fbpx

แรงงาน ยศช้าง และขุนนางวิชาการ: กระบวนการทำให้เป็นราชการในบรรษัทมหา’ลัย

บทความ คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย ของ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้สร้างความฮือฮาไม่น้อยในไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งในแวดวงมหาวิทยาลัยเองหรือคนนอกที่ติดตามเรื่องดังกล่าวอยู่บ้าง

4 ข้อในบทความสะท้อนจากประสบการณ์หรือ sampling ข้อมูลที่ อ.สมชายยกมา บอกนัยว่า งานวิชาการที่แตกต่างจากระบบความรู้เดิม การทำตัวน่าหมั่นไส้แก่นักวิชาการอาวุโส การทำตัวเป็นที่เกลียดชังของผู้บริหาร และการแสดงความเห็นต่างทางการเมืองกับผู้มีอำนาจ เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง

ในอีกด้าน มิตรสหายสายอาจารย์บางท่านก็โพสต์ในเฟซบุ๊กตัดพ้อที่มหาวิทยาลัยจะไม่ต่อสัญญาหากไม่ได้ตำแหน่งทางวิชาการตามที่กำหนด ตามที่เคยได้ยินมา การเอาอาจารย์ออกจากงานด้วยข้อหานี้ไม่ได้มีเป็นกรณีแรก แต่เกิดขึ้นกับหลายคนแล้ว

ระบบมหาวิทยาลัยที่แปลงร่างเป็นบริษัทเอกชน

ปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงานมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารมหาวิทยาลัยใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ด้วยฐานคิดในการปฏิรูประบบราชการอันเทอะทะไร้ประสิทธิภาพ และความมุ่งหวังที่จะผลักดันกลไกการศึกษาไปสู่ระดับโลก นำไปสู่การปรับโครงสร้างจากระบบราชการแบบเก่าเป็นองค์กรแบบใหม่ที่เปี่ยมประสิทธิภาพที่คาดเดาเป้าหมายได้ วัดและประเมินผล คำนวณต้นทุนกำไรได้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง 2 ประการเป็นอย่างน้อย นั่นคือ การเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นบริษัทเอกชน และการเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานคนทำงานมหาวิทยาลัย

ประการแรก คนในแวดวงรู้จักกันดีคือการผลักดันให้มหาวิทยาลัย ‘ออกนอกระบบ’ ที่ต้องอาศัยพลังทางการเมืองสูง เพราะต้องออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เป็นที่น่าละอายเหลือเกินว่า มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบส่วนใหญ่ใช้วิธีเล่นไม่ซื่อกับประชาคมมหาวิทยาลัยและประชาชนเจ้าของภาษี เพราะฉวยโอกาสออกกฎหมายตอนที่คณะรัฐประหารกุมอำนาจทั้งสองครั้ง ในปี 2549 และ 2557 แต่ก็ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบสำเร็จ มีอีกหลายแห่งที่ยังค้างอยู่กับระบบเก่า โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ประการที่สอง การจ้างงานในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและครอบคลุมกว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบ เพราะไม่ต้องไปยุ่งกับกฎหมายรายสถาบัน แต่สัมพันธ์กับการจัดกำลังคนจากส่วนกลาง เดิมคนเหล่านี้ก็คือ ข้าราชการประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2507 และสำนักงบประมาณที่จะกำหนดว่า หน่วยราชการแต่ละแห่งควรมีอัตราบรรจุข้าราชการเท่าใด แต่โครงสร้างนี้ก็ถูกทำลายลงด้วยการจ้างงานแบบใหม่ นั่นคือ ‘พนักงานมหาวิทยาลัย’ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2547 ที่แก้ไขกฎหมายเก่าที่ใช้มา 40 ปี

