไทยอีสานไปหมดแล้ว และรวมทั้งไม่ได้เขียนอักษรลาว ร้องหรือขับลำลาวแบบที่เป็นลาวจริงๆ แต่สามารถจดจำและร้องเพลง  ‘รักเมืองไทย ชูชาติไทย ทำนุบำรุงให้รุ่งเรือง ให้สมเป็นเมืองของไทย’  หรือ ‘อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน’  ได้จนถึงทุกวันนี้

โรงเรียนก็ไม่อนุญาตให้พูดภาษาอีสานด้วยใช่หรือเปล่า

เป็นเรื่องจริง เพราะครูไปเรียนหลักสูตรที่อยู่ภายใต้หลักชาตินิยมไทยสมัยใหม่มา ซึ่งชนชั้นนำไทยก็ไปรับมาจากชาติตะวันตกอีกที ในช่วงที่ผ่านมาการพูดลาวกลายเป็นปมด้อยและเป็นเรื่องตลกโปกฮาไปแล้ว โรงเรียนบางแห่งในชั่วโมงภาษาไทยก็กำหนดว่าถ้าใครพูดลาวจะโดนหักคะแนน หรือปรับเป็นเงินครั้งละหนึ่งบาท ตอบสนองตามโจทย์ของความเป็นชาตินิยมไทยที่ต้องการให้เรียนรู้ และซึมซับมโนทัศน์แบบภาษาไทยกรุงเทพฯ แต่ถึงโรงเรียนจะให้ใช้ภาษาไทย ใช้ตำราของกรมวิชาการ โดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆ ก็ยังคุยภาษาลาวกันอยู่

ผมมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ในการเรียกร้องทางการเมืองเพื่อให้ทันต่อกระแสเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ เด็กวัยรุ่นคนหนุ่มสาวในภาคอีสานจะใช้คำลาวมาสร้างวาทกรรมมากกว่าในอดีต ผมคิดว่ามันเป็นการตีกลับของพลังภาษา เป็นภาพฟ้องและแสดงให้เห็นว่าถึงอย่างไรภาษาลาวของคนลาวก็ยังใช้เป็นตัวอธิบายบอกเล่าถึงรากมโนทัศน์ที่ลึกซึ้งของสิ่งที่คิด สิ่งที่ต้องการในทางการเมืองได้ดีกว่าภาษาอื่นและสำเนียงอื่น

กลับมาที่ตัวคุณ คุณเริ่มสนใจวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมอยู่ในชุมชนเก่าในเขตรอยต่อของร้อยเอ็ดกับอุบลราชธานี เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ใช้ภาษาลาวกับภาษาผู้ไท มีความเป็นลาวล้านช้างและผู้ไทสูงมาก เพราะแบบนั้นผมเลยได้ซึมซับตัวเขียนภาษาลาวและประวัติศาสตร์ลาว ได้อยู่กับวิถีแบบลูกทุ่งของความเป็นลาวอย่างเต็มที่

พออายุสัก 7-8 ขวบก็ได้เห็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับพลพรรคคอมมิวนิสต์ เห็นคอมมิวนิสต์เข้ามาซื้ออาหารและมาขอเสบียงกับคนเฒ่าแก่ในชุมชนหมู่บ้าน เลยทำให้เราเข้าใจว่า คนบ้านเราไปมีเรื่องอะไรกับรัฐส่วนกลาง เกิดเป็นคำถาม ข้อสงสัยตามมาว่า ทำไมมีคนล้อเลียนคนลาว หรือทำไมมีเพลงที่เล่าความลำบาก ความน้อยเนื้อต่ำใจของคนลาว เราเห็นความขัดแย้งของเพลงหมอลำ ฝ่ายหนึ่งลำทางสั้นเล่าถึงประวัติเวียงจันทน์ล้านช้าง แล้วมีหมอลำอีกฝ่ายลำชื่นชมอยุธยา เราก็สงสัยว่าทำไมขัดแย้งกัน หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ลาวคู่กันกับประวัติศาสตร์ไทยก็เลยคิดว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ และการอยู่ในวัฒนธรรมการขับลำกับวัฒนธรรมการฟังวิทยุทำให้เราเข้าใจเรื่องของภาษา ความเข้าใจเรื่องภาษาของเราไปไกลกว่าคนรุ่นเดียวกัน เราก็เลยเริ่มรู้จักหนังสือและฝึกเขียนเล่าความคิดได้

คุณเริ่มเขียนงานในช่วงที่นิยามตนเองว่าเป็นชาติพันธุ์ไหน

ช่วงแรกไม่ได้คิดว่าเป็นลาวหรือเป็นไทยเลยนะ แต่ผมสงสัยว่าทำไมไปโรงเรียนแล้วอาจารย์เขาพูดไทย กลับมาบ้านทำไมพูดลาว แล้วทำไมไปบ้านแม่ถึงพูดผู้ไท ในช่วงอายุ 18-19 ปีเรามีแต่ความรู้สึกว่าทำไมคนลาวถูกเหยียดหยาม ทำไมพอเทียบกับกรุงเทพฯ แล้วเราดูต่ำต้อยและไร้ตัวตน

เวลาคนกรุงเทพฯ หรือคนที่ไปอยู่กรุงเทพฯ นานๆ มาที่หมู่บ้าน คนทั้งหมู่บ้านจะต้องมารวมกันที่บ้านหลังนั้น มานั่งชุมนุม กินข้าวด้วยกัน ถามว่ากรุงเทพฯ เป็นอย่างไร และถ้ามีคนกรุงเทพฯ จริงๆ เช่นเพื่อนหรือเถ้าแก่ที่มาเที่ยวภาคอีสานกลับมาด้วย เราจะมองว่าเขาเป็นเหมือนเทพเลย เขาวิเศษกว่าเรามาก มีประกายสดใส นี่คือความรู้สึกของคนในยุคที่ผมเป็นเด็กวัยรุ่น เขาวิเศษ ส่วนเราต่ำต้อย ไม่เท่ากัน เขาดี เขาสูงส่งกว่า ต้องฟังเขา เราบ้านนอก แบบที่เราจะสังเกตได้ว่าในเพลงลูกทุ่งถ้าไม่เล่าเรื่องผู้ชายผิดหวังในความรักเพราะความยากจน ก็จะบอกว่าคนบ้านเรามันช่างต่ำต้อย น้อยวาสนา มันโยงไปถึงความเชื่อในท้องถิ่นเลยนะ

ทุกวันนี้ผมก็ยังมองว่าคนกรุงเทพฯ สูงส่งนะ ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ นี่ผมจะให้คะแนนเต็มเอาไว้เลย ผมคิดว่าคนบ้านเราส่วนมากก็คิดแบบนี้ เป็นแบบนี้จริงๆ แต่ความรู้สึกแบบนี้ในคนรุ่นหลังผมอาจจะเจือจางและเกิดสำนึกโต้กลับทางสังคมและทางอำนาจการเมือง อาจจะเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลเป็นจำนวนมากจึงเกิดมโนทัศน์ใหม่ เช่น การตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมและการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม ตรงนี้ก็คงเป็นผลมาจากการพัฒนาของรัฐไทยด้วยส่วนหนึ่ง มีเทคโนโลยี มีแพลตฟอร์มให้เรียนรู้ ความรู้สึกที่เท่าเทียมจึงมีมากขึ้น แต่ความเป็นลาวเป็นไทยยังไม่ไปไหน ยังแฝงฝัง

