fbpx
โปรดเรียกฉันว่า ‘เควียร์’

โปรดเรียกฉันว่า ‘เควียร์’

หนึ่งในเรื่องที่พูดกันทีไรก็ปวดหัว คือเรื่องของ ‘เพศ’ นี่ล่ะ คุณว่าไหมครับ

 

เพศในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าปวดหัวที่นก หาคนมามีเพศสัมพันธ์ด้วยไม่ได้นะครับ (โอเค บางคนอาจจะปวดหัวบ้าง) แต่ผมกำลังหมายถึงการหาจำกัดความของคำๆ นี้ ในยุคสมัยที่ทุกคนเข้าใจเป็นค่ามาตรฐานไปแล้วว่าโลกไม่ได้มีแค่ชายหญิงแค่สองเพศ ใครที่ยังมองแบบนี้จะถูกตราหน้าได้ว่าเชย เด๋อ และเฉิ่มเฉาเต่าล้านปีมาก

แต่ประเด็นก็คือ ในขณะที่รู้ว่ามนุษย์ไม่ได้มีแค่สองเพศ เราก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโลกแห่งความซับซ้อนของรสนิยมทางเพศนั้นมีขีดจำกัดแค่ไหน นอกจากชายรักหญิง หญิงรักชาย เรา ‘รู้’ ว่ามีคนที่รักเพศเดียวกันอยู่ แต่พื้นที่ที่นอกเหนือไปจากนั้นล่ะ เรา ‘จินตนาการ’ ไปได้กว้างไกลมากมายเท่าไหร่กัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมมีเพื่อนสองคนที่บังเอิญสนิทกันสมัยเรียน คนที่หนึ่งบอกว่าตัวเองเป็นชายรักหญิง แสดงออกว่าชอบผู้หญิง แมนๆ เตะบอลครัช ส่วนคนที่สองบอกว่าตัวเองเป็นเกย์ ชอบผู้ชาย และตุ้งติ้งหน่อยๆ เวลาผ่านไปหลายปี เพื่อนคนแรกกลับกลายเป็นว่าชอบผู้ชาย เป็นเกย์ที่ท่าทางตุ้งติ้ง (มาก) ในขณะเดียวกัน เพื่อนคนหลังอยู่ดีๆ ก็มีแฟนเป็นผู้หญิง สวีทกันดี แต่ในขณะเดียวกันเวลาอยู่กับผมและกลุ่มเพื่อน เขาก็ยังมีความ ‘gay-ish’ อยู่เล็กน้อยพอให้พวกเรางงเล่นๆ

นี่ผมยังไม่ได้บอกใช่ไหมว่าตอนแรก เพื่อนคนที่สองเคยชอบเพื่อนคนที่หนึ่งด้วย!

สิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อน (รวมไปถึงตัวผมเอง) คือการแซะเพื่อนทั้งสองคนเล่นๆ ด้วยการแคปรูปและสเตตัสของทั้งคู่มาแปะในไลน์กลุ่มเป็นวาระ แซวความ ‘สลับร่าง’ ของทั้งสองคน โดยเฉพาะคนที่สอง ที่จะโดนค่อนขอดครหาจากพวกเราว่า แหม… แมนจังนะคะมึง อยู่บ่อยๆ

ลองมานั่งนึกดีๆ ตอนที่เขียนอยู่นี้ ผมคิดว่าสาเหตุที่พวกเราในกลุ่มไปแซวเพื่อนทั้งสองคนอย่างนั้น (ซึ่งเป็นเรื่องที่เลวนะครับ – หวังว่าเพื่อนจะเข้าใจ) เป็นเพราะมโนทัศน์เรื่องเพศของเราที่ถูกแช่แข็งไว้แค่ว่า สำหรับโลกใบนี้ เกย์ คือชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย – เท่านั้น – ไม่มีการจินตนาการไปถึงความสัมพันธ์รูปแบบอื่นที่เป็นไปได้สำหรับคนสองคน แถมเรายังไม่จัดให้เพื่อนเป็นไบเซ็กชวลด้วย เพราะความเชื่อที่ว่า ไบฯ คือชายจริงหญิงแท้ ที่บังเอิญมีรสนิยมชอบมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน แต่เมื่อเรามีภาพว่าเพื่อนเป็นเกย์ในตอนแรกไปแล้ว การจับยัดลงกล่องไบฯ จึงเป็นไปไม่ได้ในสายตา

ทั้งหมดทั้งมวล อำนาจของ ‘คำ’ จึงมีผลต่อการมองโลกและความกว้างไกลทางความคิดที่มีต่อการลื่นไหลของวิถีทางเพศในตัวของแต่ละคนไปด้วยอย่างไม่น่าเชื่อ

