fbpx

Back to SCHOOL เปลี่ยนประเทศไทย ต้องกลับไปที่โรงเรียน?

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศจะกลับมาเปิดเทอมอีกครั้งหนึ่งเพื่อเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่

แต่ปีนี้จะเป็นปีการศึกษาที่สองติดต่อกันที่โรงเรียนทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากโควิดจนไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ นักเรียนได้ใช้เวลากับครูที่โรงเรียนน้อยลง และถูกผลักให้ไปใช้เวลากับหน้าจอในรูปแบบออนไลน์

ความจริงแล้ว เทคโนโลยีด้านการศึกษา เช่น การเรียนออนไลน์ สามารถสร้างประโยชน์ให้ระบบการศึกษาอย่างมหาศาล หากถูกวางให้เป็น ‘ตัวช่วย’ อย่างถูกวิธีและถูกใช้ ‘ควบคู่’ (complement) ไปกับการสอนโดยคุณครูในโรงเรียน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบ ‘ผสมผสาน’ (blended learning) ที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของทรัพยากรครู ทั้งเรื่องจำนวนหรือความเชี่ยวชาญ (เช่น สื่อการสอนออนไลน์ในวิชาที่โรงเรียนอาจขาดครูที่เชี่ยวชาญ) เรื่องเวลา (เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยวางแผนบทเรียน ตรวจการบ้านหรือข้อสอบ) และช่วยเปิดความเป็นไปได้ในการออกแบบห้องเรียนแบบใหม่ (เช่น ห้องเรียนกลับด้าน หรือ flipped classroom) ที่ทำให้คุณครูไม่ต้องเสียเวลาในห้องเรียนไปกับการบรรยายด้านเดียว (เพราะให้นักเรียนไปดูเป็นการบ้านมาก่อนผ่านสื่อออนไลน์ของคุณครูเองหรือของคนอื่น) แต่ได้ใช้เวลาในคาบเรียนทั้งหมดไปกับการทำกิจกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะต่างๆ ของนักเรียน

แต่ปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์โควิด การเรียนออนไลน์จึงถูกคาดหวังโดยปริยายให้เป็นยิ่งกว่า ‘ตัวช่วย’ แต่ต้องเป็น ‘ตัวแทน’ ที่จะถูกใช้ ‘ทดแทน’ (substitute) การเรียนการสอนของคุณครูในโรงเรียน ซึ่งหากว่ากันตามความเป็นจริง (อย่างน้อยก็ในวันนี้) การเรียนออนไลน์ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ นอกจากปัจจัยเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ยังไม่ครอบคลุมนักเรียน 100% จนทำให้กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักเป็นกลุ่มเดียวกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างลำบาก มีความเสี่ยงที่จะเรียนไม่ทันเพื่อนและอาจตกหล่นออกจากระบบการศึกษามากขึ้น นอกจากนั้น เรื่องที่ใหญ่ไม่แพ้กันคือประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง การเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนร่วมห้อง และผ่านการใช้ชีวิตในสังคมที่หลากหลายในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ยากที่จะถ่ายทอดผ่านการเรียนออนไลน์

ดังนั้น แม้โควิดอาจทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีในแวดวงต่างๆ มากขึ้น แต่ในส่วนของการศึกษา เป้าหมายหลักในโลกหลังโควิด คงไม่ใช่การนำเทคโนโลยีมา ‘แทนที่’ ครูหรือโรงเรียน แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมา ‘ช่วยเสริม’ การเรียนการสอนโดยคุณครูที่โรงเรียน

เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวกระโดดแค่ไหน ตราบใดที่มนุษย์ยังเห็นตรงกันว่าสังคมหนึ่งจำเป็นต้องมีสถานที่สำหรับเด็กในการเติบโตทั้งทางความรู้ ทักษะ จิตใจ และทัศนคติต่อสังคม ‘โรงเรียน’ ก็จะยังคงเป็นสถานที่ที่มีความหมายอย่างมากสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างอนาคตของประเทศที่ยึดถือ ‘คุณค่า’ บางประการตามที่แต่ละสังคมจะร่วมกันกำหนด

ณ จุดนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่านลองนึกถึงภาพห้องเรียนในโรงเรียนที่ท่านเคยนั่ง

ลองสังเกตว่าท่านอยู่ในห้องเรียนวิชาอะไร ระดับชั้นไหน

ในห้องเรียนห้องนั้น มีอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะบนโต๊ะ บนเพดาน หรือตรงผนังห้อง

ลองมองไปรอบตัว คุณครูที่อยู่ในห้องกำลังสอนเรื่องอะไร เพื่อนๆ ของท่านกำลังทำอะไรกันอยู่

ขอให้ทุกท่านเก็บภาพที่เห็นเมื่อสักครู่ไว้ดีๆ และมาร่วมกันหาคำตอบว่าสิ่งของและเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในภาพ กำลังบอกว่าห้องเรียนและโรงเรียนของท่าน ยืนหยัดอยู่เพื่อคุณค่าอะไร

“What does your SCHOOL stand for?”

