fbpx
ประท้วงด้วย Hashtag: การเมืองภาคประชาชนในโลกออนไลน์ กับ ชัยพงษ์ สำเนียง

ประท้วงด้วย Hashtag: การเมืองภาคประชาชนในโลกออนไลน์ กับ ชัยพงษ์ สำเนียง

ปรางชณา ภัทรนรากุล เรื่อง

“นักเลงคีย์บอร์ด”

“เก่งแค่ใน Twitter”

“ม็อบมุ้งมิ้ง”

และอีกหลายถ้อยคำถูกใช้เพื่อสบประมาทลดทอน ‘การเคลื่อนไหวทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย’ ตลอดช่วงเวลา 1-2 ปีที่ประเด็นต่างๆ ในขอบเขตนิยามของคำว่า ‘การเมือง’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น หากแต่ยอด Hashtag ที่แตะ 10 ล้านครั้งของ #เยาวชนปลดแอก ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดีที่สามารถบอกใบ้เราได้เป็นนัยว่า ทิศทางของการเมืองไทยอาจดำเนินมาถึงอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญแล้ว พร้อมกับการตั้งคำถามว่า การเมืองภาคประชาชนในโลกออนไลน์มีพลังมากเพียงใด และปรากฏการณ์นี้จะส่งผลต่อทิศทางของประชาธิปไตยไทยในอนาคตอย่างไร

101 สนทนาออนไลน์กับ ชัยพงษ์ สำเนียง จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผู้ศึกษาเรื่องการเมืองในโลกดิจิตอล ในบ่ายวันหนึ่งก่อนคาราวานของการชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะเริ่มต้นขึ้น

การเมืองภาคประชาชนในโลกออนไลน์มีความสำคัญขึ้นมาตั้งแต่ตอนไหน?

ผมคิดว่าเกิดจากโลกตะวันตกก่อน เช่น กรณี Occupy Wall Street ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 2010 มีการนัดหมายกันผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ส่วนกรณีที่เห็นชัดว่าใช้ออนไลน์สร้างการปลุกระดมคือกรณีของอาหรับสปริง เกิดขึ้นในหลายประเทศตั้งแต่อียิปต์ ซูดาน ประเทศเหล่านี้ล้วนใช้การสื่อสารออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อน จนมาถึงใกล้ๆ บ้านเรา เช่น การประท้วงในฮ่องกง ซึ่งแต่ละที่อาจจะไม่ได้ใช้ Facebook Twitter แบบเรา อาจจะใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้เห็นคือ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงผ่านการนัดหมาย การต่อสู้ผ่านโลกออนไลน์ ก่อนจะมาสู่ภาคถนน

ถามว่ามันมีความแตกต่างจากการเมืองในภาคกายภาพอย่างไร ผมว่าสิ่งสำคัญก็คือการเมืองในโลกออนไลน์มันนำมาสู่ ‘การนัดหมายแบบไม่ต้องมีการจัดตั้ง’ แต่มันต้องมีการก่อรูปทางความคิดระดับหนึ่ง หลายครั้งเราจะเห็นว่ามันไม่ได้เกิดอย่างปุ๊ปปั๊ป ถ้าคนไม่มีอะไรในหัว ก็ไม่สามารถที่จะออกมารวมตัวกันได้ในภาคกายภาพ คือมักมีการถกเถียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งในโลกอินเทอร์เน็ตก่อนและต่อต้านอะไรบางอย่างร่วมกัน แล้วจึงเกิดปรากฏการณ์หรือการเคลื่อนไหวขึ้นมา

พื้นที่ออนไลน์เป็นแค่เครื่องมือในการระดมพลไหม?

มองได้ 3 อย่าง หนึ่ง เป็นเครื่องมือในการระดมพล เพราะสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว โดยมี Hashtag ต่างๆ เป็นตัวเชื่อมร้อยทำให้คนสามารถรวมตัวนัดหมายได้ เราจะเห็นว่าบางคนเราแทบไม่รู้จักตัวตนของเขาเลย แต่การที่เขาสื่อสารในเรื่องต่างๆ คนก็ไม่ได้สนใจว่าเขาคือใคร คนไม่ได้ดูมันมากมาย โดยเฉพาะ Twitter กลายเป็นสถานที่ที่คนมากหน้าหลายตามาอยู่ด้วยกัน ไม่เหมือน Facebook หรือ Line ที่อย่างน้อยต้องเป็นคนใกล้ชิดหรือรู้จักกัน

สอง มันคือกระบวนการก่อตัวทางความคิดและความรู้ เมื่อก่อนคนที่จะศึกษาเรื่องพวกนี้อยู่ในกลุ่มจำเพาะ แต่การมีโลกออนไลน์นำมาสู่การที่ใครก็ได้จะเป็นสื่อหรือเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ พอความรู้แพร่กระจายและก่อตัวผ่านตัวบุคลคลมากขึ้น คนก็นำเรื่องที่ตนเองสนใจมาเชื่อมร้อยกันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ หรือผ่านประเด็นที่มีการถกเถียงกัน

