จาก 'เฟมินิสต์' สู่ 'เฟมทวิต': สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์

จาก ‘เฟมินิสต์’ สู่ ‘เฟมทวิต’: สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

ไม่นานมานี้ ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างร้อนแรงในโลกออนไลน์ ควบคู่ไปกับปรากฏการณ์ ‘เฟมทวิต’ หรือการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ที่รณรงค์ต่อสู่ผ่านทวิตเตอร์

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เราเห็นอะไร สถานการณ์เรื่องเพศที่เกิดขึ้นในครึ่งปีที่ผ่านมามีอะไรน่าจับตาบ้าง ความรู้และการเคลื่อนไหวว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศในโลกเปลี่ยนไปอย่างไร และประเทศไทยอยู่ตรงไหนเมื่อมองผ่านแว่นตาเพศวิถี

101 สนทนากับ ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’ และนักเขียนเจ้าของคอลัมน์ SEX-RAY ในรายการ One-on-One Ep.158 “จาก ‘เฟมินิสต์’ สู่ ‘เฟมทวิต’: สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย”

:: เฟมินิสต์คืออะไรกันแน่? ::

จาก 'เฟมินิสต์' สู่ 'เฟมทวิต': สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์

แม้คนคนหนึ่งจะนิยามตัวเองเป็นเฟมินิสต์ แต่แนวคิดสตรีนิยมมีสำนักที่หลากหลาย มีการแบ่งช่วงเวลาเป็นคลื่นลูกต่างๆ การที่เราจะเอาตัวเองไปอยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่งเป็นเรื่องยาก บางครั้งเราอาจมีความคิดที่โต้แย้งกับอุดมการณ์หรือสำนักของสตรีนิยมบางสำนัก เรียกได้ว่าแม้กระทั่งคำเดียวกันก็มีการโต้กันอยู่เรื่อยๆ

ถ้าหากจะพูดถึงหลักการที่เรียบง่ายที่สุดของเฟมินิสม์ คือเป็นทั้งทฤษฎีและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างหนึ่งเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และหลีกหนีการถูกกดขี่ทางเพศ เริ่มต้นจากชายหญิงก่อน ในการตั้งคำถามและตีความว่าอะไรคือผู้หญิง อะไรคือผู้ชาย

สตรีนิยมคลื่นลูกแรกเริ่มต้นที่ตะวันตกในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 และต่อมาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ช่วง ค.ศ. 1910-1920 สังคมเริ่มเปลี่ยนไปมาก ชนชั้นกลางได้รับการศึกษา รวมไปถึงผู้หญิงหลายๆ คน อีกทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ทำให้ผู้หญิงที่ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มตั้งคำถามถึงสวัสดิภาพและสถานะของตนเอง

ผู้หญิงชนชั้นกลางในเวลานั้นทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และโดยเฉพาะในอเมริกาก็เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเมื่อแต่งงานแล้วจึงถือครองทรัพย์สินของตนเองไม่ได้ เรื่องสิทธิทางการเมืองในการเลือกตั้ง ทำไมผู้หญิงในฐานะพลเมืองคนหนึ่งจึงเลือกตั้งไม่ได้ และทำไมเมื่อจะทำธุรกรรมทางการเงิน ต้องมีผู้ปกครองหรือสามีมาทำให้ เหมือนตอนแรกอยู่ใต้อำนาจพ่อ พอแต่งงานแล้วก็ย้ายมาอยู่ใต้อำนาจของสามี อยู่ในอำนาจของผู้ชายตลอด จึงทำให้ผู้หญิงตั้งคำถามและเริ่มเคลื่อนไหว มีการปลุกระดมมวลชน มีสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในช่วงนี้ถูกนำโดยชนชั้นกลาง เช่น นักคิด นักเขียน นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่เป็นแรงงานก็เรียกร้องสิทธิปากท้องของตนเองเช่นกัน

ในช่วง ค.ศ. 1950-1960 ถูกหมุดหมายว่าเป็นคลื่นลูกที่สอง มีการพูดถึงสาเหตุที่ผู้หญิงถูกผู้ชายกดขี่หรืออยู่ใต้ระบอบชายเป็นใหญ่ เกิดจากที่ผู้หญิงเกิดมาเป็นผู้หญิง การเชื่อว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่และเมีย ทำให้ผู้หญิงต้องแต่งงานและตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีการศึกษามากขึ้น ประกอบอาชีพได้ด้วยตนเอง มีสิทธิถือครองทรัพย์สินของตนเอง ขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงที่อยู่ในครอบครัวแล้วไม่มีความสุข มีการตั้งคำถามว่าความเป็นหญิงคืออะไร ทำอย่างไรตนเองจึงจะหลุดพ้นจากโครงสร้างที่ระบอบชายเป็นใหญ่กำหนด

