fbpx

จาก 1984 ถึง 2021 วรรณกรรม ‘ดิสโทเปีย’ บอกอะไรกับเรา – คารินา โชติรวี

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนและเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยคุ้น สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ และสถานการณ์ทางการเมืองอันรุ่มร้อน ใครหลายคนคงอุทานด้วยความระทมว่า ทั้งหมดนี้คือชีวิตจริงหรือ? ขณะที่บางคนอาจนิยามชีวิตอันเหนือจริงนี้ว่า ช่างคล้ายกับโลก ‘ดิสโทเปีย’ ในวรรณกรรม

แม้ดิสโทเปียจะเป็นเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านตัวอักษร แต่หลายครั้งวรรณกรรมประเภทนี้กลับมีชีวิตในโลกแห่งความจริง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างแม่นยำราวจับวาง หรือในการชุมนุมเรียกร้องทางสังคมการเมืองก็มีการนำองค์ประกอบเล็กๆ ของวรรณกรรมดิสโทเปียมาสื่อสารความหมายอย่างชาญฉลาด

ความนิยมในวรรณกรรมดิสโทเปียยังก่อให้เกิดการต่อยอดนำไปทำเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ เกม กระทั่งแนวเพลงทางเลือก จนเป็นที่น่าตั้งคำถามว่านอกจากความระทม หดหู่ วรรณกรรมดิสโทเปียยังทำงานกับชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง – ดิสโทเปียสะท้อนโลกความจริงอย่างไร แล้วทำไมเราต้องอ่านวรรณกรรมดิสโทเปีย

101 ชวน ผศ.ดร.คารินา โชติรวี อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสนทนาว่าด้วยวรรณกรรมยูโทเปียและดิสโทเปีย สำรวจลักษณะและองค์ประกอบของโลกสมมติทั้งสองแบบ และทบทวนสิ่งที่วรรณกรรมอาจบอกกับเรา

ก่อนที่เราจะพูดถึงดิสโทเปีย (Dystopia) คงต้องพูดถึงสังคมขั้วตรงข้ามอย่าง ยูโทเปีย (Utopia) เสียก่อน ไอเดียของสังคมอุดมคติแบบยูโทเปียเกิดขึ้นได้อย่างไร

โดยตลอดมามนุษย์เราใฝ่ฝันที่จะมีสังคมอุดมคติที่ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ และมีมนุษย์ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ทุกประการอยู่อาศัยในดินแดนอุดมคตินั้น ซึ่งดินแดนดังกล่าวมักจะถูกเรียกว่ายูโทเปีย

ยูโทเปีย (Utopia) เป็นคำที่ เซอร์ โธมัส มอร์ (Sir Thomas More) รัฐบุรุษและนักประพันธ์ชาวอังกฤษตั้ง เป็นชื่อผลงานวรรณกรรมที่เขาเขียนขึ้นในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยเกิดจากการผสมคำ 2 คำคือ คำว่า ‘U’ กับ ‘Topia’ ในภาษากรีกมีคำที่ออกเสียงคล้ายๆ กับสองคำนี้คือ คำว่า ‘Eu’ ที่แปลว่าสิ่งที่ดี, คำว่า ‘Topos’ ที่แปลว่าสถานที่ที่ดี และอีกคำที่มีความหมายน่าสนใจคือคำว่า ‘Ou’ ซึ่งแปลว่าที่ที่ไม่มี ความหมายของคำว่ายูโทเปียจึงแปลว่าที่ที่ดีก็ได้ หรือที่ที่ไม่มีก็ได้ นำไปสู่ความคิดที่ว่ายูโทเปียนั้น แท้จริงเป็นที่ที่งดงาม สมบูรณ์แบบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอยู่ในโลกความจริง

ถ้าเรามองผ่านประวัติศาสตร์ ความใฝ่ฝันถึงดินแดนสมบูรณ์แบบอาจมีมาก่อนหน้าที่โธมัสจะเขียน Utopia ด้วยซ้ำ ความใฝ่ฝันดังกล่าวปรากฏทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก เช่น ตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ เรื่องราวของมนุษย์เริ่มต้นจากมนุษย์คู่แรกคือ ‘อดัม’ กับ ‘อีฟ’ สองคนนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสวนเอเดน (Garden of Eden) เป็นสวนที่สวยงาม เพียบพร้อม อากาศดี ไม่มีความเจ็บป่วย ไม่มีความทุกข์ทรมานใดๆ สวนสวรรค์ที่ว่าอาจเป็นจินตนาการต่อ Utopia เป็นครั้งแรกก็ได้

พุทธศาสนาเองก็มีความเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริย์ เป็นยุคในอนาคตเมื่อมีพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งคือพระศรีอารยเมตไตรย มีความเชื่อกันว่าเป็นยุคที่โลกจะสงบสุข พุทธศาสนาจะรุ่งเรืองกว่าปัจจุบัน ทุกคนจะพอใจในความเป็นอยู่ของตัวเอง ไม่มีใครเบียดเบียนทำร้ายกัน ไม่มีขโมย บ้านช่องจะไม่มีประตู ทุกคนมีหน้าตาเหมือนๆ กัน ไม่มีใครสวย ไม่มีใครน่าเกลียด แต่เมื่อกลับเข้าบ้านถึงจะจำกันได้เพราะเป็นพี่น้อง เป็นพ่อแม่ลูกกัน และลักษณะสำคัญที่ทุกคนอาจจะจำได้คือต้นกัลปพฤกษ์ ใครประสงค์สิ่งใดเมื่อไปขอที่ต้นกัลปพฤกษ์ก็จะได้ เป็นลักษณะของโลกอุดมคติอีกอย่างหนึ่ง

