fbpx
“White Tiger”: แบบจำลองระบบวรรณะ การเติบโตของเมือง และการเปลี่ยนผ่านสังคมอินเดีย

“White Tiger”: แบบจำลองระบบวรรณะ การเติบโตของเมือง และการเปลี่ยนผ่านสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่องและภาพ

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ครั้งนี้ผมอยากเขียนถึงภาพยนต์ที่ได้ออกอากาศทาง Netflix ไปเมื่อเร็วๆ นี้อย่าง White Tiger ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคมอินเดีย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย

แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้แค่เพียงสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมเท่านั้น แต่มันยังบอกเล่าเรื่องราวและความหมายแฝงผ่านตัวละครต่างๆ ถ่ายทอดสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต รวมถึงปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมอินเดียที่ถูกเล่าขานมานักต่อนัก ทั้งความเข้มข้นของระบบวรรณะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ผมขอถือโอกาสนี้หยิบประเด็นที่น่าสนใจในหลาย ๆ เรื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้มาอธิบาย วิเคราะห์ และชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพสังคมอินเดียว่าเหมือนหรือต่างจากสิ่งที่ภาพยนต์ถ่ายทอดออกมามากน้อยแค่ไหน ในขณะเดียวกันก็จะได้ไขข้อสงสัยและข้อข้องใจของคนไทยหลายคนเกี่ยวกับโครงสร้างและสภาพสังคมของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวรรณะและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจความเป็นจริงเกี่ยวกับสังคมอินเดียมากยิ่งขึ้น

 

วรรณะและการกีดกันทางสังคม : ความจริงและมายาคติ

 

เรื่องราวใน White Tiger ไม่ได้บอกเล่าเพียงแค่เรื่องราวของปัจเจกบุคคลคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนให้เห็นภาพจริงของสังคมอินเดียในหลากหลายมิติที่ดำเนินมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าบริบทและสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา แต่หลายสิ่งหลายอย่างในสังคมอินเดียถือเป็นมรดกตกทอดที่สืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นภาพจำ ไม่เพียงแค่สำหรับคนในสังคมอินเดียเท่านั้น แต่ยังตรึงอยู่ในความคิดของคนภายนอกสังคมอินเดียด้วย

หนึ่งประเด็นสำคัญที่ใครหลายคนนึกถึงเมื่อพูดคุยเกี่ยวกับอินเดียคงหนีไม่พ้นเรื่องระบบวรรณะ เวลาผู้เขียนเองพบใครหลายคนที่ไม่ได้มีโอกาสไปเยือนอินเดีย ก็มักต้องเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับเรื่องระบบวรรณะอยู่บ่อยครั้งจนอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องเล่าทุกครั้งเมื่อมีคนทราบว่ามีโอกาสได้ไปอยู่อาศัยและศึกษาที่นั่น แม้ภาพยนต์เรื่องนี้จะไม่ได้ลงไปแตะเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง แต่ใครที่ได้ชมก็คงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของระบบชนชั้นวรรณะไม่น้อย

เวลาเราพูดถึงระบบวรรณะ หลายคนมักเชื่อมโยงไปถึงประเด็นทางศาสนาซึ่ง แต่นั่นอาจเป็นความเข้าใจเพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะระบบนี้ได้ขยายขอบเขตกว้างขวางจนกลายสภาพไปเป็นระบบโครงสร้างทางสังคมที่นำไปสู่การจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบทางการงานแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น วรรณะยังเป็นการกำหนดชาติกำเนิดของแต่ละบุคคลที่ไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ความเข้าใจเหล่านี้สามารถใช้ในการอธิบายสังคมอินเดียในอดีตได้เป็นอย่างดี

แต่สำหรับในปัจจุบัน นับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชและมีรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง หนึ่งในบทบัญญัติสำคัญคือการห้ามเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของระบบวรรณะ แม้ว่าในทางปฏิบัติผู้คนในอินเดียจะยังคงยึดถือต่อระบบดังกล่าวอยู่บ้าง แต่การที่กฎหมายสูงสุดของประเทศมีบทบัญญัติเช่นนี้ ส่งผลให้คนอินเดียเริ่มมีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมายมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะมาจากวรรณะใดก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญยังมีส่วนสำคัญในการลดการเลือกปฏิบัติและการกีดกันการเข้าสู่ระบบงานในภาครัฐอีกด้วย

