fbpx
โลกใบเหงาของคาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส

โลกใบเหงาของคาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส

‘นรา’ เรื่อง

 

ผมรู้จักและได้อ่านงานเขียนของ คาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส เป็นครั้งแรกจากนิยายขนาดสั้นเรื่อง The Ballad of the Sad Café หรือบทเพลงคาเฟ่อันแสนเศร้า (แปลโดยนวลคำ จันภา) พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2529 ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ชอบชื่อเรื่อง ซึ่งตั้งได้ดีจังเลย

ตอนครั้งกระโน้น ผมอ่านจบลงพร้อมๆ กับอาการเหวอ ไม่ได้ประทับใจอันใด ค่อนข้างไปทางผิดหวังเสียด้วยซ้ำ

สาเหตุนั้นเข้าใจได้ง่ายครับ เป็นเพราะขณะนั้นชั่วโมงบินในการอ่านของผมยังมีจำกัด และคุ้นเคยเฉพาะนิยายบันเทิงแบบเบสต์เซลเลอร์ ครั้นมาพบเจองานเขียนอีกท่วงทำนองที่ผิดแผกกันไกล จึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึง ไม่สามารถสัมผัสความดีงามใดๆ ที่มีอยู่

ถัดมาคือ ชื่อหนังสือชวนให้ผมเข้าใจและคาดหวังไปล่วงหน้า ว่าจะต้องเป็นนิยายรักหวานขมอมเศร้า เร้าอารมณ์ และโรแมนติก แต่เมื่อได้อ่านจริงๆ กลับพบว่าไม่เป็นดังคาดแบบห่างไกลสุดกู่ ระดับความผิดหวังจึงเพิ่มพูนทบทวี

อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ผมเจอะเจอบ่อยๆ จากการอ่านหนังสือและดูหนังก็คือ ผลงานบางเรื่องที่เราไม่ชอบไม่เข้าใจในช่วงวัยหนึ่ง เมื่อเวลาผันผ่านไปนาน แล้วย้อนกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง มีโอกาสความเป็นไปได้สูงยิ่งที่จะเปลี่ยนความรู้สึกจากลบมาเป็นบวก

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ The Ballad of the Sad Café ได้รับการแปลใหม่ในชื่อ บทเพลงโศกแห่งคาเฟ่แสนเศร้า พร้อมๆ กับนิยายเด่นอีกเรื่องของคาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส ซึ่งตั้งชื่อได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน คือ The Heart is a Lonely Hunter หรือ หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ ผมก็รีบเสาะหามาอ่านเป็นการแก้มือ

ผลคือ ผมอ่านจบลงด้วยความตรึงใจจับใจ (และร้าวราน) เหลือจะพรรณนา รวมทั้งเกิดความอยากอ่านผลงานอื่นๆ ของคาร์สัน แม็คคัลเลอร์สอีก

คาร์สัน แม็คคัลเลอร์สเป็นนักเขียนสตรีที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมอเมริกัน งานเขียนของเธอได้รับการนิยามจัดอยู่ในประเภท Southern Gothic (อันนี้ผมรู้น้อยและยังไม่ชัดเจนพอที่จะอธิบายขยายความนะครับ) ซึ่งมีนักเขียนบิ๊กเนมอย่างวิลเลียม ฟอล์คเนอร์เป็นเสมือนร่มไม้ใหญ่

คาร์สัน แม็คคัลเลอร์สเกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1917 มีชีวิตหม่นเศร้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวละครในนิยายที่เธอเขียน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวจากการแต่งงาน, ความทุกข์ทรมานจากโรครูมาติกตั้งแต่อายุ 15 และเมื่ออายุ 31 อาการก็กำเริบถึงขั้นเป็นอัมพาตซีกซ้ายของร่างกาย, การเป็นไบเซ็กชวลในยุคสมัยที่สังคมต่อต้านและไม่ยอมรับ รวมทั้งติดเหล้าอย่างหนัก เธอเสียชีวิตในวันที่ 29 กันยายน 1967

กล่าวได้ว่า คาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส เป็นนักเขียนที่มีผลงานน้อยเมื่อเทียบกับอายุการทำงาน แต่ในเชิงคุณภาพแล้ว ทุกเรื่องล้วนดีเยี่ยมจนน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในด้านเนื้อหาสาระ ท่วงทำนองลีลาการเขียน หรืออารมณ์หม่นเศร้าเจ็บปวดในอรรถรสที่ไม่เหมือนใคร

