fbpx
ทำไมบอลพรีเมียร์ลีกสนุก แต่ทีมชาติอังกฤษล้มเหลว: มองโมเดลทุนนิยมผ่านโลกฟุตบอล

ทำไมบอลพรีเมียร์ลีกสนุก แต่ทีมชาติอังกฤษล้มเหลว: มองโมเดลทุนนิยมผ่านโลกฟุตบอล

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

หลังยุคสงครามเย็นและการล่มสลายของระบอบสังคมนิยม ทุนนิยมกลายเป็นแนวทางหลักในการจัดการเศรษฐกิจ แต่ทุนนิยมมีแบบเดียวหรือไม่?

ช่วงกระแสสูงของโลกาภิวัตน์ วิวาทะสำคัญในโลกตะวันตกคือคำถามว่า ถึงที่สุดแล้วประเทศร่ำรวยจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารและการไหลเวียนอย่างเสรีของแรงงานและเม็ดเงินน่าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจประเทศต่างๆ มีรูปแบบเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ

เปิดสหัสวรรษใหม่มาไม่นาน งานวิจัยเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันของ ปีเตอร์ ฮอลล์ (Peter Hall) และเดวิด ซอสกีซ์ (David Soskice) จึงกลายเป็นงานชิ้นสำคัญ เพราะการศึกษาของทั้งสองพบว่าทุนนิยมของประเทศร่ำรวยแล้ว ไม่ได้มีแบบเดียวและไม่ได้ลู่เข้าหากันอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มีโมเดลหลักอย่างน้อยสองแบบ คือ ทุนนิยมแบบอเมริกัน ที่มีหัวใจหลักอยู่ที่ “การแข่งขัน” (competition) และ ทุนนิยมแบบเยอรมัน ซึ่งมีกลไกหลักอยู่ที่ “ความร่วมมือ” (coordination)

ประเทศร่ำรวยก็มีทั้งที่เดินตามรอยอเมริกา เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และที่เดินตามแนวทางเยอรมนี เช่น ญี่ปุ่นและออสเตรีย ทั้งสองโมเดลมีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน

เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างผ่านโลกฟุตบอลของอังกฤษและเยอรมนีครับ

น่าจะมีผู้อ่านหลายคนที่เป็นเหมือนผม คือเวลาดูฟุตบอลสโมสรก็ชอบดูพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เพราะสนุกเข้มข้น มีนักเตะชื่อดังจากทั่วโลกมาลงสนาม แต่พอถึงทัวร์นาเมนต์ทีมชาติเช่นบอลโลกหรือบอลยูโร กลับขอตามเชียร์ทีมเยอรมนีดีกว่า เพราะเล่นเป็นระบบ มีนักเตะอายุน้อยลีลาแพรวพราว และมักจะเข้ารอบลึกๆ ได้เสมอ – นี่ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์หรือความบังเอิญครับ แต่เป็นเพราะความแตกต่างในการเลือกใช้โมเดลการจัดการระบบฟุตบอล

เยอรมนีปรับปรุงระบบฟุตบอลมาต่อเนื่อง แต่การปฏิรูปครั้งใหญ่รอบล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากทีมชาติตกรอบฟุตบอลยูโร 2000 ด้วยการเป็นบ๊วยรั้งท้ายกลุ่ม เดเอฟเบ (สมาคมฟุตบอลเยอรมนี) ประเมินว่าปัญหาหลักคือ ทีมต้องพึ่งพานักเตะสูงอายุไม่มีนักเตะเยาวชนขึ้นมาทดแทนได้ต่อเนื่อง เดเอฟเบจึงประชุมกับสโมสรในบุนเดสลีกาออกแนวทางใหม่ในการพัฒนานักเตะเยาวชน