นอกจากนี้ การจะเข้าใจเรื่องระบบวรรณะยังจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจต่อสภาพความหลากหลาย สภาพภูมิศาสตร์ และวิวัฒนาการทางสังคมของอินเดียร่วมด้วย เพราะในหลายพื้นที่ของอินเดีย ระบบวรรณะก็อ่อนแอลงอย่างมากจากการปฏิรูปทางสังคมและพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมให้คนอินเดียมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมและสิทธิพื้นฐานของมนุษย์กันมากยิ่งขึ้น

ในหลายรัฐของอินเดีย สถานะของคนวรรณะล่างไม่ได้มีความแตกต่างไปจากคนวรรณะสูงเท่าใดนัก และที่สำคัญ คนวรรณะล่างยังมีโอกาสประกอบอาชีพต้องห้ามที่เคยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบหรือถูกผูกขาดจากคนวรรณะสูงมาโดยตลอด อย่างเช่นในรัฐเกรละ วัดฮินดูจำนวนมากอนุญาตให้นักบวชมาจากคนดาลิต ซึ่งเป็นคนวรรณะล่างได้ ทั้งๆ ที่อาชีพเหล่านี้มักผูกขาดโดยกลุ่มคนวรรณะพราหมณ์เท่านั้นมาโดยตลอด ฯลฯ

ยังไม่นับรวมว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียมีความพยายามอย่างมากในการออกแบบนโยบายเพื่อช่วยเหลือและเพิ่มโอกาสสำหรับคนวรรณะล่างให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ โดยโครงการเหล่านี้มีส่วนช่วยให้คนวรรณะล่างสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถเข้าไปสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ในระบบราชการ และระบบการเมืองของประเทศได้อีกด้วย

ฉะนั้นระบบวรรณะของอินเดียในทุกวันนี้จึงไปไกลเกินกว่ามายาคติที่เราถูกปลูกฝังมาตลอดหลายปีผ่านการเรียนรู้จากวิชาสังคมศึกษา หรือแม้แต่การกล่อมเกลาผ่านภาพยนต์และละครหลายเรื่องที่พยายามสร้างภาพตอกย้ำความเข้าใจเหล่านั้นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวจนขนาดที่เราจะสามารถอธิบายระบบวรรณะของอินเดียทั้งประเทศผ่านเรื่องเล่าเพียงเรื่องเดียวได้

 

เมืองกับชนบท : ความสัมพันธ์และบทบาทของแรงงานข้ามรัฐ

 

นอกจากจะเข้าไปแตะเรื่องวรรณะให้เราพอได้เห็นสภาพสังคมอินเดียบ้างแล้ว ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทก็ถือเป็นอีกหนึ่งมิติที่ White Tiger ถ่ายทอดให้เราเห็นได้อย่างน่าสนใจ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับตั้งแต่อินเดียเปิดประเทศรับการลงทุนจากภายนอกตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลายพื้นที่ของอินเดียก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านระบบราชการอย่างกรุงนิวเดลี ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างเมืองมุมไบ ศูนย์กลางด้านการค้าและท่าเรือที่สำคัญของประเทศอย่างเมืองกัลกัตตาและเชนไน หรือศูนย์กลางใหม่ด้านเทคโนโลยีอย่างเมืองเบงกาลูรู

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของอินเดียที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีมานี้ส่งผลต่อการกลายเป็นเมืองในหลายพื้นที่ของอินเดียอย่างมีนัยสำคัญ และได้สร้างช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างความเป็นเมืองกับชนบทขึ้นในอินเดีย ฉะนั้นคนอินเดียที่เกิดในยุคหลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาจึงต้องเผชิญกับการพลิกผันที่รวดเร็วอย่างมาก ชีวิตของบัลราม ตัวเอกของเรื่องถือเป็นภาพสะท้อนส่องให้เราเห็นการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชีวิตของคนเมืองและคนชนบทอย่างชัดเจน

 

ภาพบ้านเรือนในเขตชนบทของรัฐทมิฬนาดู ภาพถ่ายโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

 

