fbpx
ส่อง ‘แสงดาว’ ในใจ จรัญ หอมเทียนทอง

ส่อง ‘แสงดาว’ ในใจ จรัญ หอมเทียนทอง

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

“สุภาพบุรุษแบบศรีบูรพานั้นไม่ได้มองความเป็นสุภาพบุรุษจากเสื้อผ้าอาภรณ์แบบที่ ร.6 มอง แต่ศรีบูรพาบอกว่าคนที่ทำอะไรเพื่อคนอื่น คนนั้นคือสุภาพบุรุษ”

นั่นเป็นประโยคท้ายๆ ของชั่วโมงการสนทนากับ จรัญ หอมเทียนทอง เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว และอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

จะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็แล้วแต่ เขาสวมเสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้น เปิดห้องหนังสือสำนักพิมพ์ของตัวเองเพื่อเปิดใจอย่างไร้สูท ไร้มาดผู้บริหาร

แล้วอะไรคือเกร็ดและแก่น

บรรทัดถัดไปนี้คือบทสนทนาว่าด้วยชีวิต ธุรกิจและวงการหนังสือ พ่วงด้วยทัศนะการเมืองไทยของของชายผู้นี้

 

จรัญ หอมเทียนทอง

 

หนังสือชักนำคุณเข้าสู่วงการหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมทำหนังสือตั้งแต่อายุ 17 และเริ่มทำเป็นอาชีพช่วงปี 2517 ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมไปขายหนังสือในธรรมศาสตร์ แย่งที่ขายแข่งกันกับหลายเจ้า เพราะงานหนังสือไม่ได้มีทุกอาทิตย์ ผมเลยต้องเข้าไปขายในธรรมศาสตร์

บางคนบอกว่าเวลามีชุมนุม จรัญรวยคนเดียว (หัวเราะ) ไม่หรอก ผมขายไปขายมาก็ชุมนุมไปกับเขาด้วย เคลื่อนไหวไปด้วยตามประสาคนยุคนั้น

จริงๆ ผมเรียนที่รามคำแหง แต่ธรรมศาสตร์มันเป็นศูนย์กลางการชุมนุม ผมก็ต้องไปที่นั่น แต่เรียนก็เรียนไม่จบ มันเป็นความผิดของผมเอง

ผมรู้สึกว่าแม่เราเป็นแม่ค้า แทนที่จะไปช่วยแม่ ดันเสือกไปช่วยชาวบ้าน หนังสือก็เรียนไม่รอดเพราะมัวไปม็อบ นอนหน้าทำเนียบ 2 วันกลับบ้านทีนึง กลับไปเอาเงินจากแม่ 20 บาทแล้วก็ออกไปชุมนุมต่อ

ชีวิตผมเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ ทั้งขายหนังสือ ส่งหนังสือ ไปชุมนุม วนๆ กันไป จนมาถูกจับปี 2520 หลัง 6 ตุลาฯ เพราะทำหน้าที่ส่งเอกสารเป็นใบปลิวมีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยอันดีของประเทศ

พอออกจากคุกมาเลยรู้ว่าคนที่ช่วยเราจริงๆ คือแม่ หลังจากนั้นก็ตั้งใจไปเกณฑ์ทหาร แต่แม่ไม่อยากให้ลำบาก แม่บอกเดี๋ยวให้เงินเอาไปยัด จะได้ไม่ต้องเป็น เราก็บอกแม่ว่าไม่ต้องให้เงินหรอก แม่เปลืองเงินเพราะผมมาเยอะแล้ว ไม่อยากให้แม่เสียเงินอีก และใจจริงเราอยากเป็นทหารด้วย จะได้อาศัยฝึกรบกับเขาบ้าง ไหนๆ ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวเข้าป่าแล้วนี่

แต่ครั้นจะสมัครตรงๆ ก็กลัวแม่ด่า เลยเลือกจับใบแทน ดันโชคร้ายจับได้ใบดำ (หัวเราะ) คิดว่าจะได้ใบแดงอยู่แล้ว พอกลับมาเล่าให้แม่ฟัง แม่ดีใจมากบอก “กูไปบนพระเจ้าตากมาให้มึง”

