วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง
รัฐสวัสดิการ นับเป็น “นวัตกรรมทางสถาบัน” ที่สำคัญอย่างหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบ และเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจกว้างขวางในวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง
หากมองแบบผิวเผิน รัฐสวัสดิการคือประเทศที่มีสวัสดิการดี + ภาษีแพง + ค่าแรงสูง
แต่ถ้ามีองค์ประกอบเพียงแค่นั้น เหตุใดความพยายาม “ปลูกถ่าย” รัฐสวัสดิการในประเทศอื่นๆ นอกยุโรปมักล้มเหลวหรือนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม แปลว่ายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างอยู่เบื้องหลังการสร้างรัฐสวัสดิการที่เราอาจมองไม่เห็นหากสนใจเพียงตัวเลขงบประมาณและภาษี
การสร้างรัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกมีเบื้องหลังอันชุลมุนและมีความเป็นมายาวไกล
ประสบการณ์ระยะใกล้บอกเราว่า ชนชั้นกลาง มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อเส้นทางรัฐสวัสดิการในยุโรปหลังสงครามโลก
แต่กลไกของรัฐสวัสดิการจะไม่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพดังที่เป็นอยู่ หากปราศจากสงครามและการช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่นำไปสู่กระบวนการก่อร่างสร้างรัฐที่กินเวลายาวนานหลายศตวรรษ
ยุโรปสองสูง
ภาพแรกที่ผู้คนนึกถึงเมื่อได้ยินคำว่า “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) คือ สังคมที่จัดสรรงบประมาณจำนวนมาก (ราวร้อยละ 40–60 ของงบประมาณทั้งหมด) เพื่อดูแลประชาชนในด้านสาธารณสุข การศึกษา รวมถึงความช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และผู้ประสบอุบัติเหตุ
เรียกว่าเป็นสังคมที่ “ทั้งชีวิตรัฐดูแล” อย่างแท้จริง
เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับสวัสดิการหลากหลาย รัฐเหล่านี้จึงต้องเก็บภาษีสูงกว่าประเทศทั่วไป เช่น บางพื้นที่ในสแกนดิเนเวีย คนรวยต้องจ่ายภาษีเงินได้ถึงร้อยละ 55–60 แต่ผลที่ตามมาก็คือ การเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ รายได้และคุณภาพชีวิตของคนรวยกับคนทั่วไปไม่ต่างกันมาก ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการรัฐอย่างเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่พยายามเอาแนวทาง สองสูง (ภาษี + สวัสดิการ) ไปใช้กลับไม่สามารถเดินตามรอยรัฐสวัสดิการยุโรปได้ เพราะยังมีกลไกอีกหลายอย่างที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ตัวเลขสองสูง การมองเห็นแต่เพียงภาพเบื้องหน้าไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นเลยว่า
รัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกเป็นแบบเดียวกันหมดหรือเปล่า (หรือมีหลายแบบ แล้วทำไมจึงต่างกัน)?
ทำไมการบริการของรัฐจึงมีประสิทธิภาพและโปร่งใส (แทนที่ข้าราชการจะโกงกินหรือทำงานเช้าชามเย็นชาม)?
เหตุใดเศรษฐกิจของรัฐสวัสดิการยังคงเติบโตได้ แม้จะมีภาระทางการคลังระดับสูง (แทนที่จะถดถอยและล่มสลายไป)?
จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราต้องย้อนกลับไปดูว่ารัฐสวัสดิการก่อตัวขึ้นมาอย่างไรในโลกตะวันตก
จากสวัสดิกะ สู่สวัสดิการ
รัฐสวัสดิการไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางเทคนิคหรือความโอบอ้อมอารีของผู้นำ แต่เป็นผลจากกระบวนการต่อรองระหว่าง รัฐ–นายทุน–ผู้ใช้แรงงาน ภายใต้ความขัดแย้งที่เกิดจากทุนนิยมและการพัฒนาอุตสาหกรรม
การปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงแรกเต็มไปด้วยความโหดร้าย คนงานต้องทำงาน 80–100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อแลกกับค่าแรงประทังชีวิต อุบัติเหตุในโรงงานเป็นเรื่องปกติ ความเกลียดชังต่อทุนนิยมขยายวงกว้าง
หน่ออ่อนของรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในทศวรรษ 1880 เมื่อ ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) ผู้รวมประเทศเยอรมนีจัดให้มี ระบบการประกันอุบัติเหตุ สำหรับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าบิสมาร์คไม่ได้มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ เท่ากับความพยายามลดแรงต่อต้านของแรงงานที่อาจนำไปสู่ขบวนการปฏิวัติ
บิสมาร์คต้องการ “ซื้อใจ” คนงาน จึงแบ่งงบประมาณรัฐมาช่วยเหลือเพื่อให้คนงานต้องพึ่งพิงกับตัวเขาและกลไกรัฐที่เขาควบคุม
ระบบสวัสดิการเริ่มแพร่หลายมากขึ้นหลัง มหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 1929 (Great Depression) พรรค Social Democratic Party มีอำนาจในสวีเดนและทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ สร้างระบบประกันการว่างงาน เพิ่มเงินบำนาญผู้สูงอายุ และช่วยเหลือเกษตกรรายย่อย
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี 1945 รัฐสวัสดิการเริ่มกลายเป็นโมเดลหลักที่บรรดาประเทศยุโรปใช้เป็นแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจและบ้านเมือง
รัฐสวัสดิการเป็นทางเลือกที่ “สมเหตุสมผล” ที่สุดในห้วงเวลานั้น ห้วงเวลาที่ผลพวงจากสงครามอย่างความยากจนกลายเป็นปมเงื่อนหลักในสังคม กลไกตลาดที่ปราศจากรัฐถูกตั้งคำถามหนักหน่วง แรงบีบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและสงครามโลกทำให้โลกตะวันตกต้องปรับตัวครั้งใหญ่
แต่ก็เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่ทุนนิยมและประชาธิปไตยกลายเป็นกลไกหลักทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรปแล้ว รัฐบาลยุโรปจึงสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านต่างๆ ของประชาชนอย่างเป็นระบบมากขึ้น โครงการช่วยเหลือที่เคยกระจายตัวและมีอยู่อย่างสะเปะสะปะได้รับการปฏิรูปขนานใหญ่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเผชิญแรงกดดันเดียวกัน แต่รัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้นในยุโรปก็ยังเดินไปในเส้นทางที่แตกต่างกันอย่างน้อย 3 เส้นทาง
ชนชั้นกลางและรัฐสวัสดิการ 3 แบบ
ประเทศตะวันตกไม่ได้กลายเป็น รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ประชาชนได้รับสิทธิต่างๆ ในฐานะที่เป็น “พลเมือง” ของสังคมแบบที่สแกนดิเนเวียเป็น (สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์) ไปทั้งหมด
ประเทศอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา มีลักษณะเป็น รัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยม ที่ “กลไกตลาด” ยังคงมีบทบาทสำคัญ ประชาชนได้รับเพียงสวัสดิการพื้นฐานจากรัฐ หากผู้ใดต้องการมีประกันชีวิตและเงินบำนาญก็ต้องไปซื้อกับบริษัทเอกชนหรืออิงกับนายจ้างของตน
ส่วนเยอรมนี อิตาลี และสเปน เดินเข้าสู่เส้นทาง รัฐสวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยม ที่ประชาชนต้องฝากชีวิตไว้กับ “ครอบครัว” หรือ “สมาคมวิชาชีพ” สิทธิของแต่ละคนขึ้นกับว่าเขาทำประโยชน์ให้กับสังคมมากน้อยเพียงใด (เช่น ผันแปรตามภาษีที่จ่าย) สตรีที่เป็นแม่บ้านจะไม่ได้รับสวัสดิการในฐานะ “พลเมือง” เหมือนในสแกนดิเนเวีย แต่ได้รับในฐานะที่เธอเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่สามีของเธอทำงานในระบบ
เหตุใดประเทศตะวันตกจึงตอบสนองต่อแรงกดดันเดียวกันด้วยรูปแบบรัฐสวัสดิการที่ต่างกัน?
