fbpx
สนทนากับ ‘ชลิตา บัณฑุวงศ์’ เมื่อฝ่ายความมั่นคงต้องการให้ประชาชนเงียบ

สนทนากับ ‘ชลิตา บัณฑุวงศ์’ เมื่อฝ่ายความมั่นคงต้องการให้ประชาชนเงียบ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ข้อหายุยง ปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามมาตรา 116 ถูกใช้กล่าวหาคนที่เห็นต่างจากรัฐ

โดยเฉพาะเคสล่าสุดอย่างหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการรวม 12 คน ถูก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดี หลังจากพวกเขาร่วมเสวนาเรื่อง “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 ที่ลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี

101 สนทนากับ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกฟ้อง ซึ่งบทบรรยายของเธอบนเวทีกลายเป็นเป้าถูกเอาไปขยายผลจนเกิดบรรยากาศแห่งความกลัว และกำลังแผ่ซ่านไปท่ามกลางวาระผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายประชาธิปไตยในขณะนี้

ก่อนจะเริ่มทำความเข้าใจว่าเธอคิดอะไร และข้อกล่าวหาที่เธอได้รับกำลังสะท้อนอะไร ต่อไปนี้คือคำถอดเทปบทบรรยายของเธอที่พูดไว้บนเวทีดังกล่าว ที่เป็นสาเหตุให้ฝ่ายความมั่นคงเดือดเนื้อร้อนใจจนไม่อาจยอมรับได้

ซึ่งบางความหมาย อาจหมายถึงไม่ควรพูด เมื่อไม่ควรพูดก็จะเหลือแต่ความเงียบนั่นเอง

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกฟ้อง

ขอบคุณผู้จัดที่เชิญมาในงานนี้ รู้สึกได้รับเกียรติอย่างมากที่ได้มาพบพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ได้ทราบผลการลงประชามติ รธน. รู้สึกชื่นชมและภาคภูมิใจต่อพี่น้องประชาชนชายแดนใต้เป็นอย่างมากที่ส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่รับร่าง รธน. ทราบว่าหลายคนทำงานกันหนักมากในการนำเสนอข้อมูลของ รธน. ที่มันส่งผลกระทบต่อพื้นที่สามจังหวัด โดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษาและศาสนา ตอนนั้นมีการพูดคุยเรื่องนี้กันหลังละหมาดวันศุกร์ ช่วงละศีลอด ก่อนลงประชามติมีการแปลเอกสาร รธน. เป็นภาษามลายูอักษรยาวี ทำงานกันคึกคักมาก และประสบความสำเร็จในที่สุด

วันนี้ก็เช่นกัน เราจะมาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดิฉันในฐานะนักวิชาการ เราจะช่วยพี่น้องในกระบวนการนี้ หากหลายคนดูข่าวจะทราบว่าเรามีการตั้งคณะ ครช. หรือคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะประกอบด้วยนักวิชาการ ภาคประชาชน นักศึกษา นักกิจกรรม ที่มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย จะร่วมมือกันในการรณรงค์แก้ไข รธน.ของประชาชน เฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ เรามีองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมกับ ครช. อยู่หลายกลุ่ม ตั้งแต่เครือข่ายนักวิชาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนส.จชต.), องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี, เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เราจะร่วมกันจัดเวทีในพื้นที่ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นว่าคิดอย่างไรต่อ รธน.และอยากได้ รธน.แบบไหน

ปัญหา จชต. เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนบอกว่าสมควรเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายควรจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดิฉันอยากเน้นย้ำว่าความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผล ต้องไม่แยกออกจากประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เอื้อต่อการสร้างการมีส่วนร่วม การคุ้มครองเสรีภาพ การเปิดกว้าง และการแสดงจำนงทางการเมือง เพราะฉะนั้น ภายใต้ระบอบ คสช. 5 ปีที่ผ่านมา และระบอบประยุทธ์ในตอนนี้ ปัญหาชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้น และภายใต้ รธน. ที่สืบทอดอำนาจระบอบเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ปัญหาชายแดนใต้คืออะไร? มีผู้อธิบายว่ามันมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักที่มีน้ำหนักมาก คือผลพวงถึงความรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม ความคับข้องหมองใจ ที่รู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชนชั้นสอง กีดกันออกจากการพัฒนาต่างๆ และในช่วง 10-15 ปีมานี้ เป็นผลจากความคับข้องหมองใจจากการถูกกระทำของรัฐ ในการกวาดล้าง ควบคุมตัว ด้วยกฎหมายพิเศษ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งมาจากแนวคิดอุดมการณ์เรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ซึ่งไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอยู่จริงและดำรงอยู่

ความยาวนานของเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี 2547-2562 ที่เกิดเหตุการณ์กว่า 20,000 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 คน บาดเจ็บ 13,000 กว่าคน เป็นเหตุการณ์ที่มีความยืดเยื้อเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกี่ยวข้องกับอะไร ก็เลยทำให้คนในพื้นที่รู้สึกหวาดกลัว ระแวง และไม่รู้สึกว่าเหตุการณ์มันดีขึ้น สถานการณ์ความไม่สงบใน จชต. มีความเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการพัฒนาสังคม ยาเสพติด ความยากจน เกลียดชัง และความแบ่งแยกระหว่างผู้คน (สถานการณ์ความไม่สงบ) ทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาที่มันซ้อนทับกันอยู่ตลอดเวลา

สถานการณ์ความไม่สงบ หากพูดในมุมของรัฐจะเห็นว่ามีแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาอยู่ 3 แนวทาง 1.ใช้กำลังทหาร ตำรวจ ในการควบคุมพื้นที่ รักษาความปลอดภัยดำเนินการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี  2.ใช้การพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิต  3.การส่งเสริมทางสังคมวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม (ส่งเสริม) การทำงานของภาคประชาชน

น่าสนใจว่าหลังจากปี 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. การแก้ปัญหาเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจที่เบ็ดเสร็จของกองทัพ แม้ว่างานด้านการพัฒนา สังคมพหุวัฒนธรรม การส่งเสริมภาคประชาสังคม ไม่ควรจะเป็นงานของความมั่นคง แต่ควรจะเป็นงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ แต่ทหารกลับมีอำนาจและมีบทบาทในทุกด้าน ด้วยกลไกของ กอ.รมน. ทำให้กองทัพมีอำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชา และดูแลทุกหน่วยงาน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) มีหน้าที่ในการอำนวยการ บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าจะรวมถึงการบูรณาการกองทัพด้วย แต่ปัจจุบันยุค คสช. ศอ.บต.กลับไปอยู่ภายใต้ กอ.รมน.

ทั้งนี้ พบว่าการแก้ปัญหาของรัฐประสบปัญหาหลายด้าน ในส่วนของการใช้กำลังปราบปรามหรือการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ พบว่ามีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ผลที่เกิดขึ้นคือ อับดุลเลาะ (อีซอมูซอ) และหลายคน ที่พิการและเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ หลายรายถูกจับแต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ไม่มีศักยภาพในการต่อสู้คดีได้ เข้าไม่ถึงสิทธิในการประกันตัว เช่นคดีระเบิดน้ำบูดู รวมถึงแนวทางการพัฒนาของรัฐ พบว่าเนื่องจากชนชั้นนำของไทยมองว่า ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ก็จะแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ จึงพยายามพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ นำชาวบ้านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ซึ่งคนได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่เป็นชนชั้นนำ ผู้มีอิทธิพล ในขณะที่การส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมของรัฐมีข้อจำกัดที่เป็นการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐเท่านั้น มากกว่าที่จะพูดถึงความหลากหลาย สิทธิ และความเท่าเทียม

แนวทางแก้ปัญหาทั้ง 3 ของรัฐมีปัญหามาก ภาคประชาชนพยายามที่จะเสนอ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดีกว่า มีข้อเรียกร้องหลายอย่าง เช่น เรี่องการยกเลิกกฎหมายพิเศษ การปกครองรูปแบบพิเศษ เป็นต้น นี่คือสถานการณ์โดยรวม

ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตราที่พี่น้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา และศาสนา ที่พี่น้อง จชต. กังวล มันก็ยังคงอยู่ มีปัญหาสำคัญคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวประชาชน เพราะมีการให้อำนาจแก่องค์กรอิสระต่างๆ มากมาย เหนือองค์กรที่มาจากอำนาจของการเลือกตั้ง พี่น้องลองคิดดู หลังการเลือกตั้ง เราได้ ส.ส. เมื่อมีปัญหาความเดือดร้อนทุกวันนี้ ส.ส. มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา ไปหาถึงบ้าน นำปัญหาไปพูดในสภา เราจะเห็นว่ากลไกรัฐสภาสำคัญอย่างไร แต่ รธน. นี้ กลับลดอำนาจองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

สรุปสุดท้าย ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข รธน. ใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในบริบทของ จชต. คิดว่าเราสามารถใช้เวที รธน. มาถกเถียงถึงใจกลางของปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหา จชต. ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้ ฉะนั้นเราต้องการรัฐที่มีความแยกย่อย ยืดหยุ่น มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ สามารถจินตนาการถึงการเมืองประเภทต่างๆ ได้ เช่น ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ดิฉันหวังว่าในกระบวนการแก้ รธน. เราจะมีพื้นที่จะสามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ เราจะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะถกเถียงกันในมาตราต่างๆ ใน รธน. ที่เราจะแก้ไข (ปัญหาชายแดนใต้) ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ขอบคุณค่ะ

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกฟ้อง

อะไรทำให้อาจารย์ไปผูกพันกับชีวิตผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้

เราไปสามจังหวัดฯ ครั้งแรกประมาณปี 2544 ตอนนั้นยังทำงานที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นองค์กรเอ็นจีโอที่ทำประเด็นสืบเนื่องมาจากข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนที่ชุมนุมกันหน้าทำเนียบรัฐบาล 99 วัน ช่วงปี 2540

ตอนนั้นเครือข่ายเกษตรกรเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีปัญหากับภาครัฐ และพยายามเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้รัฐจัดสรรงบประมาณมาแก้ปัญหา เรียกร้องให้รัฐบาลขยับจากการส่งเสริมให้เกษตรกรทำผลิตภัณฑ์เชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืน บนแนวคิดว่างบประมาณของรัฐเป็นทรัพยากรส่วนรวมที่ควรจะให้ชาวบ้านได้มีส่วนในการตัดสินใจ

พอองค์กรเกษตรกรจากทุกภาครวมตัวกันและแบ่งเป็นกลุ่มตามลักษณะของระบบนิเวศ ชาวบ้านในสามจังหวัดฯ ก็รวมตัวกันเป็นหนึ่งในเครือข่าย ใช้ชื่อว่าเครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรี ชาวบ้านที่เป็นมลายูมุสลิมที่เป็นชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากความพยายามของรัฐในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายบุรีก็รวมตัวกัน เพราะถ้าปล่อยให้มีเขื่อน มันจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่หลายชุมชน ชาวบ้านจึงออกมาคัดค้าน สุดท้ายรัฐบาลในยุคนั้นก็มีมติคณะรัฐมนตรียุติการสร้างไป หลังจากนั้นองค์กรชาวบ้านก็พยายามทำงานต่อเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดยผันตัวมาเป็นเครือข่ายเกษตรนำร่อง

ช่วงนั้นเห็นความขัดแย้งในพื้นที่ที่เรื้อรังมาถึงปัจจุบันบ้างหรือยัง

ก่อนปี 2547 เราเป็นผู้ประสานงานวิจัยที่มีลักษณะงานวิจัยท้องถิ่น ชาวบ้านเขามีโจทย์การวิจัยของเขา เราก็ไปติดตามดู นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าไปในพื้นที่และได้เห็นวิถีชีวิต-วัฒนธรรมผู้คน ตอนนั้นยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง เราอาจจะยังเห็นไม่ชัด เพราะเราเข้าไปทำงานในส่วนของประเด็นเกษตร

