fbpx
คำถามที่เพิ่งเจอคำตอบ - จากการเมือง สู่การศึกษา

คำถามที่เพิ่งเจอคำตอบ – จากการเมือง สู่การศึกษา

พริษฐ์ วัชรสินธุ เรื่อง

 

“คุณไอติม จะให้เราใส่ตำแหน่งใต้ชื่อคุณไอติมว่าอะไรคะ? ตกลงคุณไอติมยังเป็นนักการเมืองอยู่ไหม?”

คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมเจอจากผู้จัดงานหรือทีมงาน ทุกครั้งก่อนผมให้สัมภาษณ์ตามรายการหรือเวทีต่างๆ แต่คำถามนี้เป็นเป็นคำถามที่ผมไม่รู้ว่าควรจะตอบอย่างไรมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

ส่วนหนึ่งของความยากอาจจะมาจากความดื้อส่วนตัว ที่มองว่าคนเราควรถูกตัดสินจากสิ่งที่เขาพูดหรือทำ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นใครหรือมีตำแหน่งอะไร

แต่อีกส่วนหนึ่งของความยาก ก็มาจากการที่ผมตอบคำถามนี้กับตัวเองไม่ได้มาหลายเดือน หลังจากผมตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อกลางปีที่แล้ว

“…ผมขอยืนยันว่า ความมุ่งมั่นที่อยากจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นความตั้งใจที่จะไม่มีวันจางหาย”

ประโยคทิ้งท้ายของผมในจดหมายลาออก เป็นเหมือนเข็มทิศเตือนสติผมอยู่ตลอดในช่วงเวลานั้น

ผมซื้อเวลาเพิ่มให้ตัวเองในการทบทวนก้าวต่อไป ด้วยการเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นเล่มแรกในชีวิตของผม

“จะกลับเข้าบริษัทเก่าที่เคยทำอยู่ก่อนมาทำการเมืองไหม?”

“ถ้าอยากทำการเมืองต่อ จะทำอย่างไร?”

“หรือจะลองอะไรใหม่ๆ ไปเลย?!”

ความคิดเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวผมเสมอ

แต่สิ่งที่จุดประกายให้ผมตัดสินใจมาทำงานที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ กลับไม่ใช่การนั่งจมอยู่กับความคิดตัวเองตัวคนเดียว แต่มาจากน้องคนหนึ่งที่ผมเจอในงานวันเปิดตัวหนังสือของผม

“มาจากไหนครับวันนี้?” เป็นคำถามที่ผมถามทุกคนที่เข้ามาขอให้ผมเซ็นหนังสือในงาน

“มาจากกำแพงเพชรค่ะ” คือคำตอบของน้องผู้หญิงคนหนึ่ง (ขออนุญาตใช้ชื่อ ‘มะลิ’ เป็นนามสมมติ)

“หวังว่าไม่ได้มาจากกำแพงเพชรเพียงแค่มาร่วมงานเปิดตัวหนังสือพี่นะ เดี๋ยวจะไม่คุ้ม” ผมแซว

หลังจากคุยไปสักพัก ผมก็ได้รู้ว่าน้องมะลิเรียนอยู่ที่โรงเรียนแถวบ้านเกิดในระดับมัธยมปลาย แต่มีความฝันที่อยากจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ เขาย้ายเข้ามาอยู่หอที่กรุงเทพฯ ตัวคนเดียวเป็นเวลา 1 เดือนเต็มช่วงปิดเทอม ไม่ได้เพื่อมาพักผ่อน (หรือมางานหนังสือผม) แต่เขาเข้ามาเพื่อมา ‘เรียนพิเศษ’

เขาเล่าให้ผมฟังว่า ถึงจะเหนื่อยหน่อย แต่เขายืนยันว่าครูที่สอนพิเศษสามารถอธิบายเนื้อหาให้เข้าใจง่ายกว่าครูที่โรงเรียนจริงๆ

“ครูคนนี้ฟังดูเก่งจัง ไปเจอกันที่ไหนครับ?”

