fbpx
ระบบราชการ : ศัตรูประชาธิปไตย

ระบบราชการ : ศัตรูประชาธิปไตย

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

รู้สึกผิดทุกครั้งที่มีคนถามเรื่องการเมืองเรื่องเลือกตั้ง แล้วต้องตอบด้วยความสัตย์จริงว่าไม่สนใจ

คนถามก็คงผิดหวัง

อะไรกัน ทำไมถึงไม่สนใจการเมือง อยู่ใต้เผด็จการมาตั้งห้าปี นี่เป็นครั้งแรกที่จะมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหน ก็ควรต้องสนใจไม่ใช่หรือ

เจอคำถามแบบนี้ก็ได้แต่ยิ้ม ยอมโดนด่าในใจว่าไม่เอาไหน เพราะคนถามมักตั้งป้อมไว้แล้วว่าเราควรคิดอย่างไร อธิบายยาวก็จะหาว่าเลคเชอร์ พูดสั้นๆ ก็เถียงไม่ทันเขา ยิ่งถ้ามาจากฝ่ายการเมืองสุดโต่งยิ่งมีโอกาสตัดญาติขาดมิตรได้ เอาเป็นว่ายิ้มดีกว่า ความคิดทางการเมืองมันไม่ยั่งยืน เปลี่ยนกันได้ เก็บมิตรภาพไว้ดีกว่า บอกตัวเองแบบนั้น

จริงๆ ก็อยากจะอธิบายนะ ก็เลยเก็บมาคุยที่นี่

ที่ว่าไม่สนใจ คือไม่สนใจการเมืองแบบข่าวรายวัน เพราะเป็นเพียงฉากเล็กๆ ของนาฏกรรมการเมืองเรื่องยาว มีตัวละครออกมาเล่นให้เราสนใจชั่วครู่ชั่วยาม เรื่องเก่าไปเรื่องใหม่มา สะกดเราให้สนใจเรื่องแต่ละวันจนเราลืมแก่นจริงของละครเรื่องนี้ไป นั่นก็คือไม่ว่าใครจะชนะในมหากาพย์ของการช่วงชิงอำนาจ คนเล็กคนน้อยก็ยังคงตกเป็นเบี้ยล่าง ธรรมชาติก็ยังจะย่อยยับ อากาศ น้ำ ดิน ป่า ทะเล จะโดนทำลายต่อไป จนในที่สุดก็จะสายเกินไป

ตัวละครหลักๆ ที่ทำให้บ้านเมืองตกหล่มอยู่ทุกวันนี้ เป็นพวกที่อยู่ในหนึ่งเปอร์เซนต์บนสุดของประเทศ ผนึกกำลังกับสถาบันทหารที่เป็นหัวหน้าของพรรคที่ใหญ่ที่สุด พรรคที่เราทุกคนต้องควักกระเป๋าจ่าย คือระบบราชการรวมศูนย์อำนาจ เป้าหมายคือรักษาอำนาจเผด็จการทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของตน ทำทุกอย่างเพื่อยื้อยุดหยุดสังคมไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อรักษาอำนาจตัวเอง

แต่ใครจะฝืนกฎธรรมชาติได้ ที่ไหนมีแรงกดมากเท่าไหร่ แรงต้านก็มีมากแค่นั้น ไม่ว่าจะเปรียบสังคมเราเป็นเส้นด้าย หรือเป็นผ้าที่ถักทอเข้าเป็นผืนเดียวกัน เมื่อมีแรงดึงจากทั้งสองฝ่าย มันก็ต้องฉีกขาดสักวัน

ไม่ช้าก็เร็ว

พอภาพใหญ่เป็นแบบนี้ ก็เลยไม่ได้สนใจดราม่าการเมืองรายวัน รอดูตอนจบด้วยจิตใจหดหู่

ในละครการเมืองตอนเลือกตั้งครั้งนี้ ตัวหลักที่เห็นประชาชนเป็นแค่เบี้ยยังอยู่ครบ ถึงจะมีคนรุ่นใหม่และตัวแทนคนฐานรากที่ต้องการจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งน่าชื่นชมและน่าสนับสนุน แต่หนทางยังอีกยาวไกล และเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะความยุติธรรมที่ต้องการ มันยากยิ่งนักถ้าโครงสร้างของอำนาจนิยมในระบบปกครอง ระบบราชการรวมศูนย์ และอำนาจนิยมในวิถีคิดของสังคมที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกัน ยังคงอยู่ยั้งยืนยง

