fbpx
โครงสร้างแบบไหน ทำไมไทยไม่มีพื้นที่ให้คนดังแสดงความเห็นจนเราต้อง call-out

โครงสร้างแบบไหน ทำไมไทยไม่มีพื้นที่ให้คนดังแสดงความเห็นจนเราต้อง call-out

กระแสการ call-out หรือ การเรียกร้องให้คนมีชื่อเสียง คนสาธารณะ รวมไปถึงสื่อและองค์กรต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์หรือประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงหวนกลับมาอีกหน ภายหลังจากที่เคยปรากฏขึ้นอย่างเข้มข้นในหลายๆ ครั้งยามเกิดประเด็นแหลมคมขึ้นมาในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่งวดขึ้นพร้อมปริมาณแก๊สน้ำตากับกองทัพรถขนน้ำ เป็ดยางกับเสื้อคลุมกันฝน 

เกิดการเรียกร้องให้คนดังออกมาพูดเป็นปากเสียงหรือแสดงจุดยืนต่อประเด็นเหล่านี้ในฐานะที่เป็นประชาชนเหมือนกัน ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจะคว่ำบาตรหรือแบนผลงานกันให้รู้เรื่องไปข้างหนึ่ง การเรียกร้องที่ว่าเกิดเสียงแตกออกเป็นสองทาง หนึ่ง เรื่องพวกนี้อย่าไปบังคับกัน เขาอยากออกมาพูด เขาก็พูดเองแหละ หรือสอง นี่มันเรื่องทางมนุษยธรรม ไม่ได้เป็นการเรียกร้องให้ออกมาสั่งข้าวผัด คนมีชื่อเสียงที่เสียงดังกว่าคนทั่วไป อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยกระจายข่าวสร้างความตื่นตัว

อย่างไรก็ดี กระแสการ call-out ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตถือกำเนิดและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เป็นผลให้อำนาจการแสดงความเห็นอย่างเสรีตกมาอยู่ในมือของทุกคน การจับจ้องและตัดสินการกระทำที่ไม่เป็นที่ยอมรับจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในเชิงกฎหมาย อย่างกรณีของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เจ้าพ่อโปรดิวเซอร์คนดังแห่งฮอลลีวูดที่คุกคามทางเพศหญิงสาวนับร้อยรายจนนำไปสู่การขึ้นโรงขึ้นศาลเมื่อปี 2017

หรือกระทั่งในเชิงศีลธรรม ความรู้สึก ซึ่งเป็นพื้นที่สีเทาอยู่พอสมควร อย่างกรณีของ โดแลน ทวินส์ ยูทูบเบอร์ฝาแฝดสัญชาติอเมริกัน ที่มีฟุตเทจพวกเขาขับเพื่อนออกจากบ้านด้วยเหตุผลว่าฝ่ายหลังส่งข้อความตอบแฟนคลับเพียงหนึ่งข้อความ ฝาแฝดระแวงว่าอาจเป็นประตูไปสู่ความสัมพันธ์ที่ล้ำลึกกว่านั้นได้ (!!) เลยตัดสินใจเฉดหัวเพื่อนออกจากชายคา ปรากฏว่าแฟนคลับรู้สึกว่า นี่เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลจนกดยกเลิกการติดตามช่องยูทูบของแฝด ทั้งยังแบนผลงานอื่นๆ อีกด้วย 

แต่การเรียกร้องให้คนดังออกมาพูดครั้งล่าสุดที่น่าจะยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ #BlackLivesMatter เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ดอน เลมอน นักข่าวช่อง CNN ตั้งคำถามกลางรายการว่าคนดังระดับโลกอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์ และ เอลเลน ดีเจนเนอเรส (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ BLM) ไปอยู่เสียที่ไหนหลังจากเกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น

“พวกคนดังหรือนักการเมืองรวยๆ เอาแต่บอกผมว่า ‘ไม่เอาด้วยหรอก ฉันไม่อยากให้คนเห็นตอนโกรธ มันอาจทำลายภาพลักษณ์ได้เลยนะ’ พวกคุณไปอยู่ที่ไหนกัน ทำไมไม่ลุกขึ้นสู้พร้อมคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วจะไปทำเมื่อไหร่” เลมอนบอก