หลังจากนั้นชีวิตผมก็เปลี่ยน แม่เห็นว่าเราคลุกคลีกับพวกฝ่ายซ้ายมากไป เลยให้ไปอยู่กับพี่ชาย ทำงานเป็นชิปปิ้งผีอยู่ดอนเมือง ผมฝึกงานกับพี่ชาย สมัยนั้นได้ขนของเถื่อนบ้าง (หัวเราะ) พร้อมกับทำหนังสือไปด้วย พิมพ์ไปขาดทุนไป เอากำไรจากชิปปิ้งมาเลี้ยงงานหนังสือของตัวเอง แต่ว่าโมเดลแบบนี้มันไม่เวิร์ก จนมาถึงปี 2530 ผมจึงเปิดสำนักพิมพ์แสงดาว เพราะอยากทำให้มันเป็นระบบ

 

คำว่า ‘แสงดาว’ ได้มาจากไหน

จริงๆ คำว่าแสงดาวมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2517 เราใช้ชื่อนี้ทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ถามว่าทำไมชื่อแสงดาว เพราะตอนนั้นมันมีสำนักพิมพ์หนึ่งชื่อว่า ‘แสงตะวัน’ ของคุณนิสิต จิรโสภณ พิมพ์หนังสือปรัชญาคอมมิวนิสต์ ไอ้เราเป็นเด็กหนุ่มก็เลยตั้งชื่อล้อเขาว่าแสงดาว ส่วนคุณนิสิตก็ตายไปแล้ว แกเป็นตัวอย่างหนึ่งของนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกยิงเสียชีวิตเพราะอำนาจรัฐ สมัยก่อนแกไปทำข่าวเรื่องถีบลงเขาเผาลงถังแดงที่ภาคใต้

 

ไม่เกี่ยวกับ ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ อะไรทั้งสื้น

ไม่เกี่ยว ต้องการจะล้อแสงตะวันเฉยๆ

 

คลุกคลีกับฝ่ายซ้ายมาก ทำไมช่วง 6 ตุลาฯ ไม่เข้าป่าไปเลย

คืนวันที่ 5 ตุลาฯ ผมออกจากธรรมศาสตร์พร้อมกับคุณเสถียร จันทิมาธร คุณสำเริง คำพระอุ พอวันที่ 6 ทหารเริ่มปราบ พวกรุ่นพี่เจ้าของสำนักพิมพ์เขาหนีไปหมดแล้ว เหลือผมคนเดียว เขาก็ฝากฝังไว้ให้ผมช่วยดูแลออฟฟิศต่อให้หน่อย วันรุ่งขึ้นพวกสันติบาลก็บุกมาค้นเละเทะไปหมด

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ได้เข้าป่า อีกส่วนหนึ่งคือผมต้องทำมาหากินไปด้วย เพราะว่าผูกพันกับแม่ แม่ผมเป็นคนจน ผมยังห่วงแม่ ตอนนั้นเราถือว่าขบวนการปฏิวัติมันมีหลายรูปแบบ มีทั้งแนวหน้า แนวร่วม เราขายหนังสือได้เงินมาก็ส่งเข้าไปให้เพื่อนๆ ในป่าบ้าง

 

ตอนตั้งสำนักพิมพ์แสงดาวเป็นระบบแล้ว พิมพ์งานอะไรบ้าง

ผมมีเพื่อนเป็นนักแปลคือคุณอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์ มาทำงานให้ พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับหมอดู หนังสือฮวงจุ้ย หากินกับงานพวกนี้จนเติบโตมาเรื่อยๆ ไม่ได้มีเงินทองอะไรมาก ที่มีออฟฟิศทุกวันนี้ได้ก็จากงานชิปปิ้งมากกว่า เมื่อก่อนมันได้เงินมาก ลงทุนน้อย กำไรมาก แต่ปัจจุบันนี้จากเหตุการณ์โควิด-19 ชิปปิ้งเจ๊งหมด (หัวเราะ)

เพราะฉะนั้นถามว่าหนังสือของแสงดาวพิมพ์แนวไหน ก็พิมพ์งานที่ผมชอบไง งานไหนที่ผมไม่รู้จัก ผมก็ไม่พิมพ์ ผมพิมพ์นิยายคนรุ่นเก่า ไม่ได้พิมพ์นิยายคนรุ่นใหม่ เพราะว่าผมเป็นคนอ่านหนังสือแบบคนรุ่นเก่า ผมชอบภาษาของมัน

