fbpx

“ตัวกู-ของกู” คำสอนพุทธทาสสไตล์ไลฟ์โค้ชอันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

คำว่า “ตัวกู-ของกู” เป็นคำที่หลายคนรู้จักกันดีว่าเป็นคำสอนของพุทธทาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์ แต่อาจจะมีคนไม่มากนักที่ได้อ่านหนังสือชื่อเดียวกันนี้ ตัวกู-ของกู มีอยู่หลายเวอร์ชัน ทั้งฉบับย่อ และฉบับสมบูรณ์ที่มีการจัดเนื้อหาแตกต่างกันไป ในที่นี้จะอ่าน ตัวกู-ของกูจากฉบับสมบูรณ์ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ปี 2547 เป็นหลัก

ที่มาของหนังสือเล่มนี้มาจากการบรรยายในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2504 ถ้าพอจะมีพื้นฐานทางการเมืองจะทราบว่า นี่คือช่วงเวลาที่เผด็จการตัวเอ้อย่างสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจ และจากนี้เพียง 1 ปี จะเกิดคดีที่เขย่าวงการสงฆ์ไทยนั่นคือ การจับพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) สึกด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับเป็นช่วงที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรกถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบอเมริกัน

ตัวกู-ของกู เป็นปฐมบทสำคัญก่อนจะถึงคำสอนอย่าง “ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ” ในปี 2517[1] และช่วยให้เราเห็นวิธีของพุทธทาสที่ด้านหนึ่งแล้วก็ให้ความสำคัญกับแก่นของพุทธศาสนาที่ได้รับการตีความใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงว่ายุคสมัยของพุทธทาสนั้นมีเบื้องหลังมาจากข้อจำกัดทางความรู้ทางสังคมศาสตร์ของพุทธทาสเอง และบรรยากาศการเมืองในยุคเผด็จการ รวมถึงการพัฒนาประเทศในระลอกใหม่ นั่นหมายความว่า พื้นเพคำสอนเช่นนี้ หากไม่มีการตีความคำสอนพุทธทาสใหม่ๆ ย่อมทำให้คุณค่าของคำสอนเหล่านี้ติดกับดักบริบทของยุคสมัยที่พุทธทาสตีความอีกด้วย

พุทธทาส กับ ศาสนาพุทธที่ทันสมัย และการตีความ

ด้วยความเป็นนักอ่านที่กว้างขวาง ทำให้คำบรรยายหรืองานเขียนของพุทธทาสปรากฏบทสนทนาที่ใช้ภาษาอังกฤษอยู่เสมอ ในตัวกู-ของกูนี้ก็พบคำอย่าง activeness, active, passive, ego, center, positive, negative, optimistic, pessimistic, accident, boycott และอื่นๆ หรือการสนทนากับซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ผู้เสนอทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชื่อดังกับกรณีกามตัณหา ทำให้งานของพุทธทาสนั้นดู ‘อินเตอร์’ ขึ้นมา

ในสังคมไทยที่เชิดชูหรือเห็นว่าผู้เก่งภาษาอังกฤษนั้นเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ทั้งที่ภาษาเป็นเพียงช่องทางการสื่อสาร แต่อย่างไรก็ตาม นัยภาษานั้นเป็นมิติทางชนชั้น การใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ยังสะท้อนถึงเครดิตทางสังคม เห็นได้ล่าสุดจากการดีเบตหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 การใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกลายเป็นอาภรณ์ของความเป็นคนเก่งและมีความสามารถแทบจะโดยอัตโนมัติ

ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา วชิรญาณภิกขุและชนชั้นนำสยามจำนวนหนึ่งได้พยายามโต้ตอบกับแนวความคิดและภูมิปัญญาทางตะวันตกด้วยการตีความพุทธศาสนาที่อยู่บนฐานแนวคิดเชิงเหตุและผล คู่ตรงข้ามระหว่างตะวันตก-ตะวันออก หรือตะวันตกกับไทยเป็นโวหารที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งด้วยคำสอนของพุทธทาส เขาเห็นว่า แม้โลกอย่างตะวันตกจะเจริญไปอย่างไร ไม่ว่าจากการศึกษา ประดิษฐกรรม หรืออุตสาหกรรม แต่ก็ทำให้คน “นอนตาหลับไม่ได้”[2] ในบางครั้งคนไทยเองก็อาจเป็น “ชาวต่างประเทศของพุทธศาสนา”[3]

