fbpx

กัญชาตาสว่าง ท่ามกลางความพร่ามัว

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

-1-

 

บ่ายวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ www.cbd-oss.org ที่สร้างขึ้นจากความร่วมมือของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย จะเปิดใช้เป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้กัญชารักษาได้ลงทะเบียนออนไลน์ แสดงเจตจำนงถึงสิทธิในการเข้าถึงกัญชาได้ด้วยตัวเอง นอกเหนือไปจากที่ อย. เปิดให้คนเดินทางไปแจ้งกับสาธารณสุขจังหวัดซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการเดินทางของผู้ป่วย และมีเวลาถึงแค่วันที่ 21 พฤษภาคม นี้

นอกจากนี้ www.cbd-oss.org ยังเสมือนเป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการรักษา เพื่อในอนาคตจะได้เป็นการรักษาในระบบเดียวกัน ควบรวมแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน เภสัชกร บุคลากรทางสาธารณสุขและชมรมที่ใช้กัญชาใต้ดิน ให้ทำงานด้วยกันได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย นับเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์ไทยไปอีกขั้น

ต้องยอมรับว่าการบุกจับกัญชาที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เมื่อต้นเดือนเมษายน 2562 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทหาร และ ป.ป.ส. นั้นได้สร้างคลื่นลูกใหญ่ให้กับการเรียกร้องการใช้กัญชาทางการแพทย์กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมไทยอีกครั้ง เพราะช่วงเวลานั้นข่าวการเมืองกำลังเป็นกระแสสูง หลังผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาฯ ไปไม่นาน

ที่สร้างคลื่นลูกใหญ่ เพราะ หนึ่ง เจ้าของกัญชาทั้งหมดนั้นเป็นของ เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ต่อสู้เรื่องเกษตรอินทรีย์มานาน และกัญชาในความครอบครองของเจ้าตัวนั้นหาใช่เพื่อธุรกิจยาเสพติด แต่เป็นไปเพื่อผู้ป่วย สอง การบุกจับกุมนั้นยังอยู่ในช่วงเวลาที่รัฐให้ประชาชนยื่นขอนิรโทษกรรมการครอบครองกัญชากับสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งสุดท้ายคลื่นลูกใหญ่ดังกล่าวก็ทำให้ ป.ป.ส. ต้องถอย ไม่ดำเนินการฟ้องคดีกับเดชา ศิริภัทร

แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเพียงมุมเดียวของข้อถกเถียงเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ ที่กำลังอยู่ในภาวะฝุ่นตลบ ซึ่งซ้อนทับกันอยู่ในหลายทัศนคติของสังคมไทย

แล้วเราควรมองเรื่องดังกล่าวด้วยการตั้งต้นกันที่ตรงไหนดี

แน่นอน, ถ้าเริ่มต้นกันด้วยว่า ‘กัญชาเป็นยาเสพติด’ นั้น อาจต้องยุติกันที่บรรทัดนี้ และกลับไปไล่ล่าจับกุมคนผิดมาดำเนินคดี ไม่ต้องถามหาสรรพคุณทางยาที่โลกกำลังอ้าแขนรับ เหมือนพยายามหมุนเข็มนาฬิกาให้วนไปทางซ้ายแทน แต่จะเป็นไปได้อย่างไร

 

น้ำมันกัญชาในขวดขนาด 5cc ที่มีผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้ทั่วไปซึ่งยังผิดกฎหมาย

 

-2-

 

แม้ว่ารายงานจากหน่วยงานทางการแพทย์หลายสำนักในประเทศที่เปิดให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย จะส่งอิทธิพลให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยต้องตื่นตัว เร่งเปิดตำราอ่านงานวิจัยใหม่ๆ และทำการวิจัยด้วยตัวเองบ้าง เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงเรายังเห็นร่องรอยปฏิกิริยาของการกล่าวให้โทษกัญชาอยู่กลายๆ