ไม่เพียงแต่เปลี่ยนชื่อ แต่สวัสดิการทั้งหลายก็หายไปด้วย การจ้างงานแบบใหม่นี้เป็นความพยายามร่วมกับการจ้างงานระบบใหม่ในระบบราชการอย่างพนักงานข้าราชการ นั่นคือ จะได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าฐานข้าราชการ กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยจะแบ่งเป็น 2 เรต นั่นคือ เงินเดือน 1.7 เท่าถ้าเป็นสายวิชาการ (คืออาจารย์ทั้งหลาย) และสายสนับสนุนที่ 1.5 เท่า ซึ่งส่วนต่างที่ได้มาก็คือการผลักภาระให้แรงงานมหาวิทยาลัยไปจัดการเรื่องสวัสดิการของตัวเอง ต่างจากข้าราชการที่ได้สวัสดิการจากรัฐทั้งค่ารักษาพยาบาลของตนและครอบครัว และเบิกค่าเล่าเรียนของลูกตน อย่างไรก็ตาม เงินเดือน 1.5/1.7 เท่าก็ยังเป็นประเด็นในหลายแห่ง เพราะว่าเป็นนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผู้บริหารตีความและเล่นกับตัวเลขว่า รัฐจ่ายมาให้เรตนี้แต่เอามาจัดสรรเป็นงบประมาณตรงกลาง จึงนำไปบริหารด้วยวิธีการที่ต่างกัน เช่น ไปจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่ม โดยลดตัวคูณลง เช่น อาจารย์บางแห่งอาจจะได้เพียง 1.5 เท่า สายสนับสนุนอยู่ที่ 1.3 เท่า มหาวิทยาลัยตัดไป 20% ว่ากันว่า ‘พนักงานมหาวิทยาลัย’ ในสถาบันอุดมศึกษาไม่มีกฎหมายที่เขียนรองรับอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับ ‘ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย’ กฎหมายที่มีเป็นเพียงการปรับใช้โดยอนุโลมจากข้าราชการที่มีสถานภาพและสวัสดิการแตกต่างกันอย่างยิ่ง

นอกจากตัดสวัสดิการแบบเดิมแล้ว สัญญาจ้างแบบใหม่ก็ใช้ลักษณะคล้ายกับสัญญาจ้างงานเอกชน นั่นคือการทำสัญญาที่มีความมั่นคงน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาระยะสั้นหลังจากการทดลองงาน เพื่อประเมินผลว่าทำงานได้ตามเป้าหมายหรือไม่ บางที่ 3 ปีประเมิน บางที่เป็นขั้นบันไดทุก 3 5 7 ปี บางที่ใจป้ำก็อาจจะให้สัญญาระยะยาวไปจนเกษียณ จะเห็นว่าการจ้างงานเช่นนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีอิสระมากขึ้นในการจัดการจ้างผู้คน และต้องเข้าใจว่าภาวะลูกผสมของการจ้างงานนี้ยังพ่วงกับการขออัตราจากสำนักงบประมาณ ที่ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยจะมีการจ้างงานอีกชุดหนึ่งที่ไม่ขึ้นกับอัตราจากส่วนกลาง นั่นคือการจ้างด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานย่อยๆ ยิ่งทำให้พนักงานเหล่านี้กลายเป็นพลเมืองชั้นสามในมหาวิทยาลัยเข้าไปอีก 

การจ้างระบบใหม่นั้นไม่มีผลโดยตรงกับข้าราชการมหาวิทยาลัยเดิมที่มีอยู่ ยกเว้นแต่บางมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบจะเสนอสัญญาจ้างใหม่ให้กับพวกเขา โดยเขาจะมีสถานะที่สืบเนื่องมาจากเดิมคือ ข้าราชการบำนาญที่ได้รับสวัสดิการแบบข้าราชการเกษียณแล้ว และพนักงานมหาวิทยาลัยใหม่ที่ได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่

อันที่จริงระบบเช่นนี้น่าจะเป็นเป้าหมายที่จะผลักดันใช้กับข้าราชการทั่วประเทศ แต่หวยมาออกที่มหาวิทยาลัยเสียก่อน

กระนั้น มหาวิทยาลัยเองก็ยังคงวัฒนธรรมแบบข้าราชการอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผูกอยู่กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ระบบสารบรรณราชการ การจัดซื้อจัดจ้าง และการเข้าตรวจสอบอย่างเข้มงวดของ สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ระบบบริหารที่เรียกว่า สภามหาวิทยาลัยที่ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจมีปัญหาไม่ได้ยึดโยงกับประชาคมมหาวิทยาลัย หรือผู้จ่ายภาษีอย่างที่ควรจะเป็น