คุณอาจจะคุ้นเคยกับศัพท์แสงที่พูดถึงรสนิยมทางเพศด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษสี่ตัว นั่นคือ L G B และ T ซึ่งย่อมาจาก เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์ ที่นอกจากจะเป็นคำที่คนๆ หนึ่งใช้จำกัดความว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศแบบไหน มันยังเป็นชื่อเรียกของคอมมูนิตี้สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่รวมตัวกันเพื่อส่งเสียง แสดงออกว่าฉันเป็นใคร เพื่อต่อสู้ให้พวกเขาได้รับความเท่าเทียมในด้านต่างๆ เหมือนคนที่มีรสนิยมทางเพศตรงกับเพศของตัวเอง

ดูจะไม่มีปัญหาอะไรนี่… ก็ใช่ครับ แต่เมื่อรสนิยมทางเพศของมนุษย์เริ่มหลากหลายมากขึ้นเกินกว่าจะจำกัดความให้อยู่ในตัวอักษรแค่สี่ตัว ความซับซ้อนชวนงงก็ตามมา จาก LGBT เป็น LGBTQ เพิ่มเป็น LGBTQIA และ LGBTQIAPK ไปจนถึง LGBTQQIP2SAA

งงไหมครับ งงยิ่งกว่าพี่มาช่าในเดอะเฟซตอนนี้อีก

ที่จริงแล้ว ผมว่าเราต้องแยกระหว่างการ Self-Identify ตัวเอง ออกจากความเป็น ‘ขบวนการ’ เคลื่อนไหวนะครับ เพราะการบอกตัวเองและสังคมว่าเรา ‘เป็น’ เพศอะไร เสรีภาพในการกำหนดคำจำกัดความยังอยู่ที่ตัวเรา (รวมไปถึงการเปลี่ยนคำจำกัดความนั้นในภายหลังด้วย) ในขณะที่การรวมกลุ่มก้อน การจำกัดความมันมีเซนส์ของการที่คุณต้อง ‘แคร์’ คนอื่นๆ ว่าเขาจะถูกลืมถูกกีดกันออกไป เวลาที่เราเรียกความเป็นกลุ่มนั้นหรือเปล่า

มันจึงเป็นที่มาของคำถามชวนโลกแตกว่า เราควรเรียกกลุ่มคนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และอื่นๆ ว่าอย่างไรดี ให้ดูไม่เหยียดโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทิ้งบางเพศไว้ข้างหลัง สำหรับภาษาไทย จริงๆ ก็มีใช้คำว่า ‘เพศหลากหลาย’ อยู่ แต่ในความหมายที่เป็นกลุ่มก้อน เอาเข้าจริงผมว่าก็ยังดูไม่ใช่ เพราะความรู้สึกของคำยังมีความกระจัดกระจาย หลากหลาย ไม่ให้ความรู้สึกแบบ ‘แอลจีบีที’ อยู่ดี (พอเข้าใจใช่ไหมครับ มันไม่ใช่อะกิ๊ฟ)

แต่นั่นแหละ พอจะใช้ LGBT เราก็ต้องมานั่งนอยด์ว่า เอ๊ะ นี่เมนชั่นครบทุกเพศไหมนะ หรือจะเรียกให้ครบ ก็ยาวเวอร์มากมาย เปลืองบรรทัดไปเสียอีก

ในโลกตะวันตก มีความพยายามในการใช้คำว่า ‘Queer’ เพื่อเป็น umbrella term สำหรับเรียกเพศวิถีที่หลากหลายให้เข้ามาอยู่ใต้ร่มคันเดียวกัน ไม่ใช่เพียงว่าไม่เปลืองบรรทัด แต่ด้วยแนวคิดหลักของคำๆ นี้ที่เชื่อว่าเพศวิถีของมนุษย์ทุกคนสามารถลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องคงอยู่กับที่เสมอไป หรืออาจบอกว่าตอนนี้ตัวเองเป็นเพศหนึ่ง แต่ก็เผื่อที่ว่างไว้ให้อนาคตที่ไม่อาจรู้ว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปชอบแบบไหนด้วย

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมมาอยู่ใต้ร่มคันนี้

เมื่อต้นปีก่อน บรรณาธิการเซกชั่นข่าวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในสำนักข่าวออนไลน์ Huffington Post ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อหมวดจาก ‘Gay Voices’ เป็น ‘Queer Voices’ ด้วยเหตุผลว่าข่าวต่างๆ ในช่วงหลังไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มเกย์อีกแล้ว แต่ยังพูดถึงเพศวิถีในอีกหลากหลายรูปแบบเท่าที่เรามีคำจำกัดความให้ ฟังดูก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะเปิดกว้างมากขึ้น แต่กลับมีคอลัมน์นิสต์คนหนึ่งเขียนบทความลงในเว็บ เพื่อประกาศจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ พร้อมบอกว่าตัวเองจะไม่เขียนให้กับที่นี่อีกต่อไป

