fbpx
จันทบุรีโมเดล : ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน และเรือนจำ

จันทบุรีโมเดล : ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน และเรือนจำ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

“คนเหล่านี้อยู่กับท่านมาทั้งชีวิต เกิดมาอยู่ในสภาพแวดล้อมของท่าน แต่มาอยู่กับผมเพียงแค่ 2-5 ปี แล้วคาดหวังให้ผมคืนคนเหล่านี้กลับสู่สังคม ผมก็บอกเขานะว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการจะคืนคนเหล่านี้กลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่พี่น้องในจังหวัดนี้จะต้องเข้ามาร่วมกิจกรรม ร่วมสร้างโมเดลด้วยกัน”

ประโยคข้างต้นเป็นถ้อยคำที่ ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี สื่อสารกับสังคมอยู่เสมอ และด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้เกิดเรือนจำจันทบุรีโมเดล ที่สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ต้องขังกับคนในชุมชนได้ตั้งแต่ยังอยู่ในเรือนจำ

แม้จะมีกำแพงหนาทึบคอยกั้นโลกในเรือนจำไว้จากโลกภายนอก แต่ในพื้นที่ 50 ไร่ของเรือนจำจันทบุรี ผบ. ชาญ เปลี่ยน ‘เรือนจำ’ ให้กลายเป็น ‘เรือนจัน’ เปิดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังได้ออกมาฝึกอาชีพเตรียมตัวก่อนพ้นโทษ โดยการสร้าง ‘เรือนจันแลนด์’ ที่มีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายพืชผลเกษตรอินทรีย์ พิพิธภัณฑ์ คาร์แคร์ และร้านนวด เปิดให้คนในชุมชนได้เข้ามาใช้บริการ โดยรายได้จะแบ่งเป็นเงินปันผลให้ผู้ต้องขังด้วย

 

 

สิ่งที่น่าสนใจของจันทบุรีโมเดล คือการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งและกว้างขวางระหว่างเรือนจำ ภาครัฐ และเอกชน มีโรงงาน ร้านอาหาร และบริษัทหลายแห่ง ที่เปิดให้ผู้ต้องขังได้เข้าไปฝึกอาชีพตั้งแต่ยังไม่พ้นโทษ รวมถึงเปิดโอกาสรับเข้าทำงานหลังจากพ้นโทษแล้วอีกด้วย

ในงานเสวนา ชุมชนจันทบุรี เรือนจำ กับการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม เปิดให้ผู้แทนจาก 7 หน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขัง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังโมเดลนี้ ได้แก่ เรือนจำจันทบุรี หอการค้าจังหวัดจันทบุรี สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจันทบุรี สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดจันทบุรี โรงงานอุตสาหกรรมกระเบื้องดินเผาเด่นจันทร์ บริษัท เอมไทย อินเตอร์เทรด (2001) จำกัด และบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์

ประเด็นหลักในการเสวนาว่าด้วยกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของเรือนจำที่ดำเนินการมา จุดเด่นและความท้าทายที่เรือนจำเผชิญ การสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ของเรือนจำในกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ความหลากหลายของหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ความยั่งยืนของความร่วมมือ และความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานในอนาคต

 

 

ไม่ใช่ ‘ผู้ต้องขัง’ แต่คือ ‘ผู้ผิดพลาด’

แนวคิดเบื้องหลังการคืนคนดีสู่สังคม

 

ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงแนวคิดการคืนคนดีสู่สังคมไว้ว่าเป็นความคิดที่ท้าทาย และเป็นงานยากของผู้บริหารเรือนจำ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายและสำคัญคือ การเปลี่ยนมุมในการมอง ‘ผู้ต้องขัง’ ให้เป็น ‘ผู้ผิดพลาด’ ที่ควรจะได้รับโอกาสหลังจากรับโทษแล้ว

ผบ. ชาญ อธิบายการพัฒนาโมเดลเรือนจันแลนด์ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงไปทีละระดับ ตั้งแต่เรือนจันแลนด์ 1.0 คือการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โทรศัพท์มือถือและของต้องห้ามในเรือนจำ ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของเรือนจำในเบื้องต้น

