fbpx
การขับเคี่ยวระหว่างอดีตและอนาคต เข้าคูหาฆ่าเผด็จการแล้วไง เลือกตั้งแล้วได้อะไรขึ้นมาบ้าง?

การขับเคี่ยวระหว่างอดีตและอนาคต เข้าคูหาฆ่าเผด็จการแล้วไง เลือกตั้งแล้วได้อะไรขึ้นมาบ้าง?

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

 

ผลการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้ระบอบปกครองคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ไม่ได้ออกมาผิดแปลกแตกต่างไปจากความคาดหมายของผู้คนโดยทั่วไปแต่ประการใด ถึงที่สุดแล้ว คสช. คงจะสามารถใช้พลังอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมือมนุษย์ และปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย หาบหาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป โดยยากที่ใครจะไปขัดขวาง ทัดทานได้ในชั้นนี้

ไม่ได้ด้วยเล่ห์เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์เอาด้วยคาถา

สภาพแวดล้อมโดยรวมของประเทศยังเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต อยู่รอด ของแนวความคิดซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย จารีตประเพณี วัฒนธรรมความเชื่อ ตลอดจนกฎหมาย ส่งเสริมให้ผู้คนจำนน ไม่แข็งขืนกับระบอบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นอยู่

นอกจากนายทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองบริวารแล้ว คงไม่มีใครใสซื่อ บริสุทธิ์ เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะการเลือกตั้ง โค่นล้มเผด็จการทหารได้

จะเอาชนะคะคานเกมการเมืองซึ่ง คสช. เป็นผู้กำหนดและควบคุมได้อย่างไร ในเมื่อทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่าเขาปูทาง วางแผน ดำเนินการสืบทอดอำนาจอย่างเป็นระบบ มีความเคร่งครัดรัดกุม ทำกันทั้งโครงสร้าง โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ยกร่างขึ้นมาเพื่อการดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ

ทั้งออกแบบกติกา ล็อกสเปกเสร็จสรรพ วางกับดักขวากหนามเอาไว้กำจัดขัดขวางฝ่ายตรงกันข้ามทุกวิถีทาง

แผนแรกพลาดมีแผนสอง แผนสองยังไม่สำเร็จก็มีแผนสาม สี่ ห้า…ตามมา

มิหนำซ้ำ ประชาชนยังอ่อนแอขาดไร้พลังต่อรอง มีการแบ่งขั้วแยกฝ่าย แตกร้าวอยู่ลึกๆ ฟากหนึ่งเกลียดกลัวเผด็จการพลเรือนเข้ากระดูกดำ แต่กลับยอมรับได้กับเผด็จการทหาร อีกฝ่ายไม่แยแสสนใจว่าใครจะเป็นเผด็จการพลเรือนหรือไม่ ทว่าหัวเด็ดตีนขาดไม่เอาด้วยกับเผด็จการทหาร

ต่างฝ่ายต่างยึดกุมมวลชนค้ำยันซึ่งกันและกัน

สภาพการณ์ความเป็นจริงดังกล่าว เลือกตั้งอย่างไรก็เป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีทางที่พรรคการเมืองใดจะได้เสียงข้างมากถล่มทลายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เท่านั้นไม่พอ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งกี่หน หากไม่ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ คสช. คัดเลือกมากับมือ ก็ยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมีคนชื่ออื่น นามสกุลอื่น เป็นประมุขฝ่ายบริหาร

เอาขี้หมากองเดียว ยังไม่มีใครกล้าพนันเลยว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แคมเปญ ‘เข้าคูหาฆ่าเผด็จการ’ หรือ ‘จับปากกาฆ่าเผด็จการ’ รณรงค์โค่นล้มระบอบ คสช. ของเหล่าบรรดานักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ที่ทำให้หลายคนมีความรู้สึกคึกคักฮึกเหิมอยู่พักใหญ่ ก่อความคาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะตามมา เป็นเพียงแค่กิจกรรมสร้างความชอบธรรมให้กับนักการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้นเอง

เพราะนับแต่จำความได้ ขึ้นชื่อว่าเผด็จการแล้ว ไม่เคยปรากฏว่ามียุคไหนสมัยใดที่ประชาชนเข้าคูหา กาบัตรเลือกตั้งแล้วจะสามารถฆ่าหรือโค่นล้มลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารหรือเผด็จการพลเรือนก็ตามเถอะ

ที่พ้นๆ ไป หรือต้องลงจากอำนาจ เป็นเพราะประชาชนสาปส่งขับไล่ ออกมาลงถนนต่างหาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เผด็จการทหารซึ่งอยู่ในอำนาจได้ด้วยกองทัพ ศัสตราวุธ ในขณะที่เผด็จการพลเรือนอาจถูกทำรัฐประหารเสียก่อนที่ประชาชนจะออกมาลงถนน

