fbpx
Change My View : เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยน 'ความเชื่อ' ใครสักคนบนอินเทอร์เน็ต

Change My View : เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยน ‘ความเชื่อ’ ใครสักคนบนอินเทอร์เน็ต

จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

กลุ่มคนที่เชื่อว่าโลกแบน กลุ่มคนที่ปฏิเสธการใช้วัคซีนเพราะเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการป่วยเป็นโรค หรือกระทั่งกลุ่มคนที่ไม่เชื่อว่าวิกฤตสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ปรากฏขึ้นในวันที่ข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงต่างๆ อยู่ห่างจากเราแค่การพิมพ์ค้นหาใน Google แค่ไม่กี่ครั้ง

นักบุกเบิกอินเทอร์เน็ตยุคแรกเริ่มมองว่าการเปิดเสรีทางข้อมูลและความรู้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก สภาวะที่ข้อมูลและความรู้เผยแพร่อย่างไร้พรมแดนภายใต้อินเทอร์เน็ต จะปลดปล่อยผู้ใช้จากการครอบงำของโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ของศาสนา ของผู้นำลัทธิต่างๆ สร้างสรรค์โลกที่มีความเข้าใจกันมากขึ้น ลดความเคียดแค้น ลดความเกลียดชังที่พาให้เกิดการก่อการร้าย และทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เพียงแค่สร้างแหล่งข้อมูลความรู้และทำลายกำแพงที่ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น

ในบางมุม โลกก็เปลี่ยนไปตามที่นักอุดมคติเหล่านั้นมุ่งหวัง แต่ประวัติศาสตร์ก็สอนว่า ไม่มีเครื่องมืออะไรยิ่งใหญ่เกินกว่าความสามารถของมนุษย์ในการโน้มน้าวความคิดความเชื่อของมนุษย์ด้วยกันเอง

 

ทำไมเราถึงเปลี่ยนความคิดความเชื่อได้ยาก

 

หลายคนคงมีประสบการณ์ตรงว่าการโยนข้อเท็จจริงเข้าสู้ แทบจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือโน้มน้าวจิตใจคนที่เห็นตรงข้ามได้เลย นอกจากนี้ การศึกษากลับพบว่า บางครั้งการปะทะกับความเชื่อที่ผิดโดยตรง ยิ่งทำให้ฝ่ายที่มีความเชื่อดังกล่าวปักใจเชื่อในสิ่งที่ผิดมากขึ้นไปอีก

ในโลกอุดมคติ เราอาจเชื่อว่าเนื่องจากมนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผล มนุษย์จะตัดสินใจโดยใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ต่างจากในวงการวิทยาศาสตร์ ที่เมื่อมีหลักฐานอะไรบางอย่างมาหักล้างความเชื่อเก่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็พร้อมจะเปลี่ยนความคิดได้ทันที ความเชื่อในความมีเหตุผลนี้เป็นรากฐานที่เข้มแข็งของการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยเศรษฐศาสตร์และทฤษฎีเกม

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าจริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้ใช้ชีวิตและตัดสินใจด้วยเหตุผลตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันเศรษฐศาสตร์สายพฤติกรรมที่ปฏิเสธความเชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลมีบทบาทมากขึ้นในสังคม

ถ้าเราไม่เชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผลแล้ว จะมีอะไรให้เราใช้ในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และที่มาที่ไปของพฤติกรรมดังกล่าวได้บ้าง  

แนวทางหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในการหาคำอธิบายว่าทำไมมนุษย์จึงมีพฤติกรรมบางอย่าง เช่น มีรูปแบบในการคิดเป็นแบบนี้ มีอคติในรูปแบบนี้ หรือว่ามีรูปแบบในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในบางลักษณะ ก็คือการวางหลักคิดอยู่บนทฤษฎีวิวัฒนาการ และการศึกษาผ่านทางประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ในฐานะที่เป็นสปีชีส์หนึ่ง หลักคิดลักษณะนี้เป็นแนวทางที่นักคิดเช่น Yuval Noah Harari ใช้ในหนังสือเซเปียนส์ (Sapiens) หรือ Steven Pinker ใช้ในการอธิบายวิวัฒนาการการทำงานของสมองในหนังสือ How the Mind Works เป็นต้น

