fbpx
คุยกับ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : ทุ่งใหญ่นเรศวร ชนวนรวมพลังนักศึกษา

คุยกับ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : ทุ่งใหญ่นเรศวร ชนวนรวมพลังนักศึกษา

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

หลัง 6 ตุลา 2519 ขบวนการนักศึกษาหายไปไหน?

เราอาจเคยได้ยินบทกวีกรวดเม็ดร้าว หรือเพลงคืนรัง ซึ่งแทบจะเป็นภาพแทนของคนหนุ่มสาวผู้สมาทานแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปแล้ว แต่ยังมีนักศึกษาอีกมากที่ไม่ได้ ‘เข้าป่า’ หรือมีแนวทางต่างออกไป หนึ่งในนั้นคือขบวนการนักศึกษาที่เลือกเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นขบวนการนักศึกษาที่ใหญ่ไม่แพ้ขบวน ‘เดือนตุลา’

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตั้งแต่ยุคหลัง 6 ตุลา และไม่เคยเดินออกจากเส้นทางสีเขียวจนถึงปัจจุบัน

นอกจากผลงานวิชาการซึ่งช่วยวางรากฐานการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ยังเป็นที่รู้กันว่ารายงานข่าวสิ่งแวดล้อมผ่านเฟซบุ๊กของไชยณรงค์นั้นทั้งฉับไว น่าเชื่อถือ และมักรู้ข่าวก่อนนักข่าวอย่างลึกลับ

101 ชวน ไชยณรงค์ อดีตแกนนำนักศึกษาที่ในวัย 50 กว่าปี มาทบทวนประวัติศาสตร์ขบวนการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย หลังจากที่ต้องมาได้ยินข่าว ‘พรานป่าบรรดาศักดิ์’ ล่าเสือในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอีกครั้ง … ผืนป่าที่ครั้งหนึ่งเขา เพือนนักศึกษา และขบวนการประชาชนเคยปกป้องไว้อย่างยากลำบาก

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

หลัง 6 ตุลา 2519 ขบวนการนักศึกษาในภาพรวมมีทิศทางอย่างไรบ้าง

ช่วงปี 2519-2521 เป็นช่วงที่นักศึกษาทำอะไรมากไม่ได้ แต่ในช่วงหลังปี 2521 การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดคือขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนใหญ่ยังจับปืนขึ้นสู้อยู่กับ ทปท. (กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย) และ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) แต่ขบวนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขึ้นมาก่อนขบวนอื่นๆ

ชมรมอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่แรกที่กลับมาตั้งชมรม ตอนนั้นมีพี่แต (สนั่น ชูสกุล) เป็นแกนนำฟื้นฟูชมรมอนุรักษ์ขึ้นมา เริ่มมีการเคลื่อนไหว ต่อมาได้มีการฟื้นฟูในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตั้งเป็นเครือข่ายชื่อว่า “คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม” (คอทส.) มี 8 มหาวิทยาลัยและขยายเพิ่มขึ้นจนมี 15 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม ตอนนี้เครือข่ายยุบไปแล้วเมื่อ 5-6 ปีก่อน

หลัง 6 ตุลาใหม่ๆ เครือข่ายสนใจเรื่องปัญหาการพัฒนา แต่ยังเคลื่อนไหวอะไรมากไม่ได้ จนกระทั่งมาปี 2525 ก็เริ่มเคลื่อนไหวในกรณีเขื่อนน้ำโจน

 

ฟังจากที่อาจารย์เล่า หมายความว่าการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมยุคแรกเริ่มในสังคมไทย ก่อตัวขึ้นในขบวนการนักศึกษาก่อน?