พอผมได้ไปศึกษา เขียนหนังสือได้ ยุคแรกก็ไม่ได้มีความเป็นลาวอะไรหรอก ผมคิดเหมือนในเพลงที่บอกว่ากรุงเทพฯ คือเมืองสวรรค์ คนกรุงเทพฯ คือพวกที่มีอำนาจวาสนา ถ้าเห็นคนกรุงเทพฯ เดินมาเราจะรู้สึกว่า โอ้โห ยิ่งใหญ่ สวยงาม สะอาดสะอ้าน ดูเป็นผู้ดี กระทั่งว่าในสมัยก่อนถ้ามีคนกรุงเทพฯ มาบรรจุเป็นครูในโรงเรียนประถมหรือมัธยม พวกเราจะเดินไปด้อมๆ มองๆ ตามประสาเด็ก เด็ก ม.1 ตอนพักเที่ยงหลังกินข้าวเสร็จไปนั่งหน้าห้องครูที่เป็นคนกรุงเทพฯ เพื่อที่จะไปฟังสำเนียงกรุงเทพฯ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว

เพราะฉะนั้นในยุคแรกผมไม่มีสำนึกของความเป็นลาวเลย ความเป็นไทยยิ่งบางๆ ดังนั้นการเขียนหนังสือในช่วงที่เติบโต ช่วงที่เรียนรู้มายาคติและวาทกรรมความเป็นไทยและเป็นลาว ในรัฐชาตินิยมเดียวกัน ผมต้องการที่จะเขียนเพื่อให้เขารู้ว่าคนลาวและเราเองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และเราก็มีความทรงจำเฉพาะพื้นถิ่น มีสิ่งยึดเหนี่ยว มีวิถีชีวิตของเรานะ ตอนเขียนรวมเรื่องสั้นเล่มแรกๆ ผมคิดว่าความเป็นลาวมันคลาสสิก ฤดูกาลแห้งแล้งยังสวยสงบงาม มีธรรมชาติ ต้นไม้ ภาคอีสานมีดอกจำปา ดอกมันปลาหรือดอกกันเกรา ดอกสะแบงให้เขียนถึง เหมือนที่พวกเยอรมัน-รัสเซียเขาเขียนกัน เราเขียนตรงนี้มากกว่า ลึกๆ ก็คืออยากให้กรุงเทพฯ รู้จักสุนทรียภาพของเราและยอมรับเราเท่ากับเขา

คนรุ่นผมในสายตาของรัฐก็เป็นไทยเต็มที่แล้ว คือรัฐคิดจะยื่นอะไร ยัดสิ่งใดมาให้เป็น ให้อยู่ ให้ยอมรับ ก็ไม่ตะขิดตะขวงใจ ไม่ลังเลอีกแล้ว เพราะกำแพงจิตวิญญาณพังทลายลงไปตั้งนานมาแล้ว ด้วยการทำอย่างหนักหน่วงของระบบรัฐราชการนั่นละ

งานเขียนช่วงก่อนนิยามตัวเองว่าเป็นคนลาวอีสานกับช่วงที่ก้าวข้ามความเป็นลาวอีสานไปแล้ว แตกต่างกันอย่างไร

ช่วงแรกเน้นไปที่ภูมิทัศน์อีสาน ความสวยงามของธรรมชาติ ความผูกพันระหว่างวัยเด็กกับประเพณีวัฒนธรรม ความดีความงามของชีวิต เพื่อบอกเล่ายืนยันว่ามันมีวัฒนธรรมที่ดี ตามที่บอกไปว่าอยากให้คนรู้ว่าคนลาวในภาคอีสานเขาก็มีสุนทรียภาพ และมีความรักในเพื่อนมนุษย์

ส่วนช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่ปี 2545 มานี้ อาจเป็นเพราะผมได้รู้ข้อมูลของเอเชีย ลาว ไทยที่ลึกและรอบด้านมากขึ้น เห็นรัฐที่เป็นผู้กระทำ เห็นประชาชนผู้ถูกกระทำ และจากการศึกษาลัทธิมาร์กซิสม์ ในช่วงเป็นนักศึกษาจนได้ไปสัมผัสชีวิตจริงของคนลาวใน สปป.ลาว จึงคิดว่าการมองปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจเฉพาะในภาคอีสานยังแคบไป คนลาวไม่ได้มีแค่ภาคอีสาน ผมจึงเริ่มพูดถึงประเด็นปัญหาในสังคมที่คิดว่ามันเกิดจากโครงสร้างสังคม ซึ่งก็ถูกตีความต่อไปว่าเพราะเราเป็นคนลาว และการพูดผ่านวรรณกรรมก็เริ่มไม่จำกัดพื้นที่เรื่องเล่าในภาคอีสานประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้นำเสนอเหนือเส้นพรมแดนรัฐชาติ พูดตรงๆ คือในเรื่องสั้นหรือนวนิยายที่เขียนอาจจะไม่มีเส้นพรมแดนรัฐเสียแล้ว

เมื่อก่อนผมไม่ได้พูดถึงเรื่องแบบนี้ในงานเขียน แต่ก็รู้สึกว่าอาจเป็นเพราะเราไม่ชำระประวัติศาสตร์หรือเปล่า เราจึงมองว่าถูกกระทำมาตลอด แม้ว่าจริงๆ ส่วนหนึ่งเราก็เป็นผู้กระทำเหมือนกัน ช่วงหลังงานเขียนก็เลยจะเป็นลักษณะที่ชี้ประเด็นไปว่า ปัญหาเกิดจากอะไร และผู้ตกอยู่ภายใต้ปัญหานั้นมีชีวิตอยู่อย่างไรและสิ้นสุดแบบไหน อย่างเช่นเรื่องสั้นที่กำลังเขียนอยู่ก็พยายามจะบอกว่าการเดินทางจากขอนแก่นไปอุบลฯ ลำบากมาก แม้จะมีรถโดยสารปรับอากาศ แต่ก็ต้องเสียเวลาเป็นวันๆ ถ้าจะซื้อรถสักคันต้องไปคุยกับสินเชื่อ ผมก็ตั้งคำถามว่าทำไมรัฐไม่ทำรถไฟให้ แบบนี้เป็นต้น

งานเขียนช่วงนี้เริ่มจะเข้าไปที่โครงสร้างสังคม อำนาจ และผลประโยชน์ของชนชั้น แล้วอาจจะแรงขึ้น ชัดขึ้นก็ได้เพราะด้วยวัยด้วย พออายุ 40 ขึ้นมาก็เริ่มพูดตรงๆ ไม่ค่อยแคร์อะไร เมื่อก่อนก็วนเวียนอยู่กับเรื่องสั้น นิยาย พูดเรื่องสุนทรียภาพความงาม แต่ช่วงหลังใส่ตรงมากขึ้น ประเด็นทางสังคมการเมืองชัดขึ้น แล้วก็นำไปสู่ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย

