fbpx
ปลดล็อกพันธนาการ รื้อสร้างใหม่ ‘งบประมาณ’ ไทย ให้ทุกบาททุกสตางค์ตอบโจทย์ประเทศชาติอย่างแท้จริง

ปลดล็อกพันธนาการ รื้อสร้างใหม่ ‘งบประมาณ’ ไทย ให้ทุกบาททุกสตางค์ตอบโจทย์ประเทศชาติอย่างแท้จริง

ในการขับเคลื่อนหรือพัฒนาประเทศ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรือธงสำคัญหนึ่งคือ ‘งบประมาณแผ่นดิน’ หากประเทศใดมีกระบวนการจัดทำออกแบบงบประมาณที่เข้มแข็ง มีการกระจายเม็ดเงินที่ให้น้ำหนักตามเป้าหมายประเทศแต่ละด้านได้อย่างเหมาะสมลงตัว และทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะถูกใช้ด้วยความคุ้มค่าอย่างแท้จริง ประเทศนั้นย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 2-3 ปีงบประมาณที่ผ่านมา วิกฤตต่างๆ ที่เข้าถาโถมประเทศ ไม่ว่าจะวิกฤตการระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง ได้เข้ามาเป็นเหมือนแสงที่สาดส่องให้จุดอ่อนของระบบงบประมาณไทยที่ฝังรากมายาวนานได้เป็นที่เห็นเด่นชัดขึ้น เพราะในยามที่ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า กลับดูเหมือนว่าการจัดสรรเม็ดเงินไม่ได้ตอบโจทย์ที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูมากอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ระเบียบข้อกฎหมายหลายอย่างที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อกำกับดูแลคุณภาพงบประมาณและวินัยการเงินการคลังประเทศ ก็กำลังเป็นที่ประจักษ์ในวันนี้ว่าเป็นดาบสองคม เพราะได้กลายเป็นโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งให้การจัดทำงบประมาณไม่อาจยืดหยุ่นได้ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ไร้ซึ่งความแน่นอน และที่สำคัญ การตรวจสอบงบประมาณก็ยังทำได้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น แม้นี่จะเป็นห้วงยามสำคัญที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่งว่างบประมาณที่มาจากเงินภาษีของพวกเขาจะถูกใช้ไปกับอะไร

ภายใต้ระบบงบประมาณที่เต็มไปด้วยรอยแผลช่องโหว่แบบนี้ เราจึงไม่อาจเห็นได้ว่าประเทศจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างไรในช่วงเวลาอันเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง

101 จึงชวน ไชยา พรหมา ส.ส.พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ, ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยแบ่งปันทัศนะถึงปัญหาโครงสร้างในกระบวนการจัดทำงบประมาณแผ่นดินของไทย พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูประบบงบประมาณใหม่ ไปสู่งบประมาณไทยที่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า โปร่งใส มีส่วนร่วม และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในโลกใหม่อย่างแท้จริง

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 (mid)night round “งบประมาณ 2565 ฝ่าวิกฤต: ทางตัน ทางเลือก ทางรอด” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ทาง Clubhouse

จัดลำดับความสำคัญ คลายพันธนาการจากระบบราชการ
สู่งบประมาณที่ตอบโจทย์อนาคต – ไชยา พรหมา

งบประมาณปี 2565 เป็นงบประมาณที่รัฐบาลไม่ได้เตรียมตัวเพื่อมาแก้ไขสถานการณ์วิกฤตของประเทศ ที่จริงแล้วงบปีนี้ควรจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหา รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยา หากการระบาดผ่านพ้นไปได้ แต่เราจะเห็นได้ว่าการจัดเตรียมงบประมาณในปี 2565 อาจมีการประเมินบางอย่างที่ผิดพลาด เพราะขณะที่มีการเตรียมการงบประมาณอยู่ รัฐบาลก็ตัดสินใจออก พ.ร.ก.เงินกู้อีกฉบับที่มูลค่า 5 แสนล้านบาท ทั้งที่จริงรัฐบาลไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้เลย หากจัดความสำคัญของปัญหาได้ดีตั้งแต่แรก โดยที่ผ่านมารัฐบาลมักจะเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการใช้มาตรการแจกเงิน แต่ไม่ได้มีมาตรการที่นำไปสู่การฟื้นฟูและแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง รัฐบาลควรต้องคิดว่าจะใช้งบประมาณไปกับอะไรที่สำคัญบ้าง และมีอะไรที่ยังไม่จำเป็นในตอนนี้บ้าง   