มีทั้งนักศึกษาและชาวบ้านครับ ประมาณทศวรรษ 2510 เริ่มมีการตั้งชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ 6-7 มหาวิทยาลัย เช่น เกษตรศาสตร์ มหิดล ฯลฯ การตั้งชมรมอนุรักษ์ตอนนั้นมีอาจารย์ร่วมด้วย คนที่จบด้านนิเวศวิทยาก็มากัน เพราะฉะนั้นความคิดเชิงอนุรักษ์จะออกไปในเชิงการพูดถึงระบบชีวาลัย (biosphere)

ชีวาลัยถือว่าส่วนไหนก็ตามของโลกที่สิ่งมีชีวิตอยู่ได้ล้วนคือ ‘บ้าน’ ใต้ดินลงไปก็มีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ เช่น แมลงบางอย่าง บนอากาศขึ้นไป 3-4 กิโลเมตรที่มีแมลงหรือนกบางอย่างที่ยังชีพอยู่ได้ก็ถือว่าเป็นชีวาลัย ความคิดแบบนี้จะฝังอยู่ในชมรมอนุรักษ์ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เวลาพูดถึงปรัชญาการอนุรักษ์ก็หมายถึงระบบชีวาลัย เพราะฉะนั้นความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์ในชมรมจะเน้นเรื่องนิเวศวิทยาเป็นหลัก

สิ่งที่นับว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวจริงๆ ยุคแรกเริ่มเกิดขึ้นโดยชาวบ้าน ยุคนั้นรัฐไทยรับนโยบายการพัฒนาจากธนาคารโลกเข้ามา นำไปสู่การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล การต่อสู้เข้มข้นมาก ประชาชนต่อต้านเจ้าหน้าที่ ประท้วงไม่ยอมอพยพ ไม่สนใจเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น จนสุดท้ายเขื่อนปล่อยน้ำมาท่วม เป็นการต่อสู้ในระดับรากหญ้า

ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาเริ่มมีความชัดเจนขึ้นตอนไหน

เริ่มจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดชมรมอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อนครับ นั่นคือปัญหาการเน่าเสียของแม่นํ้าแม่กลอง ในช่วงปี 2512-2516 แม่กลองเป็นแม่น้ําสําคัญ มีระยะทางรวมราว 100 กิโลเมตร เร่ิมไหลจากอําเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ไปอําเภอบ้านโป่ง จนถึงอําเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ต่อเนื่องจนถึงจังหวัดสมุทรสงคราม ยุคนั้นเป็นยุคส่งเสริมการส่งออกน้ำตาลสู่ตลาดโลก สองฝั่งแม่น้ำแม่กลองมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ทําให้มีนํ้าเสียจํานวนมากถูกปล่อยลงสู่แม่น้ํา แม่น้ำบางช่วงมีกลิ่นนํ้าตาลและสีของน้ำเปลี่ยนไป การเน่าเสียอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในฤดูแล้งปี 2515 และปี 2516  ส่งผลกระทบต่อคนริมฝั่งแม่นํ้า สูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ําท้ังในแม่น้ําและบริเวณปากอ่าว เหตุการณ์น้ีทําให้กระทรวงอุตสาหกรรมบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องก่อสร้างระบบบําบัดน้ําเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งนํ้าเป็นครั้งแรก เกิดการก่อสร้างระบบบําบัดนํ้าเสียรวมของโรงงานน้ําตาล 13 แห่งที่ตั้งอยู่บริเวณอําเภอท่ามะกาจังหวัดกาญจนบุรี

เหตุการณ์แม่น้ำแม่กลองเน่าทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งก่อตั้ง ‘ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม’ ประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นที่ขบวนการนักศึกษาให้ความสำคัญนอกเหนือจากประเด็นปัญหากรรมกรและชาวนา ในทางกลับกันก็ทำให้นักศึกษาที่สนใจสิ่งแวดล้อมหันมาสนใจเรื่องการเมือง และตั้งคำถามกับกรมพัฒนาอุตสาหกรรม เริ่มมาศึกษาเรื่องบทเรียนการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น กรณีมินามาตะ และอิไตอิไตที่ญี่ปุ่น

สิ่งที่ทำให้ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก้าวหน้าขึ้น เกิดจากการไปผูกโยงกับปัญหาทางการเมือง ช่วงนั้นรัฐบาลทหารเอาใจอเมริกา ทุนอเมริกามาลงในประเทศไทยเยอะ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นในบริบทของการต่อต้านอเมริกาและต่อต้านเผด็จการทหาร

เหตุการณ์ที่เป็นไฮไลท์คือเหตุการณ์ที่ ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม ไปฉลองวันเกิดโดยนำอาวุธของกองทัพไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งแคมป์ฉลองวันเกิดและล่าสัตว์กัน มีดาราดังอย่างคุณเมตตา รุ่งรัตน์ไปด้วย แล้วเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้เดินทางตกที่บางเลน มีผู้เสียชีวิต 6 คน พบซากสัตว์จำนวนมากในเฮลิคอปเตอร์ เช่น ซากกระทิง