ถ้าให้ผมทำกิจกรรมนี้มากกว่า 1 ครั้ง ผมคงเห็นภาพที่ไม่เหมือนกันเลยในแต่ละครั้ง

ในมุมหนึ่ง อาจเป็นเพราะตัวผมผ่านระบบการศึกษามาทั้งหมด 3 ระบบ

แต่ในอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นเพราะแต่ละอาชีพหรือกิจกรรมที่ผมเคยทำ ไม่ว่าจะตอนเป็นพนักงานที่บริษัท McKinsey ตอนเป็นทหารเกณฑ์ ตอนลงสมัครรับเลือกตั้ง ตอนเขียนหนังสือ ตอนล่ารายชื่อรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือตอนนี้ที่หันมาทำสตาร์ทอัพด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน StartDee ทุกประสบการณ์ในชีวิต ก็เปรียบเสมือน ‘ห้องเรียน’ ที่ได้สอนทักษะและมุมมองใหม่ๆ ให้ผมเสมอ

ความจริง เหตุผลที่ผมตัดสินใจมาทำงานด้านการศึกษา ณ วันนี้ ก็มาจากความเชื่อว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนประเทศได้

แทบจะทุกปัญหาที่ประเทศเราเผชิญอยู่ตอนนี้ ล้วนมีต้นตอส่วนหนึ่งจากปัญหาการศึกษา

และแทบจะทุกปัญหาที่ประเทศเราเผชิญอยู่ตอนนี้ ทางออกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การศึกษาเช่นกัน

ถ้าเราอยากเห็นเศรษฐกิจของประเทศเติบโตและประชาชนมีรายได้สูงขึ้น เราต้องออกแบบหลักสูตรของระบบการศึกษาให้ช่วยพัฒนาทักษะที่สอดรับกับตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อให้พวกเราสามารถหางานทำและสร้างงานหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

ถ้าเราอยากเห็นประเทศนี้มีความเหลื่อมล้ำน้อยลง คนรวยและคนไม่รวยมีช่องว่างระหว่างกันที่แคบลงกว่านี้ เราก็ต้องแก้ที่ต้นตอของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนหนึ่งเนื่องจากเด็กแต่ละคนเข้าถึงการศึกษาที่คุณภาพต่างกันราวฟ้ากับเหว

แต่การศึกษา ยังมีอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญต่อประเทศ นั่นคือการช่วยกำหนดค่านิยมให้สังคมเราเป็นสังคมที่น่าอยู่

ผมเชื่อว่าไม่ว่าเราอยากจะเห็นค่านิยมอะไรก็ตามในสังคม เช่น ค่านิยมที่โอบรับความหลากหลาย ค่านิยมที่เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือค่านิยมที่มองคนเท่ากัน ค่านิยมและบรรยากาศที่เรากำหนดร่วมกันในโรงเรียนหรือห้องเรียนนี่แหละ จะแปรร่างมาเป็นค่านิยมและบรรยากาศในสังคมที่เราอาศัยอยู่

ผมพูดเสมอมาว่า ถ้าคุณอยากเข้าใจว่าแต่ละประเทศทั่วโลกมีวัฒนธรรมหรือค่านิยมแบบไหน สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการลองเข้าไปสังเกตบรรยากาศห้องเรียนในประเทศนั้น

ถ้าคุณมองเข้าไปในห้องเรียนในประเทศอย่างเกาหลีเหนือ

คุณอาจจะเห็นคุณครูยืนอยู่บนแท่นและพูดลงไปหานักเรียน นักเรียนอาจจะนั่งเป็นแถวๆ เรียงกัน ทุกคนหันหน้าเข้าหาคุณครู บางครั้งอาจมีการเอากำแพงมากั้นระหว่างนักเรียนเพื่อไม่ให้หันมาคุยกัน ถ้าคุณแอบเข้าไปฟังสักหนึ่งคาบเรียน คุณอาจจะไม่ได้ยินเด็กพูดสักคำ

แต่ถ้าคุณมองเข้าไปในห้องเรียนของประเทศแถบยุโรปตะวันตก คุณอาจจะเห็นการจัดโต๊ะและเก้าอี้เป็นวงกลมเล็กๆ หลายวง เพื่อให้เด็กๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน บางครั้งคุณครูอาจนั่งอยู่ตรงกลางห้องและล้อมรอบโดยนักเรียน ถ้าคุณแอบเข้าไปฟังหนึ่งคาบเรียน อาจจะได้ยินครูพูดสักครึ่งหนึ่ง เด็กๆ พูดอีกครึ่งหนึ่ง

สำหรับไทย ผมเชื่อว่าเราตอบได้ทันทีว่าห้องเรียนของเราใกล้เคียงประเทศไหน แต่คำถามที่สำคัญคือ ห้องเรียนแบบที่ว่านี้ กำลังกำหนดค่านิยมแบบไหนให้กับสังคมเรา