โครงการปฏิรูปเริ่มขึ้นในปี 2003 เดเอฟเบจ้างโค้ชพาร์ทไทม์จำนวน 1,000 คน (ทุกคนมีใบอนุญาตจากยูฟ่า) โค้ชเหล่านี้จะกระจายตัวไปสอนเด็กอายุ 8 ถึง 14 ปี ครอบคลุม 366 เขตของประเทศ โดยนอกจากทำหน้าที่ฝึกสอนด้านทักษะและให้ความรู้ทางแท็คติกกับเยาวชนแล้ว ก็ยังเป็นแมวมองให้สโมสรท้องถิ่นและทีมชาติไปพร้อมกันด้วย

นอกจากเพิ่มจำนวนนักเตะฝึกหัดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เดเอฟเบยังวางเป้าหมายชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ทีมหวังพึ่งพาแต่ “สปิริตเยอรมัน” เพื่อเอาชนะ แต่ต้องมีแผนการเล่นที่ยืดหยุ่น จึงเพิ่มการค้นหานักเตะตัวเล็กที่มีความว่องไวสำหรับแนวรุก (ซึ่งแต่ก่อนมักถูกมองข้าม) ส่วนแนวรับก็เน้นการพัฒนาให้ผู้เล่นตัวใหญ่สามารถใช้เท้าเล่นกับบอลได้ดีขึ้น นักเตะทีมชาติเยอรมนีรุ่นใหม่ๆ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ส่วนมากก็มาจากการฟูมฟักของเดเอฟเบในโครงการนี้นั่นเอง

ในสโมสรยักษ์ใหญ่เช่น บาเยิร์น มิวนิค อาจมีนักเตะต่างชาติเยอะหน่อย แต่ในสโมสรขนาดกลางและเล็กจะเต็มไปด้วยนักเตะเยาวชนพรสวรรค์ที่ได้รับโอกาสให้ลงสนามลองผิดลองถูกอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เพราะการ “ลองผิดลองถูก” นี่แหละครับที่ทำให้ผู้ชมหลายคนรู้สึกไม่สนุกเท่าไหร่ที่ต้องมาดูนักเตะโนเนมฟาดแข้งกันในบอลลีกรายสัปดาห์

อย่างไรก็ดี กลไกต่างๆ ที่ว่ามาคือรากฐานสำคัญที่ทำให้ทีมชาติเยอรมนีมีกำลังใหม่ขึ้นมาทดแทนไม่ขาดสาย ความสำเร็จระดับทีมชาติเป็นที่ประจักษ์ เพราะในฟุตบอลโลกสี่ครั้งหลัง เยอรมนีเข้ารอบรองชนะเลิศทุกครั้งก่อนจะครองแชมป์โลกครั้งล่าสุดในปี 2014 – นี่คือดอกผลของระบบที่มี “ความร่วมมือ” เป็นแกนหลักครับ

ลองหันไปดูประเทศที่เคลมว่าเป็นผู้ให้กำเนิดกีฬาประเภทนี้กันบ้าง ในอังกฤษ หน้าที่หลักในการพัฒนานักเตะไม่ได้อยู่ที่สมาคมส่วนกลาง แต่เป็นเรื่องของสโมสรที่จะตัดสินใจเอง นักเตะฝึกหัดในอังกฤษมักต้องตัดสินใจตั้งแต่ยังเด็กว่าจะเลือกเข้าโรงเรียนหรือออกมาเป็นนักฟุตบอลเลย เพราะการแข่งขันสูงมาก ถ้าเก่งจริงและจังหวะเหมาะสม เด็กน้อยก็อาจกลายเป็น เวย์น รูนีย์ (Wayne Rooney) ที่ได้รับค่าเหนื่อย 260,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือไม่ก็ต้องกลับไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือหากไม่มีสโมสรไหนเสนอสัญญาให้