กรณีนี้สั่นสะเทือนรัฐบาลมากๆ จอมพลถนอมบอกว่าทหารชุดนี้ไปปฏิบัติการพิเศษเพื่อความมั่นคง ไปปกป้องผู้นำพม่า ซึ่งทำให้ขบวนการนักศึกษาซึ่งตอนนั้นต่อต้านอเมริกาอยู่แล้ว ทำหนังสือขึ้นมาชื่อ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ มีการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ชุมนุมต่างหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา นักศึกษารามคำแหงที่ทำหนังสือถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษาแล้วลามไปเรื่อยจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

หนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ จัดทำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย | ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ จัดทำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย | ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวต่อขบวนการสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้แยกออกจากการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในยุคหลัง 14 ตุลาฯ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและปัญญาชนในยุคนั้นมุ่งไปที่การวิพากษ์นโยบายของรัฐไทยที่ยังเอาใจอเมริกา รวมทั้งการต่อต้านเขื่อนด้วย เกิดเหตุการณ์การต่อต้านโครงการต่างๆ ที่เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ได้ประโยชน์ เช่น การสร้างสถานีส่งเรดาห์ที่อุทยานแห่งชาติอินทนนท์ โครงการสร้างสถานีเรดาห์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนมาบประชัน

แกนนำชาวบ้านที่มาร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษาตอนนั้นก็เป็นสมาชิกของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรของชาวบ้านรากหญ้า ช่วงนั้นขบวนการนักศึกษาไล่เผด็จการถนอมออกไปได้แล้ว บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย นักศึกษาลงไปเคลื่อนไหวมาก แต่ยังมีกรณีที่แกนนำชาวบ้านถูกสังหารอยู่ เช่น กรณีเขื่อนห้วยหลวง

ปี 2518 ยังมีการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การต่อต้านสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกของบริษัทเทมโก ซึ่งมีการลอบทำร้าย วางระเบิดผู้นำและในที่ชุมนุมหลายครั้งมาก กำลังหลักในการเคลื่อนไหวในยุคนั้นมีชาวบ้านด้วย โดยเฉพาะชาวบ้านแถวจังหวัดพังงา

ประชาธิปไตยเบ่งบานอยู่ระยะหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่จอมพลถนอมกลับมาแล้วมีการล้อมปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ นักศึกษาหนีเข้าป่ากันเยอะ

ในช่วงหลัง 6 ตุลาฯ ใหม่ๆ ซึ่งเป็นยุคที่ไม่ค่อยมีสิทธิเสรีภาพ นักศึกษาเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างไร

ผมอยากพูดถึงการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือเขื่อนผามอง รัฐบาลทหารมีแผนที่จะสร้างเขื่อนผามองกั้นแม่น้ำโขงที่ จ.เลย โดยวิศวกรของอเมริกาสนับสนุนเต็มที่และต้องการให้เขื่อนนี้ใหญ่กว่าเขื่อนฮูเวอร์ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่แห่งแรกในอเมริกา วิศวกรอเมริกันเคยให้สัมภาษณ์ National Geographic ว่าต้องการให้อีสานเป็นแม่แบบของการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมในลุ่มน้ำโขง ซึ่งขณะนั้นกำลังเผชิญหน้ากันอย่างหนักกับแนวทางสังคมนิยม คนที่เคลื่อนไหวในยุคนั้นเคลื่อนอย่างยากลำบากมาก

มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ ทองปาน เป็นหนังฟิล์ม 8 มม. ซึ่งหลายคนที่เราคุ้นเคยทุกวันนี้ร่วมแสดง อาทิ หงา คาราวาน อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ผมจำได้ว่าตอนมาอยู่ชมรมอนุรักษ์ที่ลาดกระบัง (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ทองปาน เป็นหนังต้องห้าม ตอนฉายต้องปิดห้องเลย ไม่ให้ใครรู้ว่าเราฉายหนังเรื่องนี้

