fbpx
Cause of Death" Unknown (1)

หลักประกันสุขภาพที่รัก (14) : “Cause of Death : Unknown” ตอนที่ 1

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

Cause of Death : Unknown เป็นหนังสารคดีปี 2017 จากนอร์เวย์ ของผู้สร้างและผู้กำกับสตรี แอนนิเกล โฮเอล (Annikel Hoel) ซึ่งได้สืบค้นและสอบสวนการตายของพี่สาวของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคจิตเภท

“แหวนวงนี้เป็นของพี่สาวของฉัน เธอใส่ในวันที่เธอตาย อายุ 35 ปี เท่านั้น สาเหตุการตาย-ไม่ทราบ” หนังขึ้นต้นด้วยคำบอกเล่าของแอนนิเกล

ผู้ป่วยตายในโรงพยาบาลจิตเวช หลังจากที่ได้รับยาจิตเวชหลายตัวในขนาดสูง หนังเปิดเผยชื่อยาหลายตัวและบริษัทยาหลายบริษัทที่ผลิตยาเหล่านั้น

เป็นเมืองหนึ่งในนอร์เวย์ ที่สุสานเล็กๆ เป็นแผ่นป้ายหลุมศพของเรเนต โฮเอล (Renate Hoel) หิมะโปรยปราย ดนตรีอ้อยอิ่ง แอนนิเกลเล่าถึงวันที่พ่อของเธอมาแจ้งข่าวการตายของพี่สาว เธอกลับไปที่ห้องของพี่สาวเพื่อถ่ายรูปข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว นั่นเป็นปี 2005 ฉากนี้เพื่อเตือนผู้ชมว่าคนตายนั้นมีอยู่จริง และมีชีวิต มีของใช้ มีรูปถ่าย เหมือนพวกเรา

ฉากต่อมาเป็นปี 2006 แอนนิเกลนั่งลงข้างหน้าต่าง จุดบุหรี่สูบ ถอนใจ ค่อยๆ พูดถึงมูลเหตุจูงใจที่เธอสร้างหนังเรื่องนี้ พี่สาวของเธอตายในสถาบันจิตเวช ป่วยด้วยโรคจิตเภท คือ Schizophrenia ร่างกายแข็งแรงดี ทุกอย่างเรียบร้อยดี

หนังตัดไปที่กรอบรูปเด็กหญิง 3 คน พี่สาวคือเรเนตเป็นคนโต แอนนิเกลเป็นคนสุดท้อง หนังฉายชีวิตวัยเด็กของเด็กหญิงทั้งสาม แอนนิเกลเล่าว่าเธอเรียกพี่สาวว่า ‘ดาดา’ เสมอ แต่ในหนังเรื่องนี้เธอจะใช้ชื่อจริงคือเรเนต มีประโยคหนึ่งเธอพูดว่า เธอเงยหน้าดูพี่สาวเสมอ เธอชอบใส่เสื้อของพี่ และเล่นเป็นพี่ ถึงตอนนี้หนังผ่านไปแล้วหกนาทีเพื่อสร้างเรเนตที่มีอยู่จริงขึ้นมาในใจคนดู

ฉากถัดมาเป็นแอนนิเกลสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่พบศพเรเนตเป็นคนแรก เรเนตตายในท่านั่งบนเก้าอี้ ร่างค้อมลง เธอตายตั้งแต่วันเสาร์ตอนบ่ายแต่กว่าที่คนจะพบศพเป็นวันจันทร์ เจ้าหน้าที่เล่าว่าเรเนตเป็นผู้ป่วยที่น่ารัก เขาพยายามกลั้นน้ำตา แอนนิเกลเล่าต่อไปว่าพี่สาวถูกพบในชุดสีดำ ไม่ใส่รองเท้า เธอฝันถึงพี่สาวในชุดดำนี้ติดต่อกันหลายคืน ฉากนี้เธอเล่าขณะยืนบนดาดฟ้าในยามค่ำคืน แสงเหนือสวยงามปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า สั่นไหวพลิ้วไปมา เสมือนหนึ่งวิญญาณฉะนั้น

หนังเข้าเรื่องจริงๆ เมื่อประมาณนาทีที่ 10 เมื่อแอนนิเกลเริ่มค้นประวัติการรักษาของพี่สาว แล้วพบว่าพี่รับยา 5 ตัว โดยมีบางตัวที่ได้รับในขนาดสูงถึงสูงมาก เธอได้ค้นคว้าต่อไปแล้วพบว่ายาเหล่านี้มีคำเตือนเรื่อง sudden death คือการตายอย่างเฉียบพลันอยู่ก่อนแล้ว เธอจึงโทรศัพท์ไปถามแพทย์เจ้าของไข้เพื่อสอบถามว่ารู้เรื่องนี้หรือเปล่า คุณหมอตอบว่ายาทุกตัวในกลุ่มยาจิตเวชสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทั้งนั้น แต่ถึงกับทำให้เกิดการตายอย่างเฉียบพลันนี้เขาไม่ทราบ

