fbpx
ข้าวในขวด : เหล้ารัม กับการพัฒนาและการต่อสู้ที่ยากจะเอาชนะ

ข้าวในขวด : เหล้ารัม กับการพัฒนาและการต่อสู้ที่ยากจะเอาชนะ

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

-1-

 

ได้ยินคุณทิม พิธา พูดเรื่อง ‘ข้าวในขวด’ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์และทำให้ข้าวของชาวนาไทยมูลค่ามากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมากนัก เรื่องนี้ผมยกมือเห็นด้วยแขนตึง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าสิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนกันนั้นไม่ง่าย เพราะมีผู้เสียผลประโยชน์เยอะ

คิดง่ายๆ ว่าทำไมชาวนายังจนอยู่แต่ทำไมเจ้าของโรงสีกลับรวยอยู่ได้ นั่นแสดงว่าในกระบวนการต้องมีบางอย่างผิดที่ผิดทาง อำนาจการต่อรองของชาวนาที่มีอยู่น้อยนิดทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น สถานการณ์นี้ไม่ต่างจากพืชผลทางการเกษตรอีกหลายอย่าง อ้อยก็เป็นหนึ่งสินค้าเกษตรที่ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน 

มีธุรกิจหนึ่งที่ผมมีไอกาสได้ไปดูเบื้องหลังการทำงาน และพิสูจน์ให้เห็นว่าภายใต้ข้อจำกัดที่มากมาย พวกเขายังสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม ธุรกิจที่ว่าคือเหล้ารัมชื่อฉลองเบย์’ (Chalong Bay) ในภูเก็ต   

อย่างที่เรารู้กันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ร้าย มายาคติเรื่องเหล้ายาสุราเมรัยที่ว่าเป็นเรื่องขัดต่อศีล ทำให้คนรับรู้เรื่องของสุราเพียงด้านเดียว และการห้าม’ ก็ดูจะเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุดสำหรับชนชั้นปกครองเพื่อขจัดปัญหา แต่ความนิยมในการดื่มไม่ได้ลดลง รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มก็ดูเหมือนไม่ได้ลดลงเช่นกัน ยิ่งในยุคนี้ดูเหมือนว่าการทำธุรกิจสุราชุมชน ก็ดูเหมือนจะยังได้รับความสนใจและได้รับความนิยมมากขึ้น

ทั้งมายาคติและโครงสร้างของนโยบายเกี่ยวกับสุราของมึนเมา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นความพยายามในการเกี่ยเซี๊ยะไม่ให้เกิดการพัฒนาธุรกิจสุราชุมชนเพื่อป้องกันผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ในตลาดหรือไม่ แม้ว่ามีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสุราชุมชนและภาษีเหล้าโรงมาตลอดในช่วงปี .. 2544-2548 ทว่าก็ยังไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการระดับชุมชนสามารถแข่งขันได้จริง รัฐไม่ได้ส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องนโยบายและทักษะทางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดื่ม รัฐชินกับการทำงานแบบกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ จนมองไม่เห็นทางอื่นว่าสุราชุมชนนั้นหากทำให้ดี นี่คือเครื่องมือหนึ่งในการกระจายความเข้มแข็งไปสู่ชุมชนได้เช่นกัน

ฉลองเบย์ฝ่าฟันข้อจำกัดหลายต่อหลายอย่าง ใช้เวลาพัฒนาทั้งแบรนด์และผลิตภัณฑ์อยู่ 8 ปี จนปัจจุบันเป็นหนึ่งในรัมที่มีคุณภาพที่สุดในโลกแบรนด์หนึ่ง ทั้งในแง่ของรสชาติและการผลิต ฉลองเบย์รัมได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 ล่าสุดคว้ารางวัล Double Gold Medal ในงาน World Wine and Spirits Competition 2019 ที่นิวยอร์ก ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่เสียงของคณะกรรมการเป็นเอกฉันท์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน รางวัล Double Gold Medal จึงทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับฉลองเบย์รัม

