fbpx
รัฐพุทธในจอกสุรา

รัฐพุทธในจอกสุรา

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

รัฐไทยนั้นน่ารำคาญ เหมือนมีคนมานั่งข้างๆ ประชาชนแล้วก็บ่นจู้จี้จุกจิก ห้ามทำโน่นนี่นั่นตลอดเวลา ที่เป็นเรื่องราวล่าสุดก็คือนโยบายเกี่ยวกับเหล้าเบียร์

คนไทยนั้นน่าสงสาร อันที่จริงอารยธรรมมนุษย์ทั่วโลกล้วนเสาะแสวงหาอะไรมึนๆ มากล่อมประสาทตัวเองตั้งแต่โบราณมาแล้ว ไม่เคี้ยวก็สูบ มิเช่นนั้นก็เอาไปหมักแล้วดื่ม บรรเทาความทุกข์ทนของชีวิตประจำวัน แต่เสรีภาพในการกินเหล้าของเราถูกลดลงทีละนิดมาตลอด จากยุคสมัยที่ใครใคร่กิน กิน ก็มาจำกัดเวลากิน เวลาจำหน่าย วันสำคัญทางศาสนาห้ามจำหน่าย ห้ามผู้ผลิตโฆษณา ตอนนี้จะห้ามปัจเจกแต่ละคนด้วย ห้ามขายที่ร้านแล้วก็มาห้ามบนโลกออนไลน์ จากห้ามเหล้าเบียร์ไทยซึ่งอยู่ใต้เขตอำนาจรัฐไทยโดยตรงก็ขยายไปห้ามข้ามพรมแดน เบียร์เมืองนอกก็ห้าม ห้ามเหล้าเบียร์แล้วก็มาจับผิดเบียร์ 0% อีก โทษก็รุนแรงขึ้นทุกที คำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดูคลุมเครือ

อย่างเดียวที่รัฐไม่ทำคือห้ามขายเหล้า หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ยอมปิดโรงงานผลิตเหล้าทั้งของรัฐและเอกชนที่มีในประเทศไทย ตรงนี้ไม่ทราบว่าเพราะอะไร

แน่นอนว่าการควบคุมการบริโภคเหล้าเบียร์นั้นจำเป็นต้องมี เพื่อไม่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพดื่มเหล้าจนเป็นอันตรายแก่สิทธิผู้อื่น เช่น เมาแล้วไปขับรถ เมาแล้วเสียงดังก่อความวุ่นวาย แต่ความเข้มข้นในการควบคุมเหล้าเบียร์ของรัฐไทยนั้นเกินการปกป้องสิทธิของผู้บริสุทธิ์ไปมากแล้ว ความรังเกียจเหล้านั้นเข้าไปถึงระดับศีลธรรมส่วนตัว การไม่กินเหล้าเท่ากับคุณธรรมความดีอย่างหนึ่ง นโยบายเรื่องเหล้าเบียร์ของไทยนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผลทางศีลธรรม โดยเฉพาะศีลธรรมพุทธ มากเท่ากับหรือยิ่งไปกว่าเหตุผลด้านสังคม หรือเศรษฐกิจ

พูดให้ถึงที่สุด นโยบายเหล้าเบียร์ของไทย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามก่อสร้างรัฐศีลธรรมหรือรัฐศาสนาแบบพุทธ อาการรังเกียจเหล้านั้นอาจจะเริ่มมาจากศีลข้อห้า โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา แล้วขยายต่อมา ดังเช่น ตัวบุคคลเครือข่ายที่ออกมารณรงค์งดเหล้านั้นก็มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา อาทิ สันติอโศกที่ออกมาคัดค้านเบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้นไทย ฝั่งนโยบายก็สอดคล้องกัน การงดเหล้าเข้าพรรษา การห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนา (พุทธ) เป็นต้น