ในโลกตะวันตก หลักฐานชิ้นแรกที่บ่งบอกถึงจินตนาการต่อสังคมแบบยูโทเปียน่าจะเป็นหนังสือ The Republic ของเพลโต ภาษาไทยถูกแปลโดยใช้ชื่อว่า ‘อุตมรัฐ’  ในอุตมรัฐ บ้านเมืองถูกปกครองด้วยผู้นำที่เรียกว่า Philisopher King หรือผู้ที่มีปัญญา สามารถที่จะจัดสรรปันส่วนทรัพยากรทุกอย่างได้อย่างเป็นธรรม อุตมรัฐน่าสนใจตรงที่เป็นสังคมที่ไม่มีการตรากฎหมาย ไม่มีทนายความ ซึ่งถ้าเราไปดูไอเดียเรื่อง Utopia ก็จะเจอลักษณะเหล่านี้อีก เช่น ไม่มีทนายความ ไม่มีการเกณฑ์ทหาร

เราเห็นอะไรที่น่าสนใจจากวรรณกรรมเรื่อง Utopia บ้าง และการเกิดขึ้นของวรรณกรรมประเภทยูโทเปียสะท้อนสังคมในวันนั้นอย่างไร

วรรณกรรมเรื่อง Utopia ประพันธ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ.1516 ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน จริงๆ ก็เป็นงานที่น่าอ่านนะคะ ผู้เขียนเขาแต่งขึ้นในรูปแบบของจดหมาย เล่าถึงนักเดินทางคนหนึ่งที่มาพบกับตัวผู้เขียนเอง ทั้งสองสนทนากันถึงปัญหาต่างๆ ที่เห็นว่ามีอยู่ในยุโรปเวลานั้น สืบเนื่องจากกษัตริย์ผู้ปกครองประเทศต่างๆ นิยมทำสงคราม ทำให้ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและชีวิตผู้คน บุรุษทั้งสองก็เลยคุยกันว่า ด้วยเหตุนี้จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่โหยหาสังคมในอุดมคติ นักเดินทางคนนั้นก็เลยเล่าว่าจริงๆ เขาเคยไปพบมาแล้วนะ สังคมในอุดมคติที่ว่า

นักเดินทางคนนั้นมีชื่อว่า ราฟาเอล ฮิทธโลเดย์ (Raphael Hythloday) เขาบอกว่าได้ไปยังบริเวณโลกใหม่ ซึ่งน่าสนใจตรงที่ตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีการสำรวจดินแดนโลกใหม่ ที่เขาว่าก็คือดินแดนที่จะเป็นทวีปอเมริกาในปัจจุบัน ดินแดนยูโทเปีประกอบด้วยเมืองต่างๆ ถึง 54 เมือง แต่ละเมืองแยกเป็น 4 ส่วน มีประชากรอาศัยอยู่ 6,000 ครัวเรือน ประชากรเหล่านี้ไม่มีใครมีทรัพย์สินส่วนตัว ทุกคนอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่มีการล็อกประตู ไม่มีกุญแจ ทุกคนเคยเรียนรู้การทำเกษตรกรรมและอาศัยในชนบทมาคราวละ 2 ปี ทุกคนสวมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บคล้ายกัน ไม่มีแฟชั่นหรูหรา จะได้ไม่มีความแตกต่างและการเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่าใคร สังคมยูโทเปียเป็นสังคมรัฐสวัสดิการ รักษาพยาบาลฟรี มีอาหารเลี้ยงให้รับประทานในโรงครัวที่ทุกคนผลัดกันทำ ไม่มีสถานที่บันเทิง ไม่มีโรงเตี๊ยมโรงเหล้าให้หาความสำราญ จะว่าไปแล้วก็น่าจะเป็นต้นแบบของชุมชนแบบคอมมูน (Commune) ในรัฐสังคมนิยม

Utopia ถือเป็นงานที่สะท้อนถึงยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เซอร์ โธมัส มอร์ ก็เป็นตัวอย่างของปัญญาชนมนุษยนิยม เมื่อองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่นักบวชแบบในยุคกลาง แนวคิดมนุษยนิยม หรือ Humanism จะให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยึดหลักการใช้เหตุผลมากกว่าความเชื่อความศรัทธาแบบยุคกลาง วรรณกรรม Utopia จึงถือเป็นความพยายามของมนุษย์คนหนึ่งที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ บรรยายสังคมอุดมคติสำหรับมนุษย์ โดยที่มนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่พระเจ้า

Utopia สร้างชื่อเสียงให้กับ เซอร์ โทมัส มอร์ ขนาดที่ว่าชื่อของวรรณกรรมเรื่องนี้กลายเป็นชื่อประเภทของวรรณกรรม วรรณกรรมแนวยูโทเปียที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็เช่น New Atlantis ของ ฟรานซิส เบคอน, กัลลิเวอร์ผจญภัย (Gulliver’s Travel) ของ โจนาธาน สวิฟต์, เอเรวอน (Erewhon) ของ ซามูเอล บัตเลอร์ ซึ่งถ้าคุณเขียนคำว่า ‘erewhon’ กลับหลัง จะได้คำว่า ‘nowhere’ ที่แปลว่าไม่มีที่ไหนสักแห่ง เป็นความหมายคล้ายกับคำว่า Utopia