ชนชั้นกลาง เป็นตัวแปรสำคัญ
ชนชั้นกลางเลือกเป็น “พันธมิตร” กับใครนับเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดเส้นทางรัฐสวัสดิการของประเทศตะวันตก
หากชนชั้นกลางจับมือกับแรงงานและเกษตรกรได้เมื่อใด ระบบสวัสดิการในสังคมนั้นมักจะมีลักษณะครอบคลุมถ้วนหน้าดังที่เกิดในสแกนดิเนเวีย
อย่างไรก็ดี ชนชั้นกลางจะเป็นอยู่ข้างคนรวยหรือคนจนขึ้นกับ “รูปแบบการเมือง” เป็นสำคัญ (ย้ำอีกทีว่าเป็นรูปแบบการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย)
ในประเทศที่เป็นระบบ สองพรรคใหญ่ (two-party system) ความขัดแย้งระหว่าง “นายทุนกับแรงงาน” มักเป็นปมเงื่อนใหญ่ของสังคม ทำให้พรรคใหญ่พรรคหนึ่งมักเลือกข้างทุน (พรรคอนุรักษ์นิยม) ส่วนอีกพรรคเลือกข้างผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร (พรรคแรงงาน) ไปโดยปริยาย ในระบบการเมืองเช่นนี้ ชนชั้นกลางตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เพราะไม่มีพรรคที่เป็นตัวแทนของตนเองอย่างชัดเจน สุดท้ายจึงมักเลือกอยู่ข้างพรรคนายทุน เพราะแม้ตัวเองอาจไม่ได้รับสวัสดิการเพิ่มหากพรรคนายทุนเป็นรัฐบาล แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เรียกว่าเสมอตัว ไม่ขาดทุน ในทางกลับกัน หากชนชั้นกลางปล่อยให้พรรคแรงงานเป็นรัฐบาล ตัวเองอาจได้รับสวัสดิการเพิ่มเล็กน้อย (เมื่อเทียบกับแรงงาน) แต่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มสูงมาก ชนชั้นกลางในระบบการเมืองสองพรรคจึงยอมลงคะแนนให้พรรคนายทุน ทำให้พรรคฝ่ายขวามีแนวโน้มจะครองอำนาจ และสร้าง “รัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยม” ในระบบการเมืองสองพรรคใหญ่
ประเทศที่มีระบบ รัฐบาลผสม (multi-party system) ประเด็นต่อสู้ทางการเมืองจะหลากหลายกว้างไกลกว่าการเลือกข้างทุนหรือแรงงาน เพราะแต่ละพรรคพยายามหาคะแนนเสียงกับกลุ่มเฉพาะต่างๆ (เช่น สิ่งแวดล้อม ชาตินิยมหลายเฉด แม้แต่พรรคแรงงานกับพรรคเกษตรกรก็แยกกัน) พรรคฝ่ายซ้ายจึงไม่ได้ดูน่ากลัวหรือสุดโต่งมากนักในสายตาของชนชั้นกลาง พวกเขาส่วนใหญ่จึงทำใจยอมเลือกพรรคฝ่ายซ้ายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสมได้ ทำให้พวกเขาเป็นพันธมิตรกลายๆ กับชนชั้นแรงงานและเกษตรกร ท้ายที่สุด รัฐบาลผสมที่มีฝ่ายซ้ายร่วมทีมมักเลือกเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น เพื่อมาสนับสนุนชนชั้นกลางและล่าง เดินเข้าสู่เส้นทาง “รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า”
นอกจากชนชั้นกลางกับระบบการเมืองแล้ว ยุโรปภาคพื้นทวีป (Continental Europe) ยังได้รับอิทธิพลจากศาสนจักร การต่อสู้ระหว่างรัฐกับโบสถ์เป็นปมสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยังคลี่คลายไม่สุด เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้สนับสนุนคาทอลิกก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อรักษาอิทธิพลของตนเอง “รัฐสวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยม” ที่มอง “ครอบครัว” (ไม่ใช่ปัจเจกชน) เป็นหน่วยย่อยสุดของสังคม มักเกิดจากการจับมือร่วมรัฐบาลกันระหว่างพรรคสังคมประชาธิปไตยกับพรรคคาทอลิก
ชนชั้นกลางจะอยู่ข้างใคร ระบบการเมืองเป็นสองพรรคหรือพรรคผสม พรรคคาทอลิกมีบทบาทแค่ไหน จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เส้นทางรัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกแตกต่างกันออกไป
