fbpx

ลุกไหม้สิ! ซิการ์ ลุกโชนขึ้นมากับไรห์มของการทรยศ

ปกติแล้ว ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้อ่านกวีนิพนธ์มากนัก แต่หลายสัปดาห์ก่อนในวันที่รายชื่อหนังสือส่งประกวดกวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ‘รางวัลซีไรต์’ ประจำปีนี้ปรากฏขึ้นมา ผมมานั่งปราดตาดูรายชื่อผู้เขียนทีละบรรทัด ในใจตอนนั้นนึกถึงหนังสือ 2 เล่มจากผู้เขียน 2 คนเป็นพิเศษ เล่มหนึ่งคือหนังสือจากคนใกล้ตัว ที่ผมแหย่ไว้ว่าให้ลองส่งประกวดดูสนุกๆ ส่วนอีกเล่มหนึ่งคือ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ (2565) ของ ‘ชัชชล อัจฯ’ ผมพบชื่อหนังสือและผู้เขียนเล่มแรก แต่ไม่พบเล่มหลัง

ผมเดาว่า ‘ชัชชล อัจฯ’ หรือที่ต่อไปนี้ผมจะเรียกว่า ‘ชัชชล’ คงไม่ปรารถนาจะจุดไฟเผาการประกวดปีนี้ และนั่นคงเป็นคำอธิบายสั้นๆ ของผมที่มีต่อหนังสือเล่มนี้

คำอธิบายสั้นๆ ผ่านการคาดคะเนตามอำเภอใจของผมเองนี่แหละครับที่เป็นจุดตั้งต้นของข้อเขียนชิ้นนี้ ถึงกระนั้นบทความนี้ก็เป็นตัวแทนของความพยายามจะแสดงให้เห็นว่า ผู้อ่านผู้หนึ่งซึ่งในกรณีนี้หมายถึงผมเองมีความประทับใจต่อหนังสือเล่มนี้อย่างไรบ้าง

ลุกไหม้สิ! ซิการ์ เป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ ประกอบขึ้นจากบทกวีจำนวน 33 บท เขียนขึ้นโดยไม่ได้อิงอยู่กับฉันทลักษณ์แบบจารีต (ประเด็นนี้จะกล่าวภายหลัง) แต่ละบทมีขนาดยาวบ้าง สั้นบ้าง และสั้นมากบ้างปะปนกันไป หนังสือแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรกชื่อว่า ‘2553’ จำนวน 20 บท และภาคที่ 2 มีชื่อว่า ‘2563’ จำนวน 13 บท

เมื่อพิจารณาตามชื่อหัวเรื่องของแต่ละภาคขณะที่อ่านไปทีละบทๆ ผมเชื่อว่า ผู้อ่านน่าจะสามารถสรุปได้ว่า เนื้อหาภาคแรกวางอยู่บนสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนความสนใจส่วนตัวของผู้เขียนภายในบริบทของสังคมไทยช่วง พ.ศ. 2553 และในภาคที่สองก็มีทำนองคล้ายกันคือ อยู่ภายในบริบทสังคมไทยในอีกหนึ่งทศวรรษให้หลัง นั่นคือช่วง พ.ศ. 2563

ในแง่หนึ่ง เราอาจอนุมานได้ด้วยว่า งานเขียน 2 กลุ่มนี้เขียนขึ้นต่างช่วงเวลากัน กล่าวคือตาม 2 ช่วงเวลาอันกลายมาเป็นชื่อเรียกของแต่ละภาคของหนังสือ ใน ‘เสมือนคำนำนักเขียน’ ซึ่งคล้ายจะเป็นบทแนะนำและส่วนชิมลางว่าผู้อ่านกำลังจะได้พบกับข้อเขียนแบบใด ชัชชลพูดถึงประเด็นนี้ไว้ด้วย แต่ผมขอตัดทอนและหยิบเลือก (ตามอำเภอใจ—จนคล้ายเป็นการเขียนใหม่) ผู้เขียนเกริ่นนำไว้ผ่านข้อความเหล่านี้