หลังจากนั้น เริ่มมีการวิพากษ์ มีการสร้างองค์ความรู้โดยผู้หญิงผิวดำ ผู้หญิงในอาณานิคม ผู้หญิงอินเดีย ฯลฯ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้หญิงชนชั้นกลางผิวขาวในตะวันตกเท่านั้น เริ่มมีความหลากหลายขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีการใช้สื่อที่เป็น pop culture มากขึ้น เช่น การประกวดนางงาม จากเดิมที่คลื่นลูกที่สองมองว่าเป็นการถูกกดทับ คลื่นลูกที่สามกลับมองว่าเป็นการใช้ความสวยต่อสู้กับผู้ชาย คลื่นลูกที่สามหรือ post-feminism จึงหลากหลายและมีสีสันกว่าเดิม ความรู้ทฤษฎีเริ่มแตกแขนง ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ถูกกดขี่ในที่ต่างๆ มีประสบการณ์ที่ต่างไปจากเฟมินิสม์คลื่นลูกที่หนึ่งและสอง ด้วยบริบทที่ความรู้กระจายไปทั่ว อีกทั้งยังมี pop culture เช่น การถ่ายแบบ นักร้อง หลายคนเชื่อว่าใครๆ ก็เคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องไปอยู่ในองค์กร ไม่จำเป็นต้องปราศรัยหรือเดินขบวน คล้ายกับในปัจจุบันที่มีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย

:: เฟมินิสต์ไทยอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ ::

จาก 'เฟมินิสต์' สู่ 'เฟมทวิต': สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดสตรีนิยมยัง Americano-centric และ Euro-centric อยู่ เราจึงไม่เห็นว่าประเทศโลกที่สามอย่างไทยอยู่ตรงไหนในขบวนการสตรีนิยม แต่ก็มีการสร้างองค์ความรู้ของคนไทยเอง เช่น กลุ่มสตรีนิยมไทยที่ดีใจกับสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงหลังการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยที่ผู้หญิงไม่ต้องออกไปเดินขบวนอย่างในอเมริกา เนื่องจากคณะราษฎรได้กอบโกยความรู้ นำชุดประสบการณ์ต่างๆ เรื่องความเท่าเทียมมาใช้

การบันทึกประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางเพศในไทยส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขกฎหมาย เช่น กฎหมายผัวเดียวเมียเดียว กฎหมายคำนำหน้านางหรือนางสาว มากกว่าเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่โซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มคนที่ไปแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่สามารถแก้ได้โดยมวลชนผ่านการศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกรั้วมหาลัย เช่นในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เยี่ยมมาก

ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในไทย น่าเศร้าที่มักเป็นการถวายฎีกา หรือมีการตั้งสมาคมแม่บ้าน ไม่ใช่เรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่เป็นระบบพึ่งพาและอุปถัมภ์ และหลัง พ.ศ. 2516 มีเอ็นจีโอทำเรื่องสิทธิสตรีเยอะขึ้น ที่เด่นคือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาคลาสสิกที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ก้าวหน้า ไม่ว่าองค์กรจะตั้งมากี่ปี สังคมไทยก็ยังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ที่เชื่อว่าสามีมีอำนาจ

เรื่องการตั้งคำถามว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีของไทยช้ากว่าตะวันตกหรือไม่ หรือว่าเราอยู่ในคลื่นลูกไหน ด้วยความที่คนไทยรับทฤษฎีเฟมินิสม์มาหมด ไม่มีคลื่นลูกไหนชัดเจน และการแบ่งคลื่นลูกต่างๆ เองก็ถูกหมุดหมายทีหลัง หากจะให้จัดกรอบ เทียบปีกับอเมริกาหรือฝรั่งเศสนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากบริบทที่ต่างกันอย่างชัดเจน

 

:: ฝั่งต่อต้านเฟมินิสต์ ::

จาก 'เฟมินิสต์' สู่ 'เฟมทวิต': สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์