The Ballad of the Sad Café เป็นผลงานปี 1951 เนื้อเรื่องย่อๆ จากคำโปรยหลังปกฉบับพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2529 สรุปความไว้ว่า “เรื่องรักสามเส้าของคนพิกล หญิงหนึ่ง ชายสอง… หญิงผู้แข็งกระด้าง สู้ชีวิตมาอย่างโดดเดี่ยวและห้าวเหี้ยม ชายหนึ่ง นักเลงโตคนคุก อดีตสามีที่จากไปด้วยความเจ็บแค้น และชายค่อมผู้แปลกปลอมเข้ามาชักนำเหตุการณ์ไปสู่จุดจบ อันเป็นที่มาของความหมองเศร้าแห่งบทเพลงของคาเฟ่แห่งนี้…”

จากพล็อตคร่าวๆ ก็แลดูเป็นเรื่องแนวชีวิตดรามาปกติทั่วไปนะครับ แต่นิยายขนาดสั้นเล่มนี้ (หรือเรื่องสั้นขนาดยาว ผมเองก็ไม่แน่ใจ และมีปัญหาในการจำแนกแยกแยะระหว่าง 2 สิ่งนี้ตลอดมา) กลับเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่นสารพัดสารพันจนเกิดเป็นลักษณะที่ศัพท์ทางศิลปะหรือวรรณกรรมเรียกว่า grotesque

พูดอย่างรวบรัดให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ grotesque เป็นการปรุงแต่งขับเน้นให้งานศิลปะ (ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน นิยาย ประติมากรรม ฯลฯ) เกิดความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนหรือเกินจริง ค่อนไปทางอัปลักษณ์ น่ากลัว ไม่เจริญหูเจริญตา เพื่อจุดมุ่งหมายซึ่งมีได้หลายทาง เช่น ยั่วล้อเสียดสี (ตัวอย่างง่ายๆ คือ การ์ตูนการเมืองที่วาดภาพล้อบุคคลให้ดูขี้ริ้วขี้เหร่กว่าความเป็นจริง), เพื่อสร้างความสะเทือนใจ, เพื่ออธิบายตอกย้ำความป่วยไข้ในจิตใจของตัวละคร ฯลฯ

ลักษณะแบบ grotesque ใน The Ballad of the Sad Café เห็นได้ชัดในบุคลิกภายนอกของตัวเอกทั้งสาม อมีเลีย หญิงสาวร่างสูง แต่งกายทะมัดทะแมง นัยน์ตาส่อน, ไลมอน ชายเตี้ยค่อม หน้าตาน่าเกลียด เนื้อตัวสกปรกมอมแมม และมาร์วิน เมซี  อดีตสามีผู้หล่อเหลา กำยำแข็งแรง แต่มีจิตใจโหดร้ายและพฤติกรรมเลวร้ายผิดมนุษย์มนา

นี่ยังไม่นับรวมถึงการบรรยายสภาพของเมืองเล็กๆ ที่ใช้เป็นฉากหลัง (ซึ่งไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นที่ใด ทราบแต่เพียงคร่าวๆ ว่าอยู่ทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา) อันเต็มไปด้วยความเวิ้งว้าง หม่นทึม ปราศจากสีสัน จืดชืด ผู้คนดำรงอยู่ด้วยกิจวัตรซ้ำซากน่าเบื่อ

น่าเบื่อกระทั่งว่า สิ่งคลายเหงาและพอจะนับว่าเป็นความบันเทิงได้บ้างก็คือ การเดินออกไปนอกเขตเมือง ซึ่งมีการนำนักโทษจากเรือนจำมาทำงานสร้างถนน แล้วฟังเพลงที่เหล่านักโทษขับขาน

ท้ายเล่มของ The Ballad of the Sad Café ฉบับแปลครั้งล่าสุด มีบทวิเคราะห์เนื้อหาสาระของงานเขียนชิ้นนี้แบบลงลึก และเปิดประเด็นมุมมองหลายๆ อย่างที่ผมไม่ได้สังเกตเห็นและนึกไปไม่ถึง ในบทความนั้นได้ตีความลักษณะแบบ grotesque ไว้และน่าสนใจมาก