งบประมาณปี 2565 นี้ตั้งยอดรายจ่ายลดลงมาจากปีงบประมาณ 2565 อยู่เกือบ 2 แสนล้านบาท ด้วยว่ารายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้สำนักงบประมาณบีบสัดส่วนงบทุกกระทรวงลงมา ทำให้ปีนี้ตัวเลขรายจ่ายทุกกระทรวงปรับลดลงเหมือนกันหมด อย่างไรก็ตาม ต่อให้บางกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมจะโต้ว่างบลดลงไปแล้ว แต่ที่จริงควรจะปรับลดได้มากกว่านี้อีก เพราะรายจ่ายบางเรื่องของกระทรวงกลาโหมก็ไม่ได้จำเป็นต่อสถานการณ์ในตอนนี้

ตรงนี้สะท้อนถึงปัญหาของการจัดทำงบประมาณที่ทำในมิติระบบราชการ คือมักทำในเชิงประเพณีปฏิบัติ พอถึงเวลาใกล้ปีปฏิทินเข้ามา ระบบราชการก็จำเป็นต้องทำเรื่องเสนองบให้ทันปีปฏิทินใหม่ ต้องมานั่งทำเกณฑ์ ดูงบประมาณปีที่ผ่านมาเป็นฐาน ดูตัวเลขเงินเฟ้อต่างๆ เพื่อมาตั้งฐานในปีต่อไป จะเห็นว่าเป็นเรื่องรูทีน (routine) มาก แล้วปัญหาคืองบประมาณปีที่ผ่านมายังไม่ทันจบ งบประมาณปีต่อมาก็ต้องเข้าสู่สภาแล้ว มันจึงไม่ได้ตอบโจทย์สอดรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่าที่ควร

อีกปัญหาคือการตั้งงบประมาณของเราไปมุ่งเน้นอิงอยู่กับยุทธศาสตร์แผนงานมากเกินไป อย่างในตอนนี้ก็ต้องวางให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผูกติดกับระบบราชการอยู่เหมือนเดิม โดยในปีงบประมาณ 2565 จะเห็นว่ามีกรอบยุทธศาสตร์อยู่ 6 ด้าน แต่กลับขาดอีกด้านหนึ่ง คือการแก้วิกฤตโควิด-19

ขณะเดียวกัน เรายังไม่เห็นทิศทางการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนงบลงทุนที่ชัดเจนนัก แล้วอาจกระจายเม็ดเงินไปได้ไม่ครอบคลุมและไม่ถูกจุด โดยภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง และภาคการขนส่งได้รับเม็ดเงินส่วนนี้มากขึ้น ทว่าภาคการเกษตร และเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกลับได้รับน้อยลง

ที่ผ่านมาเราอาจให้ความสำคัญกับคำว่ารายจ่ายลงทุนกันแบบผิดๆ มากเกินไป เพราะที่จริงไม่ได้แปลว่างบลงทุนจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจได้เสมอไป เช่น งบวัสดุก่อสร้างต่างๆ อาจไม่ใช่งบลงทุนเสมอไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อน อย่างงบการพัฒนาถนนก็ดูเหมือนจะมีในส่วนงบลงทุนมากเกินไป แต่ที่จริงงบส่วนนี้มีการแทรกอยู่ในงบกระทรวงคมนาคม และอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดต่างๆ อยู่แล้ว เราจึงต้องประเมินกันดีๆ ว่า เราต้องการถนนมากขนาดนั้นหรือไม่ และมีอะไรที่เราควรต้องให้ความสำคัญมากกว่าหรือไม่ อย่างงบวิจัยและพัฒนา ควรจะถูกนับเข้ามาลงทุนด้วยหรือไม่