การตั้งรัฐพุทธนั้น น่าจะเป็นความใฝ่ฝันของชาวพุทธไทยจำนวนมาก หลายคนเห็นว่าเหตุการณ์ไม่ดีทั้งหลายในสังคมนั้นเกิดจากการรับเอาแนวคิดการปกครองแบบตะวันตกมาด้วยซ้ำ ทางออกคือกลับไปสู่สภาพในอดีต บ้าน วัด วัง ร่วมมือกันจรรโลงสังคมด้วยศีลธรรมพุทธ ถ้าถามว่าอยากให้รัฐไทยหน้าตาเป็นอย่างไร คงได้คำตอบประมาณว่า มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คำสอนของศาสนากลายมาเป็นกฎหมายหรือที่มาของกฎหมาย การกำหนดนโยบายมีนักบวช หรืออุบาสกเข้าไป จะเป็นผู้นำหรือเป็นที่ปรึกษาก็ได้อยู่ในนั้น

จะเห็นว่า รัฐพุทธแบบนี้นั้น ต่างจากรัฐที่มีพุทธเป็นอุดมการณ์การเมือง ตรงที่ศาสนานั้นครอบการเมืองจนเป็นรัฐศาสนา (theocratic state) แล้ว

ที่ผ่านมาเคยมีรัฐพุทธแบบนี้บ้างไหม เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ สร้างแล้วมีผลอะไรกับพวกเรา

ในยุคของพระพุทธเจ้าเองจริงๆ นั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้พยายามสร้างหน่วยทางการเมืองอะไรขึ้นมา ตรงนี้ต่างจากศาสนาอิสลามที่มีความคิดเรื่องรัฐกับศาสนาที่ชัดเจนว่าต้องเป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกัน และไม่เหมือนศาสนาคริสต์ที่เชื่อทฤษฎีสองอาญาสิทธิ์ (The Two Swords Theory) สร้างอาณาจักรทางโลกและทางธรรมคู่ขนานกันไป โดยคริสตจักรปกครองตนเองไม่ยุ่งกับรัฐทางโลก พุทธมีท่าทีคลุมเครือกว่านั้น ในขณะที่สอนให้สงฆ์ออกห่างจากทางโลก ชุมชนสงฆ์ก็ยังต้องพึ่งการอุปถัมภ์จากทางโลกอยู่นั่นเอง จากชุมชนรอบๆ และจากผู้มีอำนาจ พระพุทธเจ้าเองก็ได้รับแขกระดับสูงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่มาถามปัญหา และมาบริจาคสิ่งของศรัทธาต่างๆ ในขณะเดียวกันบรรดากษัตริย์ที่นับถือพระพุทธเจ้านั้น ก็ไม่ได้ปรากฏว่ายกย่องขึ้นเป็นศาสนาประจำรัฐแต่อย่างใด คงเป็นหนึ่งในความเชื่อและลัทธิมากมายที่เกิดขึ้นในยุคนั้นและล้วนอยู่ใต้บรมโพธิสมภารทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้บังคับใครให้เชื่อ ถ้าเชื่อก็ถือศีลก็ได้ แต่จะเป็นพุทธแล้วไม่ถือศีลก็ได้ เพียงแต่ตายแล้วตกนรก ชาติหน้าค่อยมาว่ากันใหม่

มีก็แต่ในจักกวัตติสูตร ที่พระพุทธเจ้าบรรยายหน้าที่ที่ดีของจักรพรรดิไว้ ในขณะที่ใครก็เป็นกษัตริย์ได้ เฉพาะกษัตริย์ที่ทำดีอย่างยิ่งยวด รักษาธรรม และสั่งสอนธรรมแก่ไพร่ฟ้าเท่านั้น จึงจะได้สมบัติเจ็ดประการ รวมทั้งจักรแก้ว จึงได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และได้พิชิตกษัตริย์อื่นทั้งปวงด้วยธรรมวิชัย

