fbpx
วิกฤตเชื้อโรคและแม่น้ำทุ่งนาที่หายไป : ศึกสองด้านของอีสาน กับ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

วิกฤตเชื้อโรคและแม่น้ำทุ่งนาที่หายไป : ศึกสองด้านของอีสาน กับ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

 

หลังมาตรการปิดเมือง และงดการรวมกันในที่สาธารณะ แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องกลับบ้านเพราะไม่มีงานในเมืองให้ทำอีกต่อไป ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือการขาดรายได้ ภาคอีสานคือหนึ่งในพื้นที่ที่มีแรงงานจำนวนมากกลับบ้าน รวมกับปัญหาภัยแล้งและตัวเลขเศรษฐกิจที่ตกต่ำในพื้นที่อีสาน ปัญหาที่ถาโถมเข้ามากระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง

101 ชวน ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีสานมาอย่างยาวนาน มาคุยเรื่องโควิด-19 ในภาคอีสาน และผลกระทบจากนโยบายรัฐ รวมถึงเจาะปัญหาภัยแล้ง

สรุปความจากรายการ 101 One-On-One Ep.119 : เจาะอีสาน ดูวิกฤต COVID-19 และภัยแล้ง ปัญหาโควิด-19 ในอีสานเป็นแบบไหน เมื่อผู้คนทำงานในเมืองไม่ได้ ที่บ้านยังมีแม่น้ำและทุ่งนาเหลืออยู่ไหม ปัญหาเรื่องทรัพยากรและโรคระบาดสอดคล้องกันอย่างไร และเราควรแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบไหน

 

แรงงานอีสานกลับบ้าน

 

ผมแบ่งแรงงานในอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรงออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือกลุ่มแรงงานจากต่างประเทศ ที่กลับจากเกาหลีหรือประเทศต่างๆ เขากลับมาก็อย่างที่เราเห็น ตอนแรกรัฐกักไว้ที่ศูนย์กักตัว แต่ศูนย์นั้นก็ล้มเหลว เอาคนมารวมกันเหมือนอยู่ในค่ายลูกเสือ อยู่ในเต้นท์ร้อนๆ อาหารหรือสุขภาวะก็แย่ จนทำได้วันเดียวก็ต้องยกเลิก แล้วให้กลับไปกักตัวที่บ้าน แรงงานกลุ่มนี้ก็หนักหน่อยกับการตกงาน 100 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มสอง คือแรงงานในประเทศที่กลับบ้าน ส่วนใหญ่ทำงานในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ กลุ่มนี้ก็ตกงานเหมือนกัน และคนที่ลำบากมากๆ คือคนที่เคยได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า เคยถูกดำเนินคดีเลยต้องไปเป็นลูกจ้างในร้านอาหารที่กรุงเทพฯ พอไม่มีงานทำ กลับบ้านก็ยังมีปัญหาว่าไม่มีที่ดินทำกิน กลุ่มนี้จะประสบปัญหาเยอะมาก เพราะรายได้ก็ไม่มี การผลิตในชนบทก็ทำไม่ได้ เช่น ที่บ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ ที่ดินมีปัญหากับรัฐอยู่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ มีที่ดินประมาณ 5 ไร่ ปลูกมัน ตอนนี้ราคาก็ขายไม่ได้ ข้าวก็ไม่มีกิน แล้วก็ไม่รู้ทางอุทยานจะอนุญาตให้เขาทำได้นานแค่ไหน

คนที่อยู่ตามริมน้ำโขงก็เหมือนกัน แต่เดิมถ้าตกงาน บ้านเกิดก็ยังมีทรัพยากรอยู่ ตอนนี้ทรัพยากรถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีนและลาว เช่น เขื่อนไซยะบุรี ผมจำได้ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนริมน้ำโขงที่อุบลราชธานีกลับบ้านเยอะมาก แรงงานตกงานเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เขาก็กลับมาประกอบอาชีพจับปลาหาอาหารได้ แต่รอบนี้ 7 จังหวัดในภาคอีสานที่อยู่ริมน้ำโขง ไม่สามารถลงไปจับปลาได้เหมือนในอดีต อาหารก็ไม่มี รายได้ทางเศรษฐกิจก็ไม่มี เพราะฉะนั้นทรัพยากรที่เคยรองรับเขา ตอนนี้ถูกทำลายไปจากโครงการพัฒนา ผมคิดว่าปัญหาของกลุ่มนี้สำคัญมากๆ

