fbpx
รักของ A.I. มีจริงหรือเปล่า ?

รักของ A.I. มีจริงหรือเปล่า ?

-1-

ในวันเวลาที่นิยามและรูปแบบของความรักไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่ง เช่นเดียวกับเทคโนโลยีซึ่งพัฒนาไปอย่างไร้ขอบเขต การที่ใครสักคนจะตกหลุมรักกับหุ่นยนต์อย่างในหนังหรือนิยาย อาจกลายเป็นความจริงได้ในไม่ช้านี้

 

ทว่าคำถามใหญ่ที่อาจยังค้างคาใจใครหลายคน รวมถึงนักประดิษฐ์ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สมัยใหม่ ก็คือ—มนุษย์อย่างเราจะสามารถมีความรักกับหุ่นยนต์ได้จริงหรือ?

ผู้ที่เริ่มค้นหาคำตอบที่ว่านี้เป็นคนแรกๆ คือ โจเซฟ ไวเซนบอม (Joseph Weizenbaum) แห่งสถาบัน MIT ซึ่งคิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า ‘เอลิซ่า’ ขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1966

เจ้าเอลิซ่านี้มีลักษณะเป็นโปรแกรมแชทบอทที่สามารถส่งข้อความโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ และมันถูกออกแบบมาให้มีคุณสมบัติของ ‘นักบำบัด’

จากการเปิดให้ผู้คนทดลองใช้ โจเซฟพบสิ่งที่น่าสนใจหลายข้อด้วยกัน เป็นต้นว่า แทบทุกคนสนทนากับเอลิซ่าราวกับว่าเธอเป็นคนจริงๆ มิหนำซ้ำยังกล้าเปิดเผยสิ่งที่เป็นความลับอย่างไม่เคอะเขิน ขณะเดียวกันเอลิซ่าก็สามารถโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดังตัวอย่างที่ยกมานี้ :

Human: Well, my boyfriend made me come here.

Eliza: Your boyfriend made you come here?

Human: He says I’m depressed much of the time.

Eliza: I am sorry to hear you are depressed.

Human: It’s true. I’m unhappy.

Eliza: Do you think coming here will help you not to be unhappy?

 

จะเห็นว่าวิธีการตอบคำถามของเอลิซ่านั้นน่าสนใจ และดูมี ‘ความเป็นมนุษย์’ อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว และคงไม่แปลกอะไรหากบทสนทนาง่ายๆ นี้จะทำให้เกิดความรู้สึกดีระหว่างคู่สนทนาได้ แม้ฝ่ายหนึ่งจะเป็นเพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ตาม

หลายสิบปีผ่านไป เทคโนโลยีมากมายถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่เว้นกระทั่งเรื่องความรักความสัมพันธ์ แต่ดูเหมือนว่าภายใต้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ยังจำกัดอยู่ในขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์กับมนุษย์’ เท่านั้น

น่าคิดเหมือนกันว่า ทั้งที่เราตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักระหว่างคนกับหุ่นยนต์มาหลายทศวรรษแล้ว แต่เหตุใดเรายังไปไม่ถึงจุดนั้นเสียที

เพราะเทคโนโลยียังไม่ไปถึง หรือเพราะลึกๆ แล้วเรายังไม่อยากให้วันนั้นมาถึงกันแน่

 

-2-

ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Her’ (2013) ปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ‘ซาแมนธ่า’ ถูกออกแบบมาให้มีความรู้สึกนึกคิด มีจิตสำนึก มีความทรงจำ ทำหน้าที่เป็นทั้งเพื่อนคู่คิดและคนรู้ใจของ ‘ทีโอดอร์’ ตัวเอกในเรื่องได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกอะไรที่วันหนึ่งเขาจะตกหลุมรักซาแมนธ่าอย่างหัวปักหัวปำ

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากความสัมพันธ์ที่ปรากฏในเรื่องคือ จิตสำนึกและการตอบสนองของ A.I. อย่างที่ซาแมนธ่าแสดงออกมานั้น ‘จริง’ แค่ไหน และสามารถเทียบเท่าความรู้สึกที่มนุษย์เราแสดงออกหรือไม่

วอร์เรน บราวน์ (Warren Brown) จาก UCLA’s Brain Research Institute ให้คำอธิบายไว้ว่า โดยทั่วไปแล้ว สมองของสิ่งมีชีวิต ถือเป็นต้นกำเนิดสำคัญของความรู้สึกนึกคิด อันหมายถึงอารมณ์ ความคิด ความทรงจำ ไปจนถึงประสบการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับความรู้สึกรักที่ยากจะอธิบาย ก็กำเนิดมาจากปฏิกิริยาเคมีในสมองของเรา