นอกจากที่ คสช. พยายามยัดเยียดค่านิยม 12 ประการให้นักเรียนไทยตั้งแต่เข้าสู่อำนาจเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมมองว่าโรงเรียน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยังมีการกำหนดค่านิยมที่สร้างปัญหาให้กับห้องเรียน และแปลงร่างมาเป็นปัญหาของสังคมในภาพกว้าง รวม 6 ประเภทปัญหา สะกดออกมาเป็นคำว่า ‘SCHOOL’ (ที่แปลว่า โรงเรียน ในภาษาอังกฤษ)

ค่านิยมที่เป็นปัญหาที่ 1 คือ S = single answer หรือการยัดเยียดให้ทุกคำถามต้องมีคำตอบแบบเดียว

ถ้าเราสังเกตดีๆ การศึกษาไทยมักสอนเราว่าทุกคำถามนั้น มีคำตอบเดียวที่ถูกต้อง ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่

แทบจะทุกข้อสอบที่เราเจอ ไม่ว่าระดับชั้นไหน ไม่ว่าวิชาไหน มักเป็นข้อสอบ multiple choice หรือปรนัย ที่ให้กาข้อเดียวที่ถูกต้อง ก ข ค ง

ถ้าเป็นข้อสอบเลข ผมยังพอเข้าใจได้ แต่ประเทศไทยเราใช้ข้อสอบ multiple choice กับทุกวิชาจริงๆ เมื่อหลายปีที่แล้ว เราเคยมีข้อสอบ O-NET ม.6 ที่ถามว่า “หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา จะต้องทำอย่างไร” ระหว่าง ชวนเพื่อนไปเตะบอล / ชวนเพื่อนไปดูหนัง / ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ / ปรึกษาครอบครัว / พยายามนอนให้หลับ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ไม่แน่ใจว่าผมคิดมากไปไหม คือแม้กระทั่งการสอนภาษาอังกฤษสมัยผมเด็กๆ จำได้ว่าเวลาคุณครูเข้ามาในห้องและถามเด็กๆ ว่า “Good morning students, how are you today?” ไม่ว่าเราจะขาหัก เป็นหวัด ปวดท้อง เราก็เหมือนถูกคาดหวังว่าต้องตอบว่า “I am fine thank you.” เท่านั้นถึงจะถูก

นอกจากจะพยายามสอนว่าทุกคำถามมีแค่คำตอบเดียว การศึกษาไทยยังสอนเราอีกว่า ทุกความสำเร็จมีเพียงสูตรเดียว

ถ้าคุณอยากให้คุณครูรัก คุณก็ต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง

ถ้าคุณเรียนเก่งตอน ม. ต้น คุณก็ต้องเรียน วิทย์-คณิต ตอน ม.ปลาย

ถ้าคุณเรียนเก่งตอน ม.ปลาย คุณก็ต้องสอบเข้าหมอ หรือ วิศวะ

ผมยังจำได้ว่ามีอยู่ปีหนึ่ง มีน้องคนหนึ่งสอบได้อันดับ 1 ของประเทศและเลือกเรียนต่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่แทนที่คนจะถามเขาถึงความฝันหรือความชอบของเขา กลับมีหลายคนไปตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่เลือกเรียนหมอหรือวิศวะ

หรือกรณีที่บางโรงเรียนมักขึ้นป้ายแสดงความชื่นชมต่อนักเรียนที่สอบติดแค่บางคณะ หรือแค่บางมหาวิทยาลัย

ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ พอระบบเราสอนว่าความสำเร็จหรือคำตอบที่ถูกต้องในชีวิต มีแค่เส้นทางเดียว มันจึงทำให้เกิดปราฏการณ์ที่ว่า

ในมุมหนึ่งคนที่เรียนไม่ ‘เก่ง’ (ในความหมายแคบที่ระบบการศึกษาวางไว้) ก็ขาดกำลังใจในการเรียนต่อและหลุดออกจากระบบการศึกษา

แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา ก็อาจไม่ได้ค้นพบตัวเอง เพราะค่านิยมของระบบการศึกษาไปกำหนดทางเดินให้เขาหมดแล้วว่าต้องเรียนอะไร ทำอาชีพอะไร และทำให้เขาจบออกไปโดยไม่มีเวลาได้หาคำตอบให้ตัวเองว่าอยากทำอะไร

ค่านิยมที่เป็นปัญหาที่ 2 คือ C = corruption หรือ การทุจริต

ปฏิเสธไม่ได้ ว่าประเทศไทยมีปัญหาการทุจริตในทุกยุคสมัย

ในการจัดลำดับ ดัชนีภาพลักษณ์การทุจริต โดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติเมื่อปีที่แล้ว ประเทศสอบตก ได้คะแนนเพียง 36 เต็ม 100 และเข้ามาเป็นอันดับที่ 104 จาก 179 ประเทศ

หลายคนมักออกมาพูดว่า ทางออกของปัญหานี้อยู่ที่การปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งก็ไม่ผิดไปทั้งหมด

แต่การปลูกฝังจิตสำนึกจะมีความหมายอะไร ถ้าในทุกๆ วันที่เด็กถูกปลูกฝังว่า ‘โตไปไม่โกง’ แต่การโกงกลับเกิดขึ้นในทุกห้วงเวลาและทุกตารางเมตรรอบตัวเขา แม้แต่ในรั้วโรงเรียน

