fbpx
อาชญากรรมและวรรณกรรม Can You Ever Forgive Me?

อาชญากรรมและวรรณกรรม Can You Ever Forgive Me?

‘นรา’ เรื่อง

ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุด Can You Ever Forgive Me? ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 3 สาขา คือ บทภาพยนตร์ดัดแปลง ดารานำหญิง (เมลิซสา แม็คคาร์ธี) และดาราสมทบชาย (ริชารด์ อี. แกรนท์)

ผลลัพธ์เป็นไปตามที่ทราบกันคือ กลับบ้านมือเปล่า พลาดหมดทุกสาขา แต่ใครที่ได้ดูหนังแล้ว ก็น่าจะรู้สึกเหมือนผม ว่าเป็นชัยชนะ เป็นความสำเร็จ และเป็นการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลที่ยอดเยี่ยมสมศักดิ์ศรี สมราคาเป็นอย่างยิ่ง

เป็นหนังฟอร์มเล็กที่ทำได้ดี และเป็นมวยรองที่ชนะใจคนดู

Can You Ever Forgive Me? สร้างจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 1991 เล่าถึงผู้หญิงวัยต้นๆ 50 ชื่อ ลี อิสราเอล เธอเป็นนักเขียนชีวประวัติคนดัง (ส่วนใหญ่เป็นดาราหนังที่ล่วงลับ) และเคยประสบความสำเร็จมาพอสมควรเมื่อครั้งอดีต  แต่ในปัจจุบัน ชีวิตของลีตกต่ำย่ำแย่รอบด้าน ถูกไล่ออกจากงานประจำ หนังสือเล่มหลังๆ ที่เขียน ขายไม่ดี กำลังอยู่ในภาวะตีบตันเขียนไม่ออก ติดเหล้าและดื่มจัด ชีวิตคู่ล้มเหลว (ลีเป็นเลสเบียน) เต็มไปด้วยหนี้สินรุงรัง โดยปราศจากรายได้

ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ นิสัยและความประพฤติของเธอเอง ซึ่งก่อปัญหากับผู้คนรอบข้างตลอดเวลา ปากคอเราะร้าย มนุษยสัมพันธ์เลว พร้อมปะทะมีเรื่องวิวาททุกขณะกับใครก็ตามที่ขวางหน้า ไม่ไว้วางใจใคร ขมขื่นขุ่นเคืองเกลียดชังโลก จนกลายเป็นคนโดดเดี่ยว ไร้เพื่อน มีชีวิตอยู่ตามลำพังอย่างเปลี่ยวเหงา

เพื่อนใกล้ชิดเพียงหนึ่งเดียวของลี คือแมวแก่ๆ ตัวหนึ่งที่ป่วยไข้ ซึ่งเธอติดหนี้ก้อนโต จนทางคลินิกไม่ยอมรักษาอีกต่อไป (จนกว่าเธอจะชำระหนี้ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ติดค้าง)

นี่ยังไม่นับรวมถึงค่าเช่าห้องพักที่ค้างจ่ายมานานหลายเดือน จนต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้าเจ้าหนี้

ลีพยายามดิ้นรนแก้ไขสถานการณ์คับขันด้วยวิธีการต่างๆ นานา แต่ทุกๆ หนทางก็ไม่ประสบผล โดยเฉพาะการอ้อนวอนขอร้องเอเยนต์ของเธอ ให้ช่วยเจรจากับสำนักพิมพ์ เพื่อเบิกเงินล่วงหน้าจากหนังสือเล่มใหม่ที่อยู่ในระหว่างตระเตรียมลงมือเขียน (เป็นหนังสือชีวประวัติของแฟนนี ไบรซ์ นางแบบ ดาวตลก นักร้อง นักแสดงละครเวที และดาราหนังที่เคยโด่งดังในช่วงทศวรรษ 1920-1930)