คุณคิดว่างานเขียนของคุณทำให้คนมีมุมมองเปลี่ยนแปลงไปไหม การจัดตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของส่งผลต่อวงวรรณกรรมอย่างไร

การตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของขึ้นมา เป็นการพยายามเปิดพื้นที่และแพลตฟอร์มทางความคิดปัญญา สร้างกิจกรรมภาษา วรรณกรรมและศิลปะ สืบสานวัฒนธรรมเครือญาติชาติพันธุ์ มอบรางวัลอุรังคธาตุให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมโนทัศน์ด้านสุนทรียศาสตร์สาธารณะเพื่อภูมิปัญญาความเป็นมนุษย์ที่ยั่งยืน

เราสามารถสร้างพื้นที่ขึ้นมาได้ เราเป็นศูนย์กลางได้ สมาพันธ์ฯ และรางวัลอุรังคธาตุเป็นต้นทางของการทำงานวรรณกรรมที่ไม่จำเป็นต้องส่งไปพิมพ์ที่กรุงเทพฯ หรือส่งประกวดรางวัลที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการจัดเวทีอภิปรายเสวนาเรื่องงานเขียนและการวิจารณ์ เราไม่จำเป็นต้องรอให้กรุงเทพฯ ประกาศหรือจัดงาน

จากการพูดคุยได้ข้อสรุปว่า เมื่อก่อนนี้คนหนุ่มสาวรุ่นก่อนผมสัก 10 ปีที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ได้จัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล เขาเติบโตไปเป็นนักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง แต่ผมคิดว่ามันยังไม่พ้นแนวคิดเรื่องศูนย์กลางอยู่ดี ถึงจะไม่มีกฎหมาย แต่ก็มีจารีตอยู่ในใจว่าทุกอย่างจะต้องรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลาง

ผมคิดว่าข้อเสียของศูนย์กลางคือมันทำให้การเติบโตของสุนทรียศาสตร์ สุนทรียภาพต่างๆ ในเชิงศิลปวัฒนธรรมถูกกดไว้ในส่วนกลางหมด สมมติว่าภาคอีสานมีคนที่สร้างสรรค์งานเก่งจริงๆ เยอะมาก แต่ทั้งชีวิตของเขาก็อาจจะไม่ได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นมาเป็นศิลปินแห่งชาติหรือศิลปินดีเด่นเลย เพราะต้องเข้าสู่ศูนย์กลางแล้วก็ต้องไปรอคิวเท่านั้น

ประการต่อมาคือคนอีสานมีความกลัวอยู่ ผมไม่รู้จะนิยามความกลัวนี้อย่างไร มันคือความกลัวคนที่เป็นคนไทยแท้ๆ และคนภาคกลาง เวลาเด็กร้องไห้ เขาจะบอกว่า “พวกไทยมาแล้ว เงียบ เดี๋ยวพวกไทยมาจับกินดีนะ” เด็กก็จะเงียบทันที อีกสิ่งที่กลัวคือกลัวตำรวจ ข้าราชการ เช่น ถ้าปลัดไปเยี่ยมหมู่บ้านต้องฆ่าไก่และเป็ดมาทำต้มทำลาบเลี้ยงดูปูเสื่อ ลูกสาวต้องไปนั่งเฝ้าตอนปลัดกินข้าว ไปดูเรื่องสั้นชุด ฟ้าบ่กั้น ของคำสิงห์ ศรีนอกสิ จะเป็นแบบนั้น ความกลัวเหล่านี้ยังฝังอยู่ในดีเอ็นเอคนลาวในภาคอีสาน

เมื่อก่อนผมก็อยู่ในวงวรรณกรรมกรุงเทพฯ นี่แหละ วัยหนุ่มก็วนเวียนอยู่แถวราชดำเนิน แต่ผมออกมา คิดว่าลองมาทำอะไรที่เป็นรูปธรรมดีไหม ไม่ต้องรอกรุงเทพฯ ผมทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่จะพิมพ์หนังสือของตัวเองและเพื่อน และสร้างบรรณาธิการ เพราะถ้าทำงานเขียนโดยไม่ผ่านบรรณาธิการมันจะไม่ก้าวหน้า ไม่รู้จุดด้อยจุดดี ส่วนสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของคือความต้องการจะแสดงให้เห็นว่าทำไมต้องเป็นกรุงเทพฯ ทั้งหมด การสร้างบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ นักเขียน และการให้รางวัลขึ้นมา คือการบอกว่าเมื่อกรุงเทพฯ ทำได้ เราก็ทำได้ แต่ก็มีคนมาพูดอยู่ว่าจะทำอะไรก็เกรงใจพี่น้องเราที่สมาคมนักเขียนกรุงเทพฯ บ้าง มีคนกลัวคนกรุงเทพฯ คนภาคกลางแบบที่ผมพูดไปนั่นไง แต่ผมก็ไม่รู้ว่ากลัวอะไร ที่ผมทำไปก็เพราะต้องการให้เกิดความหลากหลายและต้องการให้กำลังใจกันในภูมิภาค ไม่เกี่ยวกับว่าจะกบฏหรือแบ่งแยกดินแดน

ผมต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าเราก็มีวิธีการทำงานของเราได้ มีหลายคนอยากสนับสนุนค่าใช้จ่ายรางวัลพวกนี้ เขาบอกว่า “ผมเข้าใจที่คุณทำ ผมคิดตั้งนานแล้วแต่มันไม่มีจังหวะที่จะคุย ที่จะทำ” แสดงว่าเขาเริ่มเกิดความเข้าใจ และเวลาผมไปคุยในงานชุมนุม ผมก็จะพูดประวัติศาสตร์บ้าง สอดแทรกความเป็นลาว แม้ในนามรัฐชาตินิยมเราคือคนไทย แต่เราเป็นคนลาว มีชาติพันธุ์ มีวรรณกรรมและประเพณีลาว เราก็ต้องสร้างพวกนี้ขึ้นมาเพราะมันคือความเข้มแข็งทางปัญญา คือความเข้าใจในตัวตนและอัตลักษณ์ เพราะโลกข้างหน้าสลับซับซ้อน วุ่นวาย เราจึงต้องมีความชัดเจนในความคิด มีจุดยืนที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังปัญญาจากตัวเอง โดยไม่ต้องกลัว

คนรุ่นหลังยังมีความกลัวแบบนั้นอยู่ไหม

ผมคิดว่าคนลาวอีสานได้รับบทเรียนความกลัวนี้กันทุกคนแล้ว คนรุ่นอายุ 20 ต้นๆ ยุคนี้ก็ได้รับเหมือนกัน แต่แตกต่างจากคนรุ่นผมคือ พวกเขาเดินเข้าหาปัญหา ถ้าตรงไหนที่เขาคิดว่าจะปลดปล่อยได้ เขาก็จะแสดงความคิดเห็นออกมา แต่รากคิดเรื่องดินแดนและชาติพันธุ์อาจจะคลี่คลายไป ไม่ลึกเท่าคนรุ่นผม คนรุ่นนี้อาจไม่ได้กลัวแบบคนรุ่นผม เขารู้จักความกลัวนี้ เขารู้ว่ากลัวอย่างนี้เพราะอะไร เขาอธิบายด้วยเหตุผลได้ว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วต้องคิดอย่างไรจึงจะทำให้พื้นที่ของเรากว้างขึ้น

