fbpx
เรือนจำ ไม่จำยอม : เปิดชีวิต ‘เรือนจัน’ เมื่อกำแพงไม่อาจกั้นความหวัง

เรือนจำ ไม่จำยอม : เปิดชีวิต ‘เรือนจัน’ เมื่อกำแพงไม่อาจกั้นความหวัง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ TIJ ภาพ

เรือนจำ

  

ความหวังของมนุษย์ใต้ฟ้าเดียวกัน

 

“อยู่ในนี้ มีสามอย่างที่ต้องรักษาให้ดีที่สุด หนึ่ง ช้อน สอง ชั้น สาม ชีวิต”

ผู้ต้องขังหญิงคดีลักทรัพย์ อายุเกือบ 50 ปี พูดจบแล้วหยิบช้อนสแตนเลสที่เหน็บตรงเอวออกมาให้ดู

“เราจะได้ช้อนครั้งเดียวตอนเข้ามาครั้งแรก ถ้าหายแล้วหายเลย ต้องไปซื้อใหม่เป็นช้อนพลาสติก กินข้าวไม่อร่อย”

เพราะเหตุนี้ ช้อนจึงขึ้นเป็นสมบัติระดับ ‘Untouchable’ ในเรือนจำ เพราะสิทธิของความอร่อยเป็นเรื่องสำคัญ

“ชั้น คือชั้นของผู้ต้องขัง ถ้าความประพฤติดี ก็จะได้ขึ้นชั้นไปเรื่อยๆ เราก็มีสิทธิได้ออกไปทำงานนอกเรือนจำ” เธออธิบายต่อ เมื่อเหลือบมองไปที่ป้ายติดหน้าอกของเธอ มีตัวหนังสือระบุไว้ว่า ‘ชั้นดีมาก’

โดยทั่วไป ชั้นของผู้ต้องขังแบ่งเป็น 6 ชั้น คือ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง และชั้นต้องปรับปรุงมาก มีการเลื่อนชั้นกรณีปกติ ปีละ 2 ครั้ง หรือถ้าจะให้เร็วกว่านั้น ก็มีการเลื่อนชั้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน หรือช่วยเหลือบุคคลอื่นขณะอยู่ในภาวะอันตราย สิ่งเดียวที่พึงระวังคือ อย่าไปสบตาและมีเรื่องวิวาทกับใคร เพราะระดับที่ขึ้นไปสูงแล้วอาจกราวรูดลงมาได้ทันที

“ส่วน ‘ชีวิต’ คงไม่ต้องอธิบายนะ ก็ต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด อะไรก็เกิดขึ้นได้”

3 ช. ที่ว่าคือสมบัติล้ำค่าในเรือนจำ แต่สำหรับชีวิตมนุษย์ เธอบอกว่าไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างใน ความหวังยังเป็นสิ่งสำคัญเสมอ

“เราก็ยังมีหวัง อย่างน้อยก็อยากออกไปเจอลูก” เธอพูดเสียงนิ่ง

ใกล้ๆ กัน มีสาวอายุ 25 ปีนั่งอยู่ด้วย เธอเข้ามาที่นี่ตอนอายุ 22 ไม่กี่เดือนก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย ถูกจับด้วยคดียาเสพติด สำหรับเธอความหวังคือการได้ออกไปเจอพ่อแม่ และได้ทำงานสุจริต ตอนนี้เหลือเวลาอีกแค่ 6 เดือน เธอก็จะได้ออกไปเจอโลกภายนอก

ทั้งคู่นั่งอยู่กับเครื่องทอเสื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานฝีมือที่เรือนจำฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง เพื่อจะนำไปสานต่อชีวิตเมื่อพ้นโทษไปแล้ว