แต่หลังจากปี 2547 เป็นต้นมา งานวิจัยต่างๆ ที่เราเคยทำมันหยุดชะงัก รวมถึงเครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรี เพราะทุกคนไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น กว่าจะตั้งหลักกันได้ก็ใช้เวลาอีกเป็นปีถึงได้กลับมาเริ่มทำงานกันใหม่ แต่เราก็ไปเรียนต่อพอดี แล้วก็กลับมาลงพื้นที่อีกครั้งช่วงปี 2552-2553 เพื่อทำวิจัยปริญญาเอก เราคิดว่าปัญหาความไม่สงบน่าจะมีอะไรบางอย่างเชื่อมโยงกันได้ แต่อาจไม่เคยมีคนนำมาเชื่อมโยงกัน

จริงๆ คุณทำวิจัยปริญญาเอกอย่างเดียวได้ไหม เสร็จแล้วก็จบ ทำไมถึงยังสนใจติดตามมาจนถึงวันนี้ จนเจอประเด็นที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนขึ้น

ส่วนตัวมันเป็นความผูกพันกับผู้คน เพราะเราชอบและชื่นชมวิถีมลายูมุสลิม อยากรู้ว่าเขาอยู่กันยังไง และอยากเชื่อมโยงประเด็นที่เราสนใจกับสิ่งที่เขาเจอ เพราะเราเป็นสายมานุษยวิทยานิเวศที่เน้นประเด็นนิเวศวิทยาการเมือง

ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นคือตอน ป.4 เราเคยตามพ่อไปอยู่ที่อำเภอรือเสาะ (นราธิวาส) 1 ปี เพราะพ่อเป็นตำรวจ เราอยู่ที่นั่นและเรียนที่นั่น มันทำให้สามจังหวัดฯ สำหรับเราไม่ใช่สิ่งแปลกแยก

ตอนทำวิจัย อาจารย์เห็นความเชื่อมโยงในปัญหาความไม่สงบกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สนใจอยู่แล้วอย่างไร

เราเห็นว่าสามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา มีโครงการขนาดใหญ่เข้าไป มีการระดมทรัพยากรอย่างมหาศาลเข้าไปในพื้นที่นี้ มีหน่วยงานรัฐไปตั้งในพื้นที่มากมาย

หนึ่งในโครงการที่เข้าไปคือโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ป่าพรุขนาดใหญ่ รวมไปถึงความพยายามก่อสร้างเขื่อนสายบุรีก่อนหน้านั้นด้วย เราเห็นว่ามันมีเหตุผลด้านความมั่นคง เพราะมันมีความพยายามของชนชั้นนำในการซื้อใจคนในพื้นที่ที่มีปัญหาความยากจน

เช่น รัฐมองว่าพื้นที่ป่าพรุส่วนใหญ่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าไร้ประโยชน์ ก็จะทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา เช่น เอาน้ำออกจากพรุด้วยการสร้างประตูน้ำ ทำให้เป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งมันก็ทำได้จริง แต่มันมีผลกระทบและต้นทุนที่ไม่ได้พูดถึง แล้วทรัพยากรที่รัฐทุ่มลงไปก็เป็นโมเดลการพัฒนาที่กระจายอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

จริงๆ งานของเราไม่เกี่ยวกับประเด็นความมั่นคง แต่การที่เราใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน เราได้เห็นชีวิตของชาวบ้าน เรื่องความมั่นคงมันกระทบชีวิตของชาวบ้านอยู่ทุกวัน ชาวบ้านคนหนึ่งต้องเจอปัญหาหลายมิติมาก จนบางคนต้องอพยพไปมาเลเซีย

ที่ผ่านมาคนในพื้นที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนมาเลเซียที่รวยกว่า แล้วจะรู้สึกน้อยใจว่าตนไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ หลายคนก็ออกจากรัฐไทยไปอยู่ที่อื่น ทำให้รัฐไทยพยายามอย่างมากที่จะแก้ปัญหาด้วยการพัฒนา

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกฟ้อง

ทำไมความพยายามของรัฐไทยในการแก้ปัญหาในพื้นที่ จึงดูเหมือนยิ่งทำให้ปัญหาพัลวันและรุนแรงขึ้น

รัฐไทยโดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนายังไม่เรียนรู้และยังใช้วิธีแบบเดิมๆ อยู่ ซึ่งมันกระทบต่อทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพดิน การไหลเวียนของน้ำ วิถีการทำมาหากินของชาวบ้านที่เคยใช้ ที่ดินสาธารณะก็เปลี่ยน พอการพัฒนาแบบรัฐไทยเข้ามามันก็ถูกจัดสรรใหม่ ที่ดินกลับไปเป็นของรัฐ มันไม่ใช่วิถีแบบที่เขาทำกันมา

แล้วหมู่บ้านที่เราเข้าไปอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเรียกว่าหมู่บ้านโจร เพราะมันมีการตรวจค้นและค้นหาผู้ต้องสงสัยเป็นประจำ โรงเรียนปอเนาะถูกเจ้าหน้าที่ค้นถี่มาก พอเป็นแบบนี้มันทำให้คนหวาดกลัวและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ บางคนไม่กล้าอยู่บ้าน ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น บางคนมีค่าหัวติดอยู่ตามด่านตรวจ

ลักษณะแบบนี้ทำให้เห็นว่าเขาอยู่ในความหวาดกลัวกัน และมันไม่มีทางออกถาวร มีแต่ทางออกแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ชาวบ้านพาลูกหรือพาหลานไปรายงานตัวกับทหารเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เหมือนคดีบูดูที่มีการหว่านจับกุมนักศึกษามุสลิมจำนวนมาก ก็ยิ่งสร้างความหวาดกลัวสะสมไปเรื่อยๆ

อย่างคดีนี้ ทราบว่าอาจารย์ได้เข้าไปดูแลญาติผู้ต้องหาด้วย

จริงๆ แทบไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนที่เป็นข่าวครั้งแรก เพราะมีการปูพรมตรวจค้นที่ย่านรามคำแหง และลามไปในมหา’ลัยต่างๆ รวมถึงที่ม.เกษตรศาสตร์ด้วย เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเครือข่ายนักวิชาการที่ต้องแสดงบทบาทในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับบรรดาญาติๆ ผู้ต้องหา

พอเรารู้ว่ามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยแล้วถูกนำตัวมาฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตอนนั้นเราไปเยี่ยมผู้ต้องหาคดีอื่นที่เรือนจำ ทำให้เจอกลุ่มคนที่เรารู้ว่ามาจากสามจังหวัดภาคใต้แน่ๆ พอเข้าไปคุยก็เลยรู้ว่าเป็นคดีนี้ จากนั้นก็เริ่มติดต่อกัน เพราะตอนนั้นเขาพยายามติดต่อการประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม แต่ไม่มีความคืบหน้า เราก็ช่วยประสานให้

อีกอย่างคือตอนนั้นคดีนี้มันเงียบมาก ยังไม่เป็นที่รับรู้ขององค์กรสิทธิมนุษยชนเท่าไหร่ เราคิดว่าถ้าเป็นคนอื่นที่สนใจปัญหาภาคใต้อยู่แล้วก็คงอยากช่วยเหมือนกัน จากนั้นก็มีองค์กรสิทธิฯ เข้ามาช่วยมากขึ้น

อาจารย์ติดตามปัญหาในพื้นที่มานาน ถึงที่สุดแล้ว ทำไมถึงเสนอว่าสังคมไทยควรจินตนาการถึงการปกครองที่ยืดหยุ่นกว่าที่เป็นอยู่

เพราะมันมีงานศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้หลายชิ้นที่มีข้อสรุปในทำนองนี้ แต่มันเป็นข้อสรุปที่ไม่ค่อยมีการสื่อสารกับสังคมว่า รูปแบบการปกครองแบบไหนที่จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความไม่สงบ

ที่ผ่านมามันไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงระหว่างงานวิชาการกับประชาชน เรารู้สึกว่าควรต้องขยายความคิดทางวิชาการให้คนทั่วไปได้รับรู้