อีกด้านหนึ่ง ฉลองเบย์รัมก็ถูกพูดถึงในฐานะของธุรกิจชุมชนที่สามารถสร้างวงจรธุรกิจที่มีความยั่งยืนได้สำเร็จ ตลอดกระบวนการผลิตพวกเขาให้ความสำคัญกับคุณภาพตั้งแต่อ้อย คน และชุมชน ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณทิบวท ลูเซี่ยน นิโคลาส สบีทเฮคิส (เราเรียกกันสั้นๆ ว่าทีโบ’) และคุณเล็ก ชินวิช รัตนชินกร 2 ใน 5 หุ้นส่วนหลักของฉลองเบย์รัม ถึงความพยายามในการพัฒนาคน ชุมชน ไปพร้อมๆ กับพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ 

ทั้งสองแบ่งปันประสบการณ์ให้ผมฟังว่าสองสามปีแรกของการทำงาน หมดเวลาไปกับการคัดเลือกสายพันธุ์ของอ้อยซึ่งมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ในเมืองไทย จนได้สายพันธุ์อ้อยที่ให้น้ำอ้อยเหมาะกับการทำรัม ต่อรองชาวไร่ไม่ให้ใช้สารเคมีในการปลูก ไม่ให้ใช้วิธีการเผาในการเกี่ยวอ้อย ให้เก็บด้วยมือเท่านั้น ซึ่งฉลองเบย์จยินดีรับซื้อในราคาที่สูงกว่าโรงงานน้ำตาล

ในกระบวนการผลิตก็ไม่มีการเติมสารเคมีใดๆ ไม่เติมน้ำตาลหรือกลิ่นสังเคราะห์ใดๆ รสสัมผัส กลิ่น ความใสของน้ำ ทั้งหมดมาจากธรรมชาติ และเมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่เริ่มอยู่ตัวแล้ว พวกเขาจึงเริ่มต่อยอดด้วยธุรกิจท่องเที่ยว เปิดทัวร์สำหรับการเยี่ยมชมโรงกลั่น กรรมวิธีการทำงาน การเปิดสอนค็อกเทล เปิดร้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภูเก็ต ฯลฯ ทั้งหมดเป็นการทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์กับชุมชนและคำนึงถึงความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

 

-2-

 

นี่เป็นโมเดลธุรกิจแบบไร่ไวน์ในฝรั่งเศสดีๆ นั่นเอง ส่วนหนึ่งมาจากทีโบ ซึ่งเป็นคนฝรั่งเศส เติบโตในครอบครัวของคนทำไวน์ในมาร์กเซย์ แต่หันไปเป็นนักการเงินในวอลสตรีท จนกระทั่ง “กลัวตัวเองเป็นบ้าเนื่องจากการทำงานหนัก จึงเบรคตัวเองและหันมามองหาธุรกิจที่เขาสบายใจที่อยากจะทำ

ผมมีส่วนผสมของความเป็นเด็กบ้านนากับเด็กเมืองกรุง แต่เราก็รู้ว่าท้ายที่สุดของชีวิต อยากทำอะไรที่เราอยู่กับมันได้ไปนานๆ มากกว่าจุดพลิกผันอยู่ที่อดีตแฟนของเขา (มารีน ออเดร ลอเรนซ์ ลุคชินี่ปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนในการทำฉลองเบย์รัมด้วยกัน) ติดอยู่ที่เขาหลัก จังหวัดกระบี่ ช่วงที่เกิดสึนามิ เห็นความมีน้ำใจของคนไทย เกิดความประทับใจมาก จึงตกลงกันว่าอยากกลับมาทำอะไรเพื่อช่วยคนไทย  