ตั้งแต่ตอนเลือกโรงเรียน หลายโรงเรียนก็เลือกที่จะฉวยโอกาสจากความหวังดีของพ่อแม่ โดยการขายที่นั่งในโรงเรียนผ่านการคิดค่าแป๊ะเจี๊ย ในขณะที่หลายโรงเรียนก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการหล่อเลี้ยงระบบอุปถัมภ์โดยการเปิดให้มีการฝากเข้าเรียนผ่านการใช้เส้นสาย

ในวันก่อนเข้าเรียน นักเรียนบางโรงเรียนถูกบังคับให้ซื้อชุดนักเรียนและกระเป๋านักเรียนจากร้านค้าเพียงร้านเดียวที่เจ้าของร้านสนิทกับ ผอ. ทั้งๆ ที่ราคาของในร้านนั้นดูสวนทางกับคุณภาพ

พอเข้าเรียนแล้ว บางโรงเรียนก็มีการโกงงบอาหารกลางวัน จนทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างที่ควรจะได้

และเมื่อเด็กมองไปที่ครู ด้วยความหวังว่าครูจะเป็นแสงนำทางให้เขาเห็นตัวอย่างว่า ‘ความไม่คดโกง’ เป็นอย่างไร ครูบางคนกลับไม่ยอมถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดที่ตัวเองมีให้กับนักเรียนในคาบเรียน เพราะหวังจะกั๊กส่วนหนึ่งไปเก็บไว้สอนพิเศษหลังเลิกเรียนที่ตัวเองคิดเงินเด็กได้

พอโรงเรียนทำให้เด็กเห็นการทุจริตอยู่ในทุกๆ วัน ก็อย่าแปลกใจกันเลยครับว่าทำไมประเทศเราถึงมีการทุจริตทุกรูปแบบเต็มไปหมด และทำไมประชาชนมักมองว่าการจ่ายสินบนและการโกงนั้นเป็นเรื่องปกติ

ตัวชี้วัดการคอร์รัปชันทั่วโลกในปีที่ผ่านมา (Global Corruption Barometer 2020) รายงานว่า 24% ของคนไทยมีการจ่ายสินบนเพื่อบริการสาธารณะ และ 27% ของคนไทยมีการใช้เส้นสายในการรับบริการสาธารณะ

ค่านิยมที่เป็นปัญหาที่ 3 คือ H = hierarchy ที่หมายถึง ลำดับชนชั้น หรือ ความเหลื่อมล้ำ

ในขณะที่โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ที่สอนเรื่องความเสมอภาค และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แต่โรงเรียนไทยกลับเป็นเหมือนศูนย์รวมความเหลื่อมล้ำและการแบ่งชนชั้นในสังคม

สำหรับความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน เราเห็นถึงช่องว่างที่กว้างมากในส่วนของคุณภาพการสอนและประสบการณ์การเรียนของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน

ในขณะที่โรงเรียนชั้นนำผลิตนักเรียนที่เป็นถึงแชมป์โลกและคว้าเหรียญโอลิมปิกวิชาการต่างๆ แต่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล มีนักเรียนเกินครึ่งที่ไม่สามารถอ่านหนังสือและจับใจความเนื้อหาได้ หรือที่ธนาคารโลกนิยามว่า ‘functionally illiterate’

ในขณะที่บางโรงเรียนตามหัวเมือง มีการแจก iPad ให้กับเด็กทุกคน แต่โรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงเรียนยังมีคุณครูไม่พอสำหรับทุกระดับชั้น จนทำให้เด็ก ป.1 – ป.2 – ป.3 ต้องแบ่งครูคนเดียวกัน

ตอนผมไปร่วมงานบรรยายครั้งหนึ่งที่ปัตตานี มีน้องคนหนึ่งลุกขึ้นพูดเกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยเขาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าหดหู่ว่า เขาขอพักความฝันที่ว่าครูในทุกโรงเรียนจะมีความสามารถเท่ากัน หรือความฝันที่ว่าทุกโรงเรียนจะมีห้องคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนไว้ก่อน เพราะตอนนี้ขอแค่ให้ทุกโรงเรียนมีห้องส้วมที่สะอาดเท่ากัน เขาก็พอใจแล้ว

แต่นอกจากความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่เราอาจพอเข้าใจได้ว่าเป็นผลผลิตของโครงสร้างระดับประเทศที่มีปัญหา แต่ความเหลื่อมล้ำหรือการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยยังแทรกซึมลงไปในระดับที่เล็กกว่านั้น คือระหว่างคุณครูกับนักเรียน