ไม่เพียงแต่จะถูกเอเยนต์ปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยเท่านั้น ทว่าคำปฏิเสธแล้งน้ำใจ ยังมาพร้อมๆ กับคำอธิบายให้เหตุผลที่สบประมาท ดูแคลน ย่ำยีทำร้ายจิตใจกันอย่างไม่ไว้หน้า ว่าตัวบุคคลที่ลีตั้งใจจะเขียนถึงนั้น พ้นยุคตกกระแสไม่อยู่ในความสนใจของตลาด และไม่มีใครอยากอ่าน  ขณะที่ตัวของลีเองก็เป็นเพียงแค่นักเขียนกระจอกงอกง่าย ไร้อันดับ ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครรู้จัก และมีความสามารถในระดับห่วยแตก

ลีตกต่ำถึงขั้นต้องขโมยกระดาษทิชชู่จากห้องน้ำของเจ้าภาพในงานปาร์ตี้ (ซึ่งเธอไม่ได้รับเชิญ และกลายเป็นแขกเสนอหน้าตัวเอง ได้รับการต้อนรับอย่างไม่เต็มใจ) ขนหนังสือที่มีอยู่ไปขายที่ร้านมือสอง (และขมขื่นมาก เมื่อทางร้านยอมรับซื้อเพียงแค่เล่มเดียวในราคา 2 ดอลลาร์)

ในช่วงเวลาที่ชีวิตกำลังวิกฤต ขัดสน เคว้งคว้าง ไร้ที่พึ่งพานี้เอง ลีได้พบและรู้จักกับแจ็ค ฮ็อคในร้านเหล้า

แจ็คเป็นชายอายุวัยใกล้เคียงกับลี แต่งตัวสำอาง คล่องแคล่วช่างเจรจาเข้าขั้นกะล่อน เป็นเกย์แบบประกาศตัวเปิดเผย แต่หลีกเลี่ยงกลบเกลื่อนไม่ยอมพูดถึงอาชีพการงาน ประวัติชีวิต หรือแม้แต่หลักแหล่งพำนักอาศัย

ทั้งสองมีความเหมือนพ้องพานกันคือ ความเป็นคนโดดเดี่ยว ไร้เพื่อน (หรืออาจพูดได้ถึงขั้นว่า เป็นบุคคลน่ารังเกียจที่ไม่มีใครอยากคบหา) รวมทั้งความล้มเหลวในการใช้ชีวิต เป็นมนุษย์จำพวกผุพังชำรุด (ด้วยการกระทำของตนเอง)

ลีกับแจ็คพูดคุยกันถูกคอตั้งแต่แรกพบ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพความผูกพันฉันเพื่อนต่อมาในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ด้วยฐานะอันยากไร้ฝืดเคืองของแจ็ค เขาทำได้มากสุดก็เพียงแค่เลี้ยงเหล้าเพื่อนไม่กี่แก้ว ข้อยุ่งยากเรื่องเงินๆ ทองๆ ของลี ยังคงเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสที่มองไม่เห็นลู่ทางแก้ไข

Can You Ever Forgive Me?

จนวันหนึ่ง ลีก็ต้องเอาตัวรอด นำจดหมายคนดังที่แคทเธอรีน เฮพเบิร์น (ดาราในตำนาน ผู้สร้างสถิติ ได้ออสการ์ถึง 4 ครั้ง) เขียนถึงลีด้วยลายมือตนเองไปขาย จนได้เงินมามากพอประทังและทุเลาความเดือดร้อนชั่วขณะ

ถัดจากนั้นไม่นาน ระหว่างค้นข้อมูลเกี่ยวกับแฟนนี ไบรซ์ในห้องสมุด ลีพบจดหมาย 2 ฉบับคั่นอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง

เป็นจดหมายส่วนตัวที่แฟรนนี ไบรซ์เขียนถึงใครบางคน โดยใช้พิมพ์ดีด (และมีลายเซ็นของเธอ)

ลีนำจดหมายฉบับหนึ่งไปขาย แต่ครั้งนี้ได้ราคาไม่มากนัก ด้วยเหตุผลว่า เนื้อความข้างในราบเรียบธรรมดา ไม่ดึงดูดใจนักสะสมเท่าที่ควร

