fbpx
คอร์รัปชัน: เราต่างเป็นเหยื่อของการโดนรังแก

คอร์รัปชัน: เราต่างเป็นเหยื่อของการโดนรังแก

ถ้าบอกว่า คนที่คอร์รัปชัน เป็น ‘เหยื่อ’

คุณผู้อ่านคิดว่ามันทะแม่งๆ ไหม?

 

ถ้าคุณคิดว่าประหลาด ลองอ่านเหตุการณ์สมมตินี่ดู (แต่ถ้าคุณคิดว่าไม่ประหลาด ก็ลองอ่านได้เหมือนกัน )

เด็กชายเอเป็นเด็กที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก ตัวค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับเพื่อน เวลาไปโรงเรียนเขาจึงโดนเด็กชายบีซึ่งเป็นหัวโจกรังแกอยู่เสมอ หลายครั้งการรังแกหนักข้อถึงขั้นทำให้เอเจ็บตัวและต้องร้องไห้ ด้วยความทั้งสองยังเป็นเด็ก การรังแกของบีจึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องการเล่นกันของเด็ก เป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ ที่จบลงด้วยความนิ่งเงียบของผู้ใหญ่ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน

วันหนึ่งโรงเรียนพาเด็กไปทัศนศึกษา บีทำเงินค่าขนม 100 บาทตกโดยไม่รู้ตัว แต่เอเห็นจังหวะนั้นพอดี ในหัวของเอก็คิดขึ้นมาทันทีว่า “นี่เป็นโอกาสดีมากที่เขาจะได้แก้แค้นบีเสียที” เขาจึงหยิบเงิน 100 บาทนั้นมาเป็นของตัวเองทันที

การกระทำของบีสมเหตุสมผลหรือไม่?

การที่เรามีพฤติกรรมคอร์รัปชันทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นเรื่องผิด เพราะเราสามารถหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง ได้ ซึ่งไอ้เหตุผลที่เราสรรหามาเข้าข้างตัวเองก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ทำเพราะความจำเป็น” “นิดหน่อยเอง” “ใครๆ ก็ทำกัน” “ทำไปไม่เดือดร้อนใครนี่” ฯลฯ

รวมถึงเหตุผลแบบเด็กชายเอด้วย, “เพราะเราโดนรังแกมาตลอด และนี่คือการเอาคืน”

เรย์มอนด์ ฟิสแมน (Raymon Fishman) และเอ็ดเวิรด์ มิเกล (Edward Miguel) สองนักเศรษฐศาสตร์ผู้สนใจปัญหาคอร์รัปชันได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างดีในการวิจัยอันโด่งดังเกี่ยวกับพฤติกรรม ‘การจอดรถของนักการทูตในเมืองนิวยอร์ก’

จุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องนี้คือ พวกเขาตั้งใจศึกษาว่า วัฒนธรรมมีผลต่อการคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งสองคนนี้เห็นว่า การศึกษาเปรียบเทียบข้ามประเทศแบบตรงไปตรงมาไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ดีเท่าไหร่นัก เพราะแต่ละประเทศต่างมีวัฒนธรรมที่ซับซ้อนเฉพาะตัว การเอาพฤติกรรมคอร์รัปชันของคนในแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกันจึงไม่ต่างจากการเอา ‘แอปเปิ้ล’ มาเทียบกับ ‘ส้ม’

ทั้งสองเห็นว่า ถ้าเราอยากศึกษาวัฒนธรรมคอร์รัปชันโดยเปรียบเทียบจะต้องเอาคนที่อยู่ต่างวัฒนธรรมมาอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันแล้วค่อยทำการศึกษา พวกเขาจึงเลือกศึกษาพฤติกรรมการจอดของนักการทูตในเมืองนิวยอร์กมาเป็นเป็นกรณีศึกษา เพราะนักการทูตมีพื้นฐานทางวัฒนธรรม (คอร์รัปชัน) ที่แตกต่างกัน แต่ต้องมาอยู่ภายใต้กฎหมายจราจรเดียวกัน (ซึ่งเป็นวิธีการที่ฉลาดโคตรๆ เลยแหละ)

รัฐบาลอเมริกันให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่นักการทูตในเมืองนิวยอร์ก กล่าวคือ เมื่อเหล่านักทูตและครอบครัวจอดรถ (ส่วนตัว) ผิดกฎจราจรและโดนใบสั่ง พวกเขาสามารถเลือกที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าปรับตามกฎหมายก็ได้ ความหายากและราคาแหงหูฉี่ของที่จอดรถในเมืองนิวยอร์กทำให้สำนักข่าว BBC ถึงกับขนานนามป้ายทะเบียนของรถนักการทูตว่าเป็น ‘บัตรจอดรถฟรีที่ดีที่สุดในโลก’ เลยทีเดียว

สิ่งที่ฟิสแมนและมิเกลสนใจคือ เมื่อเหล่านักการทูตโดนใบสั่ง พวกเขาใช้อภิสิทธิ์ที่รัฐบาลอเมริกันมอบให้มากน้อยแค่ไหน?