งานทอเสื่อ เรือนจำจันทบุรี

ไม่ใช่แค่งานทอเสื่อ แต่ที่เรือนจำจันทบุรีมีการฝึกอาชีพที่หลากหลายให้ผู้ต้องขัง ตั้งแต่ ดูดวงไพ่ทาโรต์ ทำอาหาร ทำขนม ทำกาแฟ นวด แกะสลักรองเท้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเวทีประกวด ‘The Chan star บุกแดนค้นหาจัน’ ให้ผู้ต้องขังได้แสดงความสามารถร้องและเต้น ซึ่งรางวัลคือการเข้าทำงานที่ร้านอาหาร หลังจากพ้นโทษไปแล้ว มีรายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน

การฝึกอาชีพเหล่านี้ ไม่ได้ฝึกแล้วเลิกไป แต่ผู้ต้องขังมีโอกาสไปอยู่ใน ‘กองนอก’ ที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำจันทบุรี หรือที่เรียกกันว่า ‘เรือนจันแลนด์’ เช่น ทำงานที่ร้านอาหารเรือนจันครัวไทย,ขายกาแฟที่ร้านกำลังใจ Inspire by Princess, ขายขนมที่เรือนจันเฮ้าส์, ออกทำงานตามโรงงานข้างนอก ฯลฯ

เรือนนอน 2 เรือนจำจันทบุรี

เรือนจำจันทบุรี

เรือนจำจันทบุรี

“เราอยากเห็นคนเหล่านี้มีความสุข เพราะเขาอยู่ในดินแดนต้องห้ามและต้องคำสาป ดังนั้นการที่จะนำพาคนเหล่านี้ให้หลุดพ้น เราต้องคิดโจทย์หลายเรื่อง” คือประโยคที่ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี พูดอยู่เสมอในการพัฒนาเรือนจำ ซึ่งเป็นต้นทางของโปรเจ็กต์พัฒนาอาชีพผู้ต้องขัง และสร้างโอกาสเมื่อออกไปสู่โลกภายนอก

ที่เรือนจันแลนด์ บริเวณด้านหน้าเรือนจำ ไม่มีกำแพงสูงทึบ ไม่มีโซ่คล้องเท้าหรือกุญแจมือ มีเพียงความไว้ใจ และเชื่อว่าการให้โอกาส เปลี่ยนคนได้

 

แสงจันทร์ส่องผ่านกำแพง

ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี กำลังอธิบายถึงโครงการ เรือนจันแลนด์
ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี กำลังอธิบายถึงโครงการ เรือนจันแลนด์

 

เรือนจันแลนด์ เป็นโครงการที่เกิดมาจากไอเดียของ ผบ.ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ที่อยากให้คนในชุมชนได้เข้ามาสัมผัสชีวิตของผู้ต้องขัง เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกันในสังคม อย่างน้อยๆ ก็อาจเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ไม่ตัดสิน ไม่หวาดกลัว และพร้อมอ้าแขนรับหากคนเหล่านี้กลับคืนสู่ชุมชน

“คนเหล่านี้อยู่กับท่านมาทั้งชีวิต เกิดมาอยู่ในสภาพแวดล้อมของท่าน แต่มาอยู่กับผมเพียงแค่ 2-5 ปี แล้วคาดหวังให้ผมคืนคนเหล่านี้กลับสู่สังคม ผมก็บอกเขานะว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการจะคืนคนเหล่านี้กลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่พี่น้องในจังหวัดนี้จะต้องเข้ามาร่วมทำกิจกรรม ร่วมสร้างโมเดลด้วยกัน” ผบ.ชาญกล่าว

ผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมจากโครงการนี้คือ ปัจจุบันตัวเลขการกระทำผิดซ้ำของอดีตผู้ต้องขังลดลงเหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของผู้หญิงเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ตัวเลขการมีงานทำยังเพิ่มขึ้นสูง จากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการพัฒนาที่เห็นผลได้จริงจากการมีส่วนร่วมของคนในสังคม