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังชี้ว่า ถ้าหากเราสามารถ ‘ทำสำเนา’ ของโครงสร้างและระบบสมองได้ เราก็ย่อมทำสำเนาของความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำ รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ ไม่ว่าจะเป็นสมองของมนุษย์หรือสมองกล ย่อมมีการประมวลผลและตอบสนองไม่ต่างกัน

พูดง่ายๆ ว่าสมองเป็นเพียงหน่วยประมวลผลที่บรรจุความทรงจำ และนำเสนอผลลัพธ์ (การแสดงออก/พฤติกรรม) ผ่านตัวกลาง ซึ่งอาจเป็นร่างกายของมนุษย์หรือหุ่นยนต์ก็ได้

ลองจินตนาการเล่นๆ ดูว่า ถ้าวันหนึ่งคนรักของคุณตายไป แล้วคุณสามารถทำสำเนาจากสมองของคนรักไว้ในหุ่นยนต์ที่มีความทรงจำ ความคิด ความรู้สึก กระทั่งรูปร่างหน้าตาและน้ำเสียง ที่แทบไม่ต่างจากคนรักของคุณ — คุณจะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากหรือไม่ ว่านั่นไม่ใช่คนรักของคุณ ?

ทั้งนี้ เมื่อเราพูดถึงความรัก (รวมถึงความรู้สึกอื่นๆ ที่เราคิดว่าลึกซึ้ง) กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างหุ่นยนต์ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเหลวไหลและ ‘ไม่จริง’ เพราะมันถูกประดิษฐ์หรือ ‘ตั้งโปรแกรม’ ขึ้นมาอีกที

รายา บิดชาฮารี (Raya Bidshahari) ผู้ก่อตั้ง Intelligent Optimism (เว็บไซต์ที่นำเสนอองค์ความรู้และงานวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกอนาคต) เสนอว่าในทางปฏิบัติแล้ว ปัญญาประดิษฐ์สามารถมีความรู้สึกนึกคิดได้ไม่ต่างจากมนุษย์ ทว่าความจริงข้อนี้อาจเจ็บปวดเกินกว่าที่ใครหลายคนจะยอมรับ

“ความคิดที่ว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถเข้าใจความรักหรือความรู้สึกอื่นๆ ได้ เป็นเพียงความคิดที่พยายามลดทอนคุณค่าของมันเท่านั้น ในเมื่อมันมีความรู้สึกนึกคิด มีความทรงจำ และมีประสบการณ์ร่วมกับเราได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป แล้วเหตุใดมันจึงไม่สมควรได้รับความรัก แค่เพราะมัน ‘ไม่มีชีวิต’ เท่านั้นหรือ?”

เธอยังเสริมอีกด้วยว่า การพัฒนา A.I. ให้สามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของมนุษย์ อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มันสามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ดี มากกว่าการถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างอย่างที่ใครหลายคนหวาดระแวง

และบางที นี่อาจเป็นคำตอบของความสัมพันธ์อันสมบูรณ์แบบที่มนุษย์เราเฝ้าฝันถึงมาโดยตลอด

 

-3-

จากความรุดหน้าทางเทคโนโลยี หลายคนทำนายว่าโลกที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Her อาจกลายเป็นความเป็นจริงในอนาคตอันใกล้นี้

คนในแวดวงเทคโนโลยีคาดการณ์กันว่า เราจะสามารถพัฒนา A.I. ให้เท่าเทียมกับมนุษย์ในทุกด้านได้ในปี 2029 และจะมีศักยภาพเหนือมนุษย์อีกหลายล้านเท่าในปี 2040 ก่อนที่มนุษย์กับ A.I. จะถูกผสานให้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

อย่างไรก็ดี ความทันสมัยของเทคโนโลยีย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย นักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตไว้อย่างแหลมคมว่า แม้หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์จะมีความรู้สึกนึกคิด และสามารถเป็นตัวเลือกหนึ่งในฐานะเพื่อนคู่คิดหรือคนรู้ใจของมนุษย์ แต่ถึงที่สุดแล้ว มันอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของความรักความสัมพันธ์เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันถูกออกแบบให้ ‘สมบูรณ์’ มากเท่าไหร่ ก็เป็นไปได้ที่เราจะ ‘เบื่อ’ มันเร็วขึ้นเท่านั้น

เหนืออื่นใด คงยากที่จะปฏิเสธว่าการได้สัมผัสถึงลมหายใจ เลือดเนื้อ กระทั่งการส่งสายตา—ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์เราโหยหาอยู่เสมอ.

 

 

อ่านเพิ่มเติม

– บทความ The science of ‘Her’: we’re going to start falling in love with our computers โดย Ben Poppers จาก The Verge

– บทความ How AI Will Redefine Love โดย Raya Bidshahri จาก Singularity Hub

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save