มหาวิทยาลัยจึงเป็นตัวแทนของสังคมไทยได้อย่างดี

การประเมินผลด้วยตำแหน่งวิชาการและการไต่ Ranking

สมัยก่อนการจะดำรงตำแหน่งวิชาการตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เป็นความมุ่งมั่นและพึงพอใจส่วนบุคคลที่อาจารย์เหล่านั้นจะขวนขวาย หรือบางคนไม่ได้ขวนขวายก็มีลูกศิษย์หรือผู้สนับสนุนช่วยดันให้ได้ตำแหน่ง การเป็นอาจารย์ที่ไร้ตำแหน่งวิชาการไปจนเกษียณเป็นเรื่องปกติ แต่แน่นอนว่า ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว การสอนอย่างเดียวโดยไม่สนใจผลิตงานวิชาการก็เป็นปัญหาเช่นกัน ดังนั้น เมื่อระบบการจ้างงานแบบใหม่มาพร้อมกับสัญญาที่สามารถผูกมัดให้พนักงานมหาวิทยาลัยสร้างเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมได้ การเข้าถึงตำแหน่งจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ถูกเรียกร้อง ยิ่งมหาวิทยาลัยที่ต้องการตอบตัวชี้วัดด้วยจำนวนตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ ก็ยิ่งเข้มข้นกับการบีบให้อาจารย์วิ่งตามเกณฑ์ให้ได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว การที่มิตรสหายได้ตำแหน่งทางวิชาการจึงล้วนเป็นที่น่ายินดีว่า อย่างน้อยความมั่นคงทางวิชาชีพของเขาจะได้รับประกันขึ้นมาบ้างจากการไม่มีตำแหน่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว เกณฑ์ดังกล่าวคงจะถูกลำเลิกมาใช้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีภารกิจอยู่หลายประเภทตั้งแต่การสอน งานวิชาการ การบริการวิชาการ ดูแลนักศึกษา และบำรุงศิลปะวัฒนธรรม การเน้นตำแหน่งผลงานวิชาการก็อาจทำให้อาจารย์ผู้ถนัดและเชี่ยวชาญการสอนต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้น หรือในอีกด้านการมุ่งเน้นด้านวิชาการก็ทำให้สัดส่วนงานด้านอื่นพร่องลงไปด้วย  

อิสระของมหาวิทยาลัย VS การรวมศูนย์อำนาจความรู้การขอตำแหน่ง

เท่าที่เคยฟังในกรณีต่างประเทศแบบไม่ได้วิจัยอย่างละเอียด อำนาจการให้ตำแหน่งทางวิชาการนั้นมีอยู่หลายแบบ ที่ฝรั่งเศสการขอตำแหน่งจะมีการยื่นผลงานเพื่อไปนำเสนอปากเปล่าคล้ายกับสอบวิทยานิพนธ์ แต่ในสายอังกฤษ-อเมริกัน กระทั่งญี่ปุ่นก็เข้าใจว่าจะเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งในลักษณะหลังนี้เข้ากันได้กับลักษณะความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง แต่ก็มีเงื่อนไขเช่นกันที่พวกเขาไม่อาจได้ตำแหน่ง เพราะว่าบางทีตำแหน่งที่ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาลมีจำกัด ต้องรอให้ตำแหน่งว่างจากการเกษียณหรือเสียชีวิต

สำหรับมหาวิทยาลัยไทยที่เหนียวแน่นกับวัฒนธรรมระบบราชการก็เห็นได้ชัดตรงที่รัฐไม่ยอมปล่อยให้เป็นอิสระ เอาเฉพาะเรื่องขอตำแหน่งทางวิชาการก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เส้นทางการขอตำแหน่งวิชาการนั้นจะถูกโยงอยู่กับเกณฑ์ ก.พ.อ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา) ที่ถูกกำหนดมาตรฐานกลางในการเข้าสู่ตำแหน่ง มีการกำหนดนิยามว่างานใดเป็นผลงานวิชาการ และกำหนดว่าระดับคุณภาพผลงาน ไปจนถึงแบบฟอร์มการขอตำแหน่ง ก.พ.อ. ต่างๆ เบื้องหลังของงานต่างๆ เหล่านี้จะมีทีมหลังบ้านที่ทำงานด้านเอกสารและประสานงานกับผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ภายนอกมหาวิทยาลัยที่จะมีการดึงมาจากบัญชีผู้ทรงคุณวุฒิที่ลงทะเบียนไว้กับส่วนกลาง

ในด้านหนึ่งการกำหนดมาตรฐานจากส่วนกลางก็เพื่อรักษาระดับคุณภาพของงานที่อาจไม่เท่าเทียมกันของมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่อีกด้านหนึ่ง มาตรฐานดังกล่าวกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการบริหารจัดการขอตำแหน่ง โดยเฉพาะในระบบราชการไทย งานเอกสารต่างๆ ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ลักษณะอนุรักษนิยมของงานเอกสาร ทำให้เจ้าหน้าที่มักตีความอย่างแคบจนส่งผลต่อการตัดสินผลงานวิชาการด้วยแบบฟอร์มมากกว่าคุณค่าทางวิชาการ เช่น งานวิจัยที่อาจถือว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของนักวิชาการอย่างวิทยานิพนธ์ก็ไม่สามารถนับเป็นผลงานเพื่อยื่นขอตำแหน่งได้ ทั้งที่ในต่างประเทศสามารถนับได้ การนิยามหนังสือว่าต้องมี ‘ดัชนีค้นคำ’ ทั้งที่องค์ประกอบดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีในหนังสือทุกเล่มก็ได้ หรือการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่งานวิชาการบางชิ้นอาจไม่สามารถใช้ได้ในเกณฑ์ใหม่ เช่น บทความวิจัยที่เคยตีพิมพ์ในฐานข้อมูล TCI ก็เปลี่ยนเป็นวารสารที่ไม่อยู่ในฐาน TCI ก็ได้แต่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความถึง 3 คน