ถ้าเราลองไปคุยกับนักเรียนที่ผ่านระบบการศึกษาไทย ถามว่าเขาเคยเห็นครูใช้ ‘สถานะที่เหนือกว่า’ เพื่อลัดคิวซื้อของหรือซื้ออาหารบ้างหรือไม่ ผมเชื่อว่าจำนวนมากจะตอบว่าเคย หรือถ้าจะให้พูดถึงเรื่องส้วมอีกครั้งหนึ่ง หลายคนอาจบอกว่าความสะอาดของห้องน้ำครูและห้องน้ำนักเรียน ช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเจอทุกครั้งเวลาไปบรรยายตามโรงเรียน และรู้สึกคาใจเป็นการส่วนตัว คือการจัดสรรที่นั่งในหอประชุม

ในขณะที่เด็กทุกคนต้องนั่งเรียงกันบนพื้นแข็งๆ แต่ในห้องมักจะมีโซฟาตัวใหญ่หนึ่งตัวที่ผมจะถูกเชิญไปนั่งรอในฐานะวิทยากร

ผมจะรู้สึกไม่สบายใจทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์นี้ แต่เพื่อไม่ให้ขัดมารยาทของครูที่โรงเรียน ผมจึงพยายามเลี่ยงโดยการทำเป็นไปเดินรอบๆ สังเกตบรรยากาศด้านหลัง แต่ก็แอบอดคิดไม่ได้ทุกครั้งว่าน่าจะมีการจัดที่นั่งที่ทำให้ครู วิทยากร และ นักเรียน อยู่ในระดับที่เท่ากันได้

พอมันมีความเหลื่อมล้ำและลำดับชนชั้นเต็มไปหมดในโรงเรียนแบบนี้ ก็อย่าแปลกใจไปเลยครับที่เรายังอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ที่มองว่าคุณ ‘เป็นลูกใคร’ สำคัญกว่า ‘คุณทำอะไร’ และสังคมที่เต็มไปด้วยทัศนคติที่มองคนไม่เท่ากัน

ค่านิยมที่เป็นปัญหาที่ 4 คือ O = obedience ที่หมายถึง การเชื่อฟัง

โรงเรียนมักสอนว่า เด็กดีต้องมีหน้าที่เชื่อฟัง

การทำตามกฎระเบียบไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป หากกฎระเบียบนั้นมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าเมื่อทำตามแล้วจะส่งผลดีอย่างไร แต่หลายครั้ง ห้องเรียนไทยไม่ได้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับการตั้งคำถามหรือความสงสัย ทำให้สถานะของคุณครูในบางครั้ง ถูกยกเป็นเหมือน ‘เทวดา’ ที่สั่งเด็กทุกคนให้ ‘หลับหูหลับตาเชื่อฟัง’

พอเด็กจะยกมือถาม ก็โดนกล่าวหาว่าไม่ตั้งใจเรียน ท้าทาย ก้าวร้าว

พอครูลงโทษเด็กเกินขอบเขตถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ครูก็จะอ้างว่าทำไปเพราะ ‘หวังดี’

พอเด็กจะลุกขึ้นมาสู้หรือเปิดโปงเหตุการณ์ใด โรงเรียนก็มักจะเข้ามาห้ามด้วยข้ออ้างว่า “จะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง”

พฤติกรรมเหล่านี้ เลยทำให้เราประเมินยากมากว่าความรุนแรงต่อนักเรียนที่เราเห็น เช่น กรณีโรงเรียนสารสาสน์เมื่อปีที่แล้วและในอีกหลายโรงเรียนที่เป็นข่าว ความจริงแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในอีกหลายที่ด้วยหรือไม่ เพียงแต่ยังไม่ถูกเปิดโปงออกมา

ถ้าถามว่าปัญหานี้ แปรไปเป็นปัญหาอื่นในสังคมอย่างไร ผมอยากจะแชร์ประสบการณ์ของผมตอนไปคุยกับกลุ่มผู้หญิงที่สมัชชาสตรีแห่งหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีก่อน

จำได้ว่าตอนผมถามผู้หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมว่าพวกเธอเจอปัญหาอะไรบ้างที่บ้าน ไม่มีใครสักคนที่ยกมือพูดถึงปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว แต่เมื่อเราถามว่าเคยเจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัวบ้างหรือไม่ โดยให้เขียนลงกระดาษเพื่อจะไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เกินครึ่งเขียนกลับมาว่าเคย

ถ้าเราสร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่ปิดกั้นไม่ให้เด็กออกมาเปิดโปงเวลาครูทำผิด เพราะถูกสอนว่า “ครูตีเพราะรัก” และถูกเตือนว่า “จะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง” เด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ที่พอถูกสามีทำร้าย ก็อาจไม่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือเพราะถูกกล่อมว่า “เขาตีเพราะรัก” และกังวลว่า “จะทำให้ครอบครัวเสียชื่อเสียง”

ถ้าเรายังปิดกั้นไม่ให้เด็กตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เราก็จะมีสังคมที่ไม่กล้าตั้งคำถามหรือต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเขาหรือคนรอบตัวในประเทศ

