fbpx
การรวบอำนาจในเวเนซุเอลา: กรณีศึกษาอูโก้ ชาเวซ

การรวบอำนาจในเวเนซุเอลา: กรณีศึกษาอูโก้ ชาเวซ

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

การเมืองของลาตินอเมริกาต้อนรับปีใหม่ 2019 นี้ คงไม่มีที่ไหนร้อนแรงเท่ากับการแย่งชิงอำนาจในเวเนซุเอลา ระหว่างประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร่ กับผู้นำของรัฐสภา ฮวน กวายโด ที่ประกาศสาบานตนเป็นประธานาธิบดีอีกคนหนึ่งเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา กลายเป็นหนึ่งประเทศสองประธานาธิบดี ที่ต่างก็มีผู้หนุนหลังที่สมน้ำสมเนื้อกัน เป็นสถานการณ์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งยวด ว่าท้ายที่สุดแล้วใครจะได้ยืนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง

เพื่อเป็นการเข้าใจสถานการณ์ทางเมืองในปัจจุบันของเวเนซุเอลา มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนไปศึกษาบทบาทของอดีตประธานาธิบดีอูโก้ ซาเวช ที่ปกครองเวเนซุเอลาระหว่างปี ค.ศ.1999 ถึงปี ค.ศ.2013 เมื่อเขาต้องลาลับโลกไปเพราะเป็นมะเร็งที่อุ้งเชิงกราน หาไม่แล้วคนที่เป็นเสาหลักฟาดฟันกับฮวน กวายโด คงเป็นเขา ไม่ใช่มาดูโร่เป็นแน่แท้ ดังนั้นในบทความนี้ผมจะนำเสนอขั้นตอนต่างๆ ของอูโก้ ชาเวซ ในการรวบอำนาจทางการเมือง และก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่นำมาสู่ปัญหาในปัจจุบัน

 

ขั้นตอนแรก : การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีอย่างท่วมท้น

 

หลังจากที่อูโก้ ชาเวซ ชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1998 (เขาได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ.1999) หลังการล่มสลายของระบบสองพรรคการเมืองที่แชร์อำนาจกัน ระหว่าง AD กับ COPEI ภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ ที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลกในช่วงทศวรรษที่ 1990 ส่งผลให้คนจนเพิ่มขึ้นจาก 44.4 เปอร์เซ็นต์ ในปี ค.ศ.1989 เป็น 57.6 เปอร์เซ็นต์ ในปี ค.ศ.1998 ทำให้ประชาชนต้องการนักการเมืองที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองแบบเดิมๆ กลายเป็นโอกาสให้ชาเวซก้าวขึ้นมาจนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

แทนที่จะรีบเข้ามาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ชาเวซทำเป็นลำดับแรกคือการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แทนที่รัฐธรรมนูญเก่าที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 เขารีบจัดการลงประชามติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 เมษายน 1999 โดยได้เสียงตอบรับถึง 87 เปอร์เซ็นต์จากประชาชนที่มาลงมติ จนนำมาสู่การตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ชาเวซก็สามารถชนะได้ถึง 93 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งทั้งหมด เนื่องจากฝ่ายค้านเกิดความแตกแยก ส่งผู้สมัครตัดคะแนนเสียงกันเอง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลส่งผู้สมัครลงแข่งในแต่ละเขตเพียงคนเดียวเท่านั้น

คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็ร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประธานาธิบดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้อำนาจประธานาธิบดีมากที่สุดในลาตินอเมริกาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจากสมัยละ 5 ปี เป็น 6 ปี และให้เป็นได้สองสมัยติดต่อกัน ประธานาธิบดีมีอำนาจในการควบคุมแต่งตั้งกองทัพได้อย่างเต็มที่ ยกเลิกวุฒิสภาให้รัฐสภาเหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียว เป็นการทำลายอำนาจการตรวจสอบและถ่วงดุล ประธานาธิบดีคงไว้ซึ่งอำนาจในการประกาศทำประชามติต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา งบสนับสนุนพรรคการเมืองถูกยกเลิก เท่ากับเป็นการบั่นทอนอำนาจของการเมืองระบบพรรค และเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติถูกทำให้อ่อนแอ ก็เป็นการง่ายที่ฝ่ายบริหารจะเข้าไปแทรกแซงในอำนาจตุลาการ รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ต่างก็ถูกคนของชาเวซเข้าไปควบคุมเสียหมด

