fbpx

กัญชาเสรี กัญชารักษาโรค และเศรษฐศาสตร์ของกัญชา: ถึงเวลาต้องหยุดสุญญากาศของนโยบายกัญชาใหม่

ตั้งแต่ก่อนปลดล็อกเมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้และเพาะปลูกกัญชากันอย่างแพร่หลายเปิดเผย เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป อันเป็นกระแสสังคมที่สามารถปลุกปล้ำจนสำเร็จสมความตั้งใจของนักการเมืองที่ผลักดัน โดยมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่านายทุนบางรายเตรียมเพาะปลูกกัญชาไว้ก่อนแล้ว เมื่อถึงเวลาปลดล็อก ก็ทันใจพร้อมรับประโยชน์ทางธุรกิจทั้งการแพทย์และสันทนาการ

หลังจากปลดล็อก เราได้เห็นร้านขายดอกกัญชาเน้นเมล็ดนอก ผุดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ริมรั้วบางมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนชั้นนำของประเทศ ในขณะที่บนแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ก็มีผลิตภัณฑ์ ทั้งดอก เมล็ด หรือ ผลิตภัณฑ์แปรรูป จำหน่ายอย่างคึกคัก อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมที่สนับสนุนการใช้กัญชาท่านหนึ่ง ได้ให้สัมภาษณ์กับสารคดีของสื่อกระแสหลักของโลกว่ามีกัญชานอกทะลักเข้ามาจากประเทศอเมริกา จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจพอสมควร

นอกจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นเหล่านี้แล้ว ยังมีบางประเด็นสำคัญที่ชุดข้อมูลที่เผยแพร่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และมีผลต่อประเทศในแง่ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์อันเกิดจากผลกระทบภายนอก (externalities) 

1.กัญชาคือยาเสพติด?

ผู้เขียนรู้สึกตลกตัวเองที่ต้องหาข้อมูลมายืนยันแย้งกับชุดข้อมูลที่ว่า ‘กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด’ เพราะองค์การอนามัยโลกจัดให้สาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC เป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 คือมีโอกาสเสพติดได้ มีโอกาสนำไปใช้ในทางที่ผิด แม้จะมีประโยชน์ทางการแพทย์

งานวิจัยจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine หรือ  Harvard T.H. Chan School of Public Health, Harvard University ต่างก็นิยามกัญชาเป็นยาเสพติด เช่น งานวิจัยหัวข้อเกี่ยวกับการป้องการการใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะกัญชาในวัยรุ่น โอกาสที่เพิ่มขึ้นในการใช้ยาเสพติดชนิดรุนแรง (hard drugs) อันเป็นผลจากการใช้กัญชา หรือผลกระทบในระยะยาวของการเสพติดกัญชาในวัยรุ่น เป็นต้น

รายงานประจำปี 2565 โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ระบุว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายในทวีปอเมริกาเหนือ ส่งผลต่อแนวโน้มทำให้มีการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์จากกัญชาเป็นยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ซึ่งมีหลักฐานว่าสัมพันธ์กับอาการป่วยทางจิตเภท การฆ่าตัวตาย และการใช้บริการในโรงพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น

2.กัญชาไม่ได้รักษามะเร็ง

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันผลการรักษามะเร็งด้วยกัญชา โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของอเมริกา หรือ National Cancer Institute ได้ประมวลความรู้จากฐานข้อมูล PubMed ของ National Institute of Health เป็นเว็บไซต์สาธารณะที่เผยแพร่งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้ข้อสรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่เพียงพอ หรือเป็นงานวิจัยที่มีความเป็นระบบ (systematic research) ที่สามารถสรุปได้ว่า ‘กัญชาสามารถรักษามะเร็งได้’ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารเผยแพร่เรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์โดยแพทยสภา

ทั้งนี้ ‘ตัวอย่างค้าน’ (counterexample) ของ ‘กัญชาสามารถรักษามะเร็ง’ ได้แก่ กรณีของ Bob Marley ศิลปินเร็กเกระดับตำนาน ที่แฟนเพลงรู้กันดีว่าเสพกัญชาเป็นประจำ แต่ก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งด้วยวัยเพียง 36 ปี (ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เพราะกัญชามีสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งมากกว่าการสูบบุหรี่หลายร้อยหลายพันเท่า)

