fbpx

ปรากฏการณ์พยานตาขาว (Bystander Effects)

กลางดึกคืนหนึ่งอาจจะสักตี 3 คุณได้ยินเสียงร้องผิดปกติ เหมือนผู้หญิงต้องการความช่วยเหลือ คุณจะทำอย่างไร? ตะโกนโวยวาย? ออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น? โทรแจ้งตำรวจ? หรือกลับไปนอนต่อ?  

ภายใต้ภาวะความแออัดและความไม่คุ้นเคยกันของคนบ้านใกล้เรือนเคียงแบบชีวิตในเมืองใหญ่  น่าจะมีคนไม่น้อยที่เชื่อว่า คนส่วนใหญ่น่าจะเลือกไม่แกว่งเท้าหาเสี้ยนและไม่ทำอะไรเสียมากกว่า 

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

ช่วงกลางทศวรรษ 1960 เกิดคดีครึกโครมที่ผู้เสียชีวิตชื่อว่า คิตตี้ เจโนวีส (Kitty Genovese) ที่กลับจากการทำงานควบ 2 กะ ขับรถถึงที่จอดรถใกล้กับที่ที่พักในย่านควีนส์ กรุงนิวยอร์กราวตี 3 กว่านิดหน่อย เธอโดนชายลึกลับที่ไม่รู้จักมาก่อน แทงเข้าด้านหลังขณะที่กำลังเดินไปที่พัก 

เล่ากันว่าเจโนวีสตะโกนร้องขอความช่วยเหลือขณะโดนแทง หลายคนในละแวกนั้นได้ยิน จึงมีคนหนึ่งตะโกนขึ้น ทำให้วินสตัน มอสลีย์ (Winston Mosley) ที่เป็นคนร้ายตกใจผละไป แต่เจโนวีสบาดเจ็บมาก และเปิดประตูเข้าอพาร์ตเมนต์ไม่ได้ มอสลีย์จึงวนกลับมาอีกครั้ง เขาแทงเธออีก ข่มขืนเธอ และขโมยข้าวของไป 

จากการชันสูตรศพคาดว่าแผลโดนแทงที่ปอด อาจจะทำให้เจโนวีสร้องขอความช่วยเหลือไม่ได้อีก 

กว่าจะมีเพื่อนบ้านคนแรกมาพบ ก็เป็นเวลาหลังจากโดนแทงครั้งแรกไปราว 1 ชั่วโมง และเธอก็เสียชีวิตก่อนทีมช่วยชีวิตจะมาทัน มอสลีย์ถูกจับได้หลังจากนั้น และพบว่าเขายังลงมือแบบเดียวกันกับหญิงสาวคนอื่นอีก 2 ราย เขาต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และตายในคุกหลังจากติดคุกไปทั้งสิ้น 52 ปี 

คำถามที่ชาวนิวยอร์กและชาวโลกสงสัยกันก็คือ ทำไมการลงมืออย่างโหดร้ายนี้จึงไม่ถูกยับยั้งตั้งแต่เมื่อเจโนวีสร้องขอความช่วยเหลือครั้งแรก ทั้งที่สื่อลงข่าวว่ามีพยานได้ยินเสียงร้องมากถึง 38 คน!

นักจิตวิทยา 2 คนคือ จอห์น ดาร์ลีย์ (John Darley) และบิบบ์ ลาทาเน่ (Bibb Latané) สนใจเรื่องราวของคดีดังกล่าว จึงออกแบบชุดการทดลองเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น [1] การทดลองของพวกเขากลายเป็นการทดลองคลาสสิกในทางจิตวิทยาที่มีคนอ้างอิง และนำไปทดลองเพิ่มเติมต่อมาอีกมากมาย 

ยกตัวอย่าง วิธีการทดลองที่เขาทำสัก 2 ตัวอย่างกันครับ

ในการทดลองแรก พวกเขารับอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมาจำนวนหนึ่ง อาสาสมัครเหล่านี้จะถูกจัดให้อยู่ในห้อง พร้อมกับมีอุปกรณ์หูฟังสวมศีรษะที่ใช้สื่อสารกับคนในห้องอื่นที่เขามองไม่เห็น โดยแจ้งว่าเพื่อให้ผู้ทดลองเป็นแบบนิรนามต่อกัน  

