fbpx
How to post โพสต์อย่างไร คุณลูกถึงแฮปปี้ กับ แม่จั่น-เพจเรไรรายวัน

How to post โพสต์อย่างไร คุณลูกถึงแฮปปี้ กับ แม่จั่น-เพจเรไรรายวัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาดิสรัปต์ทุกมิติชีวิตของเรา ไม่เว้นแม้แต่มิติครอบครัวที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน และจากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด มีอยู่หนึ่งประเด็นที่พ่อแม่ยุคใหม่กำลังเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและไม่รู้จะไปต่ออย่างไรดี นั่นคือเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย 

เมื่อใจหนึ่งเราก็อยากจะโพสต์เรื่องราวของลูก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตเขาในแต่ละวัน หรือรูปถ่ายต่างๆ เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ แต่อีกใจหนึ่งก็อดที่จะกังวลเสียไม่ได้ว่า หากเราโพสต์เรื่องราวของเขามากเกินไปจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือเปล่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากการหาว่าอะไรคือสมดุลระหว่าง ‘ความเป็นส่วนตัวของลูก’ กับ ‘การแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงดูของพ่อแม่’ จะกลายมาเป็นคำถามยอดฮิตของพ่อแม่ในศตวรรษที่ 21

ด้วยเหตุนี้ 101 เลยขอชวน แม่จั่น-ชนิดา สุวีรานนท์ จากเพจเรไรรายวัน เพจที่เล่าเรื่องราวชีวิตของพี่น้องสุวีรานนท์ อย่างพี่สาวคนโต ‘พี่ต้นหลิว’ และ ‘น้องสองแฝด’ – ‘สายลม’ และ ‘ก้อนเมฆ’ ผ่านการบันทึกไดอารี มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ โดยเริ่มตั้งแต่ฮาวทูทำความเข้าใจกับลูกๆ ก่อนที่จะโพสต์เรื่องราวของเขาลงโซเชียลมีเดีย ไปจนวิธีการในการรับมือกับฟีดแบ็กต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์


ก่อนจะพูดคุยเรื่องปัจจุบัน อยากชวนคุณแม่ย้อนอดีตแบบไวๆ ถึงจุดเริ่มต้นของเพจเรไรรายวัน เพจบันทึกการเขียนที่แสนสดใสและจริงใจเกิดขึ้นได้อย่างไร 

จุดเริ่มต้นมาจากการเขียนสมุดบันทึกวัยเยาว์ของต้นหลิว แม่ได้อ่านสิ่งที่เขาเขียนแล้วรู้สึกสนุกดี ก็เลยโพสต์บันทึกลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อให้ญาติและคนรู้จักได้อ่านกัน สักพักก็มีเพื่อนมาแนะนำแม่ให้เปิดเพจ เขาบอกว่าคนจะได้ไม่ต้องอ่านเรื่องส่วนตัวของเรา เพราะอาจจะมีคนที่อยากอ่านแค่บันทึก แม่ก็เลยเปิดเป็นเพจเรไรรายวันขึ้นมา หลังจากเปิดเพจคนก็เริ่มเข้ามาแชร์โพสต์เยอะขึ้น ตอนนั้นแม่ไม่ได้คิดว่ามันจะดังหรืออะไร คิดแค่ว่าอยากย้ายบ้านให้มาอยู่เป็นสัดเป็นส่วนแค่นั้นเอง
 

พอเพจเริ่มเป็นที่รู้จัก ตอนนั้นคุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้าง มีความกังวลบ้างไหม  

ตอนแรกตกใจนะ กลัวเหมือนกัน เพราะมีคนอินบ็อกซ์เข้ามาเยอะ เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร จะพูดเยอะก็กลัวคนหาว่าสอน จะไม่ตอบก็กลัวจะโดนคิดว่าหวงวิชา ก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าจะต้องตอบกลับความคิดเห็นที่เข้ามาอย่างไร แต่ของแม่จะเน้นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเพจมาจากเรื่องจริงทั้งหมด 