กลุ่มสาม คือกลุ่มที่ยังไม่กลับบ้าน ส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นลูกจ้างชั่วคราวและโรงงานไม่ปิด เขาไม่ได้กลับเหมือนแรงงานจากต่างประเทศและแรงงานลูกจ้างรายวัน เราก็รู้กันอยู่ว่าชีวิตแรงงานมีค่าแรงประจำวันก็เพียงเลี้ยงชีพตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้เพิ่มคือโอที แต่ในช่วงวิกฤตโควิด โรงงานไม่มีการทำงานล่วงเวลา เพราะฉะนั้นค่าโอทีก็ไม่มี เมื่อไม่มีค่าโอที แรงงานก็ไม่มีเงินส่งกลับบ้าน ทีนี้ถ้าครอบครัวไหนลูกหลานเป็นแรงงานกลุ่มนี้ พ่อแม่ผู้สูงอายุที่บ้านก็ไม่ได้รับเงิน ก็จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างลำบากมากๆ

ผมคิดว่ากลุ่มที่ยังไม่กลับบ้านน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเขาจำเป็นต้องอยู่แถวนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก คนที่กลับแล้วอย่างน้อยก็มีข้าวกิน หรือดิ้นรนไปวันๆ หนึ่ง ยกเว้นกลุ่มที่ทรัพยากรถูกทำลายแล้ว แต่ถ้าเป็นแรงงานที่อยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากส่งเงินไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายประจำวันในกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าโรงงานปิด กลุ่มนี้ก็จะตกงานแล้วตกค้างอยู่ในกรุงเทพฯ การช่วยเหลือตัวเองก็จะลำบากมาก คนที่กลับมาแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีญาติพี่น้อง ยังอยู่ที่บ้าน หาทางดิ้นรน หาข้าวกินได้

 

รัฐไม่ควรมองคนแค่ชั้นเดียว

 

เรื่องการลงทะเบียน ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เป็นปัญหาใหญ่ ในอีสานก็เกิดปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ คือคนที่ไม่ควรจะได้แต่ไปลงทะเบียนแล้วได้ ซึ่งผมก็งงว่าระบบคัดกรองเป็นอย่างไร เป็นระบบชิงโชคอย่างที่พูดกันหรือเปล่า หรือขึ้นอยู่กับเทคนิคการลงทะเบียน ผมเชื่อว่าฐานข้อมูลที่หน่วยงานรัฐมีในตอนนี้ ไม่สามารถตอบสนองกลุ่มคนตามเกณฑ์ต่างๆ ได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนจนเข้าถึงการลงทะเบียนไม่ได้ อย่างมากที่สุดก็กดโทรศัพท์มือถือโทรคุยกัน ทำได้แค่นั้น ถ้าคนไม่มีทักษะ ไม่เคยใช้ไอทีพวกนี้ ไม่มีทางลงทะเบียนได้ บางคนก็ไปให้เพื่อนบ้านลงทะเบียนให้ แต่ถ้าใครไม่มีก็อด ยิ่งผู้สูงอายุ คนที่ไม่คุ้นเคยกับไอที ไม่มีทางที่จะลงทะเบียนได้ น่าเห็นใจมาก

ปัญหาใหญ่ของระบบฐานข้อมูลคือการอาศัยฐานข้อมูลชุดเดียว คิดแค่ชั้นเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมไทย มีกรณีของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้ค่าเยียวยา เขาอายุ 46 ปีแล้ว ด้วยความที่อยากได้ความรู้ อยากได้วุฒิบัตรก็ไปลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์ด้วย หวังว่าจะเปลี่ยนอาชีพในยามแก่ ไม่ต้องมาขี่มอ’ไซค์ ชีวิตจะได้ไม่ลำบาก แต่พอลงทะเบียนไป พอตรวจเจอชื่อว่าเขาเป็นนักศึกษาก็คัดออก ไม่ได้ดูอายุ พอคิดชั้นเดียวแบบนี้ ก็ทำให้คนจำนวนมากถูกกีดกันออกไป