นอกจากวรรณกรรมอังกฤษ วรรณกรรมอเมริกันก็มีงานเขียนแนวยูโทเปียด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงานของ เฮอร์แมน แมลวิลล์, Looking Backward ของ เอ็ดเวิร์ด เบลลามี หรือแม้กระทั่งเรื่องการผจญภัยของฮักเคิลเบอร์รี่ ฟินน์ (Huckleberry Finn) ของ มาร์ก ทเวน นอกจากนี้ยังมีงานเขียนอีกหลายเรื่อง ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ความสนใจในดินแดนในอุดมคติพ้องกับยุคอาณานิยมที่มีการสำรวจดินแดนต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น เพราะฉะนั้นงานแนวยูโทเปียจึงสะท้อนความรู้สึกที่ว่า ถ้าเราไปไกล ไปลองสำรวจดินแดนต่างๆ วันหนึ่งเราอาจจะพบสถานที่ในอุดมคติก็ได้

ถ้าอย่างนั้นแล้วดิสโทเปียเกิดขึ้นตอนไหน เมื่อไหร่ที่มนุษย์ตระหนักอย่างแจ่มชัดว่าอาจไม่มียูโทเปียอยู่จริง

อาจจะเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่งก็ว่าได้ เพราะวรรณกรรมยูโทเปียคือการแสดงออกถึงความเชื่อมั่น เปี่ยมด้วยความหวังของมนุษย์ แต่ขณะที่มนุษย์กำลังเข้าสู่การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ขณะที่ความหวังถึงสังคมอุดมคติเหล่านั้นเริ่มเป็นจริง สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับการยกระดับ กินดีอยู่ดี สุขภาพดี มีการคมนาคม การศึกษา ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำไปสู่ความเจริญทางวัตถุหรือทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้คนมีอายุที่ยืนยาวได้ ทั้งยังสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มนายทุนและผู้ประกอบการ

ทั้งหมดน่าจะพามนุษย์ไปสู่ความเป็นอยู่และชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมากมาย

เมื่อสังคมพัฒนาไปกลับเกิดปัญหาอย่างชุมชนแออัดในเมืองอุตสาหกรรม สิ่งที่ตามมาคือสภาวะแวดล้อมเป็นพิษ การใช้แรงงานเด็กและสตรี นอกจากนี้เมื่อเปิดฉากศตวรรษที่ 20 ขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์อย่างการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลก การรบด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งล้วนมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวคือแทนที่จะสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตผู้คน ในที่สุดมันกลายเป็นอาวุธที่ใช้ประหัดประหารกัน สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นครั้งแรกที่มีการใช้อาวุธเทคโนโลยีสมัยใหม่ การต่อสู้ไม่ใช่การขี่ม้าแล้วฆ่าฟันกันอย่างสมัยโบราณ แต่เป็นการใช้ระเบิดและปืนกล ไม่ต้องเผชิญหน้ากันก็สามารถฆ่าฟันกันได้ และที่ตามมาหลังสงครามโลกคือสงครามทางอุดมการณ์ที่นำมาซึ่งการปกครองแบบรัฐเผด็จการ

ในยุโรปเกิดผู้นำจอมเผด็จการที่น่าสะพรึงกลัวหลายคน ไม่ว่าจะเป็น โจเซฟ สตาลิน ในสหภาพโซเวียต, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในเยอรมนี, เบนิโต มุสโสลินี ในอิตาลี, ฟรานซิสโก ฟรังโก ในสเปน ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความโหดร้ายไม่ใช่เพียงเรื่องของการต่อสู้ระหว่างทหารในสมรภูมิ แต่ก็ยังมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือสงครามที่ใช้ระเบิดปรมาณูที่คร่าชีวิตคนมากมายในครั้งเดียว สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของปัจเจกชนที่เชื่อว่ามนุษย์เราเกิดมาเพื่อมีอิสรภาพทางความคิด ไม่ตกอยู่ในเงื้อมมือของการกำหนด บังคับ ออกคำสั่งให้ทุกคนต้องทำตาม เพราะฉะนั้นคงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงเวลาเช่นนี้ งานวรรณกรรมที่พบได้มากจะไม่ใช่งานประเภทยูโทเปีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เราจะได้เห็น ‘ดิสโทเปีย’ แทน

จริงๆ แล้วเคยมีวรรณกรรมที่พูดถึงสังคมในจินตนาการที่ตรงข้ามกับยูโทเปียมาแล้ว เช่น งานของนักปรัชญาชาวอังกฤษ เจเรมี เบนแธม ที่เสนอคำว่า Cacotopia ซึ่งคำว่า Caco มาจากภาษากรีกโบราณแปลว่าที่ที่เลวร้าย ชั่วร้าย แต่ชื่อที่ได้รับความนิยมมากกว่าคือ ดิสโทเปีย (Dystopia)  ซึ่ง จอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาชาวอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้ เขาใช้ขณะที่กล่าวปราศรัยในสภาผู้แทนฯ ของอังกฤษ โดยกล่าวว่ายูโทเปียนั้นดีเลิศเกินไป จริงๆ แล้วเราอาจอยู่ในดิสโทเปียก็ได้

คำว่าดิสโทเปีย เป็นคำที่คล้ายกับยูโทเปีย แต่เปลี่ยนคำนำหน้าเป็น ‘Dys’ ทำให้มีความหมายในเชิงปฏิเสธหรือในแง่ลบ หากยูโทเปียเป็นสิ่งที่ดี ดิสโทเปียก็คือยูโทเปียที่ไม่ดีอีกแล้ว หรือเป็นสถานที่ที่เลวร้าย