ผ่านไปได้สักสี่ห้าเดือน คนเริ่มติดตามเพจเยอะขึ้น เราก็เลยมาคุยกันจริงจังทั้งครอบครัว ว่าเราจะทำสิ่งนี้นะ เราจะแชร์เรื่องการเขียนของลูกๆ เพราะแม่มองว่าสิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์ให้กับใครหลายคน แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ทำอาจกระทบกับ privacy (ความเป็นส่วนตัว) ของทุกคน อาจจะต้องพาดพิงถึงคุณยายคุณตาบ้าง หรือต้องเล่าชีวิตประจำวันของเราบ้าง ทุกคนโอเคหรือเปล่า เราก็คุยกัน ปรากฏว่าทุกคนก็โอเค เราก็เลยไปต่อ
 

สำหรับคุณแม่ โซเชียลมีเดีย’ เป็นพื้นที่แบบไหน 

ต้องเข้าใจก่อนว่า การโพสต์ของแม่เป็นการโพสต์อย่างมีเป้าหมาย แม่ทำเรื่องการเขียนการคิดกับลูก เรามองว่าสิ่งนี้ช่วยพัฒนาทักษะและอาจจะต่อยอดเส้นทางทางการศึกษาในอนาคตให้กับเขาได้ แต่เราจะทำยังไงให้สิ่งที่เราสอนเขาปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เราเลยคิดว่าควรจะเก็บผลงานของเขาและจัดแสดงไว้รวมกัน

สมัยก่อนพื้นที่ที่เปิดให้เด็กๆ ได้แสดงผลงานของเขาได้ ก็มีแค่พื้นที่บอร์ดของโรงเรียน แต่โซเชียลมีเดียเป็นเหมือนบอร์ดขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ที่เปิดให้เราแสดงผลงานของลูกได้อย่างเต็มที่ และถามว่าพ่อแม่แสดงผลงานของลูกเพื่ออะไร ก็เพื่อการยอมรับในสังคม จะเห็นว่าการสมัครเข้าเรียนตามโรงเรียนสมัยนี้มีช่องทางการเข้าเรียนด้วยการเสนอ portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) หรือ ความสามารถพิเศษของเด็กๆ พื้นที่นี้จึงเป็นเหมือนบอร์ดส่วนตัวในการสะสมและแสดงผลงานของลูกๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่จำเป็นคือเราต้องคุยกับลูกก่อน ว่าเรากำลังทำอะไร เขาจะต้องรับรู้ในสิ่งที่เราทำ


ยกตัวอย่างได้ไหมว่าคุณแม่พูดคุยและทำความเข้าใจกับลูกๆ อย่างไร  

สิ่งที่แม่ทำอย่างแรกคือการขออนุญาตเขาก่อน ว่าต้นหลิวเขียนบันทึกสนุกมากเลย แม่ขอโพสต์ลงในเพจได้ไหมหลังจากนั้นเราก็อธิบายและทำความเข้าใจให้เขาฟังว่าเราทำเพจนี้ขึ้นมาทำไมและเพจสามารถเป็นอะไรต่อไปได้บ้าง เช่น แม่จะเก็บไว้เป็นผลงานของลูก และผลงานนี้อาจจะต่อยอดการเขียนของลูกจนสามารถรวมเล่มเป็นหนังสือ โดยที่มีฐานผู้อ่านก่อนพิมพ์นะ พอเราอธิบาย เขาก็เริ่มเข้าใจและมีเป้าหมายว่าเราจะทำหนังสือด้วยกันเพื่อเก็บไว้เป็นผลงานของต้นหลิวในอนาคต


ฟังดูแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร คุณแม่ถามถึงความสมัครใจของลูกๆ ก่อนตลอด สนใจว่าอะไรคือความคิดเบื้องหลังที่ทำให้คุณแม่ทำเช่นนี้  