 

กระจายอำนาจ 2 ระดับ

สวัสดิการถ้วนหน้า และสวัสดิการชุมชน

 

การแก้ปัญหาควรใช้การกระจายอำนาจ 2 ระดับ

ระดับแรกคือระดับของรัฐส่วนกลาง เราไม่มีฐานข้อมูลเพียงพอที่จะทำระบบกำหนดคนว่าใครมีอาชีพอะไร หรือคนประเภทไหนจะเข้าเกณฑ์การเยียวยา แล้วยังมีปัญหาเรื่องระบบคิดชั้นเดียว ซึ่งระบบอย่างนี้ไม่ตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ในระดับรัฐส่วนกลาง ผมเสนอให้มีการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ทุกคนได้รับการเยียวยาเท่าเทียมกันหมด เราตัดข้าราชการออกไป ตัดนักการเมืองได้มั้ย ส.ส. ที่มีเงินเดือนแสนกว่า ไม่เอา 5,000 บาทก็น่าจะพอ แต่คนทุกอาชีพ ทุกประเภทก็ได้รับค่าเยียวยาเท่าเทียมกัน

ถ้าเราทำแบบนี้ เราก็สามารถเยียวยาคนไทย 60 กว่าล้านคน ได้คนละเกือบ 5,000 บาท ทุกคนได้ถ้วนหน้า ไม่ต้องมาลงทะเบียน ซึ่งการลงทะเบียนก็กีดกันคนกลุ่มที่ด้อยโอกาสให้ไม่ได้รับสิทธิ ถ้าทุกคนได้เท่ากันหมด สวัสดิการถ้วนหน้าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมถ้วนหน้า

การใช้สวัสดิการถ้วนหน้า ทุกคนได้น้อยลงก็จริง แต่ทุกคนได้ อันนี้สำคัญมาก คนจน คนที่เข้าไม่ถึงไอที ได้หมด การได้หมดสำคัญกว่าได้มาก ผมอยากใช้คำนี้ จะมีประโยชน์อะไรถ้าบางคนได้มาก บางคนไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าทุกคนได้เท่ากันหมด มีประโยชน์นะครับ แล้วก็ตรงกับสิ่งที่เราคิดคือเราไม่ทิ้งกัน ตอนนี้เราทิ้งกันนะครับ ได้มากแล้วบางคนไม่ได้ กับได้น้อยแต่ทุกคนได้เท่าเทียมกันทั้งหมด อะไรดีกว่า สำหรับผมแล้ว ‘เราไม่ทิ้งกัน’ คือหลักการที่สำคัญมาก

ระดับที่สองคือระดับท้องถิ่น รัฐจะต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดสวัสดิการ ซึ่งตอนนี้เราก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำได้เลยทั้งในระดับตำบล ระดับเทศบาล โดยที่รัฐเองมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว จัดสรรงบประมาณให้ อปท. จัดการในพื้นที่เอง แทนที่จะกระจุกอยู่ที่รัฐส่วนกลาง อปท. ตรวจสอบได้ คนในพื้นที่บอกได้ว่าคนนี้ได้เงินแล้ว คนไหนได้ซ้ำซ้อน ระบบท้องถิ่นทำให้ตรวจสอบกันได้

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญมากคือ สวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือจากการที่รัฐลงมาเยียวยา แต่เป็นชุมชนทำกันเอง หลังจากนี้จำเป็นต้องจัดทำสวัสดิการชุมชนเพื่อรองรับวิกฤตแบบนี้ด้วย ตอนนี้หลายชุมชนมีสวัสดิการ มีเงินออม แต่เราจะทำอย่างไรให้มีขนาดที่รับมือกับภัยพิบัติได้ เราอาจจำเป็นต้องมี food bank หรือธนาคารอาหารในแต่ละชุมชน กระจายอาหารให้คนยากไร้ คนไร้ที่พึ่งในชุมชนได้

ถ้าเราทำทั้งสองระดับ คือรัฐก็ปรับใช้สวัสดิการถ้วนหน้า กระจายให้ อปท. และชุมชนก็มีสวัสดิการชุมชน เราเกิดวิกฤตอะไรก็รับมือได้ทัน

 

ภัยแล้ง กระแสทางการเมือง?