ตามความเข้าใจของผมขณะอ่าน ความเป็น grotesque ในงานเขียนชิ้นนี้ ทำหน้าที่เด่นชัดมากในการ ‘แยก’ ตัวละครออกมาจากสังคมรอบข้าง จนกระทั่งแปลกปลอม ไม่ลงรอย และโดดเดี่ยวอย่างถึงที่สุด

สิ่งที่คาร์สัน แม็คคัลเลอร์สเก่งกาจยากจะหาใครมาเทียบได้ คือ การถ่ายทอดความเหงาสุดขีดจับขั้วหัวใจ

ความเหงาและตัวละครคนเหงาในนิยายของเธอ ไม่ได้เปล่าเปลี่ยวว้าเหว่ เพราะอยู่ตามลำพังและโหยหาต้องการใครสักคน แต่เป็นความเหงาเพราะเชื่อมต่อไม่ติดกับโลกรอบๆ ตัว เหงาแบบสั่งสมทุกสิ่งทุกอย่างมาทั้งชีวิต เหงาแบบสิ้นไร้ทางออก

เหงาจนกระทั่งว่า ความรักแบบที่มีการตอบสนองทั้งสองฝ่าย กลายเป็นเรื่องไกลตัวเกินเอื้อม ยากจะทำความเข้าใจ สิ่งที่พวกเขาและเธอต้องการ จำกัดขอบเขตเพียงแค่การมีโอกาสได้เลือกเป็นผู้รักแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยความยินดียิ่งกว่าการเป็นผู้ถูกรัก

นิยายเรื่องนี้เป็นรักสามเส้าแบบรักข้างเดียว วนเวียนเหมือนค้อน กรรไกร กระดาษ เมซีรักอมีเลีย อมีเลียรักไลมอน และไลมอนรักเมซี

ความสัมพันธ์แปลกประหลาดนี้โยงใยไปสู่การถือกำเนิดของคาเฟ่ และบทสรุปลงเอยด้วยการล่มสลายของคาเฟ่แห่งนั้น

การมีอยู่ของคาเฟ่ส่งผลทางใจต่อผู้คนในเมืองเล็กๆ ซึ่งรู้สึกมาตลอดถึงความด้อยค่าของการมีชีวิต ด้วยเหตุนี้ “ณ ที่นั้น การรับรู้ชีวิตขมขื่นอยู่ลึกๆ ว่า ตัวเองไม่มีค่านักในโลกนี้ก็จะถูกกดเก็บไว้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งถึงสองชั่วโมงเป็นอย่างน้อย” ในทุกค่ำคืนที่แวะไปยังคาเฟ่

เสน่ห์สำคัญที่ทำให้พล็อตง่ายๆ (มิหนำซ้ำ ผู้อ่านยังล่วงรู้ผลลัพธ์ในตอนจบตั้งแต่อ่านไปได้เพียงไม่กี่หน้า) เกิดความชวนอ่านน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งก็คือ คาร์สัน แม็คคัลเลอร์สใช้วิธีเล่าเรื่องจากมุมมองของผู้เขียน ซึ่งวางตัวเสมือนเป็นชาวเมืองคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมรู้เห็นในเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต

เรื่องเล่าที่เธอถ่ายทอดสู่ผู้อ่านจึงไม่ได้มีรายละเอียดกระจ่างครบถ้วน เหมือนวรรณกรรมส่วนใหญ่ที่ใช้มุมมองของผู้เขียน แต่คละเคล้าปนกัน ระหว่างความชัดกับความคลุมเครือ คำอธิบายสร้างเหตุและผลให้กับตัวละครในบางครั้งของแม็คคัลเลอร์สจึงคล้ายๆ การแสดงความเห็นจากบุคคลภายนอกที่สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ บางเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นและจบลง โดยไม่มีใครรู้ต้นตอสาเหตุความเป็นมาแน่ชัด บางอย่างก็ทิ้งปริศนาชวนกังขาว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น?