วิถีชีวิตชนบทของอินเดียส่วนใหญ่พึ่งพิงอยู่กับภาคการเกษตรเป็นหลัก แต่ปัญหาใหญ่ของคนอินเดียอยู่ที่ว่าประชากรจำนวนมากกว่าครึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ในขณะที่ครอบครัวของอินเดียมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้จากภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจุนเจือคนทั้งครอบครัวได้ ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้คนอินเดียในเขตชนบทจำนวนมากต้องผลักลูกหลานของตัวเองให้เข้าไปผจญภัยในเมืองใหญ่เพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาหล่อเลี้ยงครอบครัว

เราสามารถพบเห็นกรณีเช่นนี้ได้ทั่วไปในอินเดีย โดยเฉพาะในเขตรัฐที่มีประชากรจำนวนมาก หรือรัฐที่อยู่ใกล้กับเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างรัฐอุตตรประเทศ รัฐพิหาร รัฐมัธยประเทศ รัฐราชาสถาน ฯลฯ รัฐเหล่านี้ล้วนเป็นรัฐสำคัญที่ส่งออกแรงงานเข้าไปป้อนให้ภาคการผลิตและภาคบริการของเมืองใหญ่ในเขตต่างๆ ของอินเดีย คนเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าอาชีพที่แรงงานข้ามรัฐเหล่านี้ทำก็หลากหลายมาก ทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานขับรถ คนงานก่อสร้าง ไปจนถึงเสมียนในร้านรวงต่างๆ และหากโอกาสเอื้ออำนวย คนเหล่านี้ก็อาจผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กอย่างร้านค้าของชำหรือร้านอาหารริมทางในเมืองใหญ่เหล่านี้ได้

ตามเมืองใหญ่ของอินเดียจึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งภาษา อาหารการกิน ไปจนถึงการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจากการที่คนชนบทหลากหลายพื้นที่เริ่มก่อตัวสร้างเครือข่ายระหว่างกันจนเกิดเป็นชุมชนขนาดย่อมภายในเมืองเหล่านั้น ชุมชนประเภทนี้กลายเป็นแหล่งพักพิงและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแรงงานข้ามรัฐที่เพิ่งเริ่มต้นเข้ามาหางานทำ เพราะอย่างน้อยคนในชุมชนก็มาจากรัฐเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตั้งแต่หาบ้านพักชั่วคราวให้ไปจนถึงชวนกันไปทำงาน

สำหรับหลายครอบครัว ทุกวันนี้เงินที่ได้รับจากสมาชิกครอบครัวที่เข้าไปทำงานในเมืองถือเป็นรายได้หลักสำคัญที่พยุงสภาพเศรษฐกิจในแต่ละปีให้อยู่รอดไปได้ ฉะนั้นหลายครอบครัวที่เห็นเพื่อนบ้านได้ดิบได้ดีจากการส่งคนในครอบครัวเข้าไปทำงานในเมืองจึงยอมทุ่มทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อให้สมาชิกครอบครัวของตัวเองได้เข้าไปทำงานบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น การส่งสมาชิกเข้าไปทำงานในเมืองในปัจจุบันของอินเดียไม่ใช่เพียงเพื่อการเอาตัวรอดของครัวเรือนในชนบทเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลงทุนเพื่อโอกาสสำหรับอนาคตด้วย

หากเรามองความสัมพันธ์และบทบาทของเมืองและชนบทในอินเดียปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในสภาพที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในขณะที่การพัฒนาเมืองต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ทั้งแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ เขตชนบทซึ่งมีประชากรจำนวนมากก็สามารถเติมเต็มช่องว่างความต้องการเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ส่วนเขตชนบทของอินเดียที่ต้องเผชิญกับปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ที่ดินทำกินมีอยู่อย่างจำกัด การได้รับเงินจุนเจือจากสมาชิกในครอบครัวที่เข้าไปหางานทำในเขตเมืองก็ช่วยให้เศรษฐกิจของเขตชนบทมีชีวิตมากยิ่งขึ้นเช่นกัน รวมทั้งเงินเหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาให้ชนบทหลายพื้นที่กลายเป็นเมืองขนาดย่อมได้อีกด้วย

 

แผงค้าขายในมหานครมุมไบ หนึ่งในมหานครที่มีแรงงานข้ามรัฐจำนวนมากของอินเดีย ภาพถ่ายโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

โอกาสของชนทุกชั้นในวันที่อินเดียเติบโต

 