“คุณกลายเป็นแค่แบรนด์สินค้า เป็นแค่ภาพลักษณ์ไปแล้วเหรอ ไม่เอาน่ะ ขนาดบียอนเซ่ยังออกมาพูดเรื่องนี้เลยนะ” (ภายหลังคนดังที่เลมอนตั้งคำถามกลางรายการก็ออกมาพูดถึงประเด็น BLM กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเพราะโดนเขาเรียกออกอากาศหรือเพราะอยากจะออกมาพูดอยู่แล้วก็ตามที) 

หรือถ้าให้เดือดดาลกว่านั้น คือเมื่อ ฮาลซีย์ นักร้องสาวตั้งคำถามถึงคนดังร่วมวงการต่อกรณีเดียวกันนี้ว่า “ใครก็ตามที่มีแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ในมือแล้วยังเสือกจะเงียบนะ ไปตายซะ พวกมึงมีสื่อในมือแท้ๆ เพิ่งเห็นคนถูกฆ่าแล้วยังจะทำไม่สนใจเนี่ยนะ” และ “ในแผ่นดินอเมริกานี่มันไม่มีสัญญาห้ามคนดังออกมาพูดเรื่องนี้หรอก จะบอกให้ พวกนั้นแค่ไม่ออกมาพูดเองเพราะภาพลักษณ์มันสำคัญกว่า และแม่งก็เลือกเงินมากกว่าออกมาพูดเรื่องปัญหาการเหยียดเชื้อชาติเนี่ย ไปตายซะพวกมึงอะ”

นอกจากนี้สำหรับประเด็นอิมแพ็กของคนดังต่อการเคลื่อนไหว มีอีกหลายเหตุการณ์ที่สมควรถูกยกขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การปฏิเสธขึ้นแสดงในคลับที่ยังแบ่งแยกที่นั่งของคนขาวและคนดำหลายๆ แห่งในลาสเวกัสและไมอามีของนักแสดงตลกผิวดำ แซมมี เดวิส จูเนียร์ ในระหว่างการเรียกร้องสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ช่วงปี 1960 ในสหรัฐฯ หรือการปฏิเสธการถูกเกณฑ์ให้ไปรบในสงครามเวียดนามด้วยประโยคอันลือลั่นของ มูฮัมหมัด อาลี  “ผมไม่ไป ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคนเวียดกง” ที่ลงเอยด้วยการที่เขาต้องยอมแลกกับคำสั่งตัดสิทธิในการลงแข่งในช่วงที่กำลังรุ่งเรืองที่สุดของชีวิตตลอดจนห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ราคาที่เขาต้องจ่ายนั้นมหาศาลเสียจน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิยังออกปากว่า “เขายอมเสียเงินเป็นล้านเหรียญฯ เพื่อยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง และไม่ว่าคุณจะมองเรื่องความเชื่อของเขาแบบไหน คุณก็ต้องยอมรับความกล้าหาญนี้ของเขานะ”

ในระยะหลังๆ เราพบว่าการเคลื่อนไหวของ celebrity activism ในอเมริการวมถึงในยุโรปบางประเทศนั้นทรงพลังขึ้นทุกที เมื่อมันกระตุ้นให้คนดังออกมาเป็นตัวแทนในการพูดถึงประเด็นทางสังคมบางอย่าง ไม่ว่าจะเพศ ชาติพันธุ์ หรือความเท่าเทียมต่างๆ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่ามันดีจริงไหม ตลอดจนเรียกร้องหรือชูประเด็นเหล่านี้ว่า มีใครได้ติดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบ้างหรือยัง จนนำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่าวัฒนธรรมการเล็งแสงไปที่คนดังนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้มีประโยชน์มากมายอย่างที่คาดการณ์ไว้ 

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น สิ่งแรกที่เราต้องมีเสียก่อนคือพื้นที่ในการแสดงความเห็นอย่างเสรี ซึ่งสำหรับประเทศไทย ดูเหมือนบริบทหลายอย่างจะยังห่างไกลจากเสรีภาพในการแสดงความเห็นเช่นนั้นมาก