ระดับต่อมา เรือนจันแลนด์ 2.0 คือ การจัดระเบียบและการฝึกวินัยผู้ต้องขังในเรือนจำ และเรือนจันแลนด์ 3.0 คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาผู้ต้องขัง ที่ต้องสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมของคนในสังคมให้ได้

ผบ. ชาญ ขยายความวิธีการพัฒนาสู่เรือนจันแลนด์ 3.0 ไว้ว่า เริ่มต้นจากการดึงข้อมูลของผู้ต้องขังมาดู พบว่ามีการกระทำผิดซ้ำหลังจากพ้นโทษกว่า 25% ดังนั้นเป้าหมายคือการทำอย่างไรให้เรือนจำไม่ใช่ดินแดนต้องห้าม และทำให้ผู้ต้องขังออกไปมีพื้นที่ในสังคม

“ใน 1 ปีประเทศเราใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้ต้องขังประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นค่าอาหารไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท และยังต้องมีบุคลากรที่ดูแลผู้ต้องขังอีกหลายส่วน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นองคาพยพที่ใหญ่มาก ตอนนี้เรามีผู้ต้องขังเกือบ 4 แสนคน เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วตรงข้ามกับเรา เขาต้องปิดเรือนจำทำเป็นที่ท่องเที่ยว เพราะไม่มีผู้ต้องขังแล้ว

“ดังนั้นความฝันของผมคือ ในอีกสัก 50 ปี 100 ปี จะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะปิดเรือนจำ เพราะไม่มีผู้ต้องขังแล้ว แต่ในปัจจุบัน แต่ละเรือนจำมีผู้ต้องขังมากจนศักยภาพไม่เพียงพอที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมเลยพยายามสร้างแบรนด์ ‘เรือนจันแลนด์’ ขึ้นมา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของเรือนจำและผู้ต้องขังให้ดีขึ้น”

 

ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี

 

เขายังกล่าวอีกว่า การสร้างการยอมรับ คือหัวใจในการเปิดเรือนจำสู่สังคม จำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้ต้องขัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา

“เราต้องทำต่อเนื่อง ยิงให้ตรงจุด ทำซ้ำให้เกิดความมั่นใจ ความเชื่อมั่น เราถึงจัดงานกาแฟสัญจรในเรือนจำ ซึ่งไม่มีใครกล้าเข้ามาจัดงานกาแฟในเรือนจำหรอก เพราะเขาก็ไม่มั่นใจ ผมก็คิดใหม่ ทำให้คนเห็นว่าเรือนจำไม่ใช่ที่อันตราย ดูว่าคนไม่กล้าเข้าเพราะอะไร แล้วทำใหม่ทั้งหมด”

ผลลัพธ์ของการคิดใหม่ คือพื้นที่หน้าเรือนจำจันทบุรีกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารและร้านกาแฟที่ผู้ต้องขังเป็นพนักงาน มีลูกค้าทั้งจากขาจรและคนในพื้นที่มาทานอยู่สม่ำเสมอ ที่สำคัญคือคุณภาพของรสชาติก็อยู่ในระดับที่คนอยากกลับมากินซ้ำ

 

 

ไม่ใช่แค่การเปิดพื้นที่ให้คนภายนอกได้สัมผัสผู้ต้องขังมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาความมั่นใจให้ผู้ต้องขังตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ เช่น การจัดประกวดแข่งร้องเพลง ‘Chan Star บุกแดนค้นหาจัน’ เริ่มต้นจากแข่งกันในห้อง หาผู้ชนะมาแข่งในระดับแดน จนมาถึงรอบชิงชนะเลิศที่เป็นงานใหญ่ช่วงปลายปี โดยได้การสนับสนุนเครื่องเสียงจากเด่นศักดิ์ เจ้าของร้านอาหารออบิทฝากจันทร์ ซึ่งเคยเป็นผู้ต้องขังในระยะเวลาสั้นๆ และกลายเป็น ‘พี่เด่น’ ของผู้ต้องขังทุกคน

รางวัลของผู้ชนะเลิศ Chan Star คือเงินจำนวน 3,000 บาท และยังมีโอกาสได้ไปทำงานที่ร้านออบิทฝากจันทร์หลังจากพ้นโทษแล้วอีกด้วย รวมถึงผู้เข้าร่วมแข่งก็ได้เงินไล่ระดับลงไป จนถึงตอนนี้พวกเขาฝึกซ้อมทำวงดนตรีจนมีซิงเกิ้ลแรกเป็นของตัวเองในชื่อ ‘ขอโอกาส’