สงครามสร้างรัฐ รัฐสร้างสงคราม
ชนชั้นกลางและระบบการเมืองอาจตอบคำถามเรื่องเส้นทางรัฐสวัสดิการที่ต่างกัน 3 รูปแบบได้ แต่อีกคำถามที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นก็คือ เหตุใดรัฐในโลกตะวันตกจึงมีประสิทธิภาพในการจัดระบบสวัสดิการดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ
เพราะต่อให้รัฐ “ประกาศ” ว่าจะมีสวัสดิการดีเพียงใด หาก “มือไม้” ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างรัฐกับประชาชนไร้ประสิทธิภาพแล้ว สวัสดิการก็คงกลายสภาพเป็น “ส่วย” ที่ตกอยู่กับข้าราชการเสียมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐที่มีแต่ความเข้มแข็งอย่างเดียวก็ยังไม่พอ เพราะหากอำนาจไม่กระจายตัวและไม่ยึดกฎหมายเป็นหลักก็มักจะกลายเป็นรัฐเผด็จการไปในที่สุด
รากฐานที่ทำให้รัฐสวัสดิการในตะวันตกต่างจากรัฐอื่นคือการเป็นทั้ง รัฐเข้มแข็ง + ยึดกฎหมาย + กระจายอำนาจ ไปพร้อมกัน
รากฐานแต่ละด้านไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายหรือเกิดเพราะผู้นำประเทศเป็นคนดี แต่เป็นเพราะประเทศตะวันตกผ่านการก่อร่างสร้างรัฐมายาวนาน ทั้งยังเป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความสูญเสีย
ดังที่ ชาร์ลส์ ทิลลี (Charles Tilly) เคยสรุปไว้อย่างกระชับว่า
“สงครามสร้างรัฐ…รัฐสร้างสงคราม”
“War Made the State and the State Made War.”
การก่อสงครามทำให้แต่ละสังคมต้องระดมทรัพยากรทั้งไพร่พล เสบียง เงินทอง อาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างกว้างขวางภายในเวลาจำกัด สังคมที่เอาชนะหรืออยู่รอดผ่านการสู้รบต่อเนื่องจึงกลายเป็นรัฐรวมศูนย์ที่มีประสิทธิภาพในที่สุด
ภาวะสงครามสร้างรัฐเกิดขึ้นเข้มข้นที่สุดในยุโรป ในประวัติศาสตร์จีนบางราชวงศ์ แต่เบาบางกว่านั้นมากในเอเชียและลาตินอเมริกา นักประวัติศาสตร์การเมืองเชื่อว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายระดับความเข้มแข็งที่แตกต่างกันของรัฐต่างๆ ได้ดี
ประวัติศาสตร์ยุโรปยังมีเงื่อนไขเฉพาะที่เอื้อให้ rule of law ฝังแน่นอยู่ในสังคมได้
ในบางรัฐเช่นอังกฤษก่อนศตวรรษที่ 11 กษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจเท่าขุนนางท้องถิ่น เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ต้องการเพิ่มอำนาจของสถาบันกษัตริย์ จึงต้องเดินทางไปทั่วอาณาจักรเพื่อขยายบทบาทของ “ศาลจากส่วนกลาง” (royal justice system) แข่งกับระบบพิพากษาในแต่ละท้องถิ่นที่จัดการโดยเจ้าเมือง
ชาวบ้านที่ถูกลงโทษในศาลท้องถิ่นสามารถร้องเรียนให้ศาลของกษัตริย์เข้ามาตัดสินคดีใหม่ได้ เพราะเจ้าเมืองมักเอียงข้างพวกพ้องหรือเครือญาติของตน คาราวานศาลของกษัตริย์จึงได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างรายได้จากค่าบริการและความชอบธรรมให้กับสถาบันกษัตริย์ไปพร้อมกัน
นานวันเข้า การช่วงชิงอำนาจนำระหว่างท้องถิ่น–ส่วนกลางจึงก่อให้เกิด rule of law ในอังกฤษไปโดยปริยาย เพราะศาลของกษัตริย์ต้องจัดระบบและวางหลักการให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่แพร่ขยายไปทั่วประเทศ
การเข้าใจประวัติศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของรัฐสวัสดิการได้ดีขึ้น
