fbpx
Charlie Musselwhite หัวใจในเสียงฮาร์ป

Charlie Musselwhite หัวใจในเสียงฮาร์ป

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

1.

แม้ว่าชาลี มัสเซิลไวท์ (Charlie Musselwhite) นักดนตรีบลูส์รุ่นอาวุโสจะเป็นคนขาว ไม่ได้เกิดมาถูกเหยียดและกีดกันทางเชื้อชาติและสีผิวแบบคนแอฟริกัน-อเมริกัน

ไม่ได้ผ่านการกระทำที่ขัดกฎหมายบ้านเมือง ที่เพียงแค่อ่านหรือเขียนหนังสือเท่านั้น ไม่ได้ผ่านการรวมกลุ่มแล้วแอบย่องลงไปที่ริมห้วยในเวลากลางคืน เพื่อจับมือกันร้องเพลงเพื่อปลดปล่อยและอ้อนวอนต่อพระเจ้าของแรงงานทาสคนดำ จนกลายเป็นสายธารของเพลงบลูส์

แต่ชาลีก็ซึมซับและเข้าไปอยู่ในสายธารดนตรีบลูส์มาทั้งชีวิต

2.

อาจเพราะเขาเกิดในเมืองบ้านนอกตอนกลางของรัฐมิสซิสซิปปี้ ที่แวดล้อมไปด้วยชาวไร่ชาวนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี

ความข้นแค้นขัดสนทางฐานะครอบครัว ทำให้ชาลีต้องย้ายบ้านย้ายเมืองตั้งแต่ยังเด็ก เขาไปเติบโตที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี่ พอโตเป็นวัยรุ่นหน่อยก็แอบประกอบอาชีพต้มเหล้าเถื่อนขาย หารายได้จุนเจือชีวิต

แน่นอน, รายได้ส่วนหนึ่งของเขา ถูกนำไปซื้อแผ่นเสียง เขาเป็นนักสะสมแผ่นเสียงตัวยง และใช้เวลาอดิเรกไปกับการเป่าฮาร์ปหรือฮาร์โมนิก้า

แม้ว่าเขาจะได้อิทธิพลทางดนตรีด้วยการฟังเพลงแนวกอสเปล ป๊อป แจ๊ซ มาพอๆ กัน แต่บลูส์เป็นสิ่งที่ตรงใจเขามากที่สุด

3.

ในช่วงปี 1960 อาชีพต้มเหล้าเถื่อนของเขาเป็นอันต้องล้มเลิกไป เพราะถูกตำรวจจับกุมกวาดล้าง และเขาก็ต้องพเนจรไปอยู่ที่ชิคาโก และที่นี่ ที่เขาฝังตัวอยู่ที่ผับ ใช้ชีวิตกินนอนอยู่ท่ามกลางเหล้า ยา โสเภณี และเสียงเพลง

กระทั่งเขาได้รู้จักกับ Muddy Waters พี่ใหญ่แห่งวงการเพลงบลูส์ในขณะนั้น เขาได้พบกับนักเป่าฮาร์ปมือฉมังอย่าง Big Walter Horton และ Little Walter

วันหนึ่งมีสาวเสิร์ฟแนะนำเขาให้พูดคุยกับมัดดี้ วอร์เตอร์ส และเขาก็ได้รับคำเชิญชวนให้ขึ้นแจมดนตรีด้วย

นั่นทำให้เขาหลงใหลในวิถีดนตรีบลูส์ จนเรียกได้ว่าทิ้งชีวิตให้ไปเลย

ทั้งเขา และมัดดี้ รวมถึงจอห์น ลี ฮูเกอร์ นักดนตรีบลูส์ในตำนานอีกคน ก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน หลังจากนั้นการที่ได้ตะลอนทัวร์เล่นดนตรีไปทั่วชิคาโกก็ทำให้เขามีชื่อเสียงจากการทำอัลบั้มแรกในชื่อ Stand Back! Here Comes Charley Musselwhite’s Southside Band ออกกับค่าย Vanguard Records ในปี 1967

Charlie Musselwhite หัวใจในเสียงฮาร์ป
Charlie Musselwhite ภาพจาก www.charliemusselwhite.com

4.

เขาเป็นนักดนตรีคนหนึ่งที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอแทบทุกปีจนถึงปัจจุบัน บุคลิกของเขาเป็นคนพูดน้อยแต่พูดตรง เว้นแต่เวลาเป่าฮาร์ปที่เหมือนจะทำให้เขากลายเป็นคนละคน

“เสียงฮาร์ป คล้ายกับเสียงพูดของคน สำหรับผมมันเหมือนการร้องเพลง เพียงแต่ไม่มีเนื้อร้องเท่านั้น” ชาลีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในวัย 74 ปี เมื่อถูกถามว่า ทำไมการเป่าฮาร์ปถึงได้เข้ากันกับวิถีของบลูส์

5.

ใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลาของชาลี ไม่น่าจะใช่คนที่มีชีวิตอย่างสุขสมตลอดเวลา แต่อาจเพราะเขาผ่านเผชิญความยากลำบากมาต่างหาก มันทำให้เราเห็นว่ารอยยิ้มนั้นคงเป็นการตกผลึกของชีวิต

และเขาเลือกจะเล่ามันผ่านเสียงฮาร์ป ในท่วงทำนองบลูส์

เสียงฮาร์ปที่ซึมลึกเข้าไปในใจ ทั้งอ่อนโยนและท้าทาย ถูกถ่ายทอดด้วยลมหายใจที่ทั้งสูดเข้าและเป่าออกมา สะกดพวกเราไว้อย่างทวยระทม ขึงขัง และปลดปล่อย

ต้องเป็นลมหายใจแบบไหน หัวใจเต้นจังหวะไหนกัน

6.

การเปลี่ยนแปลงเป็นของทุกคน ชาลีเองก็ด้วย

จากที่เคยเป็นคนติดเหล้ามาตั้งแต่หนุ่ม จู่ๆ เขาก็อยากเลิกมัน แต่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล

ในเดือน ต.ค.1987 เมื่อมีเด็กวัย 18 เดือนชื่อ Jessica Mclure ตกลงไปในท่อน้ำที่ทั้งลึก มืดและหนาว แขนของเจสสิก้าหัก และรอคอยอยู่ในท่อนั้นถึง 3 วัน

ระหว่างรอการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่กู้ภัยและสำนักข่าวก็ถ่ายทอดสดปฏิบัติการกู้ระทึกไปทั่วประเทศ หนูน้อยเจสสิก้าก็ร้องเพลงออกมาอย่างมีความหวัง และสุดท้ายก็ได้รับการช่วยเหลือสำเร็จ

“ผมคิดว่าเจ้าหนูคนนี้สุดยอดมากๆ แม้ว่าจะยากลำบากขนาดไหน เธอก็ยังมีความหวังและขวนขวายให้ตัวเองมีชีวิตรอดต่อไป ผมสวดมนต์ให้เธอ และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่แตะเหล้าอีกเลย เธอก็รอด ผมก็เช่นกัน ทุกวันนี้ผมเลิกเหล้ามา 30 ปีแล้ว”

ชาลีเก็บความทรงจำนี้มาถึงปี 2010 เขาออกอัลบั้มชื่อ The Well ซึ่งมีเพลงที่มีชื่อเดียวกันอยู่ในอัลบั้มนี้ด้วย เขาเขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงหัวใจของหนูเจสสิก้าที่ไม่ยอมจำนน

7.

ความแก่ของชาลีไม่ได้พรากความหนุ่มในตัวเขาไป ปี 2013 เขาออกอัลบั้มร่วมกับเบน ฮาร์เปอร์ (Ben Harper) นักดนตรีบลูส์โฟล์กรุ่นลูก ในชื่ออัลบั้มว่า Get Up

พวกเขาเล่าเรื่องตามคอมเซ็ปต์อัลบั้มอย่างดุดัน ขึงขัง และคึกคักในความเป็นขบถ และได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ด อัลบั้มบลูส์ยอดเยี่ยม ในปี 2014

ความเข้าขากันระหว่างชาลีกับเบน ทำให้ทั้งคู่ยังทำงานร่วมกันและได้อัลบั้มที่สุขุมนุ่มลึกและคมคายออกมาเมื่อปี 2018 ในชื่อว่า No Mercy in This Land

8.

เราไม่ได้สนใจว่ามันเป็นคำสาปหรือไม่ แต่คนบลูส์ก็ย่อมอยู่ในวิถีบลูส์

ชาลีเล่าว่าอัลบั้ม No Mercy in This Land ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากความทรงจำของเขากับแม่

เขาเป็นลูกคนเดียวของรูธ (Ruth Maxine Musselwhite) แม่ใบเลี้ยงเดี่ยว และทั้งคู่สนิทกันมาก ที่ชาลีได้อิทธิพลการฟังเพลงและเล่นดนตรีก็มาจากแม่ของเขา

ตอนที่ชาลียังเด็ก แม่จะพาเขาไปที่โบสถ์หลายแห่ง เพื่อซึมซับวัฒนธรรมของคนในชุมชนต่างๆ ชาลีได้รู้จักการเขียนบทกวี ได้ฟังเพลงของบิลลี่ ฮอลิเดย์ และหลุยส์ อาร์มสตรอง ก็มาจากแม่ของเขา

ทั้งหมดทั้งปวง ชาลีอาจเป็นคนละคนไปเลย ถ้ารูธไม่ได้สอนให้เขารู้จักการเคารพคนอื่น

“พระเจ้าสร้างทุกคนมา ถ้าเธอไม่เคารพคนอื่น เพราะว่าเขาไม่เหมือนเราหรือว่าสีผิวต่างกัน หมายถึงเธอไม่เคารพต่อสิ่งที่พระเจ้าทำ” ชาลีเล่าถึงคำสอนของรูธ

9.

ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์แม่กับลูกก็เป็นไปอย่างปกติดี ทำไมต้องปรากฏอัลบั้ม No Mercy in This Land ออกมา

ชาลีเคยให้สัมภาษณ์ว่า รูธเป็นคนหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารและคัดค้านมาตลอด และความเชื่อของรูธก็เข้ามาเขย่าหัวใจของชาลี

ปี 2005 รูธถูกหัวขโมยย่องขึ้นบ้าน ปล้นทรัพย์ พร้อมกับสังหารเธอไปในวัย 93

แน่นอน, เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมสร้างความเจ็บปวดให้ชาลี

“วันที่ศาลตัดสินคดีความ ญาติโทรมาเพื่อบอกผมเรื่องฆาตกรคนนั้น เขาได้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนที่จะต้องตาย” ชาลีแสดงความดีใจที่ได้พูดเจตนารมณ์ของแม่ให้สาธารณะ ซึ่งฆาตกรก็ได้รับฟังด้วย

ฆาตกรไม่ต้องถูกประหารอย่างที่รูธเองก็ไม่ต้องการเช่นกัน

แทนที่จะไปแก้แค้นเอาคืน ชาลีเลือกดนตรี

เขาเล่าเรื่องทั้งหมดให้เบนฟัง เพื่อคลายความทุกข์และความอัดกลั้นในหัวใจ ในที่สุดเบนก็เอาไปเขียนเป็นเนื้อเพลงนี้ออกมา โดยร้องร่วมกับชาลี

“ยิ่งคุณเก็บความทุกข์นั้นไว้กับตัวมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งแย่ นี่อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้เยียวยามัน” ชาลีกล่าวถึงการทำอัลบั้ม No Mercy in This Land

What would be the first thing
You’d say to the Lord
And the last thing you would dream
If you couldn’t dream no more
Won’t you please help me to understand
Is there no mercy in this land

Followed the river ’til the river ran dry
Followed my lover ’til we said goodbye
Followed you through soldiers
Who fire on command Is there no mercy in this land

ในบทสัมภาษณ์ของชาลีหลายครั้ง มักจะมีคนถามว่าเขาบลูส์ที่แท้จริงคืออะไร และเขาก็มักจะตอบว่า “บลูส์เป็นมากกว่าดนตรี มันเป็นทัศนคติ เป็นมุมมองชีวิตของคุณเอง และมันจะอยู่กับคุณตลอดทั้งชีวิต”

10.

พูดถึงเรื่องโทษประหารชีวิต พ่อคิดถึงกรณีน้องแก้มที่เป็นข่าวว่าเธอถูกฆ่าข่มขืนบนรถไฟเมื่อเดือน ก.ค. 2014 ตอนนั้นพ่อยังไม่ได้แต่งงานกับแม่ กระแสอยากเอาฆาตกรที่กระทำกับเหยื่อมาลงโทษให้ตกตายไป มีตั้งแต่ระดับจับไปประหาร ไปจนถึงโหดเหี้ยมยิ่งกว่าที่เจ้าตัวกระทำกับน้องแก้ม

เราคุยกันตลอดว่าโทษประหารเป็นทางออกจริงไหม แน่นอน, ทั้งพ่อและแม่เห็นตรงกันว่าไม่

แต่ท่ามกลางจิตวิญญาณของสังคมที่เอ็นจอยกับการพิพากษา-ป้ายประณามมากกว่าแสวงหาเหตุผล มันจึงเต็มไปด้วยถ้อยคำสาปส่ง

พ่อไม่แน่ใจว่าวันที่ ‘เวลา’ โตขึ้น ทรรศนะแบบนั้นจะสาบสูญไปหรือยัง ถ้าให้เดา ณ วันนี้ เราก็ว่าไม่อยู่ดี

ลูกอาจสงสัยว่าทำไมเราไม่เอาโทษประหาร พ่อขออธิบายแบบนี้ว่า การตั้งธงว่าการประหารชีวิตนั้นจำเป็น ทำให้เราไม่ต้องคิดถึงทางเลือกอื่นๆ ว่าเราจะอยู่กันแบบไหน

มันยิ่งห่างไกลที่จะคิดถึงระบบป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สำนึกการเรียกร้องประหารชีวิตคือมาตรฐานเดียวกับความคิดที่ว่า “ถ้ากูไม่โอเคกับมึง ก็จงไปตายซะ!”

ยังไม่นับว่าผู้ถูกประหารเป็นแพะหรือไม่ แต่เป็นไปได้ไหมว่าการอยากให้ใครก็ตามได้ถูกประหารไปนั้น มันทำหน้าที่พิสูจน์ได้หนึ่งอย่างว่า ไม่ใช่สังคมที่จะสูงขึ้นหรอก หากใครบางคนถูกประหารไปแล้ว

แต่มันช่วยยกสภาพจิตแห่งการพิพากษาให้วูบไหวและสูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น

ถ้ามีเหตุการณ์โหดร้ายเกิดขึ้นกับเรา เจ็บปวดไหม ก็เจ็บปวด และแม้ว่าเราจะอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินที่ไร้ความเมตตาปรานี แต่เราไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

_______________________________
อ่านเรื่องอื่นๆ ต่อในคอลัมน์ เมื่อเวลามาถึง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save