เธอจึงนำจดหมายของแฟรนนี ไบรซ์อีกฉบับ มาพิมพ์ข้อความ ป.ล. ต่อท้าย เพิ่มเติมสีสัน และนำไปขายได้ราคาที่น่าพึงพอใจ

ทั้งหมดนี้ทำให้ลีพบช่องทางทำมาหากินใหม่ นั่นคือ การปลอมแปลงจดหมายของนักเขียนที่เสียชีวิตแล้ว โดยใช้ทักษะความสามารถในการเขียนที่ลีมีอยู่ (แต่เธอไม่เคยเชื่อมั่นศักยภาพของตนเองเลยในช่วงก่อนหน้านี้) ประกอบกับการอ่านผลงานของเป้าหมายในการลอกเลียนแบบอย่างพินิจพิเคราะห์

เธอสามารถปลอมจดหมายของคนดังอย่างโนเอล คาวเวิร์ด (นักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ และเคยเขียนบทหนังเรื่อง Breif Encounter กำกับโดยเดวิด ลีน ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนังรักโรแมนติกที่ดีที่สุดตลอดกาล) ได้อย่างแนบเนียน ทั้งถ้อยคำสำนวนและทัศนะความคิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลอมจดหมายของโดโรธี พาร์คเกอร์ (กวี นักเขียน นักวิจารณ์ ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในแง่ไหวพริบปฏิภาณอันเฉียบคมและสำนวนเสียดสีจิกกัดเจ็บแสบมีอารมณ์ขัน นอกจากนี้แล้วเธอยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนบทหนังเรื่อง A Star is Born ฉบับแรกสุดเมื่อปี 1937) ลี อิสราเอลเลียนแบบได้เหมือนจนไร้ที่ติ ถึงขั้นประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันเหมือนโดโรธี พาร์คเกอร์ ยิ่งกว่าตัวเธอเองเสียอีก”

แง่มุมนี้ผมชอบมากและรู้สึกว่า เป็นความเย้ยหยันอย่างถึงที่สุด เมื่อนักเขียนที่ล้มเหลวและโดนมองข้ามความสามารถมาตลอดอย่างลี อิสราเอล เปล่งประกายความสามารถในเชิงศิลปะวรรณกรรม ผ่านทางสิ่งที่เป็นการประกอบอาชญากรรม

ทั้งหมดที่ผมเล่ามา เป็นเค้าโครงเหตุการณ์ช่วงต้นของหนังนะครับ ส่วนที่เหลือถัดจากนั้น คาดเดาบทสรุปได้ไม่ยากหรอกนะครับ ว่าจะนำไปสู่บทสรุปลงเอยเช่นไร?

มันเป็นไปตามครรลอง เมื่อตัวละครก่ออาชญากรรมทำผิด และถลำลึกเข้าสู่วงจรความชั่วนั้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงจุดหนึ่ง ขอบเขตและปริมาณ ตลอดจนความถี่ของการทำความผิด ก็เริ่มบานปลายขยายกว้าง จนกระทั่งเป็นที่สังเกตพบเห็นได้ โดยฝ่ายผู้รักษากฎหมาย จนสามารถสืบสาวโยงใยกลับมาเล่นงาน

แต่เงื่อนปมสำคัญของหนัง ไม่ได้อยู่ที่ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเอยไปในทิศทางใดหรอกนะครับ สาระใหญ่ใจความคือ การเสนอให้เห็นว่า เมื่อการกระทำฉ้อฉลหลอกลวงของลี ดำเนินมาถึงจุดอับทางตัน เธอได้รับบทเรียนชีวิตอันใดหรือไม่ และคิดเห็นรู้สึกเช่นไรต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำลงไป รวมทั้งสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมิตรภาพของลีกับแจ็คอย่างไรบ้าง?