ผลการศึกษาชี้ว่า นักการทูตที่มาจากประเทศที่มีธรรมาภิบาลดีและวัฒนธรรมคอร์รัปชันต่ำมีแนวโน้มที่จะไปจ่ายค่าปรับเมื่อตัวเองโดนใบสั่ง ส่วนนักการทูตที่มาจากประเทศที่ฉาวโฉ่เรื่องคอร์รัปชันกลับมีแนวโน้มที่จะใช้อภิสิทธิ์ที่รัฐบาลอเมริกันให้กันอย่างกว้างขวาง

เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ นักการทูตที่มาจากประเทศที่มีวัฒนธรรมคอร์รัปชันสูง อาจเคยได้รับผลประโยชน์ในลักษณะนี้อยู่แล้ว และคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะใช้อภิสิทธิ์นี้โดยไม่ค่อยรู้สึกอะไร

หลายคนอาจจะบอกว่า ข้อมูลของฟิสแมนและมิเกลช่างไม่น่าสนใจเอาเสียเลย เพราะยังไงเสียเราก็เดาได้อยู่แล้วว่า วัฒนธรรมย่อมมีผลต่อการคอร์รัปชันแน่ๆ แต่สิ่งที่ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองค้นพบจากการศึกษาไม่ใช่แค่นั้น

ฟิสแมนและมิเกลลองจัดอันดับนักการทูตที่ใช้อภิสิทธิ์ไม่จ่ายค่าปรับจราจร พวกเขาสังเกตว่า นักการทูตจากประเทศที่ ‘เกลียด’ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะประเทศจากตะวันออกกลางที่รู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นตำรวจโลกเที่ยวรังแกประเทศอื่นเป็นกลุ่มที่ไม่จ่ายค่าปรับในลำดับต้นๆ ในขณะที่นักการทูตจากประเทศที่ชื่นชอบสหรัฐอเมริกากลับไม่ค่อยใช้อภิสิทธิ์มากเท่าไหร่ (แม้พวกเขาจะมาจากประเทศที่ฉาวโฉ่ด้านคอร์รัปชันก็ตาม)

พูดอีกแบบคือ นักการทูตเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองกำลัง ‘เอาคืน’ ในสิ่งที่สหรัฐอเมริกาทำกับพวกเขาไว้ แบบเดียวกับกรณีเด็กชายเอและเด็กชายบีข้างต้น

แน่นอนว่า การชอบหรือไม่ชอบสหรัฐอเมริกาไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการคอร์รัปชันในประเทศบ้านเกิดของนักการทูตแต่ละคน แต่ข้อค้นพบนี้ก็ชวนคิดอะไรต่อได้ไม่น้อย

ในสังคมที่คอร์รัปชันระบาดหนัก เป็นไปได้หรือไม่ว่าๆ จริงแล้วคนในสังคมนั้นต่างเป็นเหยื่อของการถูกรังแก-กดทับที่ซ่อนรูปอยู่ภายในสังคมนั้นนั่นเอง ยิ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง การรังแกยิ่งเป็นการกระทำของชนชั้นบนที่มีต่อชนชั้นล่างเป็นลำดับขั้นลงมา – ชนชั้นกดทับชนชั้นกลาง – ชนชั้นกลางกดทับชนชั้นล่าง – ชนชั้นล่างกดทับคนที่จนที่สุด

การแก้ปัญหาคอร์รัปชันจึงไม่ใช่เรื่องของการทำให้ใครเป็นคนดี หากแต่เป็นการสร้างกติกาที่ทำให้บีรังแกเอไม่ได้ในระยะสั้น ไม่ปล่อยให้การรังแกกดทับกันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่สำคัญคือ ต้องทำให้เด็กทั้งสองคนแข็งแรงไม่ต่างกันมากในระยะยาว

แล้วนั่นแหละ คอร์รัปชันถึงจะลดลงได้ด้วยตัวของมันเอง!

 

อ่านเพิ่มเติม

Fishman, R., and Miguel, E., (2008). Economic Gangsters. Princeton, New Jersey: Princeton University Press.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save