โดยกลุ่มแรกได้รับการแจ้งว่า อีกห้องหนึ่งจะมีผู้ติดต่อด้วยเพียงคนเดียว ส่วนคนกลุ่มที่ 2 จะได้ข้อมูลว่ามีอีก 2 คนที่คุยอยู่ด้วย และสุดท้ายกลุ่มที่ 3 จำนวนคนเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากนั้นคนในห้องอื่นซึ่งที่จริงก็คือ หน้าม้าของดาร์ลีย์และลาทาเน่ก็แกล้งทำว่าเป็นลมชัก ส่งเสียงกระหืดกระหอบและร้องให้ช่วย   

สิ่งที่พบก็คือสำหรับกลุ่มที่ 1 ผู้ร่วมการทดลอง 81% เลือกจะทิ้งห้องออกไปเพื่อให้ความช่วยเหลือ ขณะที่สำหรับกลุ่มที่ 2 ตัวเลขจะลดลงมาเหลือ 64% และในกลุ่มที่ 3 ตัวเลขร่วงมาเหลือแค่ 31% ที่ตัดสินใจออกมาช่วยผู้ป่วยลมชักแบบฉุกเฉิน 

ผลการวิจัยดูจะสอดคล้องกันดีกับกรณีของเจโนวีส ยิ่งรู้ว่ามีคนอื่นที่รับรู้เหตุการณ์เช่นกันจำนวนมาก ก็จะนิ่งนอนใจ ไม่กระตือรือร้นจะตอบสนอง  

ดาร์ลีย์และเลเทเน่ตัดสินใจทำการทดลองที่ 2 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลึกมากขึ้นไปอีก เพื่อดูว่าความเสี่ยงสำหรับแต่ละคนมีผลต่อการตัดสินใจมากน้อยเพียงใด เขารับอาสาสมัครชุดใหม่เข้ามา ผู้ร่วมการทดลองต้องกรอกแบบสอบถามที่ทางคณะผู้วิจัยจัดไว้ 

แต่การทดลองจริงไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่คำถามในแบบสอบถาม นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกปล่อยให้กรอกแบบสอบถามคนเดียวในห้อง ขณะที่ในกลุ่มที่ 2 อาสาสมัครได้นั่งในห้องขนาดใหญ่ที่มีคนอื่นๆ อีกมากมายหลายคนนั่งทำแบบสอบถามอยู่ด้วยกัน แต่สิ่งที่อาสาสมัครไม่รู้ก็คือ คนอื่นๆ ในห้องล้วนแล้วแต่เป็นหน้าม้าที่คณะนักวิจัยจัดไว้ 

ขณะที่อาสาสมัครกรอกแบบสอบถามอยู่นั้น ก็จะมีการปล่อยควันหนาสีดำเข้าไปในห้องผ่านทางเครื่องปรับอากาศจนห้องเต็มไปด้วยควัน โดยในห้องใหญ่นั้นพวกหน้าม้าจะทำตัวเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น ยังคงก้มหน้าก้มตาตั้งอกตั้งใจกรอกแบบสอบถามต่อไป

สำหรับกลุ่มย่อยที่ปล่อยให้อาสาสมัครนั่งคนเดียวในห้อง มีอาสาสมัครราว 75% ที่ออกจากห้องอย่างรวดเร็ว และวิ่งหาเครื่องแจ้งเหตุฉุกเฉิน ขณะที่ห้องนั่งรวมมีแค่ 10% เท่านั้นที่ออกไปหาความช่วยเหลือ และหากจะมองที่เรื่องเวลา กลุ่มหลังนี่ต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มแรกถึงเท่าตัวกว่าคน 10% นั้นจะออกไปหาความช่วยเหลือ! 