ตอนนี้สำนักพิมพ์ไม่ใช่ว่าร่ำรวยอะไร แต่ว่ามันอยู่ได้ด้วยเงินทองที่เราลงทุนไปก่อนหน้านี้ แล้วปัจจัยด้านออนไลน์ในปัจจุบันก็ช่วยทำให้เราขายของได้บ้าง พูดสรุปๆ คือคนอ่านหนังสือบ้านเรายังไม่หายไปไหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำหนังสือถูกใจเขาไหม

 

จรัญ หอมเทียนทอง

 

ตอนทำชิปปิ้งแล้วได้กำไรดี ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่น วันนี้อาจะเป็นเจ้าสัวไปแล้ว ทำไมคุณเอามาลงกับหนังสือ

ผมอาจจะเป็นคนโง่ที่สุด (หัวเราะ)

คืออย่างนี้ ผมบอกตัวเองว่าหนังสือคือชีวิตผม ผมเติบโตทางความคิดมาด้วยหนังสือ ผมเป็นลูกคนจน แม่เป็นแม่ค้า ตอนเด็กๆ แม่ผมไม่ให้ผมอ่านหนังสือ ผมอ่านหนังสือเล่มแรกตอนเป็นนักเรียนมัธยมแล้ว เวลาอ่านก็อ่านในห้องสมุด พอกริ่งเรียกเข้าห้องเรียน ผมต้องเอาหนังสือไปซ่อนเพราะกลัวบรรณารักษ์จะเอาไปเก็บไว้ที่อื่น

นอกจากนี้เวลาไปเช่าหนังสืออ่าน ต้องแอบไม่ให้แม่เห็น เพราะว่าแม่จะไม่ให้เงินเราอีก แม่จะโกรธมากถ้าเอาเงินค่าข้าวไปเช่าหนังสือ แม่จะด่าว่า “เวลามึงไม่มีแดก กูจะต้มหนังสือให้มึงแดก”

อีกเหตุผลคือพอหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ความคิดเกี่ยวกับโลกมันเยอะมาก ผมยอมรับว่าผมเติบโตมาเพราะอ่านหนังสือ มันทำให้เรามีความคิดที่เชื่อในมนุษยธรรม รักคนจน รักคนเสียเปรียบ แล้วเราเป็นเด็กหนุ่ม ก็อ่านทุกอย่าง อ่านแบบหนอนไช

อาชีพชิปปิ้งให้ฐานะ แต่หนังสือให้ชีวิต ผมก็เลยทำควบคู่กันมา ผมไม่เคยทำอย่างอื่นเลย ไม่เคยไปเปิดร้านกาแฟ ร้านเซเว่น ไม่มีเลย

เพื่อนฝูงก็ด่า เพื่อนที่ทำธุรกิจกระเป๋าบอกว่า “เวลากระเป๋าที่กูขายลดราคาเท่าทุน คนแย่งกันซื้อ มึงทำหนังสือขายขาดทุน คนยังไม่ซื้อเลย” ผมว่าก็จริงของมัน

ลูกชายผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับธุรกิจหนังสือที่ผมทำ เขาบอกว่าพ่ออย่าทำเลย ถ้าจะทำต่อเขาไม่ทำด้วยนะ เขาบอกว่ามันไม่คุ้ม แต่ถ้าพ่อชอบจริงๆ พ่อก็ทำไป นี่คือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมร้านหนังสือในต่างจังหวัดถึงเลิกไปหมด เพราะว่ามันเหนื่อย นี่เป็นความจริงที่ว่าคนรุ่นลูกทำต่อไม่ไหวแล้ว

 

คุณเลือกพิมพ์งานแบบที่ชอบ โมเดลแบบนี้จะเวิร์กสำหรับอนาคตไหม

ผมทำหนังสือมา 40 กว่าปี สิ่งที่ผมเห็นตัวเองคือผมทำในแบบที่ผมเป็น ถึงไม่ได้เติบโตมากก็เข้าใจได้ แสงดาวพิมพ์งานเกี่ยวกับภาพประวัติศาสตร์ชุดคลาสสิกของเอนก นาวิกมูล พิมพ์สี่สี ปกแข็ง เล่มใหญ่ ขายไม่ได้หรอก แต่ก็ทำไปเพราะเป็นหนังสือที่ดี