พุทธศาสนาตามการตีความดังกล่าวจึงวางอยู่บนแนวคิดแบบ ‘พุทธศาสนา-ชาตินิยม’ เพื่อชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นรากเหง้ามรดกสำคัญที่จะเป็นฐานที่มั่นต่อสู้กับวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามา โดยยืนยันราวกับว่า ในประเทศไทยนั้นคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทุกข์ทน ซึ่งไม่จริง ทศวรรษ 2500 ยังมีคนยากจนและลำบากทุกข์เข็ญเป็นอย่างมาก วันเสียงปืนแตกในปี 2508 ก็ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ทุกข์ยากและไม่เห็นด้วยกับรัฐพร้อมจะจับอาวุธสู้ ก่อนจะลามออกไปเป็นไฟลามทุ่ง

นอกจากนั้นการคบค้าสมาคมของพุทธทาสก็สัมพันธ์กับชนชั้นนำอย่างศาลซึ่งผู้เขียนเคยใช้คำว่า ‘ตุลาการคอนเนกชัน’ ผ่าน 3 สหายธรรมอย่าง พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี), พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ (ปิ่ณฑ์ ปัทมัษฐาน) และสัญญา ธรรมศักดิ์ จนทำให้พุทธทาสได้เข้าไปอบรมข้าราชการตุลาการตั้งแต่ทศวรรษ 2490 มาจนถึงทศวรรษ 2510 เป็นอย่างน้อย[4] ทำให้เขาค่อนข้างปลอดภัยจากการโจมตีโดยฝ่ายราชการบ้านเมืองในยุคที่การเมืองผันผวนเป็นอย่างยิ่ง

ตัวกู-ของกู นิยามของการตีความแก่นพุทธศาสนาแบบลัดสั้น

การใช้คำที่จับใจคน ภาษาที่กระชับแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักการตลาดในตัวของพุทธทาสไปด้วย เขาชี้ให้เห็นว่า การสื่อสารแก่นธรรมควรจะทั้งทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งผู้แก่เรียนและให้เข้าใจได้ง่ายแม้แต่ “พุทธบริษัทที่ไร้การศึกษา เพราะไม่อาจจะศึกษามากๆ ได้” นำมาสู่เหตุผลที่ว่า

ย่อมจำเป็นจะต้องดัดแปลงการใช้ถ้อยคำ…ให้เป็นคำธรรมดาสามัญที่อาจจะเข้าใจได้ทันทีสำหรับคนทั่วไป แต่ความหมายหรือเนื้อความนั้น ยังเป็นเช่นเดียวกับที่มีอยู่ในพระคัมภีร์อันไพเราะ และมีโวหารอันลึกซึ้ง และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือ ให้สามารถใช้เป็นหลักปฏิบัติได้ทันที่โดยไม่ต้องมีการศึกษานั่นนี่ให้ยุ่งยาก[5]

นั่นคือ ที่มาของการประดิษฐ์คำว่า “ตัวกู-ของกู” ขึ้นมาแทนคำบาลีว่า “อหังการ” และ “มมังการ” [6] และชี้ว่า “หลักสำคัญที่สุดที่สรุปแล้วนำมายื่นให้นั้น มีอยู่เพียงสั้นๆ ว่า เราไม่ต้องศึกษาเรื่องอะไรเลย นอกจากเรื่อง “ตัวกู” และ “ของกู”” สิ่งเหล่านี้จึงเหมาะกับผู้สนใจศาสนารุ่นใหม่ หรือคนวัยทำงานที่เข้าถึงธรรมด้วยช่องทางที่ดูไม่ไกลตัว และคุยกับพวกเขาด้วยภาษาสมัยใหม่

ตัวกู-ของกู ได้กลายเป็นแกนหลักในการเข้าสู่ธรรมะอันประเสริฐไปจนถึงนิพพานเสียด้วยซ้ำ พุทธทาสเป็นคนที่ทำให้เรื่องไกลตัว เรื่องที่ดูเป็นไปไม่ได้ และธรรมขั้นสูงที่เคยไม่จำเป็นต้องพูดถึง ถูกนำเสนอในฐานผลิตภัณฑ์ทางจิตวิญญาณแบบใหม่ที่มาอยู่ใกล้ตัวและในชีวิตประจำวัน