“คนจันทบุรีต้องให้โอกาสและให้ความรักกับพวกเขา ถ้าไม่มอบความรักหรือโอกาส เขาก็จะกลับมาทำร้ายสังคมท่าน เพราะว่าท่านไปตีตราเขาว่าเขาเป็นคนไม่ดี เขาก็กลับไปติดคุก วันหนึ่งออกมาก็จะกลับมาทำร้ายสังคมยิ่งกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้สังคมเสื่อมโทรม ดังนั้นเราต้องช่วยเหลือกัน” ผบ. ชาญกล่าว

ไม่ใช่แค่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมเท่านั้น แต่การพัฒนาผู้ต้องขังตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ คือการสร้างบุคลากรที่พร้อมออกไปทำงานได้อีกจำนวนมาก

“หัวใจคือผมผลิตคน ถ้าจะเปิดร้านก็เอาคนเหล่านี้ไปเลย และถ้าผู้ต้องขังมีเงิน มีอาชีพ มีงานทำ มีที่อยู่ที่กิน สังคมก็จะปลอดภัย คุณจอดรถไว้ก็จะไม่หาย คนเหล่านี้ออกจากเรือนจำแล้วต้องไปลับ ไม่กลับมา”

 

พลังจากด้านนอก

ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน

 

เป็นเวลากว่า 12 ปี ที่ เด่นศักดิ์ ศรบัณฑิต เจ้าของร้านอาหารออบิทฝากจันทร์เข้าไปช่วยเหลือเรือนจำจันทบุรี ทั้งการซื้อเครื่องเสียงให้ ช่วยออกงบประมาณในหลายโครงการของเรือนจำ สาเหตุที่เขาเข้ามาทำงานช่วยเหลือเป็นระยะเวลานาน เพราะเด่นศักดิ์เองก็เคยเป็นผู้ต้องขังมาก่อนเป็นเวลา 17 วัน ในข้อหาการพนัน เขาเล่าให้ฟังว่า ประโยคแรกที่เขาพูดกับ ผบ.ชาญ คือ “ผู้ต้องขังยังไม่ตาย”

“พวกเขาแค่ผิดพลาด ทุกคนทำผิดหมด ไม่เคยมีใครไม่ทำความผิด แต่ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ไปสัมผัส อยู่กับเขา ไปนอนฟังเขาพูด ได้ยินเสียงหัวใจเขาเต้น ไปได้ยินลมหายใจของเขา พวกเขาไม่ได้เลวร้าย ผมอยู่ในเรือนจำ 17 วัน ผมได้อะไรออกมาเยอะแยะมากมาย ไปใช้ชีวิตใหม่ เปลี่ยนตัวเองใหม่” เด่นศักดิ์กล่าว

 

(คนกลาง) เด่นศักดิ์ ศรบัณฑิต เจ้าของร้านอาหารออบิทฝากจันทร์

 

ปัจจุบันเด่นศักดิ์เปิดร้านอาหาร และเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษเข้ามาทำงานด้วย ทั้งงานในครัว พนักงานเสิร์ฟ และดูแลสถานที่

“ก่อนผมออกจากเรือนจำ พวกเขาตะโกนบอกผมว่า ‘พี่เด่นอย่างทิ้งพวกผมนะ’ ผมสัญญาไว้แล้ว ผมเลยทิ้งไม่ได้ แล้วผมก็ต้องขอบคุณที่มีโครงการดีๆ แบบนี้จากเรือนจำที่ให้โอกาสผู้ผิดพลาด”

ไม่ใช่แค่ร้านออบิทฝากจันทร์เท่านั้น แต่โรงงานกระเบื้องเด่นจันทร์ ผู้ประกอบการในจันทบุรีก็เข้ามาทำงานร่วมกับเรือนจำกว่า 2 ปีแล้ว หลังจากได้คำถามจาก ผบ. ชาญว่า ยินดีจะรับผู้ต้องขังเข้าไปทำงานด้วยไหม ดร. พัชริศร์ หัตถวิจิตรกุล ผู้จัดการโรงงานกระเบื้องเด่นจันทร์ก็ตอบตกลงโดยไม่ลังเล

 