คนที่ทำให้แนวคิดจักรพรรดิกลายเป็นจริง คือ พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้มีชีวิตอยู่หลังพระพุทธเจ้าตายไปแล้วกว่าสองร้อยปี ถ้าเราเชื่อสิ่งที่เขียนไว้ตามเสาหินและหลักฐานอื่น หลังจากพิชิตชมพูทวีปแล้ว พระเจ้าอโศกปฏิบัติตนตามหลักจักรพรรดิธรรม ทั้งทะนุบำรุงสงฆ์ วัดวาอาราม มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา มีการส่งพระธรรมทูตเก้าสายไปเผยแพร่พุทธศาสนาทั่วทวีป แต่ที่สำคัญที่สุด คือ พระเจ้าอโศกอบรมสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติตามธรรมของพุทธศาสนา และนำหลักธรรมนั้นมาใช้เป็นนโยบาย เป็นกฎหมาย เช่น ห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญและจัดเขตอภัยทาน

พระเจ้าอโศกกลายเป็นบุคลาธิษฐานของกษัตริย์ทั้งในลังกาและสุวรรณภูมิมาตลอด อาณาจักรแถวนี้ล้วนเรียกตัวเองเป็นอาณาจักรพุทธ (Buddhist kingdoms) ซึ่งพัฒนาแนวคิดการเมืองเรื่องรัฐและกษัตริย์ของตนเองขึ้นมา เรื่องกษัตริย์โพธิสัตว์ รวมเอาพระพุทธเจ้ากับกษัตริย์มาไว้ในร่างกายเดียวกัน อย่างเช่นที่เรียกหน่อพระพุทธางกูร หรือพระพุทธเจ้าหลวง หน้าที่ของกษัตริย์ก็ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่แค่ดูแลความสงบเรียบร้อย หรืออำนวยความยุติธรรม แต่ต้องนำพลเมืองข้ามสังสารวัฏด้วย ต้องอบรมให้พลเมืองเป็นคนดีโดยมีเป้าหมายคือนิพพาน หรือยุคพระศรีอาริย์ ดังสะท้อนในคำปรารภกฎหมายโบราณอยู่เสมอว่าเหตุแห่งการตรากฎหมายก็เพื่อขัดเกลาศีลธรรมผู้ใต้ปกครอง

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่เชื่อสืบต่อกันมา ถามว่าในความเป็นจริงแล้วรัฐพุทธในสุวรรณภูมินี้เป็นอย่างไร อาณาจักรต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นอาณาจักรพุทธนั้นอ้างอิงความชอบธรรมทางการเมืองจากพุทธศาสนา อ้างถึงบารมี อ้างถึงบุญกรรม แต่สิ่งที่เกิดเมื่อสถาปนารัฐพุทธขึ้นในสมัยโบราณไม่ใช่ธรรมวิชัยหรือสันติภาพ กลับเป็นสงครามที่ว่าที่พระเจ้าจักรพรรดิต่างๆ ต่อสู้แย่งชิงกัน อันที่จริง พระเจ้าอโศกเองก็เป็นธรรมาโศกราชได้หลังเสร็จศึกกลิงคราษฎร์ เมื่อเสร็จศึกแล้วก็คงเป็นคนน่ารัก อาจจะเป็นลุงแก่ๆ ที่ใจดีคนหนึ่ง แต่หากยังต้องทำสงครามอยู่ก็น่าสงสัยว่าพระองค์จะรักษาธรรมได้มากน้อยแค่ไหน แม้แต่เมื่อนับถือธรรมและสั่งห้ามฆ่าสัตว์แล้วพระเจ้าอโศกก็มิได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

แต่นอกเหนือจากการอ้างเป็นจักรพรรดิ เป็นธรรมราชา การทะนุบำรุงสงฆ์ และอ้างบารมีแล้ว อาณาจักรแถวนี้เคยไปไกลถึงขนาดบังคับเอาศีลห้ามาเป็นกฎหมายหรือไม่ อันนี้น่าสงสัย ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่ากษัตริย์แถวนี้ไปไกลถึงขั้นห้ามฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกเมีย พูดปด อาจจะมีก็คือสุราและยาเมาอื่นๆ ที่ถูกควบคุม ถึงกระนั้น สังคมไทยก็ยังมีโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมงเห็นชัดจากริมแม่น้ำอยู่ ต่อให้อยากห้ามก็อาจจะห้ามไม่ได้จริง เพราะเทคโนโลยีโบราณจำกัดอำนาจกษัตริย์ไว้ไม่ให้ปกครองให้เบ็ดเสร็จ