ยิ่งเมื่อเทียบกับบริบทของคำสอนนี้ที่อยู่ระหว่างการปฏิวัติ 2475 และมรณกรรมของพุทธทาสในปี 2536 แล้ว คำสอนในปี 2504 เกือบจะอยู่ตรงกลางระหว่างจุดเปลี่ยนสำคัญของพุทธทาสเลยทีเดียว

หนังสือธรรมะแบบฮาวทู และไลฟ์โคช

การแสดงธรรมของพุทธทาสมีส่วนผสมระหว่าง การเทศนาธรรมแบบเดิม การปาฐกถาแสดงคารมของนักโต้วาทีทางโลก และการเขียนหนังสือฮาวทูทางโลก นอกจากตัวกู-ของกูแล้ว ในยุคหลังยังมีหนังสือที่คุ้นหูคุ้นตากันอย่างเช่น คู่มือมนุษย์, ภาษาคน ภาษาธรรม, อิทัปปัจจยตา, พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, สูตรเว่ยหลาง, คำสอนของฮวงโป ฯลฯ ยังไม่นับหนังสือเล่มเล็กไม่กี่สิบหน้าที่เหมาะกับการอ่านในเวลาจำกัด ไม่เพียงเท่านั้น การเติบโตของลูกศิษย์และอิทธิพลงานเขียนของเขาในทศวรรษ 2520 ก็สอดคล้องกับการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ว่ากันว่า หลังป่าแตกคนเดือนตุลาฯ จำนวนมากได้หันหน้าเข้าหาเส้นทางทางศาสนา หนังสือของพุทธทาสมีลักษณะที่ต่างจากหนังสือธรรมะร่วมสมัยที่มักจะเป็นหนังสือสวดมนต์ หรือหนังสือเล่าเรื่องเกจิและปาฏิหาริย์ต่างๆ ว่าไปแล้ว ทศวรรษ 2520 ก็สอดคล้องกับการเติบโตของหนังสือแนวปรัชญาชีวิต คำสอนลัทธิเต๋าและเซน

ขณะที่หนังสือตัวกู-ของกูที่เกิดจากคำบรรยายปี 2504 ไม่แน่ใจนักว่าได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปเมื่อไหร่ พบแต่ว่ามีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มเป็นอย่างช้าก็ในปี 2516[7] กระนั้นในทศวรรษ 2500 เป็นยุคที่ผู้คนนิยมตีพิมพ์บทความลงในวารสารหรือนิตยสารไม่น้อย เราเห็นผู้คนจากหลายจังหวัดเขียนจดหมายเพื่อเข้ามาขอบทความของพุทธทาสเพื่อตีพิมพ์ในวาระต่างๆ ตั้งแต่หนังสืออนุสรณ์งานศพ หนังสือพิมพ์ของนิสิตนักศึกษา เอกสารที่ระลึกเปิดค่ายลูกเสือ ไปจนถึงวารสาร บขส. ของบริษัท ขนส่ง จำกัดฯลฯ แต่แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นพุทธทาสเป็นที่รู้จักดีในระดับหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษา ไปจนถึงผู้สนใจสูงวัย[8]

คำสอนของพุทธทาสจึงเป็นการสอนที่เปิดมิติใหม่ในการสอนและอธิบายธรรมะ แต่ด้วยจริตของ ‘การอ่าน’ ไม่ใช่การฟังเทศน์แบบเดิมๆ แม้ว่าพุทธทาสจะมีการเทศน์อยู่ แต่คนส่วนใหญ่ที่รับธรรมะจากพุทธทาสนั้นส่วนใหญ่มาจากการอ่าน หรือหากไม่อ่านก็เป็นการซื้อหามาเก็บไว้เป็นของสะสมประเภทหนึ่ง

สิ่งที่พุทธทาสเชื่อมั่นก็คือ ตัวกู-ของกูนี่เองที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ และเชื่อว่าคนจะบรรลุความเป็นอริยะได้ด้วยการลด ละ เลิก ตัวกู-ของกูเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องข้ามภพ ข้ามชาติอะไร ตัวกู-ของกูดูจะเป็นคู่มือสำคัญของชาวพุทธหากจะทำความเข้าใจพุทธศาสนาและเส้นทางการบรรลุธรรมที่ไม่ยากเย็นนัก พุทธทาสจึงประดุจเป็น ‘ไลฟ์โค้ช’ ที่จะชี้ชวนให้ชาวพุทธหันกลับมาทำความเข้าใจกับพุทธศาสนาที่แสนจะมีคุณค่าต่อชีวิตและสังคม