ทองปาน เป็นหนังสะท้อนปัญหาการพัฒนา ซึ่งไม่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน ถ่ายทำที่โคราชและเขื่อนจุฬาภรณ์ หนังได้ฉายให้เห็นการอพยพของคน เห็นคนที่พยายามลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องนี้ แต่เขาก็มีปัญหาชีวิตประจำวันของเขา ในหนังเรื่องนี้ สุดท้ายทองปานก็ขึ้นเป็นแกนนำแต่เขาต้องสูญเสียภรรยาที่ป่วยเพราะมาเคลื่อนไหว มีคำถามทิ้งท้ายว่าการพัฒนาแบบนี้ตอบสนองปัญหาของชาวบ้านอย่างไร

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ชื่อ 30 ปี ผามองกับทองปาน เขียนถึงการพัฒนาแม่น้ำโขงในยุคนั้นด้วย เขื่อนในอีสานทั้งหมดวางแผนโดย U.S.B.R. หน่วยงานสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ยกเว้นเขื่อนปากมูลที่วางแผนโดยฝรั่งเศส จนทุกวันนี้เขื่อนเหล่านี้ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ เช่น ที่ชัยภูมิยังมีเขื่อน 3-4 เขื่อนที่วางแผนโดยอเมริกาและชาวบ้านยังประท้วงกันอยู่

 

ช่วงนั้นนักศึกษาสายการเมืองและสายสิ่งแวดล้อมทำงานสัมพันธ์กันไหม

สัมพันธ์กันมาก ประมาณปี 2529 มีเหตุการณ์สำคัญในภาคใต้คือ การประท้วงคัดค้านโรงงานแทนทาลัมที่จังหวัดภูเก็ต ในอดีตเวลาบริษัทมาทำสัปทานเหมืองแร่ดีบุกจะเหลือตะกรัน โดยตะกรันส่วนหนึ่งจะถูกใส่ในเรือเพื่อถ่วงเรือช่วงที่ขนดีบุกออกนอกประเทศ อีกส่วนที่คนเห็นว่าไม่มีค่าก็เอามาบดทำถนนในเมืองภูเก็ต แต่ตอนหลังพบว่าในตะกรันแร่ดีบุกมีแร่แทนทาไลท์ซึ่งเป็นแร่ที่หายากและสำคัญมาก เป็นโลหะที่แข็งแต่เบา นำมาทำกรอบแว่นตา ทำหัวจรวด ปีกเครื่องบินได้ แต่โรงงานถลุงแร่นี้ตั้งอยู่กลางเมืองภูเก็ต ติดกับวิทยาลัยครูภูเก็ต ในโรงงานต้องใช้สารเคมีอันตรายเพื่อสกัดเอาแร่นี้ คนก็กลัว ตอนนั้นการท่องเที่ยวยังไม่ได้บูมมาก พวกชาวบ้านและนักธุรกิจที่ภูเก็ตก็มาติดต่อ คอทส. ให้ไปช่วยดูเรื่องนี้หน่อย นักศึกษาเลยลงไปช่วย

เรื่องแทนทาลัมถือเป็นบทเรียนสำคัญของขบวนการสิ่งแวดล้อม เพราะพอลงไปเคลื่อนไหว มีมวลชนเยอะ ปรากฏว่านักการเมืองก็เข้ามาแทรก มีการนำมวลชนเผาโรงงาน ขบวนการนักศึกษาซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ต้องไปจับมือกับนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองคือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งมาจากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การนักศึกษารามคำแหง เรียกได้ว่าเราต้องเรียนรู้ทางการเมืองด้วย ขณะเดียวกัน พวกที่ทำเรื่องการเมืองล้วนๆ ก็ต้องเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เราแทบจะไม่แยกการเมืองกับสิ่งแวดล้อมออกจากกัน

แต่ว่าเวลาการเคลื่อน หากเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม คอทส.ก็จะเป็นหัวหอก หากเคลื่อนไหวประเด็นการการเมือง สนนท.ก็เป็นหัวหอก แต่เวลาทำงานทำด้วยกัน ไม่แยก

ผมเองทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นหลังจากทำเรื่องแทนทาลัม ผมก็ได้รับการเลือกเป็นผู้ประสานงาน ของ คอทส. พอมีปัญหาเรื่องการประท้วงของแรงงาน เช่น ที่อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ หรือริมคลองหลอดข้างกระทรวงมหาดไทย ผมก็ต้องไปช่วยเพื่อน สนนท. ที่เคลื่อนไหวเรื่องแรงงาน