การทดลองที่ 2 ก็ให้ผลที่สอดคล้องกันดีกับข้อสังเกตจากกรณีของคดีเจโนวีสคือ แม้ว่าอันตรายหรือเรื่องฉุกเฉินจะเกิดขึ้นตรงหน้า แต่หากมีคนจำนวนมากรับรู้ร่วมกัน แต่ละคนจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของความรับผิดชอบของตนเท่านั้น และควรทำตัวเหมือนคนอื่นๆ จะดีกว่า 

พอจะเรียกชื่อเหตุการณ์แบบนี้ได้ว่าเป็น ปรากฏการณ์พยาน (ตาขาว) (Bystander Effects) 

จากผลการทดลองทั้ง 2 การทดลองข้างต้น และการทดลองอื่นๆ อีกที่พวกเขาทำตามออกมาอีก ดาร์ลีย์และลาทาเน่จึงเสนอแบบจำลอง 5 ขั้น [2] ของการตัดสินใจของพยานในที่เกิดเหตุที่นำไปสู่ผลลัพธ์คือ ไม่ทำอะไรเลย ดังนี้ 

เริ่มจากสังเกตเห็นว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ขั้นที่ 2 คือ มีการตีความว่าสถานการณ์ที่พบเจออยู่นี้เป็น ‘เหตุฉุกเฉิน’ จริงหรือไม่ เช่น ถ้าสังเกตว่าคนอื่นไม่ทำอะไร ก็น่าจะไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน ขั้นต่อมาคือ รับรู้หรือตัดสินใจว่านี่เป็นความรับผิดชอบของตัวเองหรือของคนอื่นกันแน่ หากมีคนร่วมรู้เห็นเหตุการณ์จำนวนมาก ก็อาจจะเกิดความรู้สึกรับผิดชอบโดยตรงลดลง   

ขั้นที่ 4 คือ ตระหนักว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง หรืออันที่จริงแล้วตัวเองไม่มีทักษะมากพอที่จะทำอะไรได้ และสุดท้ายคือตัดสินใจลงมือช่วย โดยพิจารณาเรื่องความกังวลใจเกี่ยวกับอันตราย กฎหมาย และความน่าอับอาย ฯลฯ ที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว 

นักจิตวิทยาทั้ง 2 คนนี้ แยกแยะกระบวนการทางจิตวิทยาที่แตกต่างกัน 3 แบบ ที่ขัดขวางไม่ให้พยานในที่เกิดเหตุเสนอตัวช่วยคนที่กำลังลำบาก หนึ่งคือกระบวนการที่เรียกว่า การกระจายความรับผิดชอบ (diffusion of responsibility) ที่ทำให้แต่ละคนคิดว่า เรื่องนี้เราไม่ใช่คนเดียวที่ต้องรับผิดชอบ จึงอาจละเลยและไม่ลงมือตอบสนองใดๆ 

กระบวนการที่ 2 คือ ความกลัวการตีตรา (evaluation apprehension) ที่เป็นความกลัวจะโดนสาธารณชนตัดสินในทางผิดๆ และสุดท้าย ความละเลยของคนจำนวนมาก (pluralistic ignorance) ที่เป็นแนวโน้มที่แต่ละคนจะอ้างอิงปฏิกิริยาของคนอื่นส่วนใหญ่เวลาที่เกิดสถานการณ์บางอย่างที่กำกวม

ข้อสรุปของดาร์ลีย์และลาทาเน่ได้รับการยอมรับในวงการอยู่นาน 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็มีหลักฐานใหม่ๆ เพิ่มเติมที่ทำให้ต้องมีการตีความผลการทดลองของพวกเขาใหม่ เพราะจะเห็นได้ว่าในการทดลองดังกล่าวอาศัยการยืดขยายผลการทดลองที่จำกัดในห้องทดลองไปใช้อธิบายสถานการณ์จริงในชีวิต แต่อันที่จริงแล้วอาสาสมัครอาจไม่ได้รู้สึกอะไรมากนักกับสถานการณ์ที่จัดไว้ ไม่ได้คิดหรือถือว่ามันเป็นอันตรายอย่างจริงจัง 

หลังจากผ่านไปผ่านราว 60 ปี เรามีข้อมูลและวิธีการตีความอย่างอื่นที่อาจจะแม่นยำกว่าการทดลองแบบเซตเอาไว้ทำนองนี้บ้างไหม?