ส่วนหนังสือที่ขายได้ก็มี มันคละกันไป อย่างหนังสือชุด ‘โคตรไคโร’ ของนากิบ มาห์ฟูซ นักเขียนวรรณกรรมชาวอียิปต์ มีทั้งหมด 3 เล่ม สำนักพิมพ์อัมรินทร์พิมพ์มาก่อน 1 เล่ม แต่เขาไม่พิมพ์ต่อเพราะอ้างว่าขายไม่ได้ ผมก็เอามาพิมพ์ทีเดียวครบเลย มันไม่ถึงกับขาดทุนแต่ว่าได้เงินช้าหน่อย ถามว่าเราพิมพ์เพราะอะไร เพราะเราชอบการแปลของแคน สังคีต มันเป็นหนังสือที่ดีที่ผมชอบ

 

รักอะไรทำแบบนั้น แม้ว่าจะต้องขูดเนื้อตัวเอง

พูดแบบไม่ได้กวนตีนนะ ก็เพราะว่าผมมีตังค์ไง

ผมไม่ได้รวยมากมาย แต่ผมไม่มีหนี้ อย่างหนังสือของอเนกที่บอกขายไม่ได้ (ลากเสียงยาว) ทั้งหมดมี 8 เล่ม ลงทุนไปเกือบ 9 ล้านบาท ตอนนี้ยังขาดทุนอยู่ หลายคนชื่นชมว่าผมกล้าพิมพ์ แต่หลายคนไม่กล้าซื้อ (หัวเราะ) ผมก็แนะนำใครต่อใครที่คิดว่าเป็นงานที่ดีเนี่ย แทนที่คุณจะไปซื้อกระเช้าปีใหม่ 2-3 พันบาทแจกคน ก็ซื้อหนังสือชุดประวัติศาสตร์นี้แจกก็ได้

 

คุณเติบโตมาในยุคที่การต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้น ในฐานะคนทำหนังสือ คุณมองวงการหนังสือกับบรรยากาศทางการเมืองวันนี้อย่างไร

โลกมันเปลี่ยนไป ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดียดีกว่ายุคก่อนตรงที่ว่าเผด็จการมันใช้อำนาจดิบมากไม่ได้ เราอาจจะรู้สึกว่าเผด็จการประยุทธ์ทำให้เราไม่สบายใจบ้าง แต่เผด็จการประยุทธ์ไม่โหดเท่าเผด็จการยุค 6 ตุลาฯ หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน แต่ประยุทธ์หาววันละ 3 ครั้ง นี่คือยุคปัจจุบัน

ส่วนการต่อสู้ก็เปลี่ยนแนวทางกันไป ตอนนี้หลายคนเป็นนักรบไซเบอร์ ซึ่งสร้างความสั่นคลอนให้กับเผด็จการไม่น้อย เพราะเขาก็กลัว ไม่ใช่ว่าไม่กลัวเลย

อย่างไรก็ตาม ผมขอให้เราอดทนไว้เถอะว่าวันหนึ่งอะไรๆ จะเปลี่ยนไป เผด็จการอยู่ไม่นานหรอก ผมเชื่อโดยพลวัตของสังคมว่าเราผ่านการกดขี่มาเยอะแล้ว แล้วเผด็จการยุคนี้ก็ไม่ใช่เผด็จการที่ฉลาดนัก การหลอกลวงทำไม่ได้เหมือนสมัยก่อน ตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลพูดอะไรมามีแต่คนจะเอาตีนใส่ให้อย่างเดียว เพราะว่าไม่มีใครเชื่อถือ พูดไปสีข้างถลอกไป บริหารบ้านเมืองแบบย่ามใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนใช้อำนาจย่ามใจจะอยู่ได้ไม่นาน

 

จรัญ หอมเทียนทอง

 

แล้วการใช้วิชาชีพทางหนังสือต่อสู้ทางการเมืองเหมือนยุคก่อนแบบ ศรีบูรพายังเวิร์กไหม

ไม่มีหรอก วงการหนังสือโดยรวมตอนนี้มันไม่ได้ต่อสู้เรื่องความคิด ทุกคนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เพียงแต่ว่าในวงการหนังสือมันมีคนอยู่หลายกลุ่ม กลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่ต่อสู้ทางความคิด เพียงแต่ว่าแนวรบมันเปลี่ยน เมื่อก่อนนี้เรามีขบวนการนักศึกษามาคอยเกื้อหนุน แต่ยุคนี้แนวรบเป็นพวกนักรบไซเบอร์ที่เราไม่รู้เป็นใครคอยเคลื่อนไหวอยู่ ส่วนสื่อมวลชนต้องยอมรับว่าเป็นทุนนิยมมากยิ่งขึ้น อาจจะไม่ได้เป็นกระบอกเสียงแบบเมื่อก่อนแล้ว

