fbpx
ปรับสมดุลระบบสุขภาพไทยให้ ‘พอดี’ เปิดแนวคิด ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา

ปรับสมดุลระบบสุขภาพไทยให้ ‘พอดี’ เปิดแนวคิด ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา

ภัทชา ด้วงกลัด และจารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์  เรื่อง

ในขณะที่ปัญหา ‘การขาดแคลน’ อุปกรณ์ทางการแพทย์กำลังเป็นที่สนใจของสังคม คุณรู้หรือไม่ว่ามีทรัพยากรทางการแพทย์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องมือ เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ บุคคลากร และงบประมาณ กำลังถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่าด้วยความสมัครใจของเราทุกคนเองทั้งที่รู้ตัวและอาจไม่รู้ตัว จนกลายเป็นความล้นเกินที่ทำให้ระบบสุขภาพไทยห่างไกลจาก ‘จุดสมดุล’ ที่จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีตามที่เราทุกคนพึงประสงค์ได้

ศาสตราจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มองเห็นปัญหาและเฝ้าติดตามระบบสุขภาพของไทยต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ให้ความเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญของระบบสุขภาพไทยคือ ‘ความไม่พอดี’ ที่ทำให้เกิดความสูญเสียและความไม่คุ้มค่าทั้งในระดับปัจเจกและระดับประเทศ และยังส่งผลซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2544 ศ.นพ.จรัส เคยเขียนถึง ‘ความไม่พอดี’ หรือ ‘ความไม่พอเพียง’ ของระบบสุขภาพไทยไว้ในหนังสือเรื่อง “สุขภาพพอเพียง ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์”  ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกิน 15 ปีแล้ว แต่ ศ.นพ.จรัส ชี้ว่าสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบันไม่หายไปไหน ซึ่งสภาพ ‘ความไม่พอดี’ ด้านสุขภาพสำคัญๆ ของสังคมไทย มีด้วยกันหลายลักษณะ

ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงระบบ และเกิดขึ้นกับวิธีคิดวิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทยโดยทั่วไป

 

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา | ภาพจากเว็บไซต์ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) | ภาพในแบนเนอร์จากเว็บไซต์ 70ปี แพทย์จุฬาฯ

 

ความต้องการหรือความอยากที่ไม่รู้จักพอ

 

ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้เราสามารถตอบสนอง ‘ความอยาก’ และ ‘ความต้องการ’ ได้ไม่รู้จบ ทั้งความอยากสวย อยากหล่อ อยากผอม และความไม่อยากแก่ จนกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น การใช้ยาลดความอ้วน การทำศัลยกรรมเสริมความงาม นวัตกรรมการชะลอริ้วรอยความเหี่ยวย่นด้วยวิธีแปลกใหม่ ความอยากเหล่านี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่หากเกินพอดีก็อาจนำมาสู่การใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่เกินจำเป็น และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วยซ้ำ

‘ความไม่อยากตาย’ เป็นอีกหนึ่งความต้องการที่ผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรทางการแพทย์ที่มากมายมหาศาล ถึงแม้ความตายจะเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่ไม่อาจมีผู้ใดเลี่ยงได้พ้น

การใช้เทคโนยีทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วยให้รอดตายถือว่ามีความจำเป็น เช่น การช่วยเหลือผู้ที่หัวใจวายกะทันหันด้วยเครื่องนวดหัวใจและเครื่องช่วยหายใจ แต่เรามักพบเห็นความพยายามยืดความตายออกไปอย่างพิสดารด้วยวิธีการต่างๆ กับผู้ป่วยที่อาการสาหัสจนอาจไม่มีทางรอด ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและค่าใช้จ่ายมหาศาล มีการศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดในการรักษาพยาบาลของแต่ละบุคคลคือ ค่าใช้จ่ายในปีสุดท้ายหรือระยะสุดท้ายของชีวิตนั่นเอง