อย่างไรก็ตาม การที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ากัญชารักษามะเร็งไม่ได้หมายความว่ากัญชาไม่มีประโยชน์ในทางการแพทย์เลย มีงานวิจัยที่ยืนยันผลทางการแพทย์ของกัญชาต่อการผ่อนคลายความวิตกกังวล รักษาอาการของโรคจิตประสาท ป้องกันการเสื่อมหรือตายของเซลล์ประสาท ต้านอาการอักเสบ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน โดยกัญชามีผลต่อระบบจิตประสาท คือมีความเปลี่ยนแปลงต่ออารมณ์ ความรู้สึก การรับรู้ ความเครียด ความอยากอาหาร และความเจ็บปวด

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง Food and Drug Administration (องค์การอาหารและยาของอเมริกา) อนุมัติให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อรักษาการคลื่นไส้อาเจียนอันเป็นผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งแบบคีโม และภาวะน้ำหนักตัวลดลงและอาการเบื่ออาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ [มะเร็งระยะสุดท้าย] โดยต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ประเด็นที่ต้องย้ำและยืนยันในที่นี้คือกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์แน่ แต่ไม่ใช่การรักษามะเร็ง

3.ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย

แน่นอนว่า อุตสาหกรรมธุรกิจกัญชาสามารถมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ทั้งมูลค่าเพิ่มและการจ้างงาน ส่งผลต่อผู้ปลูก ผู้ขาย และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ตลอดจนหากมีการวางแผนกำหนดนโยบายอย่างสมเหตุผล จะสามารถเป็นแหล่งรายได้ให้กับภาครัฐจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการปลูกและการขาย ตลอดจนรายได้จากภาษี ซึ่งจะเป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ

รายงานการใช้ยาเสพติด ประจำปี 2565 โดย UNODC รายงานแนวโน้มที่การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย สามารถส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้จากภาษี หรือตัวอย่างรัฐแมสซาซูเซตส์มีการเก็บภาษีจากกัญชาเพื่อสันทนาการรวมกันกว่า 20% ของมูลค่าธุรกิจกัญชา ทั้งภาษีขาย ภาษีสรรพสามิต และภาษีที่แต่ละเมืองสามารถกำหนดเอง ทำให้มีรายได้ภาครัฐที่จะมาลงทุนให้กับคุณภาพชีวิตประชาชนและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญที่ต้องพิจารณาคือกัญชามีต้นทุนทางด้านสาธารณสุข เพราะกัญชาจะสามารถส่งผลเสียหายต่อระบบจิตประสาทในระยะยาว  เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งอัณฑะ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว ทำลายภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลง เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุในการขับขี่ยานพาหนะ มีความสัมพันธ์กับการเสพติดประเภทอื่น เช่น บุหรี่ สุรา และสารเสพติดร้ายแรง 

นอกจากนี้ หากเยาวชนเสพกัญชาตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีผลทำลายพัฒนาการทางสมอง เพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอาการทางจิตผิดปกติในระยะยาว และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางพันธุกรรมของอสุจิเพศชาย ในขณะที่สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ใช้กัญชาในระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อน้ำหนักตัวของทารกที่ลดลงและมีความเสี่ยงในขณะคลอดบุตร ทั้งหมดนี้จะย้อนกลับมาเป็นต้นทุนของระบบสาธารณสุข เช่น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ต้นทุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีต้นทุนแฝงที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ต้นทุนที่เกิดจากอุบัติภัยทางท้องถนน และต้นทุนที่เกิดจากผลิตภาพที่ลดลงของแรงงาน อุบัติเหตุในการทำงาน และการขาดงาน ต้นทุนที่ต้องใช้ในการป้องกันการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน และ ต้นทุนในการบำบัดผู้เสพติดกัญชา เป็นต้น

สุญญากาศทางกฎหมายของนโยบายกัญชา: ต้นทุนที่มิอาจประเมินได้

กัญชาคือยาเสพติด กัญชาไม่ได้รักษามะเร็ง และการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการจะสร้างต้นทุนให้กับสังคมและระบบสาธารณสุข ดังนั้นการปลดล็อกกัญชาโดยไม่มีการควบคุมและไม่มีมาตรการรองรับ จะให้โทษมากกว่าประโยชน์ต่อสังคม