พูดตรงๆ คือเราไม่ใช่คนแรกที่พูดเรื่องนี้ และงานของเราก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง แต่มีงานวิชาการเยอะมากที่พูดเรื่องนี้ รวมถึงภาคประชาสังคมเองก็มีการพูดเรื่องนี้ด้วย แต่เราไม่ได้มองว่าการมีรูปแบบการปกครองที่ยืดหยุ่นจะเป็นทางออกเดียว มันต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง สังคมมลายูมุสลิมก็ยังมีชนชั้นอีกหลายรูปแบบ มีผู้นำศาสนา มีนักการเมือง หลายคนยังกลัวว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ ก็จะทำให้อำนาจไปตกอยู่กับชนชั้นนำในท้องถิ่นเหล่านั้น นี่เป็นรายละเอียดที่ต้องคุยกันมากขึ้นไปอีก

จากวันที่สนใจแค่ประเด็นเกษตรยั่งยืน เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งตัวเองจะถูกกล่าวหาว่าสร้างความกระด้างกระเดื่องให้ประชาชน

ไม่เคยคิด วันนั้นเนื้อหาหลักบนเวทีคือปัญหาชายแดนภาคใต้กับการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็พยายามประมวลว่าปัญหาชายแดนภาคใต้คืออะไร และที่ผ่านมารัฐแก้ไขปัญหาอย่างไร และแต่ละวิธีมันไม่ได้ผลอย่างไร ซึ่งเราก็บอกว่ามันมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา และมันมีข้อเสนอจากการจัดเวทีเสวนาหลากหลายวิธีที่ผ่านมาว่าเขาพูดถึงอะไรกันบ้าง เช่น การกระจายอำนาจ แล้วเราก็บอกว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าสาเหตุของปัญหาความไม่สงบ คือปัญหาเรื่องลักษณะรูปแบบการปกครองของรัฐที่ไม่เอื้อต่อความหลากหลายในทางวัฒนธรรม การปกครองที่เป็นอยู่ไม่สามารถโอบรับความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ได้

เราพยายามพูดไม่ให้ซ้ำกับที่พรรคการเมืองพูด เพราะพรรคการเมืองก็เน้นไปที่เรื่องที่มาของ ส.ว. เรื่องการเลือกตั้ง เราเลยอยากคุยเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ตอนที่พูดจบนั้น คนฟังในเวทีก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการพูดที่จะนำไปสู่ปัญหาอะไร มันเป็นการนำเสนอแบบวิชาการธรรมดาๆ มาก

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกฟ้อง

เวลาพูดเรื่องรูปแบบการปกครอง มุมมองของชาวบ้านต่างจากรัฐอย่างไร

สำหรับชาวบ้าน เขาสะท้อนจากมุมอัตลักษณ์ทางศาสนาหรือชาติพันธุ์มากกว่า เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับการยอมรับจากราชการ เขาอาจไม่ได้คิดไปถึงรูปแบบการปกครอง

ส่วนวิธีคิดของรัฐ ถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์ รัฐไทยหวาดระแวงมาตลอดเวลา เพราะการต่อต้านรัฐไทยมีมาต่อเนื่องยาวนาน แม้บางคนไม่ได้แสดงออกชัดเจนว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เช่น ภาคประชาสังคม แต่ก็มีการเสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษและกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่เรื่องรูปแบบของรัฐไม่ค่อยมีใครพูดตรงๆ

พออาจารย์พูด ก็เลยถูกมองว่าเป็นนักวิชาการที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ

กลายเป็นฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเหรอ (หัวเราะ) สิ่งที่เราพูด เราพูดจากฐานความคิดของผู้คนและพูดจากสิ่งที่นักวิชาการหลายคนเคยเสนอไว้ และมันเป็นข้อเสนอที่ชัดเจน เราคิดว่าถ้าเราอยากให้งานวิชาการมันเกิดประโยชน์จริงๆ ก็ควรให้พื้นที่กับข้อเสนอเหล่านี้ แต่ถ้าคนในพื้นที่ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นและเห็นว่ามีวิธีอื่นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่เมื่อเราเป็นนักวิชาการ เรามีข้อมูลจากภาคสนามและข้อมูลจากงานวิชาการ มันจึงนำมาสู่สิ่งที่เราพยายามนำเสนอ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นข้อเสนอเดียวก็ได้

