วจนา วรรลยางกูร เรื่อง
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณจะได้อยู่ในสถานการณ์ที่มีเพื่อน 3 คน ลงสมัคร ส.ส.เขต ในครั้งเดียวกัน แต่อยู่คนละพรรค มีจุดยืนคนละฝ่าย โดยที่คุณเป็นคนทำหนังและมีทุนเพียงพอจะตัดสินใจเก็บเกี่ยวช่วงเวลานี้ให้เป็นสารคดี
เดชา ปิยะวัฒน์กูล เป็นแพทย์ที่ทำหนังสั้นประกวดเรื่อยมา เขาเผชิญโอกาสดังกล่าวในช่วงการเลือกตั้งปี 2554 และนำมาถ่ายทอดเป็นสารคดี ชะตาธิปไตย ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเดชา โดยเพื่อนร่วมรุ่นของเขา คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ทั้ง 4 คนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักศึกษาแพทย์ศิริราชรุ่น 92
หลังการล้อมปราบ นปช. ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศยุบสภาในปี 2554 ทำให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลงสมัครส.ส.จังหวัดน่าน เบอร์ 1 พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและทำหน้าที่ส.ส.แบบแบ่งเขตในสภา เป็นที่รู้จักในบทบาท ‘ดาวสภา’
นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ลงสมัครส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ เบอร์ 2 พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ปัจจุบันอยู่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้รับเลือกเข้าสภา
นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ลงสมัครส.ส.จังหวัดระยอง เบอร์ 10 พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันทำหน้าที่ส.ส.แบบแบ่งเขตในสภา
เดชาตัดต่อสารคดีเรื่องนี้เสร็จตั้งแต่ปี 2556 ขณะกำลังหาช่องทางฉายในโรงภาพยนตร์เกิดการชุมนุมทางการเมืองของกปปส. ตามมาด้วยการรัฐประหารในปี 2557 เขาจึงต้องพับโปรเจกต์ จนได้หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่และฉายในปี 2562 หลังประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกนับแต่เกิดรัฐประหาร คสช.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลา 8 ปีย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อความคิดของแต่ละคน แต่สารคดีเรื่องนี้เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยช่วงหนึ่งที่สำคัญ และเป็นการบันทึกความคิดของตัวละครทั้งสามและผู้กำกับเองด้วย
อาจฟังดูเป็นยาขมที่ผู้กำกับสักคนจะทำสารคดีการเมืองในสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรงอย่างประเทศไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ชมต้องการจะสำรวจว่าเป็นการนำเสนอจากคนฝั่งไหน เมื่อความขัดแย้งสุดโต่งผลักผู้คนสองฝั่งให้เลือกถือความจริงคนละชุด
ชะตาธิปไตยไม่ได้มุ่งนำเสนอสารคดีการเมืองที่ต้องการค้นหาความจริงหรือเบื้องลึกเบื้องหลังทางการเมือง แต่เป็นการเผยภาพความเป็นมนุษย์ของนักการเมือง การเผชิญหน้าการเลือกตั้ง และสำรวจชีวิตคนที่หันหลังให้วิชาชีพแพทย์มาทุ่มเททำงานการเมือง สารคดีการเมืองเรื่องนี้จึงค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ชม เมื่อไม่ต้องเข้าไปชมเรื่องเล่าจากมุมมองของอีกฝ่ายทางการเมืองให้ชวนหงุดหงิดใจ