ในการตัดสินใจต่างๆ มนุษย์เต็มไปด้วยอคติหรือความลำเอียง (bias) หนึ่งในความลำเอียงที่เป็นที่ยอมรับก็คือความลำเอียงเพื่อตรวจสอบ (confirmation bias) มนุษย์เรามีความเชื่อหลายอย่างที่ถือว่าเป็นความเชื่อหลัก ซึ่งมักเป็นความเชื่อที่ปักใจเชื่อมาเป็นเวลานาน เรามีความเอนเอียงที่จะเชื่อถือหลักฐานหรือการให้เหตุผลที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว ความเอนเอียงนี้เองทำให้เมื่อเราพบกับหลักฐานหรือข้อมูลสองชุดที่ขัดแย้งกัน เราจะตั้งข้อสงสัยอย่างหนักหน่วงกับหลักฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเราเอง แต่แทบจะไม่ตรวจสอบอะไรเลยเมื่อเป็นข้อมูลหลักฐานที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของเรา

ความลำเอียงนี้ไม่ได้มีผลเฉพาะกับความเชื่อหลักๆ ที่เราใช้ในการดำรงชีวิตเท่านั้น มีการทดลองแบ่งคนเป็นสองกลุ่มให้ทำแบบฝึกหัดบางอย่าง ผู้ทำการทดลองแจ้งกับคนกลุ่มแรกว่าทำแบบฝึกหัดได้ผลลัพธ์ดีมากๆ ขณะเดียวกันก็แจ้งกับกลุ่มที่สองว่าผลลัพธ์แย่มากๆ (ทั้งที่จริงแล้วทั้งสองกลุ่มทำได้พอๆ กัน) เมื่อแจ้งผลเรียบร้อยแล้ว ผู้ทำการทดลองก็ได้เปิดเผยว่าผลที่แจ้งนั้นไม่จริง (การเปิดเผยนี้เป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมที่เพิ่งได้รับมาเกี่ยวกับผลการทำแบบทดสอบ)  

อย่างไรก็ตาม เมื่อให้ผู้เข้าทดลองทั้งสองกลุ่มลองประมาณว่าตนเองทำแบบฝึกหัดได้มากน้อยเท่าใดเทียบกับค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป ผู้เข้าทดลองกลุ่มแรกกลับให้คะแนนตนเองสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป และกลุ่มที่สองให้คะแนนตนเองต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป แม้ว่าจะทราบแล้วว่าผลลัพธ์ที่แจ้งในตอนแรกเป็นการสมมติขึ้นเท่านั้น

อคติเหล่านี้อาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่ใครสักคนมีได้ยากยิ่งนัก แต่การมีอยู่ของอคตินี้ในมนุษย์ ถ้าไม่ได้ขัดแย้งกับทฤษฎีวิวัฒนาการ นั่นคือถ้าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ดี มนุษย์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวในยีนส์ น่าจะพ่ายแพ้ต่อการคัดเลือกโดยธรรมชาติและสูญพันธุ์ไปในที่สุด แต่ถ้ามนุษย์เรามีลักษณะดังที่ว่า ก็อาจเป็นไปได้ว่า อคติเช่นนี้ช่วยให้มนุษย์ที่มีอคติดังกล่าวมีความได้เปรียบพิเศษบางอย่าง ทำให้เป็นลักษณะที่ส่งผลถึงเรามาในทุกวันนี้

ตามความเห็นของหลายๆ ท่าน การที่มนุษย์พัฒนาอารยธรรมมาได้จนถึงทุกวันนี้ (ในระดับสปีชีส์) เพราะว่ามนุษย์สามารถร่วมมือทำงานที่ใหญ่มหาศาลที่ต้องการกำลังคน กำลังสมอง และทรัพยากรขนาดจำนวนมหาศาลได้ (นึกถึงการสร้างปีระมิด หรือการสร้างอาณาจักรโบราณต่างๆ) เครื่องมือทางความคิดหลักๆ ของการจัดการกลุ่มคนขนาดใหญ่ ก็คือการสร้างเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นนิทาน ตำนาน หรือกระทั่งเทพนิยาย เพื่อทำให้คนเชื่อและทำตามความเห็นของผู้นำ ลักษณะของการชักจูงมวลชนดังกล่าวเป็นลักษณะที่เรายังพบเห็นได้ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะทางหน้าจอโทรทัศน์ ทางอินเทอร์เน็ต หรือที่การชุมนุมทางการเมืองต่างๆ