แล้วพอกองทัพโดย ผบ.ทบ. ออกมาอภิปรายสดเรื่องความมั่นคง อาจารย์คิดอย่างไร

ประวัติศาสตร์ที่ ผบ.ทบ. พูด เป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยมจัดมาก และเป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยพยายามปลูกฝังให้เป็นสายหลักของประเทศไทย

แต่จริงๆ คือมีงานประวัติศาสตร์จำนวนมากที่พยายามชี้ให้เห็นว่าความเป็นรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อก่อนสังคมไทยเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอาณาจักรอื่นๆ มันไม่ได้เป็นชาติแบบชัดเจนตายตัวอย่างปัจจุบันนี้ ไม่รู้ว่าทำไมทีมงานของ ผบ.ทบ. ไม่อ่านเรื่องพวกนี้เลย

อาจารย์เห็นเหตุผลอะไรที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเดือดเนื้อร้อนใจเสมอ เวลาพูดเรื่องรูปแบบการปกครอง โดยเฉพาะเรื่องรัฐเดี่ยว

ส่วนตัวเราไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องประหลาดเลยนะที่พูดเรื่องนี้ ถ้ามองกลับไป เราพูดวันแรกยังไม่มีอะไร จนสื่อบางสำนักค่อยๆ ปั่นและบิดเบือนให้เป็นประเด็นขึ้นมา

ถ้ามองตามสามัญสำนึกปกติ สิ่งที่เราพูดไม่ได้มีความผิดปกติอะไรเลย อาจเป็นเพราะเราไปพูดในพื้นที่สามจังหวัดด้วย แต่ถ้าเราดูจากสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามผูกโยง เราจะเห็นว่าเขาพยายามอธิบายให้ทุกอย่างเป็นขบวนเดียวกัน ตั้งแต่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) ไปจนถึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ยิ่งพอไปพูดเรื่องนี้ในสามจังหวัด เขาอาจคิดว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการขยายความคิด ซึ่งจริงๆ การเตรียมเนื้อหาของเรา เราไม่ได้คุยกับใครเลย กับธนาธรก็ไม่ได้คุยอยู่แล้ว แต่ละคนพูดเนื้อหาที่ตัวเองเตรียมมา

พอเราพูดเสร็จ คนในเวทีเขาก็ชอบกันมากนะ แต่พอผ่านไปประมาณ 2-3 วัน หลังจากบางสื่อเริ่มเอาไปบิดเบือน คนก็เริ่มเงียบ คนในหมู่บ้านก็ไม่กล้าพูด ได้ยินว่าชาวบ้านถูกกดดันมากเรื่องการพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความหวาดกลัวให้คนไม่กล้าพูดถึงปัญหาชายแดนภาคใต้

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกฟ้อง

เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่แค่ประชาชนถูกทำให้กลัวฝ่ายเดียว แต่ผู้มีอำนาจก็กลัวประชาชนด้วย

เราคิดว่ามันเป็นสภาวะอะไรก็ไม่รู้ แต่วังเวงมาก มันสะท้อนความน่ากลัวบางอย่าง แต่เป็นความน่ากลัวที่เราต้องป้องกันไม่ให้เกิด เราต้องสู้สุดชีวิตไม่ให้มันเกิดซ้ำอีกเหมือนสมัย 6 ตุลาฯ ที่มีนักศึกษาไปเล่นละครแขวนคอ ตอนนั้นพวกเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะถูกเอาไปบิดเบือน ปั่นกระแสจนกลายเป็นอีกเรื่อง

เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าตอนนี้เราสามารถเข้าถึงสื่อโซเชียลกันได้ทุกฝ่าย ก็เลยมีการสู้กันทางข้อมูลกันไปมา แต่ปัญหาคืออีกฝ่ายยังพยายามใช้วิธีการเดียวกันกับเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เป็นวิธีที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ข้ออ้างเดียวกันในการจัดการคนที่คิดต่าง