 

ปีนี้ภัยแล้งในอีสานไม่ได้มากไปกว่าทุกปี ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องของการสร้างกระแสทางการเมือง ซึ่งผมผิดหวังมากกับภาคการเมือง เพราะหลังจากที่เราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็มุ่งเน้นแต่จะทำให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ ให้มีเงินลงมาในพื้นที่ แล้วประเด็นที่จะทำให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ได้ก็คือเรื่องโครงการจัดการน้ำ ซึ่งไปประจวบเหมาะกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการจัดการน้ำซึ่งต้องการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำโขง ชี มูล โครงการผันแม่น้ำสาละวินมาลุ่มเจ้าพระยา

เราไปดูสิครับ แม่น้ำโขงเรามีน้ำให้ผันมั้ย หลังการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมันไม่มีน้ำให้ผัน ก่อนหน้าเกิดโควิด ผลักดันกันมากเลย เอาเข้าจริงมันไม่ได้ไปตอบสนองปัญหาในภาคอีสานเลย นอกจากไม่มีน้ำให้ผันแล้ว ก็ยิ่งทำให้มีการขยายพื้นที่ชลประทาน เช่น โครงการที่นักการเมืองและหน่วยงานของภาครัฐเสนอให้ผันน้ำโขง ชี มูลลงมา ต้องการให้อีสานทำนาปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น ผมคุยกับชาวนาในทุ่งกุลาฯ เขาบอกทำนาปีละ 2 ครั้งไม่ได้ อีสานข้างล่างเต็มไปด้วยเกลือ ถ้าคุณทำนาหน้าแล้ง ปัญหาดินเค็มจะแพร่กระจายทั่วอีสานเลย

นอกจากนั้นแล้ว คนอีสานไม่ทำนาหน้าแล้งเพราะเขาปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิต้องทำนาหน้าฝน ถ้าคุณทำนาหน้าแล้ง คุณต้องใช้ข้าวพันธุ์อื่น พอข้าวพันธุ์อื่นมา จะเกิดการผสมพันธุ์กัน ข้าวหอมมะลิก็ไม่เหลือครับ แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลกก็จะหายไปเลย เพราะฉะนั้น ชาวนาในอีสานไม่ทำนาฤดูแล้ง ทั้งเหตุผลเรื่องปัญหาแพร่กระจายดินเค็ม และเรื่องการรักษาพันธุ์ข้าวหอมมะลิไว้

สิ่งที่น่าห่วงก็คือเราทำให้เรื่องนี้น่าหวาดกลัว แล้วก็ไปทำให้สังคมเห็นด้วยกับการทำโครงการขนาดใหญ่ เชื่อมั้ยครับว่า ส.ส. บางคนมาจากภาคอีสานเลย บอกว่าตอนนี้ที่ร้อยเอ็ด วัวควายกำลังจะตายเพราะอดน้ำ ผมลงไปในช่วงเดียวกัน ในทุ่งนาเต็มไปด้วยวัวควาย น้ำในนายังมีอยู่เลย ผมคิดว่าการใช้การเมืองนำการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นปัญหาใหญ่มาก

 

เอ็กซเรย์พื้นที่ แก้ปัญหาให้ตรงจุด

 

ปัญหาภัยแล้งเราต้องแยกให้ดี เวลาพูดว่าภัยแล้ง เราพูดในขอบเขตของอะไร ถ้าพูดในขอบเขตของการที่คุณทำให้เกิดระบบชลประทานขนาดใหญ่แบบตะวันตก อันนี้คุณผิดพลาด แต่ถ้าคุณพิจารณาว่าน้ำขาดแคลนในบางพื้นที่ คุณก็จะจัดการน้ำได้