สาม พื้นที่ตรงนี้ทำให้การผูกขาดความรู้ ความจริง ไม่ได้อยู่แค่ในสื่อกระแสหลัก เมื่อก่อนเราต้องดูทีวีช่อง 3 5 7 9 ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ กว่าจะออกมา หนังสือพิมพ์ก็ต้องอ่านวันต่อวัน การสื่อสารที่รวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาได้ยากในโลกออนไลน์ทำให้รัฐควบคุมได้จำกัด ไม่ใช่ว่าควบคุมไม่ได้นะ เขาก็พยายามจะสร้างปฏิบัติการทางข่าวสารต่างๆ นานา แต่สิ่งที่เขาทำไม่ได้คือมันมีจำนวนไหลเวียนมหาศาล เป็นล้านๆ คุณจะไปตามแอคเคาท์ต่างๆ ได้อย่างไร มันตามได้บางคน แต่ไม่สามารถตามได้ทั้งหมด เท่ากับว่าคุณไม่สามารถปิดกั้นได้ทั้งหมดอยู่แล้ว

 

การเปลี่ยนแปลงจากการมีแกนนำม็อบ มาสู่บริบทที่ทุกคนกลายเป็นผู้ปราศรัยหรือส่งสารเองได้ สะท้อนบริบทโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

การเมืองในอดีตอยู่ในเชิงกายภาพ เวลาคุณจัดประท้วงต้องมีการจัดตั้งและระดมพลก่อน มีแกนนำกลุ่มหนึ่ง มีคนปราศรัย เหรัญญิก สวัสดิการ มีคนที่ดูแลเรื่องเวทีต่างๆ เป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง แต่ปัจจุบัน สิ่งที่คุณเห็นคือม็อบไม่มีแกนนำที่ตายตัว แกนนำสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามา การทำม็อบปัจจุบันอาจจะมีแค่ลำโพง 2 ตัว เล็กๆ มีไมค์ 1 ตัว มีการถ่ายทอดสด แล้วทุกคนก็สามารถฟังจากโทรศัพท์มือถือของตัวเองได้

อารมณ์มันไม่ได้เกิดจากแกนนำเป็นคนชี้นำ เราจะสังเกตได้ว่าม็อบหลายๆ ม็อบในต้นปี จากอดีตที่แกนนำเป็นผู้ขับเคลื่อนประเด็น ขับเคลื่อนวาระของการชุมนุม แต่ปัจจุบันคนที่ขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนวาระในการทำให้ม็อบเดินไปข้างหน้าคือ ‘คนที่ร่วมชุมนุม’ ที่มีอิทธิพลหรือศักยภาพในการกำหนดประเด็นได้มากกว่า คนไหนที่ปราศรัยไม่ตรงใจหรือไม่สามารถขับเคลื่อนม็อบได้ คนที่มาร่วมชุมนุมก็จะบอกให้เปลี่ยน แต่ในอดีตเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ และการที่ม็อบมันไม่มีหัวแบบนี้ ขบวนการจะไม่ล่มสลายจากการกำจัดหรือควบคุมแกนนำ เพราะแกนนำหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาเรื่อยๆ

อีกกรณีหนึ่งคือ ม็อบแบบอดีตต้องมาอยู่ที่ศูนย์กลางที่ใดที่หนึ่ง ต้องมารวมกันทั้งหมด ลองนึกถึง นปช. พันธมิตรฯ คุณต้องมาราชประสงค์ มาถนนราชดำเนิน แต่ม็อบที่เราเห็นหลังปี 2560 คือม็อบที่กระจายไปตามที่ต่างๆ ต่างคนต่างมีประเด็น อาจมีประเด็นใหญ่ร่วมกัน แต่ประเด็นย่อยก็แล้วแต่ภูมิภาคในแต่ละพื้นที่ของตัวเอง สิ่งนี้คือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการจัดการม็อบในสังคมไทย

ม็อบไทย ประท้วง ประท้วงด้วย hashtag

การที่ม็อบอิสระมากขึ้น หรือจัดเป็นช่วงสั้นๆ ในแง่ของการไปสู่เป้าหมาย มันมีพลังมากแค่ไหนหรือมีข้อด้อยอะไรบ้าง?

ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงอยู่ งานหลายชิ้น เช่น Hindman (2008)[1] ก็พูดว่าม็อบออนไลน์ไม่สามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเด็นใหญ่ๆ ได้ หมายความว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้ แต่ว่าเราก็จะเห็นหลายที่ที่ม็อบเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้เหมือนกัน แต่ผมว่าในสังคมไทยเรายังไม่ได้ทดลองดีพอ หมายถึงว่ากลุ่มนี้เกิดมาในช่วงเวลาที่สั้นมาก พอสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ทำให้ไม่สามารถเห็นได้ว่าม็อบที่กำลังจะก่อตัวมีพลังหรือไม่ในการเปลี่ยนแปลง

เอาจริงๆ ม็อบในโลกนี้ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงโดยม็อบ ผู้ชุมนุมโดยลำพังไม่เคยสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมได้อยู่แล้ว อย่าง 14 ตุลา 2516 ใหญ่โตโอ่อ่าขนาดไหนก็เปลี่ยนได้แปปเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าในห้วงเวลานั้นชนชั้นนำก็มีความแตกแยกกันอยู่แล้ว หรือว่าขบวนการผิวดำในสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมได้ แต่การก่อตัวของม็อบทำให้เกิดการถกเถียงและแรงกระเพื่อมไปทั้งสังคม ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่สิ้นสุดในวันเดียว ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากการก่อตัวและสะสมองค์ความรู้  ม็อบต่างๆ คือการสร้างแนวร่วมทางสังคม เป็นการสร้างวาระและประเด็นทางสังคมเพื่อให้เกิดการถกเถียงกันต่อไป อันนี้คือคุณูปการสำคัญของม็อบที่เด่นชัดมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

กระแสการเมืองในโลกออนไลน์ ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง 2562 ส่งอิทธิพลอะไรกับ ‘คนรุ่นใหม่’ แล้วการเกิดม็อบตามมหาวิทยาลัย เป็นแนวโน้มที่ทำให้สังคมไทยมีความหวังขึ้นไหม?

ความสำคัญคือการเลือกตั้ง ตอนนั้นมีเสียงของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้น 6-7 ล้านเสียงที่ไม่ได้เลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2557 ช่วงอายุที่เป็น Gap ที่ไม่เคยเลือกตั้ง ทำให้คนเหล่านี้เป็นเหมือน ‘สึนามิทางการเมืองของการเลือกตั้ง’ และคนกลุ่มนี้ก็โตมาภายใต้สื่อออนไลน์อย่าง Facebook Twitter Instagram และอีกหลายแพลตฟอร์มที่ผมไม่รู้จัก แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่างๆ มีความสำคัญมากขึ้นและเป็นสิ่งสำคัญของการระดมคะแนน เช่น พรรคอนาคตใหม่ใช้สื่อจำนวนมหาศาลในการอธิบายตัวเอง หากกลับไปอย่างที่พูดตั้งแต่ต้นคือ พื้นที่ตรงนี้สามารถสื่อสารได้ในมุมกว้าง ถ้าเป็นการเมืองแบบเดิมเราต้องไปเจอหน้าเชิงกายภาพ ไปหาเสียง จับมือ แนะนำตัว

อีกประเด็นหนึ่ง การที่อนาคตใหม่นำเสนอนโยบายในเชิงอุดมการณ์ ทำให้สามารถอธิบายเรื่องอำมาตย์ เกณฑ์ทหาร และอนาคตของประเทศว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น แต่กระนั้นพรรคอื่นๆ ก็ได้ผลประโยชนจากออนไลน์เหมือนกัน เช่น พรรคพลังประชารัฐ เขาก็ไปอยู่ในแพลตฟอร์มอีกแบบหนึ่ง เช่น การส่งข่าวผ่านกลุ่ม Line ในแง่นี้ การสร้างข่าวในการต่อสู้ทางการเมืองผ่านพื้นที่ออนไลน์จึงไม่ได้ผูกขาดอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ว่าอยู่ที่ประเด็นในการถกเถียงคือเรื่องอะไร และแพลตฟอร์มที่ใช้เป็นแพลตฟอร์มไหน

การเคลื่อนไหวในแต่ละแพลตฟอร์มที่ต่างกันไป สะท้อนเรื่องอัตลักษณ์ของ ‘รุ่น’ (Generation) ด้วยใช่ไหม?

ใช่ Generation มีผลต่อการเลือกใช้แพลตฟอร์ม กลุ่มอายุมีผลต่อความนึกคิด แพลตฟอร์มต่างๆ สื่อสารไม่เหมือนกัน เวลาคุณใช้ Twitter มีจำกัดคำใช่ไหม คุณต้องมีความคิดอะไรบางอย่างในหัวคุณก่อนถึงจะเข้าใจมัน ข้อความเล็กๆ แต่เชื่อมร้อยรู้กัน อย่าง #ผนงรจตกม คนที่ไม่มีอะไรในหัวแบบนี้ก็ไม่มีทางเข้าใจว่ามันคืออะไร