แม่คิดแค่ว่า เมื่อเขาโตขึ้น แม่ไม่อยากให้เขากลับมาเสียใจว่าเขาทำสิ่งนี้ทำไม 

แม่เชื่อว่าคนในแต่ละวัยต่างกัน สิ่งที่เราคิดว่าดี ลูกอาจจะไม่เห็นว่าดีก็ได้ แต่เราก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าที่ลูกไม่เห็นว่าดีเพราะยังด้อยประสบการณ์หรือเปล่า ก็ต้องชวนเขาคุยว่าทำไมถึงคิดแบบนั้นและทำไมแม่ถึงคิดอีกแบบ หรือบางครั้งเราถามไป ด้วยความที่เขายังเป็นเด็กเขาอาจจะไม่สามารถตอบเราได้ทันที เราก็ต้องคอยสังเกตว่าสิ่งไหนที่เขาอยากทำหรือไม่อยากทำ จะเห็นว่าบางกิจกรรมในเพจทั้ง 3 คนทำด้วยกัน หรือบางอย่างพี่หลิวทำคนเดียว เพราะบางอารมณ์เขาก็ไม่อยากทำแบบนั้นด้วยกันตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่บังคับเขาและให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำ

แม่มองว่าการถามความเห็นของเขาเป็นการฝึกให้ลูกได้หัดตัดสินใจและสอนให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะเลือก เขามีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเอาหรือไม่เอาอะไร และต่อให้เขาตัดสินใจไปแล้วว่าเขาจะทำ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไม่อยากทำ เขาก็บอกแม่ได้ตลอด เพราะฉะนั้นลูกก็จะรับรู้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่โซ่ตรวนที่มาผูกรั้งเขาไว้ เขามีทางเลือกทางออกอยู่เสมอ
 

ต้องยอมรับว่าตอนนี้น้องๆ กลายเป็นบุคคลสาธารณะที่มีคนรู้จักมากมาย สำหรับเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูก คุณแม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร  

สำหรับเคสแม่มันเลยเพจธรรมดาไปแล้ว เราไม่ได้อยู่แค่ในโลกโซเชียลมีเดียอย่างเดียว เราอยู่ในโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นมันเลยผ่านจุดที่จะกลัวว่าจะมีคนเห็นหน้าลูกและเข้ามาทำร้ายแล้ว แต่แม่เองก็เคยกลัว ซึ่งท้ายที่สุดเราก็ต้องหาวิธีในการรับมือกับเรื่องนี้ 

อย่างเรื่องความปลอดภัย แม่เป็นคนเลี้ยงลูกเองและไม่เคยปล่อยลูกไปกับคนที่ไม่ไว้ใจ แม้กระทั่งโรงเรียน แม่ก็เลือกโรงเรียนที่มีความปลอดภัยสูง เพราะแม่มองว่ายิ่งเราเป็นคนสาธารณะมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องสร้างความปลอดภัยในชีวิตจริงให้กับลูก ไม่ใช่แค่โพสต์แต่ไม่ได้ดูแลลูก อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเรากลัวเรื่องอะไร เราก็ต้องเพิ่มเรื่องนั้นไปอีกสิบเท่า หรือเนื้อหาที่จะโพสต์ นอกเหนือจากบันทึกที่แม่ปล่อยให้เขามีอิสระในการเขียน ในส่วนเนื้อหาอื่น แม่จะมีการตรวจดูเนื้อหาก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเอาลูกเราไปล้อเลียนหรือบูลลี่ได้
 


แต่แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียมาพร้อมกับความคิดเห็นที่หลากหลาย มีทั้งที่ถูกและไม่ถูกใจ คุณแม่ได้พูดคุยกับลูกๆ เรื่องคอมเมนต์ที่เข้ามาบ้างไหม  

น้องๆ เขารู้นะเวลามีความเห็นลบ แม่ก็เล่าให้เขาฟัง เพราะแม่มองว่า ถึงจะเป็นเด็กแต่เขาควรต้องเรียนรู้ว่าคำชมมาพร้อมกับคำติ มันคือความจริงโลกของใบนี้ แม่มักจะสอนเขาว่าทุกคนมีความเห็นเป็นของตัวเอง ความเห็นของเขาเป็นเรื่องของเขา เราไปทำอะไรกับความเห็นคนอื่นไม่ได้ เพียงแต่ถ้าเราคิดว่าเขาคิดถูก เราจะทำอย่างไรต่อ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเรา ฉะนั้นถ้าสิ่งที่เราทำเป็นความจริง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปกลัวอะไร
 