อีกประเด็นคือคนรุ่นนี้เขามีสัมผัสโลกสมัยใหม่ มีการศึกษาแบบใหม่ จึงกล้าแสดงออก เขาแสดงตัวตนออกมาได้ นี่คือข้อแตกต่างระหว่างความกลัวของคนรุ่นผมกับคนรุ่นปัจจุบัน และมันอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบของรัฐในแง่อำนาจการเมืองของเครือญาติชาติพันธุ์และพื้นที่ในระยะต่อไป

คนรุ่นก่อนผมหรือรุ่นผมเรากลัวกันจริงๆ ทุกวันนี้เพื่อนผมบางคนตั้งแต่จบ ป.6 จนถึงทุกวันนี้เขาไม่ไปไหนเลย ความคิดของเขาอยู่ในแบบเก่ามาก เขากลัว ไม่กล้าไปกรุงเทพฯ ไปที่ทำการอำเภอก็ไปแบบหงอๆ เหมือนแบบที่ ฟ้าบ่กั้น ของคำสิงห์พูดไว้ แต่คนรุ่นนี้แตกต่างแน่นอน ความกลัวของเขาเปลี่ยนไป เขามีวิธีการ ไม่เหมือนกับคนรุ่นผมที่มโนทัศน์ยังตายตัวอยู่และเหมือนจะจำยอมไปวันๆ เสียเป็นส่วนมาก คือไม่มีเวลาและโอกาสได้ศึกษาและฟัง จึงไม่ได้คิดก้าวหน้า ไม่รู้และไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม

การทำสมาพันธ์และการทำรางวัลอุรังคธาตุของผมก็เป็นการทำเพื่อลดพื้นที่ที่ครอบงำในเชิงอำนาจรัฐชาตินิยมลงเหมือนกัน ลดให้น้อยลงหน่อย แต่ไม่ได้ทำลาย หักล้าง หรือไปกล่าวร้ายอะไร เพียงแค่บอกว่าคุณอยู่ตรงนี้นะ เดี๋ยวผมจะขยายวงออก ผมกับคุณก็ยังเป็นอันเดียวกัน ผมคิดว่าคนรุ่นนี้เขาคิดแบบนี้แหละ เขาพยายามลดตรงนี้ลงโดยการมองแบบนามธรรม แล้วเขาก็พยายามที่จะแสดงตัวตนขึ้นมา

บทเรียนจาก ‘ความกลัว’ คืออะไร

ผมเคยสงสัยว่าทำไมคนรุ่นผมและรุ่นก่อนผมถึงกลัวสยาม กลัวกรุงเทพฯ ผมมาเข้าใจภายหลังไม่นานนี้ว่าเพราะเมื่อก่อนนี้มีการแพร่กระจายเรื่องตั้งแต่สมัยไทยเข้าไปตีเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ เรื่องกบฏ เรื่องการต่ำชั้นกว่าโดยพระสงฆ์  คือพระสงฆ์จะเขียนเรื่องราวบนใบลานแล้วแจกจ่ายต่อไป และพวกหมอลำที่จะลำตั้งแต่หัวค่ำจนถึงสว่างตอนนึ่งข้าวเช้า ถ้าในหนึ่งปีได้ฟังลำหนึ่งครั้ง ไม่เกินห้าปีก็จะจำประวัติศาสตร์ได้หมด โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การถูกลงโทษ คนอีสานรุ่นก่อนผมและรุ่นผมรู้หมดว่าสยามประหารชีวิตคนลาวที่ไหน มีคนบ้านไหนเมืองใดบ้าง ช่วงต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็มีที่เอาหมอลำขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วลำออกเครื่องกระจายเสียง

ความกลัวพวกนี้มาจากการจัดการทางการเมือง การกระชับอำนาจ เพราะมีการแพร่กระจายเรื่องจากหมอลำกับพระสงฆ์ เมื่อก่อนพอเด็กไปวัดกับพ่อแม่ได้ยินพระเทศน์ก็ฝังหัวเลยว่าอะไรเป็นอะไร คนเฒ่าคนแก่ก็จะพูดขู่ “มึงอย่าไปทำแบบนี้นะ เดี๋ยวเจ้านายเขาจับมึงไปนะ จับไปประหาร ลงโทษบีบขมับ ทับเล็บนะ” ความกลัวนี้ฝังหัวคนยุคหนึ่งมาตลอด

ส่วนมูลเหตุของความกลัวคือกลัวถูกจับไปขัง ทรมาน ฆ่า ยุคต้นรัตนโกสินทร์นี่มีคนลาวถูกฆ่าแล้วเอามาลอยแม่น้ำโขงเยอะ เขาทำแบบนี้เพื่อให้คนเห็นแล้วจะได้กลัว และคนรุ่นก่อนผมเขาก็ยังเห็นหลังของกบฏผู้มีบุญอยู่ ผมคิดว่ารุ่นของคำสิงห์ ศรีนอกที่เขียน ฟ้าบ่กั้น คำพูน บุญทวีที่เขียน ลูกอีสาน ก็น่าจะยังทันกบฏผู้มีบุญยุคท้ายๆ สิ่งเหล่านี้เป็นวาทกรรมที่เล่าสืบต่อกันมาทำให้เรากลัว แล้วยิ่งมาเจอเหตุการณ์ในปี 2500 ที่เอารัฐมนตรีอีสานไปประหารก็ยิ่งกลัวกันไปอีก มันคือความกลัวที่ซ่อนอยู่ในรอยยิ้มและหยาดเหงื่อของคนลาวในภาคอีสานที่คงจะไม่มีวันจางหาย

คนรุ่นปัจจุบันมีความกลัวนี้ลดน้อยลงไหม

ใช่ครับ กลัวน้อยลง เพราะประการแรก ต้นฉบับที่มีเนื้อหาเรื่องเล่าปฏิบัติการทัพสยามต่อคนลาวได้สูญหายไปแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้แปรรูปบันทึกประวัติศาสตร์สังคมเป็นศิลปะแขนงอื่น ประการที่สอง หมอลำรุ่นเก่าได้ล้มหายตายจากไป คนรุ่นใหม่จึงไม่รู้ลึกเท่าไร ความกลัวก็เลยอ่อนลงเรื่อยๆ เว้นแต่คนที่ศึกษา ซึ่งอาจจะไม่กลัวแบบที่คนรุ่นเก่ากลัว แต่กลัวแบบจะเปลี่ยนแปลงไปสู่มิติทางสัมพันธภาพใหม่ๆ ระหว่างไทยกับลาวในรัฐเดียวกันมากกว่า ซึ่งแนวคิดนี้อาจจะโยงไปถึงการปฏิวัติ และการปฏิวัติที่ต้องทำได้เลยคือการปฏิวัติแนวคิดโดยใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งจะต้องฝ่าออกมาจากกรงกรอบศูนย์กลางรัฐชาตินิยมก่อน