อาทิ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมการแพทย์ออกมารายงานข่าวถึงผลการศึกษาผู้ป่วยเสพติดกัญชาที่เข้ารับบริการรักษาจากสถานบำบัดรักษายาเสพติดของรัฐ 6 แห่ง ทั่วประเทศ พบว่าเป็นโรคจิตเวชสูงถึงร้อยละ 72.3

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายถึงโรค schizophrenia (จิตเภท) ว่าที่สหรัฐฯ ในปี 2012 มีการค้นพบว่าคนที่เป็นโรคจิตนั้นมีตัวรับสัญญาณกัญชาในสมองมากกว่าคนธรรมดา เขาเลยหายาตัวหนึ่งเข้าไประงับตัวรับสัญญาณนั้น ไม่ใช่ตัวกัญชาที่ทำให้คนเป็นโรคจิต เพราะถ้ากัญชาทำให้คนเป็นโรคจิต การระงับสัญญาณตัวรับกัญชาจะต้องทำให้โรคดีขึ้น แต่คนที่เป็นโรคจิตก็ไม่ได้มีอาการดีขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าให้สารกัญชาตามธรรมชาติและออกฤทธิ์ที่ตัวรับสัญญาณตัวนั้น ผลคือผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้น

“รายงานนี้มีการเทียบคนไข้กลุ่มที่ใช้ยาปัจจุบันกับกลุ่มที่ใช้กัญชา พบว่ามีผลเท่ากัน แต่กลุ่มคนไข้ที่ใช้กัญชาไม่มีผลข้างเคียง คนที่ต่อต้านกัญชา ผมไม่รู้ว่าเขาจงใจที่จะไม่หยิบยกรายงานเรื่องนี้มาพูด หรือไม่มีความรู้มากพอที่จะอ่าน ซึ่งเนื้อหาก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่มีการบูรณาการกับองค์ความรู้ของหมอ นั่นคือที่มาของการใช้ CBD ซึ่งมีฤทธิ์เข้าไปตัดการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า FAAH  มีหน้าที่ทำลายสารกัญชาธรรมชาติ ผลก็คือจะทำให้ anandamide เพิ่มขึ้น

“พอเรารู้ว่าสามารถเอากัญชามารักษาโรคจิตได้ เราก็คิดว่าน่าจะเอามารักษาโรคอื่นได้ เช่น เริ่มมีการใช้ CBD ในการรักษาคนที่ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาบ้า ไปจนถึงคนติดกัญชาเองด้วย สรุปคือข้อกังวลว่าเสพติด โง่ เป็นบ้า ก็เคลียร์หมดทุกประเด็น”

อันที่จริงประเด็นดังกล่าวนับเป็นเรื่องใหม่กว่าเรื่องการใช้กัญชารักษามะเร็ง ลมชัก และไมเกรน ซึ่งทุกวันนี้แพทย์ที่ออกมาปฏิเสธแบบหัวชนฝาว่ากัญชาใช้ไม่ได้ผลก็เริ่มน้อยลง เพียงแต่ว่าสังคมไทยยังไม่มีโอกาสได้ดูดีเบตสาธารณะในเรื่องการใช้กัญชากับโรคจิตเภทสักที

แต่การโต้กันนอกเวทีนี้สะท้อนอะไร ใช่หรือไม่ว่าวงการแพทย์ไทยไม่ได้มีเอกภาพหรือมีใครสามารถสัมปทานความรู้ทางการแพทย์ไว้คนเดียวได้อีกต่อไป และกัญชาก็เข้ามาช่วยทำให้เราเห็นภาพสะท้อนนี้

ในเวทีจุฬาฯ เสวนาเรื่อง ‘กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ?’ ซึ่งจัดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ก็ปรากฏมุมมองที่เขย่าวงการแพทย์อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองของ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