โครงการเริ่มต้นจากการเปิดพื้นที่หน้าเรือนจำ ได้งบประมาณช่วยเหลือจากภาคเอกชน สร้างอาคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ ทั้งยังมีโรงงานทำกระเบื้องและร้านอาหารจากข้างนอกรับผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน จากสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเรือนจำ ภาครัฐและเอกชน จึงทำให้เรือนจำจันทบุรีกลายเป็น ‘เรือนจำต้นแบบ’ ที่มีเป้าหมายเพื่อคืนคนดีสู่สังคม ไม่ทำให้เรือนจำกลายเป็นที่ทำลายความหวังและความฝันของคน

พื้นที่เรือนจันแลนด์ กลายเป็นร้านอาหารที่คนในจันทบุรีมักมาทาน มีข้าวแกงรสชาติเผ็ดร้อนขายในราคาถูก ผัก น้ำพริกตักฟรี มีผู้ต้องขังมายืนตักให้เองอย่างขยันขันแข็ง จากที่พูดคุย พวกเธออยู่ในวัย 20 กว่า รับโทษมาแล้ว 2-3 ปี และอีกไม่กี่เดือนก็กำลังจะได้รับอิสระ การก้าวพลาดในอดีต ทำให้เธอเลือกคว้าโอกาสการทำงานที่มีตรงหน้าไว้แน่นกระชับ

ถัดเข้าไปภายในเรือนจำ หลังผ่านกรงเหล็กหนาหนักหลายชั้น เจอ ‘แท่นทรงเกียรติ’ ที่เอาไว้ต้อนรับนักโทษแรกเข้าก่อนเข้าแดน เดินเข้าไปในข้างใน พื้นที่โดยรอบดูสะอาดตา แสงสว่างส่องผ่านทั่วถึง มีอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินตั้งอยู่ ผบ.ชาญ เล่าให้ฟังว่าตั้งใจจะให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในเรือนจำ เพราะคนจันทบุรีนับถือพระเจ้าตากสินกันอยู่แล้ว

เรือนจำจังหวัดจันทบุรี

เรือนจำจังหวัดจันทบุรี

ในวันที่เราไป เรือนจำเปิดให้ดูดวงไพ่ทาโรต์ ขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฝีมือผู้ต้องขัง ทั้งเครื่องสานและรองเท้าแกะสลัก กลุ่มผู้ต้องขังหญิงวัยรุ่นสามคนตั้งโต๊ะเปิดดูดวงไพ่ทาโรต์ คิวต่อยาวเหยียด แต่พวกเธอก็ตั้งอกตั้งใจดูให้ไม่ย่อท้อ

“ถ้าดูให้กันเองในเรือนจำ คำถามยอดฮิตคืออะไร” ฉันถามแม่หมอคนหนึ่ง

“ส่วนมากมีอยู่แค่ 2 เรื่อง ความรัก กับ การกลับบ้าน”

คล้ายกันกับที่ผู้ต้องขังชายเอารองเท้าแตะช้างดาวมาแกะเป็นลาย ในบางคู่ก็แกะสลักเป็นคำว่า ‘กลับบ้าน’

เรือนจำจังหวัดจันทบุรี ดูดวง

ความรู้สึกของผู้ต้องขังจากที่พูดคุย พวกเขากังวลอยู่สองเรื่อง คือ กลัวว่าตอนนี้พ่อแม่จะอยู่สบายดีมั้ย และกลัวว่าออกไปแล้วสังคมจะยอมรับหรือเปล่า พวกเขาทั้งอยากกลับบ้านใจจะขาด แต่ขณะเดียวกันก็กังวลกับโลกภายนอกที่ต้องกลับไปเจอ  คำว่า ‘กลับบ้าน’ ที่สะท้อนจากผู้ต้องขังจึงเป็นคำที่ซับซ้อน งดงาม และน่าเศร้าที่สุดคำหนึ่ง

แต่ถึงอย่างนั้น นักโทษส่วนมากในเรือนจำจันทบุรีก็รอคอยเวลาตามโทษกำหนด ยิ่งพอมีงานให้ทำตั้งแต่อยู่ข้างใน หลายคนก็เริ่มเก็บเงินอย่างจริงจังเพื่อเอาไว้ตั้งตัวในอนาคต