หรือเรื่องอายุกับตัวสารและตัวสื่อที่ไม่เท่ากัน เช่น อาจารย์คนหนึ่งที่เป็นนักการเมือง เมื่อก่อนแกเป็นคนที่มีพลังในทางการเมืองมหาศาล แต่พอมาอยู่ในโลกออนไลน์แกไม่มีพลังในการสื่อสาร ถูกถอนหงอก แกไม่ใช่สิ่งที่คนปัจจุบันสนใจ แกอาจจะเขียนหนังสือดี พูดยาวๆ ในเวทีเสวนา แต่พอมาใน Facebook แกตกไปเลย ในขณะที่คนอย่างคุณเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส แกพูดอะไรสั้นๆ ง่ายๆ ตรงใจ เด็กๆ ก็ไปชื่นชมเรียกป๋าเยอะมาก หรือคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ก็สามารถใช้สื่ออะไรแบบนี้ได้ เพราะพรรคเศรษฐกิจใหม่ไปขึ้นเวทีดีเบตแล้วสามารถพูดอะไรให้คนรุ่นใหม่เข้าใจง่ายๆ

การเมืองไทย ม็อบ ประท้วง ชุมนุม เยาวชน ออนไลน์ สิทธิมนุษยชน

พลังในโลกออนไลน์ ‘เขย่า’ อำนาจรัฐได้จริงไหม เช่น กรณีพันธมิตรชานม ก็กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศเลย

ปัญหาของรัฐต่างๆ คือการคิดว่าตัวเองผูกขาดอำนาจคำอธิบาย IO คอมมิวนิสต์จีนก็คิดว่าจะสื่อสารแบบนี้กับคนทั้งโลกได้ ต้องอธิบายซ้ำๆ ให้ฝังหัว แต่คนปัจจุบันไม่ได้คิดแบบนั้น และมีวิธีการตอบโต้ข้อมูลที่ไม่จริงในแบบของตัวเอง อย่างกรณีพันธมิตรชานมจะเห็นว่าทะเลาะกันไปไกลจนถึงเรื่องแม่น้ำโขง ดึงข้อมูลเรื่องการค้า การประท้วง การเคลื่อนไหวในทิเบต ซินเจียง ออกมาตอบโต้กับจีน

IO คือวิธีการสื่อสารตั้งแต่สงครามเย็นแล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยมต้องการสร้างข่าวในทางเดียวและต้องไปสร้างปฏิกิริยาลดทอนคนที่เห็นต่างจากตนเอง แต่พอเป็น Facebook Twitter คุณคุมไม่ได้ การที่ IO มาคอมเมนต์หรือสร้างเพจก็จะโดนเอาข้อมูลไปโต้แย้ง พอคนเอาข้อมูลไปแปะต่อหน้า IO ก็ปลิวเพราะพูดได้ทางเดียว ถูกฝึกมาให้พูดแบบเดิมๆ แต่ไม่ได้พูดในเชิงตรรกะการต่อสู้ เราจึงเห็นว่าจีนแพ้คาบ้านในสถานทูต ในไทยอย่างเพจเชียร์ลุงก็ลบโพสต์หลายครั้ง พลังประชารัฐก็แก้โพสต์ ตอนหาเสียงที่ Photoshop รูปให้ดูเหมือนว่าคนมาฟังปราศรัยจำนวนมาก พอคนจับได้ก็ต้องลบรูปไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนรูปแบบนี้ก็ยังคงใช้ได้

ปัจจุบัน IO ก็ทำงานได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่เต็มที่อีกแล้ว IO ใช้คำซ้ำๆ แต่สร้างวาระไม่ได้ ไม่มีคำอธิบาย

ถ้าแบบนี้ มองว่าแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสนามต่อสู้ระหว่างประชาชนกับ IO จากรัฐเลยหรือเปล่า?

เป็นการต่อสู้หลายแบบ พื้นที่ออนไลน์ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนเท่านั้น แต่คือการต่อสู้ระหว่างพลังอำนาจต่างๆ ในสังคม ทั้งพลังอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม แม้แต่เสรีนิยมกลุ่มเดียวกันก็อาจจะทะเลาะกัน มันมีความคิดความเชื่อที่ต่อสู้กันอยู่ในสังคม แต่พื้นที่ออนไลน์เพิ่มอิสระให้แก่การถกเถียงมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดี บางคนบอกว่าการถกเถียงในนี้อาจจะมีข้อมูลข่าวสารที่ปลอม เป็นเท็จ แต่ถ้าเราเชื่อว่าประชาชนหรือผู้คนในสังคมตื่นรู้แล้ว เรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นการต่อสู้ในการสร้างวาระทางสังคม

 

คนชอบมองว่าชาวเน็ตไทยหัวรุนแรง ขับเคลื่อนด้วยความโกรธ รุมตีคนเห็นต่าง นักเลงคีย์บอร์ดก้าวร้าว ท่าทีแบบนี้ส่งผลต่อความสำเร็จในเป้าหมายหรือสิ่งที่ขบวนการกำลังผลักดันไหม?