ค่านิยมที่เป็นปัญหาที่ 5 คือ O = outdated ที่หมายถึง ความล้าหลัง

ตั้งแต่ยุคคุณพ่อคุณแม่ มาถึงยุคผม และมาถึงยุคน้องๆ ที่อยู่ในโรงเรียนตอนนี้ โรงเรียนไทยมีกฎระเบียบหลายอย่างที่อาจล้าหลังและไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมที่ต้องไม่เกินกี่นิ้ว สีผมที่ต้องดำล้วน ถุงเท้าที่ต้องเป็นสีเดียว ความเข้มงวดเรื่องเครื่องแบบนักเรียนที่ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบแบบเป๊ะๆ

แม้แต่ในช่วงโควิดที่เราคาดหวังว่าการปรับตัวเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ น่าจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือคุณครูบางส่วน (ที่ก่อนหน้านี้อาจเคยใช้เวลาไม่น้อยไปกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา) ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาการเรียนการสอนมากขึ้น แต่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น บางโรงเรียนไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใดๆ เราจึงได้เห็นข่าวสถานศึกษาบางแห่งกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบเพื่อเคารพธงชาติ สวดมนต์ แล้วถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปส่ง ระหว่างการเรียนออนไลน์

กฎระเบียบเหล่านี้ ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในตัวมันเอง แต่ยังเป็นปัญหาในการไปเปิดช่องโหว่หรือพื้นที่ให้คุณครูเคร่งครัดกับกฎระเบียบและเสียเวลามากเกินไปในการจับผิดและลงโทษนักเรียน (เช่น ครูของวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ลงสตอรีภาพคอมเมนต์นักเรียนที่วิจารณ์และต่อต้านกฎทรงผม) จนลืมหน้าที่อื่นที่สำคัญกว่า โดยเฉพาะการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

วัฒนธรรมที่รองรับให้กฎระเบียบที่ล้าหลังเหล่านี้ยังคงอยู่ได้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ล้าหลังและไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเช่นกัน

เช่น ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งโดยหลักการเป็นเรื่องของ ‘สิทธิเสรีภาพ’ และ ‘ความเสมอภาค’ ที่ควรถูกคุ้มครองในทุกประเทศทั่วโลกในทุกยุคทุกสมัย

ในขณะที่สังคมโลกเริ่มมีความเข้าใจในประเด็นนี้ในทิศทางที่ก้าวหน้าขึ้น แต่ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในรั้วโรงเรียนไทยกลับยังคงเป็นปัญหาที่มีอยู่อย่างรุนแรงและเรื้อรัง ถึงขั้นที่ครูบางคนยังมีการใช้คำพูดในเชิงดูถูกเหยียดหยาม สร้างบาดแผลในจิตใจเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงบางโรงเรียนที่ประเมินให้เด็กที่เป็น LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่มี ‘พฤติกรรมที่มีปัญหา’

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือ กฎหมายการเกณฑ์ทหารที่บังคับชายไทยกว่า 100,000 คนทุกปี ให้ทิ้งความฝันและห่างครอบครัวของเขาเป็นเวลา 2 ปี ด้วยข้ออ้างจากกองทัพว่าจำเป็นต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งๆ ที่ทหารเกณฑ์หลายคนถูกให้ไปทำงานเป็นทหารรับใช้ ที่ไม่ได้ช่วยให้ประเทศปลอดภัยขึ้น

ทั้งๆ ที่กองทัพเองก็ทราบว่าในโลกทุกวันนี้ ต่อให้มีกำลังพลขนาดใหญ่แค่ไหน ก็อาจช่วยอะไรไม่ได้มาก เมื่อภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว

และทั้งๆ ที่ในค่ายทหารยังมีการธํารงวินัยเกินขอบเขต ที่อาจทำให้บางคนเสียชีวิตและไม่ได้ออกมาเห็นหน้าลูกหรือหน้าภรรยาของเขาอีก

ดังนั้น ถ้าแม้แต่กฎระเบียบในโรงเรียนยังล้าหลัง (ทั้งที่ควรจะปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก) ก็อย่าไปหวังว่ากฎหมายในระดับประเทศ จะหลุดพ้นความล้าหลังไปได้

ค่านิยมที่เป็นปัญหาที่ 6 คือ L = lies limited truth ที่หมายถึง ความจริงครึ่งเดียว

ระบบการศึกษาไทย มีปัญหาเกี่ยวกับการสอนวิชาสังคม และวิชาประวัติศาสตร์

ผมเคยถามทีมคุณครูสังคมที่บริษัทผมเกี่ยวกับประเด็นนี้ พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหลักสูตรปัจจุบัน มักสอนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยการนำเสนอความจริงเพียงด้านเดียว

ในมุมมองผม ต้นเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการเข้าใจผิดว่า วัตถุประสงค์หรือคุณค่าของการสอนประวัติศาสตร์คืออะไร

ในขณะที่เป้าหมายของการสอนประวัติศาสตร์ ควรเป็นการฝึกเด็กให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจำเป็นต้องให้เด็กได้เข้าถึงชุดข้อมูลที่ครบถ้วนและหลากหลาย เพื่อฝึกในการเปรียบเทียบ แยกแยะ และประเมินความน่าเชื่อถือของชุดข้อมูลต่างๆ

