fbpx
คิดใหม่ 'เมือง' หลังโควิด-19 กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

คิดใหม่ ‘เมือง’ หลังโควิด-19 กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

หลังมาตรการล็อกดาวน์อันเข้มข้น เมืองกำลังเปิดใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยโจทย์ใหญ่ที่ยากกว่าเดิม เมืองต้องการวิชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์สุขภาพและเศรษฐกิจพร้อมกัน

101 คุยกับ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นักการเมืองอิสระ ผู้ประกาศเจตจำนงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยวิชั่นใหญ่ต่อเมืองหลวง ในรายการ 101 One-On-One Ep.144 : คิดใหม่ ‘เมือง’ หลังโควิด-19 กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

โควิด-19 เปลี่ยนเมืองอย่างไร กรุงเทพฯ ควรต้องเป็นอย่างไรเพื่อตอบโจทย์คนอยู่ ควรมีที่ทางแบบไหนต่อประชาคมโลก และ ‘เศรษฐกิจแห่งความไว้วางใจ’ (Trust Economy) จะเป็นยุทธศาสตร์หลักของเมืองและของประเทศได้อย่างไร

 

:: จะรอดต้องคิดถึง next normal ::

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ตอนนี้คนพูดกันถึง new normal แต่ที่จริงเราอาจมีแรงเฉื่อยมาต้านทานการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราต้องคิดคือ next normal อย่าเพิ่งคิดว่าสุดท้ายจะไปลงเอยที่ไหน ให้คิดว่าอาทิตย์หน้าจะเป็นอย่างไร แล้วจะรับมืออย่างไร ทั้งธุรกิจต่างๆ และเมืองจะไปรอดต้องคิดถึง next normal แล้วปรับตัว อย่ารอจนถึง new normal

ถามว่าคนจะเวิร์กฟรอมโฮมตลอดไหม เมืองมีต้นทุนมหาศาลที่ลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทเช่าสำนักงาน มีรูปแบบธุรกิจแบบเดิม มหาวิทยาลัยมีตึกจะยอมทิ้งรูปแบบเดิมให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ทั้งหมดหรือเปล่า นี่จะเป็นแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เป็นสถานการณ์ผิดปกติ ถ้าสถานการณ์กลับเป็นปกติ ต้นทุนเดิมจะดึงให้เรากลับไปสู่รูปแบบเดิม เช่น ตอนน้ำท่วมใหญ่ คนคิดว่าจะไม่มีใครไปปลูกบ้านแถวรังสิตแล้ว แต่ตอนนี้ก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ห้างก็ต้องจูงใจให้คนกลับไปเดินเหมือนเดิม

เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ผมคิดว่าจะมี 4 เทรนด์

1. สุขภาพ คนจะกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้น มีการสำรวจว่าตอนนี้คนจีนสนใจเรื่องอาหารปลอดภัยและการดูแลสุขภาพมากขึ้น เป็นโอกาสของไทยในการทำแหล่งอาหารปลอดภัย การท่องเที่ยวปลอดภัย

2. ความประหยัด โควิดเขย่าเราหนักเรื่องความไม่แน่นอน แม้มีเงินแต่ปีหน้าเราก็จะยังไม่กล้าใช้ ต่อจากนี้บริษัทต้องลีน(lean)ขึ้น ต้นทุนที่เป็นไขมันจะถูกตัดออก คนจะถูกเลย์ออฟบางส่วนเพื่อลดต้นทุน ในระยะยาวจะแข่งกันที่ความคุ้มค่า

3. เทคโนโลยี ตอนนี้คนซื้อของออนไลน์หมดแล้ว เทคโนโลยีจะถูกใช้มากขึ้น โดยเฉพาะใช้ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพกับประสิทธิภาพในการผลิต คนรุ่นใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีให้หลากหลายเพื่อลดต้นทุน