อีกเหตุผลคือสถานการณ์โลกทำให้เผด็จการไม่กล้าหืออะไรมาก เพราะว่าโลกมันเป็นโลกเดียวกัน ไม่ได้แบ่งชัดแบบเป็นฝ่ายเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของพลเมืองในแต่ละประเทศ คนประเทศอื่นก็จะรับรู้ด้วย

วันนี้ผมเชื่อว่าเผด็จการอยู่ไม่ได้นาน เพราะความอดทนของประชาชนหมดแล้ว ยิ่งกรณีโควิด-19 ยิ่งชี้ให้เห็นเลยว่าอำนาจคุณหมดแล้ว

แต่อย่างที่ถาม ผมว่าหนังสือมันเป็นอาวุธทางปัญญาที่ดีมาก ที่รัฐบาลไม่ค่อยส่งเสริมอุดหนุนหนังสือให้ประชาชนอ่าน ก็เป็นเหตุผลที่มีมาตลอดเวลาว่าเขากลัวประชาชนจะฉลาดขึ้น แต่สังคมไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ ถูกบังคับให้เชื่อผู้นำแทน ที่น่าสนใจคือตอนที่นายกฯ แนะนำหนังสือดันไม่มีใครเชื่อเลย (หัวเราะ)

 

ตอนที่นายกฯ แนะนำ animal farm คุณรู้สึกยังไง

ผมรู้สึกว่าเขายกหินทุ่มขาตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้อ่าน นี่คือคนไม่อ่านหนังสือ ถ้าเขาอ่านจริงๆ เขาจะแนะนำเล่มนี้มาทำไม อย่างตอนที่แนะนำ ‘จินดามณี’ ในโลกนี้มีใครอ่านรู้เรื่องบ้าง ไม่มีหรอก

 

ถ้าให้แนะนำหนังสือให้รัฐบาลอ่านตอนนี้ คุณมีในใจไหม

ถ้าคิดไวๆ ผมขอแนะนำ อยากลืมกลับจำ สารคดีชีวิตจอมพล ป.พิบูลสงคราม, บันทึกจอมพล ที่มาลัย ชูพินิจ สัมภาษณ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือพวกบันทึกของจอมพลถนอม จอมพลประภาส หรือเรื่องราวของพล.อ.สุจินดา คราประยูร

เพื่อจะได้รู้ว่าในวันที่พวกเขาไม่มีอำนาจเป็นยังไง อยากให้ทหารได้อ่านชีวิตรุ่นพี่พวกเขาว่าจบชีวิตยังไง แค่นั้นแหละ

ทุกวันนี่ผมมองใบไม้ที่บิดขั้วแห้งโอนไปเอนมารอว่าจะหลุดเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ลมแรงอีกหน่อยเดี๋ยวมันก็หลุดเอง ไม่ต้องไปเขย่าต้นมาก สังคมมนุษย์มันผลักดันตัวเองไปได้

ในอีก 10 ปีข้างหน้าคุณอยากให้คนระลึกถึงคุณแบบไหน คนรุ่นหลังจะเรียกคุณว่าอะไร ต้องการให้คนเรียกชื่อคุณโดยมีสรรพนามข้างหน้าก่อนหรือเปล่า ทั้งหมดอยู่ที่เขา

สำหรับผม เรียกชื่อจรัญก็โอเคแล้ว อย่าเรียกผมนำหน้าว่าไอ้ก็พอแล้ว (หัวเราะ)

 

ช่วง 5-6 ปีมานี้ คุณเคยพูดหลายครั้งว่าอยากให้รัฐบาลอัดฉีดงบสนับสนุนอุ้มชูวงการหนังสือมากกว่านี้ แต่ดูสภาพความเป็นจริงวันนี้รัฐบาลยังเอาตัวเองไม่ค่อยรอด คุณยังหวังอยู่ไหม