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะด้วยประวัติศาสตร์ของเควียร์ จริงๆ แล้วไม่ใช่คำที่ถูกคิดขึ้นมาให้เพื่อการนี้ แต่มันเป็นคำที่ถูก ‘ยึดคืน’ ความหมายจากชาวเกย์และพวกตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980s จากที่เคยเป็นคำด่าเอาไว้ใช้เรียกคนเหล่านี้เหมือนคำว่า ‘อีตุ๊ด (faggots)’ ให้เป็นคำที่พวกเขากล้าที่จะเอามาใช้เรียกตัวเอง ประมาณว่า ‘เรียกไปสิ แร้วงัยคัยแคร์’ จนเหล่าโฮโมโฟเบียเลิกใช้กันไป

ถึงแม้เควียร์จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม LGBT แทรกตัวเข้าไปเป็นตัวอักษร Q ในแก๊งตัวย่อที่มีมากมายมหาศาล หนัง เพลง ซีรีส์ ที่สะท้อนภาพของพวกเขาก็เรียกตัวเองว่าเป็นเควียร์ แต่อย่างไรเสีย ก็ยังมีบางกลุ่ม (โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อายุมากหน่อย) ที่บอกว่า ฉันไม่ยอมรับถ้าจะให้คำด่าคำนี้มาเป็นตัวแทนเพื่อเรียกพวกฉัน มันยังเป็นแผลที่เจ็บปวดเกินกว่าจะยอมเรียกตัวเองว่าเป็นเควียร์!

ประสบการณ์ความเจ็บปวดของแต่ละคน ที่จริงก็เป็นเรื่องอัตวิสัยแล้วแต่ว่าใครจะก้าวข้ามผ่านมันไปได้รึเปล่านะครับ แต่ที่ดูเหมือนจะไปไกลมากกว่านั้น ก็คือความหมายของเควียร์ในเชิงทฤษฎีทางสังคมศาสตร์นี่สิ

เพราะ Queer Theory ที่เกิดขึ้นมาหลังการยึดคืนคำมาได้ให้หลังประมาณ 10 ปี กำลังตั้งคำถามที่ว่า กรอบความคิดทวิลักษณ์ทางเพศที่ตั้งอยู่บนฐานแบบชายและหญิง คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาอคติทางชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ หรือเปล่า ลามไปถึงการตั้งคำถามต่อความคิดแบบ LGBT ที่ถูกจำกัดด้วยมโนทัศน์ชายหญิง เกิดเป็น ‘Homonormativity’ หรือบรรทัดฐานที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมรักเพศเดียวกัน (เช่นโจ๊กที่ว่า ‘เกย์สาวรุกผัวต้องโดนปาหิน’ เป็นต้น – ซึ่งผมก็ขำนะครับ ว่าไปนั่น / เปลี่ยนโหมดเป็นคนไม่ PC)

เมื่อเป็นอย่างนี้ เป็นไปได้หรือเปล่าว่าการเจ็บปวดจากคำว่าเควียร์ จะมาจากกรงขังของการแบ่งเพศแบบชายหญิง เกิดความ ‘เป็นอื่น’ ของการรักเพศเดียวกัน

ในขณะที่คำว่าเควียร์เป็นความเจ็บปวดในอดีตของคนกลุ่มหนึ่ง ตัวมันเองก็กำลังจะชี้ถึงปัญหา และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเพศที่ลื่นไหล ไม่ต้องให้คำจำกัดความแบบถาวร เพื่อที่อนาคตจะได้ไม่ต้องมีใครเจ็บปวดกับคำด่าแบบนั้นอีกหรือเปล่า

ทั้งหมดทั้งปวง คำว่าเควียร์ ทั้งในแง่ของความหมายเพื่อขยายจินตนาการความเป็นไปได้ทางเพศของมนุษย์ ใช้เป็นคำจำกัดความทดแทนความ ‘เยอะ’ ของวิธีบอกอัตลักษณ์ทางเพศแบบเดิมๆ ไปจนถึงแนวคิดทฤษฎีที่ตั้งคำถามแบบถอนรากถอนโคนความเป็นเพศแบบเก่า ที่สุดแล้วมันอาจเป็นคำตอบที่มาแก้ไขอาการปวดหัวเวลาเราพูดถึงเรื่องเพศก็ได้นะครับ

 

อย่างน้อยที่สุด คุณูปการแบบ practical ของคำๆ นี้ ก็คือการให้เพื่อนทั้งสองคนของผมใช้มันเป็นคำพิมพ์ด่าในกรุ๊ปไลน์ เวลาคนอื่นแซะว่าตกลงมึงเป็นเพศอะไรนี่แหละ
มันจะได้ตอบว่า ‘กูเป็นเควียร์ไง อีเวร!’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save