ปี  2530 รัฐบาลสมัยพลเอกเปรมฯ ผลักดันเรื่องเขื่อนน้ำโจนขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้พวกเราลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวร่วมกันกับ สนนท. ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเรื่องสิ่งแวดล้อมในยุคหลัง 6 ตุลา นอกจากนั้น ชมรมพัฒนาต่างๆ ก็ส่งคนมาช่วยกันทำงาน เช่นส่งคุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ มาช่วยจัดตั้งมวลชน

เพราะอะไรเขื่อนน้ำโจนจึงเป็นวาระที่สำคัญ

ในทางประวัติศาสตร์ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายทำลายกับฝ่ายอนุรักษ์มาตลอด ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีโครงการจะสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตรงกลางป่าทุ่งใหญ่ซึ่งเป็นป่าผืนเดียวกับห้วยขาแข้ง นี่คือป่าผืนใหญ่ที่เป็นรอยต่อของระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งสังคมพืชเขตอินโดจีน อินโดชวา และหิมาลัยมาเจอกันที่นี่ ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง หากสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ ป่าทุ่งใหญ่จะถูกทำลายเพราะอ่างเก็บน้ำอยู่ตรงหัวใจทุ่งใหญ่เลยครับ ถ้าถูกทำลายความเป็นทุ่งใหญ่นเรศวรก็ไม่มีอีกแล้ว

การเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนน้ำโจนในช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ปี 2525 แต่ว่าช่วงที่สองคือปี 2529-2530 มีทั้งนักศึกษา คนเมืองกาญจน์ และประชาชนหลายฝ่ายรวมทั้งคนกรุงเทพฯ ร่วมเคลื่อนไหว ผมเป็นผู้นำนักศึกษาเข้าไปเคลื่อนไหวในช่วงนี้

 

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ สมัยเป็นนักศึกษา

กระแสสังคมที่มีต่อการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นเป็นอย่างไร

ดีครับ เพราะก่อนหน้าโครงการเขื่อนน้ำโจน รัฐบาลสร้างไปแล้ว 4 เขื่อนคือ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม (วชิราลงกรณ์) เขื่อนท่าม่วง และเขื่อนท่าทุ่งนาเหนือกาญจนบุรี การสร้างเขื่อนใหญ่ๆ บนลุ่มแม่น้ำแม่กลองทั้ง 4 เขื่อน ทำให้เกิดน้ำทะเลไหลย้อนกลับเข้าไปในแม่น้ำแม่กลอง แล้วทำให้สวนผลไม้พื้นถิ่นของชาวบ้าน เช่น สวนมะพร้าวตาย ตั้งแต่ปี 2523 ชาวสวนแถวอัมพวาแทบจะล้มละลาย ป่าทุ่งใหญ่เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ถ้าสร้างเขื่อนน้ำโจนสำเร็จจะมีผลต่อแม่น้ำแควน้อยอย่างมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในแควหลักของแม่น้ำแม่กลองด้วย คนในลุ่มน้ำแม่กลองจึงลุกขึ้นมาคัดค้านเขื่อนน้ำโจน ในขณะที่นักศึกษาตอนนั้น เช่น อาจารย์สมพงษ์ ธงชัย ตอนนั้นน่าจะอยู่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ปิดถนนประท้วงรัฐบาล

ช่วงปี 2525 ถือว่าเป็นช่วงการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนยุคแรก โดยชาวบ้านแถบสมุทรสงคราม นักศึกษา และนักวิชาการ ในส่วนของนักวิชาการ ผมเห็นว่าผู้มีบทบาทสำคัญคือ อาจารย์นาท ตันทวิรุฬห์ ซึ่งผมถือว่าเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ผลิตผลงานวิชาการสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างจริงจัง งานของอาจารย์นาท น่าจะหาอ่านกัน เพราะมีทั้งเรื่องการคัดค้านเขื่อนขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