ช่วงโควิด-19 กำลังระบาด รัฐบาลอยากให้คนอยู่บ้านเพื่อไม่ให้คนติดเชื้อ มีการออกมาตรการแจกเงินประชาชน ซึ่งก็ดี แต่สำหรับคนทำหนังสืออย่างผม อยากให้รัฐบาลช่วยอนุมัติเงินสัก 500 ล้านบาท ซื้อหนังสือให้ประชาชนอ่านระหว่างอยู่บ้านไปเลย ช่วงนี้คนทุกข์ยากทำงานไม่ได้ ถ้าเขาต้องอยู่บ้าน เขาอ่านหนังสือได้ เขาเรียนรู้โลก เรียนรู้ชีวิตผ่านหนังสือได้ แต่รัฐบาลไม่เคยมีรายจ่ายประจำปีที่เป็นงบหนังสือ การอ่านในบ้านเราไม่มีใครรับผิดชอบลงทุนให้ กระทรวงศึกษาธิการก็บอกว่าไม่ใช่งานของเขา กระทรวงวัฒนธรรมก็บอกไม่เกี่ยว แล้วกระทรวงพวกนี้วันๆ ทำอะไร

ที่ผมพยายามพูดแบบนี้ก็เพราะคิดว่าวันหนึ่งดอกไม้จะบาน แต่กับรัฐบาลชุดนี้คงยาก เพราะเขาคงไม่สนใจ แต่เราจะพูดไปเรื่อยๆ และสักวันหนึ่งต้องเกิดขึ้น เราเสียดายว่าก่อนรัฐประหาร 2557 คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง (อดีตรองนายกรัฐมนตรี) ก็รับปากแล้วว่าจะช่วย แต่พอรัฐประหารทุกอย่างก็จบ

บ้านเรามีงบลอยกระทง งบวันวิสาขบูชา งบวันเข้าพรรษา งบวัฒนธรรมอะไรต่างๆ เต็มไปหมด ทำไมคุณจะมีงบรายจ่ายประจำเดือนสำหรับหนังสือบ้างไม่ได้ วันที่ 2 เมษายน เป็นวันนักอ่าน ทำไมคุณไม่ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดบ้าง

ในต่างประเทศ นอกจากคนอ่านที่เป็นลูกค้าแล้ว ห้องสมุดเป็นผู้ซื้อหนังสือรายใหญ่สำหรับสำนักพิมพ์นะ แต่ในประเทศเรา ห้องสมุดเป็นผู้ขอรายใหญ่ ขอมันอย่างเดียว หนังสือดีๆ ไม่ซื้อ แล้วอ้างว่าถ้าใครให้หนังสือคือการทำบุญ เรื่องพวกนี้รัฐต้องจัดสรรให้ประชาชนสิ คุณไปขอรับบริจาคแบบนั้นแล้วจะอาชีพคนทำหนังสือจะอยู่ยังไง

 

จรัญ หอมเทียนทอง

 

จริงๆ ควรเป็นสวัสดิการมากกว่าทำบุญใช่ไหม

มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำให้ประชาชน ทำไมประเทศจีนให้เงินสนับสนุนร้านหนังสือได้ มีตู้ยืมหนังสือริมถนนได้ ประชาชนแค่กดรหัสก็เอาหนังสือกลับไปอ่านได้ ทำไมห้องสมุดเมืองเมลเบิร์นถึงมีหนังสือภาษาไทย เพราะเขาตั้งใจให้คนไทยที่นั่นอ่าน ห้องสมุดที่เมืองพาจู ซิตี้ เกาหลีใต้ มีหนังสือการ์ตูนให้คนไทยอ่านได้ นี่ห้องสมุดต่างชาติเขายังใส่ใจคนต่างชาติเลย แต่บ้านเราไม่มีใครรับผิดชอบเรื่องนี้

แม้กระทั่งธนาคารยังไม่ปล่อยกู้ให้คนทำหนังสือเลย คนทำหนังสือทุกวันนี้ไม่ได้เป็นหนี้ธนาคารนะ เพราะเขาไม่ให้กู้ ที่เป็นหนี้กันเพราะกู้เงินไปซื้อบ้าน แต่กู้มาทำธุรกิจหนังสือไม่มี เพราะธนาคารเขาคิดว่าทำธุรกิจหนังสือมีความเสี่ยงสูง เขาไม่นับว่าหนังสือเป็นหลักทรัพย์ เวลาที่เขาคุยเรื่อง SME จะขายไม้กวาด ขายถั่วตัด รังนก แปรงสีฟัน หรือขนมไดฟูกุ มันเป็น SME แต่เขาไม่เห็นว่าหนังสือทำกำไรได้