หลายครั้งที่การมีชื่อเสียงอาจส่งผลกระทบต่อตัวตน คุณแม่มีวิธีการบาลานซ์สองเรื่องนี้อย่างไร

แม่ไม่เคยสอนให้เขาต้องมาทำอะไรที่ไม่ใช่เขา ลูกเป็นตัวของลูกเลย เช่น เวลาไปเดินตลาด แล้วต้นหลิวอยากใส่รองเท้าแตะ แม่ก็ให้เขาใส่ และถ้าเจอแฟนคลับก็ทักทายตามปกติ หรือทุกอย่างที่ปรากฏในคลิป ก็เป็นเรื่องราวจริงทั้งหมด เราไม่มีสคริปต์ ไม่มีการบอกโจทย์ สิ่งที่เห็นคือธรรมชาติของน้อง เพราะฉะนั้นเวลาเขาพูดอะไรจึงดู lively และเป็นตัวตนเขาจริงๆ พอเราทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องเสแสร้ง เขาก็รู้สึกสบายใจและแฮปปี้ที่จะทำ  

ส่วนเรื่องความมีชื่อเสียง แม่มักจะบอกกับเขาว่าสิ่งที่ต้นหลิวทำไม่ใช่เรื่องพิเศษ เด็กคนอื่นก็ทำได้ เพียงแต่ว่าต้นหลิวได้รับโอกาสในการมาทำตรงนี้ และการที่ลูกมีชื่อเสียงเกิดจากหลายๆ อย่างผสมกัน ทั้งจังหวะเวลา ความสามารถของต้นหลิวเอง การซัพพอร์ตจากครอบครัว ต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างกว่าลูกจะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้อย่างทุกวันนี้ 

เราอธิบายให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เขาได้รับ เขารู้ว่าทั้งหมดที่เขาได้รับมาเกิดจากการโพสต์บันทึก ต้นหลิวเลยเข้าใจว่าสิ่งที่เขาต้องให้เพื่อแลกกับสิ่งนี้คืออะไร เช่น เขาอาจจะต้องเสียสละเวลาที่อยากนั่งดูยูทูปทั้งวัน หรือลดเวลาการแชทกับเพื่อนลง เพื่อแบ่งเวลามาทำสิ่งนี้ แม่บอกเขาเสมอว่าไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ แม่มองว่านี่เป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ว่าถ้าเขาอยากใช้ชีวิตแบบนี้ เขาต้องสละบางอย่าง แต่ว่าเราจะสละแค่ไหนเพื่อไม่ให้เสียความเป็นตัวเรา เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องมาตกลงกัน
 


ในช่วงต้นคุณแม่เล่าให้ฟังว่าเพจเรไรรายวันเป็นเหมือนบอร์ดสะสมผลงาน ถึงวันนี้บอร์ดสะสมผลงานนี้ได้สร้างโอกาสให้กับน้องๆ อย่างไรบ้าง 

อย่างแรก คือโอกาสทางด้านการศึกษา จากเดิมที่ต้นหลิวเขียนบันทึก แล้วมีคนมาแปลบันทึกให้เขา มาวันนี้ต้นหลิวอยากเขียนบันทึกเป็นภาษาอื่นด้วยตัวเองบ้าง ตอนนี้เขาก็กำลังเรียนภาษาจีนและเยอรมัน แม่มองว่านี่ก็เป็นโอกาสสำหรับเขาในการพัฒนางานเขียนไปอีกขั้นหนึ่ง 

อย่างที่สอง คือโอกาสในการสัมผัสโลกที่กว้างขึ้น ต้นหลิวเรียกได้ว่าเที่ยวเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้ว (หัวเราะ) เพราะว่าเขาได้รับการติดต่อจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นบล็อกเกอร์เด็ก ต้นหลิวก็ได้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ทั่วไทย และเขียนเป็น ‘บันทึกเที่ยวไทยเก๋ไก๋สไตล์เด็ก’ ออกมา ในระหว่างที่ทำสิ่งนี้ เขาก็ได้ฝึกทักษะต่างๆ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายคลิป การพูด ซึ่งแม่มองว่าทักษะพวกนี้จะติดตัวเข้าไป ต่อให้ในอนาคตเขาจะไปทำอาชีพอะไร แต่ทักษะเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่อยู่กับเขาไปตลอด เขาก็สามารถทำสิ่งนี้ไปได้เรื่อยๆ