4. จุดอ่อน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์บอกว่า “โควิดจะทำเราเห็นจุดอ่อนอย่างไม่ปราณี” ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่เรามีมาก่อนอยู่แล้ว อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ โควิดเข้ามาเขย่าให้ตะกอนฟุ้งขึ้นมา เราต้องอาศัยวิกฤตเป็นโอกาส คนที่ผ่านโควิดไปได้จะเข้มแข็งขึ้นทุกคน ไม่ว่าจะระดับบริษัทหรือประเทศ อย่างเรื่องการท่องเที่ยว มีผลสำรวจว่าคนจีนอยากกลับไปเที่ยวต่างประเทศ คือ 1.ญี่ปุ่น 2.ไทย แล้วญี่ปุ่นจะออกค่าตั๋วให้ครึ่งหนึ่งเพื่อชวนคนไปเที่ยว หลังโควิดทุกคนจะแข่งขันกัน แต่มีความต้องการน้อยลง คนเก่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด วิกฤตโควิดเป็นโอกาส อย่าปล่อยให้ตะกอนฟุ้งแล้วตกลงมาเหมือนเดิม

 

:: หัวใจคือความไว้วางใจ ::

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ปัญหาโควิดคือเรื่องความไว้วางใจ เพราะโควิดคือสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ว่าเรื่องนักท่องเที่ยวที่หายไป ซัพพลายเชนสะดุด การส่งออกลดลง โซเชียลดิสแทนซิ่ง คนว่างงาน 7 ล้านคน ทั้งหมดมาจากความไม่ไว้ใจ เศรษฐกิจจะกลับมาได้ต้องสร้างความไว้วางใจ การลงทุนหรือสร้างยุทธศาสตร์ เป็นเรื่อง trust economy ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ประเทศไทยได้เปรียบ เพราะมีต้นทุนที่ดีด้านสาธารณสุข มีคนป่วยคนตายน้อย สามารถสร้างให้เป็นประเทศที่น่าไว้วางใจได้ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมา จะเป็นตีมหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

เอสเอ็มอีหลายรายที่มีความสัมพันธ์กับลูกค้าในพื้นที่จะเริ่มสร้างความไว้ใจขึ้นมาเอง เช่น ลงมือทำฉากกั้นเอง หัวใจคือเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว เราจะไว้ใจใคร เราต้องมั่นใจว่าเขาไม่เห็นแก่ตัว อย่างเว็บไทยชนะ เราสงสัยว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของใคร พอเราสงสัยว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของเราก็จะไม่ไว้ใจ

นักท่องเที่ยวจะไม่มาเมืองไทยถ้าไม่ไว้วางใจ ถ้าสร้างความไว้วางใจได้เราจะกลับสู่ความปกติได้เร็ว ซึ่งรัฐบาลมีส่วนอย่างมาก

เรื่องส่งออกในอนาคต ผมเชื่อว่าโลกาภิวัตน์จะมีปัญหา ซัพพลายเชนต้องคิดว่าจะตั้งโรงงานที่ไหน ถ้าตั้งพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดมีโอกาสที่ซัพพลายเชนจะถูกดิสรัปต์ได้ เมืองไทยต้องเอาเรื่องความไว้วางใจเป็นจุดขาย เรามีสาธารณสุขที่ดี คนมีวินัยใส่หน้ากาก คนติดเชื้อน้อย ถ้าไม่มีตีมเลย 1.99 ล้านล้านบาทจะหายไปโดยไม่ได้อะไรกลับมา

คำว่า trust มาจาก 1.ความเก่ง 2.ความเป็นตัวตนว่าเราไม่เห็นแก่ตัว แล้วต้องดูว่าเศรษฐกิจเราเจ๋งไหม เอาอยู่ไหม เราทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ไหม เรามีทุจริตคอร์รัปชันไหม สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความไว้วางใจหายไป