พอเจอการประท้วง รัฐบาลก็ชะลอโครงการออกไป แต่นักศึกษา คอทส. ยังลงพื้นที่ติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่องเพราะเรื่องเขื่อนน้ำโจนถือเป็นวาระสำคัญที่สุด หลังปี 2525 นักศึกษาสายสิ่งแวดล้อมเกือบทุกรุ่นจะต้องศึกษาเรื่องนี้

 

บรรยากาศในการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนน้ำโจนตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง

ในขบวนการนักศึกษาเราเคลื่อนเรื่องเขื่อนน้ำโจนอย่างจริงจังมาก  ทั้งการทำข้อมูลวิชาการ การลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับชุมชนในลุ่มน้ำแม่กลอง การปั่นจักรยานจากธรรมศาสตร์ไปยังศาลหลักเมืองกาญจนบุรี การชุมนุมเกิดขึ้นเกือบทุกสัปดาห์ที่สนามหลวง นักศึกษาไม่เคยกลัวสนามหลวง ชุมนุมบางทีก็เป็น 5,000 เป็นหมื่นก็มี

ตอนนั้นภาพของสนามถูกมองว่าเป็นการเมือง คนที่ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนก็กลัว ไม่เห็นด้วยหากชุมนุมที่สนามหลวงเพราะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่พวกเราไม่กลัว เพราะมองว่าสิ่งแวดล้อมกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน ที่เมืองกาญจน์ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงก็มีการชุมนุมบ่อยครั้ง บางครั้งมีศิลปินมาร่วม เพลงชีวิตสัมพันธ์เป็นเพลงที่เราร้องกันทุกครั้งที่มีการเคลื่อนขบวน พวกเราที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนน้ำโจนร้องเพลงนี้เป็นหมด

ตอนนั้น นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เพราะคัดค้านเขื่อน รายการวิทยุของรัฐ เช่น สยามมานุสติ และ เพื่อแผ่นดินไทย โจมตีเราแทบทุกวัน  แต่เราก็ไม่ค่อยยี่หระนะ เราใช้ธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหว เราปั่นจักรยาน ‘ปลุกหอ’ จากเกษตรมาจุฬาเป็นหมื่นๆ คัน เพื่อรณรงค์เรื่องเขื่อนน้ำโจน นักศึกษา ประชาชนในยุคนั้นสนใจสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะเรื่องน้ำโจน

สิ่งสำคัญที่สุดของการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนน้ำโจนคือทำให้เกิดความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย เป็นการเคลื่อนไหวที่มีคนหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งข้ามชนชั้นด้วย เช่นคนในลุ่มน้ำแม่กลอง คนในเมืองกาญจน์มีทั้งครู  แม่บ้าน ทนายความ พ่อค้า มีแกนนำอย่างเช่น พี่ประวิทย์ เจนวีระนนท์  พี่ภินันท์  พี่บุญส่ง  มีชาวบ้านสมุทรสงครามที่เดือดร้อนจากการกักเก็บน้ำของเขื่อน เพราะทำให้สวน ไร่นา สวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่ล่มสลาย มีชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในทุ่งใหญ่ แม้แต่ข้าราชการก็ออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เช่น คุณไพโรจน์  สุวรรณกร ซึ่งตอนนั้นเป็นธิบดีกรมป่าไม้  พี่วีระวัธน์  ธีระประศาสน์  ที่เป็นหัวหน้าเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ในสมัยนั้นเราเข้าทุ่งใหญ่ยาก แต่ว่าคนมีข้อมูลคือพี่วีระวัธน์  ตลอดเวลาที่สู้จะเป็นคนให้ข้อมูลทางวิชาการป่าไม้กับพวกเรา  ส่วนพี่สืบ นาคะเสถียร ตอนนั้นอยู่กองวิชาการ กรมป่าไม้ และเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน พี่สืบทำให้ได้ข้อมูลมาเผยแพร่ให้ทุกฝ่ายเห็นว่าการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศยังไง  ด้านนักวิชาการมีทั้งจากมหาวิทยาลัย เช่น อาจารย์ ดร.สุรพล สุดารา จากจุฬา ศาสตราจารย์ปริญญา นุตาลัย จาก AIT และนักวิชาการจากหน่วยงานรัฐ เช่น อาจารย์รตยา จันทรเทียร คือมีคนหลากหลายกลุ่มมาก