ยังไม่ต้องนับว่าเกณฑ์ ก.พ.อ. ที่ออกมามีการปรับเปลี่ยนหลายครั้งภายในไม่กี่ปี พึงเข้าใจว่าสำหรับผู้ที่ต้องการยื่นขอตำแหน่งนั้นต้องมีการวางแผนระยะยาวว่าภายในกี่ปีจะยื่นตำแหน่ง ผศ. รศ. หรือ ศ. จะต้องมีผลงานวิชาการใดบ้าง และมีจำนวนกี่ชิ้น การออกเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นได้ทำให้งานวิชาการบางชิ้นไม่เข้าข่ายผลงานวิชาการเลยก็เป็นได้

ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ แม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก แต่อำนาจการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจะอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย เรียกได้ว่า ตำแหน่งอย่างเป็นทางการจบลงที่มหาวิทยาลัยเลย แต่หากเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าแม้ว่าสภามหาวิทยาลัยจะอนุมัติแล้ว แต่ก็ต้องส่งเข้าไปส่วนกลางเพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีกรอบ แล้วจึงเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งอีกครั้ง ซึ่งกรณีนี้อาจารย์หลายท่านติดอยู่ในกระบวนการดังกล่าวคือ ผ่านสภามหาวิทยาลัยไปแล้วแต่ค้างอยู่ที่กระบวนการนี้เป็นเวลาหลายปี

แรงงานมหาวิทยาลัย กับ สมดุลของการจ้างงานมหาวิทยาลัย

หากเทียบว่า มหาวิทยาลัยกำลังถูกแปรสภาพให้เป็นบริษัทเอกชนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม แต่สิ่งที่เลวร้ายก็คือ สภาพการจ้างงาน มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแทบทั้งหมด ได้เขียนกฎหมายเอาตัวรอดไว้ว่า ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เนื่องจากกฎหมายตัวนี้ให้อำนาจแรงงานในการจัดตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’ เพื่อเรียกร้องต่อรอง

ทุกวันนี้แรงงานมหาวิทยาลัยอ่อนแอเป็นอย่างยิ่งและไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับต่างประเทศ นอกจากถูกแบ่งแยกกันด้วยธรรมชาติของการทำงานของนักวิชาการแล้ว แรงงานเหล่านี้ยังถูกตัดขาดกันด้วยสังกัดของมหาวิทยาลัยด้วย แต่หากเรามองโมเดลของสหภาพแรงงานการรวมกลุ่มข้ามบริษัทหรือโรงงานก็เป็นสิ่งที่ชาวโลกทำกัน ในกรณีของแรงงานมหาวิทยาลัยก็มีตัวอย่างเช่นของออสเตรเลีย มีสิ่งที่เรียกว่า National Tertiary Education Union (อาจจะแปลว่า สหภาพแรงงานการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ)

อำนาจการต่อรองสำคัญอย่างไร อย่างน้อยการรวมกลุ่มน่าจะเจรจากับหน่วยงานกลางอย่าง ก.พ.อ. หรือกระทรวงอุดมศึกษาฯ เพื่อมิให้ลุแก่อำนาจในการกำหนดเกณฑ์ที่ไม่รับฟังผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน หรือการเร่งรัด เรียกร้องการการขอตำแหน่งที่ล่าช้าเกินไป

และหากกล่าวถึงแรงงานมหาวิทยาลัยแล้ว ก็มิได้มีเพียงอาจารย์ที่เป็นสายวิชาการ แต่ยังมีนักวิจัย และเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนทั้งหลายด้วยที่ยิ่งอยู่ในสภาพที่ไร้อำนาจในการต่อรองยิ่งกว่าเหล่าอาจารย์ แต่คงไม่ใช่ประเด็นของบทความนี้ หากไร้การต่อรองและการเห็นว่าตนเป็นแรงงานหัวอกเดียวกัน ตำแหน่งทางวิชาการก็อาจกลายเป็นแค่ยศช้างขุนนางพระ ไม่ต่างอะไรกับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ที่มีเพื่อประดับเกียรติยศเพียงเท่านั้น

สำหรับผู้เขียนแล้ว การรวมตัวกันในฐานะแรงงานคือภารกิจในอนาคตที่จำเป็นอย่างยิ่ง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save