ที่จริง การเมืองเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกอยู่แล้ว งาน 2 ชิ้นที่ผมอยากให้ไปอ่านคือ งานของอาจารย์ Benedict Anderson ที่พูดถึง Java in a Time of Revolution: Occupation and Resistance, 1944-1946[2]   และหนังสือของ James C. Scott เรื่อง The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast Asia[3] ที่พูดถึงการต่อต้าน-กบฏของของชาวนา ทั้ง 2 เล่มนี้ พูดถึงการต่อสู้ผ่านอารมณ์ ความรู้สึก หนังสือของอาจารย์เบนพูดถึงอารมณ์ของความหวังที่ต้องการประกาศอิสรภาพ หรือว่าอารมณ์โกรธ อารมณ์ของการต่อต้านของชาวนา ที่เกิดกบฏชาวนาในพม่า เวียดนาม ก็เกิดจากอารมณ์โกรธที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ปกครองอาณานิคมหรือศักดินาเดิม

ผมคิดว่าอารมณ์มันเป็นตัวผลักดันทางการเมืองทั้งนั้น ไม่ว่าฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา เวลาเราเลือกตั้ง เราไม่ได้เลือกเพราะว่านโยบายอย่างเดียว เราเลือกเพราะความรักคนนั้น ความโกรธคนนี้ ความสัมพันธ์กับคนนี้ เยอะแยะมากมาย ไม่มีอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล 100% หรอก การเมืองเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความหวัง ความต้องการอนาคตที่ดีกว่า เช่น นักศึกษาที่ออกมาประท้วงรัฐบาลเพราะหมดหวังในรัฐบาลนี้ เพราะเขาไม่มีความหวังในชีวิต อารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ผิดบาปสำหรับทางการเมือง ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณแยกอารมณ์ความรู้สึกจากการเมือง นี่คือความผิดบาปสำหรับผม

บริบทของสังคมที่แบ่งขั้วสุดโต่ง (Deep Polarization) จนทำให้เราไม่มีพื้นที่ให้คนกลางๆ หรือคนที่ไม่สนใจการเมืองต้องถูกผลักให้เป็น Ignorance หรือโดนเหมารวมว่าเป็นสลิ่ม บริบทแบบนี้มีปัญหา หรือเป็นอุปสรรคไหม?

จะพูดว่ามีปัญหาก็มีปัญหา ไม่มีปัญหาก็ไม่มีปัญหา ในแง่ที่มีปัญหาก็คือพื้นที่ตรงกลางของผู้คนมันหดแคบลง แต่กระนั้น พื้นที่ทางการเมืองเป็นเรื่องของการถกเถียงและเป็นการเลือกระดับหนึ่ง ถ้าคุณไม่ได้มาพูดอะไรแบบนี้ มันก็ไม่ได้ทำลายชีวิตคุณจนเกินไป คนที่ไม่สนใจการเมืองเลยเขามีชีวิตดีกว่าคนที่สนใจการเมืองด้วยซ้ำนะ (หัวเราะ) บางคนมีพื้นที่ทางสังคมมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขามีพื้นที่ที่จะพูดอะไรมากกว่าคนที่เลือกเป็นซ้าย-ขวา

การเมืองของการแบ่งขั้วมันเกิดทุกที่ในโลก ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย หมายถึงว่าสังคมโลกทั้งหมดเคยแบ่งเป็นซ้าย-ขวา และต่อสู้กันอย่างยาวนาน เช่น อังกฤษก็มีพรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษ์นิยม ในเยอรมันก็มีความคิดซ้าย-ขวาชัดเจน ในโลกเสรีนิยมผ่านการต่อสู้ระหว่างซ้าย-ขวามหาศาล แต่กับสังคมไทยซ้าย-ขวาแยกไม่ออก ไม่ชัดเจน เราไม่มีนิยามว่าซ้าย-ขวาคืออะไร บางคนบอกเป็นซ้าย แต่ไปวัด บูชาศรัทธาศาสนาอะไรเยอะแยะมากมาย แบบนี้เป็นซ้ายไหม บางคนเป็นขวา แต่เชื่อว่าคนสามารถทำแท้งได้ LGBT สามารถแต่งงานได้ สังคมไทยมันไม่ได้แยกขาดระหว่างซ้ายกับขวา การเมืองไทยไม่ได้แยกขั้วเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนทำให้คนไม่มีที่ยืนตรงกลาง คนที่เป็นตรงกลางมีที่ยืนมากกว่าคนที่เป็นซ้าย-ขวาด้วยซ้ำ โดยนิยามที่เบลอๆ แบบนี้

การใช้ Hashtag ในโลกออนไลน์มีพลังขนาดไหน อย่างกรณี #saveวันเฉลิม สามารถส่งให้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสภาได้ ตัว Hashtag สามารถทำหน้าที่อะไรได้บ้าง?