‘ความไม่อยากตาย’ ยังทำให้หลายคนเลือกใช้เทคโนโลยีราคาแพงที่เกินจำเป็น เช่น ตรวจหามะเร็งที่อาจซ่อนอยู่ในร่างกาย ในต่างประเทศเคยมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงบทความโฆษณาหนึ่งหน้าเต็มๆ พาดหัวใหญ่ว่า “CATCHING CANCER BEFORE IT KILLS” ชักชวนให้คนตรวจหามะเร็งด้วยการทำ CT Scan โดยบอกว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจหามะเร็ง เพียงแค่นอนนิ่งๆ จากนั้นเครื่องจะวินิจฉัยและบอกตำแหน่งของโรคได้อย่างแม่นยำ แต่แท้จริงแล้วการตรวจลักษณะนี้ถือว่าเกินความจำเป็นหากไม่ได้มีอาการข้อบ่งชี้เฉพาะ และยังอาจเกิดโทษ เช่นนำไปสู่การผ่าตัดที่ไม่จำเป็นตามมาอีกด้วย

ความอยากทั้งหลายเหล่านี้มักถูกกระตุ้นเพื่อผลเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยความกลัวเป็นฐาน นำไปสู่ความ ‘ไม่พอดี’ ซึ่งต้องการการกำกับดูแลด้านวิชาชีพและองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ามาช่วยควบคุม

 

การรับเทคโนโลยีมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้เราต่อสู้กับโรคร้ายและมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในทางกลับกัน การมุ่งแต่จะใช้เทคโนโลยีโดยปราศจากการกลั่นกรองความเหมาะสมและประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และความย่อหย่อนในการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยี สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรอีกด้วย ตัวอย่างเช่น

  • การให้น้ำเกลือเป็นยาบำรุงกำลัง

บางคนเชื่อว่าการนอนให้น้ำเกลือในโรงพยาบาลเป็นเสมือนการให้ยาบำรุงกำลัง ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสดชื่นขึ้นได้ทันตา ถึงขนาดเคยมีกรณีที่นักธุรกิจท่านหนึ่งซึ่งทำงานหนักมากจนมีอาการอ่อนเพลีย มาขอให้หมอให้น้ำเกลือและนอนพักที่โรงพยาบาล เพราะเชื่อว่าน้ำเกลือจะช่วยทำให้กลับมาแข็งแรงได้

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าน้ำเกลือเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร เมื่อเจ็บป่วยเองหรือไปเยี่ยมไข้คนป่วย จึงมักขอหรือทวงถามการให้น้ำเกลือจากหมอ กระทั่งคิดว่าหากไม่ได้รับน้ำเกลือถือว่ายังไม่ได้รับการรักษา

แท้จริงแล้วการให้น้ำเกลือจำเป็นเฉพาะกรณีที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่จำนวนมากเท่านั้น มีหลักฐานทางการแพทย์ชี้ให้เห็นชัดว่า ในกรณีทั่วไป น้ำเกลือหนึ่งขวดไม่สามารถทำให้สุขภาพดีขึ้นได้

  • การผ่าท้องคลอด

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์อย่างกว้างขวางแล้วว่าการผ่าท้องคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น กระดูกเชิงกรานของแม่แคบแต่เด็กตัวโต เด็กขาดออกซิเจน ฯลฯ ส่งผลเสียต่อแม่และเด็กมากกว่าผลดี ทำให้แม่และเด็กเสี่ยงอันตรายมากกว่าการคลอดธรรมชาติกว่า 2-3 เท่า และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้

ปัจจุบันการผ่าท้องคลอดกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสะดวก สามารถผ่าได้ตามฤกษ์ยามที่ดี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในทางที่ผิดและสิ้นเปลือง

เพื่อลดการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่คุ้มค่าลง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบที่ช่วยให้การตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การประเมินเทคโนโลยี (technology assessment) และ Clinical Practice Guideline (CPG) หรือ แนวเวชปฏิบัติ