เพราะถึงอย่างไร คำว่า “สวัสดิการ” ก็เป็นคำคุณศัพท์ที่ขยายว่าคำว่า “รัฐ” หากไม่มีรัฐที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน สวัสดิการใดๆ ย่อมไร้ประสิทธิผล
ถอดบทเรียนตะวันตก
แน่นอนว่าการถอดบทเรียนเชิงนโยบายไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นต้องมีประวัติศาสตร์เหมือนกับยุโรปเป๊ะๆ จึงจะสามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้
ผมย้ำกับนักศึกษาในคลาสอยู่เสมอว่า เวลาเราพูดถึงนัยเชิงนโยบาย เราต้องคิดถึง การเทียบเคียง ด้านนโยบายและกลไกทางสถาบัน (policy and institutional equivalence)
การรู้ว่ายุโรปสร้างรัฐเข้มแข็งผ่านสงคราม ไม่ได้แปลว่า ต้องก่อสงครามเพื่อสร้างรัฐ
แต่หมายความว่า หากไร้ แรงกดดัน ให้ผู้นำต้องระดมทรัพยากรในเวลาอันสั้น ผู้นำย่อมไร้แรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกราชการ
จะกดดันอย่างไรในโลกยุคโลกาภิวัตน์นั่นเป็นอีกเรื่อง ปล่อยให้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นตัวบีบ ทำผ่านกลไกการเลือกตั้ง หรือประชาสังคมต้องออกมาเคลื่อนไหว มีทางเลือกหลายทางให้คิดต่อ แต่ต้องตั้งหลักให้ถูกเสียก่อน
เช่นเดียวกัน การรู้ว่านิติธรรมเกิดในอังกฤษได้เพราะการชิงอำนาจกันระหว่างศาลกษัตริย์กับศาลเจ้าเมือง ก็ไม่ได้แปลว่า ประเทศอื่นๆ ต้องทำแบบเดียวกัน
แต่หมายความว่า การแข่งขัน (competition) มีความสำคัญต่อการหยั่งรากของระบบยุติธรรมในสังคมมากกว่าการผูกขาด (monopoly) และวงปิดของกระบวนการพิพากษา
จะทำอย่างไรให้การแข่งขันดังกล่าวเพิ่มขึ้นในบริบทปัจจุบัน ก็มาว่ากันอีกที
บทเรียนระยะใกล้เรื่องทางเลือกของชนชั้นกลางและระบบการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กัน
หากปมการเมืองถูกลดทอนให้เหลือเพียงคำถามว่า คุณจะเอาทุนนิยมหรือเอาแรงงาน เมื่อไหร่ ชนชั้นกลางย่อมเลือกอยู่ข้างนายทุนเป็นแน่เพราะประเมินแล้วว่าเสียหายน้อยกว่า สุดท้ายแรงงานเองก็จะไม่ได้ระบบสวัสดิการดังที่ตนใฝ่ฝัน
การสร้างรัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการดี ภาษีแพง ค่าแรงสูง
อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีชนชั้นกลาง ทุนนิยม ระบบการเมือง และนิติธรรม อยู่ในสมการด้วย
อย่างน้อยๆ นะครับ
อ้างอิง
- บทความนี้นำมาจากการนำเสนอในงานสัมมนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Veerayooth Kanchoochat “Welfare State-building in Europe and East Asia: Political Economy Lessons”, presented at the Bangkok Forum “Future Sustainable Asia”, Chulalongkorn University, 24–25 October 2018.
- หากสนใจดีเบตทางทฤษฏีและคำอธิบายรัฐสวัสดิการชุดต่างๆ ดู Kees van Kersbergen and Barbara Vis (2014) Comparative Welfare State Politics: Development, Opportunities, and Reform. Cambridge University Press.
- หากสนใจการก่อร่างสร้างรัฐในโลกตะวันตก ดู Francis Fukuyama (2011) The Origins of Political Order: From Prehuman Times to the French Revolution. Farrar, Straus and Giroux.
- โมเดลรัฐสวัสดิการ 3 รูปแบบนำมาจาก Gøsta Esping-Andersen (1999) Social Foundations of Postindustrial Economies. Oxford University Press. แม้รัฐสวัสดิการจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่กรอบข้อเสนอในฐานะ typology ยังใช้เปรียบเทียบความแตกต่างได้ดีอยู่ ดูการอภิปรายใน van Kersbergen and Vis (2014: Chapter 4).