 

ถ้าความจริงเป็นแบบนี้ คุณตีโจทย์สำหรับอนาคตยังไง

วงการหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กบ้านเรา คนต่างประเทศมาเห็นแล้วเขาตกใจ เขางงว่าพวกเราจัดงานหนังสือกันเองโดยที่รัฐไม่เกี่ยวเลยเหรอ เขาบอก “ทำไมคนไทยเก่ง สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แข็งแกร่งมาก มีเงินจัดงานหนังสือเองได้ เพราะงาน book fair ต่างประเทศรัฐบาลช่วยตลอด” ผมได้ยินแบบนี้ได้แต่ยิ้มแห้ง เพราะว่ารัฐบาลเราไม่ช่วยอะไรเลย แต่ไม่ช่วยไม่ว่า เวลาขายดีดันจะเก็บภาษีด้วย งาน book fair ของไต้หวัน เกาหลีใต้ เยอรมนี อังกฤษ รัฐบาลเขาช่วยเพราะเขาถือว่าเป็นหน้าตาประเทศ

ในระยะยาว ผมคิดว่าวงการหนังสือของเรามันอยู่ได้ เพราะว่าส่วนหนึ่งทุนใหญ่เขาไม่มาเล่นด้วย เพราะผลตอบแทนต่อการลงทุนมันไม่คุ้ม พวกเราตัวเล็กๆ ถึงอยู่กันได้ พวกเจ้าสัวไม่ทำสำนักพิมพ์เอง เราถือว่ายังโชคดีอยู่

คุณลองสังเกตดู พวกเศรษฐีไม่ลงทุนทำธุรกิจหนังสือ แต่เศรษฐีทุกคนอยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง (หัวเราะ) มันเป็นความรู้สึกว่าหนังสือเป็นสิ่งภาคภูมิใจของเขา เป็นเครื่องประดับเกียรติของเขา แต่ถ้าให้ลงทุนทำธุรกิจเองไม่เอา เขามองแค่ว่าหนังสือเป็นอาภรณ์ประดับตัว

 

ถ้าอธิบายแบบนี้ แปลว่าในเชิงธุรกิจวงการหนังสือไม่ได้วิกฤตหรือเปล่า

ผมในฐานะคนทำหนังสือบอกได้ว่าไม่วิกฤต ยังอยู่ได้ ประเทศเราผ่านการวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายยุคแล้ว ตรงกันข้ามครั้งใดที่ประเทศชาติเกิดปัญหาเศรษฐกิจ หนังสือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะว่าคนต้องการปัญญา คุณไปดูสิในยามที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองไม่มีใครอ่านหนังสือหรอก

วันที่คนได้เงินรางวัลอะไรมาสักอย่าง ไม่เคยมีใครคิดที่จะเอาเงินรางวัลไปซื้อหนังสือหรอก แต่ในวันที่คุณเจ็บป่วยไม่สบายใกล้จะตาย คุณจะร้องหาหนังสือก่อนอันดับแรก เพราะหนังสือมันเป็นคู่มือในยามวิกฤต

ในบรรดาวิกฤตใหญ่ หนังสือเจอวิกฤตน้อยที่สุด อย่างน้อยนาทีนี้ที่โควิด-19 กำลังระบาด คุณทำหนังสือขายมันก็ไม่บูดเหมือนข้าว

จากประสบการณ์การขายหนังสือมาถึงตอนนี้ ผมเห็นว่าคนต่างจังหวัดซื้อมากที่สุด โดยเราขายใน lazada, shopee นี่แหละ เล่มที่แสงดาวขายดีที่สุดทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องคือหนังสือชุดของเดล คาร์เนกี, สามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง และหนังสือไพ่ทาโรต์

ไพ่ทาโรต์นี่โคตรขายดีเลย ขายออกทุกวัน ผมคิดว่าเราจะเอาความเป็นเมืองไปจับไม่ได้ เพราะว่าออนไลน์ทำให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย ไม่นานมานี้มีคนทักเข้ามาถามสำนักพิมพ์ว่ามีคาถาเจ้าชู้ไหม (หัวเราะ)

 

จรัญ หอมเทียนทอง

 