มีพลังสิ บางคนบอกว่ามันไม่ได้มีพลัง ดูถูกออนไลน์ต่างๆ นานา อย่างกรณีวันเฉลิมถูกดึงไปโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล คุณโรมเอาไปพูดในสภาก็สะเทือนมหาศาล เอาตรงๆ ใครรู้จักคุณวันเฉลิมบ้าง ผมก็ไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัวเลย ขนาดอยู่ในแวดวงนี้พอประมาณ แต่พอมี #saveวันเฉลิม ขึ้นมา คนก็ตระหนักเรื่องการอุ้มหาย เรื่องการเกิดอาชญากรต่อรัฐ นำไปสู่การตามหาคุณหะยีสุหลง คุณทนงค์ โพธิ์อ่าน บิลลี่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือพ่อเด่น คำแหล่ เกิดการกลับไปหาคนเหล่านี้มากขึ้น แล้วสุดท้ายนำไปสู่การที่คนตั้งวาระทางสังคม สร้างประเด็นทางสังคมอื่นๆ อีกมากมาย ในแง่นี้โลกออนไลน์จึงมีความหมายมากกว่าการเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมในเชิงกายภาพด้วยซ้ำ อาจไม่ลงถนนปุ๊ปปั๊ป แต่ก็สามารถที่จะ save แรงคนและผู้คนได้เยอะแยะมากมาย

เมื่อก่อนเว็บบอร์ด 2 อันที่กว้างขวางใหญ่โตก็คือ ‘ฟ้าเดียวกัน’ กับ ‘ประชาไท’ เป็นกลุ่มที่สนใจการเมืองก้าวหน้า แต่ว่าก็ยังเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้สื่อสารกันกว้างขวาง อย่างล่าสุด เรื่องโควิด #อีแดงกราบตีนคนไทย ถ้าไปเขียนในตามบอร์ดเมื่อก่อน กองทัพอาจจะไม่สนใจ แต่พอไปอยู่ใน Twitter ที่คนติดแฮชแท็กเป็นล้านสองล้าน กองทัพก็สะเทือนแล้ว ต้องออกมาปฏิเสธกันเป็นพัลวัน ถ้า Hashtag ไม่มีความหมาย เขาจะปฏิเสธอะไรพวกนี้ทำไม ก็แค่ปล่อยให้เป็นสายลมแสงแดด แต่เพราะมีความหมาย ทำให้เกิดการรับรู้ทางสังคมเป็นล้าน หรือกรณีอื่นๆ เช่น  #โตแล้วเลือกเองได้ สิ่งที่สะเทือนคือเพื่อตอบปฏิกิริยาต่ออะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก รัฐหรือทุกองค์กรในสังคมต้องการคำอธิบาย ต้องการความชอบธรรม และความ Popular บางอย่างถึงจะอยู่ได้ ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยอำนาจดิบอย่างเดียว แล้วการที่ถูกกระเทือน ถูกตั้งคำถามขนาดนี้ สะท้อนว่าสถาบันหรือองค์กรไม่สามารถที่จะธำรงการอธิบายไว้ได้

การเมืองไทย ม็อบ ประท้วง ชุมนุม เยาวชน ออนไลน์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย

เห็นด้วยไหมกับคำว่า ‘การเมืองกลายเป็น Pop culture’

แน่นอนอยู่แล้ว เมื่อก่อนการเมืองถูกผูกขาดการนิยามให้เป็นเรื่องชั่วร้าย ต้องไม่พูดการเมืองในวงกินข้าว กับครอบครัว หรือไม่พูดการเมืองกับเพื่อน การเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องน่ากลัว มีความหมายเท่ากับความขัดแย้ง แต่จริงๆ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ตอนนี้การเมืองเป็นเรื่องของ Individual life ไปแล้ว ในแง่วิถีปฏิบัติทั่วไปของคนรุ่นใหม่ มันสัมพันธ์กับนโยบาย สัมพันธ์กับอนาคต ในชีวิตนี้ผมไม่เคยเห็นการดูอภิปรายในรัฐสภาผ่าน Facebook Live ด้วยยอดติดตามเยอะขนาดนี้ การสื่อสารทางโลกออนไลน์ทำให้การเมืองกลายเป็นชีวิต นักการเมืองต้องดูอารมณ์ของผู้คนตลอดเวลา ถ้าคุณพูดอะไรไม่ถูก อภิปรายในสภาไปคนก็จับตาจ้องมองตลอดเวลา พูดอะไรแบบเฉิ่มๆ ไม่อยู่ในหลักการก็โดนถล่มทันที ตอนนี้ทุกคนสามารถเป็นนักการเมือง สามารถสร้างวาระและประเด็นทางการเมืองได้ โลกออนไลน์ทำให้สิ่งเหล่านี้มันกว้างขวางและชัดเจนขึ้น

 

แนวโน้มของการที่การเมืองเป็น Pop culture จะอยู่ไปตลอดไหม หรืออาจเป็นแค่กระแสแล้วหายไป?