เธอมองว่าเวลานี้กัญชาได้เปิดบริบทใหม่ของการตีความเรื่องการแพทย์ แพทย์แผนปัจจุบันแบบดั้งเดิมอาจไม่ใช่คำตอบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังมีความรู้ที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย เป็นเรื่องที่แพทย์ต้องปรับบทบาทและเรียนรู้ใหม่

“โดยเฉพาะการเรียนรู้จากผู้ป่วย เป็นศาสตร์ที่สำคัญมาก สิ่งที่น่าสนใจคือ ในเครือข่ายผู้ป่วยเอง เราจะช่วยกันรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ และดึงความรู้จากผู้ป่วยทั้งประสบการณ์ที่สำเร็จ ที่ล้มเหลว และอาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เข้ามาสู่การสังเคราะห์ภาพใหญ่และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และความรู้ใหม่ที่ได้มาก็เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการต้องย่อยและสื่อสารให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่”

เธอยังมองอีกว่า ทัศนคติของผู้มีอำนาจเกี่ยวกับกัญชาต้องเปลี่ยนการควบคุมมาเป็นระบบจัดการให้ผู้ป่วยและประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ประกาศเป็นนโยบายแห่งชาติให้ชัดเจน มีสถาบันที่เป็นศูนย์รวมของประเทศ และต้องมีข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด กฎกระทรวงที่จำเป็นต้องออกมาให้ทันการ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลักลั่น

ยังไม่นับมุมมองด้านแพทย์แผนไทย ด้วยความพยายามออกมายืนยันถึงศาสตร์กัญชาในโบราณอย่างแข็งขัน ยิ่งทำให้น่าสนใจว่าแพทย์แผนไทยกับแผนปัจจุบันจะร่วมเดินกันไปอย่างไรในถนนสายกัญชานี้

ขณะที่ ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มองว่ากัญชาอยู่ในตำรับตำราการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำรับยานั้นมีทั้งลูกกลอนเม็ด ปั้นแท่ง ผง ต้ม ดอง น้ำมัน และตำรับยาแผนไทยของชาติจำนวน 26,000 ตำรับ มีกัญชาเป็นส่วนประกอบมากกว่า 200 ตำรับ และมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใช้ในการแพทย์แผนไทยเวลานี้ถึง 16 ตำรับที่ไม่เป็นอันตรายนั้น จะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายเหมือนกับการใช้เคมีบำบัดและฉายแสงแบบที่ผ่านมาอย่างไร

ไหนจะเรื่องการเคลียร์ข้อกฎหมายเพื่อ ‘เปิด’ ให้เข้าถึงการรักษาได้โดยง่ายอีก ซึ่งยังมีความลักลั่นเต็มไปหมด ซึ่งจะเล่าถึงในพาร์ทต่อไปผ่านมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมาย

 

ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังบริเวณหน้าอก โชว์ร่องรอยจากการรักษาด้วยน้ำมันกัญชา

 

-3-

 

บนเวทีเดียวกัน ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แสดงมุมมองด้านกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา โดยตั้งประเด็นไว้อย่างแหลมคมว่า “ประเทศไทยสามารถทำกัญชาเสรีได้จริงหรือไม่”

เธอเริ่มต้นอธิบายว่า ประชาคมโลกมีอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 ซึ่งรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ที่มีประเทศไทยร่วมด้วยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์นั้น รัฐภาคีต้องดำเนินการกำหนดมาตรการและมาตรฐานหลายประการ ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้ตามอำเภอใจ เช่น ประเมินผลปริมาณความต้องการกัญชาเป็นยารักษาโรค รายงานสถิติการใช้ต่อคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศเป็นประจำทุกปี จำกัดปริมาณการผลิตและการส่งออก

“ปัญหาคือการใช้กัญชาสำหรับการแพทย์ทางเลือกจะทำอย่างไร เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้พูดถึง”ผศ.ดร.คนึงนิจทิ้งคำถามและอธิบายต่อถึงกัญชาในมิติของกฎหมายภายในประเทศว่า ก่อนนี้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กัญชาถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่นเดียวกับกระท่อมและฝิ่น หากนักวิชาการต้องการวิจัยกัญชาต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และห้ามทดลองในมนุษย์เด็ดขาด