วิถีของอังกฤษแตกต่างจากวิถีของเยอรมนีที่เดเอฟเบและบรรดาโค้ชกวดขันให้เด็กๆ เข้าเรียนเป็นหลักและมาฝึกฟุตบอลเป็นงานรอง เพราะรู้ดีว่า 80% ของนักเตะฝึกหัดนั้น สุดท้ายจะไปไม่ถึงดวงดาว จึงไม่ควรทิ้งการเรียนภาคปกติที่จะช่วยให้พวกเขากลับไปประกอบอาชีพอื่นได้

นอกจากเรื่องฝึกหัดนักเตะเยาวชนแล้ว โครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเยอรมนีก็ยังต่างจากในอังกฤษ เช่น จำนวนโค้ช ซึ่ง ณ ปี 2013 เยอรมนีมีโค้ชที่ได้รับใบอนุญาตจากยูฟ่า (ทั้งแบบโปร แบบเอ และแบบบี) รวมเกือบ 35,000 คน ในขณะที่อังกฤษมีไม่ถึง 2,800 คนเท่านั้น โครงการส่งโค้ชไปทั่วประเทศจึงเป็นไปได้ยากกว่า

เดเอฟเบยังมีกฎให้สโมสรฟุตบอลของเยอรมนีแต่ละแห่งต้องมีสมาชิกถือหุ้นเกินครึ่ง ต่างจากอังกฤษที่เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างเสรี เราจึงเห็นนักลงทุนจากตะวันออกกลางและเอเชียเข้าไปเทคโอเวอร์จากเจ้าของท้องถิ่นอยู่เป็นระยะ

ด้วยเม็ดเงินที่เข้ามาและด้วยความคาดหวังจะประสบความสำเร็จระยะสั้น ย่อมไม่มีเวลามาลองผิดลองถูกกับนักเตะเยาวชนท้องถิ่น (ถ้าไม่จำเป็นหรือเก่งจริงๆ) แต่ต้องกว้านซื้อนักเตะที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วจากทั่วโลก ไม่อย่างนั้นก็อาจพลาดเป้าหมายหรือต้องตะเกียกตะกายหนีตกชั้น

ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจึงดูสนุก เพราะแต่ละทีมพยายามดึงดูดดาราหน้าเก่าหน้าใหม่เข้ามาทุกปี ค่าตัวและค่าเหนื่อยทะยานขึ้นไร้ขีดจำกัด ต่อให้ดังแค่ไหนแต่ถ้าฟอร์มไม่ดีก็ต้องหลุดจากตัวจริงไป เรียกว่าเป็นสวรรค์รายสัปดาห์ของแฟนบอลและคนดูทั่วโลก ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดของพรีเมียร์ลีกปัจจุบันก็มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านปอนด์ (ปี 2016-19) สูงที่สุดในโลก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความอ่อนแอของระบบการพัฒนานักเตะท้องถิ่น – นี่คือผลของการยึด “การแข่งขัน” เป็นแกนกลางขับเคลื่อนระบบฟุตบอลอังกฤษนั่นเอง

การจัดการฟุตบอลของทั้งสองประเทศสะท้อนภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจได้ดีทีเดียว การทำงานของทุนนิยมก็เป็นเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค แรงงาน ตลาดเงินตลาดทุน ระบบการศึกษา และโครงสร้างแรงจูงใจจากรัฐ

ในระบบทุนนิยมที่เน้นความร่วมมือแบบเยอรมนี เราจะพบเห็นข้อตกลงแบบไม่เป็นทางการที่เกิดจากฉันทมติของผู้เกี่ยวข้อง (เช่นระหว่างผู้ผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในทำนองเดียวกับเดเอฟเบและสโมสร) เพื่อวางเป้าหมายระยะยาวร่วมกันได้ไม่ยาก

ในขณะที่ระบบตลาดที่เน้นการแข่งขันอย่างอเมริกาและอังกฤษจะมีแรงขับเคลื่อนจากกลไกราคาเป็นหลัก ผู้บริหารและแรงงานในระบบนี้ต้องตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้นกว่า แต่ก็สามารถย้ายงานและเรียกค่าตอบแทนได้ค่อนข้างเสรี