เมื่อมองผ่านวรรณกรรมทั้งหลาย สังคมดิสโทเปียต้องมีลักษณะหรือองค์ประกอบอย่างไรบ้าง

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของดิสโทเปียคือมักจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและสิ่งที่เราคุ้นเคย แต่ความคุ้นเคยนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เช่น 1984 เปิดฉากมาเป็นกรุงลอนดอนที่ผู้อ่านหลายคนรู้จัก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมด ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องอาจเป็นของเดิม แต่ชื่อเปลี่ยนไป ฟังก์ชันก็เปลี่ยนไปด้วย โบสถ์เก่ายังอยู่ แต่ไม่ใช่โบสถ์ที่เราเคยรู้จักอีกต่อไปแล้ว

จริงๆ ถ้าพูดถึงสถานการณ์โควิดก็คล้ายๆ กัน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่เป็นความเหมือนเดิมที่ไม่เหมือนเดิม ผู้คนที่เรารู้จักต้องใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เขาต้องสวมหน้ากาก ต้องระวังตัว สถานที่ทำงานกลายเป็นที่ที่คนไม่ได้ไปทำงาน ห้างสรรพสินค้าไม่ได้คึกคักอย่างที่เคย บางแห่งกลายเป็นจุดฉีดวัคซีน ร้านอาหารกลายเป็นที่ที่คนมารอซื้อของกลับไปรับประทานที่บ้าน

แล้วทั้งหมดทั้งปวงเราก็ทราบว่า จริงๆ แล้วมันไม่ควรจะเป็นเช่นนี้ เบื้องหลังของความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นผลมาจากเรื่องที่ร้ายแรง รุนแรง

ในปี 1924 มีนักเขียนชาวรัสเซียคนหนึ่งชื่อว่า เยฟกีนี ซามียาติน (Yevgeny Zamyatin) เขียนนิยายที่ชื่อว่า We นวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องนี้สมมติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต ในประเทศที่บ้านเรือนทุกหลังก่อสร้างด้วยกระจกใส ประชาชนอาศัยในบ้านที่ใครมองเข้ามาก็จะถูกเห็นตลอดเวลา ทั้งยังมีตำรวจที่คอยจับจ้องพลเมือง ประเทศดังกล่าวมีลักษณะบ่งชี้ถึงการที่รัฐสามารถกำหนดให้พลเมืองคิดและปฏิบัติได้ พลเมืองที่นี่เวลาเดิน จะเดินก้าวเท้าในจังหวะเดียวกัน สวมเสื้อผ้าแบบเดียวกัน ไม่มีใครมีชื่อเฉพาะตัว ไม่มีจอห์น แมรี่ สมชาย สมหญิง แต่จะใช้วิธีเรียกขานกันเป็นตัวเลขแทน ถ้าเป็นผู้ชาย จะใช้พยัญชนะบวกกับเลขคี่ เช่นตัวละครหลักผู้ชายที่ชื่อว่า D503 ถ้าเป็นผู้หญิง จะใช้เสียงสระ a, e, i, o, u บวกกับเลขคู่

สังคมที่ปรากฏใน We มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับนวนิยายอีกเรื่องคือ Brave New World ของ อัลดัส ฮักซลีย์ ในปี 1932 ภาษาไทยเคยมีคนแปลและใช้ชื่อว่า ‘โลกวิไลซ์’ แต่วรรณกรรมที่รู้จักกันดีเมื่อพูดถึงดิสโทเปียคือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งตัวออร์เวลล์ก็ยอมรับว่าเขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการอ่านเรื่อง We ฉบับภาษาฝรั่งเศส จนตัดสินใจลงมือเขียน ‘1984′ ในปี 1948

เป็นที่น่าสังเกตที่ว่าวรรณกรรมดิสโทเปียมักจะกำหนดเงื่อนเวลาให้เป็นการเกิดขึ้นในอนาคต เช่นในกรณีของ 1984 หรือใน Brave New World ก็กำหนดให้เป็นโลกในปี ค.ศ. 2540

ทำไม 1984 จึงกลายเป็นวรรณกรรมดิสโทเปียที่เป็นที่จดจำ ลักษณะเด่นของดิสโทเปียใน 1984 เป็นอย่างไร

1984 เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวของตัวละครคนหนึ่งผู้มีชื่อว่า วินสตัน สมิธ ถ้าคุณดูชื่อเขา สมิธ เป็นนามสกุลที่หากไปอังกฤษจะเจอคนนามสกุลนี้เยอะแยะไปหมด ในขณะที่ชื่อต้นของเขา วินสตัน ค่อนข้างเป็นชื่อที่ไม่ค่อยมีใครใช้ บางคนก็บอกว่าตรงกับชื่อนายกรัฐมนตรี เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล ที่เป็นเหมือนตัวแทนของโลกประชาธิปไตย ขณะที่ สมิธ คือความดาษดื่น  

วินสตัน สมิธ ทำงานเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ คนหนึ่งในกระทรวงแห่งความจริง สังคมที่วินสตันอาศัยอยู่เป็นสังคมที่ได้ผ่านการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด เขาอยู่ในที่ที่เรียกว่าโอเชียเนีย พลเมืองทุกคนของโอเชียเนียถูกควบคุมชีวิตและสอดส่อง เราจะเห็นว่าการควบคุมได้ผลจริงๆ เพราะแม้กระทั่งคนเป็นลูกก็สามารถสอดส่องพ่อแม่ว่าทำอะไรและนำไปแจ้งความ พ่อแม่ก็อาจประสบปัญหาได้ แต่ขั้นสูงสุดของการสอดส่องคือการสอดส่องตัวเอง เวลาพลเมืองในโอเชียเนียจะพูดอะไร ก็อาจจะเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) ว่าควรจะพูดไหม ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน หรือพูดออกไปแล้วจะดีหรือไม่