 ด้านฝั่งต่อต้านขบวนการสตรีนิยมเองก็มีมีตั้งแต่ปีค.ศ. 1920 มีการปาหิน การโห่ด่า ในไทยก็มีผู้ชายจำนวนมากและผู้หญิงจำนวนหนึ่งสมาทานความคิดชายเป็นใหญ่อยู่ ไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้หญิงสมาทานความคิดแบบนี้ เพราะประเด็นง่ายๆ อย่างการขลิบอวัยวะเพศ ที่ถูกมองว่าเป็นความรุนแรงทางเพศขั้นรุนแรง ผู้หญิงก็เป็นคนอุ้มเด็กไปขลิบเอง หรือเรื่องความเป็นรองของผู้หญิง ผู้หญิงเองก็สอนลูก เช่น อย่าแต่งตัวโป๊ ให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เมื่อมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวจึงมีคนออกมาโจมตี เป็นลักษณะในประเทศไทยที่เมื่อมีคนตั้งคำถามถึงความบิดเบี้ยวของสังคม คนที่ได้ผลประโยชน์จากโครงสร้างนั้น รวมไปถึงคนที่เชื่อว่าอยู่อย่างนี้ดีแล้ว จะออกมาต่อต้านเพื่อรักษาสถานภาพทางสังคมของตนเอง

โดยเฉพาะผู้หญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวในสังคมที่มองว่าผู้หญิงต้องสยบยอม เมื่อไม่สยบยอมก็มักจะโดนด่าอย่างรุนแรง นักสิทธิสตรีหลายคนถูกมองว่าโมโห เกรี้ยวกราด ไม่น่ารัก ซึ่งการต่อสู้หรือการเคลื่อนไหวแบบนี้ ทำไมต้องน่ารักในรูปแบบที่ผู้ชายอยากให้เป็น เสียงของผู้หญิงในการต่อสู้จึงไม่น่ารัก เพราะการน่ารักเองก็เป็นสิ่งที่สังคมชายเป็นใหญ่สร้างเพื่อให้ผู้หญิงสยบยอมต่ออำนาจผู้ชาย ดังนั้นทันทีที่ผู้หญิงอ้าปากขึ้นมาก็กลายเป็นไม่น่ารักแล้ว

ตัวอย่างเห็นได้จากแฮชแท็ก #menaretrash ที่ถูกวิจารณ์ว่ารุนแรง โดยแฮชแท็กนี้เริ่มมาจาก ค.ศ. 2017 ที่ผู้หญิงแอฟริกาใต้ถูกพาร์ทเนอร์ของตนฆ่า และมีสถิติระบุว่า ในอังกฤษ ผู้หญิง 50% ที่ถูกฆ่าเป็นฝีมือของพาร์ทเนอร์ตนเอง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งเพศในหลายประเทศ ทำให้เกิดแฮชแท็ก #menaretrash ในการพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันกลายเป็นวลีที่รุนแรงไป ถ้าใช้ในเฟซบุ๊กก็จะถูกลบไปโดยอัตโนมัติ แล้วทำไมถึงต้องรุนแรง เพราะว่าเป็นเสียงของคนโกรธ คนเป็นเหยื่อ ถูกกระทำ คนที่เจ็บช้ำ ยิ่งพออยู่บนทวิตเตอร์ที่ถูกจำกัดคำก็ไม่สามารถพิมพ์ได้หมด ถูกหยิบออกไปจากบริบทเดิม นำมาใช้ในหลายบริบทจนหลายคนมองว่าไม่งดงาม ซึ่งที่จริงก็ไม่ต้องงดงามเพราะเป็นการพูดถึงเรื่องการต่อสู้จากการถูกทำร้ายร่างกายและการทารุณกรรม

ในยุคนี้ ศตวรรษที่ 21 แล้ว อาการเกลียดกลัวเฟมินิสต์ก็ยังมีอยู่ แต่อาจแสดงออกผ่านแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน การแซะ การทำมีม การใช้คำว่า ‘เฟมทวิต’ ล้อเลียนว่าทำได้แค่พูดเก่งอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้จริง แต่การเคลื่อนไหวหลายๆ ที่ทั่วโลกก็เริ่มจากโลกออนไลน์ เช่น อาหรับสปริงหรือฮ่องกง อย่างไทยเองก็มีหลายแฮชแท็กที่เกิดขึ้นมาแล้วสั่นคลอนโครงสร้างสังคม เช่น #โตแล้วเลือกเองได้ แต่พอมาเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องเฟมินิสม์ เรื่องของเพศ คนก็มองว่าเป็นเรื่องเล็ก จุกจิก ไม่สามารถทำเรื่องใหญ่ได้ เป็นการมองผู้หญิงแบบชายเป็นใหญ่มาก

:: ‘เฟมินิสต์’ กับ ‘เฟมทวิต’ ::