คุณคิดว่าอะไรทำให้ภาคอื่นมองภาคอีสานอย่างดูถูก และคุณคาดหวังไหมว่ามุมมองต่อคนอีสานของคนภาคอื่นควรจะเป็นอย่างไร

การถูกเปลี่ยนให้เป็นคนไทยคือสาเหตุหลัก รวมทั้งประวัติศาสตร์ในหนังสือฉบับรัฐ อคติความเชื่อจากตัวบุคคลที่มีอำนาจชี้นำสังคมและอำนาจในทางการเมือง และการจัดการศึกษาที่รวบหัวรวบหาง ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่สร้างสรรค์ต่อคนลาวในภาคอีสานมาอย่างยาวนาน

ความคาดหวังคือ เรามีหน้าที่แสดงให้เห็นสุนทรียภาพของคนลาวในพื้นที่ภาคอีสานเพื่อให้เห็นว่ามีอารยธรรมมีความเข้าใจเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ทั้งสองฝั่งฟาก ผมเชื่อว่าวันใดที่รัฐไทยสมัยใหม่ยอมรับความเป็นคนลาวในภาคอีสานในแบบที่เป็นสากล ไม่ใช่ในฐานะคนในบังคับหรือในแบบอาณานิคม ผมเห็นว่าวันนั้นการปฏิบัติต่อคนลาวจะเปลี่ยนไป ทิศทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ และงบประมาณการพัฒนาจะเปลี่ยนไป และสิ่งสำคัญการจัดการศึกษาให้คนลาวและเครือญาติชาติพันธุ์ในภาคอีสานของไทยคงจะเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นแบบที่ให้คนลาวในภาคอีสานมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกและกำหนดชีวิตตัวเองได้มากขึ้น และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มากขึ้น  

ผมไม่เคยศึกษาหรือวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าทำไมคนภาคอื่นถึงมองคนอีสานด้วยสายตาดูถูกว่าต่ำต้อย การดูถูกมีมาตลอด แบบที่ล่าสุดก็มีคลิปเด็กที่อุดรฯ พูดถึงคนลาวแบบดูถูก คนอีสานถูกมองว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ ด้อย ล้าหลัง กินอาหารสกปรก หรือไม่ขยันมาตลอด ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากกระแสสังคม ลาวเข้าสู่แผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขงในฐานะไทครัว ทาส ไพร่ เป็นผู้ที่อพยพเข้ามาพึ่งใบบุญพึ่งบารมี บ้างก็เป็นเชลยศึก นี่คือสาเหตุที่คนมองว่าลาวต่ำต้อย พวกไทครัวในภาษาอีสาน คือพวกที่ย้ายไปบ้านใหม่ ไปหาไร่นาใหม่ทำ เขาอยู่ง่ายกินง่ายเพราะไม่มีอะไรให้กิน ตอนที่มาถึงใหม่ ๆ ก็ต้องเดินไปขอข้าวในหมู่บ้าน จะให้สะอาดเหมือนผู้ดีรัตนโกสินทร์คงไม่ได้ (หัวเราะ) ผมว่าจุดนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ถูกจัดชนชั้นทางสังคมแบบนี้  

ประเด็นต่อมา คือชุมชนภาคอีสานมีหลายชาติพันธุ์ ดังนั้นคนที่เราคิดว่าเป็นลาวก็อาจไม่ใช่ลาวตั้งแต่แรก แต่ต้องเป็นลาวเพราะช่วงที่ลาวมีอำนาจ ลาวได้กินบ้านกินเมืองเข้าไป เช่น หัวเมืองภาคอีสาน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่มีอิทธิพลของขอมมาก่อน ในตอนที่ขอมไปสร้างนครวัด ขอมอ่อนกำลังลง และลาวที่มีอำนาจขึ้นมาใหม่ก็อพยพลงมากินบ้านกินเมืองต่อจากพวกขอม หรือในบางพื้นที่ ถ้าพื้นที่นั้นมีคนขอมน้อยกว่าคนลาว ก็จะต้องเปลี่ยนมาพูดภาษาลาว เหมือนกับที่คนลาวในภาคอีสานตอนนี้ต้องพูดภาษากรุงเทพฯ และถ้าเราไปดูจริงๆ ผู้ดีลาวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ เขาก็เหมือนกับผู้ดีรัตนโกสินทร์ ใส่ผ้าซิ่นสวยงาม ไม่ใช่ธรรมดาๆ

หรืออาจเพราะคนลาวไปอยู่ไหนก็เอาตัวรอดได้ ขยัน สู้ กินได้ทุกอย่างหรือเปล่า อย่างผมมีเพื่อนสนิทที่กรุงเทพฯ เยอะ คนกรุงเทพฯ หุงข้าวกินตอนเช้าเสร็จถึงจะกินไม่หมดแต่เขาก็ไม่เอามากินต่อตอนแลง (มื้อเย็น) ส่วนผมที่ไปอยู่กรุงเทพฯ ผมนี่ ถ้าเช้ากินไม่หมด เย็นก็กินต่อ เช้าอีกวันก็ยังกิน เขาบอกรังเกียจมากกินไปได้อย่างไร บูดแล้ว ผมบอกมันไม่บูด กินได้ (หัวเราะ) นี่คือความแตกต่าง ตรงนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

ปัจจุบันนี้วัฒนธรรมของอีสานหลายๆ อย่าง เช่น อาหารอีสาน เพลงอีสาน หรือคำศัพท์ในภาษาอีสานได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนอีสาน คุณคิดว่านี่เป็นสัญญาณว่ามุมมองต่อคนอีสานได้เปลี่ยนไปแล้วหรือเปล่า

ผมคิดว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เมื่อสัก 20-30 ปีก่อน เวลาละครโทรทัศน์ให้นักแสดงเล่นเป็นคนลาวภาคอีสาน ทั้งบุคลิก เสียงพูด น้ำเสียงจะค่อนข้างไปในทางตลก แต่เดี๋ยวนี้น้ำเสียงพวกนี้ลดลงแล้ว เขาไม่เล่นในน้ำเสียงและท่าทีนั้น ถึงจะมีตัวละครรับบทเป็นคนลาวภาคอีสาน แต่ก็ไม่ได้เล่นประเด็นพวกนี้แล้ว มีการปรับเปลี่ยนน้ำเสียงไปในเชิงบวกต่อชาติพันธุ์และภูมิภาค ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ซึ่งมีผลมาจากการเชื่อมโลก สื่อดิจิทัลมีโปรดักส์ที่ไปถึงทุกคนได้

ในเรื่องภาษา ภาษากรุงเทพฯ เป็นภาษาที่มีความเป็นพิธีการมาก และเพราะความเป็นรัฐชาตินิยมตีกรอบให้เราต้องอยู่กับการสื่อสารที่รุงรัง สาเหตุที่วรรณคดีบางเรื่องต่อยอดไม่ได้ เพราะเต็มไปด้วยศัพท์และภาษาชั้นสูงพวกนี้ แต่ภาษาอีสานฟังง่าย เป็นคำสั้นๆ ที่สื่อความหมายได้ง่ายกว่า เพราะแบบนี้เพลงใหม่ๆ หรือละครจึงมีการเอาคำพวกนี้เข้าไป ส่วนอาหารอีสานก็กินง่าย เติมอะไรเข้าไปก็กินได้หมด ไม่ตายตัว