Clinical Practice Guideline (CPG)  คือ แนวทางเวชปฏิบัติของโรคใดโรคหนึ่ง หรืออาการใดอาการหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานการรักษาที่แพทย์สามารถใช้เป็นแนวทางในการรักษาได้ มีข้อดีเช่น โรงพยาบาลหรือสถานบริการทางการแพทย์ที่มีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (general practitioner, GP) จำนวนมาก สามารถใช้ CPG เพื่อทำเวชปฏิบัติที่เหมาะสมและให้การรักษาดูแลคนไข้เบื้องต้นได้ ไม่ต้องใช้เวลานานในการอ่านเอกสารวิชาการต่างๆ ด้วยตนเอง ที่สำคัญ CPG ยังช่วยให้แพทย์และหน่วยบริการประเมินความสามารถในการรักษาของตนได้ด้วย โดยหากเกินความสามารถก็จะช่วยให้ตัดสินใจส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่นได้อย่างทันท่วงที

ในประเทศไทยแม้จะมีการนำ CPG ซึ่งออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญมาใช้ แต่ก็ต้องพึงระวังว่าแนวทางปฏิบัติบางอย่างอาจใช้ประโยชน์ได้น้อยและกลายเป็นความสิ้นเปลืองไม่คุ้มค่าก็เป็นได้เช่น การตรวจร่างกายประจำปี การตรวจหาเซลล์มะเร็ง การตรวจยีน เป็นต้น

CPG ที่ดีควรบอกข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดของแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจน มีการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้ทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญควรปรับตามบริบทและความแตกต่างของคนไข้ โดยอาศัยดุลพินิจของแพทย์ประกอบด้วย

 

การขาดวิจารณญาณในการเลือก การถูกหลอก

 

คนไทยจำนวนไม่น้อยมีนิสัยเชื่อง่าย ชอบลอง ขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจเลือก และมักคล้อยตามสื่อหรือข้อมูลที่บอกต่อๆ กันมา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ของไทย ถึงแม้จะทำงานบนฐานข้อมูล แต่พบว่าข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจจำนวนไม่น้อยขาดความเชื่อมโยงกัน บ้างเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือไม่ปรับปรุงให้ทันสมัย อีกทั้งบทบาททางวิชาชีพยังทำให้ในบางกรณีบุคลากรทางการแพทย์เลือกที่จะปกป้องตนเองมากกว่าประโยชน์ของประชาชนและสังคม ในภาพรวมทั้งคนไข้และหมอจึงเสี่ยงต่อการ ‘ถูกหลอก’ ได้ง่าย

ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีความนิยมในการใช้เมลาโทนินในอดีต เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มาจากสารธรรมชาติที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ว่ามีสรรพคุณมากมาย กลายเป็นยาสารพัดนึก ทั้งช่วยชะลอความแก่และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาจากหลักฐานต่างๆ พบว่า สารตัวนี้ไม่มีสรรพคุณใดๆ ตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่ยอมขึ้นทะเบียนยา ปรากฏว่าคนจำนวนมากขวนขวายหาทางซื้อและลักลอบนำเข้ายานี้จากสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้ขายได้

สิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มวิจารณญาณในการเลือกและลดการถูกหลอกได้นั้น คือ การให้การศึกษา การให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันเวลา และการเพิ่มบทบาทขององค์กรวิชาชีพในการปกป้องสังคม

 

การใช้ชีวิตอย่างไม่มัธยัสถ์ ฟุ่มเฟือย ไม่ดูแลสุขภาพตนเอง และไม่รับผิดชอบต่อสังคม

 

พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมยังเป็นอีกภาพสะท้อนของการดูแลสุขภาพที่ ‘ไม่พอดี’ เช่น การสูบบุหรี่ การทำงานหนักเกินควร การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การไม่รับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้อื่น เช่น เจ้าของโรงงานไม่ดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดี มีเสียงดัง ฝุ่นละออง สารพิษ หรือมีสภาพการทำงานที่เป็นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ขาดการดูแลอย่างจริงจัง เช่น มลพิษในอากาศ น้ำเสีย การปนเปื้อนสารพิษในอาหาร