Can You Ever Forgive Me?
Richard E. Grant as “Jack Hock” and Melissa McCarthy as “Lee Israel” in the film CAN YOU EVER FORGIVE ME? Photo by Mary Cybulski. © 2018 Twentieth Century Fox Film Corporation All Rights Reserved

ชื่อหนัง Can You Ever Forgive Me? มาจากเนื้อความตอนหนึ่งในจดหมายปลอมที่ลีเขียนขึ้น นอกจากความหมายพื้นฐานที่เกี่ยวโยงกับเนื้อความในจดหมายแล้ว ลำดับต่อมา มันสะท้อนถึงชั้นเชิงความสามารถทางวรรณศิลป์ของลี ในการเสแสร้งแสดงตัวเป็นโดโรธี พาร์คเกอร์อย่างสมบทบาท

ส่วนนัยยะความหมายประการสุดท้ายก็คือ การโยงใยไปสู่เนื้อหาสาระแก่นเรื่องของหนัง ว่าด้วยการกระทำผิดของตัวละคร และทิ้งคำถามเอาไว้ให้ผู้ชม (รวมทั้งตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง ) เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะยกโทษให้อภัยกับบาปที่ตัวละครก่อขึ้นหรือไม่?

ความสำเร็จประการแรกของหนังเรื่องนี้ก็คือ การเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหลชวนติดตาม กระชับรัดกุม และโดดเด่นมากในการผสมผสานระหว่างจังหวะดรามากับอารมณ์ขัน รวมถึงบรรยากาศเหงาๆ บาดลึก ไม่หนักมือถึงขนาดหดหู่หม่นหมอง (ทั้งๆ ที่โครงเรื่องและประเด็นด้านเนื้อหา เอื้อให้ไปในทิศทางนี้มาก) และไม่สดใสรื่นรมย์เกินเหตุ จนกลายเป็นหนัง feel good ที่เบาหวิว

ในมุมมองของผม Can You Ever Forgive Me? ยังเป็นหนัง feel good อยู่นะครับ แต่เป็นการให้ความรู้สึกที่ดีบนภาพรวมที่สมจริงและมีความลึก มีความหนักแน่น เข้มข้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฉากเปิดเผยความในใจของลีตอนช่วงท้ายๆ เรื่อง ถึงความรู้สึกแท้จริงของเธอที่มีต่ออาชญากรรมซึ่งตนเองเป็นผู้ก่อขึ้น (ซึ่งเป็นความลับสำคัญของหนัง) ผมคิดว่า นี่เป็นการพบบทเรียนของตัวละครที่ซื่อสัตย์จริงใจอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีทั้งด้านบวกและลบระคนปนกันอย่างแนบแน่น เกินกว่าจะแบ่งแยกเป็นขาวจัดดำจัดหรือติดสินถูกผิดกันได้ง่ายๆ

ความสมจริงของตัวละคร เป็นจุดเด่นต่อมาของหนัง และอาจจะถือได้ว่า เป็นหัวใจสำคัญในงานชิ้นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความเกี่ยวโยงกับเนื้อหาสาระ ซึ่งผู้ชมต้องตัดสินใจว่า มีมุมมองความเห็น มีความรู้สึกปฏิกิริยาต่อการกระทำฉ้อฉลของลีอย่างไร?

ในแง่นี้ โดยวิถีทางภาพยนตร์ที่เน้นความบันเทิง คนดูโดนโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้เชียร์และเอาใจช่วย ‘คนทำผิด’ อยู่ตลอดเวลา ต่อเมื่อเอะใจฉุกคิดทบทวนหลังจากดูหนังจบ จึงค่อยตระหนักสังเกตพบความยุ่งยากใจในการตัดสินพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่งมีทั้งมุมที่ยากจะยินยอมให้อภัยและซีกด้านที่ชวนให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจ

หนังให้น้ำหนักความขัดแย้งดังกล่าวได้สมดุลมากๆ

Can You Ever Forgive Me?