เขาเริ่มมองหาลู่ทางและพบว่าคุณภาพของอ้อยเมืองไทยนั้นดีมาก และเราปลูกอ้อยได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นหนึ่งในพืชที่ยังไม่ได้ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงมากนัก และมองเห็นศักยภาพว่าอ้อยของไทยสามารถทำได้ดีไม่แพ้กับรัมจากเกาะแคริเบียน เรื่องราวเริ่มจากตรงนั้น ความแตกต่างของฉลองเบย์รัมอยู่ที่น้ำอ้อยน้ำแรกที่คั้นได้ถูกนำมาใช้เพื่อการทำรัมโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้กากน้ำตาล ซึ่งทำให้ได้คุณภาพของรัมที่ดีกว่า

กรรมวิธีการผลิตฟังดูเรียบง่าย อ่านแล้วก็ดูเหมือนว่าใครๆ ก็น่าจะทำได้ แต่หากเราเข้าใจกระบวนการผูกขาดของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย จะเข้าใจว่าการจะหาชาวไร่อ้อยที่ยอมเสี่ยงออกจากระบบผูกขาดกับโรงน้ำตาลมาปลูกอ้อยเพื่อส่งให้กับโรงกลั่นสุรา ที่เมื่อสิบปีก่อนแทบไม่รู้อนาคต แถมให้เก็บเกี่ยวด้วยมือ เป็นเรื่องไม่ง่ายในการเปลี่ยนความคิดเกษตรกร ที่สำคัญทั้งหมดต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการพิสูจน์

แต่ทุกวันนี้ โมเดลสามารถประสบความสำเร็จได้ หากว่ามีความคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีการส่งเสริมการตลาดอย่างจริงจัง เหล้ารัมหนึ่งขวด (700 มิลลิตร) สามารถขายได้ราคาขวดละ 700-1,000 บาท ซึ่งราคานี้เป็นราคาเฉลี่ยของอ้อยดิบหนึ่งตัน ปัจจุบันฉลองเบย์รัมผลิตได้ปีละ 50,000 ขวด และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากห่วงโซ่นี้มากกว่าระบบผูกขาดของโรงงานน้ำตาล

ผมเกิดคำถามว่าหากโมเดลธุรกิจแบบนี้มันเข้าท่า ทำไมเราไม่ส่งเสริม

ปัญหาคือธุรกิจโรงกลั่นสุราชุมชนจะโตไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะเงื่อนไขทางกฎหมายหลายอย่าง เช่น การห้ามโรงกลั่นเป็นผู้กระจายสินค้าเอง การคิดอัตราภาษีที่ยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิต ฯลฯ ยังมีเรื่องของความไม่เข้าใจของสังคมเกี่ยวกับการทำธุรกิจสุรา ในความรู้สึกของคนไทย ยังรู้สึกว่าเป็นธุรกิจที่ผิดต่อหลักศีลธรรม และด้วยรัฐบาลที่ไม่เสถียรภาพ ไม่เข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจและสร้างธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืนเพียงพอ หนำซ้ำยังปฎิเสธที่จะเข้าใจมิติทางวัฒนธรรมของการดื่มของชาวบ้านด้วยแล้ว เรื่องแบบนี้ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ

 

-3-

 

ผมคิดว่าหลักของการทำธุรกิจของฉลองเบย์ ไม่ต่างจากแนวความคิดการทำกาแฟของสตาร์บัคส์ คือใช้คนและชุมชนเป็นศูนย์กลางก่อน สร้างเงื่อนไขให้มีการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบกันไปมา เมื่อสินค้ามีคุณภาพก็จะขายได้ในราคาที่ดี และเมื่อมันดี ก็แน่นอนว่าไม่มีใครอยากทำลายระบบ ท้ายสุดธรรมภิบาลก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพราะเกิดการเรียนรู้กันทั้งระบบ

นี่เป็นเป็นความคิดพื้นฐานของระบบสหกรณ์การเกษตรที่เกิดขึ้นในยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นกลยุทธ์ของการกระจายอำนาจสู่ชุมชนแบบง่ายๆ โดยการต่อยอดจากสิ่งที่ชุมชนมี หลักการนี้เหมือนกันทุกที่ แค่เปลี่ยนเครื่องมือ’ จากไวน์เป็นสาเก เป็นเสื้อขนแกะ เป็นซีอิ๊ว เป็นเบียร์และเป็นรัม