การสร้างชุดข้อมูลต่อสังคมไทยว่ากัญชารักษามะเร็งได้ พร้อมทั้งรักษาได้สารพัดโรค ตลอดจนนโยบายแจกต้นกัญชา 1 ล้านต้นให้  500,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 ต้น จึงต้องระมัดระวังและควรต้องคิดให้รอบคอบถึงผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว ทั้งความเสี่ยงของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามะเร็งอย่างถูกต้องทางการแพทย์ ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สมองตัดสินใจได้ช้าลงหรือมีการใช้กัญชาร่วมกับสุราหรือยาเสพติดประเภทอื่น ปัญหาการแพร่ระบาดของการใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ปัญหาภาระสุขภาพ (burden of diseases) ของคนไทยจากการใช้กัญชา ปัญหาสืบเนื่องด้านภาระค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนสำหรับระบบสาธารณสุข เป็นต้น

ในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในภาวะสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา ซึ่งทำให้ไม่มีการควบคุมใดๆ เลย ดังนั้น ไทยจึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ยิ่งกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการด้วยซ้ำ เพราะประเทศเหล่านี้อย่างน้อยก็มีการควบคุมและกำกับดูแล ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้การใช้กัญชามีสูงมากกว่าระดับที่ควรจะเป็นและส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ

รัฐบาลจึงควรที่จะต้องรีบแก้ปัญหาโดยหยุดการเปิดเสรีกัญชาอย่างไร้การควบคุมโดยเร็วที่สุด โดยจะต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้ กำหนดปริมาณถือครอง จำกัดการซื้อ กำหนดพื้นที่การเสพ มีมาตรการป้องกันเด็กและวัยรุ่น การควบคุมการขับขี่ยานพาหนะ ตลอดจนการเก็บภาษีจากกัญชา

บทส่งท้าย

การเปิดเสรีกัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ แน่นอนว่ารัฐบาลที่ดีย่อมมีเป้าหมายที่จะทำให้ประโยชน์สูงสุด และทำให้โทษหรือต้นทุนต่อสังคมต่ำสุด ในแง่ความรู้สาธารณะ รัฐบาลควรจะต้องมีการลงทุนวิจัยเพื่อศึกษาผลของนโยบายและกำหนดทางเลือกสำหรับนโยบายที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยโดยรวม ไม่ใช่เปิดเสรีโดยเป็นภาวะสุญญากาศทางกฎหมายแล้วพยายามที่จะผลักดันกฎหมายเปิดเสรีตามหลัง

สังคมต้องช่วยกันติดตามว่า นโยบายกัญชาจะมีเงื่อนไขกฎหมายที่ส่งให้คนเฉพาะกลุ่มได้รับประโยชน์หรือไม่ เหมือนกฎหมายสุราที่ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ได้ประโยชน์เต็มคาราเบล


อ้างอิง

เอกสาร ‘สังคมไทย ทางไปของกัญชา’ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Interventions for prevention of drug use by young people delivered in non-school settings (Review)

Long-Term Heavy Cannabis Use Research report submitted to the Department of Health July 2002

Teens who smoke pot at risk for later schizophrenia, psychosis

Chapter 9 Cannabinoids and Addiction in Handbook of Cannabis

Chapter 10 Cannabinoids in Addiction Medicine

Handbook of Cannabis and Related Pathologies

UNODC World Drug Report 2022 highlights trends on cannabis post-legalization, environmental impacts of illicit drugs, and drug use among women and youth

Cannabis and Cannabinoids (PDQ®)–Patient Version

What is marijuana?, National Institute on Drug Abuse

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ โดยแพทยสภา

Marijuana and Cancer, American Cancer Society

What are marijuana’s long-term effects on the brain?, National Institute on Drug Abuse

Marijuana and heart health: What you need to know, Harvard Health Publishing

Marijuana, Healthyhorns utexas

Legal Marijuana Reduces Chronic Pain, But Increases Injuries and Car Accidents, University of California San Francisco

MARIJUANA AND DRIVING: A LOOK AT TEXAN’S ATTITUDES AND IMPACT ON DRIVING UNDER THE INFLUENCE

Reproductive Sciences Research Published: Exposure to Cannabis Alters the Genetic Profile of Sperm, Duke University School of Medicine

Quantifying the Social Costs of Cannabis Use to Australia in 2015/16, National Drug Research Institute, Curtin University, June 2020

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save