ตัวกู-ของกู โครงสร้างและแก่นสารของทุกข์และการดับทุกข์

ตัวกู-ของกู ได้อธิบายอย่างเป็นระบบนับแต่การเกริ่นถึงพุทธศาสนาและความเข้าใจผิด จุดมุ่งหมายของศาสนา คำสอนที่เป็นแก่นแท้ สาเหตุของตัวกู-ของกู และขั้นตอนการดับกิเลสที่ตัวกูกำกับ ถ้าเทียบกับไตรปิฎกที่มีเนื้อความมหาศาลและไม่มีวันที่จะอ่านจบและเข้าใจได้ง่ายอย่างเป็นระบบ

ตัวกู-ของกู นับเป็น ‘อุปทาน’ หรือความยึดมั่นถือมั่นร่างกายและจิตใจว่าเป็น ‘ตัวกู’ และยึดมั่นสิ่งที่จะเกี่ยวข้องด้วยว่า ‘ของกู’[9] และการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดอย่าง ‘พระอรหันต์’ ก็คือการไม่ยึดมั่นสิ่งดังกล่าวอีกต่อไป[10] และสิ่งที่ทำให้เกิดตัวกู-ของกูก็คือ ‘อวิชชา’ คือ ความไม่รู้ที่จะดับทุกข์ได้[11] พอไม่รู้แล้ว ในชีวิตประจำวันที่สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาผ่านเครื่องรับ ซึ่งแบ่งเป็น ‘อายตนะภายใน’ อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  กับ ‘อายตนะภายนอก’ อย่าง รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัสทางผิวหนัง และความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ ซึ่งทั้งภายในและภายนอกจะจับคู่กันตามลำดับ เมื่อเครื่องรับทำงาน ก็จะส่งผลต่อจิตใจว่าพอใจหรือไม่พอใจ[12] สิ่งนี้เกิดในชีวิตประจำวันทั้งกลางวันและกลางคืน หากมีอวิชชาก็จะนำไปสู่การก่อตัวตน ‘ตัวกู’ ขึ้นมาทันที อวิชชาเป็นต้นเหตุก่อรูปตัวตนเราขึ้นมา ซึ่งกระบวนการเกิดสิ่งเหล่านั้นนำไปสู่ทุกข์ในบั้นปลาย[13]

แต่ก่อนจะเกิดตัวกู-ของกู ก็ยังมีอารมณ์หนึ่งเกิดขึ้นนั่นคือ ‘ตัณหา’ ที่แปลว่าอยากซึ่งไปสัมพันธ์กับอารมณ์ตัวใหญ่ทั้งสามอย่างโลภ โกรธ และหลง ความโลภคือความรู้สึกเร่เข้าหา ส่วนความโกรธนั้นตรงข้าม คือผลักออก ขณะที่หลงนั้นคือความไม่แน่ใจ[14]

ส่วนตัณหาก็แบ่งออกมาเป็น 3 ตัว คือ กามตัณหาที่เรียกสั้นๆ ได้ว่า ‘อยากได้’ ที่เกี่ยวข้องกับกาม การบริโภค ส่วนภวตัณหาคือ ‘อยากเป็น’ ที่ไม่เกี่ยวกับกาม ขณะที่ วิภวตัณหา คือ ‘ไม่อยากเป็นนั่นนี่’ [15] ความยึดมั่นไม่เพียงแต่เป็นยึดมั่นทางโลก แต่การยึดมั่นทางธรรมจากการนั่งสมาธิ เข้าฌานสมาบัติ หรืออะไรก็แล้วแต่ล้วนสามารถไปสู่ความยึดมั่นและทุกข์ได้เช่นกัน[16] ซึ่งตัณหาเหล่านี้ มีปัจจัยหลักก็คือ ความสัมพันธ์ของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางผิวหนังและความรู้สึกนึกคิดทั้งสิ้น เรียกว่า ‘อารมณ์ทั้ง 6’ และสิ่งเหล่านี้เองก็ถูกเรียกว่า ‘โลก’ [17]