ส่วนเรื่องการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เรายังไม่มีความไว้ใจระบบเทคโนโลยีเท่าไหร่ หลายคนไม่กล้าใช้ไทยชนะ เรื่องระบบลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทก็เช่นกัน เราต้องทำให้คนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีจนเป็นวิถีชีวิตเหมือนที่ไต้หวันทำ เขาไม่ได้เพิ่งทำตอนมีวิกฤต แต่ทำให้คนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมานานแล้ว ให้คนโหวตผ่านแอปฯ ให้คนวิจารณ์กฎหมายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เมื่อคนคุ้นกับออนไลน์ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาได้ เราต้องค่อยๆ ทำให้เทคโนโลยีอยู่ในชีวิตคน จนคุ้นเคยและไว้ใจแอปฯ ของรัฐบาล ไม่ใช่ว่ามีวิกฤตแล้วค่อยเอาเทคโนโลยีมาใช้ จะไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่

เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผมก็ไม่เห็นว่าเกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับโควิด เลยไม่รู้ว่าจะยกเลิกได้หรือยัง เราอาจลองทดสอบบางจุดเล็กๆ ก่อน เช่น ลองเปิดโรงเรียนเล็กๆ แล้วค่อยขยายไป มาตรการบางอย่างทำให้มีคำถาม เช่น ผมนั่งรถไปกับลูก เข้าร้านอาหารแล้วต้องนั่งห่างกัน พอรู้สึกว่ามันแปลก คนมีเครื่องหมายคำถาม ก็เกิดความไม่ไว้ใจ และจะบั่นทอนการตั้งการ์ดของเรา เราจึงต้องช่วยอธิบายให้สมเหตุสมผล ที่ผ่านมาสาธารณสุขเราทำได้ดี ถึงจุดหนึ่งอาจต้องผ่อนคลายบ้าง

 

:: แก้ปัญหากรุงเทพฯ ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน ::

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

คนไทยมีจิตใจช่วยเหลือกัน แต่ลงไปไม่ถึงคนยากลำบาก กรุงเทพฯ มีสองพันกว่าชุมชน แต่มีชุมชนเปราะบางหรือชุมชนแออัด 1.5 พันแห่ง มีคนอยู่ 1.2 ล้านคน กระจายทั่วกรุงเทพฯ ไม่ได้มีเฉพาะคลองเตย เพราะคนต้องอยู่ใกล้งาน ถ้าในตึกมียามมีแม่บ้านเขาก็ต้องอยู่ชุมชนใกล้ๆ

ตอนนี้เรามีโครงการ ‘บ้านใกล้ เรือนเคียง’ ให้คนช่วยกันดูแลชุมชนใกล้เคียง ทาง https://betterbangkok.co/ ผมเอาข้อมูลชุมชนของกทม.ลงแผนที่ ใส่ชื่อประธานชุมชน เบอร์โทร และความขาดแคลน เพื่อจะช่วยเหลือได้ตรงจุด คนในชุมชนทำงานอยู่รอบตัวเรา ถ้าเขาไม่รอดเราก็ไม่รอด และในระยะยาวจะทำโครงการพัฒนากันต่อไปได้

ชุมชนแออัดในทองหล่อ พอมีโควิดรายได้ชุมชนลดลงไป 72% เขาถูกเลย์ออฟทันที ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านอาหาร แม่บ้าน พอเศรษฐกิจหยุดคนพวกนี้ไปก่อนเลย ถึงวันนี้พอเริ่มเปิดเมืองคนพวกนี้ก็กลับมาก่อน คนในชุมชนเปราะบางแค่ต้องการเสื้อชูชีพให้เขาประคองตัวผ่านไปถึงตอนเปิดเมือง การช่วยเหลือระยะสั้นจะต่อชีวิตเขาได้ ที่น่ากลัวคือคลื่นลูกที่สองจะเกิดกับมนุษย์ออฟฟิศ เกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องคิดต่อ

ปัญหาของกรุงเทพไม่ได้อยู่เส้นเลือดใหญ่ เรามีระบบรถไฟฟ้า ทางด่วน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ปัญหาอยู่ที่เส้นเลือดฝอย คือการลงไปถึงชุมชน เรายังไม่ค่อยได้ลงทุนส่วนนี้