 

ขั้นตอนที่สอง : สถานการณ์ที่วุ่นวายและการลงโทษ

 

หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี ค.ศ.1999 และมีการเลือกตั้งรัฐสภาในปี ค.ศ.2000 กลุ่มการเมืองของชาเวซสามารถคุมที่นั่งได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ตัวชาเวซเองได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ด้วยคะแนนเสียงกว่า 59 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออำนาจมีล้นเหลือ ชาเวซก็พยายามเข้าไปแทรกแซงระบบการศึกษาที่เป็นเอกเทศมานาน โดยรัฐจะเข้าไปจัดการเรื่องการจ้างงานครูแทน ก่อให้เกิดความไม่พอใจไม่เฉพาะครู แต่ยังรวมถึงผู้ปกครองของนักเรียน สถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ ต่างก็คัดค้านนโยบายนี้ของชาเวซ

ความไม่พอใจในอำนาจที่ล้นเหลือของชาเวซ ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของผู้ต่อต้านไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน พรรคการเมือง หน่วยประชาสังคมต่างๆ รวมถึงบางคนที่เคยสนับสนุนชาเวซ มีการนัดหยุดงานประท้วงหรือไม่ก็เดินขบวนต่อต้านชาเวซนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.2001 เรื่อยมา จนทำให้เวเนซุเอลาตกอยู่ในสถานการณ์ที่วุ่นวายในปีต่อมา สังคมแตกแยกมากที่สุดในลาตินอเมริกาในขณะนั้น และแทนที่ชาเวซจะหาทางเจรจา กลับตั้งป้อมตอบโต้กลุ่มผู้เห็นต่างด้วยมาตรการที่รุนแรง

ในวันที่ 11 เมษายน 2002 มีผู้คนเกือบล้านคนเดินขบวนประท้วงรัฐบาล เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้สนับสนุนรัฐบาล กองทัพปฏิเสธคำสั่งของชาเวซในการปราบปรามผู้ประท้วง มีรายงานว่าชาเวซประกาศลาออก วันรุ่งขึ้นเกิดการรัฐประหารโดยเปโดร คาร์โมนา ประธานสภาหอการค้า ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดี โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบางส่วน คาร์โมนาประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปิดรัฐสภา สร้างความตกตะลึงให้กับชาวเวเนซุเอลาจำนวนมาก เพราะพวกเขาไม่คิดว่าสถานการณ์จะเลยเถิดมาจนขั้นนี้ กองทัพหันกลับมาเข้าข้างฝ่ายชาเวซ ทำให้เขาได้หวนกลับสู่ทำเนียบประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง เป็นการสิ้นสุดรัฐประหารที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของเวเนซุเอลา โดยใช้เวลาเพียงราวๆ 72 ชั่วโมง

การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของฝ่ายค้านเสียหายเป็นอันมาก ต่างกับชาเวซและกองทัพที่ได้รับความชื่นชม ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะสิ้นสุดลง แต่ก็ได้ขยายความแตกแยกในสังคมการเมืองเวเนซุเอลาให้ฝังรากลึกลงไปอีก และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาเวซไม่เคยคิดที่จะประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้านเขาเลย เพราะการกระทำของฝ่ายตรงข้ามกลับยิ่งสร้างคะแนนนิยมของเขาให้พุ่งสูงขี้นไปอีก

ฝ่ายค้านได้พยายามท้าทายอำนาจชาเวซอีกครั้งโดยการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ ภายใต้การนำของ PDVSA ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจน้ำมันของรัฐ เป็นเวลากว่าสามเดือน นับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2002 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก เนื่องจากเวเนซุเอลาพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของรายได้การส่งออกทั้งหมด ชาเวซกลับถือจังหวะนี้พลิกโอกาสให้เป็นผลประโยชน์แก่ตัวเอง โดยการปลดพนักงานของ PDVSA กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และตั้งคนของตัวเองและกองทัพให้เข้าไปบริหารแทน