ผมเคยเขียนอะไรบางอย่าง มีคนอ่าน มีคนชอบ ส่วนผมตกหลุมรัก… เกือบ 10 ปีก่อน ผมแทบจะกระโดดโลดเต้น… แต่ตอนนี้ แค่เท้าแตะยั่งพรั่นพรึง… เวลาไม่ได้พรากมันไป… ใช่ ผมเลือกเดินจากมา… ผมกลับมาทำไม คงเพราะอยากตกหลุมรักอีกครั้ง… อีกครั้ง และอีกครั้ง… ก็ไม่เลว![1]

ในแง่นี้ หากเราเชื่อว่าข้อความเหล่านี้คือหมุดหมายทางเวลา ‘เกือบ 10 ปีก่อน’ และ ‘ตอนนี้’ จึงช่วยประคับประคองสมมติฐานที่ว่าเนื้อหาสองภาคในเล่มน่าจะเขียนขึ้นต่างช่วงเวลากัน ดังนี้แล้ว หัวเรื่อง ‘2553’ และ ‘2563’ นั้น จึงไม่น่าจะเป็นแต่เพียงการระบุใจความแต่อย่างเดียว แต่ยังระบุช่วงเวลาในการเขียนของนักเขียนด้วย

ทำไมผมจึงดูจะสนใจการระบุเวลาเหล่านี้เป็นพิเศษ และตั้งต้นการอ่านในประเด็นนี้

นั่นเพราะผมเห็นว่า ความน่าสนใจของ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ ในฐานะที่เป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ อยู่ที่ความเฉพาะเจาะจงของเวลา หรือสัมพันธ์กับการตระหนักถึงช่วงเวลาเฉพาะทางประวัติศาสตร์ พูดอีกอย่างก็คือ อยู่ที่การ ‘ร่วมเวลา’ หรือ ‘ร่วมสมัย’ (contemporaneity) มากกว่าที่จะเป็นกวีนิพนธ์แบบ ‘ไร้กาลเวลา’ หรือ ‘เหนือกาลเวลา’ (timeless) ในแบบที่ใครหลายคนหรือเกณฑ์หลายเกณฑ์ถือว่าเป็นงานเขียนที่ทรงคุณค่า ในทางกลับกัน ผมกลับเห็นว่าคุณค่าของรวมบทกวีเล่มนี้คือการ ‘มีเวลา’ ต่างหาก

พูดอีกอย่างก็คือ การ ‘มีเวลา’ ของหนังสือรวมบทกวีเล่มนี้ ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของอัตชีวประวัติเชิงวรรณกรรมของตัวผู้เขียนเอง หากจำเป็นต้องกล่าวถึงในฐานะที่เป็นช่วงเวลาเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยด้วย ทั้งนี้ ผมเสนอทัศนะทำนองนี้ภายใต้จุดยืนที่ว่า ผู้เขียนไม่ได้เขียนงานจากสุญญากาศ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตและเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกกายภาพและในโลกทางสังคม

ภายใต้ทัศนะแบบนี้ ผมจึงเสนอว่า อรรถรสของการอ่าน ลุกไหม้สิ! ซิการ์ จึงอยู่ที่การพยายามแกะรอย เชื่อมโยง หรือทำความเข้าใจว่าชัชชลกำลังอาศัยกระบวนการเชิงกวีนิพนธ์ในการพูดอะไรเกี่ยวกับสังคมไทย และแต่ละบทกำลังพูดเรื่องอะไรเป็นการเฉพาะ แน่นอนว่าหมายถึงสังคมไทยในปี 2553 และ 2563 เป็นการเจาะจงด้วย

