fbpx

เรื่องเล่าจากเชียงดาว ในวันที่การเผาป่าคือการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด

“ไปดูไฟป่าไหม กำลังลุกไหม้บนดอย”

เพื่อนชาวเชียงดาวโทรมาบอกผู้เขียนในวันหนึ่งของต้นเดือนเมษายน 2566  

ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เราพาตัวเองเข้าไปบนเขาแห่งหนึ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ในวันที่วัดมลพิษทางอากาศบริเวณนั้นขึ้นมาได้ 400 กว่าจุด

กลิ่นไหม้ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น เราเห็นร่องรอยไหม้ของไฟป่าที่ดับมอดแล้วตามขอบถนนเป็นทางยาว น่าจะเป็นร่องรอยไหม้มาหลายวันแล้ว แต่พอหลุดโค้งข้างหน้าไป ควันไฟที่ไหม้ลำต้นเป็นสีดำยังคุกรุ่น ต้นสนต้นหนึ่งใบยังสีเขียวแต่ลำต้นถูกไฟป่าเผาจนดำไปทั้งต้น และมีร่องรอยของคนถากเอาเปลือกที่มีน้ำมันสนไปทำเชื้อเพลิง เรียกว่าไม้สนเกี๊ยะ

พอขับรถลึกเข้าไป เราพบเปลวไฟรุนแรงลุกลามขึ้นมาจากด้านล่างจนถึงถนน เปลวไฟสูงและไหม้ลามเร็วเมื่อมีลมพัดมา 

“มันเป็นไฟร้อนอุณหภูมิประมาณ 700 องศาเซลเซียส เปลวสูงที่ไหม้เชื้อเพลิงแห้งกรอบบนพื้นป่าในเวลาอากาศร้อนแล้ง ไฟลักษณะนี้จะเผาไหม้กล้าไม้ที่ยังโตไม่พอทนไฟ ทำให้ป่าขาดต้นไม้วัยรุ่น มีแต่กล้าต้นเล็กๆ ที่ผุดขึ้นหลังไฟ แล้วไม่เคยได้โตสักที เปลวไฟสูงยังทำร้ายต้นไม้โตๆ ได้อีกด้วย อาจไม่ตายทันที แต่ค่อยๆ ถูกบั่นทอน” เพื่อนนักนิเวศที่ไปด้วยตั้งข้อสังเกต

เราตัดสินใจขับรถฝ่าเปลวไฟที่ลุกอยู่ริมถนนในป่า ทะลุเข้าไปในป่า เบื้องหน้าเป็นหุบเขาที่ไม่ได้มีสภาพป่าหลงเหลือ แต่กลายเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกลางป่าลึกของชาวเขาชนเผ่าหนึ่ง

พื้นที่ตรงนั้นหลายร้อยไร่ราบเรียบโล่งเตียนจากการเผาซากไร่ เพื่อเตรียมพื้นดินเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคมที่ฝนจะเริ่มตก

“ชาวเขาที่นี่อยู่กันมานาน ก่อนมีการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทางการก็ผ่อนผันกันพื้นที่ทำกินให้ แต่ระยะหลังมีการเปิดพื้นที่ป่ามากขึ้น เพราะข้าวโพดราคาดี”

เพื่อนชาวเชียงดาวชี้ให้ดูสภาพภูมิประเทศที่เคยเป็นป่ามาก่อน กลายเป็นเขาหัวโล้น โดนเผาถางเตียน และบุกรุกกินพื้นที่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกือบถึงยอดเขา

“ไฟคือเครื่องมือที่ดีและราคาถูกในการเปลี่ยนป่าให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก”

“หากอีกสองเดือนมาดู แถวนี้จะเป็นไร่ข้าวโพดเต็มไปหมด”

เมษายนคือช่วงในการเตรียมพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกข้าวโพด ชาวเขาต้องทำการเคลียร์พื้นที่เพาะปลูกด้วยการเผา เพราะเป็นต้นทุนต่ำที่สุด และหลายครั้งที่การเผาในพื้นที่ได้ลุกลามเข้าไปในป่า จนกลายเป็นไฟไหม้ป่าลุกลามใหญ่โต และสามารถเปลี่ยนสภาพป่าให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกในอนาคต จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ไฟป่าบนดอยเชียงดาวนี้ที่เราเห็นตอนนี้ สันนิษฐานว่าลุกลามมาจากการจุดไฟด้านล่างของชาวเขาเพื่อเคลียร์พื้นที่ เตรียมเพาะปลูกข้าวโพด