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่สนใจประชาธิปไตย ที่สนใจคือทำอย่างไรจะทำให้การเลือกตั้งไม่ใช่แค่พิธีกรรมแบบทุกวันนี้ ทำอย่างไรจะให้ประชาธิปไตยมีโอกาสได้เกิดในบ้านเมืองเราได้สักที

เพราะถึงจะได้หย่อนบัตรเลือกตั้ง เราก็ยังต้องใช้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารสร้างหลุมพรางไว้มากมาย ยังหนีไม่พ้นรัฐราชการที่ผู้นำประณามประชาชนที่ไม่ยอมจำนนว่า ‘ขี้ข้า’ ยังมีระบบราชการที่หากินกับนายทุน ทำหน้าที่รับใช้ออกกฎหมายให้ประโยชน์ให้เจ้าสัว พอเกษียณแล้วก็เข้าไปทำงานให้เจ้าสัวเลย ระบบกินรวบแบบนี้ หย่อนบัตรเลือกตั้งอย่างเดียวไม่มีทางแก้ได้

ไม่ใช่หมดหวังกับการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ความหวังไม่ได้อยู่กับการเมืองระดับชาติ แต่อยู่ที่กลุ่มประชาชนฐานรากที่ต่อสู้รัฐราชการที่เป็นทาสรับใช้ทุน จนฐานของชีวิตของคนเล็กคนน้อยทั่วประเทศถูกยึดครอง ถูกทำลาย จนต้องออกมาเดินถนนเรียกร้องหาความยุติธรรม

รัฐราชการอำนาจนิยมรวมศูนย์นี้มีทหารอยู่บนยอดสุดของปิรามิดอำนาจ ข้าราชการสามารถออกกฎหมายให้อำนาจตัวเองผูกขาดการจัดการทรัพยากรยังไงก็ได้ เป็นระบบปิด ขาดการตรวจสอบ ขาดจริยธรรม และไม่ต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจหรือความผิดพลาดอะไรทั้งสิ้น

ระบบนี้แหละที่ทำให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมหาศาล

ระบบนี้แหละที่ทำการหย่อนบัตรของประชาชนไร้ความหมาย

นี่แหละศัตรูตัวจริงของประชาธิปไตย

ระบบราชการชอบรัฐบาลทหารที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องได้ขึ้นเงินเดือนเพิ่มสวัสดิการ แต่เป็นเพราะสามารถรักษาอำนาจรวมศูนย์ไว้ได้ กระชับอำนาจกับประชาชนได้ตามอำเภอใจ เพราะประชาชนกลัวอำนาจรัฐที่ถือปืน ใครกล้าส่งเสียงก็จับไปข่มขู่ ส่งไปติดคุก เชือดไก่ให้ลิงดูไปเรื่อยๆ

ไม่ใช่รัฐบาลพลเรือนจะไม่ร้ายกาจ แต่ถึงจะเป็นนายทุนเต็มขั้นยังไง ระบบประชาธิปไตยก็ยังมีที่ว่างให้คนเดือดร้อนมีสิทธิ์มีเสียงได้

เวลานี้เผด็จการจำต้องลดการใช้อำนาจกับประชาชน เพราะต้องหาเสียงรับเลือกตั้ง ราชการจึงต้องดิ้นสุดตัว รีบผลักโครงการขนาดใหญ่ รีบเขียนกฎหมายให้อำนาจตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก รีบต่อกฎระเบียบที่ให้ประโยชน์นายทุน เพราะรู้ว่าขืนทำหลังเลือกตั้ง ไม่มีทางสำเร็จง่ายๆ

ข้าราชการแบบไหนกันจะสร้างเขื่อนในป่าสมบูรณ์ ข้าราชการแบบไหนที่จะออกกฎหมายมาขโมยที่ดินของชาวบ้าน จับเข้าคุกเข้าตะราง แค่เข้าไปเก็บผักเก็บหญ้าในป่าที่ชุมชนเขารักษาเอาไว้ แล้วยังจะงุบงิบจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวไว้ใช้เอง

ข้าราชการแบบไหนที่ยอมให้ประชาชนกินอาหารที่ปนเปื้อนยาพิษเพื่อที่จะเอาใจนายทุนสารเคมีเกษตร