ถึงเราจะกลายเป็นผู้ต้องหา แต่เรื่องของคดีเราก็สู้ไปตามขั้นตอน ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะตัวเองก็คุ้นเคยตั้งแต่ไปเป็นนายประกันให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่โดนคดีตาม ม.116 เหมือนกัน

เดี๋ยวก็จะมีคำให้การของพยาน ซึ่งเวลานั้นเราอาจจะต้องขอความร่วมมือจากนักวิชาการหลายๆ ส่วนที่จะมาเป็นพยาน ทั้งในชั้นทำสำนวนและชั้นศาล เพื่อยืนยันหลักการในการพูดถึงปัญหาภาคใต้

จากนักมานุษยวิทยา ขยับมาเป็นนายประกันให้ประชาชนคนอยากเลือกตั้ง สู่การเป็นผู้ถูกฟ้องเสียเอง อาจารย์เคยรู้สึกว่าพอแล้วบ้างไหม สู้ไปไม่ได้อะไร

มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราก็ต้องสู้ต่อไป เพราะผู้มีอำนาจพยายามทำให้พวกเราเงียบและไม่กล้าพูด ถ้าเคสนี้เขาจัดการได้สำเร็จ เขาก็คงคิดว่านักวิชาการคนอื่นๆ จะเงียบเหมือนกัน

ชาวบ้านในพื้นที่ที่คุ้นเคยกับอาจารย์เขาคิดอย่างไร เมื่ออาจารย์ถูกหาว่าสร้างความกระด้างกระเดื่อง

พอมันมีข่าวเราเยอะๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านบางคนเขาก็ตกใจนะ บางคนเป็นหอบ ไมเกรนขึ้น ร้องไห้ เขามีอาการเหมือนตอนที่ลูกๆ เขาถูกทหารเอาตัวไป คือเขาทำอะไรไม่ได้ เขาทำได้แต่ละหมาดฮายัตให้ มันสะท้อนให้เห็นว่าพอเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนใกล้ชิดเขา เขาจะอ่อนแอมาก ทำได้แต่ร้องไห้ เหมือนตอนที่ลูกเขาโดนเชิญตัวไป

แต่ที่ใหญ่กว่านั้นคือมันสะท้อนถึงความคับแค้นของผู้คนที่ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็ใช้ศาสนาเป็นที่พึ่ง เขาอยู่กันแบบนี้ในสามจังหวัด อยู่กับความอดทน มองไม่เห็นทางออก พอเกิดเหตุก็มีแต่ความเงียบจากฝ่ายต่างๆ

แต่ถึงที่สุดจะให้เงียบตลอดไปก็ไม่ได้

หลังเหตุการณ์มีเพื่อนอาจารย์ลงชื่อ 268 คน ในแถลงการณ์ก็ยืนยันชัดเจนว่าเราต้องถกเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญได้ ไม่ว่ามาตราใดควรสามารถคุยกันได้หมด เพราะมันเป็นเสรีภาพทางวิชาการ

แต่ในส่วนของคนสามจังหวัดนั้น เราก็ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม เพราะฝ่ายความมั่นคงเขาทำงานกันจริงจัง และค่อนข้างประสบความสำเร็จในมุมของเขา

อาจารย์กังวลไหมว่าในเมื่อพื้นที่วิชาการยังถูกคุกคามขนาดนี้ ต่อไปอาจไม่เหลือพื้นที่อะไรให้คุยกันแล้ว

เราก็ต้องยืนยันผ่านวิธีการทำงานของเรา ซึ่งก็คือการศึกษาวิจัย และต้องพูดผ่านตรงนั้นให้เยอะๆ มันไม่มีใครพรากความเป็นนักวิชาการไปจากเราได้ถ้าเราเชื่อในงานที่ทำ จริงๆ ไม่ได้กังวลมาก เพราะเราสามารถพูดเรื่องภาคใต้ได้อยู่เสมอตราบใดที่เรายังศึกษาไม่หยุด เว้นแต่เขาจะเอาเราไปไว้ในเรือนจำ (หัวเราะ)

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งใน 12 คนที่ถูกฟ้อง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save