“คุณเป็นจิตแพทย์หรือเปล่า” เธอถามคุณหมอทางโทรศัพท์

ท่าทีที่แอนนิเกลพูดกับคุณหมอ ว่ากันตามธรรมเนียมบ้านเราก็ต้องว่าไม่สุภาพ ในขณะที่น้ำเสียงของคุณหมอที่ตอบมาทางโทรศัพท์ถือว่าราบเรียบและอาจถูกตีความได้ว่าเฉยเมย เรื่องคุณหมอปฏิเสธว่าไม่รู้ความจริงเรื่องการตายอย่างเฉียบพลันนี้ จะเป็นคำพูดที่เธอใช้บอกใครต่อใครและอ้างอิงไปอีกหลายครั้งตลอดทั้งเรื่อง เป็นเสมือนชัยชนะยิ่งใหญ่ครั้งแรกและเป็นธงนำทาง คล้ายกับแหวนของพี่สาวที่เธอใส่อยู่แล้วกล้องจะจับภาพเป็นระยะๆ ประกอบดนตรีอ้อยอิ่ง

หนังออกแนวชวนเชื่อ และหลายครั้งที่ชวนเชื่ออย่างโจ่งแจ้งซึ่งทำให้อดระแวงข้อมูลที่นำเสนอต่อๆ มามิได้ การทำเช่นนี้เป็นข้อเสียต่อผู้สร้างเอง เพราะแม้ข้อมูลที่ตามมาจะถูกต้อง แต่ก็ทำให้น้ำหนักเบาลงไป เหตุที่กล่าวว่าหนังชวนเชื่อเพราะตลอด 90 นาทีที่นั่งดูนั้น ไม่มีฝ่ายที่ถูกกล่าวหาออกมาอธิบายเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

แอนนิเกลติดตามไปหาผู้เชี่ยวชาญในวงการยาหลายคนเพื่อสัมภาษณ์ เรื่องที่คนส่วนใหญ่ควรทราบอยู่แล้วคือเรื่องสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรยาใหม่มีอายุของตัวเอง อาจเป็น 10 ปี หรือ 20 ปี แล้วจะตกเป็นของสาธารณะ ระยะเวลาที่บริษัทยาถือครองสิทธิบัตรยาจึงเป็นนาทีทองที่บริษัทรู้ว่าตนเองกำลังผูกขาดการค้ายา บริษัทขายได้อยู่คนเดียวและทำกำไรมากมายได้เท่าที่ต้องการ

ตัวอย่างคลาสสิกคือยาโปรแซ็ค (Prozac) ชื่อสามัญคือฟลูออกเซทิน (fluoxetine) การวางตลาดของโปรแซ็คในทศวรรษที่ 80 เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการจิตเวชศาสตร์ นอกเหนือจากนี่คือยาวิเศษที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ยาได้กระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวางข้ามพรมแดนของจิตแพทย์ไปสู่แพทย์ทั่วไป พูดง่ายๆ ว่าคุณหมอคนไหนก็สั่งยาโปรแซ็คได้ การแพร่ระบาดของโปรแซ็คไปทั่วสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดวัฒนธรรมโปรแซ็ค กล่าวคือ ขอเพียงเศร้าก็กินโปรแซ็ค

ปัญหาของการทำตลาดโปรแซ็คคือ บริษัทได้โฆษณาข้อบ่งชี้ของโปรแซ็คเกินจริง กล่าวคือนอกเหนือจากที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าแล้ว  บริษัทยังทำตลาดโปรแซ็คด้วยการสื่อให้จิตแพทย์และแพทย์ทั่วไปทราบว่าโปรแซ็คยังที่ใช้ในโรคอื่นๆ ด้วย โดยที่ข้อบ่งชี้เหล่านี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) มิได้รับรอง

"Cause of Death : Unknown" ฟลูออกเซทิน (fluoxetine) โปรแซ็ค

จากบรรทัดนี้ไปมิได้อยู่ในหนัง เป็นประสบการณ์ส่วนตัวและข้อคิดเห็นของผู้เขียนเอง โปรแซ็คได้ขยายข้อบ่งใช้ไปที่โรคดังต่อไปนี้คือ กลัวสังคม อารมณ์หงุดหงิดขณะมีประจำเดือน ย้ำคิดย้ำทำ รวมทั้งแพนิค บางโรคไม่มีข้อบ่งชี้ในเวลาที่โปรแซ็ควางตลาดใหม่ๆ แต่จะมีข้อบ่งชี้ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม มีคำถามเสมอมาว่าบริษัทได้ถ่วงน้ำหนักงานวิจัยที่ทำโดยอาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยมากมายเพียงใด

ในความเป็นจริง โปรแซ็คเป็นยาที่ใช้ง่ายและสะดวกจริง ก่อนหน้ายาตัวนี้ จิตแพทย์ใช้ยาในกลุ่ม Tricyclic Antidepressant ซึ่งแม้ยาจะได้ผลดีมาก แต่ต้องใช้ในขนาดสูงถึงสูงมาก นำมาซึ่งฤทธิ์ข้างเคียงมากมายเกินกว่าที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนจะทนได้ ฝีมือการเพิ่มระดับยา (วงการแพทย์เรียกว่า titrate) จึงขึ้นกับจิตแพทย์เสียมาก และขึ้นกับการรักษาด้วยจิตบำบัดด้วย