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความเป็นลาวได้แทรกซึมเข้าไปเป็นวิถีสมัยใหม่ วัฒนธรรมลาวซึ่งเป็นอันเดียวกับไทย แต่เข้าใจได้ง่ายกว่า เร็วกว่า จึงแพร่กระจายออกไป แต่ความเป็นแบบแผนทางการก็ยังมีคงเดิมอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ในการตลาดหรือสาธารณะ

เมื่อความเป็นอีสานถูกปรับให้อยู่กับความเป็นไทยได้แนบแน่นขึ้น รุ่งโรจน์ขึ้น และคนอีสานจำนวนมากก็ดูจะเป็นคนไทย (ในฐานะพลเมืองของรัฐไทย) ไปแล้ว คุณคิดว่าการนิยามเรื่องลาวฝั่งซ้าย-ขวาแม่น้ำโขง ยังเป็นคำนิยามที่ใช้ได้ไหมในยุคสมัยนี้

จริงๆ แล้วคำว่าลาวฝั่งซ้าย-ฝั่งขวาแม่น้ำโขงขาดหายไปตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว แม้ว่าคุณแม่ผมที่เป็นคนรุ่นที่ยังข้ามไปฝั่งลาวเวลามีเทศกาลงานบุญ จะเรียกฝั่งซ้ายฝั่งขวา แต่รุ่นผมไม่ได้เรียกแล้ว ในแง่ภาษาศาสตร์สังคมมันเป็นคำที่ตายไปแล้ว มันอาจจะปรากฏอยู่ในภาษาที่ต้องการสื่อสารเป็นการเฉพาะถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่ผ่านมาแล้วเสียมากกว่า

ความคิดเรื่องลาวฝั่งซ้าย-ฝั่งขวาแม่น้ำโขงนี้ไม่ได้เป็นทางการหรือสาธารณะ อยู่ที่ตัวบุคคลเสียมากกว่า เป็นวาทกรรมหรือชุดความคิดเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่าผมเอามาใช้ในแง่ประกายความคิดเพื่อชี้ประเด็นให้ชัด ผมเลือกใช้คำนี้เพื่อลดความเป็นศูนย์กลางลง เพราะถ้ารัฐไทยได้ยินคำว่าฝั่งซ้ายฝั่งขวา ความรู้สึกเรื่องการเมืองจะตามมาทันที ใช้คำนี้เพื่อกระตุ้นสำนึกทางการเมืองและวัฒนธรรม เพราะจะมีชุดคำไม่กี่คำเท่านั้นที่ทำให้ความมั่นคงอ่อนไหว อย่างคำนี้เป็นต้น

ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขงจะกระตุ้นให้เกิดอะไรในอนาคต

ที่มาของคำ ‘ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ คือผมพูดในวงสนทนาว่าคนลาวใน สปป.ลาว ปัจจุบัน เขาเรียกกันว่า ‘ลาวใน’ พวกที่อพยพไปประเทศที่สาม เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างลาวขวา เขาเรียก ‘ลาวนอก’ แล้วถ้าอย่างนั้นลาวในภาคอีสานจะเรียกว่าลาวอะไร และผมเสนอให้เรียกว่า ‘ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’

ผมต้องการให้คำนี้สร้างมโนทัศน์ในใจ ผมอยากให้ใช้ ‘ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ เพราะจะทำให้ไม่มีซ้าย ไม่มีขวา ไม่มีไทยลาว ระบุแค่เป็นลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขงซึ่งแสดงถึงร่องรอยความเป็นลาวล้านช้างดั้งเดิมแต่โบราณ อันมีศูนย์กลางอยู่ที่หลวงพระบางในสมัยแรกๆ และย้ายมาเวียงจันทน์เมื่อประมาณ 460 ปีก่อน คำนี้เป็นคำที่ผมชอบใช้และใช้นิยามตัวเองด้วย มันทำให้เรามีตัวตนทางวิธีคิดและปัญญามากกว่าตอนบอกว่าผมเป็นคนไทย ผมเป็นคนไทยอยู่แล้วละ แต่พอบอกว่าเป็น ‘ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง’ เรารู้สึกมีพลังที่จะเขียน มีพลังชี้ประเด็นข้อเท็จจริง รู้สึกสนุก มั่นใจมากขึ้น และกลัวน้อยลง

ทุกวันนี้ความกลัวมีอยู่นะ แต่การบอกว่าเป็นลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง ทำให้ผมจับความกลัวไม่ให้มาอาละวาดวุ่นวายกับผมได้ ผมมั่นใจมากขึ้นว่าเราจะไม่ถูกเขากดลงเบื้องล่างของสังคมอารยะ ไม่รู้ว่าผมคิดมากไปเองไหม แต่ตั้งแต่ผมบรรลุมาสู่คำนี้ผมรู้สึกผ่อนคลาย คลี่คลาย ไม่รู้สึกเหมือนถูกคุมขังอยู่ในคอกอีกต่อไป

แสดงว่าคำนี้ไม่ได้แบ่งแยกทางการเมือง แต่เป็นการเน้นย้ำอัตลักษณ์ใช่ไหม

ใช่ ไม่เกี่ยวกับการเมืองพื้นที่หรือการแบ่งแยกรัฐอิสระอย่างที่ระแวงกัน เป็นการเน้นย้ำอัตลักษณ์ แบ่งแยกทางวิธีคิดว่าผมจะไม่มองแบบมองจากกรุงเทพฯ ด้านเดียวหรือมองตามกรุงเทพฯ อย่างเดียว แต่จะอยู่ตรงนี้แล้วมองจากตรงนี้ เมื่อกรุงเทพฯ มองผมได้ ผมก็มองกรุงเทพฯ ได้ กรุงเทพฯ คือพื้นที่ที่ประกอบสร้างวาทกรรมได้ เราก็คือพื้นที่ที่ประกอบสร้างวาทกรรมได้เช่นเดียวกัน

การที่คนอีสานสามารถมองกลับไปได้ ถือเป็นการตอบโต้คนภาคอื่นที่มองว่าคนอีสานต่ำต้อยกว่าด้วยหรือเปล่า

มันทำให้มีตัวตนมีอัตลักษณ์ขึ้นมา ลดทอนความ ‘โง่ จน เจ็บ’ ความเป็นไทครัว ที่ถูกยัดเยียดจากผู้คนที่เป็นอื่นว่า คนลาวคือทาสไพร่ต่ำต้อย ต้องได้รับการสังคมสงเคราะห์ตลอดมาเพราะไม่มีบ้านเมือง