(คนกลาง) ดร. พัชริศร์ หัตถวิจิตรกุล ผู้จัดการโรงงานกระเบื้องเด่นจันทร์

 

“เรามีความพร้อม เพราะเราเป็นสถานประกอบการที่ยึดถือความสุข เชื่อว่าเมื่อผู้ต้องขังส่งมาแล้วจะไม่ทะเลาะกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีคนส่งมาโรงงานตามเวลา เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ควบคุมได้ มีหัวหน้าจากเรือนจำเข้าไปดูแล ในส่วนของโรงงานเองก็ไม่มีการแบ่งแยก ขอให้รักษาระเบียบทางเรือนจำให้ดีที่สุด”

นอกจากจะเปิดให้ผู้ต้องขังเข้ามาทดลองงานระหว่างต้องโทษแล้ว เมื่อพ้นโทษออกมา หากใครทำงานได้มาตรฐาน ทางโรงงานก็ยินดีจะรับเข้าทำงานต่อทันที

หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาที่เป็นผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้ทำงานในพื้นที่จันทบุรีคือ นพพล ชูกลิ่น กรรมการผู้จัดการบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ ที่ทำงานกับเรือนจำกลางสมุทรปราการมาก่อน โดยการรับผู้ต้องขังเข้ามาทำงานในลักษณะไปเช้า-เย็นกลับ เช่นเดียวกับโมเดลของโรงงานกระเบื้องเด่นจันทร์ ผู้ต้องขังได้รับค่าจ้าง ทั้งยังมีโอกาสที่จะทำงานได้ถึงระดับผู้จัดการหากผ่านการทดสอบมาตรฐานในระยะเวลา 2 ปีที่ทำงานร่วมกัน “ผมไม่เคยปิดกั้น” นพพลกล่าว

 

นพพล ชูกลิ่น กรรมการผู้จัดการบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์

 

วิธีการคัดเลือกผู้ต้องขังเข้ามาทำงานด้วย ต้องทำร่วมกันสองทาง โดยบริษัทจะส่งข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการไปให้เรือนจำก่อน เช่น ต้องการอายุเท่าไหร่ มีความสามารถด้านนี้ เช่น ช่างเชื่อม ทำเฟอร์นิเจอร์ แล้วเรือนจำจึงคัดคนมาให้เบื้องต้น ก่อนจะมาคัดเลือกโปรไฟล์ และมาดูกรอบเวลาในการปล่อยตัว ถ้าเหลือไม่เกิน 3 ปี จึงจะออกมาทำงานได้ และหนึ่งในวิธีการที่พัฒนาผู้ต้องขัง และสร้างการมีส่วนร่วมกับพนักงานคนอื่น คือให้เขียนความรู้ที่ได้เพิ่มขึ้นไว้ในสมุดโน้ตประจำตัว ต้องเซ็นชื่อระหว่างผู้ต้องขังกับหัวหน้างาน มีการพูดคุยเพื่อพัฒนาทักษะงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างผู้ต้องขังกับเพื่อนร่วมงาน

“ผมไม่ได้สร้างภาพตัวเองว่าเป็นผู้มีบุญกุศล แต่ผมนำไปสู่กระบวนการที่ว่ามีความคุ้มค่าในการปฏิบัติจริงหรือไม่ ขยายผลได้หรือไม่ วันนี้พิสูจน์เป็นตัวเลขได้ ผมต้องพูดเป็นตัวเลขเพราะผมเป็นนักธุรกิจ ตัวเลขที่เกิดมันทำได้จริง นั่นจึงหมายความว่าพอขยายผลได้ ผมก็ทำ”

เช่นเดียวกันกับที่ทางภาครัฐเข้ามาช่วยทั้งในเชิงนโยบาย และช่วยประสานงานเข้ากับหน่วยงานอื่นๆ เช่น หอการค้าจันทบุรี ก็เข้ามาช่วยเรื่องที่ผู้ประกอบการยังต้องการแรงงานอยู่มาก

สัญญา ปรัชญสุนทร รองประธานหอการค้าจันทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันจันทบุรีขาดแคลนแรงงานมาก ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติกว่า 30-40% ซึ่งการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังตั้งแต่อยู่ในเรือนจำจึงมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก

 

สัญญา ปรัชญสุนทร รองประธานหอการค้าจันทบุรี

 