การดับของตัวกู-ของกู มีอยู่ 3 ประเภท ประเภทแรกโดยบังเอิญที่เราได้อารมณ์เงียบสงัด ประเภทที่ 2 จากการกระทำทางจิตอย่างสมาธิ ส่วนประเภทที่ 3 คือกระทำโดยปัญญา[18]และเมื่อตัวกู-ของกูดับไปแล้วก็เกิดความว่างเข้าแทนที่ แต่ประกอบด้วยสติปัญญาอย่างยิ่ง และไม่มีทุกข์ ว่างจากความวุ่นวายด้วยอำนาจปรุงแต่ง[19]

นอกจากนั้นยังมีอธิบายลำดับชั้นของพระอริยะในพุทธบริษัท โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ที่แต่ละระดับนั้นขึ้นอยู่กับว่าทำลายสิ่งที่เรียกว่า ‘สังโยชน์ 10’ ได้มากน้อยเพียงใด[20] สังโยชน์ทั้ง 10 ล้วนเป็นความขัดข้องทางจิต อันได้แก่ 1. สักกายทิฏฐิ – ยึดถือว่ากายนี้ของตน[21] 2. วิจิกิจฉา – ความลังเลอันเนื่องมาจากความสงสัยหรือความกลัว[22] 3. สีลัพพตปรามาส – ความเข้าใจผิดต่อศีลและพรตซึ่งเป็นเครื่องปฏิบัติสำหรับความดับทุกข์[23] หากละ 3 ข้อนี้ก็จะถือว่าเข้าถึงความเป็นโสดาบัน อันถือว่าเป็นการละตัวกู-ของกูในรูปโมหะ[24] ส่วนระดับสกิทาคามี จะลดสังโยชน์ที่เหลือทั้ง 7 ให้เบาบางลงได้[25]

4. กามราคะ – ความยินดีในกาม 5. ปฏิฆะ – ความพลุ่งขึ้นมาเป็นโกรธขัดใจ หรือแม้แต่ความหงุดหงิด หากละอีก 2 สังโยชน์นี้ได้จะจัดว่าอยู่ในระดับอนาคามี[26] อันถือว่าเป็นการละตัวกูของกูในรูปของราคะและโทสะ[27] 6. รูปราคะ – พอใจในรสของความสงบจากรูปฌาณ 7. อรูปราคะ – พอใจในรสของความสงบจากอรูปฌาณ[28]  8. มานะ – หลงใหลอยู่ในภาวะของตัวเองตามที่สำคัญตัวโดยไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นแล้วดิ้นรนไปต่างๆ[29] 9. อุทธัจจะ – ฟุ้งซ่านเพราะจิตกระเพื่อไปด้วยความทึ่งหรือสงสัยทางปัญญา[30] 10. อวิชชา – ความไม่รู้ในอริยสัจสี่[31] อรหันต์คือการละอีก 5 สังโยชน์ที่เหลือ ที่แบ่งรูปราคะและอรูปราคะเป็นราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาอันเป็นรูปของโมหะ[32]

แล้วก็มาตบท้ายด้วยหนทางที่จะปฏิบัติ โดยยกอริยมรรค 8 ขึ้นมา[33] โดยเริ่มจากสัมมาทิฏฐิ และจบลงที่สัมมาสมาธิ[34] โดยการปฏิบัติอยู่ที่จิตที่กระทบผ่านตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เมื่อมีสัมผัสกับคู่อารมณ์ของมันโดยทุกครั้งจะต้องไม่ทำให้เกิดอารมณ์ปรุงแต่งขึ้นมากลายเป็นทุกข์ได้[35] และนำไปสู่บทสรุปว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น[36] โดยผ่านกระบวนการไตรสิกขาที่ได้จัดเรียงเป็นปัญญา ศีล และสมาธิ[37] โดยปัญญาเป็นผู้นำเพื่อจูงเข้าสู่ทางที่เหมาะสม ส่วนศีลใช้ทำลายกิเลสหยาบๆ เพื่อส่งต่อไปยังการฝึกสมาธิซึ่งก็คือ การใช้วิธีที่เรียกว่า ‘สติปัฏฐานทั้ง 4’ ซึ่งพุทธทาสได้เสนอวิธีการกำหนดลมหายใจ (อาณาปานสติ) ส่วนการฝึกก็เพื่อทำให้การทำให้ชินกับการสังเกตเห็นอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเกิดการกระทบ และ แน่นแฟ้น เฉียบขาดพอที่จะ “ดับหรือทำลายกิเลส ตัณหา อุปทาน” หรือป้องกันไม่ให้มันเกิดได้ตลอดเวลา [38]

