fbpx
Chasing Coral ถ้าโลกนี้ไม่มีปะการัง นี่คือหนังที่ทุกคนที่รักทะเลและไม่เคยสนใจทะเลต้องดู

Chasing Coral ถ้าโลกนี้ไม่มีปะการัง นี่คือหนังที่ทุกคนที่รักทะเลและไม่เคยสนใจทะเลต้องดู

หาก Inconvenient Truth ภาพยนต์สารคดีมากรางวัลเมื่อ 10 ปีที่แล้วของอัล กอร์ สามารถปลุกให้คนทั่วโลกรู้จักและหันมาสนใจกับปัญหาโลกร้อนได้ ภาพยนตร์สารคดี Chasing Coral คือความหวังที่จะปลุกให้โลกตื่นขึ้นมารับรู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของยุคนี้แต่มีคนเข้าใจน้อยที่สุด นั่นคือวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับปะการังทั่วโลก

 

อย่างที่ ริชาร์ด วีเวอร์ ผู้อำนวยการสร้าง เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ปัญหาสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติใต้ทะเลคือมัน out of sight out of mind เพราะมองไม่เห็นจึงไม่ใส่ใจ เพราะมันอยู่ไกลจึงไม่คิดถึง ปะการังจะเสียหายขนาดไหน สัตว์ทะเลจะล้มหายตายจากไปอย่างไร เราก็มองไม่เห็น คนส่วนใหญ่จึงยังคิดว่า ตราบที่คลื่นยังซัดฟองแตกกระจาย ทะเลก็คือทะเล กว้างใหญ่ไพศาลและยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์ตัวจ้อยจะไปทำอะไรได้

ความที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการโฆษณามาก่อน ริชาร์ดคิดว่าทางแก้เรื่องนี้คือต้องปรับปรุงวิธีการสื่อสารและทำให้ทุกคนได้เห็นกับตาตัวเองว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในมหาสมุทร เขากับนักวิชาการจึงริเริ่มโครงการ XL Catlin Seaview Survey โดยออกถ่ายภาพแนวปะการังใต้ทะเล 360 องศาแบบเดียวกับที่ Google ส่งรถออกไปบันทึกภาพ Google Street View เพื่อให้คนที่ไม่เคยดำน้ำได้มีโอกาสเข้าถึงโลกใต้ทะเลได้ง่ายขึ้น

คนทั่วไปอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าปะการังความจริงเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ที่มีโครงสร้างเรียบง่ายแต่สามารถสร้างโครงสร้างแข็งอันสลับซับซ้อนใหญ่โตอย่างน่าอัศจรรย์ การได้เห็นภาพปะการังตัวเล็กๆ อ้าปากหุบเข้าหุบออกอย่างมีชีวิตชีวาคงเปลี่ยนมุมมองผู้ชมต่อปะการังไม่มากก็น้อย ยังไม่นับว่าพวกมันมีสาหร่ายเซลล์เดียวอาศัยอยู่ร่วมกันคอยทำหน้าที่สังเคราะห์แสงและผลิตอาหารให้ตอนกลางวัน ปะการังจึงเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่สามารถสร้างบ้านใหญ่โตขนาดที่เรามองเห็นจากดวงจันทร์ได้ และยังกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลมากกว่าหนึ่งในสี่

เมื่อริชาร์ดเริ่มออกสำรวจเขาก็ได้พบความจริงว่าโลกของปะการังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกแล้ว ปะการังหลายแห่งทั่วโลกเสื่อมโทรมอย่างหนัก พื้นที่เช่นฟลอริดาคีย์สในสหรัฐอเมริกาเคยมีปะการังเขากวาง Elkhorn (Acropora palmata) ขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันเหลือปะการังชนิดนี้อยู่ไม่ถึง 0.01% และถูกขึ้นบัญชีใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) มีสถานภาพไม่ต่างจากเสือโคร่ง หรือแรดชวา ถ้าลดลงไปกว่านี้ ก็คงถึงคราวสูญพันธุ์ไปจากโลกตลอดกาล

ฉากที่ริชาร์ดกับดร.ฟิล ดัสตัน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล พาเราลงไปสำรวจใต้น้ำที่ฟลอริดาคีย์สไปพบกับป่าช้าปะการังไร้ชีวิตทุกทิศทุกทางน่าจะทำให้ใครๆ ต้องถอนหายใจ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาฟลอริดาสูญเสียแนวปะการังไปมากถึง 80-90% แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

หลังจากฉากนั้น ริชาร์ดพาเราไปเป็นจักษุพยานปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ภัยคุกคามสำคัญที่สุดที่เป็นผลพวงโดยตรงของภาวะโลกร้อน