ถ้าการเชื่อฟังเรื่องเล่า การเชื่อใจคนอื่นๆ ในกลุ่ม โดยไม่สงสัยจนเกินไป เป็นสิ่งที่จำเป็น และกลุ่มคนดังกล่าวสามารถขยายสังคมเล็กๆ ให้กลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ ขยายเป็นเมืองได้ กลุ่มคนที่มีลักษณะเช่นนี้ก็น่าจะทยอยปรากฏแทนที่มนุษย์กลุ่มอื่นๆ และลักษณะพิเศษนี้ก็กลายเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์นั่นเอง

ภายใต้การมองเช่นนี้ ความลำเอียงเพื่อยืนยัน ก็เป็นหนึ่งในลักษณะที่พึงประสงค์ ในการสร้างสังคมมนุษย์ขนาดใหญ่ ด้วยกรอบของการวิวัฒนาการของสปีชีส์ เราจะพบว่ามนุษย์ไม่ได้พัฒนาศักยภาพการคิดด้วยการคิดแบบตัวคนเดียว แต่เราพัฒนาการคิดผ่านทางกิจกรรมกลุ่ม เช่นเดียวกับที่ Steven Sloman และ Philip Fernbach กล่าวไว้ในหนังสือของพวกเขาว่า “เราไม่เคยคิดแบบตัวคนเดียว”

ถ้าเรามองต่อไปเกี่ยวกับลักษณะการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบัน เราจะพบว่าเรามีพฤติกรรมอื่นๆ อีกที่เชื่อมโยงกับโอกาสในเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่มก้อนมนุษย์ที่ศรัทธาในเรื่องเล่า   

Sloman และ Fernbach ได้ทำการทดลองสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบต่างๆ ที่เราพบในชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใด ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างมีความมั่นใจว่าเราเข้าใจสิ่งต่างๆ มากกว่าที่เราเข้าใจจริงๆ พฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับพัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมมนุษย์   

ถ้าเราไม่กล้าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะเราคิดว่าเราไม่เข้าใจมัน การปฏิวัติข้อมูลข่าวสารและอินเทอร์เน็ตที่เรามีในทุกวันนี้ก็ยากที่จะเกิดขึ้น หรือถ้ามองในยุคก่อน ถ้าการไม่ทราบว่าดาบถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร และทำให้เรากลัวที่จะใช้อาวุธนี้ การพัฒนากองทหารขนาดใหญ่ย่อมทำได้ลำบากยิ่ง ความสามารถในการละทิ้งรายละเอียด และเชื่อในสิ่งต่างๆ ได้อย่างสนิทใจ ทำให้สังคมมนุษย์พัฒนาระบบการแบ่งงาน และน่าจะเป็นหนึ่งในรากฐานของการพัฒนาของสังคมมนุษย์

เมื่อนำมาประกอบกับความลำเอียงเพื่อตรวจสอบ (confirmation bias) ความใจง่ายและหลงผิดว่าเข้าใจนี้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เก็บเกี่ยวมาผ่านทางวิวัฒนาการ แต่เมื่อพิจารณาด้วยสายตาของคนปัจจุบัน เราจะพบว่านี่เป็นที่มาของปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การระบาดของข่าวปลอม การมีอยู่ของกลุ่มคนที่ต่อต้านการใช้วัคซีน หรือกระทั่งกลุ่มคนหัวรุนแรงต่างๆ ที่กล้าลงมือกระทำการทางการเมืองต่างๆ กระทั่งการพลีชีพตนเอง

เรื่องราวยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเรารวมความซับซ้อนของพฤติกรรมทางความคิดของมนุษย์ เข้ากับสภาพแวดล้อมบนอินเทอร์เน็ต