คนจำนวนมากอยู่ในเส้นเลือดฝอย โควิดเข้ามาเขย่าให้เห็นว่าปัญหาของเส้นเลือดฝอยมีเยอะ แต่ส่วนที่เข้มแข็งคือ อสม. ที่รู้สภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ละเอียด เป็นคนที่เข้าใจระบบและต้องพัฒนาในมิติอื่นด้วย การพัฒนาเมืองในอนาคตต้องทำให้เส้นเลือดฝอยเข้มแข็งขึ้น ทั้งระบบสาธารณสุข การศึกษา คมนาคม

หัวใจของชุมชนคือต้องมีการรวมกลุ่มและมีตัวแทนที่เข้มแข็ง เพื่อมาพูดคุยถึงความต้องการ ต้องรวมตัวขึ้นทะเบียนแล้วนำความช่วยเหลือลงไป สิ่งสำคัญคือความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ถ้าเขามีที่อยู่ของตัวเองแล้วอนาคตจะพัฒนาให้รุ่นลูกดีกว่าพ่อแม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าจะถูกไล่ที่ตอนไหนก็จะไม่กล้าลงทุนหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น สุดท้ายจะเป็นชุมชนแออัดเสื่อมโทรม

ปัญหาตอนนี้คือ กทม. ไม่รับจดทะเบียนชุมชนที่มีน้อยกว่า 100 หลังคาเรือน ต้องปรับให้คล่องตัวขึ้น เพื่อให้ชุมชนเล็กรับความช่วยเหลือได้ หัวใจของการปรับกทม. ต้องปรับวิธีคิด ลงไปดูชุมชน ขยับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ลงไปใกล้คน เหมือนทำธุรกิจต้องอยู่ใกล้ลูกค้า

สิ่งที่สามารถเริ่มทำได้ทันทีคือเรื่องระบบสาธารณสุขชุมชน ปัจจุบัน มีศูนย์สาธารณสุขชุมชน แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ โรงเรียนของกทม.ก็สามารถเริ่มไปเพิ่มประสิทธิภาพได้ เป็นระดับเส้นเลือดฝอยที่ไม่ได้รับการดูแล ซึ่งสามารถทำได้ทันที

เราต้องทำให้อำนาจกระจายลงไปถึงชุมชน มีระบบที่สะท้อนความต้องการกลับมาได้ สร้างชุมชนย่อยๆ ให้เข้มแข็ง ทุกคนมีบทบาทในการรักษาสิทธิ แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ถ้าเราเอาเขาไปหลบไว้ข้างหลัง ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงอะไรก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องเริ่มจากเส้นเลือดใหญ่ลงไปถึงเส้นเลือดฝอย

ทำให้ชุมชนมีตัวแทนที่เข้มแข็ง สามารถมีปากมีเสียงในการเรียกร้องสิ่งที่เขาเห็นว่าจำเป็นกับเขาได้ ไม่ใช่ส่วนกลางไปยัดงบประมาณให้ เช่น ชุมชนอยากได้คันกั้นน้ำ แต่ได้ไม้กวาดมาแทนทุกปี หัวใจคือสร้างหลังให้คนตัวเล็กตัวน้อย กระจายอำนาจลงสู่ชุมชน

 

:: ภาพเมืองในฝัน ::

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ผมอยากทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ตอนนี้เราเป็นเมืองน่าเที่ยวแต่ไม่ใช่เมืองน่าอยู่ ต้องทำให้คนกรุงเทพฯ อยู่ได้มีความสุข มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ การเดินทางสะดวกขึ้น ไม่ใช่คนคิดว่าแก่แล้วจะไปอยู่ที่อื่น หากเราเป็นเมืองน่าอยู่แล้ว เราก็จะเป็นเมืองน่าเที่ยวด้วย