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยให้สุขภาพของคนไทยมีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องการมาตรการทางกฎหมายและทางสังคมมากำกับดูแล

 

การขาดการดูแลรักษาสุขภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

 

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเรามีอาการเจ็บป่วยหรือมีสัญญาณของโรคก็ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลลุกลามเกินเยียวยา เสี่ยงต่อการสูญเสียในอนาคต เช่น ตาบอด ไตวาย หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้นไปอีก

หลายคนลังเลว่า เมื่อตนเองเจ็บป่วยแม้เพียงเล็กน้อยควรไปพบหมอดีหรือไม่ บางคนบอกว่าไม่ควรเพราะจะเกิดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ทั้งต้นทุนต่างๆ ที่ตามมา เช่น ค่ารถ ค่าเสียเวลาทำมาหากิน หรือการเสียสุขภาพจิต ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อไปรักษาแล้วพบว่าตัวเองเป็นโรคร้าย ทำให้เกิดความวิตกกังวล ขณะที่บางคนบอกว่าซื้อยามาทานเองก็ได้ไม่เป็นไร

ทุกวันนี้คนไข้ส่วนใหญ่มักเข้าสู่ระบบสุขภาพเมื่อป่วยหนักมากแล้ว เช่น โรคเบาหวาน คนไทยที่เป็นโรคเบาหวานจำนวนไม่น้อยไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน หรือทราบแล้วก็ไม่ได้ได้ควบคุมโรคให้ดี ทิ้งไว้หลายปีจนส่งผลทำให้ตาบอด หรือเป็นโรคไตต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อล้างไตจำนวนมาก การรักษาเบาหวานตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทำได้ไม่ยากและเสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น การควบคุมอาหารหรือใช้ยารับประทาน แต่ต้องทำต่อเนื่องและดูแลตนเองเป็นประจำ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ถ้าควบคุมดูแลตนเองได้ดีจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนด้านหัวใจและสมองน้อยลงเหลือเพียง 1 ใน 6 ของผู้ที่ละเลยไม่ได้ดูแล

โรคร้ายแรงต่างๆ เมื่อตรวจพบเจอแล้วในระยะแรก ย่อมรักษาได้ง่าย เร็ว และสิ้นเปลืองน้อยกว่า โอกาสที่จะเกิดความพิการหรือความสูญเสียด้านสุขภาพในระยะยาวก็มีน้อยลง จึงควรมีการคัดกรองโรคอย่างเหมาะสมในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ยังควรดูแลตนเองให้ดีหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อยู่เสมอเพื่อการป้องกันความเจ็บป่วยและเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี

 

ความเชื่อมั่นในหน่วยบริการ

 

ปัจจุบันมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความไม่เพียงพอของงบประมาณและบุคลากร คนที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจริงๆ อาจไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่คนที่เข้าถึงได้ส่วนมากคือผู้ที่มีกำลังจ่าย ซึ่งในหลายกรณีอาจไม่จำเป็นต้องใช้หรือใช้เกินจำเป็น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ นี่เป็นช่องโหว่จากการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่คุ้มค่าที่เรียกว่า ผิดฝาผิดตัว!

ทั้งนี้คนไข้ต่างต้องการที่จะได้รับการรักษาที่ตนเองคิดว่าดีที่สุด แต่ด้วยสภาพความเป็นจริง หน่วยพยาบาลแต่ละแห่งมีสภาพความไว้ใจได้ไม่เท่าเทียมกัน ระบบบริการแบบนี้ทำให้ทุกฝ่ายมีค่าใช้จ่ายที่สูง เกิดการกระจุกตัวของคนไข้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรและเครื่องมือที่ครบครัน ทั้งที่โรคบางชนิดสามารถรักษาได้ที่หน่วยบริการขนาดเล็กกว่าได้