หากตัดประเด็นเรื่องฆาตกรรมช่วงท้ายเรื่องออกไป White Tiger ได้อธิบายพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจของอินเดียได้อย่างสมบูรณ์แบบ ชีวิตของบัลรามเปรียบเสมือนชีวิตของคนอินเดียจำนวนมากที่เติบโตมาในยุคของการเปิดประเทศ และสามารถไขว่คว้าโอกาสที่มีอยู่มากมายในช่วงเวลาดังกล่าวจนสามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองและครอบครัวได้

เรื่องราวของบัลรามนั้นเป็นเสมือนตัวแทนชนชั้นกลางใหม่ของอินเดียที่กำลังพุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างที่ได้เขียนไว้ข้างต้นว่ามีคนชนบทของอินเดียจำนวนมากที่เริ่มต้นจากการเข้ามาทำงานรับจ้าง จนสุดท้ายสามารถผันตัวเองไปเป็นเจ้าของธุรกิจประเภทต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกชีวิตของคนเมืองที่เร่งรีบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับชีวิตคนในเจเนอเรชันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา

ตลอดหลาย 10 ปีที่ชนชั้นกลางของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่เติบโตไปพร้อมๆ กันก็คืออัตราการเข้าถึงการศึกษา สิ่งเหล่านี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอินเดียจำนวนมาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องปากท้องสำหรับคนอินเดียเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโอกาสของคนอินเดียทุกชนชั้นโดยไม่ถูกแบ่งกั้นด้วยระบบวรรณะใดๆ

การเข้ามาของกลุ่มทุนระหว่างประเทศช่วยให้คนวรรณะล่างได้มีโอกาสทำงานที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับรายได้เมื่อเทียบกับในอดีต อย่างการเป็นพนักงานขับรถอิสระของ Uber หรือเป็นพนักงานขนส่งสินค้าให้กับ Amazon และยังไม่นับรวมธุรกิจต่างชาติอีกมากมายที่เข้ามาลงทุนในอินเดียและเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เพราะสิ่งที่กลุ่มทุนเหล่านี้สนใจไม่ใช่ชาติกำเนิด ไม่ใช่พื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่คือผลกำไรที่เขาจะได้รับจากบุคลากรคนหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากแนวคิดของกลุ่มทุนอินเดียในอดีตจำนวนมากที่อาจยังคงยึดติดกับระบบความเชื่อเดิมๆ และใช้เรื่องเหล่านี้กีดกันคนจำนวนมากไม่ให้เข้าถึงตำแหน่งงาน จนส่งผลให้เกิดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างมากยิ่งขึ้น

ในวันที่เศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วจากการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก จึงเป็นวันที่โอกาสขยายเพื่อให้คนทุกชั้นในสังคมอินเดียเข้ามาหยิบฉวยผลประโยชน์เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง นี่คือส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำลายโครงสร้างปัญหาสังคมที่อินเดียเคยต้องเผชิญก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะปัญหาการกีดกันทางด้านวรรณะที่นับวันจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยในสายตาของคนยุคใหม่ และกำลังลดอิทธิพลลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ไม่ได้กำลังจะบอกว่าระบบวรรณะในอินเดียได้หายไปแล้วอย่างสิ้นเชิญ เพราะเราต้องไม่ลืมว่าแม้จะอินเดียผ่านการปกครองมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่มหาราชาชาวมุสลิม ตลอดจนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาเป็นเวลาหลายปี แต่เรื่องเหล่านี้ก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมอินเดียอย่างคงทน ฉะนั้นการจัดการเรื่องวรรณะในสังคมอินเดียจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เราคิด ในหลายพื้นที่เรื่องเหล่านี้กลายเป็นโครงสร้างสังคมและวิถีชีวิตไปแล้ว การเดินทางสู่สังคมที่ไร้ระบบวรรณะจึงยังคงเป็นอนาคตอันอีกยาวไกล

แต่สิ่งที่ต้องการจะสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นคือวิวัฒนาการและพลวัตทางสังคมอินเดียที่ต้องการผลักให้เรื่องเหล่านี้อ่อนกำลังลง หรือพยายามขจัดให้เรื่องเหล่านี้มีผลต่อเรื่องอื่นๆ น้อยที่สุด และระบบวรรณะก็ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้อธิบายและทำความเข้าใจอินเดียได้ทั้งประเทศ เพราะในแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของอินเดียนั้นก็มีระบบความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะที่แตกต่างกันออกไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save