ผู้คนจะรู้สึกว่าถูกสอดส่องพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลาผ่านทางสิ่งที่เรียกว่าเทเลสกรีน (Telescreen) เป็นจอที่มีอยู่ทุกหัวระแหง ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เข้าใจว่าที่เดียวที่ไม่มีคือในห้องน้ำ เพราะฉะนั้นรัฐไม่เพียงแต่สามารถควบคุมพฤติกรรมภายนอกได้ เช่น รู้ว่าเราไปที่ไหน กับใคร พูดอะไร กินอะไร ทำความเคารพผู้นำของเราหรือไม่ แต่รัฐยังมีระบบที่จะควบคุมความคิดด้วย

พลเมืองจะถูกปลุกเร้าให้มีความรู้สึกชาตินิยม ไม่ชังชาติของตัวเอง แต่เกลียดชังผู้ที่รัฐบอกว่าเป็นศัตรู โดยมีระบบความคิดที่เรียกว่า ‘Double Think’ หรือระบบความคิดแบบสองชั้น เมื่อคุณคิดในแบบ Double Think ความคิดของรัฐก็จะเป็นความคิดที่ถูกต้องกว่าอยู่เสมอ

เขาก็จะมีกิจกรรมต่างๆ ให้พลเมืองทำ เช่น กิจกรรมความเกลียดสองนาที (Two Minutes Hate) คือพอได้เวลา ทุกคนก็ยืนและตะโกนเปล่งเสียงด่าศัตรูใน 2 นาที และยังมีการจัดสัปดาห์แห่งความเกลียดให้ทุกคนมีความเกลียดชังอยู่เสมอ เพื่อรัฐจะได้ใช้ความเกลียดเป็นเครื่องชี้นำให้พลเมืองกระทำสิ่งต่างๆ ส่วนความคิดต่างหรือความคิดนอกกรอบจะถือว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิด โดยจะมีผู้ควบคุมทางความคิด (Thought Police) คอยสอดส่องและจัดการผู้คิดต่าง

แต่แม้ว่าทุกคนจะถูกควบคุมกันเคร่งครัดขนาดนี้ ก็ยังอุตส่าห์มีคนคนหนึ่งอย่างวินสตัน พระเอกของเรา ที่มีความคิดว่าจะสามารถคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ กล่าวคือภายนอกอาจจะหลอกใครได้ หลอกจอ หลอกตำรวจได้ แต่ภายในเขาอยากจะเก็บความเป็นปัจเจกและคงความคิดขบถไว้ เขาแอบกระทำการทุกอย่างที่เขาเห็นว่าเป็นการต่อต้านพรรคและกฏเกณฑ์ของพรรค พรรคบอกว่าทุกคนจะต้องรักและเทิดทูน Big Brother หรือ พี่เบิ้ม โดยไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะมีภาพของ Big Brother ติดอยู่เหมือนสิ่งย้ำเตือน

แต่ในที่สุดวินสตันก็หนีไม่พ้น เขาถูกจับได้และต้องเข้าสู่กระบวนการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการปรับทัศนคติ (หัวเราะ) เพื่อทำให้เขายอมรับเผด็จการที่ปกครองเขาอย่างยินยอมพร้อมใจ ถึงแม้ว่าจะมีตอนที่เขาถูกทรมานจนต้องบอกว่า ฉันรัก Big Brother จะทำอะไรกับฉันก็ยอม ฆ่าให้ตายก็ยิ่งดี แต่ผู้ควบคุมก็บอกว่าแค่การพูดยังไม่พอ คุณต้องรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ คุณต้องสามารถเงยหน้าขึ้นมอง Big Brother แล้วบอกว่ารัก Big Brother ได้ จึงจะเรียกว่าคุณได้ผ่านการปรับทัศนคติมาแล้วอย่างเต็มที่ ส่วนใครก็ตามที่ต่อต้าน คัดค้าน หรือแม้แต่ใฝ่ฝันหาเสรีภาพ ความเสมอภาค ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนป่วยทางจิต ที่จะต้องถูกอบรมสั่งสอนด้วยวิธีการต่างๆ รวมไปถึงการทรมานด้วย

แม้เมื่อครั้งเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้จะเป็นการจินตนาการล่วงหน้าไปถึง 30 กว่าปี แต่ผู้ที่อ่าน ‘1984’ ก็อดรู้สึกสยดสยองมากๆ ไม่ได้ เพราะหลายสิ่งที่จอร์จ ออร์เวลล์บรรยายไว้ในหนังสือกลับกลายเป็นจริงราวกับคาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการครอบงำความคิดของรัฐหรือแม้แต่ในโลกทุนนิยม การสร้างภาวะสงครามให้ประเทศต้องมีศัตรูตัวร้ายอยู่เสมอ การมีรัฐที่มีระบบพรรคเดียว การใช้สื่อเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ การล้างสมอง ลัทธิความเชื่อที่บูชาผู้นำและปลุกเร้าอารมณ์รัก-เกลียดอย่างสุดโต่ง การควบคุมความคิดเพื่อให้ทุกคนเชื่อในทางเดียวกัน หรือการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ ซึ่งตอนแรกเป็นหน้าที่ของวินสตันเอง ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นมาแล้วในที่ต่างๆ รอบโลก เราคงจะพอนึกออก เพราะฉะนั้นหลายๆ คนจึงมองว่านี่คือสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเหลือเกิน

นอกจากประเด็นการเมืองหรืออำนาจแล้ว ดิสโทเปียยังขยายขอบเขตไปยังประเด็นอื่นๆ อีกไหม