สังคมไทยตอนนี้ขยับเข้าใกล้ภาพที่คุณคาดหวังมากน้อยเพียงใด

ถ้าหากคิดเป็นตัวเลข ผมเห็นว่าสัก 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว วิถีความเป็นลาวภาคอีสานค่อยๆ ซึมซับลงไปในกระบวนทัศน์ทางสังคม มันเป็นการพิสูจน์ศักยภาพในทางสังคมที่ผ่านมา ถึงจะยังมีพวกที่มาสร้างดราม่าเรื่องลาวแต่ผมคิดว่าเป็นส่วนน้อยมาก ตัวตนที่แท้จริงของเขาอาจจะสนิทชิดเชื้อกับลาวหรือเป็นลาวก็ได้ (หัวเราะ) เพราะคนที่ด่าลาวได้ชัดๆ ผมว่าเขาต้องรู้จักลาวดี จู่ๆ คนที่ไม่เคยเกี่ยวข้อง ไม่มีวิถีชีวิตเกี่ยวกับคนลาวจะด่าไม่ได้เพราะไม่มีข้อมูล

จริงๆ ผมยอมรับคำว่า ‘ไทยอีสาน’ ได้ในแง่ของการที่รัฐไทยให้ความเท่าเทียมการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน ผมคิดว่า ‘ไทยอีสาน’ เป็นคำที่ทำให้เกิดมโนทัศน์ที่ก้าวหน้าได้ และโยงต่อไปได้ว่าไทยอีสานประกอบด้วยลาว ญ้อ ผู้ไท เญอ ฯลฯ ผมชอบคำเหล่านี้ ส่วนสาระเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ก็ว่ากันไปตามเรื่องของมัน อย่างที่ผมพูดเรื่องลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง ก็เป็นวิธีคิดวิธีมองเพื่อสร้างความเป็นตัวตนทางความคิดและจิตวิญญาณ เพราะเราก็ต้องรู้เรื่องพวกนี้ด้วย แต่ถ้าจะบอกว่าเป็น ‘คนไทย’ ไม่มี ‘อีสาน’ ไม่มี ‘ลาว’ ก็จะแข็งขืนไป เพราะตัดรากเหง้าของเราออก

ช่วงหลังมานี้มีคนภาคอื่นย้ายมาอยู่ภาคอีสานเยอะมาก มาทำงานราชการ มาประกอบอาชีพ นานมาแล้วละ เป็น 70-80 ปี แต่ผมก็ดูไม่ออกว่าเขาเป็นคนภาคอื่นเพราะเขาพูดลาว มีวิถีชีวิตแบบลาว เป็นเพราะสังคมอ่อนโยน คนที่ไม่ใช่คนอีสานจึงสามารถมองวิถีชีวิตของคนอีสานแล้วไปปรับได้

ในช่วง 40-50 ปีมานี้ โรงงานทอผ้า โรงฟอกหนัง หรือโรงผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของคนไทยเชื้อสายจีน ส่วนหนึ่งก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยแรงงานคนลาวจากภาคอีสานทั้งนั้น ผมเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรก ช่วงปี 2528 ตรงแยกปทุมธานียังไม่มีอะไร ไม่มีฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ยังเป็นป่าละเมาะ แถวนั้นมีแต่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในโรงงานนี่มีแต่คนภาคอีสานนะ คนลาวภาคอีสานสร้างชาติ ถึงจะฟังน่าหมั่นไส้ แต่มีข้อมูลอยู่ เพราะไม่เพียงแต่ที่คนลาวอีสานจะให้แรงงานและภาษี แต่ยังให้ทรัพยากรแก่รัฐไทย อีสานยังปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมของประเทศด้วย

คนลาวดั้งเดิมจากสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์มีอยู่ในทุกที่ของรัฐไทย เป็นส่วนหนึ่งของวิถีไทยสมัยใหม่ที่ต้องมองให้ถึง ถ้าเราเข้าใจเราไม่ดูถูกกัน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของวิถีไทยที่ผสมผสานอย่างสวยงาม

แสดงว่าคนภาคอื่นก็มีอคติต่อคนอีสานลดลงด้วยใช่ไหม

ช่วงหลังมานี้ ผมได้ไปทำงานในพื้นที่หลายภาค ผมคิดว่าคนมีอคติลดลง ประการแรกอาจเป็นเรื่องของคนแต่ละรุ่น เพราะนกแต่ละตัวก็ร้องเพลงต่างกัน ถ้าถามถึงคนรุ่นผม คนไทยภาคกลางรุ่นผมนี่มีโลกทัศน์ต่อคนลาวภาคอีสานแรงนะ ผมว่าเขายอมรับแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ผมเคยไปอยู่แถวสะพานเจริญพาศน์ ทำงานในปั๊มน้ำมัน พอจะเปิดเทอมผมบอกเถ้าแก่ว่าผมจะเปิดเทอมแล้ว ขอบัตรประชาชนคืน เถ้าแก่บอกมึงจะเรียนหนังสือทำไม มึงอยู่กับกูนี่ ไม่ต้องไปเรียนหนังสือ เขาว่าแล้วก็หัวเราะแต่ก็ส่งบัตรคืนให้ ส่วนลูกเถ้าแก่เขาเรียนที่อเมริกานะครับ แต่พอเป็นผม เขาบอกว่า “มึงจะไปเรียนหนังสือหาแม่มึงหรือ” (หัวเราะ) แต่สุดท้าย แกก็ให้เงินค่าจ้างมากกว่าเงินเดือนเสียอีก  

ส่วนตอนไปทำงานที่โรงงานแถวราชบุรี เจ้าของเขาก็มองเราเป็นแรงงาน ใช้งานเราหนัก แต่ถึงโลกทัศน์ต่อคนอีสานจะแรง ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องใช้กำลังตอบโต้ที่ถูกเหยียดยาม เพราะตอนช่วงอายุ 15-16 ปีผมเริ่มคิดแบบสุนทรียศาสตร์ความเป็นลาวว่าเพลงลูกทุ่ง เพลงหมอลำ ดอกจำปา ท่ารำ ทำนองขับลำของลาวที่มียี่สิบกว่าทำนองตั้งแต่หลวงพระบางถึงจำปาสักนั้นสวยงามมาก ผมก็เลยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ได้แต่ยิ้มรับ

ประการที่สอง คือเราเห็นความจริงแล้วว่าเราก็คือคนด้วยกัน มีทุกข์ มี​สุขร่วมกันในกระแสสังคม เศรษฐกิจ เราเชื่อมต่อถึงกันหมด ตรงนี้ก็มีส่วนเหมือนกัน

ในอนาคต เปอร์เซ็นต์การยอมรับนี้จะเพิ่มมากขึ้นได้อีกไหม

เป็นไปได้ ในอนาคตอาจแทบจะไม่เหลือความเป็นไทย ความเป็นลาวเลย ความเป็นไทยเป็นลาวที่เกิดมามีชีวิตในรัฐเดียวกัน อาจจะสลายหายไปเป็นเพียงมโนทัศน์ แม้กฎหมายจะเขียนไว้อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอีก 10-20 ปีจะต้องมีนวัตกรรมทางสังคมใหม่เกิดขึ้น คงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่จะละลายอคติเหล่านี้จนหมดสิ้นหรืออ่อนแรงลงไป ความเข้าใจอาจจะเพิ่มเป็น 80-90 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีนวัตกรรมรัฐรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะถ้าไม่มีนวัตกรรมมาหลอมคนในรัฐชาติ รัฐชาติที่ผูกขาดจากศูนย์กลางก็จะอ่อนแอและแตกหักลงไป ต่อให้มีการยอมรับหรือลดอคติไป 70 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม เพราะเกวียนก็อาจหักด้วยฟางเส้นสุดท้าย