นอกจากนี้เธอยังกล่าวถึง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งระบุว่าวัตถุออกฤทธิ์หมายความว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นสิ่งธรรมชาติหรือที่ได้จากสิ่งธรรมชาติ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นวัตถุสังเคราะห์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด กัญชามีสาร tetrahydrocannabinot (THC) ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง จึงห้ามผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น

พอมีการคลายล็อกกฎหมาย พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เปิดโอกาสให้นำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ และห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดในประเภท 5 เว้นแต่เสพเพื่อรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย

ประเด็นน่าสนใจที่ผศ.ดร.คนึงนิจ ยกมาคือ พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับมนุษย์ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพิ่มมูลค่าในการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยกัญชาเข้าข่ายเป็น ‘สมุนไพร’ ตามความหมายของ พ.ร.บ นี้

“แต่กัญชาอาจไม่เข้าข่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็ได้ เพราะยังคงเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และยังเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและกฎหมายยาเสพติดให้โทษ”

ความเหลื่อมซ้อนของกฎหมายดังกล่าว เธอย้ำว่าควรมีการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อออกแบบกฎหมายที่จะตอบโจทย์ธรรมชาติของพืชกัญชา ที่มีทั้งด้านที่เป็นยาเสพติดและด้านที่เป็นเชิงการรักษา

 

ผู้ป่วยเด็กที่สมองพิการและเป็นโรคลมชักกับการใช้น้ำมันกัญชา

 

-4-

 

มีการคาดการณ์กันว่าในปี ค.ศ.2025 ตลาดกัญชาทั่วโลกมีแนวโน้มจะเติบโตขนาดสร้างมูลค่าถึง 1.8 ล้านล้านบาท และแม้ไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนที่มีการแก้กฎหมายเพื่อให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ก็จริง แต่ดูเหมือนความไม่ชัดเจนทั้งด้าน ‘ศาสตร์ทางการแพทย์’ และ ‘กฎหมาย’ จะยังรั้งตัวเองไว้ไม่ให้สามารถก้าวไปสู่ความเป็นเลิศได้เหมือนกับคำพูดที่ชอบพราวความเป็นไทยกันว่า ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’

เพราะอะไร ?

แล้วจะตั้งต้นกันที่ตรงไหนดี ?

ความพยายามจะปักหมุด ‘กัญชาธิปไตย’ ลงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเปิดวิชากัญชาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นที่แรกในประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการประกาศนโยบายกัญชาเสรี ของพรรคภูมิใจไทย ต่อเนื่องไปถึงการจัดงาน ‘พันธุ์บุรีรัมย์’ มหกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์ครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีเนวิน ชิดชอบ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันจนมีคนมาร่วมงานกว่า 150,000 คนนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าเนื้อนาดินของสังคมไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

ใครจะการันตีว่า ‘กัญชาธิปไตย’ ที่ปักลงไปแล้วจะให้ดอกงอกงาม ไม่เหี่ยวเฉาตายและหายตาม ‘หมุดคณะราษฎร’ ไป

ถ้าเราเริ่มต้นกันว่าการใช้กัญชาเป็นสิทธิ และความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ แล้วสิทธิดังกล่าวจะงอกมาจากกระบอกปืนได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นก็คงเหมือนที่รัฐบาล คสช. เคยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งฟังยังไงก็พิลึกชอบกล.

 


 

อ่านเรื่อง ฝุ่นตลบ ‘กัญชา’​ และ ‘ปฏิกิริยา’​ จากโลกเก่า

อ่านเรื่อง “กัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

อ่านเรื่อง เพราะเรามีกันและ ‘กัญ’

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save