ดิสโทเปียในศตวรรษที่ 20 จะมีหลายแบบ ถ้าคุณลองเข้าไปค้นหาสารานุกรมออนไลน์อย่าง wikipedia ให้ค้นคำว่า List of Dystopian Literature จะเห็นว่าวรรณกรรมในยุคอื่นๆ เขาจะแบ่งตามศตวรรษ แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ 20 จะแบ่งเป็นทศวรรษแทน แถมดิสโทเปียก็ยังซอยย่อย แบ่งประเภทออกไปอีก

นอกจากดิสโทเปียทางการเมือง ก็ยังมีดิสโทเปียทางวิทยาศาสตร์ เช่น Brave New World เล่าเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่สามารถคัดคนได้ตั้งแต่ยังเป็นแค่เซลล์เล็กๆ ในสังคมนี้ไม่มีใครเกิดในท้องแม่ ทุกคนเกิดจากการผสมพันธุ์ในหลอดทดลอง จากนั้นก็จะมีการแบ่งเกรดเพื่อใส่ออกซิเจนลงไป ใส่ออกซิเจนนานแค่ไหนก็จะยิ่งมีสมองและพัฒนาการดีขึ้น ส่งผลให้มีชนชั้นระดับสูงที่จะหน้าตาดี ความคิดดี สมองดี และฉลาดพอจะเป็นผู้นำ ในขณะที่กลุ่มอื่นก็จะด้อยลงไปและได้ออกซิเจนในระดับต่ำ เพื่อให้มีสมรรถนะทางสมองต่ำ คนกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงาน ปฏิบัติตามคำสั่งได้โดยไม่คิด ไม่ถาม ไม่โต้แย้ง

ยังมีดิสโทเปียประเภทสตรีนิยม อย่างซีรีส์จากวรรณกรรมที่เพิ่งฉายใน Netflix เรื่อง The Handmaid’s Tale ของ มาร์กาเร็ต แอตวูด โดยมาร์กาเร็ตกล่าวถึงโลกสมมติที่เธอจินตนาการขึ้นมา แต่เธอบอกว่าไม่มีภาพใดในหนังสือเล่มนี้ที่ไม่ใช่เรื่องจริง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพ้อฝันไปทั้งหมด แต่เธอเพ่งพินิจมันอย่างใกล้ชิด แล้วประกอบสร้างรูปแบบของมันขึ้นมา คือแม้ว่าเราอ่านแล้วจะรู้ว่านี่คือโลกสมมติ แต่จริงๆ ก็เป็นความสมมติที่สะท้อนความจริง

ปัจจุบันยังมีดิสโทเปียที่เรียกกันว่า Post-apocalyptic Dystopia เป็นเรื่องราวของโลกหลังการสิ้นสุดอารยธรรมของมนุษยชาติ เรื่องที่โด่งดังมาก คิดว่าทุกคนคงรู้จักดีคือวรรณกรรมชุด The Hunger Games ของ ซูซาน คอลลินส์ (Suzanne Collins) ที่ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ และเป็นที่มาของการชูสามนิ้ว และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกในประเภท Post-apocalyptic Dystopia เช่น Armageddon’s Children, The Stand

และยังมีดิสโทเปียเชิงสังคม เช่น Lord of the Flies, Fahrenheit 451 โดยใน Fahrenheit 451 รัฐบอกว่าทุกคนไม่ควรจะอ่านหนังสือวรรณกรรมอีกแล้ว เอาไปเผาให้หมด ผู้คนเลยต่อต้านโดยการพยายามท่องจำวรรณกรรมไว้ในสมอง เพื่อที่จะรักษาวรรณกรรมไว้ นอกจากนี้ยังมีดิสโทเปียเชิงสิ่งแวดล้อม เช่น The Gardener, Epitaph Road

วรรณกรรมดิสโทเปียอีกเรื่องที่หลายคนอาจสนใจเพราะเราเป็นคนไทยก็คือ The Windup Girl ของ Paolo Bacigalupi นักเขียนร่วมสมัยชาวอเมริกัน วรรณกรรมเรื่องนี้สมมติเหตุการณ์ในอนาคตราวๆ คริสต์ศตวรรษที่ 23 และมีฉากหลังอยู่ในประเทศไทย โดยเล่าว่าผลจากสภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำและมหาสมุทรต่างๆ สูงขึ้น แหล่งพลังงานก็สูญหายไปหมด ผู้คนต้องเผชิญกับโรคระบาด โรคภัยร้ายแรงต่างๆ กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงอีกต่อไปไม่ได้แล้วเพราะน้ำท่วม ก็เลยย้ายเมืองหลวงกลับไปที่อยุธยา ลองไปอ่านต่อกันได้ค่ะ (หัวเราะ)

การที่วรรณกรรมดิสโทเปียได้รับความนิยมแพร่หลายในยุคปัจจุบัน สะท้อนอะไรที่น่าสนใจบ้าง

การที่วรรณกรรมดิสโทเปียได้รับความนิยมแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อบรรลุถึงความเจริญก้าวหน้า ทันสมัย ซึ่งเป็นความคิดที่มีรากเหง้ามาจากทฤษฎีความคิดยุคภูมิปัญญา หรือ Enlightenment เมื่อบรรดานักคิด นักปรัชญาการเมือง พากันเสนอวิสัยทัศน์เกี่ยวกับชีวิตที่ดี สังคมที่น่าอยู่ โดยมีระบบการเมืองแบบเสรีนิยมหรือประชาธิปไตย ต่อมาเมื่อมีแนวความคิดแบบมาร์กซิสม์เข้ามาและสมาทานไอเดียยูโทเปียเข้ามา ทำให้เกิดความคิดที่ว่าทุกคนจะเท่าเทียมกันภายใต้โลกใหม่ ไม่อยู่ภายใต้การบงการของนายทุน ขุนศึก ศักดินา แต่ในที่สุดแล้วแนวคิดเหล่านี้กลับกลายเป็นไม่บรรลุผล