แต่เป้าหมายของการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไทย กลับเป็นการพยายามกล่อมให้เด็กไทยรักชาติแบบผิดๆ โดยการเล่าแต่เรื่องดีๆ ของประเทศให้เด็กฟัง แต่ไม่ได้เชิญชวนให้เราได้มาร่วมถอดบทเรียนจากความผิดพลาดของบรรพบุรุษในอดีต

การปลูกฝังความคิดแบบนี้ เลยทำให้เราอยู่ในสังคมที่ผู้นำมักหลีกหนีความจริง และทำให้ความอยุติธรรมในอดีตไม่ได้ถูกสะสาง

ตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีผู้เสียชีวิตนับสิบ​และผู้บาดเจ็บนับร้อย แม้โศกนาฏกรรมครั้งนั้น จะเป็นเรื่องที่สะเทือนจิตใจและสร้างบาดแผลแก่สังคมอย่างมหาศาล​ แต่กลับมีพื้นที่ในตำราเรียนของเด็กไทยเพียงไม่กี่บรรทัด​

อย่างไรก็ตาม ด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีที่กว้างขวางมากขึ้น แหล่งข้อมูลจึงไม่ถูกผูกขาดอยู่ที่ตำราเรียนของกระทรวงเพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนไทยจำนวนมากกลับสามารถค้นหาข้อมูลที่แตกต่างไปจากตำราเรียนได้ และเกิดการตั้งคำถามว่าข้อมูลชุดใดกันแน่ที่เป็น ‘ความจริง’

ทั้งหมดนี้ จึงส่งผลให้สิ่งที่ระบบการศึกษาไทยพยายามปลูกฝังแก่เด็กและเยาวชนมาตลอดในเรื่องต่างๆ เริ่มถูกสั่นคลอน

แม้กระทั่งความพยายามของระบบการศึกษา ในการปลูกฝังให้นักเรียนมีความรักและภาคภูมิใจในสถาบัน ‘ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์’ (ค่านิยมที่ 1 จาก ค่านิยม 12 ประการของ คสช.) ก็ถูกตั้งคำถามอย่างแพร่หลายจากคนรุ่นใหม่

ความจริงแล้ว การที่หลักสูตรสังคมศึกษาของไทยไม่สามารถอธิบายความสำคัญของ 3 สถาบันหลักให้เชื่อมโยงกับโลกสมัยใหม่ได้ คงไม่ใช่เรื่องความสามารถของผู้เขียนหลักสูตรเท่านั้น แต่อาจเป็นเพราะในกระแสระดับโลก การเปลี่ยนแปลงและค่านิยมของโลกสมัยใหม่ก็มีหลายส่วนที่สวนทางกับ 3 สถาบันนี้โดยธรรมชาติ

เพราะในขณะที่การศึกษาไทยปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้น เทคโนโลยีและสื่อโซเชียลกลับทำให้เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศจางลงและการเข้าถึงสังคมนานาชาติง่ายขึ้น ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาตั้งคำถามถึงความสำคัญของ ‘ชาติ’ และนิยามตัวเองว่าเป็น ‘พลเมืองโลก’ (global citizenship) มากกว่าคนของชาติใดชาติหนึ่ง อย่างที่เห็นในปรากฏการณ์ย้ายประเทศ และในความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ต่อข่าวสารต่างประเทศที่กระทบอุดมการณ์ของพวกเขา (เช่น การทำรัฐประหารที่เมียนมา)

เพราะในขณะที่การศึกษาไทยปลูกฝังว่าทุกคนต้องมีศาสนา (หรืออย่างน้อยปลูกฝังว่าการนับถือศาสนาเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็น ‘คนดี’) แต่รูปแบบการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ศาสนาในฐานะที่พึ่งทางจิตใจ อาจมีบทบาทน้อยลงสำหรับคนรุ่นใหม่ กระแสนี้ในประเทศไทยก็มีความสอดคล้องกับกระแสทั่วโลกที่จำนวนคนที่ไม่นับถือศาสนาในปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 ล้านคน สูงกว่าจำนวนพุทธศาสนิกชนเสียอีก

ในขณะที่การศึกษาไทยปลูกฝังเรื่องความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ มักยึดอยู่บนพื้นฐานของหลักการว่าคนทุกคนเป็น ‘คนเท่ากัน’ เกิดมามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และต้องเสมอภาคกันตามกฎหมาย พวกเขาจึงเริ่มตั้งคำถามว่าควรวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรให้สามารถสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

ผมไม่รู้ว่าหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในอนาคต จะเขียนถึงประเทศไทยในช่วงเวลานี้ไว้อย่างไร แต่ตราบใดที่เรายังมีรัฐธรรมนูญ ที่ยอมให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร มาเลือกนายกฯ มาแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนญและองค์กรอิสระ และมาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ก็อย่าเขียนลงในหนังสือประวัติศาสตร์ให้เด็กรุ่นหลังเข้าใจผิดว่าประเทศเราเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ทั้งที่มันไม่ใช่ความจริง