ที่สำคัญ การตรวจสอบงบประมาณก็สามารถทำได้ยากมาก โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบกลางซึ่งอยู่ในมือของนายกฯ ซึ่งควรเปิดเผยได้ว่าใช้ส่วนไหนไปบ้าง แต่เมื่อทางกรรมาธิการขอรายละเอียดไปทางสำนักนายกรัฐมนตรี กลับไม่เคยได้เลย จึงเป็นข้อจำกัดในการทำงานมาก เราจึงต้องมาหาวิธีการกันว่าจะทำอย่างไรให้กลไกการตรวจสอบงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราอาจต้องให้อำนาจของฝ่ายสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลมากกว่านี้ และผมก็อยากเห็นองค์การการตรวจสอบงบประมาณในลักษณะสหปาร์ตี้ คือมีทั้งคนจากส่วนราชการ ภาคการเมือง และภาคประชาชนร่วมกัน โดยเฉพาะภาคประชาชน ที่เราควรมีกลไกให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งในระดับพื้นที่ ภูมิภาค และประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ควบคุมให้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนสูงสุดอย่างแท้จริง   

และภายใต้สถานการณ์แบบนี้ เราควรมีความยืดหยุ่นในการแก้ไขงบประมาณมากกว่านี้ กรอบและพันธนาการต่างๆ ที่มีอยู่ควรจะต้องปลดล็อกออกไป เพื่อให้งบประมาณมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประเทศชาติอย่างแท้จริง      

ปลดโซ่ตรวนแห่งระเบียบกฎหมาย ทำงบประมาณให้ยืดหยุ่น คุ้มค่า และตรวจสอบได้ – ศิริกัญญา ตันสกุล

ในปี 2565 ถ้าเราจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก็จะเป็นปีที่เราได้มาฟื้นฟูประเทศกันอย่างจริงจังหลังจากที่ผ่านความบอบช้ำมามาก แต่พอมาดูงบประมาณปี 2565 บวกกับเงินกู้ จะเห็นว่าตัวเลขกลับลดลงถึงเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าทำไมถึงได้ลดงบประมาณลงภายใต้สถานการณ์แบบนี้ แม้นักเศรษฐศาสตร์จะบอกว่าเราขาดดุลงบประมาณมาเยอะมากแล้ว แต่นี่ไม่ควรเป็นเวลาที่มาปรับสมดุล เพราะสถานการณ์วิกฤตยังไม่ดีขึ้น

การตั้งงบประมาณของเราตั้งต้นจากรายได้ จากเดิมมีการประมาณไว้ว่าในปีงบประมาณ 2565 เราจะจัดเก็บรายได้ได้ 2.8 ล้านล้านบาท แต่พอไปดูปี 2564 เราจัดเก็บได้จริงแค่ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้คาดว่ารายได้ปี 2565 จะจัดเก็บได้น้อยลงมากกว่าที่คาด พอตั้งต้นจากตัวเลขรายได้เท่านี้ การตั้งตัวเลขงบประมาณจึงไปได้ไม่ถึงที่ควรจะเป็น เพราะเหตุผลสำคัญคือ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2548 ที่กำหนดเพดานเงินกู้ไว้ให้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายบวกกับ 80% ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ จึงเหมือนกับว่าข้อกฎหมายที่มีอยู่เป็นสิ่งที่มาผูกมัดเราในยามวิกฤต ทั้งที่เราควรจะใช้งบประมาณได้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ในช่วงเวลาแบบนี้ ที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อย่างในปี 2553 เราเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องปรับลดงบประมาณไปทั้งที่ประเทศกำลังต้องการการฟื้นฟู ปีนี้เราก็มาเจอแบบเดียวกันอีก