“อ๋อ หนูไม่เคยเจอเขาค่ะ หนูเรียนผ่านวิดีโอในคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์ของสถาบัน”

เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับหลายคนที่ยังอยู่ในวัยเรียนหรือเพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาไม่นาน ความจริงแล้วเรื่องทั้งหมดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผม เพราะผมเคยศึกษาประเด็นนี้อยู่บ้างสมัยทำงานด้านนโยบายให้กับทั้งพรรคและบริษัทที่ทำงานเก่า และเคยได้ยินเพื่อนๆ และรุ่นน้องเล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆ

แน่นอนว่าในอุดมคติเราอยากเห็นระบบการศึกษาพัฒนาจนการเรียนเฉพาะในโรงเรียนนั้นเพียงพอสำหรับเด็กนักเรียน โดยที่ไม่ต้องมีใครเห็นถึงความจำเป็นในการไปเรียนพิเศษเพิ่ม

แต่ในวันที่ระบบยังไม่ถึงจุดนั้น ผมก็เข้าใจมุมมองของนักเรียน เช่น น้องมะลิ ที่ไม่สามารถรอได้ และต้องการขวนขวายหาช่องทางการเรียนรู้เสริมนอกห้องเรียน

ผมแค่อดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า ในยุคที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยตลอด การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องเป็นเรื่องที่ยากขนาดนี้เลยเหรอ?

สำหรับน้องมะลิและเด็กส่วนหนึ่งของประเทศ ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายเพื่อแลกการเข้าถึงการเรียนพิเศษ ไม่ได้หมายถึงแค่ ค่าเรียน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ที่รวมกันบางครั้งเฉียดหลักหมื่นหรือหลักแสนต่อปี แต่หมายถึง เวลาที่ต้องเสียไปกับการเรียนเพิ่มเติมช่วงหลังเลิกเรียนหรือช่วงปิดเทอมด้วย (ทั้งๆ ที่ชั่วโมงเรียนในโรงเรียนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว) แทนที่จะได้ใช้เวลานั้นพักผ่อนกับเพื่อนหรือทานข้าวกับครอบครัวที่บ้าน

แต่สำหรับเด็กส่วนมากของประเทศที่ไม่สามารถ ‘จ่าย’ ทั้งหมดนี้ได้ ‘ราคา’ ที่สูงนี้จึงกลายเป็นกำแพงที่ทำให้เขาเสียเปรียบเพื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเป็นกำแพงที่ยังคงอยู่ ตราบใดที่ระบบยังไม่พัฒนาให้คุณภาพการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียนมีความเท่าเทียมกัน

ระหว่างขับรถกลับบ้าน ผมนั่งเถียงกับตัวเองอยู่ตลอด ว่าตกลงเด็กกลุ่มไหน ‘โชคดี’ กว่ากัน ระหว่าง

1. เด็กอย่างน้องมะลิ ที่เข้าถึงการเรียนพิเศษแต่ต้องแลกมาด้วย ‘ราคา’ ที่สูง ทั้งค่าใช้จ่าย เวลา หรือความสุขในวัยหนุ่มสาวที่อาจต้องเสียไป กับ 2. เด็กอีกกลุ่มหนึ่ง (ที่อาจมีจำนวนมากกว่าในประเทศ) ที่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องทั้งหมดนี้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อยู่แล้ว

มาถึงทุกวันนี้ ผมยังหาคำตอบสำหรับคำถามนี้ไม่ได้ แต่นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมได้คำตอบกับตัวเองแล้วว่า สิ่งที่ผมต้องการทำคืออะไร

ถ้าย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ก่อนผมจะเข้ามาทำงานการเมือง ผมมีความเชื่อมาตลอดว่าการศึกษาเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

การเข้าไปทำงานการเมือง ยิ่งตอกย้ำความเชื่อนั้น

หากเราเปรียบประเทศเหมือนเค้กก้อนหนึ่ง ถ้าเราต้องการเห็นเค้กก้อนนั้นโต หรือเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง เราก็ต้องมีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคลากรในประเทศ ให้มีทักษะที่โลกหรือตลาดแรงงานในอนาคตต้องการ

ถ้าเราต้องการเห็นเค้กก้อนนั้นถูกแบ่งให้ทุกคนได้ทานอย่างทั่วถึง หรือสังคมที่เหลื่อมล้ำน้อยลง เด็กทุกคนก็ต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เช่นนั้น คนที่ได้รับการศึกษาที่ดีกว่าก็จะได้รับโอกาสที่ดีกว่าตามมาในชีวิต จนอีกคนไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่อาจขยันหรือมีความสามารถเท่ากัน

ถ้าเราอยากเห็นคนในประเทศไม่ทุจริต เราก็ต้องไม่ทำให้การจ่ายสินบนหรือแป๊ะเจี๊ยะเป็นเรื่องปกติในโรงเรียน จนเป็นภาพจำของเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเรียนรู้