ข้าราชการแบบไหนที่จะเขียนกฎหมายบังคับให้ชาวนาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ แม้มีเมล็ดพันธุ์เองก็ปลูกไม่ได้ บังคับให้ต้องไปจดรายงานกับหน่วยงานตัวเอง ถ้าไม่ทำก็เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง

ระบบข้าราชการแบบไหนที่สามารถขืนคำสั่งของรัฐบาลได้โดยไม่มีความผิด ตัวอย่างล่าสุดคือการเดินถนนทวงสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาสิทธิ์ที่ทำกินในป่าที่ชาวบ้านรักษา รัฐบาลแค่แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆ สั่งไปแล้วแต่ติดที่ราชการไม่ยอมทำ

แบบนี้ก็มีด้วย

ข้าราชการดีก็ๆ มีอยู่ แต่สู้กับระบบร้ายกาจนี่ไม่ไหว เพราะเป็นระบบอำนาจที่เอื้อแต่พวกพ้อง

พอเลือกตั้งใกล้เข้ามา นักการเมืองได้เวทีเสนอนโยบายต่างๆ แต่ไม่ว่าใครจะชนะ ก็ต้องมาเจอระบบราชการที่มีกฎหมายที่ให้อำนาจตัวเองอยู่ในมือ รัฐธรรมนูญว่ายังไงก็ไม่สนใจ ได้แต่ยืนกระต่ายขาเดียวว่าต้องทำตามกฎหมายเดิม ทั้งๆ ที่ขัดรัฐธรรมนูญ

ถ้าฝ่ายเผด็จการชนะเลือกตั้ง พรรคข้าราชการก็จะตีปีกเถลิงอำนาจต่อไป แต่ถึงฝ่ายต้านเผด็จการชนะ ก็ยังเจอตอใหญ่คือระบบราชการอำนาจนิยมรวมศูนย์นี้

จึงรู้สึกอึดอัดทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดว่าเกลียดนักการเมือง เข้ามาก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากโกงกิน ทหารปกครองดีแล้ว สงบดี

มีคนทักว่าทำไมต้องอึดอัด ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็น ต้องรู้จักเคารพความเห็นต่าง

แต่ขออภัย ไม่สามารถรับความคิดสนับสนุนเผด็จการได้ เพราะมันไม่ใช่แค่ความเห็นต่าง แต่เป็นการสนับสนุนให้รัฐราชการมีอำนาจมากขึ้น เขียนกฎหมายบังคับประชาชนได้ตามอำเภอใจ กระชับอำนาจกดขี่ได้รุนแรงยิ่งขึ้น ทำลายฐานทรัพยากร ฐานชีวิตของคนเล็กคนน้อยได้ง่ายขึ้น

การที่การศึกษาเมืองไทยติดหล่มอยู่ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ได้งบประมาณมากที่สุด ก็เพราะระบบราชการแบบนี้ นอกจากจะไม่ยอมปล่อยอำนาจ ยังเป็นแหล่งเพาะวัฒนธรรมอำนาจนิยมส่งต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

เดือนกุมภาพันธ์นี้มีพีคการเมืองให้คนดูลุ้นจนตัวโก่ง แต่ก็นั่นแหละ ใครจะอยู่ใครจะไป แทบไม่มีผลกับระบบราชการเลย พรรคไหนมา ระบบราชการที่ทำร้ายประชาชนก็ยังอยู่เช่นเดิม

แน่นอนการกระจายอำนาจคือคำตอบ แต่ก็เกิดยากแน่ ไม่ใช่เพราะคนที่จะสูญเสียอำนาจต้องสู้หัวชนฝา แต่เป็นเพราะสังคมยังไม่เห็นปัญหาของระบบรวมศูนย์ ไม่เห็นว่าระบบรวบอำนาจ ระบบที่ตรวจสอบไม่ได้นี้ทำร้ายประเทศชาติอย่างไร

ถ้ายังให้ระบบราชการแบบนี้เป็นหินถ่วงประเทศต่อไป ต่อให้ได้หย่อนบัตรเลือกตั้งกี่ครั้ง ประเทศชาติก็คงอ่อนแอไปเรื่อยๆ ไม่ต้องโทษนักการเมือง ไม่ต้องโทษการเลือกตั้ง ต้องโทษที่ยังไม่เห็นปัญหา ไม่เข้าใจว่าอะไรคือศัตรูประชาธิปไตย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save