ต่อมาฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้มีการลงประชามติถอดถอนชาเวซออกจากตำแหน่ง ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านใช้หนทางที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญในการต่อต้านชาเวซ โดยช่วงต้นปี ค.ศ.2003 นั้นถือว่าชาเวซมีคะแนนเสียงสนับสนุนลดลงมาก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการหยุดงานก่อนหน้า ทำให้ GDP ของประเทศลดลงไปกว่า 17.6 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มว่าการลงประชามติฝ่ายค้านจะเป็นผู้ชนะ แต่ชาเวซก็พยายามใช้กลไกของรัฐทุกวิธีทางในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดการลงประชามติ โดยใช้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการขัดแข้งขัดขาฝ่ายค้าน แต่ท้ายที่สุดฝ่ายค้านก็สามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นให้มีการลงประชามติถอดถอนได้สำเร็จ โดยกำหนดวันลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2004

 

ขั้นตอนที่สาม : ระบบอุปถัมภ์

 

นับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในปี ค.ศ.1999 จนถึงปลายปี ค.ศ.2003 ชาเวซให้ความสนใจกับการใช้เงินของรัฐเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนน้อยมาก งบประมาณส่วนมากทุ่มไปกับกองทัพเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อตระหนักว่าคะแนนเสียงของตัวเองกำลังเพลี่ยงพล้ำ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น เขาได้ผันงบประมาณมากกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP มาลงทุนในโครงการสวัสดิการของรัฐ ส่งผลโดยตรงต่อความนิยมของเขาที่พุ่งสูงขึ้น จนทำให้ได้รับเสียงกว่า 59 เปอร์เซ็นต์ลงมติให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไป

ขณะเดียวกัน การพ่ายแพ้นับครั้งไม่ถ้วนทั้งในเกมและนอกเกมของฝ่ายค้าน ส่งผลให้พวกเขาแทบจะไม่มีที่ยืนต่อไปในการเมืองภายใต้อุ้งมือของชาเวซ ดังนั้นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในอีกสองเดือนต่อมา ฝ่ายรัฐบาลชนะการเลือกตั้งระดับผู้ว่าการรัฐได้ถึง 21 ที่นั่งจากทั้งหมด 23 ที่นั่ง และในระดับนายกเทศมนตรีก็กวาดมาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันชาเวซยังได้รุกคืบเข้าไปยังฝ่ายตุลาการ โดยการแต่งตั้งคนของตัวเองอีก 12 คนเข้าไปเป็นคณะกรรมการตุลาการสูงสุด

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เปิดเผยรายชื่อของผู้ลงนามให้การมีทำประชามติถอดถอนชาเวซ ที่เก็บรักษาไว้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเกิดการรั่วไหลของข้อมูล ส่งผลให้คนเหล่านี้ไม่น้อยถูกกดดันให้ออกจากงาน หรือถูกตัดสวัสดิการความช่วยเหลือจากรัฐ มาตรการการลงโทษผู้เห็นต่างเช่นนี้ สร้างความหวาดกลัวไม่น้อยให้เกิดขึ้นในสังคมการเมืองเวเนซุเอลา ส่งผลให้ในที่สุดฝ่ายค้านตัดสินใจไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2005 เท่ากับฝ่ายค้านยื่นอำนาจนิติบัญญัติให้ตกอยู่ในมือของชาเวซแต่เพียงผู้เดียว

 

ขั้นตอนที่สี่ : การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2006 และปัญหาของฝ่ายค้าน

 

เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในปี ค.ศ.2006 ภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้งที่เอียงไปทางฝั่งชาเวซ ฝ่ายค้านได้มีความเห็นแตกออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกจะใช้การประท้วงตามท้องถนนเป็นหนทางในการต่อสู้ ฝ่ายที่สองจะไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้ง และฝ่ายสุดท้ายเห็นว่าถึงแม้กติกาการเลือกตั้งจะไม่เป็นธรรม ก็จะขอสู้กับชาเวซ ในที่สุดฝ่ายที่สามได้ส่งมานูเอล โรซาเลส ผู้ว่าการรัฐซูเลียเป็นตัวแทนฝ่ายค้านเข้าลงแข่งขันในครั้งนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสองกลุ่มแรก ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญอันหนึ่งของฝ่ายค้านในการเลือกตั้ง

ฝ่ายค้านขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้การกาบัตร แทนการใช้เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ เพราะกลัวการรั่วไหลของข้อมูล แต่ฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้งยอมให้เฉพาะบางสถานที่เท่านั้น สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับฝ่ายค้านว่าจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ไม่เลือกชาเวซหลุดรอดออกมาเหมือนก่อนหน้านั้น ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่กล้าลงคะแนนเสียงให้กับโรซาเลส เพราะกลัวจะสูญเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐจัดให้กับผู้สนับสนุนชาเวซเท่านั้น