อย่างสุดท้าย ก็เป็นโอกาสให้ต้นหลิวได้เจอกับแรงบันดาลใจ ต้นหลิวมีโอกาสได้เป็นตัวแทนเด็กไทยไปสัมภาษณ์ Dav Pilkey ผู้เขียนหนังสือเรื่องกัปตันกางเกงใน ที่ถือได้ว่าเป็นนักเขียนระดับโลก ที่เซี่ยงไฮ้ โดยสำนักพิมพ์ Scholastic เป็นคนชวนต้นหลิวไป เพราะเขาเห็นว่าต้นหลิวเป็นนักอ่านนักเขียนตัวยง การพูดคุยครั้งนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ต้นหลิวมาก


ในฐานะที่คุณแม่มีประสบการณ์การทำเพจคอนเทนต์ครอบครัวมานานกว่า 6 ปี คุณแม่มองว่าอะไรคือสิ่งที่พ่อแม่ยุคนี้ควรคำนึงถึงเพื่ออยู่กับโลกโซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์

พ่อแม่สมัยนี้จำเป็นต้องเรียนรู้โซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง เราต้องเห็นคุณ เห็นโทษ ต้องรู้ว่าจะใช้มันอย่างไร อย่างการทำเพจเกี่ยวกับลูก แม่คิดเสมอว่าลูกคือตัวเรา เพราะเมื่อเป็นเรื่องของตัวเราแล้วเราจะระมัดระวังมาก อะไรที่เราคิดว่าทำแล้วไม่ดีกับตัวเอง เราก็จะไม่ทำ ยิ่งนี่เป็นลูกของเรา แม่ว่าเรายิ่งต้องเอาใจเราใส่เข้าไปตรงนั้นอีก 100 เท่า ทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ

อย่างต่อไปคือ อย่าฝืนธรรมชาติของลูก ไม่ว่าเราจะทำอะไรต้องมีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับเขา ถ้าเขายังเด็กมาก เราก็ต้องอธิบายในบริบทที่เขาจะเข้าใจได้ เราควรพูดความจริงกับลูกทั้งข้อดีข้อเสีย ว่าเขาทำแล้วจะได้อะไร หรืออาจจะต้องเสียอะไรไปบ้าง แต่เราไม่ควรหลอกเขา 

และแม่มองว่าเด็กรุ่นใหม่เขาระมัดระวังในเรื่องนี้มากกว่าคนรุ่นเราอีกนะ มีวันหนึ่งต้นหลิวสอนคุณยายเล่นเฟซบุ๊ก เขาบอกกับคุณยายว่า “คุณยายอย่าไปเผลอใส่รูปอะไรลงไปนะ ต่อให้คุณยายจะลบไปแล้ว บางคนเขาไวกว่าคุณยาย เขาอาจจะแคปเจอร์รูปไว้แล้วก็ได้” อย่างเรื่องนี้แม่ก็ไม่ได้สอนเขาแต่เขาเรียนรู้มาจากที่โรงเรียน เด็กรุ่นนี้ได้รับการปลูกฝังทักษะ DQ (Digital Intelligence Quotient – ความฉลาดทางดิจิทัล) ตั้งแต่ในห้องเรียน มีการเรียนเรื่องนี้เป็นหลักสูตรเลย

ฉะนั้นแม่ว่ามันไม่ใช่การมาห้ามเด็ก มาห้ามพ่อแม่ไม่ให้โพสต์แล้ว แต่ทำยังไงที่จะสอนให้ทุกคนอยู่ร่วมกับสิ่งนี้ได้อย่างเข้าใจต่างหากคือเรื่องสำคัญ




ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save