“เราต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน เช่น เรือนจำหรือกระทรวงแรงงานเผยแพร่โครงการ แจ้งข้อมูลว่ามีผู้ที่พร้อมจะคืนสู่สังคมปริมาณเท่าใด มีความต้องการอย่างไร แล้วให้ผู้ต้องขังเข้ามามีส่วนร่วม ดูว่าตอบสนองเขาหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าผู้ต้องขังออกไปแล้วเขาไม่มีเป้าหมาย บางครั้งเดินหางานจนเหนื่อย ก็ไม่ได้ ปัญหาคือสังคมยอมรับไหม เราต้องประชาสัมพันธ์ให้เขาเห็นว่า มีการสร้างคนในเรือนจำอย่างไร ทำให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพขนาดไหน ดีขึ้นอย่างไร ให้ผู้ประกอบการเข้าใจและยอมรับ โจทย์คือเราจะสร้างความเข้าใจของผู้ประกอบการอย่างไร”

สอดคล้องกับหน่วยงานท่องเที่ยวและกีฬาจันทบุรี ที่พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนกับเรือนจำ โดยการจัดโครงการแรลลี่ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวตามเส้นทาง โดยมีเรือนจำเป็นจุดพักเพื่อให้ชมบรรยากาศ ทานอาหาร กาแฟ ขนม และเปิดให้ซื้อผลิตภัณฑ์ของเรือนจำ ดวงเดือน สดแสงจันทร์ ตัวแทนจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาฯ กล่าวว่าเป็นจุดที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันประทับใจมาก

 

ดวงเดือน สดแสงจันทร์ ตัวแทนจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจันทบุรี

 

ไม่ใช่แค่จัดให้เรือนจำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีการส่งเสริมอาชีพด้านการท่องเที่ยวและบริการ เช่น ส่งเสริมผู้ต้องขังให้ทำงานในร้านอาหารและโรงแรม ยิ่งโดยเฉพาะในเมืองจันทบุรีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเติบโต

“ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาบุคลากรด้านตำแหน่งงานนักท่องเที่ยว แล้วเขาก็จะมีปัญหากันว่าถ้าเปิดอาเซียนแล้ว คนจากประเทศเพื่อนบ้านจะแห่กันเข้ามาประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่มีการเปิดงานหลายตำแหน่ง เช่น ผู้บริหารงานครัว พนักงานผสมเครื่องดื่ม ผู้แนะนำการท่องเที่ยว ฯลฯ เราก็ต้องมาดูว่าผู้ต้องขังทั้งหลาย หากพ้นออกมาแล้ว เขาก็สามารถไปสมัครงานตามโรงแรมต่างๆ ในจันทบุรี หรือจังหวัดอื่นๆ ได้ เพราะยังขาดอยู่เยอะแยะเลย” ดวงเดือน ตัวแทนจากท่องเที่ยวและกีฬาฯ กล่าว

ตบท้ายที่ ปรมะ จำรัสโรมรัน หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดจันทบุรี ประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ของเรือนจำจันทบุรี ทั้งในและต่างประเทศ

 

(คนกลาง) ปรมะ จำรัสโรมรัน หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดจันทบุรี

 

“ผมเคยไปสังกัดที่เยอรมันมา ในฐานะกงสุล ดูแลคนไทยในเยอรมัน ใครมีคดีความ ผมก็เข้าไปดูแล หนึ่งอย่างที่เห็นคือเราล้ำหน้าประเทศที่พัฒนาแล้ว เรือนจำเยอรมันไม่มีการฝึกอาชีพให้ ไม่มีการสร้างรายได้ให้คนข้างในเลย ผมเอาเรื่องนี้ไปแชร์ให้สถานทูตเยอรมัน เขาสนใจมากๆ นี่คือสิ่งที่เรามี แล้วเราก็ทำได้ดี”

ภาพความร่วมมือทั้งหมดนี้ นำมาสู่ผลลัพธ์ที่ว่าตัวเลขการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังน้อยลง คนในชุมชนจันทบุรีก็ยินดีจะเข้าไปทานอาหารในบริเวณเรือนจำ และว่าจ้างผู้พ้นโทษให้ทำงานในสถานประกอบการของตนเองมากขึ้น ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่าการยอมรับและเปิดใจของคนในสังคมไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save