วิธีเช่นนี้ ทำให้เรื่องราวและพฤติกรรมแปลกๆ ของตัวละคร ดูสมจริงน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง ทั้งยังเร่งเร้าความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่านจนนำไปสู่การสันนิษฐานต่างๆ นานา แต่ที่สำคัญคือ การเล่าเรื่องของคนที่ชำรุดบกพร่องด้วยรายละเอียดที่แหว่งวิ่นไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้เกิดเป็นความลึกซึ้งตรึงใจด้วยอรรถรสประหลาดได้อย่างน่าทึ่ง

ผมอ่าน The Ballad of the Sad Café ก่อน โดยไม่ได้เรียงลำดับตามปีที่เขียน จากนั้นจึงค่อยตามเก็บ The Heart is a Lonely Hunter (ซึ่งเป็นนิยายเรื่องแรกของคาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส  พิมพ์ครั้งแรกในปี 1940 ขณะอายุ 23 ปี)

The Heart is a Lonely Hunter เป็นนิยายที่เล่าเรื่องย่อได้ยากอยู่สักหน่อยนะครับ คาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส สร้างตัวละครหลักขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ประกอบไปด้วย จอห์น ซิงเกอร์ ชายหนุ่มผู้เป็นใบ้และหูหนวก, มิค เคลลี เด็กสาวทอมบอยผู้หลงใหลในเสียงดนตรี, เจค บลอนท์ ชายพเนจรขี้เมาที่รอนแรมมายังเมืองเล็กๆ อันเป็นฉากหลังของเรื่อง, ดร.เบเนดิกต์ เมดี โคปแลนด์ คุณหมอผิวสี ผู้ขมขื่นมาทั้งชีวิตกับการโดนคนขาวกดขี่ข่มเหง และบิฟฟ์ แบรนนอน เจ้าของร้านนิวยอร์กคาเฟ่ ผู้เฝ้าสังเกตความเป็นไปของบรรดาชาวเมือง

ตัวนิยายแบ่งเป็นบทๆ ในแต่ละบท ตัวละครทั้งหมดข้างต้นสลับผลัดเปลี่ยนกันเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวเอง ทุกคนต่างมีเรื่องราวของตน ทั้งแยกขาดออกจากกันเป็นเอกเทศและเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันหลวมๆ รวมทั้งแผ่ขยายไปสู่ตัวละครรายล้อมรองลงมาอีกเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นจุดเชื่อมทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ ทุกตัวละครหลักล้วนแล้วแต่เป็นคนเหงา ด้วยปัญหา สาเหตุแตกต่างกันไป แต่หลักใหญ่ใจความคือ ความแปลกแยกโดดเดี่ยวและไม่อาจสื่อสารสิ่งที่อัดแน่นอยู่ในใจกับใคร ทุกคนจึงดิ้นรนเสาะหา ‘ใครคนหนึ่ง’ มารับฟังความในใจของตน

ชายใบ้จอห์น ซิงเกอร์ มีเพื่อนชาวกรีกร่างอ้วนใหญ่ชื่อ สไปรอส อันโตนาปูลอส ซึ่งเป็นใบ้เหมือนกัน (และมีการเล่าเป็นนัยๆ ว่า ตัวละครนี้สภาพจิตไม่ปกติ อาจจะรับรู้ เข้าใจ หรือไม่รับรู้ในการสื่อสารกับผู้อื่น) เป็นเพื่อนเพียงหนึ่งเดียวที่รับฟังการระบายความในใจทุกเรื่องราว จนกระทั่งวันหนึ่งอาการป่วยอยู่ก่อนแล้วของอันนาโตปูลอสย่ำแย่ลง ญาติต้องส่งตัวไปบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลในต่างเมืองและห่างไกล ส่งผลให้ซิงเกอร์ต้องเคว้งคว้างอยู่พักใหญ่ จนต้องย้ายมาพักในห้องเช่าอีกแห่ง และเปลี่ยนรูปแบบกิจวัตรการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิม

ซิงเกอร์กลายเป็นศูนย์กลางให้ตัวละครหลักอื่นๆ แวะเวียนมาหาเพื่อพูดคุยบอกเล่าสิ่งที่ไม่อาจบอกกับใครได้ เนื่องจากท่าทีตั้งอกตั้งใจรับฟัง และสีหน้าแววตาตอบสนอง ทำให้ทุกคนเชื่อว่า ซิงเกอร์ ‘เข้าใจ’ ในสิ่งที่คนอื่นทั้งหลายทั้งปวงไม่เข้าใจ

แต่ความเป็นจริงคือ ซิงเกอร์ไม่เข้าใจในสิ่งที่ใครต่อใครพากันมาบอกเล่ากับเขาเลย เหตุผลเดียวที่เขาเต็มใจเป็นคู่สนทนา คือ มันช่วยให้เขาพอจะหันเหผละจากความคิดถึงอันล้นเหลือที่มีต่ออันนาโตปูลอสไปได้บ้างชั่วขณะ