แต่ใช่ว่าผู้ชมจะไม่เห็นน้ำเสียงใดๆ ของเดชาในฐานะผู้กำกับ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องตอนต้นและท้ายเรื่อง การเลือกพูดหรือไม่พูดถึงเหตุการณ์บางอย่างย่อมมีความหมายในตัวเอง
ความโดดเด่นของสารคดีเรื่องนี้คือการนำเสนอ ‘ความเป็นมนุษย์’ ของนักการเมือง ผู้ชมจะได้สัมผัสความรู้สึกของการขึ้นรถหาเสียง เดินตามผู้สมัครไปแจกใบปลิว นั่งร่วมโต๊ะระหว่างวางยุทธศาสตร์เลือกตั้ง หรือกระทั่งภาพบรรจุกระสุนใส่ปืนเพื่อป้องกันตัวยามการเมืองในพื้นที่เริ่มรุนแรง
ที่สำคัญคือบรรยากาศเย็นวันเลือกตั้งช่วงนับคะแนน เชื่อว่าน้อยคนจะได้เห็นภาพผู้สมัครส.ส.หน้าดำคร่ำเคร่งกับการรวมผลคะแนนหน้าคูหาที่ส่งคนของตัวเองไปเก็บข้อมูล และนาทีที่จะได้รู้ว่าอนาคตของตัวเองอีก 4 ปีจากนี้จะเป็นอย่างไร ขณะที่เพื่อนคนหนึ่งกำลังกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจห้อมล้อมไปด้วยสีหน้าเปี่ยมสุขของครอบครัว แต่เพื่อนอีกคนหนึ่งกำลังนั่งรับโทรศัพท์มือเป็นระวิงพร้อมค่อยๆ เผชิญความจริงที่ว่า การทุ่มเทหาเสียงที่ผ่านมานั้นไร้ความหมาย
เชื่อว่าหากผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่ เดชา อาจทำให้เข้าถึงนักการเมืองทั้งสามคนได้ไม่ใกล้ชิดเท่านี้ แต่เพราะเขาเป็นเพื่อนกับผู้สมัครทั้งสามทำให้เกิดบรรยากาศของความไว้ใจและเกิดบทสนทนาที่จะไม่เกิดขึ้นในการสัมภาษณ์ออกสื่อทั่วไป ทั้งการยอมรับว่าใช้เงินซื้อเสียง การเผยถึงความเบื่อหน่ายในการงาน หรือการพูดถึงภรรยาในมุมมองที่ไม่ส่งเสริมภาพลักษณ์ทางการเมือง
อีกสิ่งที่สำคัญคือชะตาธิปไตยฉายภาพการทำหน้าที่ของ ‘นักการเมืองอาชีพ’ โดยเฉพาะนักการเมืองต่างจังหวัดที่ลงสมัคร ส.ส.เขต จะต้องมีบทบาทในพื้นที่แตกต่างจากส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างสิ้นเชิง
การเป็นนักการเมืองในพื้นที่ต้อง ‘มีอยู่จริง’ และ ‘จับต้องได้’ เป็นหัวใจที่สร้างความผูกพันกับคนพื้นที่
สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนจากนักการเมืองในชะตาธิปไตยคือการเป็น ‘นักไปงานศพ’ อันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและชาวบ้านในต่างจังหวัดที่คนกรุงค่อนขอดว่าไม่ใช่ธุระของนักการเมือง เมื่อภาพหน้าที่ของนักการเมืองถูกผูกอยู่กับการทำหน้าที่ของคนที่มีบทบาทในพรรคส่วนกลาง ทั้งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และผู้บริหารพรรค ซึ่งถูกจ่อไมค์ถามเรื่องเชิงนโยบาย โต้เถียงกันเรื่องอุดมการณ์
การเห็นนักการเมืองเดินเข้าใต้ถุนบ้านโน้นบ้านนี้ รับแก้วเหล้าขาวกระดกอย่างถึงใจครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จบ หรือนักการเมืองที่เดินพุ่งเข้าไปทักทายวงไฮโลในงานศพอย่างคล่องแคล่ว เป็นบทบาทที่คนเมืองอาจมองว่าไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสม แต่สารคดีเรื่องนี้ได้ให้คำตอบถึงเหตุที่ส.ส.ต้องไปงานศพคืนละ 8 งาน ใส่ซองทีละ 200-300 บาท กระทบมาถึงเงินเดือนส.ส.ที่ส่วนใหญ่มีธุรกิจอื่นรองรับเพื่อนำมาเป็นทุนทำงานการเมือง หรือหากไม่มีก็ต้องบริหารจัดการให้ได้ในวงเงินจำกัด นั่นหมายถึงการลดงานสังคมลง