นอกจากนี้ประธาน PDVSA ยังข่มขู่แกมบังคับให้พนักงานทุกคนเลือกชาเวซ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งห้าม เพราะ PDVSA เป็นรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่มีสิทธิบังคับขู่เข็ญ แต่แทนที่จะมีการลงโทษ ชาเวซกลับยกย่องการกระทำดังกล่าวและเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานของรัฐปฏิบัติตาม จะเห็นได้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้าข้างชาเวซอย่างเต็มที่ ชาเวซชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสูงถึง 62.9 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

ขั้นตอนที่ห้า : ความพ่ายแพ้ครั้งแรกของชาเวซ

 

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2006 นี้ สร้างความฮึกเหิมให้กับชาเวซเป็นอันมาก เขาถึงกับประกาศกร้าวจะเดินหน้าทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิวัติโบลิวาร์ ที่เขายึดถือเป็นแกนสรณะในการบริหารประเทศ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือจะยกเลิกการจำกัดสมัยของประธานาธิบดี ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่จำกัด ส่งผลให้ฝ่ายต่อต้านกลับมารวมตัวได้อีกครั้ง

แม้กระทั่งผู้ที่เคยเป็นพวกเดียวกับชาเวซ อาทิ พลเอกราอูล อิซาส แบดุล อดีตรัฐมนตรีกลาโหมที่มีส่วนช่วยให้ชาเวซได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในช่วงรัฐประหาร ค.ศ.2002 ก็ประกาศไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.2007 ส่งผลให้ท้ายที่สุดชาเวซแพ้ไปเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับชาเวซ และส่งผลให้การเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีในปี ค.ศ.2008 ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียที่นั่งผู้ว่าการรัฐเหลือเพียง 17 รัฐ จากเดิมที่เคยได้ 21 รัฐ ในปี ค.ศ. 2004

 

ขั้นตอนสุดท้าย : ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของชาเวซ

 

หลังจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2008 ชาเวซรับรู้ว่าความนิยมในตัวของเขากำลังถดถอย ดังนั้นเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่สำคัญให้เร็วที่สุด นั่นคือการยกเลิกการจำกัดสมัยของประธานาธิบดี ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะห้ามเอาประเด็นนี้ขึ้นมาทำประชามติอีก ในช่วงสมัยประธานาธิบดีคนเดิมที่เคยแพ้ในประเด็นเดียวกันไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม แต่ชาเวซแย้งว่า ประชามติคราวนี้แตกต่างจากในปี ค.ศ.2007 เพราะเป็นการขยายเพดานไม่จำกัดสมัยในทุกตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งประธานาธิบดีแค่เพียงตำแหน่งเดียว

ขณะเดียวกัน ชาเวซยังมองว่าถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดีต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาการแย่งชิงอำนาจในพรรคของเขาก็จะทุเลาเบาบางลง ไม่มีใครกล้าที่จะท้าทายอำนาจเขา ทำให้พรรคเกิดความสามัคคี เพราะในขณะนั้นเกิดการตั้งคำถามว่าใครจะเป็นทายาทสืบต่ออำนาจของชาเวซ เมื่อเขาครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี ค.ศ.2012 ส่งผลให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างความสั่นคลอนให้กับเสถียรภาพของรัฐบาล

นอกจากนี้การที่ขยายเพดานไม่จำกัดสมัยในทุกตำแหน่ง ยังส่งผลให้สมาชิกพรรครัฐบาลสามารถอยู่ต่อในตำแหน่งได้ไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ฝ่ายรัฐบาลจึงผนึกกำลังกันเพื่อผลักดันให้ร่างประชามตินี้ผ่าน ผลการลงประชามติครั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ชาเวซชนะไปด้วยคะแนนเสียงรับรอง 55 เปอร์เซ็นต์

การที่ชาเวซสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกเพดานจำกัดสมัยประธานาธิบดีลงได้ ส่งผลให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากที่สุดในลาตินอเมริกา อย่างที่ไม่เคยมีรัฐประชาธิปไตยอื่นทำมาก่อน ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในระบอบประธานาธิบดีของลาตินอเมริกาที่ไม่จำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นฐานรากของระบอบประธานาธิบดีของเวเนซุเอลาที่มีความเป็นเผด็จการอยู่สูง และได้กลายเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save