รัฐพุทธแบบที่พุทธไทยปัจจุบันฝันถึงจึงอาจจะไม่เคยมีอยู่จริง เป็นความฝันที่เพิ่งสร้างขึ้นมา

ที่สำคัญที่สุด การเป็นรัฐศาสนานั้น เลี่ยงไม่พ้นการเป็นรัฐเผด็จการ เมื่อผู้มีอำนาจเห็นว่าความดี ความถูกต้องที่แท้จริงนั้นมีหนึ่งเดียว ก็ต้องใช้อำนาจบังคับให้ประชาชนต้องเชื่อและปฏิบัติตาม ส่วนจะเป็นเผด็จการที่ดีหรือไม่ คงตอบไม่ได้ แต่รัฐที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว ศีลธรรมควรเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนตัว จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ รัฐยุ่งแต่เรื่องความสงบเรียบร้อยในสังคมภาพรวมเท่านั้น แต่รัฐไทยแม้จะดูเหมือนทันสมัย ลึกๆ ลงไป ทัศนคติเรื่องรัฐ ศีลธรรม และความดีนั้น ยังมาไม่ถึงศตวรรษที่ 21 แน่ๆ

ความพยายามจะสร้างรัฐพุทธ จะเอาศีลธรรมพุทธมาบังคับเป็นกฎหมายเรื่องเหล้าเบียร์ จึงขัดแย้งกับธรรมชาติของรัฐสมัยใหม่โดยตรง ที่ปัจเจกแต่ละคนล้วนหลากหลาย เชื่อในศีลธรรมต่างชุดกัน เชื่อในการแสวงหาความสุขในหนทางที่ต่างกันไป การบังคับให้ประชาชนทำดีจึงมีแต่ทำให้ขัดแย้งคับข้องใส่กันมากขึ้น ไม่ใช่นิพพาน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของรัฐศาสนาแบบพุทธ แต่รัฐศาสนาอื่นๆ ก็พบปัญหาเดียวกัน

สุดท้ายแล้ว หลายรัฐที่มีทีท่ารังเกียจเหล้าเบียร์สุดโต่งนั้นก็ต้องขยิบตาข้างหนึ่ง อนุญาตให้ขายเหล้าเบียร์ได้ แต่อาจจะต้องไปขายในรีสอร์ตนักท่องเที่ยว หรือแอบซ่อนหากินกันในบ้านกลายเป็นของผิดกฎหมายไป แต่จะห้ามหมดเลยจริงๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐศาสนานั้นเป็นไปไม่ได้จริง

ที่จริงน่าคิดว่า ที่รัฐไทยต้องการให้ประชาชนทำดีนั้นเพื่อใครกันแน่ เพื่อตัวเองไปนิพพาน หรือทำดีเพื่อส่งผลบุญให้แก่ผู้ปกครองเอง ลองคิดถึงรัฐไทยเป็นโรงงานนรก บังคับให้ประชาชนผลิตบุญเพื่อค้ำจุนรัฐที่กำลังยอบแยบเต็มทีนี้ก็ได้

ซึ่งก็อาจจะไม่ผิดเสียทีเดียว กระแสต่อต้านเหล้าเบียร์นั้น ดูจะแปรผันตรงกับประสิทธิภาพรัฐบาล ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลอ่อนแอ เศรษฐกิจซึมเซา การเมืองแตกแยก รัฐบาลยิ่งเน้นเข้มงวดการซื้อขายเหล้า เพื่อเน้นย้ำว่าถึงจะล้มเหลวในด้านอื่น อย่างนั้นก็ยังเป็นรัฐบาลที่ดี (แบบพุทธๆ) นั่นเอง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save