เรื่องพื้นที่สาธารณะ กรุงเทพฯ ยังมีที่ราชการเยอะแยะ เราต้องรื้อรั้วออก ที่ใต้ทางด่วนก็เอามาพัฒนาได้ เรามีที่พอสำหรับทุกคนแต่อาจต้องคิดนอกกรอบ ที่ดินเอกชนก็อาจอาศัยประโยชน์เรื่องภาษีที่ดินสำหรับที่ดินที่คนไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ตัวอย่างที่ดีคือสนามปั่นจักยานสุวรรณภูมิ เมื่อก่อนมีรั้วเพื่อรักษาความปลอดภัยเข้มงวด พอเอารั้วออกคนก็เข้าไปปั่นจักรยานและคอยสอดส่องเรื่องความปลอดภัยให้แก่กันว่าเกิดอะไรขึ้น นกก็น้อยลง พื้นที่แบบนี้เราเอามาแบ่งปันกันได้ไหม

ที่ มศว ประสานมิตร มีสนามฟุตบอล เสาร์อาทิตย์เปิดให้คนทั่วไปใช้ ชุมชนใกล้เคียงก็ได้เข้าไปเตะบอล แต่บางมหาวิทยาลัยเสาร์อาทิตย์ปิดล็อกโซ่หมด เด็กต้องวิ่งเล่นบนถนน พื้นที่เหล่านี้เราแบ่งปันกันได้ ผมคิดว่ามีพื้นที่พอสำหรับทุกคน

ส่วนเรื่องผังเมือง กรุงเทพเป็นเมืองที่มีโครงสร้างอยู่แล้ว ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ในกรุงเทพฯ คงทำยากเพราะถูกยึดโดยเอกชนหมดแล้ว อาจต้องพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนามากนัก และอาศัยรถไฟฟ้าเป็นตัวนำไป ปัจจุบันผังเมืองมาจากส่วนกลางเป็นหลัก ไม่ได้ตอบโจทย์พื้นที่ อนาคตผังเมืองต้องปรับให้สะท้อนภาพชีวิตมากขึ้น เราอาจทำให้มีเมืองย่อยๆ กระจายความเจริญแล้วปรับผังเมืองให้สอดคล้องระบบคมนาคมและการอยู่อาศัยได้

รูปแบบในต่างประเทศคือการจัดรูปที่ดิน เอาที่หลายแปลงมารวมกันเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยเจ้าของที่ดินแต่ละแปลงยังมีสิทธิอยู่ เช่นแต่ละคอนโดรวมพื้นที่กันทำสวนสาธารณะ

ผังเมืองเราไม่ได้ดีมาก การพัฒนาขีดไปตามความต้องการของเจ้าของที่ดินค่อนข้างมาก ระบบรถไฟฟ้ามาทีหลังก็ต้องลัดเลาะไป ตามสิ่งที่มีอยู่แล้ว เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชนนัก

หากรถไฟฟ้าสร้างเสร็จตามแผน การเดินทางก็จะยังไม่ดีขึ้น เพราะรถไฟฟ้าคือเส้นเลือดใหญ่ จะไม่เวิร์กถ้าไม่มีเส้นเลือดฝอย เราต้องทำระบบฟีดเดอร์อย่างรถเมล์ให้ดีด้วย ไม่มีเมืองไหนที่มีแต่รถไฟฟ้าแล้วทุกอย่างดี อีกทั้งรถไฟฟ้าเป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำอันดับหนึ่ง เพราะทำให้ที่ดินราคาสูงขึ้น คนทั่วไปยากจะซื้อคอนโดริมรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ แต่ไม่ได้แก้ปัญหา 100% เพราะคนที่อยู่ไกลออกไปที่เส้นเลือดฝอยยังมีปัญหาอยู่ เราต้องดูระบบขนส่งสาธารณะภาพรวมประกอบกัน ทั้งระบบฟีดเดอร์ รถเมล์ การเดิน มันต้องคุ้มค่ากว่าการขับรถมาเอง หลายประเทศมีค่าขับรถเข้าเมือง ให้คนขับรถเฉพาะเมื่อจำเป็นและหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ ถ้าเราไม่มีทางเลือกที่ดีจะทำระบบนี้ไม่ได้

 

:: จากการเมืองระดับชาติ สู่สนามท้องถิ่น ::