ถ้าเราเชื่อว่าพลเมืองมีพลวัต ประชาชนมีความเป็นพลเมืองมากขึ้น ทิศทางต่อไปก็คือการเมืองเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องที่คนจะต่อสู้และอธิบายมันมากขึ้น ยิ่งให้ความสนใจมันมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ น้องๆ ที่อายุไม่มากนักเข้าไปสนใจการเมืองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น ผมคิดว่าทิศทางเหล่านี้ก็จะเป็นทิศทางต่อไป

เอาตรงๆ การเมืองเป็นเรื่องเสพติด ถ้าคุณสนใจการเมืองแล้วคุณไม่มีทางที่จะเบื่อการเมือง คนอาจจะบอกว่าเบื่อการเมืองในระยะเวลาหนึ่ง แต่ว่าสุดท้ายถ้ามันสัมพันธ์กับชีวิต อย่างกรณีโควิด-19 อันนี้เป็นเรื่องการเมืองเลย เป็นเรื่องการจัดการบริหารของรัฐบาล คนจะไม่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไกลตัวหรือเป็นเรื่องความขัดแย้งอีกแล้ว การเมืองคือวิถีชีวิต เป็นเรื่อง New normal ไปแล้ว ไม่ใช่ Abnormal

พูดถึง Memes ในฐานะที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของโลกออนไลน์ และเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การแสดงออกทางการเมือง อาจารย์มองว่าสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างไร?

เป็นทั้งการเพิกเฉยต่อเรื่องนั้นๆ ทำให้เห็นว่าเป็นความตลกขบขันก็ได้ หรือลดทอนคนๆ นั้นก็ได้ แล้วแต่มุมมองของคนว่าจะมองแบบไหน แต่ว่า Memes มีพลังในการอธิบายสูงนะ เช่น การ์ตูนของไข่แมว นักวิชาการอาจจะพูดเป็น 2-3 ชั่วโมง ใช้เวลาทั้งชีวิตอธิบายเรื่องนี้ แต่ไข่แมวเขียนรูปเพียงรูปเดียว คนเข้าใจทั้งประเทศ  Memes หรือคำพูดเล็กน้อยๆ เหล่านี้ ทำให้เรื่องที่ยากๆ ในทางการเมืองเป็นเรื่องง่ายขึ้น สื่อสารกับผู้คนได้มากขึ้น อย่างเราเขียนในเว็บไซต์ต่างๆ หลายหน้า ก็สู้ภาพบางภาพไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าเขาเก่งมาก เก่งกว่านักวิชาการ อย่างคนที่เขียนรูปภาพเป็นหน้าประยุทธ์ รูปนาฬิกา (ศิลปินกราฟฟิตี้ Headache stencil) นี่ก็สามารถสื่อสารได้ง่าย มันเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน

 

แล้วการใช้อารมณ์ขันในการประท้วงจะทำให้ความหนักแน่นของ Content ที่เราจะสื่อสารลดน้อยลงไหม อารมณ์ขันจำเป็นแค่ไหนในการผลักดัน Movement?

นักการเมืองในอดีต คนที่ปราศรัยเก่ง เช่น คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แม้แต่คุณจตุพร พรหมพันธุ์ สามารถทำให้เรื่องซีเรียสกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน อารมณ์ขันทำให้คนผ่อนคลายและเป็นมิตรกับคนรับสารมากขึ้น แล้วถามว่าลดทอนวาระของเราไหม ผมคิดว่าไม่นะ เช่น กรณีของแชมป์-ราดรี (นายธีรชัย รวิวัฒน์ นักศึกษาผู้ปราศรัยในการชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)  ก็เข้าถึงผู้คน ประเด็นไม่ได้หลุดไป สามารถนำมุมที่ไม่ได้เป็นการเหยียดหรือทำร้ายมาทำให้เป็นเรื่องที่ผู้คนสนุก และกลายเป็นเรื่องสำคัญด้วยซ้ำ ในทางการเมืองเราหาคนที่อภิปรายแล้วขบขันหรือสามารถสร้างอัตลักษณ์เหล่านี้ไม่ง่าย

การเคลื่อนไหวบนพื้นที่ออนไลน์ในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากน้อยขนาดไหน?

ไม่ปลอดภัย 100% แต่รัฐก็ควบคุมไม่ได้ 100% มีกรณีที่รัฐสามารถที่จะติดตามได้ เช่น นิรนาม ใช้แอคเคาท์อวตารที่เหมือนจะปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้ปลอดภัย ในรัฐที่สามารถใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ. ด้านความมั่นคงเป็นเครื่องมือ

แต่ในอนาคต อาจจะเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ นอกจาก Twitter Facebook อาจมีแอปพลิเคชันอื่นๆ ออกมาตอบสนองด้านความปลอดภัยมากขึ้น อย่างฮ่องกงเขาก็ใช้แอปพลิเคชันอื่นๆ ที่สามารถปกปิดตัวตนได้อย่างดียิ่ง อย่างน้อยรัฐไทยก็ไม่ใช่รัฐแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็สามารถที่จะใช้ช่องทางนี้ได้อยู่

การเมืองไทย ม็อบ ประท้วง ชุมนุม เยาวชน ออนไลน์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย

ภายใต้เงื่อนไขหลายอย่างในตอนนี้ที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โควิด-19 การประท้วงในอนาคตต้องเปลี่ยนรูปแบบไหม เรายังจำเป็นต้องลงถนนอยู่ หรือจะปรับเปลี่ยนกันอย่างไรดี?