ประเด็นต่อมาคือเรื่องประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ถ้าย้อนดูการใช้งบในปี 2563 จะเห็นว่าประสิทธิภาพยังต่ำต้อย โดยส่วนที่เป็นรายจ่ายลงทุน เราเบิกไปใช้จริงเพียง 66% จากที่ตั้งไว้เท่านั้น แล้วต่อให้ปีนั้นเรากู้จนเต็มเพดาน เราก็ยังใช้งบประมาณทั้งหมดต่ำกว่าวงเงินอยู่ราว 2 แสนล้านบาท แล้วพอถึงปีงบประมาณ 2564 ก็จะเห็นว่างบประมาณไม่ค่อยตอบโจทย์สถานการณ์โควิด-19 เท่าไหร่นัก เพราะงบประมาณถูกจัดทำก่อนหน้านั้นนานมากตั้งแต่ปลายปี 2562 และไม่ได้มีการรื้อแก้ให้สอดรับกับสถานการณ์ภายหลัง ทั้งที่จริงปัญหานี้สามารถแก้ได้ง่ายมาก โดยนายกฯ สามารถสั่งรื้อแก้ได้ แต่กลายเป็นว่ามีการแก้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ เรายังไม่มีการปรับประมาณการรายได้ให้สอดคล้อง อย่างการประมาณการรายได้ของปีงบประมาณ 2564 ทำขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่พอเกิดวิกฤตขึ้น ก็ยังคงตั้งเป้ารายได้ไว้เท่าเดิม ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่าการจัดเก็บรายได้พลาดเป้าไปมาก สถานการณ์จึงเป็นแบบปีก่อนหน้า คือต่อให้กู้มาเต็มเพดาน ก็ยังใช้งบได้ไม่เต็มวงเงิน ซึ่งส่วนที่เราใช้ไม่ถึงในแต่ละปี เราก็จะใช้เงินคงคลังเข้ามาเติมแทน แต่ตอนนี้เราเหลือเงินคงคลังอยู่ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท แล้วเมื่อปี 2563 เราใช้เงินต่ำกว่าวงเงินไปราว 2 แสนล้านบาท ปี 2564 ขาดไปอีกราว 2.5 แสนล้านบาท ถ้าเราต้องใช้เงินคงคลังมาโปะตรงนี้ทั้งหมด คงเรียกได้ว่าสถานการณ์การคลังของประเทศเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

ส่วนในงบประมาณปี 2565 ดูเหมือนว่าเราให้ความสำคัญกับรายจ่ายลงทุนกันมากเกินไป เราอาจไปจินตนาการว่างบส่วนนี้เป็นงบที่นำไปสู่ความเจริญ เช่น งบโครงสร้างพื้นฐาน งบการศึกษา หรืองบวิจัย แต่ปรากฏว่างบเหล่านี้แทบไม่ได้ปรากฏอยู่ในงบรายจ่ายลงทุนขนาดนั้น แล้วปัญหาคือแค่งบซื้ออาวุธ หรืองบตัดถนน ก็ถูกนับเป็นรายจ่ายลงทุนแล้ว อีกปัญหาหนึ่งของงบส่วนนี้คือการที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดว่าเราต้องมีรายจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% ของรายจ่ายงบประมาณทั้งหมด นี่จึงกลายเป็นพันธนาการตัวที่สอง ที่ทำให้เราต้องไปตัดทอนรายจ่ายประจำจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้มีแค่งบส่วนเงินเดือนข้าราชการ แต่ยังมีงบด้านการศึกษาวิจัย หรืองบส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์ เพื่อรักษาสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนให้อยู่ที่ 20% ให้ได้ จึงเห็นว่างบปี 2565 โดนตัดเหี้ยน เราจึงต้องตั้งคำถามว่าเราตั้งกรอบงบรายจ่ายลงทุนนี้เพื่ออะไร เพราะถ้าเจาะดูในงบส่วนนี้จะเห็นว่างบเพื่อการพัฒนาจริงๆ มีเพียง 9% จาก 20% เท่านั้น

การกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก เพราะถ้าจะดูว่าประเทศมีความสามารถในการกู้เงินเพิ่มหรือไม่ ต้องดูที่รายได้ของรัฐมากกว่าว่าแต่ละปีจะจ่ายดอกเบี้ยเงินต้นได้มากเท่าไหร่ ซึ่งในปัจจุบันเรามีภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณรายได้อยู่ที่ 7% แล้วถ้ารวมเงินต้นด้วย ก็อยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ยังไม่อันตราย แล้วถ้าดูในฝั่งสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่จริงก็คาดว่าในปี 2565 จะมีตัวเลขที่แตะถึงเพดาน 60% แน่ แต่การดูตัวเลขนี้อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ เพราะอย่างหนึ่งคือหนี้สาธารณะของเรานับรวมหนี้แปลกๆ หลายอย่างเข้าไปด้วย เช่น หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่ภาระของรัฐบาล หรือหนี้บางอย่างก็ควรนับรวมแต่กลับไม่รวม เช่น หนี้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนตัวจึงเห็นว่าเราไม่ควรให้ความสำคัญกับตัวเลข 60% นี้มากเกินไปท่ามกลางสถานการณ์ตอนนี้

ที่จริงการแก้ไขเรื่องกรอบหนี้สาธารณะสามารถทำได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังซึ่งมีนายกฯ นั่งหัวโต๊ะอยู่แล้ว และที่สำคัญหากเราจะรื้อสร้างงบประมาณใหม่ เราต้องมาให้ความสำคัญกับเรื่องการประเมินความคุ้มค่ามากขึ้นด้วย ซึ่งอันที่จริง สิ่งนี้เป็นปัญหากวนใจมากยิ่งกว่าการทุจริตเสียด้วยซ้ำ เพราะความไร้ประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเยอะกว่า

ตามปกติเรามีการประเมินความคุ้มค่าของงบประมาณโครงการต่างๆ โดยการให้เกรด แต่โครงการไหนที่ได้เกรดต่ำ ก็ไม่ได้มีการให้ข้อเสนอแนะใดๆ ที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ การเบิกจ่ายใช้งบประมาณก็เต็มไปด้วยช่องโหว่ หลายโครงการไม่ได้มีการเบิกจ่ายเลย แม้จะเป็นโครงการที่สำคัญต่อความเป็นความตายของประชาชนในช่วงวิกฤต บางโครงการที่เป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็มีการเบิกจ่ายต่ำ แถมยังมีปัญหามาก อย่างเช่น การเยียวยาประชาชนที่มีคนตกหล่นไม่น้อย

นอกจากนี้ การตรวจสอบงบประมาณของรัฐบาลปัจจุบันก็ทำได้ยาก กระบวนการที่สภาสามารถเข้าไปตรวจสอบได้มีช่องทางน้อย มีการโดนกีดกันอยู่มาก ขณะที่ในช่วงหลังฝั่งรัฐบาลก็มีลับลมคมในเยอะ เพราะมักคุยกันแบบตีลับ ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณออกมา โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญที่สุดคือ งบกลางที่แทบไม่ค่อยมีการชี้แจงเท่าไหร่นัก จึงเห็นว่าการตรวจสอบควรต้องทำได้ง่ายขึ้น เพื่อนำไปสู่การใช้งบประมาณอย่างมีความคุ้มค่าได้จริง

และอีกส่วนหนึ่งที่ควรต้องแก้ไขก็คืองบประมาณบางส่วนที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนค่อยๆ กินพื้นที่ภาระงบประมาณอย่างไม่จำเป็น เช่น การใช้งบประมาณในส่วนเงินสวัสดิการข้าราชการที่ขยายขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2565 ส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 40 ของงบรายจ่ายประจำปี ขณะที่สวัสดิการของประชาชนกลับโดนตัดลง เป็นสิ่งสะท้อนถึงโครงสร้างรัฐที่ใหญ่โตเกินไป แล้วยังไม่มีการพูดคุยกันว่าจะลดทอนภาระงบส่วนนี้อย่างไร นอกจากนั้น ส่วนที่เป็นงบผูกพันก็กำลังเพิ่มภาระงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งส่วนมากเป็นงบที่ต้องทยอยจ่ายในแต่ละปี โดยกระทรวงหนึ่งที่มีงบผูกพันเยอะคือกระทรวงกลาโหม ที่มักมีระยะเวลาผ่อนยาวนานกินหลายปีงบประมาณ แล้วไม่ค่อยยอมเลื่อนจ่าย ตรงนี้จึงสร้างปัญหาความยืดหยุ่นให้กับงบประมาณไม่น้อย