กระนั้นก็ตาม นักการเมืองก็ยังสามารถใช้วาทะโวหาร ขับกล่อมให้ชาวบ้านราษฎรเคลิบเคลิ้ม หลงเชื่อกันว่ามีหนทางที่จะเอาชนะคณะรัฐประหารได้ด้วยการเลือกตั้ง สร้างความหวังให้กับประชาชนสารพัด ทั้งใช้ศัพท์แสงอลังการใหญ่โต รณรงค์ให้มีการโหวตทางยุทธศาสตร์, ปลุกปั่นอุปาทานหมู่จากต่างประเทศ, ผูกขาดอ้างตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หมอบกราบเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นแข่งขันบ้าง ฯลฯ

สุดท้ายสำลักความฝันกันทั้งประเทศ

บางคนแหงนถ่อรอมาตั้งแต่ย่ำรุ่ง ปีพุทธศักราช 2475 จนกระทั่งล้มหายตายจากไป ก็มิได้ประสบพบเห็นแสงสว่างแห่งประชาธิปไตย

แม้การเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้น จะไม่สามารถเอาชนะระบอบปกครอง คสช. ได้ แต่ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยกับคะแนนเสียง 6.2 ล้านคนที่โหวตให้กับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหนแรกๆ ในชีวิต

สร้างความประหลาดใจให้แทบทุกฝ่าย

ก่อนหน้านี้จะมีใครคิดบ้างว่า พรรคการเมืองใหม่เอี่ยมถอดด้ามที่ประกอบขึ้นมาจากคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้มีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งมาก่อน ไม่ได้มีทุนกระสุนมากมายให้เห็น จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาได้เป็นกอบเป็นกำ

10-20 ที่นั่งก็หรูแล้ว

เอาเข้าจริงกลับได้รับเลือกตั้ง 80-90 คน เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ มีที่นั่งเป็นลำดับสาม

คว่ำพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ลงอย่างไม่เป็นท่า

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณจากกลุ่มคนอีกเจเนอเรชันหนึ่งที่ต้องการแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ มิได้ซาบซึ้งไปกับความคิดอำนาจนิยม ตลอดจนขั้วความขัดแย้งเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น ประยุทธ์-ทักษิณ-อภิสิทธิ์, พรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์

ระบบอุปถัมภ์ จารีตประเพณี มีอิทธิพลต่อคนกลุ่มนี้น้อยลง

ที่สำคัญคือ วันเวลาของคนรุ่นเก่ากำลังใกล้จะสิ้นสุด โดยมีคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาแทนที่ เหมือนระลอกคลื่นที่ถาโถมสาดซัดเข้าหาฝั่งไม่หยุดนิ่ง

การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ทุกคนพึงสำเหนียก

ปรากฏการณ์ผ่านพรรคอนาคตใหม่ สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับคนรุ่นก่อนที่สมประโยชน์จากการพึ่งพาอาศัยระบบอุปถัมภ์ จารีตประเพณีเก่าๆ ควบคุมประชาชนอยู่ไม่น้อย

อดีตและอนาคตกำลังขับเคี่ยว ไล่ล่ากันอย่างเข้มข้น

ภายหลังเลือกตั้ง ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช. พยายามสร้างภาพรวบรวมเสียงช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล โดยที่รู้อยู่ว่าเป็นไปไม่ได้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์การสืบทอดอำนาจของ คสช. และหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสงสัยการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกร้องต้องการความโปร่งใสเป็นธรรม จาก กกต.

อยู่ๆ มีคนออกมาตั้งคำถามถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ โดยรู้อยู่ว่าไม่มีใครสามารถตอบเป็นอื่นไปได้เลย

ไม่ได้ดังใจก็เสือกไสไล่ส่งคนอื่นออกจากประเทศ ทำราวกับปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรืออย่างไรไม่ทราบ

วันดีคืนดี แม่ทัพนายกองออกมายืนแถวเรียงหน้ากระดาน แถลงถึงจุดยืนของกองทัพ ประกาศปกป้องสถาบันหลักของชาติ โดยมีคนรับสมอ้าง กันเป็นทอดๆ

บางคนกล่าวหาว่ามีพวกซ้ายจัดดัดจริต คิดเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์

ไม่น่าเชื่อเลยว่า สี่สิบกว่าปีให้หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมทมิฬผ่านพ้นไป บรรยากาศอันน่าสะพรึงของการเผชิญกันหน้าทางการเมือง ในลักษณะ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ คล้ายจะย้อนหวนคืนมาให้เห็นอีกครั้ง เพลงหนักแผ่นดินกลับมาเป็นที่นิยมของใครบางคนอีกหน

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ถึงกับต้องไปออกทีวี แสดงความจงรักภักดี ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อสังคมไทย

วันร้ายคืนเลว มีคนออกมาโยนหินถามทางถึงรัฐบาลแห่งชาติบ้าง รัฐบาลปรองดองบ้าง หรือรัฐบาลคนกลาง และนายกรัฐมนตรีจากบางสถาบัน อันเป็นแนวความคิดซึ่งมีที่มาหลากหลาย ทั้งจากพรรคการเมืองที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง พวกขวาจัดไม่ดัดจริต แต่ถึงกับคลั่งเลยทีเดียว รวมถึงที่มาอันลึกลับดำมืด

อนาคตกำลังไล่ล่าอดีต หรืออดีตกำลังไล่ล่าอนาคต ยังเป็นที่สงสัย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save