งานวิจัยจนถึงก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2007-2008 พบว่าโมเดลทุนนิยมทั้งสองแบบต่างทำงานได้ดีและมีปัญหาเฉพาะตัวต่างกันไป ทุนนิยมที่เน้นความร่วมมือจะเก่งในอุตสาหกรรมเช่นเครื่องจักรกลหรือรถยนต์ และมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ไม่สูงนัก ในขณะที่ระบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันจะเก่งด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซอฟแวร์ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ แรงงานมีทางเลือกมากกว่าแต่ก็มักจะมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง

การศึกษาเรื่องความหลากหลายของทุนนิยม (varieties of capitalism) ให้บทเรียนสำคัญกับเราสามข้อ

ข้อแรก ต่อให้ทุนนิยมกลายมาเป็นแนวทางหลัก แต่ละประเทศก็ยังมีทางเลือกในการจัดการระบบทุนนิยมของตัวเองให้เหมาะสมกับโครงสร้างทางการเมืองและสังคม

งานวิจัยชุดนี้แนะนำให้ศึกษาก่อนว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน (ตลาดแข่งขันหรือตลาดร่วมมือ) เพื่อที่จะออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับทางนั้น เช่น ถ้าประเทศมีโครงสร้างใกล้เคียงกับตลาดร่วมมือ รัฐก็ควรส่งเสริมความร่วมมือรายอุตสาหกรรมผ่านสมาคมธุรกิจเพื่อเป้าหมายระยะยาว (เช่น ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลรายสาขาหรือการร่วมลงทุนพัฒนาทักษะแรงงาน) แทนที่จะไปเน้นแต่ลดกฎระเบียบหรือเปิดเสรีตลาด เพราะทำเช่นนั้นจะเป็นการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสียมากกว่า

เรียกว่าให้เข้าใจกลไกที่เป็นอยู่ให้ดีเสียก่อน แทนที่จะเดินตามแนวทางกระแสหลักแบบไม่ลืมหูลืมตา

ข้อสอง การค้นพบว่าทุนนิยมมีสองโมเดลหลักก็เป็นเพราะกรอบการศึกษาแบบเฉพาะตัวของฮอลล์และซอสกีซ์ หากเราใช้ทฤษฎีอื่นหรือมองละเอียดลงไปในระดับรายสาขา ก็อาจพบความหลากหลายภายในประเทศหรือค้นพบโมเดลแบบอื่นได้อีกเช่นกัน เช่น เราอาจแยกรัฐสวัสดิการของประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียออกมาได้อีกกลุ่มหนึ่ง

เราจะเข้าใจความหลากหลายของทุนนิยมได้ก็ต้องเข้าใจความหลากหลายของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสียก่อนครับ

ข้อสุดท้าย ต้องย้ำว่านี่เป็นวิวาทะของประเทศโลกที่หนึ่ง ว่าประเทศรวยแล้วจะมีลักษณะเหมือนกันไหม ความยากจนในประเทศโลกที่สามนั้นมีความแตกต่างและปมขัดแย้งเฉพาะตัวแน่นอน เหมือนประโยคเปิดของ ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ในวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง Anna Karenina ที่ว่า

“Happy families are all alike; every unhappy family is unhappy in its own way.”

การทำความเข้าใจประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องอาศัยองค์ความรู้ท้องถิ่นและความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ในสังคมที่ระบบตลาดอาจไม่ใช่กลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยซ้ำ.

 

อ้างอิง

Peter Hall and David Soskice, eds., Varieties of Capitalism: The Institutional Foundations of Comparative Advantage (New York: Oxford University Press, 2001).

Peter Hall and Daniel Gingerich. “Varieties of Capitalism and Institutional Complementarities in the Political Economy: An Empirical Analysis.” British Journal of Political Science 39, no. 03 (2009): 449-482.

“How Germany went from bust to boom on the talent production line” from The Guardian 

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save