ฉากแนวปะการังแอร์พอร์ตที่อเมริกันซามัวกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่เปลี่ยนเป็นสีขาวโพลนสุดลูกหูลูกตาเป็นภาพที่เหลือเชื่อมาก นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่ามัจจุราชสีขาว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่ปะการังตอบสนองต่อความเครียด โดยเฉพาะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น เมื่อสาหร่ายเซลเดียวที่อาศัยในตัวปะการังเริ่มทำงานไม่ปกติ ปะการังจึงต้องรีบขับไล่สาหร่ายสีน้ำตาลเหล่านั้นออกจากตัว เหลือเพียงเนื้อเยื่อใสเปลือยเปล่า มองเห็นเป็นโครงกระดูกสีขาวของโครงสร้างหินปูน เมื่อไม่มีโรงอาหารปะการังก็เริ่มอดอยากและตายลงในที่สุด หากอุณหภูมิน้ำทะเลไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วมาก ภายในเวลา 3 เดือนด้วยอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียสแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยชีวิตอาจฟอกขาวและตายลงทั้งหมด ไม่ต่างอะไรจากไฟป่าที่เผาผลาญภูเขาทั้งลูกให้วอดวายภายในพริบตา เพียงแต่ว่าความตายของปะการังเกิดขึ้นช้าๆ เงียบงัน และไม่มีใครสังเกตเห็น

ริชาร์ดบอกว่านี่คือผลกระทบที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรามักได้ยินว่าแค่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1-2 องศามันจะเป็นอะไร เขาเปรียบเทียบอุณหภูมิของมหาสมุทรกับอุณหภูมิในร่างกายคนเราว่า แค่เราเป็นไข้ 1 หรือ 2 องศาและไข้ไม่ลดลง แค่นั้นก็เพียงพอที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตแล้ว และนั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับมหาสมุทร

ถ้าเราไม่มีมหาสมุทรคอยทำหน้าที่ดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกไว้กว่า 90% เราคงจะรู้สึกถึงผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกร้อนกว่านี้อีกมาก แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลว่ามหาสมุทรอาจจะรองรับผลกระทบดังกล่าวได้อีกไม่นาน อาการป่วยไข้ที่แสดงออกอย่างชัดเจนที่สุดก็คือปรากฏการณ์ฟอกขาวทั่วโลกที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทุกที

ถึงจุดนี้ริชาร์ดเผยถึงที่มาของชื่อ Chasing Coral ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Chasing Ice ที่ว่าด้วยการตามหาน้ำแข็งที่กำลังหายไปทั่วโลก เขาและทีมงานออกปฏิบัติภารกิจเดียวกัน คือออกตามหาปะการังทั่วหล้าเพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวให้คนทั้งโลกได้เห็น

ต้องยอมรับว่าภาพปะการังฟอกขาวที่ทีมงาน Chasing Coral บันทึกได้ทั้งในห้องปฏิบัติการและในธรรมชาติเป็นภาพที่ทรงพลังมากๆ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่คนส่วนใหญ่จะได้เห็นผลกระทบของปะการังฟอกขาวอย่างชัดเจนแบบที่ไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงระดับโลกเคยเกิดมาแล้วแค่สองครั้ง คือในปี 1998 ที่ฆ่าปะการังทั่วโลกไปราว 16% และปี 2010 ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อแนวปะการังทางฝั่งอันดามันของประเทศไทย สิ่งที่ริชาร์ดและทีมงานออกไล่ล่าบันทึกภาพคือปรากฏการณ์ฟอกขาวระดับโลกครั้งที่สามที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2014 มาจนถึงกลางปี 2017 นับเป็นเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่ยาวนานที่สุดและคาดว่าสร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะต่อแนวปะการังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง Great Barrier Reef

ถึงตอนนี้ภาพยนตร์เพิ่มตัวละครอีกคนคือแซคเกอรี่ ราโก หนึ่งในทีมงานผู้ออกบันทึกภาพใต้น้ำ แซคเป็นหนุ่มผู้คลั่งไคล้ด้านอนุกรมวิธาน หรือการจำแนกสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ มาแต่เด็ก เมื่อได้มีโอกาสฝึกงานในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เขาก็หลงรักปะการังและทำหน้าที่เพาะพันธุ์ปะการังอยู่ 5 ปี โดยได้ศึกษาการจำแนกชนิดปะการังด้วยตัวเองจนเชี่ยวชาญ​

แซคเป็นตัวแทนของคนที่หลงรักปะการังสุดหัวใจ และตื่นเต้นมากที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกภาพแนวปะการังในธรรมชาติ เขาเล่าถึงความมหัศจรรย์ของปะการังด้วยตาเป็นประกาย ความหลากหลายของชีวิตที่พึ่งพาโครงสร้างอันซับซ้อนของปะการัง ทำให้แนวปะการังไม่ต่างกับมหานครใหญ่ๆ ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง แนวปะการังคือป่าเขตร้อนใต้ทะเล เป็นแหล่งกำเนิดและที่พำนักรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดในโลก

จุดที่เป็นไฮไลต์ของเรื่องคงจะเป็นการที่เราได้เห็นแซค ทุ่มเทบันทึกภาพแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่กำลังตายลงต่อหน้าต่อตาจากปรากฏการณ์ฟอกขาว ภารกิจที่ไม่ต่างอะไรจากการเฝ้าบันทึกภาพคนป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ตั้งแต่วันแรกที่อาการเริ่มทรุด ไปจนถึงวันสุดท้ายที่คนไข้จากไปอย่างสงบ

แต่แนวปะการังบางแห่งก็ไม่ยอมที่จะจากไปโดยไม่ต่อสู้อะไรเลย ริชาร์ดและทีมงานบันทึกภาพปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นที่นิวแคลิโดเนียได้ระหว่างการฟอกขาว คือการที่ปะการังบางส่วนเกิดการเรืองแสง และแปลงร่างเป็นปะการังสีเหลืองสด ม่วง ฟ้าครามในระยะสุดท้าย นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพวกมันพยายามผลิตสารเคมีกันแดดเพื่อป้องกันตัวเองจากความร้อน แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอุณหภูมิที่ยังสูงเกินระดับปกติ

“ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง มันเป็นปะการังที่มีสีสันสดใสที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น มันเป็นการเปลี่ยนรูปที่น่าอัศจรรย์มากของธรรมชาติ เป็นแง่งามของความตาย และเหมือนกับปะการังพยายามจะบอกกับเราว่า มองฉันสิ โปรดมองให้เห็นฉัน”

ริชาร์ดบอกกับเราโดยไม่ต้องเอ่ยว่าเราต้องปล่อยให้ความตายของปะการังเหล่านี้เป็นเรื่องสูญเปล่า

ย้อนกลับไปหาแซค หลังจากบันทึกภาพความตายบนเกาะห่างไกลแห่งหนี่งใน Great Barrier Reef อยู่เกือบ 4 เดือน เขาแทบไม่เหลือเรี่ยวแรงและกำลังใจอีกต่อไป สิ่งที่เขารักแตกสลายลงไปต่อหน้าต่อตา แต่บทสนทนาระหว่างเขากับชาร์ลี เวรอน ปรมาจารย์ด้านอนุกรมวิธานปะการังชาวออสเตรเลีย ก็กระตุ้นให้แซคต้องทำอะไรบางอย่าง และต้องไม่ยอมแพ้เพียงแค่นี้

“การสูญเสียแนวปะการังอย่าง Great Barrier Reef ต้องมีความหมายบางอย่าง คุณจะปล่อยให้พวกมันตายไปเฉยๆ ไม่ได้ ความตายของพวกมันควรจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ความตายของปะการังต้องปลุกโลกให้ตื่นขึ้น”​

หนังทิ้งท้ายด้วยการที่ริชาร์ดและแซคนำผลงานการบันทึกภาพมานำเสนอที่การประชุมนานาชาติเกี่ยวกับปะการัง ต่อหน้านักวิทยาศาสตร์ทางทะเลระดับแนวหน้าจากทั่วโลก ภาพปะการังสมบูรณ์ที่กลายเป็นซากปะการังภายในเวลาไม่กี่เดือน พร้อมๆ ไปกับปลาเล็กปลาน้อยที่หายไปด้วย

ไม่มีใครเคยคิดว่าจะมีอะไรที่ทำอันตรายระบบนิเวศขนาดใหญ่อย่าง Great Barrier Reef ได้ แต่สองปีที่ผ่านมาเราสูญเสียแนวปะการัง Great Barrier Reef ไปราวครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งของแนวปะการังที่ยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวคือหลักฐานสำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างไกลขนาดไหน

ถ้าเราไม่ลงมือทำอะไรเลย นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปรากฏการณ์ฟอกขาวจะฆ่าปะการังทั้งหมดภายใน 30 ปีข้างหน้า ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประชากรราว 1 พันล้านคนที่พึ่งพาอาศัยแนวปะการังในการดำรงชีวิต จะเกิดอะไรขึ้นกับกุ้ง หอย ปู ปลา และเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวปีละ 1.2 ล้านล้านบาท

 

Chasing Coral พยายามทิ้งท้ายว่ามันยังไม่สายเกินไปที่จะอนุรักษ์ปะการัง แต่เราทุกคนต้องช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลง

เพราะถ้าโลกนี้ไม่มีปะการัง นั่นคือจุดเริ่มต้นของการล่มสลายทางนิเวศวิทยาและจุดสิ้นสุดของมวลมนุษย์​

………………

ป.ล. ตอนนี้ Chasing Coral เข้าฉายพร้อมกันทั่วโลกแล้วทาง Netflix ชมตัวอย่าง

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save