fbpx
ญี่ปุ่นก็มีมัมมี่ (พระ)

ญี่ปุ่นก็มีมัมมี่ (พระ)

พูดถึงมัมมี่ ใครๆ ก็ต้องนึกถึงอียิปต์ทั้งนั้น แต่ไปญี่ปุ่นบ่อยๆ นี่ คุณรู้หรือเปล่าว่าญี่ปุ่นก็มีมัมมี่กับเขาเหมือนกัน

แต่เป็น ‘มัมมี่พระ’!

 

ที่จริง การใช้คำว่า ‘มัมมี่’ ชวนให้เข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย เพราะจริงๆ แล้ว มัมมี่พระของญี่ปุ่นนั้น ท่านไม่ได้พันผ้าขาวหรือมีวิธีถนอมรักษาร่างกายแบบคนอียิปต์ที่ต้องให้คนอื่นมาเป็นผู้ทำให้หรอกนะ มัมมี่พระญี่ปุ่นนั้น พระท่านเป็นผู้ลงมือ ‘ปฏิบัติ’ ด้วยตัวเองเลยทีเดียว เพื่อให้ร่างกายตัวเองเป็นมัมมี่ (Self-Mummification) คือไม่เน่าไม่เปื่อย ด้วยวิธีการที่ไม่ธรรมดาเอามากๆ

อันว่ามัมมี่พระนั้น แท้จริงก็คือการบำเพ็ญเพียรอย่างหนึ่งของพระญี่ปุ่นในนิกายชินงอน (Shingon) ซึ่งเป็นพุทธสายวัชรญาณ เรียกวิธีทำมัมมี่ตัวเองนี้ว่า โซกุชินบุตสึ (Sokushinbutsu) พบได้ในหลายของญี่ปุ่น แต่ที่พบมากคือในแถบยามากะตะ (Yamagata) ทางตอนเหนือ ในช่วงศตวรรษที่ 11 ถึง 19

ร่ำลือกันว่า มีความพยายามทำมัมมี่ตัวเองมากมาย แต่พบมัมมี่พระหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน 24 รูป (ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว) โดยการทำมัมมี่ตัวเองนี้ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการ ‘บรรลุธรรม’ เพราะจะทำให้ร่างเป็นอมตะ ดำรงคงอยู่ตลอดไปจนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับมายังโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะหมายถึงยุคพระศรีอาริย์

สมมุติว่ามีพระสักรูปที่ต้องการจะเป็นมัมมี่พระ ก็แปลว่าท่านต้องตัดสินใจแล้วที่จะสละละโลกนี้ไป โดยพระรูปนั้นจะต้องไปบำเพ็ญเพียรต่างๆ นานา เป็นเวลานานถึง 1,000 วัน (กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดในการทำโซกุชินบุตสึมีอยู่ด้วยกัน 3,000 วัน หรืออาจยาวถึง 10 ปี) โดย 1,000 วันแรกนี่ พระต้องงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ แม้กระทั่งผักผลไม้ก็ไม่ฉัน ไม่ใช่แค่มังสวิรัติ แต่ฉันเฉพาะเมล็ดพืชต่างๆ ที่หาได้ในป่าในเขาเท่านั้น หาไม่ได้ก็ไม่ฉัน

นอกจากนี้ ยังต้องไปบำเพ็ญเพียรหลายแบบ เช่น ไปนั่งสมาธิในถ้ำที่เงียบมากๆ มืดมากๆ ลงไปอยู่ในถ้ำใต้ดิน หรือไปนั่งสมาธิอยู่ใต้น้ำตกที่หนาวเฉียบ อะไรทำนองนี้ นักวิเคราะห์ในปัจจุบันบอกว่า เป้าหมายของการทำเช่นนี้ก็คือการ ‘ทำลายไขมัน’ ในร่างกายออกไปให้เหลือน้อยที่สุด เวลาที่เป็นมัมมี่แล้วจะได้ไม่เน่าเปื่อย

พอปฏิบัติได้ 1,000 วัน (เกือบๆ สามปี) คราวนี้ก็จะเลิกฉันเมล็ดพืชแล้ว แล้วก็จะออกจากป่า กลับมาอยู่วัด แต่เลิกฉันเมล็ดพืชทั้งหลายนี่ ไม่ได้แปลว่าจะกลับมาฉันอาหารปกติใดๆ สิ่งที่ฉันในเฟสนี้มีแค่เปลือกและรากของต้นสนเท่านั้น เรียกว่า โมกุจิคิเกียว (mokujikigyo) แปลว่า ‘กินต้นไม้’ โดยแต่ละวันจะนั่งวิปัสนากรรมฐาน ทำสมาธิอยู่เกือบตลอดเวลา โดยใช้เวลาอีก 1,000 วัน