เมื่อทำได้แบบนี้ในหลายๆ ชุมชน หลายๆ หมู่บ้าน และทำอย่างต่อเนื่อง ชุมชนจะสามารถพัฒนาองค์ความรู้ได้เองและต่อยอดไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า สร้างนวัตกรรมและเครือข่ายด้วยตัวเขาเองได้

ปัญหาคือรัฐต้องทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยง’ ไม่ใช่ผู้คุม’ 

ปัจจุบันระบบสหกรณ์ของไทยกำลังโดนบั่นทอนจากข้อกำหนดที่ดูไม่สมเหตุสมผล (เช่น การจัดตั้งสหกรณ์ชุมชนต้องมีนักเศรษฐกร) ซึ่งสถานการณ์ไม่แตกต่างจากภาคการเกษตร ก็คือรัฐอาจกำลังหาทางเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดใหญ่เพื่อป้องกัน micro finance ซึ่งอาจเสริมความแข็งแรงและอำนาจการต่อรองของประชาชนให้มากขึ้นก็เป็นได้

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐปิดปากเงียบ และเบี่ยงประเด็นไปพูดถึงเรื่องอันตรายที่มาจากการดื่ม การผิดศีลธรรมและการฉ้อโกง ซึ่งผมคิดว่ามันทำให้ประชาชนอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะไม่เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่สำคัญคือไม่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำให้เกษตรกรสามารถใช้เป็นอาชีพหลักได้จริง นอกเหนือจากการอยู่ในระบบผูกขาดจากการทำ contract farming หรือการรับจ้างทำนาต่อไปเท่านั้น

 

-4-

 

แน่นอนว่าในทุกการวิวัฒน์ย่อมมีปัญหา

ในสหราชอาณาจักร เคยมีเหตุการณ์คนติดเหล้ากันทั่วประเทศเช่นกัน ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 เหล้าจินซึ่งเป็นเหล้ารัมประเภทหนึ่งที่ผลิตจากผลของต้นจูนิเปอร์ ที่ทำให้จินมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ แม้ว่าจะผลิตโดยชาวดัตช์ (โดย ดร.ฟรานซิสคัส เดอ ลา โบ ในเมืองโลเดินของฮอลแลนด์ขณะนั้น) แต่ก็แพร่หลายในยุโรปช่วงแรก ด้วยเชื่อมีสรรพคุณทางยา แต่ต่อมามันได้กลายเป็นเหล้ารัมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

จากผู้ซื้อกลายมาเป็นผู้ผลิต ความนิยมจินของคนอังกฤษสูงมากถึงขนาดที่ว่า หนึ่งในสี่ของครัวเรือนในลอนดอนมีส่วนในการผลิตเหล้าจิน จนกระทั่งรัฐต้องออกมาควบคุม แต่กลายเป็นว่าการควบคุมของรัฐส่งผลเสียมากขึ้น เพราะผลักดันให้เกิดการผลิตใต้ดินมากขึ้น ก่อให้เกิดการทำอย่างผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน และทำให้คนดื่มอาจถึงขั้นตาบอดได้

แต่สังคมก็เกิดการเรียนรู้ในเวลาต่อมาในการหาสมดุลของการทำสุรา จนกระทั่งปัจจุบันสก๊อตแลนด์และอังกฤษ เป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสุราอันดับต้นๆ ของประเทศ มีการผลิตที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่กลับมีจำนวนของผู้เสียชีวิตเนื่องจากสุราไม่มากเหมือนประเทศไทย