ระบบสุขภาพที่ดีจึงควรสร้างความเท่าเทียมในการให้บริการแก่คนทุกกลุ่มในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องการการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม

 

การใช้งบประมาณด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสม

 

กลไกและเกณฑ์การใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสมมีส่วนทำให้เกิดความไม่พอดีในการจัดสรรบริการสุขภาพ ในขณะที่ผู้ที่ประสงค์จะใช้เงินของตนเองในการดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว ถึงแม้จะมีเสรีภาพในการเลือกใช้เงินของตน แต่ก็มักพบว่ายังขาดการศึกษาที่ถี่ถ้วนและไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอสำหรับการตัดสินใจ ในหลายกรณีนำมาสู่ภาระหนี้สินและการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพที่เกินกำลัง

 

ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์

 

จะเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพของคนไทยยังไม่อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมนัก มีทั้งช่องโหว่ด้านคุณภาพ และเกิดความสิ้นเปลืองฟุ่มเฟือยในหลายกรณี

‘ความมั่นคงในสุขภาพ’ ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ ซึ่งการจะมีความมั่นคงในสุขภาพได้นั้น เพียงลำพังแค่การมีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าคงไม่พอ ความ ‘พอดี’ ของระบบสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้ ศ.นพ.จรัส ได้แนะนำว่า ‘ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์’ จะต้องประกอบด้วยปัจจัยอย่างน้อย 5 ประการพื้นฐาน คือ

1. ระบบที่มีคุณภาพ คือระบบที่ให้ผลสัมฤทธิ์ดีที่สุด ไม่เกิดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น ซึ่งต้องอาศัยความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย กลั่นกรองมาอย่างดี และการดูแลทั้งโดยบุคลากรทางการแพทย์ ตนเอง ครอบครัว ชุมชน รวมทั้งนโยบายของชาติ

2. ระบบที่ประหยัด จ่ายเท่าที่จำเป็นจริงๆ คนไข้เองก็ไม่อยากจ่ายเกินสมควร เกินฐานะ เน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาโรค

3. ระบบที่พึ่งตนเองได้ มีเสรีภาพในการเลือกและกำหนดชีวิตตนเองด้วยความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัย สามารถเลือกบริการได้อย่างถูกต้องถูกใจ

4. ระบบที่มีความเสมอภาค เคารพความเป็นมนุษย์ มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด มีกลไกรัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ให้การบริการครอบคลุมประชากรอย่างทั่วถึง

5. ระบบที่มีน้ำใจ มีคุณธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นระบบที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน สื่อสารกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมีความรับผิดชอบต่อกัน

ทั้งนี้รากฐานสำคัญของปัจจัย 5 ประการข้างต้น คือ ‘ความรู้’ และ ‘ความเข้าใจ’ ของทั้งคนไข้และบุคลากรในระบบ ที่จะเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ ‘เลือก’ บริการสุขภาพและสิ่งต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เรามีสุขภาพดีและสมบูรณ์ได้ขึ้นได้อย่างแท้จริง

 

อ้างอิง

หนังสือสุขภาพพอเพียง ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ โดย ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา (2544)

เอกสารแนวการจัดทำ Guideline โดยพญ. รัตนวดี ณ นคร

บทความ Clinical Practice Guidelines CPG จากเว็บไซต์หมอชาวบ้าน

บทความ เพทสะแกนคืออะไร? เพท-ซีทีสะแกนคืออะไร? โดย นายแพทย์ สามารถ ราชดารา

บทความ แนวคิดพื้นฐานด้านสุขภาพการสร้างเสริมสุขภาพและการปฏิรูปสุขภาพ โดย ผศ.ดร. นิคม มูลเมือง

บทความ HEALTH BELIEF MODEL จากเว็บไซต์ utwente (UNIVERSITY OF TWENTE)

บทความ The Health Belief Model จากเว็บไซต์ euromedinfo

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save