ถ้าเราอยากเห็นคนในประเทศรักษาสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้เห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้

ถ้าเราอยากสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง เราก็ต้องทำให้วัฒนธรรมอำนาจนิยม เช่น การตีเด็ก หรือระบบรับน้องที่เกินเลย หายไปจากระบบการศึกษา

จะเห็นได้ว่า แทบทุกปัญหาที่เราต่อสู้กันอยู่นั้น ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของทางออก

แต่ในวันที่ผมมยังไม่ได้รับโอกาสเข้าไปเปลี่ยนแปลง ‘ระบบ’ การศึกษาผ่านกลไกทางการเมือง ผมเชื่อว่าตัวช่วยที่ผมพอมีอยู่ในมือในฐานะภาคเอกชนหรือประชาชน คือ ‘เทคโนโลยี’

ไม่นานหลังจากวันนั้น ผมตัดสินใจก่อตั้งสตาร์ตอัพด้านการศึกษา ‘StartDee’ ด้วยภารกิจในการนำเทคโนโลยีมาพยายามช่วยให้การศึกษาที่ดีเข้าถึงได้โดยทุกคน

เทคโนโลยีจะช่วยการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน เป็นคำถามที่สำคัญขึ้นทุกวัน ซึ่งยิ่งเห็นได้ชัดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เด็กนักเรียนเกือบ 90% ทั่วโลกไปเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ และทำให้กระทรวงศึกษาธิการไทยประกาศเลื่อนเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ไปเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน

ในเมื่อเด็กอาจกลับไปเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ บรรยากาศปัจจุบันเลยทำให้หลายคนตัดสินคุณค่าของ ‘การเรียนออนไลน์’ จากคำถามที่ว่า “การเรียนออนไลน์จะมาแทนที่โรงเรียนได้หรือไม่” แต่คำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่ ในการวัดศักยภาพของเทคโนโลยีด้านการศึกษา

เพราะน้อยคน -แม้กระทั่งผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษาเอง- จะคิดว่าการเรียนออนไลน์ ควรเข้ามาทดแทนโรงเรียนในอนาคต

คุณค่าที่แท้จริงของ ‘การเรียนออนไลน์’ หรือเทคโนโลยีด้านการศึกษา ไม่ได้มาจากศักยภาพในการ ‘ทดแทน’ การเรียนในโรงเรียน แต่มาจากศักยภาพในการ ‘เติมเต็ม’ การเรียนในโรงเรียน เพื่อสร้าง ‘การเรียนแบบผสมผสาน’ หรือ ‘blended learning’ ที่มีทั้งส่วนที่ออนไลน์และที่ไม่ออนไลน์

ศักยภาพแรกของเทคโนโลยี คือ การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา

คำถามที่ว่าเทคโนโลยีเข้ามา ‘ลด’ หรือ ‘เพิ่ม’ ความเหลื่อมล้ำ เป็นคำถามที่มีคำตอบได้ทั้งสองมุม

ในมุมหนึ่ง เทคโนโลยีช่วยทำให้ 70-80% ของประชากรที่มีสมาร์ตโฟน สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันผ่านมือถือของเขา ไม่ว่าจะเป็นบริการซื้อขายของออนไลน์ บริการธุรกรรมทางการเงิน หรือบริการทางการแพทย์ที่ทำผ่านหน้าจอได้

การศึกษาก็เช่นกัน

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความก้าวหน้าของโลกออนไลน์ ก็อาจทำให้อีก 20-30% ของประชากรที่ไม่มีสมาร์ตโฟน กลับเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล’ หรือ ‘digital divide’

ถ้าให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมขอยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดยะลา ที่ผมเคยเดินทางไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเด็กนักเรียน

ถึงแม้โรงเรียนนี้อาจอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในระดับหนึ่ง ผมแอบประหลาดใจแต่ดีใจที่ค้นพบว่าจากเด็กนักเรียนประมาณ 30 คนในห้องเรียนที่ผมไปคุยด้วย มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่มีสมาร์ตโฟน

นั่นหมายความว่า ในขณะที่เทคโนโลยีอาจช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ระหว่างเด็ก 29 คนที่ยะลา กับเด็กจากโรงเรียนชั้นนำที่กรุงเทพฯ แต่เทคโนโลยีกลับมีความเสี่ยงที่จะทิ้งเด็ก 1 คนที่ยะลาที่ไม่มีมือถือไว้ข้างหลังเพื่อนไปมากกว่าเดิม