ผมยกตัวอย่าง เช่น ทุ่งกุลาฯ ชาวนาไม่ต้องการทำนา 2 ครั้ง ไม่ทำนาหน้าแล้ง ไม่ต้องการระบบชลประทาน แต่เขาต้องการแก้ปัญหาพื้นฐานของเขาคือน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่เขาใช้น้ำที่สูบจากบาดาลใต้ดิน พอน้ำลดลงก็เกิดปัญหาว่าบางจุดเกิดน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ก็ต้องเจาะบาดาลลึกลงไป ในทุ่งกุลาฯ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ไม่ใช่น้ำการเกษตร ถ้ารู้อย่างนี้ เราก็แก้ไปที่ต้นตอของปัญหา ปัญหาก็ไม่มี

ปัญหาภัยแล้งภาคอีสานเป็นเรื่องที่เราทำให้เป็นเรื่องใหญ่กว่าสถานการณ์จริง ปัญหาคือการจัดการ ถ้าตรงไหนขาดแคลนน้ำ ซึ่งคนละเรื่องกับภัยแล้งนะ ขาดแคลนน้ำเกิดขึ้นทุกปี เช่น ไม่มีระบบประปา ไม่มีน้ำดิบสำหรับทำน้ำดื่ม การประปา หรือ อปท. ต้องลงไปแก้ไข

เรื่องของการขาดความรู้ เป็นปัญหาใหญ่สุดในการจัดการทรัพยากรในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการน้ำ ลองไปดูสิในแถบเทือกเขาพนมดงรัก บางอำเภอปลูกทุเรียน เขาใช้ระบบน้ำหยด ไม่ใช้น้ำฟุ่มเฟือยอย่างที่เราเห็นทั่วไป เพราะฉะนั้นความรู้สำคัญมาก กรมชลประทานต้องเปลี่ยนแล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำต้องเปลี่ยนแล้ว เราจะบริหารน้ำที่มีอยู่ในประเทศของเราให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร แทนที่คิดจะขยายโครงการขนาดใหญ่ หรือทำนาปีละ 2 ครั้ง

ถ้าเกิดวิกฤตน้ำจริงๆ เรามีระบบรองรับไหม เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย เราต้องลงทุน ต้องคิด ไม่ใช่จะไปเอาแต่น้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน ฉันจะผันมาให้หมด แล้วเมื่อไหร่การตอบสนองของเราจะสิ้นสุดได้

เราควรกลับมาดูแต่ละพื้นที่ เอ็กซเรย์ ตรงไหนขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ตรงไหนระบบประปาไม่พอ ก็แก้ไขให้ถูกจุด ถ้าทำอย่างนี้ได้ประเทศไทยพัฒนาไปเยอะเลย แต่ถ้าทำแบบนี้ก็ไม่ได้โครงการขนาดใหญ่ไง ซึ่งใช้เงินมหาศาลมาก ลองไปดูสิโครงการขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ก็ล้มเหลวทั้งนั้นแหละครับ ตอนนี้ระบบท่อส่งน้ำในอีสานใช้ไม่ได้เลย ทำที่ราษีไศลก็มี ขอนแก่นก็มี กลายเป็นซากท่อปรักหักพัง

 

ทรัพยากรส่วนรวมที่หายไป

 

ผมคิดว่าปัญหาในอีสานที่ใหญ่กว่านั้นคือเรื่องทรัพยากรเสื่อมโทรม การถูกแย่งชิงทรัพยากร ทรัพยากรส่วนรวมหายไป พื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งอาหาร ชุมชนพึ่งพาแม่น้ำ ท้องทุ่งหรือป่า ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าปัญหาภัยแล้ง

ทรัพยากรส่วนรวมคือฐานในการดำรงชีวิตของคนอีสาน 30-40 ปีที่แล้ว มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่ของการเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ผมยกตัวอย่างแม่น้ำมูล แม่น้ำมูลทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลมาก คนริมแม่น้ำมูลก็มีความมั่นคงทางอาหารสูงมาก คนที่อยู่ริมมูลทำนาไม่ได้ เขาเรียกว่าทำนาบนหลังปลา ทำประมงในแม่น้ำ แล้วเอาปลาไปแลกข้าว เกิดเศรษฐกิจแบบปลาแลกข้าว ข้าวแลกปลา เกิดเศรษฐกิจเชิงศีลธรรม หรือ Moral Economy ขึ้นมา