นั่นล่ะครับเราก็สู้จนชนะ จนรัฐบาลพลเอกเปรมในขณะนั้นมีมติชะลอโครงการ

 

กลุ่มนักศึกษาปั่นจักรยานในกิจกรรมปลุกหอ | ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
กลุ่มนักศึกษาปั่นจักรยานในกิจกรรมปลุกหอ | ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

อาจารย์คิดว่ามีความใหม่อะไรในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนน้ำโจน ที่ต่างจากการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านั้น

หลัง 6 ตุลาฯ ขบวนการสิ่งแวดล้อมลงไปทำงานกับมวลชนในเรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่อง  แต่กรณีของเขื่อนน้ำโจนจะต่างกับกรณีอื่นๆ คือ กรณีเขื่อนน้ำโจนสามารถโน้มน้าวคนกลุ่มอื่น ที่ไม่ใช่แค่คนที่ได้รับผลกระทบหรือคนในท้องถิ่นมาร่วมได้ด้วย โดยเฉพาะชนชั้นกลางและสื่อมวลชน

จริงๆ ก่อนหน้านั้นสื่อมวลชนต่อสู้เรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ตั้งแต่มีเรื่องเขื่อนน้ำโจน วงการสื่อมวลชนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เกิดนักข่าวสายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น มีนักข่าวที่ตามเกาะติดเรื่องนี้หลายคน เช่น คุณนิรมล เมธีสุวกุล

ส่วนนักศึกษาทั่วประเทศรวมตัวกันได้แล้วทุ่มเทกับการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนน้ำโจนอย่างเต็มที่ บางคนก็ยอมทิ้งห้องเรียนเลย เพื่อไปร่วมคัดค้าน ร่วมเคลื่อนไหว บางคนเกิดมาไม่เคยได้ F เลย ก็ตกได้  F ก็ช่วงนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือคนท้องถิ่นลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งสิทธิของชุมชน เช่น พี่น้องกะเหรี่ยงในทุ่งใหญ่ที่ออกมาร่วมเดินขบวนคัดค้านเขื่อน

มีความหลากหลายในขบวนการ มีทั้งแม่บ้าน ทั้งข้าราชการครู ทนาย ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงพี่น้องกระเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร คนเมืองกาญจน์ คนลุ่มน้ำแม่กลอง ฯลฯ ซึ่งปรากฏการณ์ลุกขึ้นสู้ของคนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

บางคนอาจมองว่าการเคลื่อนไหวกรณีเขื่อนน้ำโจนเป็นกระแสสีเขียว อนุรักษ์ธรรมชาติล้วนๆ แต่จริงๆ มีเรื่องสิทธิชุมชนด้วย รวมไปถึงสิทธิมนุษยชน คนเมืองกาญจน์ลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะเขาคิดว่าไม่ควรต้องมาเสี่ยงกับการที่จะมีการสร้างเขื่อน ตลอดไปจนถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา เช่น คนเมืองกาญจน์ที่ควรมีสิทธิ์กำหนดอนาคตของตนเอง มันมีประเด็นหลากหลาย ไม่ใช่การอนุรักษ์อย่างเดียว สุดท้ายทุกฝ่ายมารวมกัน

ผมถือว่ากรณีเขื่อนน้ำโจนเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movements) เพราะเราไม่ต้องการไปล้มล้างอำนาจรัฐแบบในสมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ต้องปฏิวัติ ต้องไปยึดอำนาจ ต้องสนใจเรื่องชนชั้น ชาวนา กรรมกร ต้องลุกขึ้นมารวมกันต่อสู้ ไม่ใช่แบบนั้น แต่ว่ากรณีของเขื่อนน้ำโจนข้ามพ้นเรื่องชนชั้น และข้ามพ้นเรื่องการเคลื่อนไหวแบบเก่าตรงที่เราไม่ได้ต้องการยึดอำนาจจากภาครัฐ แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐให้มีความเป็นธรรม ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน

เวทีอภิปรายปัญหาเขื่อนน้ำโจน ณ ศาลหลักเมือง จ. กาญจนบุรี มีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมยุคแรกๆ ร่วมเคลื่อนไหว
เวทีอภิปรายปัญหาเขื่อนน้ำโจน ณ ศาลหลักเมือง จ. กาญจนบุรี มีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมยุคแรกๆ ร่วมเคลื่อนไหว

มีการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกรณีไหนอีกบ้างคะที่นับว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่อย่างนี้

มีหลายกรณีครับ เช่น หลังปี 2535 ชาวบ้านหลายพื้นที่ทั่วประเทศตื่นตัวขึ้นมา เพราะได้เรียนรู้บทเรียนจากการพัฒนา  มีการจัดตั้งเป็นเครือข่ายจากการเป็นผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วประเทศ  มีเครือข่ายป่าชุมชนตามภาคต่างๆ ปี 2539 เครือข่ายเหล่านี้มารวมตัวกันก่อตั้งเป็นสมัชชาคนจน ประกาศก่อตั้งที่โขงเจียม และนำไปสู่การเคลื่อนไหวของขบวนการชาวบ้านที่ใหญ่ที่สุด มีการชุมนุมหน้าทำเนียบ 99 วัน ซึ่งนับเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ที่ชัดเจน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนหลายอย่างในรัฐธรรมนูญตามมา แต่บางเรื่องก็เคลื่อนไม่สำเร็จเหมือนกัน เช่น แผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติ ปี 2529  ที่มาแผลงฤทธิ์ในช่วงรัฐบาลทหาร รสช. ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย และพอทหารขึ้นมาเป็นรัฐบาล กรมป่าไม้ก็ฉวยโอกาสนี้ผลักดัน อพยพชาวบ้านออกจากเขตป่า

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากพูดคือสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยที่มีข้อจำกัดคือให้ความสำคัญกับป่าและสัตว์ป่าเป็นประเด็นหลัก พออะไรที่ไม่กระทบกับป่าก็ไม่ค่อยออกมาเคลื่อนไหว เช่นกรณีเขื่อนปากมูลเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบต่อแม่น้ำ ผลกระทบต่ออาชีพประมง การสูญเสียวิถีชีวิตของชาวบ้าน  สังคมยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อประเด็นแบบนี้ การต่อสู้ระยะแรกจึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้ว แม่น้ำและทรัพยากรในแม่น้ำโดยเฉพาะปลามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเรากินปลาเป็นอาหาร เราไม่ได้กินนกยูงสักหน่อย แต่เราให้ความสำคัญกับนกยูงมากกว่าปลา

การรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวรไว้มีความยากลำบากมาก เมื่อรู้ข่าวการล่าเสือดำในเขตป่าทุ่งใหญ่ของคุณเปรมชัย กรรณสูตร อาจารย์คิดอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้

ผมคิดถึงเหตุการณ์การล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่เมื่อปี 2516 เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน คือผู้มีอำนาจคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง เข้าไปล่าสัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง แล้วทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วย เป็นเขตมรดกโลกด้วย คนที่กล้าทำแบบนี้ได้ต้องเป็นผู้มีอิทธิพลและมีเส้นสาย

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ในปัจจุบัน | ภาพโดย สังวาลย์ ล้านพลแสน

จากขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนน้ำโจนและทุ่งใหญ่นเรศวร อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่การต่อสู้ครั้งนั้นทิ้งไว้ให้คนรุ่นปัจจุบัน

กรณีเขื่อนน้ำโจนเป็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาล กรณีนี้ปลุกกระแสสิ่งแวดล้อมในสังคม หลังจากกรณีเขื่อนน้ำโจน การเคลื่อนไหวกรณีสิ่งแวดล้อมก็ผุดขึ้นมาทั่วประเทศ

อีก 4 ปีต่อมา พื้นที่ทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งก็ได้ขึ้นทะเบียนกับ UNESCO เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศ  นอกจากเหตุผลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การที่ป่าทุ่งใหญ่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นเพราะประชาชนได้แสดงให้เห็นว่าต้องการรักษาป่าแห่งนี้

ดังนั้นการอนุรักษ์จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนในสังคม เราจะปล่อยให้การจัดการทรัพยากรอยู่ในมือของรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ มิเช่นนั้นเราคงไม่มีมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งนี้ ใจกลางป่าทุ่งใหญ่คงมีเขื่อนน้ำโจนไปแล้ว ดังนั้นเราต้องถือว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของพวกเราทุกคน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการรักษาและตัดสินใจด้วย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save