ความหลากหลายและเปิดกว้างบนอินเทอร์เน็ตทำให้ทุกๆ ความเชื่อสามารถรวมกลุ่มสร้างพื้นที่ของตนเองได้ พื้นที่นี้นอกจากจะเป็นที่แลกเปลี่ยนสนทนาแล้ว ยังเป็นที่ที่ความเชื่อได้รับการทะนุถนอม ปกป้องจากการถูกท้าทายจากคนคิดต่าง สมาชิกของกลุ่มความเชื่อยังสามารถช่วยกันสะท้อนความเชื่อไปมา เสมือนเป็น Echo Chamber ที่คอยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กันเอง และเป็นดั่งป้อมปราการความเชื่อที่คงทนต่อการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ในพื้นที่สนทนาทั่วไป เรามักพบว่าแม้จะมีการปะทะกันของความเชื่อที่หลากหลาย ผู้ร่วมสนทนาที่มาพร้อมกับชุดของความเชื่อที่ตั้งไว้ก่อนหน้า ก็มักจะไม่ได้เปลี่ยนมุมมองหรือมีความเข้าใจคู่สนทนาที่มีมุมมองแตกต่างมากขึ้น และบางครั้งเราพบว่าการสนทนานั้นร้อนแรง เต็มไปด้วยอารมณ์ เหมือนสองฝั่งตะโกนใส่กันไปมา ทว่าสุดท้ายเหมือนจะไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนใดๆ เกิดขึ้น

 

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยน ‘ความเชื่อ’ ของใครสักคนบนอินเทอร์เน็ต

 

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะยอมแพ้และปล่อยให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ของความเชื่ออะไรก็ได้ ของข่าวปลอม หรือของการสนทนาที่คู่สนทนาไม่ได้ยินซึ่งกันและกัน

ขอยกตัวอย่างแนวทางของพื้นที่ออนไลน์หนึ่งซึ่ง Kal Turnbull ได้ริเริ่มขึ้น เพื่อแสดงว่าภายใต้แนวทางบางอย่าง การสนทนาเพื่อเปลี่ยนมุมมองและความเชื่อนั้นเป็นไปได้จริงๆ เขาได้สร้างชุมชนแลกเปลี่ยนออนไลน์ขึ้นบนเว็บไซต์ Reddit ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับสนทนาคล้ายๆ กับเว็บ Pantip ของบ้านเรา แต่เว็บไซต์ Reddit นั้นมีระบบการให้คะแนนกับผู้ใช้และการดูแลที่เอื้อให้เกิดชุมชนย่อยได้ง่าย ผู้ใช้บน Reddit ที่มีอายุบัญชีนานพอ (ถ้าบัญชีมีอายุอย่างน้อย 30 วันจะสามารถสร้างชุมชนย่อยได้) และมีค่ากรรม (Karma) มากกว่าค่าหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้มากจนเกินไป) สามารถสร้างชุมชนแลกเปลี่ยนย่อย หรือที่เรียกว่า Subreddit ได้ ชุมชนย่อยนี้สามารถมีกฎเกณฑ์ย่อยในการโพสต์แสดงความคิดเห็นและดูแล (moderate) ให้การสนทนาเป็นไปตามต้องการได้ นอกจากนี้แต่ละชุมชนย่อยยังสามารถมีระบบการให้คะแนนผู้ใช้ที่ปรับให้สอดคล้องกับแนวทางของแต่ละชุมชนได้

ในปี 2013 Turnbull ได้เปิด subreddit ชื่อ Change My View ขึ้น (r/changemyview) สำหรับคนที่สนใจที่จะแลกเปลี่ยนออนไลน์เพื่อการเปลี่ยนมุมมอง เพื่อให้การแลกเปลี่ยนนั้นมีประสิทธิภาพ ชุมชนดังกล่าวได้พัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆ มีกฎ 5 ข้อ เกี่ยวกับการตั้งหัวข้อใหม่ (สำหรับคนที่ต้องการให้สมาชิกคนอื่นๆ เข้ามาแสดงความเห็นเพื่อเปลี่ยนมุมมอง) ดังนี้ (อ่านโดยละเอียดได้ในลิงก์ท้ายบทความ)

 