จริงๆ แล้วประเด็นที่น่าจับตาอย่างหนึ่งของภาวะเช่นนี้คือ ในสภาวะที่การเมืองไทยไม่ปกติ ในความหมายที่ว่ากองทัพเป็นคนคุมบังเหียนและนายกฯ ก็มาจากการรัฐประหาร (การจะบอกว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเพราะผ่านการเลือกตั้งปี 2019 มาแล้วมันก็กระดากปากไปหน่อย) ตลอดจนการอุ้มหายและปรากฏการณ์ที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชนก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ชวนขยุกขยิกในหัวใจ หากจะมองมันด้วยสายตาแบบ ‘เป็นกลาง’ และสงวนความคิดเห็นเงียบเชียบ

แม้จะเป็นไปได้อีกเหมือนกันว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป บ้างอาจถูกผูกมัดจากสัญญา ไม่สะดวกใจ หรือแม้กระทั่งไม่ได้ตามข่าวและไม่ได้สนใจจริงๆ เลยก็ตามที มากกว่านั้นคือการที่ตัวคนดังทั้งหลายเองผูกโยงตัวตนเข้ากับ ‘ความดี’ บางอย่างผ่านภาพของศาสนา การทำบุญ การกุศล หรือต่อต้านความรุนแรงทั้งในเชิงกายภาพและคำพูด 

การที่มุมหนึ่งมีคนถูกอุ้มหายหรือถูกรัฐทำร้ายแล้วยังเงียบเชียบจึงชวนจั๊กจี้อยู่ไม่น้อย พร้อมกันนี้ก็ชวนให้รู้สึกคลื่นเหียนทุกครั้งที่เห็นคนดังหน้าตาดีรับบทเป็นพรีเซ็นเตอร์องค์กรสิทธิมนุษยชน แต่กลับเงียบบื้อกับความป่าเถื่อนในประเทศตัวเอง (หรือกระทั่งสำลักคำพูดอันอื้อฉาวอย่าง It’s not my place to and it’s not my fight. ที่ชวนเศร้าใจมากๆ) สะท้อนไปถึงความกลวงเปล่าของตัวองค์กรอย่างเลี่ยงไม่ได้

เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งอาจอยู่ที่วัฒนธรรมบางอย่างของไทย อย่างการพยายามแยกการเมืองให้ออกห่างจากทุกสิ่ง มันถูกมองว่าเป็นสิ่งที่หากเข้าไปสัมผัสแล้วจะแปดเปื้อนเพราะ “นักการเมืองก็เลวทุกคน” องคาพยพอื่นๆ ในสังคมจึงถีบผลักความเป็นการเมือง (ในนิยามของนักการเมืองใส่สูทเข้าไปโวยวายในสภา การปั้นหน้าหาเสียง การแจกเงิน) ไปสู่การเป็นอื่นเสมอ และไม่เพียงแต่คนดัง กระทั่งคนไม่ดังหลายคนก็ยังเข้าใจและรู้สึกว่าการพูดหรือแสดงความเห็นเรื่องการเมืองนั้นทำให้สกปรก การวางตัวเป็นกลางอย่างสุขุมและอยู่เหนือนักการเมืองผู้แสวงหาผลประโยชน์ทุกคนจึงเป็นเรื่องที่เหมาะควร

อีกทั้งตัวสถานะของวงการคนดัง ที่หมายรวมถึงนักแสดง นักกีฬาหรือคนมีชื่อเสียงอื่นๆ ยังมีท่าทีวางตัวเองออกห่างจากการเมือง กลายเป็นพื้นที่ที่คนดังต้องทำตัวให้เป็นที่รักด้วยการเป็น ‘คนดี’ ตามนิยามของสังคม หรือวงการระบุไว้ว่าไม่ให้แสดงความคิดเห็นใดๆ ในประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะเมื่อไม่แสดงความเห็น ก็ย่อมไม่ถูกโจมตีและไม่ถูกเกลียด (คำถามคือจริงหรือ เอาอย่างชัดเจนที่สุดคือทำไมเมื่อเจ็ดปีก่อนถึงได้มีคนดังมากมายออกไปลงถนนในนามของ กปปส. ซึ่งเป็นมวลชนที่ส่งเสียงทางการเมืองอย่างเต็มตัว) 