บทกวีบางบทมีการระบุไว้ว่าเขียนขึ้นในโอกาสใดหรืออุทิศให้ใคร เช่น ‘ลุกไหม้สิ! ซิการ์’ เพื่องานรำลึกกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 13 กุมภาพันธ์ 2553, ‘เด็กหนุ่มในบทกวี’ แด่ เฌอ 13-19 พฤษภาคม 2553, ‘ความสงสัย’ ต่อการสังหารหมู่วันที่ 10 เมษายน 2553, ‘สถาปนาสถาบันประชาชน (10 ปีให้หลัง)’ เพื่อรำลึกถึง ไม้หนึ่ง ก.กุนที, ‘คืนนี้มีแสงดาว’ ต่อเหตุการณ์จับแล้วปล่อย รุ้ง เพนกวิน และไมค์ วันที่ 30 ตุลาคม 2563, บทที่ชื่อ ‘อานนท์ นำภา’ ซึ่งย่อมหมายถึง อานนท์ นำภา, และ ‘แด่กวีในห้องหับเร้นร้าง’ แด่การจากไปของไอศูรย์ ที่ผู้เขียนเรียกว่าเป็น ‘พี่ชายและเพื่อนรัก’ ของเขา เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว บทที่เหลือไม่ได้มีการระบุข้อมูลหรือที่มาที่ไปอันเฉพาะเจาะจงเอาไว้ อย่างที่เพิ่งกล่าวไปในย่อหน้าก่อน ผมคิดว่าน่าสนุกมากๆ ในการแกะรอยและเชื่อมโยงเข้ากับสังคมไทย

ผมอยากจะลองชวนให้ผู้อ่านมาร่วมสนุกโดยการทายกันว่า เนื้อหาที่คัดมาต่อไปนี้ ชิ้นใดมาจากปี 2553 หรือ 2563 มาลองเล่นกันดูนะครับ

ไม่จำเป็นเลย
ท่านผู้ปกครอง
ไม่มีความจำเป็นเลย
ความหวาดกลัวเหล่านั้นของท่าน
ต่อถ้อยคำของข้าพเจ้า
ตัวอักษรพวกนี้เงียบกริบเสียยิ่งกว่าอะไร
มันไม่สอดใส่สัญญะใดๆ ที่หมายถึงตัวท่าน
ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ไดโนเสาร์ หรือท้องฟ้า
ไม่ชำแหละโครงสร้างเหลื่อมล้ำกดขี่
ไม่รื้อสร้างประวัติศาสตร์ลวงโลกคลั่งผู้นำคลั่งชาติ
[2]

เห้ย ยังอยากเหนี่ยวรั้งโลกทัั้งใบ
ตลกเกินไปไหม ไอ้ห่า
กี่ทศวรรษ ที่ทัดทานกาลเวลา
หรือธรรมชาติ – ธรรมดาจนเหล่าเทวาไม่เข้าใจ
[3]

เธอก็ไม่ต่างกัน
เราแค่ต้องการเป็นคนเท่าเท่ากับคนอื่น
มีหวังมีฝันถึงชีวิตที่ดี
เป็นเจ้าของวันข้างหน้าที่เราเลือกเอง
[4]

กูรักเสียง noise
เสียงที่คอยสกัดและขัดขวาง
เสียงแห่งความอึดอัด เสียงคัดง้าง
เสียงของความแตกต่างทางความคิด

มา… มาส่งเสียงต่อมาก่อกวน
ชวนคนทั้งหมดที่ถูกกดมาปลดปล่อย
คนละเล็ก คนละ noise
จนความเท็จบนหอคอยทยอยล้ม
[5]

ถ้ามันยังไม่หยุด เราอย่าช้า อย่าหยุด
สั่นให้ทรุด – ทีละนิดจนพลิกคว่ำ
ถึงเวลายุติอยุติธรรม
โลกระยำที่บิดเบี้ยวใบ้บอดตลอดมา
[6]

อย่าเข้าใจผิด
ท่านผู้ปกครอง
มนุษย์ไม่ใช่บุตรของท่าน
ไม่
ไม่มีวัน!
มนุษย์!
ไม่จำต้องคุกเข่าเคารพ
หรือเดินตามรอยเท้า
พวกเขารู้
ทหารเหล่านั้นไม่ใช่เทวทูต
ส่วนท่านไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า
[7]

ผมขอเฉลยในเบื้องต้นก่อนว่าจากบางส่วนของบทกวีที่คัดมาจำนวน 6 บท 3 บทมาจากปี 2553 และอีก 3 บทมาจากปี 2563 เอาไว้ดูเฉลยในเชิงอรรถนะครับว่าชิ้นไหนมาจากปีไหน แล้วในตอนท้ายผมจะพยายามอภิปรายว่า บทกวีของชัชชลที่เขียนขึ้นระหว่างระยะห่าง 1 ทศวรรษนี้ชวนให้ผมคิดอะไรต่อสังคมไทยบ้าง แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอชวนคุยเกี่ยวกับวิธีการทางภาษาของหนังสือเล่มนี้สักเล็กน้อย