  • กฎ A – ในการตั้งหัวข้อ นอกจากจะระบุมุมมองแล้ว ให้ระบุเหตุผลรองรับมุมมองนั้นด้วย (หัวข้อใหม่ต้องมีความยาวอย่างน้อย 500 ตัวอักษร)
  • กฎ B – ผู้ที่ตั้งหัวข้อจะต้องเป็นคนที่มีความเชื่อดังกล่าวและมีความเปิดกว้างที่จะเปลี่ยนมุมมอง นั่นคือในการตั้งห้วข้อในชุมชนนี้ จะไม่สามารถตั้งเพื่อเผยแพร่ความเชื่อ (ใช้ชุมชนเป็นกระบอกเสียง) หรือตั้งความเห็นตรงกันข้ามเพื่อล่อให้คนอื่นๆ มาโต้เถียงเพื่อเก็บเกี่ยวข้อโต้แย้งไปใช้ที่อื่นๆ
  • กฎ C – หัวข้อใหม่จะต้องระบุมุมมองให้ครบถ้วนและชัดเจน
  • กฎ D – หัวข้อจะต้องไม่มีจุดยืนที่เป็นกลาง มีลักษณะที่มุ่งร้ายต่อบางคน โฆษณาตนเอง หรือเป็นหัวข้อที่ถกเถียงเกี่ยวกับชุมชนนี้
  • กฎ E – ผู้ตั้งหัวข้อต้องยินดีที่จะสนทนากับคนที่มาตอบ และสามารถมีการสนทนาได้ภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังจากการเริ่มตั้งหัวข้อ

 

นอกจากนี้ ยังมีกฎสำหรับการแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนี้

  • กฎ 1 – การตอบหัวข้อโดยตรง จะต้องท้าทายหรือตั้งคำถามต่อประเด็นในหัวข้ออย่างน้อยหนึ่งประเด็น
  • กฎ 2 – ห้ามไร้มารยาทหรือแสดงความมุ่งร้ายต่อผู้ใช้อื่น
  • กฎ 3 – พยายามหลีกเลี่ยงการโทษผู้ตั้งหัวข้อหรือคู่สนทนาอื่นๆ ว่าไม่ยินดีที่จะเปลี่ยนมุมมอง
  • กฎ 4 – ให้มอบรางวัลเดลต้า Δ ให้คู่สนทนาเพื่อแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนมุมมองเท่านั้น ห้ามใช้ในเป้าหมายอย่างอื่น
  • กฎ 5 – การตอบโต้ต่างๆ จะต้องมีความหมายต่อการสนทนานี้ เช่น การตอบโต้ที่มีแต่คำอุทาน หรือการตอบโต้ที่ตรวจสอบการพิมพ์ผิด หรือแสดงความเห็นด้วยเฉยๆ นั้นไม่มีความหมายต่อการสนทนา

 

ใน Reddit ผู้ใช้แต่ละคนจะมีคะแนนกรรม (Karma) เพื่อระบุถึงคุณภาพของการสนทนาที่ผู้ใช้นี้มีให้กับชุมชน โดยในชุมชนย่อย Change My View ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น นับคะแนนกรรมเป็นเดลต้า Δ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่แสดงความเปลี่ยนแปลง ผู้ใช้สามารถพิมพ์ตัวอักษรดังกล่าวในความเห็น และจะมีโปรแกรมอัตโนมัติชื่อ DeltaBot ที่คอยเก็บรวบรวมคะแนนเดลต้า Δ ให้กับผู้ใช้ ระดับเดลต้านี้จะแสดงท้ายชื่อผู้ใช้ในหัวข้อและในการแสดงความเห็นต่างๆ

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของหัวข้อการสนทนาในชุมชนย่อยนี้ จะขอยกตัวอย่างหัวข้อ Change My View (CMV) ที่แสดงอยู่ในชุมชน ณ เวลาที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้

  • CMV: Snapchat และการให้ความสำคัญที่มากเกินไปกับสื่อสังคม ทำลายความรู้สึกถือคุณค่าของตนเองของผู้คน และยังทำลายรูปแบบที่ผู้คนปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ (Snapchat and the over importance of social media presence in our society has ruined people’s sense of worth and how they interact with others.)
  • CMV: การก่อกบฏที่ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ (Violent rebellion is okay)