บทเรียนจากยะลานี้ ไม่ได้ทำให้ผมมองถึงศักยภาพของเทคโนโลยีด้านการศึกษาน้อยลง (ในเมื่อเราสามารถช่วยเกือบทุกคนในห้องเรียนนั้นได้!) แต่กลับทำให้ผมมองถึงความเร่งด่วนของภาครัฐ ในการทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยี -ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า มือถือ หรืออินเทอร์เน็ต- ไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์สำหรับแค่คนบางกลุ่ม (ถึงแม้กลุ่มนั้นจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ) แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน

ในวันที่ 50% ของโรงเรียนทั่วประเทศ หรือประมาณ 15,000 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูสำหรับทุกวิชาและทุกระดับขั้น แต่มีเพียงประมาณ 200 แห่ง หรือ 1% ของโรงเรียน ที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต หากนำมาใช้อย่างถูกวิธี เทคโนโลยีด้านการศึกษาน่าจะช่วยลด -มากกว่าเพิ่ม- ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนการสอน

แต่นอกเหนือจากการ ‘เข้าถึง’ แล้ว เทคโนโลยีด้านการศึกษายังมีศักยภาพในการเพิ่ม ‘คุณภาพ’ ของประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็ก

สำหรับนักวิชาการด้านการศึกษาหลายคน การเรียนรู้ที่มีคุณภาพที่สุด ในอุดมคติคือ ‘การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล’ หรือ ‘personalised learning’ ที่มีการปรับหรือดัดแปลงวิธีการสอนและประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนให้แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนคนนั้น

นั่นหมายความว่า แม้กระทั่งในกลุ่มเด็กที่เรียนวิชาเดียวกันในระดับชั้นเดียวกัน (เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ม.4 ) ลำดับหรือความเร็วของเนื้อหาที่เด็กแต่ละคนเรียน ความยากง่ายของคำถามหรือการบ้านที่ได้รับ และวิธีการสอนของคุณครูในหัวข้อนั้น อาจแตกต่างกันออกไป

ถ้าเราสามารถปรับเนื้อหาการสอนให้ตรงกับความถนัดและความต้องการของนักเรียนแต่ละคนได้ ก็มีโอกาสสูงขึ้นที่นักเรียนคนนั้นจะให้ความสนใจกับการเรียน หรือมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

การเรียนรู้แบบ personalised อาจจะช่วยลดความเครียดของเด็ก ที่เกิดจากระบบที่เปรียบเทียบผลการเรียนของเด็กหรือก่อให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันที่สูงเกินไป

ในภาพรวมของสังคม รูปแบบการเรียนที่แตกต่างกันไปสำหรับเด็กแต่ละคน อาจช่วยปลูกฝังค่านิยมใหม่ว่าความสำเร็จไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว แต่เกิดจากการที่เด็กแต่ละคนสามารถบรรลุเป้าหมายที่เขาตั้งเอาไว้เอง ตามความถนัดหรือความต้องการของเขา

คล้ายกับที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ “ทุกคนเป็นอัจฉริยะเหมือนกันหมด แต่หากเราตัดสิน ‘ปลา’ โดยวัดจากความสามารถในการปีนต้นไม้ ปลามันก็จะเชื่อว่ามันโง่อยู่เสมอไปทั้งชีวิตของมัน”

ถึงการเรียนรู้แบบ personalised อาจฟังดูดี แต่ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำยากมากถ้าไม่ได้ทำผ่านเทคโนโลยี

ข้อจำกัดของการเรียนการสอนในโรงเรียน หมายความว่าเด็กส่วนมากต้องเข้าเรียนในเวลาเดียวกัน และมีตารางเรียนที่เหมือนกับเพื่อนๆ ในห้องเดียวกัน

แม้กระทั่งในห้องเรียนห้องหนึ่ง เวลาคุณครูสอนหน้าห้อง คุณครูมีความจำเป็นต้องพูดกับเด็กหลายคนพร้อมกัน ถ้าสอนเร็วไป เด็กที่ไม่ถนัดวิชานั้นมากอาจตามไม่ทันและหยุดฟัง ถ้าสอนช้าไป เด็กที่เก่งในวิชานั้นแล้วอาจไม่ได้รับความรู้หรือฝึกทักษะอะไรใหม่ๆ