ในระยะสุดท้ายของเฟสนี้ พระจะฉันชาชนิดพิเศษ ว่ากันว่าเป็นชาที่มีส่วนผสมของน้ำยางชนิดหนึ่งจากต้นอุรุชิ (Urushi เป็นต้นไม้ที่เอาเปลือกมาทำน้ำยาเคลือบแบบจีน) รวมถึงชาที่มีส่วนผสมของเกลือจากน้ำพุร้อนศักดิ์สิทธิ์ มีการนำเกลือนี้ไปวิเคราะห์ พบว่าเกลือนี้มีสารหนูเป็นปริมาณมาก ก็เลยคิดกันว่า สารหนูนี้น่าจะมีส่วนทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเข้ามาทำลายร่างกายได้หลังเสียชีวิตไปแล้ว ร่างกายจึงไม่เน่าเปื่อย

ในช่วงท้ายๆ นี้ ร่างกายของพระจะหดลง อวัยวะภายในก็หดตัวลงด้วย เพราะการอดอาหารและทำสมาธิภาวนา ว่ากันว่าพระจะมีน้ำหนักเบามาก เมื่อลงไปอาบน้ำ ตัวจะลอยน้ำ ลูกศิษย์ต้องคอยกดเอาไว้เลยทีเดียว

ในบางที่ จะปฏิบัติอย่างที่ว่าไปเรื่อยๆ แล้วที่สุดก็งดน้ำ ทำให้ร่างกายแห้งลงแล้วถึงแก่ความตาย ร่างจะไม่มีทั้งน้ำและไขมัน จึงแห้งและไม่เน่าเปื่อย แต่ในบางที่ จะมีวิธีปฏิบัติที่น่ากลัวกว่านั้น คือเมื่อถึงเฟสสุดท้ายหรือพันวันสุดท้าย พระจะพร้อมรับความตาย โดยจะถูกนำตัวไปฝังทั้งเป็นเอาไว้ในสุสานใต้ดินที่มีขนาดพอๆ กับตัวคน โดยจะสามารถนั่งได้เท่านั้น พระจะลงไปนั่งวิปัสนาอยู่ใต้ดิน โดยมีลำไม้ไผ่ปักเอาไว้เพื่อให้หายใจได้ โดยพระจะสั่นกระดิ่งวันละครั้งเพื่อบอกว่ายังมีชีวิตอยู่ แต่หลังจากลูกศิษย์ได้ยินกระดิ่งครั้งสุดท้ายแล้ว ก็จะปล่อยสุสานเอาไว้อย่างนั้นอีก 1,000 วัน (รวมแล้วเป็นสามพันวัน) ก่อนจะขุดศพขึ้นมา

ถ้าศพแห้งและไม่เน่าเปื่อย ก็จะได้รับการเคารพบูชาอย่างสูง ถือเป็นมัมมี่พระที่ศักดิ์สิทธิ์บรรลุธรรมจริง และมีการแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายของพระชั้นสูง แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าจะทำสำเร็จกันทุกรูปไป บางรูปศพก็เน่าเปื่อยเหมือนกัน

พระรูปแรกที่มีบันทึกว่าทำมัมมี่ตัวเองด้วยวิธีนี้คือ ท่านโชจิน ในปี 1081 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 1877 พระจักรพรรดิประกาศห้ามทำพิธีกรรมนี้ ซึ่งสร้างปัญหาให้พระหลายรูป เนื่องจากการทำมัมมี่ตัวเองต้องใช้เวลายาวนาน จึงมีหลายรูปที่เริ่มปฏิบัติแล้วแต่ไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้

อย่างไรก็ตาม มีพระรูปหนึ่ง เป็นพระที่ปฏิบัติมาเกือบเสร็จแล้ว ชื่อท่านเท็ตสึริวไค พระรูปนี้ตัดสินใจว่าจะทำต่อให้ลุล่วง ที่สุดจึงเข้าไปอยู่ในหลุมในปี 1878 เมื่อศิษย์ขุดขึ้นมา พบว่าพระเท็ตสึริวไคกลายเป็นมัมมี่จริง แต่ไม่สามารถเฉลิมฉลองได้ เพราะจะผิดกฎหมายเนื่องจากเข้าไปอยู่ในหลุมศพหลังกฎหมายประกาศแล้ว ในที่สุดก็เลย ‘โกงความตาย’ ด้วยการประกาศว่าท่านเท็ตสึริวไคนั้น เสียชีวิตในปี 1862 ก่อนการแบน ก็นับว่าเป็นเรื่องย้อนแย้งไม่น้อย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save