“ตอนนี้หมดยุคนักโทษดื้อแล้วครับ ส่วนมากเขาก็อยากทำตัวดีจะได้คัดไปกองนอก มีเงินส่งไปที่บ้านได้ ปันผลรอบนึงเขาก็ได้เยอะ” ผู้คุมคนหนึ่งเล่าให้ฟังระหว่างเดินอยู่ทางเชื่อมแต่ละแดน เขาเล่าให้ฟังว่าแดน 4 เป็นแดนแรกรับ เพื่อที่จะรอส่งเข้าแดนใหญ่ (แดน 5-6) ที่มีจำนวนคน 800 และ 1,000 คน ส่วนแดน 7 มีอยู่ 100 กว่าคน เป็นแดนเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว ส่วนมากคือกองช่าง กองนอก ที่ได้ออกไปทำงานในเรือนจันแลนด์และสถานประกอบการข้างนอก

เรือนจำจันทบุรีมีจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,442 คน เป็นคดียาเสพติดไปแล้ว 1,566 คน นักโทษส่วนมากเหลือโทษไม่เกิน 5 ปี จำนวน 1,163 คน และเหลือโทษเกิน 10 ปีขึ้นไปเพียง 387 คน ด้วยเหตุนี้ทางเรือนจำจึงสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขัง และผู้ต้องขังก็ยังเห็นอนาคตของตัวเองด้วยช่วงเวลาอยู่ข้างในที่ไม่นานเกินไป

ที่นี่กำหนดให้เข้าเรือนนอนตอน 4 โมงครึ่ง มีทีวีให้ดูถึง 3 ทุ่ม ปิดไฟนอน แล้วค่อยตื่นอีกทีตอนตี 5 ครึ่ง มีห้องสมุดให้อ่านตอนกลางวัน มีกิจกรรมให้ทำ เช่น ซ้อมเต้น เล่นดนตรี ฟันดาบ และฝึกอาชีพ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ต้องขังรู้สึกมีคุณค่า ทั้งยังหารายได้ด้วยตัวเอง มีทักษะติดตัวไปเมื่อออกจากเรือนจำไปแล้ว

เรือนจำจังหวัดจันทบุรี

เงินเก็บ และอิสรภาพที่อยู่ตรงหน้า

 

“ไม่เคยคิดจะหนีออกไปเลย เพราะว่าได้โอกาสมาถึงขนาดนี้แล้ว อีกนิดเดียวก็จะพ้นแล้ว จะหาเรื่องให้ตัวเองทำไม” ฟ้า (นามสมมติ) ผู้ต้องขังคดียาเสพติด อายุ 24 ปี พูดถึงอิสรภาพที่อยู่ตรงหน้า เมื่อเธอได้ออกมาอยู่กองนอก เป็นพนักงานขายกาแฟที่ร้านกำลังใจ

ตลอดการพูดคุยเธอตอบด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร และแววตามีชีวิตอย่างคนมีความหวัง เธอเข้ามาอยู่ในเรือนจำได้ 3 ปีแล้ว เหลือเวลาอีก 9 เดือน เธอก็จะได้กลับบ้าน และกำลังจะกลายเป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมในไม่ช้า ผู้ต้องขังที่จะออกมาอยู่กองนอกได้ ต้องอยู่ในเรือนจำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของโทษ ไม่ติดค่าปรับ และไม่ทำผิดวินัย

ทุกเช้า คนที่อยู่กองนอกจะตื่นแต่เช้าเพื่อออกมาทำงานหน้าเรือนจำ รับรายได้เป็น ‘ปันผล’ ครึ่งหนึ่งเข้าเรือนจำ อีกครึ่งหนึ่งแบ่งในหมู่ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกองงานอาชีพ ซึ่งผู้ต้องขังจะได้รับปันผลในรูปแบบเงินโอนเข้าบัญชี สามารถเป็นเงินส่งให้ครอบครัว หรือเก็บเป็นทุนรอนในการตั้งต้นชีวิตใหม่ได้