ลุกไหม้สิ! ซิการ์ ไม่ใช่กวีนิพนธ์ตามฉันทลักษณ์แบบจารีตอย่างที่ปรากฏในโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นแน่ แต่จะบอกว่าไม่มีคุณลักษณะเชิงฉันทลักษณ์โดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่ บางชิ้นอาจไม่มีฉันลักษณ์ แต่หลายๆ ชิ้นยังคงมีระเบียบแบบแผนและโครงสร้างของการสัมผัสอยู่ มีไรห์ม (rhyme) หรือความคล้องจองและพ้องพานทางเสียงบางประการ โดยเฉพาะเสียงตัวสะกด ตลอดจนมีจังหวะ (groove) และท่วงทำนองที่เป็นโครงสร้างซ้ำวน ซึ่งอาจพอเปรียบเทียบได้กับดนตรีฮิปฮอปด้วยเช่นกัน

อรรถรสในการอ่านรวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้อีกประการหนึ่งจึงอยู่การทดลองอ่านออกเสียงและตามหาจังหวะและท่วงทำนองที่แตกต่างกันไปในแต่ละบทตอน ลองย้อนกลับไปหาจังหวะและท่วงทำนองของบางบทตอนที่ผมคัดมาก่อนหน้านี้อ่านดูอีกสักหนหนึ่งสิครับ หรือไม่ก็อยากขอชวนให้ลองอ่านออกเสียงบทถัดไปนี้ดูครับ

เดิน เดิน ด้วยสองตีน
อา อะดรีนาลีนหลั่ง
เปลี่ยนเป็นเสียงตะโกนเปล่งพลัง
“ไม่ชังชาติ แต่ชังมึง!”
“1 2 3 4 5 I Hear Too”
ฟัง! พวกกูก็คนหนึ่ง
ไม่ต้องตกผลึกเหี้ยอะไรให้ลึกซึ้ง
มึงก็คน กูก็คน
แหละทั้งหมดนั่น “ภาษีกู”
ชีวิตอู้ฟู่ที่ฟูขน
ของบางใครที่กราบไหว้ว่าเหนือคน
แต่หวาดกลัวประชาชนคนธรรมดา
เร่เข้ามา “ศักดินาจงพินาศ”
กระจายเสียง เก่งมาก! ประกาศกล้า
กล้ามาก! เหล่าปีศาจแห่งกาลเวลา
ขอบใจ! ที่พูดว่า “ประชาราษฎร์จงเจริญ”
[8]

ไม่เพียงแต่จังหวะและท่วงทำนอง แต่กลวิธีอีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ค่อนข้างสม่ำเสมอคือการอ้างอิงถึงสิ่งอื่นที่อยู่นอกตัวบท ทั้งที่หมายถึงตัวบทอื่นและสถานการณ์ทางสังคม หรือที่เรียกกันว่ากระบวนการเชิง ‘สัมพันธบท’ (intertextuality) ดังตัวอย่างบทที่ผมเพิ่งคัดมาล่าสุดนี้ ไม่ว่าท่อน “1 2 3 4 5 I Hear Too” อันแพร่หลายในการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ราวๆ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งดัดแปลงมาจากเนื้อเพลง “1 2 3 4 5 I Love You” ของวงดนตรี The Bottom Blues หรือจะเป็นคำขวัญ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ซึ่งปรากฏแพร่หลายในการชุมนุมประท้วงระลอกเดียวกัน ตลอดจน “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ที่ชวนให้นึกถึงข้อความคล้ายๆ กัน นั่นคือ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”[9]

รวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยนัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ในบริบททางประวัติศาสตร์เฉพาะ หรืออีกนัยหนึ่ง รวมบทกวีเล่มนี้จึงมีประวัติศาสตร์และมีบริบท หรือมีที่ทางอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งใดแห่งหนึ่งในสังคม (situatedness)