โดยสรุป หากจะรื้อสร้างใหม่งบประมาณไทย เราต้องมาคุยกันเรื่องความคุ้มค่าของงบประมาณมากขึ้น อีกทั้งต้องแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นเชือกมัดคอให้เราไม่อาจมีงบประมาณที่ยืดหยุ่น นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณควรต้องยึดบนฐานของ strategic performance-based คือการเน้นคุยตามเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ว่าการใช้งบจะตรงเป้าหมายและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร แทนที่จะเสียเวลากับเรื่องยิบย่อยอื่นๆ เหมือนอย่างการทำงบประมาณของสิงคโปร์ที่มีเป้าหมายชัดเจน มีการพูดคุยบนฐานของเป้าหมายจริงๆ ทั้งยังสามารถเข้าถึงตรวจสอบได้ง่าย และที่สำคัญ การจัดทำงบประมาณของไทยต้องเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากกว่านี้

งบทุกบาทต้องคุ้มค่า ประชาชนต้องวางใจได้
– อธิภัทร มุทิตาเจริญ

ทุกวันนี้เรากำลังเข้าสู่บริบทสถานการณ์แบบใหม่ การวางกรอบหนี้สาธารณะไว้ที่ 60% แบบเดิมจึงอาจไม่เหมาะสมกับปัจจุบันแล้ว เพราะตัวเลขนี้ถูกดีไซน์ขึ้นมาในบริบทที่เรายังมีสัดส่วนหนี้อยู่เพียง 40% แทนที่เราจะไปให้ความสำคัญกับตัวเลขนี้ โจทย์ที่เราควรคิดมากกว่าคือ จะทำอย่างไรให้รัฐบาลมีความน่าเชื่อถือในการออกพันธบัตร และมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือเรื่องความคุ้มค่าในการใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับความสำคัญมากนัก จนถือเป็นจุดอ่อนทางการคลังที่สำคัญของเรา

ปัจจุบันเราไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้รัฐบาลใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าได้ เช่น ไม่ได้มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประเมินความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ แต่เป็นรัฐบาลที่ประเมินด้วยตัวเอง ซึ่งที่จริงก็อาจไม่ผิด แต่เพื่อความน่าเชื่อถือที่มากขึ้น ก็ควรมีคนที่สังคมรู้สึกวางใจเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้มากกว่า เหมือนอย่างสหรัฐฯ ที่มี Congressional Budget Office (CBO) เป็นหน่วยงานกลางที่วิเคราะห์งบประมาณต่างๆ ของรัฐบาล แล้ว CBO ก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีความเป็นกลางและเป็นอิสระ ต่อให้มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ก็ยังคงมีทิศทางการทำหน้าที่ไม่เปลี่ยนไป  

นอกจากนี้ ความโปร่งใสในการใช้งบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกวันนี้ในรายจ่ายหลายรายการ ยังมีรายจ่ายซ่อนเร้นที่ไม่ถูกเปิดเผยออกมา เช่น รายจ่ายด้านการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน BOI (The Board of Investment of Thailand) ซึ่งหลังจากปี 2018 ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยอีกเลย

ประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณจัดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในยุคนี้ที่เราไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้า เราจำเป็นต้องสร้างสังคมที่ผู้คนมีความเต็มใจที่จะจ่ายภาษีมากขึ้น โดยต้องทำให้เขาสบายใจว่าภาษีที่พวกเขาจ่ายให้รัฐบาล จะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ โจทย์เรื่องความคุ้มค่าจึงถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่มากของเราในอนาคต


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save