พูดอีกแบบ The Heart is a Lonely Hunter เป็นเรื่องเล่าแบบ ‘หลายชีวิต’ ที่ตัวละครเผชิญกับเหตุดีร้ายทุกข์สุขผิดแผกแตกต่างกัน บางคนก็เป็นผลเนื่องมาจากช่วงวัยและนิสัยใจคอเฉพาะตน บางคนบาดเจ็บมาจากชีวิตคู่แต่หนหลัง บางคนคับข้องหมองใจจากเหตุการณ์ทางสังคม บางคนเป็นด้วยความบกพร่องทางกายภาพและเพศสถานะ แต่ทั้งหมดก็เกี่ยวข้องพัวพันกันด้วยความเปล่าเปลี่ยว แปลกแยก และความเหงาชนิดกัดกร่อนลงลึกถึงจิตวิญญาณ

เช่นเดียวกับเรื่อง The Ballad of the Sad Café ท้ายเล่มของ The Heart is a Lonely Hunter มีบทวิเคราะห์เนื้อหาสาระที่ดีมากๆ ดังนั้นสิ่งที่ผมจะเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ คือการพยายามถามเองตอบเองว่า พ้นจากเนื้อหาสาระอันเยี่ยมยอดแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ดีงามอย่างไร?

ประการแรกที่ผมนึกออก มันเป็นนิยายที่คาดเดาล่วงหน้าไม่ได้เลยว่า แต่ละบทแต่ละตอนจะมุ่งไปทางไหนและลงเอยยังไง พ้นจากนี้แล้วยังเต็มไปด้วยเรื่องเล่าปลีกย่อยดีๆ อยู่ตลอดทาง มีเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจชวนให้ใจสลายครั้งแล้วครั้งเล่า

ต่อเนื่องถัดมาคือ การสร้างตัวละครหลักทั้งหมดอย่างมีเลือดเนื้อ เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ท่ามกลางเปลือกนอกที่มีบุคลิกนิสัยและพฤติกรรมผิดประหลาดไม่ปกติ แต่ภายในกลับเป็นปุถุชนที่สมจริง ที่สำคัญคือ คาร์สัน แม็คคัลเลอร์สเล่าผ่านมุมมองความคิดของตัวละครแต่ละคนได้น่าเชื่อถือมากราวกับเธอไม่ได้เป็นคนเขียน แต่ปล่อยให้ตัวละครแต่ละคนปรากฎตัวออกมาถ่ายทอดเรื่องราวของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละคนต่างมีวิธีคิด วิธีพูดจา การใช้เหตุและผลที่ไม่เหมือนกันเลย

ผมได้ยินได้ฟังได้อ่านนักเขียนเก่งๆ พูดกันเสมอมาว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในงานวรรณกรรมคือ การสร้างตัวละครที่แข็งแรง (ซึ่งนักเขียนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นหัวใจหลักมากยิ่งกว่าเค้าโครงพล็อตเรื่องเสียด้วยซ้ำ)

ฝีมือการสร้างตัวละครใน The Heart is a Lonely Hunter ไม่ได้ยอดเยี่ยมเข้าขั้นเอกอุเฉพาะกลุ่มตัวละครหลักเท่านั้นนะครับ  แต่ดีงามล้ำเลิศไปหมดทุกตัวละคร ถึงขั้นใช้ยึดถือเป็นตำรา ถือเป็นครูในการเรียนรู้ทางด้านนี้ได้สบายๆ เลยทีเดียว

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมหลงรักมากในงานเขียนของคาร์สัน แม็คคัลเลอร์สก็คือ การสร้างบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นการสาธยายสภาพของฉากหลัง ทิวทัศน์ หรือความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลต่างๆ เธอเขียนออกมาได้อย่างสามารถเห็นภาพคล้อยตาม แทบว่าจะได้กลิ่น รส และเสียง

และที่ดีไปกว่านั้นคือ มันทำหน้าที่สนับสนุนรองรับเรื่องราวและการกระทำของตัวละครอย่างแข็งขัน รวมถึงขับเน้นขยายความอารมณ์เปลี่ยวเหงาเจ็บปวดของตัวละครได้วิเศษเหลือเกิน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save