S = single answer (การยัดเยียดให้ทุกคำถามต้องมีคำตอบแบบเดียว)

C= corruption (การทุจริต)

H = hierarchy (ลำดับชนชั้น หรือ ความเหลื่อมล้ำ)

O = obedience (การเชื่อฟัง)

O = outdated (ความล้าหลัง)

L = lies limited truth (ความจริงครึ่งเดียว)

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นค่านิยมในโรงเรียน 6 อย่าง ที่ผมมองว่าได้แปรมาเป็นปัญหาต่อทั้งระบบการศึกษาไทยและต่อสังคมในวงกว้าง

ตราบใดที่ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกแก้ไขในรั้วโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้ก็จะยังไม่หายไปจากสังคมไทย

เพราะความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นในโรงเรียน ก็จะแปรไปเป็นความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นในสังคม

เพราะการทุจริตที่เราเห็นในโรงเรียน ก็จะแปรไปเป็นการทุจริตที่เราเห็นในสังคม

เพราะความล้าหลังที่เราเห็นในโรงเรียน ก็จะแปรไปเป็นความล้าหลังที่เราเห็นในสังคม

แต่ที่เขียนถึงปัญหามาทั้งหมดนี้ ผมไม่อยากให้ทุกท่านหมดหวัง เพราะถึงแม้การเปลี่ยนค่านิยมของทั้งประเทศ อาจต้องอาศัยทั้งเวลา ทั้งพลังประชาชนอย่างมหาศาลและรัฐบาลที่เข้าใจในหลักประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนค่านิยมในห้องเรียนและในโรงเรียนเป็นสิ่งที่พวกเราลุกขึ้นมาทำกันได้เองโดยไม่ต้องรอใคร

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน ที่พร้อมจะร่วมเป็นหูเป็นตาต่อการทุจริตในโรงเรียน

ไม่ว่าคุณจะเป็นคุณครู ที่พร้อมเปิดให้เด็กตั้งคำถามได้ แม้กับเรื่องที่ไม่ได้ถูกเขียนในตำราเรียน

ไม่ว่าคุณจะเป็น ผอ.โรงเรียน ที่พร้อมยกเลิกทุกกฎระเบียบที่ล้าหลัง

หรือไม่ว่าคุณจะเป็นรุ่นพี่ ศิษย์เก่า หรือผู้ปกครอง ที่พร้อมออกมาปกป้องเด็กจากการถูกลงโทษที่เกินขอบเขต

ผมเชื่อว่า ถ้าเราทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้ห้องเรียนและโรงเรียนของเรายืนหยัดเพื่อค่านิยมที่เราใฝ่ฝันอยากจะเห็นในสังคมไทย อีกไม่นานความฝันเราจะเป็นจริง

ถ้าเราอยากเปลี่ยนประเทศ ผมจึงขอเชิญชวนทุกคนให้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนโรงเรียนของเรา

และถ้าใครกังวลว่าเปลี่ยนโรงเรียนเดียวแล้วจะเปลี่ยนทั้งประเทศได้อย่างไร ผมขอให้ทุกคนนึกถึงหน้าของเด็กๆ ในห้องเรียนที่เรากำลังจะเข้าไปเปลี่ยน

เด็กคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเรียนนั้น อาจจะโตขึ้นไปเป็น ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่เป็นอีกยูนิคอร์นของประเทศไทย เพียงเพราะเขาไม่ได้เสียกำลังใจจากการสอบตกวิชาฟิสิกส์ ตอน ม.ปลาย

เด็กคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเรียนนั้น อาจจะโตขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่มีความหลากหลายทางเพศ เพียงเพราะเขาไม่เสียกำลังใจ จากการโดนครูต่อว่าด้วยความเชื่อแบบผิดๆ ว่าสิ่งที่เขาเป็นนั้น ‘ผิดปกติ’

เด็กคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเรียนนั้น อาจจะโตขึ้นไปเป็นผู้พิพากษาที่พร้อมปฏิเสธสินบนจากนักธุรกิจใหญ่ที่พยายามจะช่วยลูกเขาที่เมาแล้วขับรถชนคนตายให้รอดจากคดี เพียงเพราะโรงเรียนของเขา พร้อมไล่ ผอ. ที่ทุจริตออก และไม่ทำให้การโกงเป็นเรื่องปกติ

เด็กคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเรียนนั้น อาจจะโตขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกที่บอกว่าพอแล้วกับการที่ทหารมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยอ้างว่า ‘ทำเพื่อชาติ’ เพียงเพราะเขาเรียนรู้ในห้องเรียนประวัติศาสตร์ว่ารัฐประหารไม่เคยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน

ผีเสื้อหลายตัวกระพือปีกพร้อมกัน ยังก่อกำเนิดพายุได้

และทำไม ถ้าเราแต่ละคนช่วยกันเปลี่ยนห้องเรียนและโรงเรียนของเรา ทำไมเราจะร่วมกันเปลี่ยนอนาคตของประเทศนี้ไม่ได้

ปีการศึกษานี้ มาพลิกโรงเรียน เพื่อพลิกประเทศกันครับ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save