มีทางทำได้หลายแบบครับ ยกตัวอย่าง มีงานวิจัยของ ดร.ริชาร์ด ฟิลพ็อต (Richard Philpot) แห่งมหาวิทยาลัยแลงแคสเตอร์ (Lancaster University) วิเคราะห์ภาพจากกล้อง CCTV ใน 3 เมืองใหญ่คือ แลงแคสเตอร์ในอังกฤษ อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ในเนเธอร์แลนด์ และเคปทาวน์ (Cape Town) ในแอฟริกาใต้ ทำให้พบว่าในช่วงเวลาที่ทำการศึกษาครอบคลุมเหตุทำร้ายร่างกายและการทะเลาเบาะแว้งรวม 219 ครั้ง [3]

พยานในที่เกิดเหตุราว 91% พยายามหยุดยั้งหรือบรรเทาสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำท่าทำทางให้คนที่ทะเลาะกันอยู่ใจเย็นๆ หรือการดึงตัวคู่กรณีออกจากัน หรือการเอาตัวเองเข้าขวางคู่ขัดแย้งหรือคนร้ายที่กำลังลงมือกับเหยื่อ 

เรื่องนี้แตกต่างจากข้อสังเกตของดาร์ลีย์และลาทาเน่อย่างสิ้นเชิง 

สิ่งที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกคือ ยิ่งมีคนในที่เกิดเหตุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีพยานที่ออกหน้าและคนที่พร้อมเข้าช่วยเหลือมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และไม่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในทั้ง 3 เมืองที่ใช้ศึกษาเป็นตัวอย่าง แม้ว่าเคปทาวน์จะอันตรายมากกว่าแลงแคสเตอร์และอัมสเตอร์ดัมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแปลว่าพยานมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้รับอันตราย  

เรื่องนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเรื่องการช่วยเหลือคนแปลกหน้าว่า อาจจะเป็นเรื่องสากลสำหรับธรรมชาติของมนุษย์ และ ‘ปรากฏการณ์พยาน (ตาขาว)’ น่าจะไม่ใช่เรื่องจริง     

ย้อนกลับไปเรื่องคดีของเจโนวีส ตัวเลขพยาน 38 คนที่สื่ออ้างอิงกันนั้น ผลการสอบสวนของตำรวจระบุว่ามีพยานแค่เพียง 6 คน สภาพแวดล้อมที่สรุปได้คือ การทำร้ายครั้งแรกเกิดขึ้นอย่างสั้นๆ เมื่อคนร้ายแยกตัวไป พยานทั้งหมดจึงไม่ได้ทำอะไรต่อ ส่วนการทำร้ายครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในมุมอับที่ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ เหยื่อก็ไม่ได้ร้องโวยวาย (คาดว่าจะทำไม่ได้) จึงไม่มีใครตอบสนองอะไร  

การศึกษาจิตวิทยาสังคมจะยังคงมีความสำคัญและด้วยเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เราก็อาจได้ข้อสรุปที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากขึ้น และอาจช่วยแก้ความเข้าใจผิดและทำให้เห็นธรรมชาติด้านดีของมนุษย์ได้ชัดเจนมากขึ้น 

โลกจึงยังคงมีความหวังอยู่เสมอครับ  

References
1 Darley, J. M., & Latané, B. (1968). Bystander intervention in emergencies: Diffusion of responsibility. Journal of Personality and Social Psychology, 4, 377–383
2 https://en.wikipedia.org/wiki/Bystander_effect
3 Philpot, R., Liebst, L. S., Levine, M., Bernasco, W., & Lindegaard, M. R. (2019, June 3). Would I Be Helped? Cross-National CCTV Footage Shows That Intervention Is the Norm in Public Conflicts. American Psychologist. Advance online publication. http://dx.doi.org/10.1037/amp0000469

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save