การมีที่มีทางในสังคมในความหมายนี้ยังปรากฏผ่านความจริงใจตรงไปตรงมา และไม่ปิดบังจุดยืนหรือตำแหน่งแห่งที่ของตน มันจึงเป็นงานที่น่าเชื่อถือ น่าเคารพ ในการเปิดเผยจุดยืนของผู้เขียนคนหนึ่งซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดยืนแบบผู้ชาย วัยรุ่นตอนปลายจนถึงวัยกลางคน มีความหวังต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เชื่อและสมาทานอุดมการณ์ว่าด้วยความเท่าเทียม ผู้วิพากษ์โครงสร้างสังคมอันกดขี่ ผู้ขับเคลื่อนกวีนิพนธ์ด้วยความโกรธเกรี้ยว แต่ตระหนักว่าตนเองอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมและจารีตทางวัฒนธรรม ในหนังสือเล่มนี้ ชัชชลไม่ได้กล่าวอ้างสัจธรรมหรือความจริงราวกับการเชื่อว่าตนเองเห็นหรือรู้จักโลกเป็นอย่างดี กวีนิพนธ์ชุดนี้จึงไม่ใช่คำเทศนา หรือการมองโลก-มนุษย์-สังคม จากจุดยืนจาก ‘นอกโลก’ หรือ ‘เหนือโลก’ หรือจุดยืนแบบพระเจ้าที่มนุษย์ไม่มีวันเป็นได้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว เป็นจุดยืนที่ปรากฏในงานเขียนและกวีนิพนธ์แบบมนุษยนิยมจำนวนไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากเสนอว่า เราอาจจัดให้รวมบทกวีนิพนธ์ของชัชชลเล่มนี้เป็นงานเขียนประเภทที่เรียกว่ากวีนิพนธ์แนวมานุษยวิทยา (anthropological poems) หรือที่ผมขอเรียกว่าเป็น ‘มานุษยวิทยากวีนิพนธ์’ อันเป็นแนวทางการประพันธ์ที่แสดงให้เห็นการผูกโยงอย่างลึกซึ้งเข้ากับบริบทหนึ่งๆ บนโลกและผู้อยู่อาศัยเฉพาะอันแตกต่างหลากหลายตามแต่บริบทนั้นๆ[10]

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในรวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้ เราจะได้เห็นกวีนิพนธ์ที่เขียนขึ้นจากจุดยืนแห่งใดแห่งหนึ่งบนโลก รู้สึกและเชื่อมต่อกับโลกทั้งในความหมายของโลกกายภาพและโลกทางสังคม ไม่ได้แยกขาดหรือหลุดออกไปจากโลกอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายนานาประการของสังคม ตรงกันข้ามกับวรรณกรรมหรือกวีนิพนธ์แนวอื่นที่มุ่งความสนใจไปที่ ‘ภูมิทัศน์ภายใน’ หรือหมายถึงอะไรบางอย่างที่เชื่อกันราวกับว่ามีอยู่ในความเป็นมนุษย์อันเป็นสากล

การพิจารณาการเป็นมนุษย์ในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งบนโลก จึงเปรียบได้กับการตระหนักในการรับรู้ความจริงอันเป็นส่วนเสี้ยว อันจะแสดงผ่านการเขียนหรือข้อเขียนในฐานะที่เป็นภาพแทนความจริงของสังคม ในแง่นี้ รวมบทกวีนิพนธ์ว่าด้วยสังคมไทยร่วมสมัยเล่มนี้ โดยเฉพาะภายใต้การเขียนด้วยทัศนะของการวิพากษ์เชิงการเมืองวัฒนธรรม จึงกลับทำให้งานอันโกรธเกรี้ยวนี้กลับมีลักษณะถ่อมเนื้อถ่อมตัวไปโดยปริยาย และนั่นคือสิ่งที่ผมเห็นว่าน่าประทับใจอึกประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้