ผมควรบอกกล่าวไว้ด้วยว่า หนังแจกแจงแสดงรายละเอียดที่มาที่ไปของตัวละครทางฝั่งลี อิสราเอลอย่างถี่ถ้วนและหลากหลายแง่มุม จนผู้ชมเกิดความใกล้ชิดคุ้นเคย เข้าอกเข้าใจตัวละครกระจ่างแจ้ง กระทั่งกลายเป็นความรักชอบผูกพัน

ขณะเดียวกันก็จงใจละเว้นพื้นเพหนหลังของแจ็ค ฮ็อค (พูดง่ายๆ คือ ผู้ชมรู้จักตัวละครนี้เท่าๆ กับที่ลีรู้) ซึ่งเล่าด้วยวิธีตรงกันข้าม เต็มไปด้วยความลับ ความคลุมเครือ มีคำถามชวนสงสัยต่างๆ อยู่มากมาย แต่มิตรภาพความสัมพันธ์ระหว่างลีกับแจ็ค ปฏิกิริยาแบบเดี๋ยวรักเดี๋ยวทะเลาะที่ทั้งสองมีต่อกัน ความพยายามจะกลบเกลื่อนปิดบังเรื่องแย่ๆ หรือน่าอับอายของตนเอง ความขัดแย้งตรงข้ามระหว่างเปลือกนอกที่แสดงตนเป็นคนร่าเริงรักสนุกกับเนื้อแท้เบื้องลึกที่ชีวิตเต็มไปด้วยความล้มเหลว ก็ทำให้แจ็ค ฮ็อค กลายเป็นตัวละครที่คนดูรักและเอาใจช่วยไม่แพ้กันกับลี

พูดอีกแบบหนึ่ง ทั้งลี อิสราเอลและแจ็ค ฮ็อค ต่างล้วนเป็นตัวละครในแบบที่ประเมินคร่าวๆ แล้ว ผู้ชมควรจะนึกรังเกียจและเชียร์ไม่ลง แต่ความเก่งกาจของบทหนัง ซึ่งสามารถสร้างตัวละครให้มีชีวิตเลือดเนื้อเป็นปุถุชน ก็เผยแสดงให้เห็นทั้งด้านแย่ๆ และแง่มุมดีๆ ของตัวละครทั้งคู่ จนนอกจากจะเกลียดไม่ลง ยินดีให้อภัยในความผิดทุกอย่างแล้ว ท้ายที่สุด ผู้ชมยังรักประทับใจในตัวละครคู่นี้

ที่ผมชอบมากคือ ความรักที่มีต่อตัวละครลีกับแจ็คนั้น เป็นความรักที่ในระหว่างทาง บางฉากก็ชวนให้ขัดอกขัดใจต่อการกระทำของตัวละคร บางฉากก็เป็นความรู้สึกสงสารเห็นอกเห็นใจ และบางฉากก็โกรธในพฤติกรรมอันไม่สมควร

รวมความแล้วเป็นความรักชอบตัวละคร ที่ครอบคลุมและสลับคั่นด้วยอารมณ์ความรู้สึกในทางบวกลบดีร้ายต่างๆ นานา เช่นเดียวกับที่เราท่านต่างเคยรู้สึกต่อผู้คนในชีวิตจริง

ถ้าจะต้องเทียบเคียงเปรียบเปรยแล้วล่ะก็ คงจะออกมาได้ประมาณนี้นะครับ

บทหนังนั้นกำหนดสร้างออกแบบตัวละครได้แข็งแรงมากๆ แต่ปัจจัยเงื่อนไขสำคัญอีกอย่างที่ทำได้ดีไม่แพ้กันก็คือ ฝีมือการแสดงของเมลิสซา แม็คคาร์ธีกับริชาร์ด อี. แกรนท์

คนแรกนั้นได้ชื่อว่า เป็นนักแสดงตลกหญิงที่เล่นหนังเก่งมากๆ อยู่ก่อนแล้ว เมลิสซา แม็คคาร์ธีเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากเรื่อง Bridesmaids เมื่อปี 2011 แต่ความสามารถของเธอ ถูกจำกัดอยู่ในกรอบให้เล่นเฉพาะบทตลก ด้วยบุคลิกและลีลาซ้ำๆ กันเป็นทางเดียว คือ ตัวละครที่ค่อนข้างไปทางโฉ่งฉ่างมีความเป็นการ์ตูน