การผูกสัมพันธ์คนในพื้นที่ไม่ใช่แค่การกินเหล้าหรือออกงานเพื่อให้คนจำหน้าได้ แต่นักการเมืองต้อง ‘ใช้งานได้จริง’ หากมีปัญหาเขาต้องเป็นคนที่ชาวบ้านจะนึกถึงว่าสามารถเป็นสะพานเชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยจัดการปัญหาได้ทันท่วงที
ในช่วงความขัดแย้งสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าภาพอาชีพนักการเมืองจะถูกสร้างให้กลายเป็นตัวร้ายของสังคมอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองจำเป็นกับประชาชน และประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังคาดหวังให้ผู้แทนของเขาเป็นตัวแทนช่วยสะท้อนปัญหาในพื้นที่ให้ได้รับการแก้ไข
5 ปีที่ผ่านมานี้สังคมไทยได้ลิ้มรสการอยู่แบบไม่มีนักการเมืองที่มาจากประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าการกีดกันนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งออกไปไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ซ้ำยังทำให้ปัญหาต่างๆ แย่ลงเมื่อไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เกิดการบริหารประเทศแบบไม่เห็นหัวประชาชนเพราะผู้นำไม่ได้มีที่มาซึ่งยึดโยงกับประชาชน
ผู้สมัครส.ส.เขตจำเป็นต้องอยู่กับประชาชนในพื้นที่จริง ไปมาหาสู่ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันต่อเนื่อง เป็นที่พึ่งยามยากให้แก่คนในพื้นที่ และจะยิ่งได้ใจคนหากสามารถดึงทรัพยากรมาสู่พื้นที่ได้ ยิ่งทำต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้ยิ่งมีโอกาสได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในสภา ดังจะเห็นตัวอย่างว่ามีนักการเมืองบางคนที่ต่อให้เขาจะเปลี่ยนพรรคย้ายค่ายอย่างไร แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังเลือกให้เป็นตัวแทนต่อไป สิ่งนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ดูด’ จูงใจส.ส.เก่าในพื้นที่ให้เข้าร่วมพรรคใหม่โดยตอบแทนด้วยเงินทอง ข้อได้เปรียบทางอำนาจจากหน่วยงานภาครัฐ หรือกระทั่งใช้อำนาจกดดันทางกฎหมาย
แต่ประชาชนก็ไม่ใช่ของตาย เมื่อ ส.ส. หลายคนสอบตกเพราะย้ายพรรค แม้ว่าจะมีความผูกพันกับพื้นที่มาก่อนก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อระบบเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นบัตรใบเดียว ผู้คนจำนวนมากจึงมองว่า ‘พรรค’ สำคัญกว่า ‘ตัวบุคคล’ เพื่อเป็นการแสดงพลังของแต่ละฝักฝ่ายทางการเมือง
สารคดีเรื่องนี้อาจไม่ได้นำเสนอทุกด้านในการเป็นนักการเมืองไทย โดยเฉพาะนักการเมืองทั้งสามไม่ใช่ผู้ทรงอิทธิพลเช่นตระกูลการเมืองดัง แต่ชีวิตสามอดีตนักศึกษาแพทย์ที่ผันตัวมาลงการเมืองทำให้เราได้เห็นความเป็นมนุษย์ในการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่ภาพสีดำสนิทเช่นที่คนบางกลุ่มเชื่อ ไม่ใช่ภาพสีขาวบริสุทธิ์ในนามของตัวแทนประชาชน เป็นความขมุกขมัว ดีบ้างก็ต้องชมเชย หากชั่วก็ต้องตรวจสอบ
ในความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครสามารถเป็นคนดีผุดผ่องทุกกระเบียดนิ้วได้ สิ่งสำคัญคือการช่วยกันยืนยันว่าระบบต่างๆ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ตามปกติ ไม่ใช่ให้ใครบางคนเข้ามากำจัดนักการเมืองออกจากระบบ แล้วปกครองโดยอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้