สิ่งที่เราเห็นได้คือความใฝ่ฝัน ความพยายามที่จะสร้างสังคมในอุดมคติ นอกจากจะไม่บรรลุผลแล้ว ยังกลายเป็นเหมือนฝันร้ายเสียด้วย ในอีกมุม ความนิยมต่อวรรณกรรมประเภทนี้อาจสะท้อนความคิดแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ที่เชื่อว่าผู้คนได้พากันปฏิเสธความแน่นอนหนึ่งเดียว แท้จริงไปหมดแล้ว โดยเฉพาะความคิดที่ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่ปรากฏนั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน รัฐและสิ่งที่รัฐนำเสนอในลักษณะที่เป็นองค์รวมก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวกันก็ได้

วรรณกรรมยูโทเปียในศตวรรษที่ 20 จริงๆ ก็ยังมีอยู่ แต่มักจะเสนอโลกในอุดมคติที่งดงาม เรืองรอง บางคนอาจเรียกว่าเป็นพวกทุ่งลาเวนเดอร์ (หัวเราะ) แต่คนที่อ่านวรรณกรรมยูโทเปียอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นความฝันมากกว่าความจริง ในขณะที่เวลาอ่านดิสโทเปียจะรู้สึกว่าเป็นความจริงมากกว่าความฝัน เพราะดูเหมือนโลกของเราจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้งมากขึ้นทุกที ความเป็นอยู่ของผู้คนอาจดีขึ้น การเดินทางสะดวกสบายขึ้น การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น แต่มนุษย์กลับมีความขัดแย้งที่แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้ หรือบางเรื่องอาจไม่อยากจะแก้ สงครามแต่ละครั้งนำไปสู่สงครามอื่นๆ เรื่อยไปไม่รู้จบ ระบบการปกครองที่คิดว่าเหมาะสมก็แปรเปลี่ยนไปอยู่ในมือของเผด็จการโดยง่าย จึงถือว่าไม่แปลกใจที่วรรณกรรมดิสโทเปียนำเสนอภาพฝันร้ายของมนุษยชาติที่มีความยากจนข้นแค้น อดอยาก มีการกดขี่ ข่มเหง โดยเฉพาะการกดขี่ทางความคิด

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือวรรณกรรมดิสโทเปียหลายเรื่องเป็นที่นิยมกับผู้อ่านเยาวชน เราจะเห็นงานแนวดิสโทเปียในหมวดหมู่หนังสือ Young Adult Fiction อาจเพราะมันเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน เร้าใจ มีแนวผจญภัย มีการนำไปสร้างเป็นเกมแนวดิสโทเปียก็เยอะ แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้อ่านที่ยังเยาว์วัยเขาตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วค้นพบว่านวนิยายแนววิทยาศาสตร์ การเมือง แฟนตาซีเหล่านี้ ถึงแม้จะตอบคำถามตรงๆ ไม่ได้ แต่อาจช่วยให้เขาตั้งคำถามมากขึ้นไปอีก หรือตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน

สำหรับคุณ เราจะอ่านวรรณกรรมดิสโทเปียไปเพื่ออะไร

เวลาเรียนวรรณคดี ผู้สอนมักจะบอกว่าวรรณกรรมเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนความจริงของสังคม วรรณกรรมที่ดีจะสามารถสะท้อนทั้งสิ่งที่ดีงามและเลวร้าย บ้างก็บอกว่าวรรณกรรมควรมีบทบาทช่วยปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น แก้ไขความผิดพลาด ในขณะเดียวกันก็ควรชี้แนะคุณธรรมความดีเพื่อให้ผู้อ่านสามารถรับไปเป็นแบบอย่างได้ อย่างในกรณีของ เซอร์ โธมัส มอร์ เขาเขียน Utopia ขึ้นมาเพราะสังคมที่เขาเห็นในขณะนั้นเป็นสังคมที่เลวร้ายและไม่เท่าเทียม เขาอาจไม่สามารถเขียนวิพากษ์วิจารณ์อะไรออกมาตรงๆ ได้ ก็เลยเลี่ยงโดยการใช้จินตนาการ ใฝ่ฝันถึงดินแดนที่มีระบบระเบียบ มีความเท่าเทียมกัน

ตำราที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมยูโทเปียและดิสโทเปียมักจะบอกว่า เมื่อถึงศตวรรษที่ 20 นักเขียนต่างๆ อาจพากันหมดศรัทธากับโลกที่แม้ว่าจะเจริญก้าวหน้าแต่โดยรวมกลับถดถอย เสื่อมทรามลง ความฝันถึงโลกในอุดมคติจึงไม่ปรากฏออกมาในรูปแบบของวรรณกรรมยูโทเปียอีกต่อไป ยกตัวอย่างก็คงคล้ายกับกรณีเพลง Imagine ของ John Lennon ในเมืองไทยเวลาที่มีปัญหาต่างๆ เราก็มักจะเปิดเพลงนี้ หรือในโอลิมปิกที่ผ่านมาเขาก็เพิ่งจะร้องไป แต่ดูเหมือนว่าผู้คนจะไม่ค่อยเชื่อ อาจไม่สามารถโน้มน้าวใจได้ว่าสิ่งที่เราร้องใน Imagine จะเกิดขึ้นได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะฝันถึงสิ่งที่สวยงามอย่างในเพลง