แต่ตอนนี้ทรัพยากรในอีสานถูกทำลายไปเยอะมากโดยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เขื่อนนี่ตัวดีเลย หลังมีเขื่อนปากมูล ทำแม่น้ำมูลทั้งสายตายไปเลย หรือเขื่อนไซยะบุรีที่ทุนไทยไปลงทุน คุณได้ไฟฟ้ามาขาย ประเทศไทยคุณรวย แต่คน 60 ล้านคนสองฝั่งแม่น้ำโขงและในแม่น้ำสาขาได้รับผลกระทบ

ถ้าใครตามข่าว พี่น้องที่ดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู ต้องสู้ทั้งโควิดและนายทุนที่จะมาสัมปทานทำเหมือง พูดง่ายๆ คือศึกสองด้าน หรือคนที่ทุ่งกุลาฯ ตอนนี้ก็ใจตุ้มๆ ต่อมๆ เพราะก่อนเกิดโควิดก็กำลังสู้กับโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลที่จะมาเปลี่ยนทุ่งกุลาฯ ทั้งหมดให้เป็นไร่อ้อย ซึ่งอ้อยมาเมื่อไหร่ ทุ่งกุลาฯ เรียบร้อยเลย พื้นที่ผลิตอาหารก็ถูกแย่งชิง นายทุนข้างนอกก็มาซื้อที่ดิน อ้อยก็จะรุกล้ำไปทุกพื้นที่ ที่นาที่เคยเก็บน้ำหน้าฝนไว้ได้ ก็ต้องไถคันนาทิ้ง คันนานี่แหละคือแหล่งเก็บน้ำอย่างดี ที่ทำให้อีสานรอดจากฤดูแล้งที่ยาวนาน

 

ประชาธิปไตย ความรู้ภัยพิบัติ สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจแบบใหม่ และการฟื้นฟูทรัพยากร

แก้วิกฤต รับมืออนาคต

 

หนึ่ง ความเป็นประชาธิปไตย จะต้องเกิดขึ้นในประเทศนี้ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องเป็นประชาธิปไตย เราจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมกัน ระหว่างรัฐกับประชาชน ในวิกฤตอย่างนี้ เราจะเห็นได้ว่าประชาชนต้องตามอย่างเดียว ถ้าเราคิดว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง การเกิดข่าวลือก็ไม่มี การกักตุนสินค้าก็ไม่มี ความเป็นประชาธิปไตยสำคัญมาก คนมาแก้ไขปัญหาที่เข้ามาด้วยระบบประชาธิปไตย มีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่าคนที่ได้อำนาจโดยวิถีทางอื่น เพราะเขาอาจจะสนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผลประโยชน์ของเขา เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวหรือโรงแรม แต่ถ้าเราเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองจะต้องวิตกกังวลกับประชาชนมากกว่า

สอง ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ เมื่อสังคมโดยรวมในโลกนี้มีความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติน้อยมาก บางประเทศภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อย เขาก็จะมีความรู้และระบบในการจัดการที่ดี เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ระบบเขาเข้มแข็งมาก แม้ว่าเจอปัญหาเยอะมาก ปัญหาเขาวิกฤตหนักกว่าเราหลายเท่า แต่ระบบที่เข้มแข็งของเขาช่วยให้ปัญหาไม่หนักไปกว่านั้น เราต้องดูว่าเขาจัดการอย่างไร เราไม่มีความรู้ในเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งข้อดีของบ้านเราคือมีคณะกรรมการโรคติดต่อ ผมยอมรับว่ากฎหมายนี้ช่วยให้แต่ละจังหวัดควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ภัยพิบัติก็ไม่ได้มีแค่โรคระบาด เรื่องอื่นๆ ก็มีโอกาสจะเกิดขึ้น ระบบอะไรที่จะช่วยให้เรารับมือกับสิ่งเหล่านั้นได้

สาม สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนนี้ยังมีการเอารายชื่อผู้ป่วย เอาภาพ หมายเลขหนังสือเดินทาง เบอร์โทรศัพท์ หรือเอาที่อยู่ของใครก็ตามมาเผยแพร่ เช่น แรงงานข้ามชาติที่กลับบ้าน เรามีการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนน้อยมาก