หากพูดตามทัศนะของนักเขียนและบรรณาธิการผู้ล่วงลับอย่าง ‘วาด รวี’ ในคำประกาศ ‘บทกวีคือการทรยศ’ รวมบทกวีนิพนธ์ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ เล่มนี้จึงแสดงให้เห็นว่าบทกวีสามารถทรยศได้อย่างไร ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าในขณะที่กำลังทรยศต่อบางสิ่ง (นั่นหมายถึงระบบคุณค่าและจารีตแบบอนุรักษนิยม) แต่พร้อมกันนั้นก็ไม่ทรยศต่อบางสิ่ง (นั่นหมายถึงคุณค่าและอุดมการณ์แห่งความเสมอภาคและความเท่าเทียม)

ลองพิจารณาบทตอนหนึ่งของ ‘บทกวีคือการทรยศ’ ดังที่ วาด รวี เสนอไว้ว่า

การทรยศคือคณิตศาสตร์ มันคือสมการของความเท่า คือการปลดปล่อยตนออกจากการแบ่งชั้นและแผ่นดินที่ต้องเช่า คือความเงียบงัน คือดอกไม้ป่าดิบเถื่อน คือกองไฟมอดไหม้จนเป็นเถ้า คือเหล้าถอนเหล้าถอนความเมา

คือประตูสู่อิสระ คือการออกไปจากข้อจำกัดที่ลวงตา คือการพูดความจริงด้วยคำโกหก

คือการรื้อสร้างบุคลิกภาพ คือการพยศต่ออำนาจ คือความจริงที่จริงกว่าประวัติศาสตร์ คือฝ่าตีนขยี้เครื่องแบบและเหรียญตราบ้าบอด้วยเส้นประสาท – – และโลหิตที่ร้อนราด[11]

กลับมาที่ประเด็นว่าด้วยความ ‘ร่วมสมัย’ ของ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ กันบ้าง ถึงแม้ว่างานสองส่วนจะเขียนขึ้นต่างช่วงเวลากันถึงราว 10 ปี แต่ผมยังเห็นว่าเนื้อหาในภาคแรกยังคงร่วมสมัย (ลองกลับไปพิจารณาส่วนที่คัดเนื้อหาบทกวีจำนวน 6 ชิ้นก่อนหน้านี้อีกสักครั้งหนึ่งก็ได้ครับ)

ต่อประเด็นนี้ ผมมีข้อสังเกต 2 ประการด้วยกัน ประการแรก ความร่วมสมัยของข้อเขียนภาคแรกแสดงให้เห็นว่า ‘วาทกรรม’ ว่าด้วยเสรีภาพและความเสมอภาค โดยเฉพาะที่สรุปเป็นคำสั้นๆ ว่า ‘คนเท่ากัน’ อันเป็นวาทกรรมหลักชุดหนึ่งที่ปรากฏแพร่หลายในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะเมื่อปี 2553 ซึ่งถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณกลางกรุงเทพฯ และถูกลบล้างไปในระยะเวลาอันสั้น คือวาทกรรมที่ก้าวหน้าและแพร่หลายที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมการเมืองไทย

ข้อสังเกตประการที่ 2 ต่อความร่วมสมัยของบทกวีในภาคแรกซึ่งอาจฟังดูน่าหดหู่ไม่น้อยไปกว่ากันคือ เราอาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างสังคมและจารีตทางวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยมยังคงอยู่ในสถานะการครองอำนาจนำอยู่ดังเดิม ซ้ำร้ายยังทวีความรุนแรงและเข้มข้นขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 ด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม จากขบวนการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา อาจทำให้เชื่อได้ว่า การตั้งคำถามเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมการเมืองไทยมีพื้นที่มากขึ้น กระจัดกระจาย ชอนไช และมีพลังในการบ่อนเซาะทำลายมากขึ้นเป็นลำดับ และ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ เป็นตัวแทนหนึ่งของปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น

ในแง่นี้ หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์เล่มนี้จึงเป็นกวีนิพนธ์การเมืองตามความหมายที่ว่า เป็นกวีนิพนธ์อันมีเนื้อหาที่แสดงออกถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม นำเสนอการวิพากษ์และต่อต้านบรรทัดฐานเชิงจารีตผ่านการเสนอบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาทกรรมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม

ลุกไหม้สิ! ซิการ์ จึงไม่ได้เป็นแต่เพียงรวมบทกวีนิพนธ์ร่วมสมัย แต่เป็นตัวแทนสำคัญของบทกวีแห่งยุคสมัย ซึ่งยุคสมัยในที่นี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพียงเหตุการณ์สำคัญในปี 2553 และ 2563 อันเป็นปีที่บทกวีบทต่างๆ ได้ถูกเขียนขึ้น แต่หมายถึงช่วงระยะเวลาที่กินความตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 จนกระทั่งถึงปัจจุบันและน่าจะยังสืบเนื่องต่อไปในอนาคต

กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางสภาวการณ์อันหดหู่สิ้นหวังในสังคมไทย ในบางบทตอนของหนังสือเล่มนี้ ชัชชลยังคงแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยในทัศนะของเขานั้น ผู้คนผู้แสวงหาสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมยังคงมีความหวัง ดังวรรคตอนท้ายๆ ของบท ‘ลุกไหม้สิ! ซิการ์’ ที่เขากล่าวว่า “ลุกไหม้สิ! ลุกไหม้สิ! วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า… ทุกคนเป็นประชาชน คนธรรมดา ที่งดงาม ชั่วช้า เก่งกล้า หรือโง่เง่า เท่าเท่ากัน!”[12]

ยิ่งไปกว่านั้น ในบริบททางสังคมที่เทคโนโลยีการสื่อสารกลายมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความรับรู้ไปจนถึงการขับเคลื่อนทางการเมือง ไม่เพียงแต่บทกวีของชัชชลจะ ‘อยู่ในกูเกิล’ ราวกับว่าปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในทุกหนทุกแห่ง (ที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้) ‘เพื่อค้นหาพวกคุณ เพื่อยืนยันว่าเรายังอยู่ในโลกใบเดียวกัน และยังต้องการกันและกัน’[13] สำหรับในขบวนการต่อสู้ร่วมสมัยซึ่งใครต่อใครสามารถเป็น ‘เพื่อนผู้เคลื่อนพล’ นั้น ชัชชลปิดท้ายรวมบทกวีนิพนธ์การเมืองแห่งยุคสมัยไว้ว่า

กลางคลื่นดาต้ามหาศาล
กระแสการต่อสู้อยู่ทุกที่
คุณปิดไป เราเปิดใหม่ ไว 5g
ขัง? ฆ่า? ขอโทษที… ที่ยังมีชีวิต

แม้ I die แต่ ideas never die
คุณฆ่าเราเป็นวัวควาย – อำมหิต
แต่ที่ไม่ตายคือความคิด
รอเรารีทวิต – จากโลกอนาคต[14]

References
1 ชัชชล อัจฯ, ลุกไหม้สิ! ซิการ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ P.S., 2565), 6–7.
2 ชัชชล อัจฯ, 35; ‘2553’.
3 ชัชชล อัจฯ, 78; ‘2563’.
4 ชัชชล อัจฯ, 26–27; ‘2553’.
5 ชัชชล อัจฯ, 88–89; ‘2563’.
6 ชัชชล อัจฯ, 84; ‘2563’.
7 ชัชชล อัจฯ, 59; ‘2553’.
8 ชัชชล อัจฯ, 85.
9 ‘“กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”’, BBC News ไทย, accessed 6 June 2022, https://www.bbc.com/thai/thailand-54671840.
10 ผู้สนใจสามารถอ่านทัศนะว่าด้วยกวีนิพนธ์แนวมานุษยวิทยาในเบื้องต้นได้ที่นี่ครับ Christine Weeber, ‘Why Poetry + Anthropology?’, SAPIENS, 20 March 2020, https://www.sapiens.org/language/anthropological-poems/.
11 nandialogue, ‘บทกวีคือการทรยศ โดย วาด รวี’, 7 August 2021, https://www.nandialogue.com/wad-rawee/.
12 ชัชชล อัจฯ, ลุกไหม้สิ! ซิการ์, 14.
13 ชัชชล อัจฯ, 22–24.
14 ชัชชล อัจฯ, 90–91.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save