วัฒนธรรมการดื่มเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์เรามาโดยตลอด ทั้งการต้ม กลั่น หมัก ทั้งหมดเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมารุ่นสู่รุ่น จำได้ว่าสมัยผมเด็กๆ ในภาคเหนือเราจะรู้กันเลยว่าจังหวัดไหน หมู่บ้านไหนที่มีคนเก่งๆ ที่กลั่นเหล้าเป็น ทำข้าวหมักส่าเหล้าได้อร่อย ช่วงเทศกาลต่างๆ แต่ละหมู่บ้านก็จะเอาของดีเหล่านี้มาประชันกัน เหมือนอีกหลายๆ อย่างของชุมชน อย่างการทำพลุดอกไม้ไฟหรือเครื่องจักสาน ในสมัยพระนารายณ์ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่าหมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยา เอาแนวคิดเรื่องการทำข้าวหมักไปทำสาเก จนกระทั่งกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติของญี่ปุ่นไปแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จอย่างไร 

ทว่าสถานการณ์ตอนนี้ การสร้างการผูกขาดและการเอื้อประโยชน์กันระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนในระดับโครงสร้างแบบนี้ ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ที่หายไป แต่ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แบบชาวบ้านๆ แทบไม่มีทางต่อยอดอะไรได้เลย

การห้ามถือเป็นการขัดธรรมชาติความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์อยู่แล้ว มนุษย์เรามีแนวโน้มต่อต้านมากกว่าสมยอมกฎ สิ่งที่รัฐควรใช้จัดการกับความขี้เมาของคนก็คือ การฝังจิตสำนึกให้รับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่เด็กๆ ให้รู้ว่าถ้ากินเหล้าแล้วขับรถก็เหมือนจุดไฟแช็คตอนเติมน้ำมัน เมื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในหัวใจตั้งแต่เด็ก ปัญหาเรื่องการเมาแล้วขับก็ลดลงอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นแทนที่ก็คือโอกาสใหม่ๆ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น

หากการกลั่นเหล้ายังถูกวางไว้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเหมือนสมัยก่อน ผมเชื่อเหลือเกินว่า ชาวบ้านในชุมชนจะมีกติกาที่สามารถควบคุมกันเองได้ เพราะผ่านการเรียนรู้และลองผิดลองถูกจนได้ข้อสรุปมาแล้ว เหมือนที่เหกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร แต่กระบวนการนี้ต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทนไม่น้อยกว่าจะฝ่าฟันมาได้

น่าเสียดายที่เรื่องนี้ก็เหมือนอีกหลายเรื่องในสังคมเรา ที่หากไม่ถูกตัดตอนไปเสียก่อน ก็จะถูกริดก้านริดใบไม่ให้โตตั้งแต่ต้น ถึงอย่างไรการห้ามก็ดูเป็นมาตรการที่ง่ายและแสนสะดวกใจของชนชั้นปกครองมากกว่า

 


 

อ้างอิง

  • ปัญหาการผูกขาดอุตสาหกรรมน้ำตาล

https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=2&cad=rja&uact=8&ved=2ahUKEwj1vbGxxPblAhUJzDgGHc7GDaYQFjABegQIBRAC&url=http%3A%2F%2Fwww.ocsf.or.th%2FResearch%2Frese%2520-%252018.doc&usg=AOvVaw0s2CSmtTpZgP5uVwmZSlPQ

https://tdri.or.th/2015/02/posttoday20150213-2/

  • เรื่องสหกรณ์

https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-041.pdf

  • เรื่องสุราชุมชน

https://news.thaipbs.or.th/content/274055

https://www.thaihealth.or.th/Content/23302-ถกแก้ปัญหาสุราชุมชนเถื่อน.html

http://cas.or.th/cas/wp-content/uploads/2019/06/สุราชุมชนสถานการณ์ปัญหาในสังคมไทย.pdf

https://surathai.wordpress.com/2015/05/12/wait-and-do-nothing/

https://surathai.wordpress.com/2014/11/22/never-win/

https://www.econ.cmu.ac.th/econmag/journals/issue13-1_2.pdf    

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save