ในรายวิชาที่สอนเกี่ยวกับวรรณกรรมร่วมสมัยศตวรรษที่ 20-21 ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องนำเสนอนวนิยายอย่าง 1984, Brave New World, Fahrenheit 451 ด้วย และเวลาเรียนวิชาเหล่านี้นักเรียนจะต้องเจอกับข้อสอบหรือการเขียนรายงานที่ให้เปรียบเทียบสังคมที่เห็นในวรรณกรรมกับสังคมจริงที่เขาใช้ชีวิตอยู่ ว่ามีอะไรที่แตกต่างหรือคล้ายคลึงบ้าง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ภัยธรรมชาติ หรือการเมือง ก็ถือเป็นหนึ่งในความจริงที่เขาเห็น

ยกตัวอย่างสิ่งที่นักเรียนสะท้อนเช่น เขาเขียนถึง 1984 และเทคโนโลยีที่ใช้สอดส่องในวรรณกรรม ขณะเดียวกันเขาก็อธิบายว่าเราอาจกำลังอยู่ในสังคมที่เราไม่คิดว่าถูกกดทับ เราดูเหมือนมีอิสระเสรี จะทำอะไรก็ได้ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ แต่จริงๆ เราถูกล้อมรอบไว้ด้วยป้ายโฆษณาที่บอกว่าเราควรจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เราควรจะกินอะไร ใช้อะไร เขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการบังคับโดยทางอ้อมแบบหนึ่ง เป็นต้น

การที่คุณรู้จักวรรณกรรมเยอะ อ่านวรรณกรรมดิสโทเปียมามาก เวลาคุณเห็นสถานการณ์ในสังคมที่เชื่อมโยงกับความเป็นดิสโทเปีย คุณยังเซอร์ไพรส์ไหม

เคยพูดเล่นกับลูกศิษย์ว่าฉันอายุเท่านี้ ฉันไม่เซอร์ไพรส์กับอะไรอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่จริง เวลาดูข่าวทีเราก็ยังเซอร์ไพรส์ได้อีกว่า มันถึงขนาดนี้เชียวหรือ ยังรู้สึกอยู่เสมอ

เวลาเรียนวรรณกรรม หลายๆ คนที่ไม่รู้จะคิดว่าวรรณกรรมเป็นเรื่องเพ้อฝัน มีพระเอกนางเอกอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่คนที่ได้อ่านวรรณกรรมดิสโทเปียจะรู้ว่าคนอ่านวรรณกรรมไม่ได้หลีกหนีความจริง แต่วรรณกรรมยิ่งพาเราไปสู่ความเป็นจริงมากขึ้นด้วยซ้ำ และที่น่าสนใจคือความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องนำเสนอในลักษณะที่สมจริง (realistic) เสมอไป แต่สามารถนำเสนอได้แม้กระทั่งเวลาที่เราอ่านแฟนตาซี อ่าน The Hunger Games, Harry Potter ในชีวิตจริงไม่มีพ่อมดแม่มด ไม่มีการเล่นควิดดิช แต่ถามว่าวรรณกรรมสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตจริงบ้างไหม มันก็สะท้อน

พอจะถอดบทเรียนจากตัวเอกในวรรณกรรม 1984 อย่าง วินสตัน สมิธ ได้ไหม ในฐานะที่เขาอาศัยในสังคมดิสโทเปีย เขามีวิธีรักษาความเป็นปัจเจกอย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากวินสตันบ้าง

เมื่อนึกถึง วินสตัน สมิธ หลายคนอาจตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าตกลงเขาเป็นฮีโร่หรือไม่ เพราะในที่สุดแล้วเขาแพ้ ภาพสุดท้ายของเขาคือการยอมจำนนทุกสิ่งอย่าง คนที่พาเขามาก็บอกว่าถ้าอยากเห็นภาพของอนาคต ให้นึกถึงใบหน้าของมนุษย์คนหนึ่งที่มีรองเท้าบู๊ตของทหารย่ำอยู่บนหน้าตลอดกาล

แต่เราจะมองความพ่ายแพ้ของเขาอย่างไร จะมองว่านี่คือความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติ แปลว่าเราไม่มีสิทธิที่จะฝันหรือเรียกร้องอะไรเลย เพราะในที่สุดเราก็แพ้อย่างวินสตันอย่างนั้นหรือ หรือเราจะมองว่า อย่างน้อยก็ยังดีที่มีคนคนหนึ่งลุกขึ้นมาแล้วคิดว่าขอลองสู้ดูด้วยวิธีการเล็กๆ น้อยๆ และในระหว่างที่สู้เขาก็มีความฮึกเหิม มีความรัก ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เขาได้มีช่วงเวลาหนึ่งที่เขาเชื่อมั่นมากๆ

เรามักจะชอบถามลูกศิษย์ที่อ่าน 1984 ว่า ตอนอ่านแอบคิดบ้างไหมว่าวินสตันจะประสบความสำเร็จ ว่าความรักจะทำให้เขาเอาชนะทุกสิ่งได้ โดยมากทุกคนก็จะตอบว่า ไม่หรอก จริงๆ ก็รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร เหมือนโศกนาฏกรรมที่เรารู้จุดจบของมัน ก็เลยยิ่งเศร้าหนักขึ้นไปใหญ่ แต่บางคนก็บอกว่าเขาคิดตามวินสตันและอยากจะมีความฝันให้ได้แบบนั้น การที่มีความฝันเพียงแค่นั้นแหละ ไม่ว่าความฝันจะสำเร็จหรือไม่ ก็น่าจะดีกว่าการที่ทุกคนก้มหน้ายอมจำนน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save