จาก 'เฟมินิสต์' สู่ 'เฟมทวิต': สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์

เมื่อกลุ่มหัวคิดสตรีนิยมเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ผ่านการเขียนบ้าง การพูดถึงบ้าง ติดแฮชแท็กบ้าง ก็มีคนบอกว่าเธอเคลื่อนไหวได้แค่นี้แหละ ได้แค่บ่นในโลกออนไลน์ ไม่สามารถไปเดินขบวนในชีวิตจริงได้ ยิ่งในทวิตเตอร์ที่มีความนิรนาม เลยดูไม่ทรงพลังในสายตากลุ่มต่อต้าน ถูกกลุ่มต่อต้านนิยามว่าเป็น ‘เฟมทวิต’  เป็นเฟมินิสต์ปลอมๆ แต่กลุ่มเฟมินิสต์เองเปลี่ยนคำว่า ‘เฟมทวิต’ จากคำด่า คำล้อเลียน ให้เป็นคำชม หรือเป็นคำที่ใช้นิยามตนเองว่าเป็นเฟมินิสต์ที่เคลื่อนไหวผ่านทางทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เท่

เหมือนคำว่า ‘เควียร์’ ที่เมื่อก่อนเป็นคำด่า เหมือนด่าว่าวิปริตผิดเพศ แต่ต่อมากลุ่มที่ถูกนิยามว่าเควียร์เองก็แปรความหมายใหม่ให้เควียร์เป็นคำที่มีความหมายทางบวก เรื่องเฟมทวิตก็แปลว่าผู้หญิงชนะผู้ชายกลุ่มหนึ่งไปแล้ว ที่ด่ามาแต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ตอนนี้กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์มีความต้องการกระทำความรุนแรง ขู่ข่มขืน ขู่ทำร้าย ซึ่งนั่นคืออาชญากรรม และเป็นปัญหาที่รุนแรงมากที่มีคนคิดว่าเมื่อตนเองมีความนิรนามแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่มันเป็นการผลิตซ้ำหรือสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับคนคิดต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

เรื่องข้อดีข้อเสียของการเคลื่อนไหวออนไลน์ ที่ ‘เฟมทวิต’ ถูกโจมตี คือเมื่อเป็น #metoo หรือ #youknowme เป็นเรื่องของคนไกลตัวบนโลกสากลส่งเสียง สิ่งนี้ยังดูเท่ แต่พอเป็นคนไทย ทวิตเตอร์ภาษาไทย เริ่มเกิดเป็นปัญหากับผู้ชายบางคนแล้ว เหมือนสนใจเรื่อง Black Lives Matter แต่ไม่สนใจเรื่องการอุ้มหาย คนพวกนี้เลือกที่จะสมาทานอะไรบางอย่างอยู่ แต่ทันทีที่เป็นเรื่องใกล้ตัวหรือสั่นคลอนสถานะตนเองมากๆ เช่น เรื่องชายเป็นใหญ่ ถ้าผู้หญิงที่ใกล้ตัวเรียกร้อง ก็จะมองเป็นปัญหามากกว่า

 

:: PC (Political Correctness) หรือ free speech? ::

จาก 'เฟมินิสต์' สู่ 'เฟมทวิต': สำรวจความ(ไม่)เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย กับ ชานันท์ ยอดหงษ์

 

คำพูดที่เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ ไม่อยู่ในฟรีสปีชอยู่แล้ว ชัดเจนอยู่แล้วโดยสามัญสำนึกเอง เป็นข้อดีบางอย่างที่เราจะตระหนักถึงการเคารพซึ่งกันและกันได้ กลายเป็นศีลธรรมและจริยธรรมในโลกสมัยใหม่ จากที่สมัยก่อนเราอยู่ใต้ศีลธรรมจริยธรรมแบบศาสนา ที่เป็นการขู่ ไม่ให้ทำสิ่งนั้น ไม่เช่นนั้นจะตกนรก แต่ปัจจุบันเราไม่ต้องอาศัยการขู่ มารยาททางสังคมในปัจจุบัน เรื่อง PC หรือไม่ PC เป็นเรื่องที่ว่าเราจะสื่อสารกับเพื่อนมนุษย์อย่างไรในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน โดยที่เขามีชุดประสบการณ์ มีความคิดความอ่าน มี trauma บางเรื่องต่างกัน อยู่ร่วมกันได้ด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน แต่สำหรับบางคนที่ตื่นตัวมากเกินไปก็อาจจะเหมือนกับคนเคร่งศาสนาในสมัยก่อน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save