40 กว่าปีที่ผ่านมา คุณว่าวงการหนังสือวงการหนังสือไทยสอนอะไรคุณ

อย่างน้อยๆ มันสอนให้ผมมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ สอนให้ผมอยู่ได้อย่างทระนงด้วย หนังสือสอนให้ผมคิดเป็น ผมได้อ่านหนังสือตลอดเวลาใน1 ปี ไม่เคยมีวันไหนที่ผมไม่อ่านหนังสือ และมันมีหนังสืออีกเยอะมากที่ผมต้องอ่าน

ผมได้ความรู้ว่าหนังสือบางเล่มเหมาะสำหรับอ่านแล้วทิ้ง บางเล่มเหมาะสำหรับอ่านแล้วเคี้ยวและกลืนเข้าไป มันจะกลายเป็นปัญญา

บางคนบอกว่าหนังสือบางเล่มเหมาะสำหรับอ่านแล้วก็เคี้ยวแล้วก็คายออกมาเป็นเงิน เช่น สามก๊ก คนเอามาเขียนเต็มเลยใช่ไหม นี่แหละคือการอ่านแบบเคี้ยวแล้วคายออกมาเขียนต่อ

 

แล้วอะไรที่คุณยังไม่เห็นในวงการหนังสือและอยากเห็นก่อนตาย

ผมคิดอยู่อย่างเดียวว่าก่อนแผ่นดินจะกลบหน้า ประเทศนี้จะมีสถาบันหนังสือได้ไหม รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ ผมเคยเสนอไปแล้ว คุณเอาเงินภาษีบาปแบ่งสัก 1,000 ล้าน ไม่เยอะเลย เงินรณรงค์เมาไม่ขับผ่านมากี่ปี หมดเงินไปกี่พันล้าน ทุกวันนี้คนไทยก็ยังเมาแล้วขับอยู่เหมือนเดิม

 

บางคนอาจจะบอกว่าก็มีหอสมุดแห่งชาติอยู่แล้ว จะทำเพิ่มทำไม

ก็ยกหอสมุดแห่งชาติให้เป็นองค์กรหลัก ให้เป็นองค์กรอิสระไปเลย ปัจจุบันนี้หอสมุดแห่งชาติเป็นแค่สำนักอยู่ในกรมศิลปากร เล็กนิดเดียว แล้วคุณจะพูดเรื่องการอ่านของคนทั้งประเทศได้ยังไง

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกว่าอยากมีสถาบันกวี, ชมัยภร แสงกระจ่าง อยากมีสถาบันนักเขียน ผมบอกว่าอะไรก็ได้ขอให้มันเกิดก่อน นับหนึ่งก่อนแล้วค่อยไปต่อ

ทุกวันนี้ สมาคมฟุตบอล สมาคมบาสเกตบอล สมาคมรักบี้ สมาคมโปโลน้ำ ฯลฯ รัฐบาลมีงบอุดหนุนทั้งหมด แต่ไม่มีงบสำหรับวงการหนังสือเลย แสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ไร้ซึ่งวัฒนธรรม ประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมทางการอ่านคือประเทศที่เจริญยาก

 

ทำหนังสือมาทั้งชีวิต เคยอยากเขียนหนังสือเองไหม

ผมเกิดมาเป็นแค่คนอ่านหนังสือ ผมไม่ใช่นักเขียน แต่พี่เถียร (เสถียร จันทิมาธร) เป็นคนเขียนหนังสือ บางคนบอกจรัญถ่อมตัว ผมบอกกูไม่ได้ถ่อมตัว กูรู้ว่ากูเขียนหนังสือไม่ได้ แล้วก็ไม่กล้าอุตริเขียนด้วย

ผมอ่านหนังสือเพื่อรับใช้ตัวเอง ผมไม่ใช่คนประเภทชอบไปสั่งสอนคนอื่น ผมคิดว่าสอนตัวเองดีกว่า ปรัชญาฝ่ายซ้ายมันสอนให้เราสอนตัวเอง ผมโตมากับแนวคิดแบบนี้

สุภาพบุรุษแบบศรีบูรพานั้นไม่ได้มองความเป็นสุภาพบุรุษจากเสื้อผ้าอาภรณ์แบบที่ ร.6 มอง แต่ศรีบูรพาบอกว่าคนที่ทำอะไรเพื่อคนอื่น คนนั้นคือสุภาพบุรุษ

 

จรัญ หอมเทียนทอง

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save