ดังนั้นในด้านหนึ่ง วัฒนธรรมการเป็นคนมีชื่อเสียงของไทยปิดพื้นที่ไม่ให้คนได้แสดงความเห็นโดยตัวมันเองอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม (และในทางกลับกัน เมื่อจะส่งเสียงก็จะรู้สึกว่าชอบธรรมและทำได้เพราะตัวเองเสียงดังกว่า มีความถูกต้องมากกว่า อย่างที่ปรากฏในม็อบกปปส. ที่เป็นม็อบ ‘เสียงดัง’ ทั้งในเชิงเปรียบเปรยและ literally ดังแสบแก้วหูจริงๆ)

สิ่งที่ควรทำคือการสร้างพื้นที่ให้คนที่เขาอยากพูด ได้พูดอย่างสะดวกใจ แม้ไม่ได้มีคำตอบแน่ชัดเสมอไปว่าเมื่อคนดังออกมาส่งเสียงพูดหรือเป็นกระบอกเสียงแล้ว การเคลื่อนไหวครั้งนั้นจะได้รับชัยชนะหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถึงที่สุด สิ่งที่ต้องมีในขั้นต้นคือพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีและปลอดภัย แม้ว่ามันอาจจะยากเย็นเมื่อนึกได้ว่า เรากำลังต่อกรกับรัฐบาลที่หน้าหนาหน้าทนที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่แม้รวมพลังกันออกปากด่า ลงถนน หรือร่างจดหมายถึงฉบับแล้วฉบับเล่า ก็ยังไม่มีท่าทีจะสะเทือนหรือแม้แต่รู้สึก

เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าในพื้นที่ที่ไม่อาจ ‘เป็นกลาง’ ได้อีกแล้วนี้ คนดังเหล่านั้นยังสมาทานความ ‘เป็นกลาง’ อยู่จริงๆ หรือเพียงแต่ถูกผูกมัดด้วยเงื่อนไขอีกมากมาย (ซึ่งนาทีนี้ ‘เป็นกลาง’ หมายถึงการเอียงข้างเผด็จการไปแล้ว) ในด้านหนึ่ง แม้เราจะตะขิดตะขวงใจกับการไปเรียกร้องให้คนดังเหล่านี้ออกมาพูดในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาโดยตรง แต่มันก็พอเข้าใจได้ในเชิงตรรกะต่างๆ อย่างการออกตัว #save ทุกซอกมุมของโลกโดยไม่ขยับมามองประเทศตัวเอง จึงเกิดการเรียกร้องให้ออกมาแสดงจุดยืนถึง ‘ความเป็นคนที่ห่วงใยใส่ใจสถานการณ์รอบๆ ตัว’ จากเหล่าคนดัง ที่ก็อาจอยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก ไม่พร้อมจะแสดงความเห็นทั้งจากสัญญา ข้อตกลงหรือแม้กระทั่งกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งบางคนก็ยอมแลกจนเสียการเสียงาน เพื่อแลกกับการได้เหยียดกระดูกสันหลังให้ตรงและได้ยืนยันในสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อย่างการแสดงความเห็นก็มีมาแล้ว

และเช่นนั้น การที่คนดังออกมาส่งเสียงพูดไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้รัฐบาลออกไปในทันที แต่อย่างน้อยที่สุด หากมันเกิดขึ้นได้จริงและเกิดได้อย่างเสรี ก็เท่ากับว่าเราได้พื้นที่ในการแสดงความเห็นอย่างอิสระเพิ่มมากขึ้น และใช่หรือไม่ว่าในด้านใดด้านหนึ่ง มันอาจไปสะเทือนโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่ผูกโยงยึดแน่นกับกองทัพหรือชุดความเชื่อเดิมๆ ที่แตะต้องไม่ได้มานานกว่าสิบปี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็นับเป็นการขยับก้าวใหญ่ที่น่าจับตาไม่น้อยเลยทีเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save