บทลี อิสราเอลจึงเป็นการพลิกโฉมเปลี่ยนคาแรคเตอร์ครั้งสำคัญ สู่บทบาทดรามาแบบจริงจังของเมลิสซา แม็คคาร์ธี และเปิดโอกาสให้ได้แสดงอารมณ์ต่างๆ อย่างหลากหลาย มีฉากโชว์ให้ปล่อยของสำแดงฤทธิ์เดชอยู่มากมายเต็มไปหมด และเธอก็ทำได้ดีจริงๆ โดยเฉพาะการรักษาความสมดุลระหว่างด้านที่ร้ายกาจเป็นคุณป้ามหาภัย ด้านที่ตกเป็นผู้แพ้ถูกกระทำอย่างน่าสงสารเห็นใจ และด้านดีงามอ่อนโยนน่ารัก (ที่นานๆ ครั้งจึงจะปรากฏให้เห็น) รวมถึงการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกสารพัดสารพัน ผ่านสีหน้าแววตาโดยปราศจากคำพูด ไม่ว่าจะเป็นความสิ้นหวัง ความหวาดกลัวตื่นตระหนัก ความเจ็บปวดโศกเศร้า และความรู้สึกผิด

Can You Ever Forgive Me?
Melissa McCarthy as “Lee Israel” in the film CAN YOU EVER FORGIVE ME? Photo by Mary Cybulski. © 2018 Twentieth Century Fox Film Corporation All Rights Reserved

ริชาร์ด อี. แกรนท์นั้นมาทางตรงกันข้าม (อีกแล้ว) บทแจ็ค ฮ็อคเป็นตัวละครและวิธีลีลาการแสดง ในแบบที่เขาถนัดและทำได้ดีเสมอมา ผู้ชมเคยเห็นจนคุ้นตา แต่มีสิ่งสำคัญ 2 ประการที่ทำให้บทแจ็ค ฮ็อค กลายเป็นการแสดงที่น่าประทับใจชวนจดจำ

อย่างแรกคือ ตัวละครนี้ถูกสร้างออกมาโดยมีเป้าหมาย เพื่อให้คนดูตกหลุมรัก  ถัดมาคือ ความเหมือนและความแตกต่างเมื่อเข้าคู่กับลี อิสราเอล ก็ทำให้เกิดภาพที่มีน้ำหนักทั้งแตกต่างและหนุนส่งกันจนเกิดเป็นความโดดเด่น

ที่สำคัญคือ การเล่นรับส่งกันระหว่างริชาร์ด อี. แกรนท์และเมลิสซา แม็คคาร์ธีนั้น มีความลงตัวเข้าขาอย่างสมบูรณ์แบบ

ทุกครั้งที่ตัวละคร (หรือนักแสดง) ทั้งสองปรากฏตัวอยู่ร่วมในฉากเดียวกัน ผมพบว่า เกิดความรื่นรมย์ เพลิดเพลิน มีสีสันแรงดึงดูด และมีเสน่ห์อย่างร้ายเหลือ

Can You Ever Forgive Me?

นอกเหนือจากจุดเด่นข้อดีต่างๆ ที่กล่าวมา Can You Ever Forgive Me? ยังมีประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดบรรยากาศในแวดวงวรรณกรรมอเมริกันช่วงต้นทศวรรษ 1990 เบื้องหลังชีวิตและการทำงานของนักเขียนตกอับและไม่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง แง่มุมในแวดวงการสะสมของเก่า ซึ่งเต็มไปด้วยมุมเย้ยหยัน และการตั้งคำถามถึงว่า อะไรคือคุณค่าที่แท้จริง?

มีอีกแง่มุมปลีกย่อยที่สำคัญคือ ประเด็นในเรื่องเพศสถานะของลีกับแจ็ค หนังแตะต้องประเด็นเหล่านี้แบบผ่านๆ ไม่ลงลึกในรายละเอียด ไม่ได้หยิบนำมาเป็นปัญหาของตัวละครโดยตรง แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็กลายเป็นอีกเงื่อนไขปัจจัยสถานะ ‘ความเป็นคนนอก’ และการไม่เป็นที่ยินดีต้อนรับของโลกรอบๆ ข้าง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save