ในยามวิกฤตอย่างโควิด เรื่องสิทธิมนุษยชนต้องถูกวางไว้เป็นแกนกลางในการแก้ไขปัญหา บางคนก็บอกว่า ดีแล้ว เผยแพร่ คนจะได้ระวัง คิดแบบเห็นแก่ตัวมาก บางคนก็เหยียดแรงงานข้ามชาติที่กลับจากเกาหลี การใช้คำเรียกกันอย่างไม่ระมัดระวัง นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มีบางชุมชนรวมตัวกันประท้วงขับไล่ผู้ติดเชื้อโควิด หรือกรณีที่เอารูปของผู้ติดเชื้อมาเผยแพร่ แล้วยังมีนัยยะของการเหยียดเพศด้วย สังคมไทยจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ไม่ได้

ผมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้ข้อมูลเหล่านี้หลุดมาได้ คุณเคารพสิทธิมนุษยชนแค่ไหน ในขณะเดียวกันคนในสังคมตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้มั้ย คุณควรจะแชร์โพสต์มั้ย เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลมากๆ สำหรับสังคมไทย ต้องแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ สื่อเองต้องทำเป็นตัวอย่าง หลายสื่อก็เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ จรรยาบรรณของสื่อก็จะต้องถูกทบทวนโดยเร่งด่วนที่สุด

สี่ เศรษฐกิจ ก่อนหน้าเกิดโควิด เราร่าเริงกับเศรษฐกิจ กับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว แต่พอเกิดวิกฤตโควิด นักท่องเที่ยวไม่มีแล้ว เศรษฐกิจพังเลย แล้วถ้าวิกฤตโควิดจบไป ผมคิดว่าโลกไม่เหมือนเดิม เราจะไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมากมายมหาศาลเหมือนเดิม เราจะทำอย่างไรต่อไป เราจะพึ่งเศรษฐกิจแบบเดิมไม่ได้แล้ว แม้แต่เศรษฐกิจที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศก็จะกระทบด้วย เช่น ตอนนี้ก็มีความคิดของกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่จะดึงบริษัทญี่ปุ่นกลับไปผลิตในบ้านเกิดเพื่อที่จะกู้วิกฤตเศรษฐกิจหลังจากโควิด การถอนการลงทุนจะเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เราจะพึ่งพาการลงทุนไม่ได้อีกต่อไป

เรื่องเศรษฐกิจต้องกลับมาดูฐานรากของเรา เรื่องความมั่นคงของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหารจะต้องเป็นหัวใจของการพัฒนาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ใช่การทุ่มเงินลงไปเพื่อให้เกิดการลงทุนเหมือนที่ผ่านมา แล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมเสนอให้ยกเลิกเลยครับ แล้วสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ใช่ไปตอบสนองต่อทุนแล้วก็เดินไปสู่แนวทางแบบเดิม เราต้องใช้วิกฤตโควิดฉุกคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่าหวังว่าจะกลับไปเหมือนเดิมได้

ห้า ฟื้นฟูทรัพยากร ทำอย่างไรที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เราทำลายไปให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นฐานต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน อย่างในอีสานผมเสนอให้ยกเลิกการใช้เขื่อนปากมูล เปิดประตูเถอะครับ แล้วให้ปลาจากแม่น้ำโขงกลับคืนมาในแม่น้ำมูล ให้คนอีสานได้มีความมั่นคงทางอาหาร เขื่อนไซยะบุรีก็ควรจะเปิดประตูเขื่อน แล้วให้แม่น้ำโขงกลับมาเหมือนเดิม ให้คนในอีสานและคนในลุ่มน้ำโขงอีก 60 ล้านคน ได้มีอาหารกิน มีปลากิน

เราจะคิดแต่รักษาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มคงไม่ได้แล้ว สองเขื่อนนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง อาจจะมีพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่เขื่อนก็ได้ โครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร โครงการเหล่านี้มีความจำเป็นต้องยกเลิกการใช้งาน แล้วหันไปฟื้นฟูทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย ควรจะดำเนินการโดยเร่งด่วน บางอย่างไม่ต้องรอโควิดจบหรอก เปิดประตูเขื่อนนี่ทำได้เลย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save