แต่ถ้าห้องเรียนห้องนั้นถูกแปรมาเป็นระบบออนไลน์ ข้อจำกัดเรื่องนี้จะหายไปได้ เพราะห้องเรียนหรือเนื้อหาที่เด็กแต่ละคนได้รับ สามารถแตกต่างกันได้ตามลักษณะของเด็กที่เข้ามาในแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันตัวนั้น

เหมือนกับที่เนื้อหาในฟีด Facebook YouTube หรือ Netflix ของเรา หน้าตาแตกต่างจากของเพื่อน ห้องเรียนออนไลน์ของเราก็อาจจะสอนคนละหัวข้อหรือคนละรูปแบบกับของเพื่อนได้

ท้ายสุดนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาทดแทนคุณครู แต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคุณครูในการสอนนักเรียน

ในสมัยก่อนที่ไม่มีเทคโนโลยี เราคาดหวังและพึ่งพาคุณครูให้รับบทเป็น ‘ผู้ให้ความรู้’ ที่ใช้เวลาในคาบเรียนไปกับการบรรยายและถ่ายทอดข้อมูลในวิชาต่างๆ ให้เด็กฟังและจดตาม

แต่ในวันที่เด็กสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ผ่านอินเตอร์เน็ตหรือเนื้อหาออนไลน์ เทคโนโลยีจะช่วยปลดล็อกให้คุณครูมีเวลามากขึ้นในคาบเรียน เพื่อรับบทเป็น ‘ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้’ หรือ ‘facilitator’ ในการนำกิจกรรมที่อาจช่วยพัฒนาทักษะอื่นๆ ของเด็ก เช่น การให้เด็กตั้งคำถามกับเนื้อหาที่เรียนเพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ การให้ทำงานกลุ่มเพื่อฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม หรือการเชิญชวนให้เด็กแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อฝึกทักษะการสื่อสาร

เทคโนโลยีด้านการศึกษา จึงมีศักยภาพในการทำให้กระบวนการเรียนการสอนแบบ ‘flipped classroom’ (ที่ส่งเสริมให้เด็กค้นหาความรู้ที่บ้านและใช้เวลาในห้องเรียนไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมทักษะ) เป็นจริงได้

ถ้าถามผมว่า เทคโนโลยีสามารถแก้ทุกปัญหาในการศึกษาได้ไหม ผมตอบได้เลยว่า ไม่ได้

เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่เพิ่มความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาบางอย่างที่เราเคยคิดว่าไม่มีทางแก้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา การสร้างการเรียนรู้แบบ personalised หรือ การสร้างห้องเรียนแบบ flipped classroom

แต่ตราบใดที่เทคโนโลยียังเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าไม่ถึง ปัญหาที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ ก็จะช่วยเหลือได้แค่สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช่สำหรับคนทั้งหมด

และยิ่งไปกว่านั้น ตราบใดที่ ‘ระบบ’ ด้านอื่นยังไม่ปรับตาม เทคโนโลยีก็แก้ได้เพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา

“พี่ไอติมครับ ผมทำยังไงดีครับ หลักสูตรยังบอกให้สอนว่าครอบครัวที่ดี ต้องมีทั้งพ่อและแม่” คุณครูในทีมผมถามขึ้นมา ก่อนอัดคลิปวิชาสังคมให้กับนักเรียน

เทคโนโลยีจะล้ำแค่ไหน ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

แต่ในวันที่ผมยังไม่ได้อยู่ในบทบาทที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้ การนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการศึกษาไทยร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและความสามารถ คงเป็นอาวุธที่มีพลังที่สุดที่ผมพอมีอยู่ในมือ ในการมาช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น

หลังจากพยายามค้นหาตัวเองมานานกับคำถามที่เปิดไว้ต้นเรื่อง ผมดีใจที่สามารถให้คำตอบกับทุกคนได้แล้ววันนี้

“ตอนนี้ผมทำงานเป็น CEO อยู่ที่ StartDee ครับ เราเป็นสตาร์ตอัพน้องใหม่ด้านการศึกษา”

ผมหวังเพียงแค่ว่า เส้นทางใหม่ที่ผมเลือกเดิน จะพอช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเราได้บ้าง

จะทำได้มากน้อยแค่ไหน วันหลังจะมาแชร์เรื่องราวให้ฟังนะครับ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save