ถ้ามองในเชิงบวก ในอนาคตต้องมีคนที่คิดนวัตกรรมรัฐและอำนาจทางการเมืองได้มากกว่าคนรุ่นเราว่า จะไม่มีไทย ลาว เขมร ผู้ไท ญ้อ แต่ถ้าถามว่ากระบวนการนั้นจะเกิดขึ้นอย่างไร ชาตินิยมในอนาคตจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด สำนึกทางการเมืองจะเริ่มได้รับการปั้นแต่งเหมือนกองทรายที่ได้รับการประดิษฐ์ประดอยเข้าหากันไหม ต้องมีคนที่คิดได้ คิดเป็น แล้วกระแสสังคมก็จะช่วยกันผลักดัน ผมคิดว่าแต่ละส่วนที่ขับเคลื่อนไปก็เหมือนกับคลื่นทะเลที่ซัดบนผืนทราย ทรายที่ยังไม่เรียบถ้าโดนคลื่นสาดมาเรื่อยๆ ก็จะราบเรียบ สวยงาม ถึงมีเศษไม้ก็จะเรียบหมดได้

ผมยืนยันว่าประวัติศาสตร์ศูนย์กลางคือสิ่งที่สร้างอคติทางชาติพันธุ์ คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง อคติพวกนี้เป็นอคติที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดปทุมวนาราม (ปี 2553) ก็เป็นเพราะถือว่าเป็นคนไทยอีสานหรือคนลาว และวัดปทุมฯ เป็นวัดที่เจ้าอนุวงศ์สร้างตอนมาประทับอยู่สยาม เพราะแบบนี้ถึงกล้ายิง

เราต้องเข้าใจว่าเมืองไทยมีความผสมผสานหลากหลาย ไทยมองภาคอีสานเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเข้มงวดทั้งทางตรงและทางอ้อม วิสัยรัฐเช่นนี้ส่งผลต่อการพัฒนาด้วย ทำอะไรขึ้นมาสักหน่อยก็บอกว่าเราจะแบ่งแยก อย่างถ้าบอกว่าขอนแก่นขอเลือกตั้งผู้ว่าฯ บ้าง ก็จะต้องมีนักชาตินิยมที่เชื่อด้านเดียวมาบอกว่าจะขอแยกประเทศใช่ไหม จะไปแยกได้อย่างไร ขอนแก่นก็ของไทย (หัวเราะ)

ผมยืนยันว่าประวัติศาสตร์ศูนย์กลางคือสิ่งที่สร้างอคติทางชาติพันธุ์ คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง อคติพวกนี้เป็นอคติที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ

คุณคาดหวังว่างานเขียนของคุณจะทำหน้าที่อะไร คุณเขียนหนังสือไปเพื่ออะไร

ถึงแม้ผมจะบอกว่าในช่วงแรกผมมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงสุนทรียศาสตร์ อยากให้คนได้เห็นเลือดเนื้อความเป็นอีสานว่ามันสวยงาม และในช่วงหลังผมเขียนเพื่อตีประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่า ผมเขียนเพื่อให้ได้รับการยอมรับความเป็นมนุษย์ในฐานะพลเมืองไทย

ผมเป็นคนที่ทำงานรับจ้างมาตั้งแต่เด็ก ผมรู้สึกกลัว และรู้สึกด้อยว่าเราเป็นไทครัว เราไม่มีแผ่นดิน คนรุ่นผมหลายคนแทบจะเสียจริตเพราะถูกดูถูกว่าเป็นลาว เช่น บางหน่วยงานยังมีอคติอยู่ ถ้าไปสมัครงานแล้วเขารู้ว่าเป็นคนอีสานก็จะโดนตัดออก กระทั่งครูอาจารย์ก็ยังมีอคติ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราถูกหล่อหลอมมาด้วยประวัติศาสตร์อำนาจชาตินิยม และการรับรู้ร่วมกัน ผมคิดว่าคนลาวอีสานคนอื่นก็รู้สึกแบบนี้ แต่อาจจะไม่รู้ตัว

จากที่ในประวัติศาสตร์เราถูกมองว่าไม่มีตัวตน เป็นแต่ไพร่ทาส ‘โง่ จน เจ็บ’ ผมจึงเขียนเพราะอยากประกาศความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เพราะแบบนี้จึงต้องเน้นฉาก สถานที่ เวลา ประวัติศาสตร์ของตัวเองที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างที่ในงานเขียนช่วงหลังจะใส่สถานที่ เหตุการณ์บางอย่างเข้าไป เพื่อให้คนเข้าใจว่าวิถีไทยหรือวิถีลาวในภาคอีสาน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่มุมมองเสียงเล่าจากกรุงเทพฯ ซึ่งแยกตัวเองเป็นเจ้าของรัฐ แต่ทุกคนอยู่ภายใต้กระแสวิถีไทยของรัฐชาตินิยม ผมอยู่ยโสธร อยู่อุบลราชธานี ถ้าผมขยับนิดเดียว กรุงเทพฯ ก็ขยับด้วย ได้เขียนแล้วก็รู้สึกมั่นใจว่าผมคือคนหนึ่งในวิถีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่คนที่ฉุดรั้ง

ผมเขียนเรื่องสั้น เขียนนิยายแค่นี้ ไม่ได้ทำให้ผมวิเศษกว่าคนอื่น เป็นงานที่เหมือนพวกช่างสานตะกร้าสานแหแบบนี้แหละ แต่ผมภูมิใจที่ได้ใส่น้ำหวานลงไปให้เขาได้เห็นหรือได้ชิมรส ในหนังสือเล่มต่อไป รวมเรื่องสั้นเล่มที่ห้านี้ ผมก็วาดผังไว้ว่าจะใส่ความภูมิใจในความเป็น ‘ลาวในภาคอีสาน’ หรือ ‘ไทยอีสาน’  ตามทัศนะของวิถีไทยศูนย์กลางลงไป งานของผมใช้การสืบค้นปรัชญากับสุนทรียศาสตร์จากตัวตนและจิตวิญญาณของคนลาวและเครือญาติชาติพันธุ์ในภาคอีสาน เพื่อปะทะเสียดทานกับอำนาจมายาคติและวาทกรรมของรัฐชาตินิยมศูนย์กลางที่แผ่ครอบงำ

ผมเชื่อว่าหากกวีหรือนักเขียน อันมีฐานะเป็นประชาชนที่มีศักยภาพจะพูดแทนคนอื่นอีกจำนวนมากที่ไม่มีพื้นที่พูดหรือไม่มีโอกาสพูด ไม่ขบถ ไม่ต่อต้านอยุติธรรม ไม่ต่อต้านการครอบงำกดขี่ชาติพันธุ์ของตัวเอง คุณก็เป็นได้เพียงนักใช้ภาษาที่ปราศจากพลังยืนยันความเป็นมนุษย์และไร้ซึ่งการส่องสว่างทางปัญญา  

 

ภาพถ่ายจากนิตยสาร Writer ถ่ายเมื่อปี 2558

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save