ครั้นโลกมีโปรแซ็ค แพทย์คนไหนบนโลกก็สั่งยานี้ได้ เพราะยาแทบจะไม่มีฤทธิ์ข้างเคียงเลยนอกจากความง่วงเล็กน้อยในตอนแรกๆ แต่ที่มหัศจรรย์มากกว่าคือยาออกฤทธิ์ในเวลา 14 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับยารุ่นเก่าที่จะออกฤทธิ์ใน 2 เดือน

โปรแซ็คจึงมีความผิดอยู่ข้อหาเดียว นั่นคือบริษัทได้โฆษณาเกินจริง แต่เรื่องฤทธิ์ข้างเคียงยังไม่มีข้อกล่าวหาอะไรในตอนแรกๆ อย่างไรก็ตาม โปรแซ็คเป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่ายารุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นยาต้านอารมณ์เศร้าหรือยารักษาโรคจิต แม้ว่าจะมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก ปรับระดับยายาก และออกฤทธิ์ช้า แต่ยารุ่นเก่าเหล่านี้การแพทย์รู้จักและใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 พูดง่ายๆ คือหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน ถึงวันนี้เรารู้จักยารุ่นเก่าเหล่านี้กระจ่างเหมือนฝ่ามือ เรารู้ฤทธิ์ข้างเคียงทุกตัว ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จนกระทั่งไม่มีอะไรที่เราไม่รู้จักอีกเลย ดังนั้นในแง่ความปลอดภัยระยะยาวแล้ว ยารุ่นเก่าถือว่าปลอดภัยมากกว่ายารุ่นใหม่ๆ มาก

ทว่าโปรแซ็คจะแสดงให้เห็นฤทธิ์ข้างเคียงอันร้ายแรงในเวลาต่อมา

ตอนที่โปรแซ็ควางตลาดใหม่ๆ ราคายาเม็ดละ 90 บาท เทียบกับยาต้านอารมณ์เศร้ารุ่นเก่าซึ่งหากเป็นยาอิมพอร์ต ราคายาจะอยู่ที่ 3-5 บาท แต่ถ้าเป็นยาในชื่อสามัญซึ่งผลิตด้วยโรงงานยาในประเทศ ราคาจะอยู่ที่ 25-50 สตางค์ ผู้เขียนจำได้ว่าการจ่ายโปรแซ็คยังทำได้ยาก ด้วยราคาแพงเม็ดละเกือบร้อยบาท ซึ่งเกินจินตนาการของผู้เขียนเวลานั้น ผู้แทนยาเวลานั้นก็ทำการตลาดอย่างดุเดือดด้วยการวางยาตัวอย่างมากมายแก่แพทย์ รวมทั้งสนับสนุนให้แพทย์ไปเที่ยวสหรัฐอเมริกาเป็นหมู่คณะ

ตอนที่โปรแซ็คพ้นสิทธิบัตรยา เวลานั้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เริ่มต้นในประเทศไทยแล้ว โปรแซ็คถูกเรียกขานด้วยชื่อใหม่คือ ฟลูออกเซทิน อันเป็นชื่อสามัญทางยา แล้วราคาลดลงจากเม็ดละมากกว่าหนึ่งร้อยบาท เมื่อเทียบกับเม็ดละ 90 บาทในเดือนที่วางตลาดใหม่ๆ ลงเหลือเม็ดละ 1-2 บาท แล้วบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ตั้งแต่เริ่มต้น

นี่เป็นเรื่องใหญ่โตมากของวงการจิตเวชศาสตร์ประเทศไทย ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ป่วยจิตเวชหลายแสนคนและหลายล้านคนในเวลาต่อมา เข้าถึงฟลูออกเซทินได้โดยที่ตัวเองไม่รู้มาก่อนว่าเรากำลังเข้าถึงยาที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์

จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่ายาฟลูออกเซทินจะถูกบ่อนแซะจากบริษัทยาหลายบริษัทที่วางตลาดและถือสิทธิบัตรยารุ่นใหม่ๆ มากมายเกิน 10 ตัว ถูกวิพากษ์ว่าเป็นยาที่ไร้ประสิทธิภาพ ในขณะที่ยาต้านอารมณ์เศร้ารุ่นใหม่ๆ เหล่านั้นซึ่งราคายาเม็ดละ 25-100 บาทมีประโยชน์มากกว่า แต่โปรแซ็คหรือฟลูออกเซทิน ยังคงเป็นยาอันดับหนึ่งของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และใช้ได้ผลดีถึงดีมากอยู่

และถ้าใช้ร่วมกับยาเสริมบางตัวแล้ว ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดก็หายจากโรคซึมเศร้าได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000-30,000 บาทให้แก่ยารุ่นใหม่ๆ เลย…

(ยังมีต่อ)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save