 

ในแต่ละหัวข้อ ผู้ถกเถียงต่างให้เหตุผลโต้กันไปมา ทั้งหมดนี้เพื่อเปลี่ยนมุมมองของคู่สนทนา หรือเปิดเผยให้เห็นว่าแนวคิดหรือตรรกะที่เสนอมานั้นมีช่องโหว่ที่ใดบ้าง

ความสำเร็จของชุมชนย่อยนี้ในการสร้างพื้นที่สำหรับการสนทนาที่เอื้อต่อการถกเถียง ขึ้นอยู่กับกฎที่พัฒนาผ่านประสบการณ์ของคนในชุมชน และความเข้มแข็งของทีมผู้ดูแล (moderators) ชุมชนย่อยดังกล่าวปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 700,000 คน และปัจจุบันได้มีการเปิดเว็บไซต์ changeaview ที่มีรูปแบบแตกต่างจากชุมชนย่อยเดิมเล็กน้อย เช่น ผู้ดูแลจะมีค่าตอบแทน เป็นต้น นอกจากนี้เว็บไซต์ดังกล่าวยังมีการแสดงรายการการทำงานของทีมผู้ดูแล เพื่อแสดงความโปร่งใส ซึ่งข้อมูลส่วนนี้นั้นไม่สามารถดูได้บนระบบของ Reddit

ชุมชนย่อยเล็กๆ แห่งนี้อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้กฎเกณฑ์และการดูแลจากชุมชนเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการโต้เถียง อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นอีกด้านที่มองว่าชุมชนนี้เป็นตัวอย่างอันเอนเอียงของการเลือกคนเข้ากลุ่ม (selection bias) เพราะว่าชุมชนเลือกคนที่ยินดีที่จะเปลี่ยนมุมมอง มาแลกเปลี่ยนกับคนที่มีมารยาท มีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็ย่อมต้องได้การสนทนาที่ดีกลับไปแน่นอนอยู่แล้ว

แน่นอนว่าแนวทางของ CMV ไม่ใช่แนวทางหนึ่งเดียวในการพัฒนาให้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนอย่างมีคุณค่า แต่ชุมชนย่อยแห่งนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาชุมชนหรือระบบการสนทนาในรูปแบบอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการถกเถียงบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้สนทนาได้แลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจมุมมองอื่นๆ อย่างจริงจังก็เป็นได้

 


 

อ่านเพิ่มเติม

  • บทความแนะนำหนังสือ Why Facts Don’t Change Our Minds โดย Elizabeth Kolbert บน The New Yorker https://www.newyorker.com/magazine/2017/02/27/why-facts-dont-change-our-minds
  • บทความ People Have Limited Knowledge. What’s the Remedy? Nobody Knows โดย Yuval Harari ใน NY Times https://www.nytimes.com/2017/04/18/books/review/knowledge-illusion-steven-sloman-philip-fernbach.html
  • TEDx Talks เรื่อง Why Do We Believe Things that Aren’t True โดย Philip Fernbach ผู้เขียนหนังสือ “The Knowledge Illusion: Why We Never Think Alone” (ที่แนะนำในลิงก์ด้านบน)  https://www.youtube.com/watch?v=jobYTQTgeUE
  • บทความ The Backfire Effect: Why Facts Don’t Always Change Minds ที่ https://effectiviology.com/backfire-effect-facts-dont-change-minds/
  • Change My View Subreddit r/changemyview https://www.reddit.com/r/changemyview/
  • กฎเกณฑ์ต่างของ CMV https://www.reddit.com/r/changemyview/wiki/rules
  • บทความ ‘Change My View’ Reddit Community Launches Its Own Website โดย Casey Chin บน Wired https://www.wired.com/story/change-my-view-gets-its-own-website/
  • บทความ Our Best Hope for Civil Discourse Online is on … Reddit โดย Virginia Heffernan บน Wired https://www.wired.com/story/free-speech-issue-reddit-change-my-view/
  • บทความ Change My View: the subreddit for people willing to have their most cherished beliefs challenged โดย Cory Doctorow https://boingboing.net/2018/01/16/selection-bias.html

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save