ในบางงาน เช่น ขายอาหารที่เรือนจันครัวไทย จะได้ปันผลสูงถึงคราวละ 3,000 บาท แต่ในบางงานที่ไม่ได้ใช้ฝีมือเฉพาะทางนักก็ได้เพียงครั้งละ 20 บาทเท่านั้น

เรือนจำจังหวัดจันทบุรี ป้ายบอกอัตรางานที่รับผู้ต้องขังทำงาน
ป้ายบอกอัตรางานที่รับผู้ต้องขังทำงาน

นอกจากเงินปันผลแล้ว ผู้ต้องขังจะมีบัญชีที่ใช้ในเรือนจำ จำกัดให้แต่ละคนมีได้ไม่เกินคนละ 9,000 บาท สามารถใช้ได้ไม่เกิน 300 บาทต่อคน/ต่อวัน ซื้อของโดยการสแกน โดยมากมักเป็นเงินที่ทางบ้านส่งมาให้

“ตอนนี้รู้สึกโชคดีกว่าคนข้างในที่เราได้ออกมา หนูตัดโลกข้างในแล้ว ตั้งใจทำตรงนี้ให้ดีเพื่อรอวันกลับบ้าน เราก็อยากให้เพื่อนๆ ที่อยู่ข้างในทำตัวดีๆ เพื่อให้ได้ออกมา เหมือนฝึกความอดทนเราไปอีกขั้นด้วย”

ฟ้าตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อเธอพ้นโทษแล้ว เธออยากจะออกไปเปิดรถเข็นขายกาแฟ เพราะที่บ้านอยู่ใกล้ชุมชนและโรงเรียน ยังพอหาช่องทางทำมาหากินได้ และอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือเธอจะไม่ไปยุ่งกับยาเสพติดอีก

“ครั้งเดียวพอแล้วค่ะ” เธอจบประโยคด้วยรอยยิ้ม

เรือนจำจังหวัดจันทบุรี

ฟ้าและเด็กสาวอีกหลายคนในเรือนจำแห่งนี้เคยผิดพลาด ส่วนมากเป็นคดียาเสพติด บ้างเสพ บ้างขาย หรือบ้างก็แค่มีเพื่อนเอายามาฝากไว้ ส่วนหนึ่งต้องเลิกเรียนกลางคัน บางคนพ่อแม่เสียชีวิตระหว่างที่พวกเขายังอยู่ข้างใน ออกไปแล้วก็ไม่แน่ว่าจะมีงานทำหรือได้กลับไปเรียนหนังสือ — ยังไม่นับว่าคนข้างนอกจะยอมรับกลับเข้าสังคมหรือเปล่าด้วย

ในความเป็นจริง เมื่อใครสักคนกลายเป็นผู้ต้องขัง ก็ดูเหมือนว่าเขาต้องมีตราของนักโทษติดตัวไปตลอดชีวิต แม้ว่าโทษตามกฎหมายจะจบลง แต่โทษทางสังคมไม่เคยจบตาม

จริงอยู่ ที่เคยมีเหตุการณ์นักโทษออกจากเรือนจำมากระทำผิดซ้ำ ก่ออาชญากรรมครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้หลายคนเชื่อว่า คนเลวไม่มีทางแก้ไขได้ และคนที่ทำผิด บางทีก็ไม่ควรได้รับโอกาส แต่ยังมีอีกหลายชีวิตที่มองว่าความหวังยังรออยู่นอกกำแพง เรือนจำไม่ใช่โลกมืดมิด ทั้งยังควรจะเป็นโลกที่เปิดโอกาสให้คนได้กลับไปใช้ชีวิต อย่างมีชีวิต

เรือนจำ ทางออก

ข้อมูลจากการศึกษาดูงานเรือนจำจังหวัดจันทบุรี

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save