เจ้าหน้าที่ไม่อาจลงไปดับไฟด้านล่างได้เพราะอันตราย หน้าผาสูงชัน ทำได้แค่ทำแนวกันไฟ แล้วปล่อยให้ดับเอง เมื่อเชื้อเพลิงหมด ซึ่งยากมากที่ไฟป่าจะดับ เนื่องจากความแห้งของใบไม้กิ่งไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

เราสังเกตว่าบริเวณรอบๆ บ้านเรือนแต่ละหลังแถวนี้โล่งเตียนแทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่านี้ที่ชอบให้พื้นที่รอบๆ บ้านโล่งเตียน 

หลายปีที่ผ่านมา ในอำเภอเชียงดาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จัดว่าเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ชาวเขาและชาวพื้นราบนิยมปลูกมากที่สุด  เพราะได้ราคาดีกว่าพืชชนิดอื่น เช่นเดียวกับหลายอำเภอทางภาคเหนือ  

ทุกวันนี้ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดห้าล้านกว่าไร่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี

ปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนือที่รุนแรงขึ้นทุกปี นอกจากเกิดจากการเผาไร่เพื่อเคลียร์พื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว (พื้นที่ปลูกข้าวโพดในเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านกว่าไร่และผลผลิตเกือบทั้งหมด รับซื้อโดยบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่ของไทย) ต้องยอมรับว่าการเผาในป่าทางภาคเหนือก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเผาหาของป่า เผาให้หญ้าระบัดขึ้นเพื่อเลี้ยงวัวควาย เผาเพื่อเคลียร์พื้นที่ปลูกข้าวโพด หรือเผาเพราะความขัดแย้งในพื้นที่

โดยเฉพาะไฟป่าที่ลุกลามในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยาน ป่าสงวนอันห่างไกล ที่ยากลำบากต่อการเดินทางเข้าไปดับไฟ

ประสบการณ์การเดินป่าของผู้เขียน พบว่า หลายครั้งที่เดินทางเข้าป่า เห็นด้านหน้าเป็นป่าสมบูรณ์ แต่พอเดินลึกเข้าไปจะเห็นสภาพป่าถูกทำลาย ภูเขาหัวโล้นเป็นลูกๆ  ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ

ต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่อุทยานไม่มีกำลังพอที่จะไปดูแลพื้นที่ป่าหลายแสนไร่อย่างจริงจัง  และไม่อยากมีปัญหากับชาวเขาในพื้นที่ หากเข้าไปบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง หากโชคดีถ้าคนที่อยู่เป็นชาวปกาเกอะญอที่มีวัฒนธรรมการดูแลป่ามายาวนาน ป่าก็จะไม่ค่อยถูกบุกรุกนัก อาทิ ชุมชนบ้านแม่คองซ้าย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ชาวบ้านเป็นชาวปกาเกอะญอ มีเพียง 25 ครัวเรือน แต่สามารถรักษาป่าบริเวณนั้นนับหมื่นไร่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง และสายน้ำแม่คองซ้ายที่พวกเขาดูแลเป็นต้นกำเนิดของน้ำแม่แตง ลำน้ำสาขาสำคัญสายหนึ่งที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง  

หรือชุมชนบ้านป่าโหลของชาวลาหูหรือมูเซอ ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน  มีอาชีพทำปลูกชาเมี่ยง ซึ่งต้องอาศัยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ จึงทำให้พวกเขารักษาผืนป่าใหญ่บริเวณนั้นหลายพันไร่ให้คงความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน

แต่ถ้าเป็นชาวเขาชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ในพื้นที่มานาน อาจไม่ได้มีวัฒนธรรมการดูแลรักษาป่าอย่างจริงจัง เราจึงเห็นพื้นที่ป่าหลายแห่งกลายเป็นไร่ข้าวโพดผืนใหญ่

ดังนั้น ในฐานะที่ผู้เขียนเที่ยวป่าหลายแห่งในเชียงดาว ต้องยอมรับว่า หากเป็นพื้นที่ป่าที่มีชาวปกาเกอะญอตั้งบ้านเรือนมายาวนาน ป่าแถวนั้นจะได้รับการดูแลตามความเชื่อ วัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา

แต่สำหรับชาวเขาเผ่าอื่นๆ  ไม่อาจรับประกันอะไรได้เลย

วันนี้จะแก้ปัญหาไฟป่าทางภาคเหนืออย่างจริงจัง  ก่อนอื่นคงต้องยอมรับความจริงก่อนว่า ปัญหาการจุดไฟเผาในเขตป่าอนุรักษ์เพื่อบุกรุกขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษอย่างรุนแรง

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save