โดยธรรมชาติพื้นที่ทางการเมืองมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ ในสถานการณ์แบบนี้ คนที่ทำม็อบหรือต่อสู้ทางการเมืองทางออนไลน์ก็มีประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว เขาก็มีวิธีเลี่ยงเรื่อยๆ มีการคิดค้นวิธีการสื่อสารแบบอื่นๆ อยู่บ้านจุดเทียน ทำแฟลชม็อบ อะไรต่างๆ ผมคิดว่าจะมีนวัตกรรมของการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่เป็นเงื่อนไขหลักที่รัฐพยายามจะควบคุม

แม้ไม่ได้เปลี่ยนเชิงโครงสร้าง แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้หล่อเลี้ยงในเชิงประเด็น ย้ำอีกครั้งว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างภายในวันเดียวหรือเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่คือการก่อตัวทางความคิดของผู้คนที่ฝังอยู่ในสมอง ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสุดท้ายมันก็จะนำมาสู่การปฏิวัติหรือการเคลื่อนไหว

เราต่อสู้ยืดเยื้อเรื้อรังตั้งแต่ 2475 ปัจจุบันนี้เราก็ยังชิงการนำอยู่ (War of position) อย่างที่ Antonio Gramsci พูดว่า เป็นการต่อสู้ในการอธิบายสถานะของผู้คน ชิงธงนำของการอธิบาย ต่อสู้ในการอธิบายความคิดของผู้คน ก็ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน กี่ชั่วอายุคนแล้วล่ะ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยาวนาน ไม่ใช่การต่อสู้ที่จะปฏิวัติเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แล้วปลายทางของบริบท ณ ตอนนี้ ควรจะต้องมีชุมนุมใหญ่ที่นานเป็นเดือนๆ หรือต้องกดดันให้ยุบสภาด้วยไหม?

แนวทางการชุมนุมในตอนนี้คือ แฟลชม็อบ วันเดียว 1-2 ชั่วโมง แต่อาจจะหลายๆ ที่ สมมติแฟลชม็อบเรื่องเดียวกันคือเรียกร้องให้ยุบสภา จัดพร้อมกัน 10 ที่ก็กระเทือนแล้ว ต่อไปการเมืองไทยจะไม่ใช่การเมืองของการประท้วงยืดเยื้อยาวนานอีกแล้ว แฟลชม็อบแบบพรึบพรับแต่ละที่อาจไม่ได้มีคนจำนวนมาก แต่พอมาบวกรวมกัน จำนวนก็มหาศาล แล้วรัฐบาลกระเทือนไหม ม็อบครั้งที่แล้วรัฐบาลกระเทือนมาก แต่โควิดช่วยไว้ไง

กรุ๊ปลับหลายกรุ๊ปในโซเชียลมีเดีย มีการนำเสนอเนื้อหาที่ค่อนข้างแหลมคม ประเด็นนี้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องใหม่มากในการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการที่สู้ด้วยการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทำให้คนตาสว่าง ในระยะยาวจะมีผลเปลี่ยนแปลงมากขนาดไหน?

กลุ่มแบบนี้เมื่อก่อนถ้าเป็นผมหรือคนอื่นๆ ก็ไม่กล้าเข้าหรอก คุณลองไปทำสัก 20 ปีที่แล้วสิ กลุ่มแบบนี้ก็โดนถล่ม ฝ่ายคุณก็ถูกตัดหัวเสียบประจานแล้ว แต่ปัจจุบันคนไม่ได้กลัว คนรู้สึกว่านี่เป็นข้อมูลที่ควรรู้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในโลกปัจจุบัน และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล คำว่า ‘ตาสว่าง’ สะท้อนภาพการสะสมข้อมูลจนถึงขั้นหนึ่ง จนเห็นอะไรที่มันชัดเจน แล้วเราจะไม่เชื่อเรื่องๆ นั้นอีกแล้ว ในหลายๆ เรื่องนะไม่ใช่แค่เรื่องทหาร ตำรวจ ศาล อัยการ และสถาบันหลักในสังคม แต่เป็นการตาสว่างในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกด้วย

การเมืองไทย ม็อบ ประท้วง ชุมนุม เยาวชน ออนไลน์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย

อ้างอิง

[1] Hindman, Matthew. (2008). The Myth of Digital Democracy Princeton, NJ: Princeton University Press.

[2] Anderson, Benedict. (1972). Java in a Time of Revolution: Occupation and Resistance, 1944-1946 Ithaca and London: Cornell University Press.

[3] Scott, James C. (1976). The Moral economy of the peasant : rebelllion and subsistence in Southeast Asia New Haven : Yale University Press.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save