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ผมเป็นนักการเมืองแค่สองปีกว่า สิ่งที่เรียนรู้ คือ ถ้าไม่มีความไว้ใจกัน มีความแตกแยกเยอะ หรือไว้ใจกันเฉพาะกลุ่มที่รู้จักหรือผูกพันกัน ก็ทำงานกันลำบาก หวังว่าอนาคตจะลดเรื่องความขัดแย้งแล้วดูประเทศชาติให้มากขึ้น ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง แต่ต้องใช้อารมณ์ให้น้อยลง ใช้เหตุผลให้มากขึ้น

ผมคิดว่าการเมืองระดับชาติมีพื้นที่ให้คนมีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงาน เชื่อว่าข้าราชการจำนวนมากเป็นคนดีที่อยากได้คนเก่งมาช่วยทำงาน คนเป็นรัฐมนตรีถ้ามีหลักการจะมีที่ยืน อาจต้องทนถูกด่า แต่ต้องยืนให้ตรง ข้าราชการทุกคนมีความสุขกับการทำงานที่เป็นประโยชน์ ตอนผมอยู่กระทรวงคมนาคมก็มีคนเก่งๆ ที่อยากร่วมมือกันทำงานเยอะ มันไม่ง่ายแต่หวังว่าในอนาคตจะมีมืออาชีพเข้ามาเยอะๆ

สำหรับผมเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ ผมไม่อยากให้ครอบครัวเสียชื่อเสียง ถ้าเราไม่ได้ลงทุนอะไรเราก็ไม่ต้องไปเอาคืน มีระเบียบกฎหมายอยู่ทุกอย่าง ถ้าเรายืนตรงชัดเจนก็ไม่เป็นอะไร มีคนเยอะแยะที่ทำได้ ต้องหวังให้คนรุ่นใหม่มาช่วย

ส่วนสาเหตุที่ผมมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แบบไม่สังกัดพรรค เพราะมองในแง่การบริหารจัดการ ผมเชื่อว่าการเมืองท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องพรรค แต่เป็นการดูแลทุกคนในกรุงเทพฯ การเมืองตอนนี้มีความขัดแย้งเยอะ ถ้าลงในนามพรรคจะไม่ได้คุยเรื่องนโยบาย แต่จะคุยเรื่องความขัดแย้งเยอะ

การเมืองในระดับชาติต้องมีพรรคเพราะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ใหญ่ แต่ระดับท้องถิ่นถ้าเราลงอิสระจะสามารถให้บริการรับใช้ทุกคนได้ ไม่ต้องเสียเวลาเรื่องความขัดแย้งในระดับที่สูงกว่าการบริหารกทม. ซึ่งผมก็อาจคิดผิดก็ได้ เพราะไม่มีฐานเสียง

การปรับตัวของพรรคการเมืองในภาพรวมผมคิดว่าต้อง realistic ต้องมีทางออกที่เป็นรูปธรรม เพราะตอนนี้ปัญหาเยอะมาก แง่หนึ่งต้องเดินคู่อุดมการณ์ ต้องเอาคนรุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรมเข้ามาให้เยอะขึ้นและต้องคิดถึงคำตอบที่เป็นไปได้ คำตอบที่เป็น next normal เหมือนการบริหารธุรกิจต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่เป็นขั้นเป็นตอน สุดท้ายกลับมาที่หัวใจของการเมืองคือความไว้ใจ ทำยังไงให้เขาเห็นว่าเราทั้งเก่งและดี เราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรค แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

อย่าไปปลุกเร้าเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาก ที่ผ่านมาการเมืองเราปลุกเรื่องอารมณ์ ความรัก ความเกลียดกันเยอะ เพราะต้นทุนถูกแต่ติดไปนาน ถ้าคนเกลียดใครแล้วความเกลียดจะอยู่นาน ในระยะยาวจะไม่ดี จะไม่ได้ทำให้เราใช้ความคิดด้านเหตุผล มาคุยกันเรื่องนโยบาย หลักการ ลดความเกลียดชัง สุดท้ายทุกคนน่าจะมีเจตนาที่ดี แต่อาจจะคนละรูปแบบ อนาคตต้องลดเรื่องอารมณ์ลง ใช้เหตุผลคุยกันมากขึ้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save