ตัวกู-ของกู ได้แสดงให้เห็นถึงการอธิบายระบบการดับทุกข์อย่างเป็นกระบวนการที่ทำให้อุดมคติของพุทธศาสนาที่เคยคลุมเครือมีความชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับการชี้หนทางเดินไปทีละขั้นทีละตอน บนพื้นฐานความรู้ที่อยู่ในไตรปิฎกนั่นเอง

พุทธทาสพยายามกลับไปหา ‘พุทธที่แท้’ จากไตรปิฎก หนังสือชุดคำสอนจากพระโอษฐ์ อย่าง ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์, พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น-ปลาย และปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ล้วนชี้ให้เห็นถึงทักษะการค้นคว้าและการยึดโยงกับสาระที่เชื่อว่ามาจากปากพุทธเจ้า

โลกของปัจเจก แก้ปัญหาโลกด้วยปัจเจก

หากพุทธทาสจำกัดวงอยู่เฉพาะรสนิยมทางศาสนาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่พุทธทาสเพียรยึดมั่นในหลักการว่าหากปัจเจกชนดี ทุกอย่างในโลกก็จะดีไปด้วย ในทางประวัติศาสตร์เองก็ไม่แน่ว่าจะมีสังคมไหนที่มีปัจเจกชนที่ดีเช่นนั้น การฝันเช่นนั้นจึงเป็นการฝากความหวังไว้กับอุดมคติลมๆ แล้งๆ

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ การกล่าวโทษว่าอุบัติเหตุนั้นก็เกิดจากปัญหา ‘ตัวกู-ของกู’ นั่นคือ การประณามไปที่ตัวบุคคลว่าเมาเหล้า ง่วงนอน ทะนงอวดดี หรือด้วยความละโมบ[39] แม้ว่าอุบัติเหตุไม่น้อยมาจากเรื่องส่วนบุคคล แต่จำนวนมากเช่นกันที่อุบัติเหตุเกิดจากการออกแบบถนนที่ไม่ปลอดภัย คุณภาพถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่พุทธทาสจะชี้ว่า “ถ้าควบคุม “ตัวกู” ได้เท่าไร สติปัญญาก็มีช่องทางหรือมีโอกาสที่จะแสดงออกมาได้เท่านั้น และส่วนใหญ่หมายถึงความมีสติสัมปชัญญะอันสมบูรณ์ ในการที่ทุกคนจะไม่สะเพร่าต่อหน้าที่ของตน” [40] เช่นเดียวกับการยกคดีอาชญากรรมอย่างการข่มขืนสตรี การตัดช่องย่องเบาหรือการลักขโมย กระทั่งการฆ่ากันโดยบันดาลโทสะหรือเจตนา ก็ล้วนมีต้นตอมาจาก ‘ตัวกู-ของกู’ ทั้งสิ้น[41] ทั้งที่เงื่อนไขการเกิดอาชญากรรมมันซับซ้อน และเกี่ยวพันกับการบริหารบ้านเมืองหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ผู้คนอยู่ดีกินดี การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ฯลฯ แต่สิ่งนี้อยู่นอกจินตนาการของพุทธทาสออกไป จึงไม่แปลกที่เขาเห็นว่า วิกฤตการณ์ส่วนบุคคลจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ส่วนของโลก[42]

‘ตัวกู-ของกู’ กับการส่งไม้ต่อไปยัง ‘เผด็จการโดยธรรม

จากการบรรยาย ตัวกู-ของกู ไปอีกสิบกว่าปี การบรรยายธรรมเรื่องใหม่อย่าง ‘ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ’ ก็จะเกิดขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า ตัวกู-ของกู นี่เองที่เป็นรากฐานความคิดที่สนับสนุนแนวคิดแบบ ‘เผด็จการโดยธรรม’ เนื่องจากความเชื่อมั่นว่าปัจเจกที่ดีที่จะสามารถสร้างโลกที่มีคุณภาพดีได้ เพราะการหวังให้คนส่วนใหญ่ในสังคมลดละเลิกตัวกู-ของกู ตามข้อเสนออาจเป็นไปไม่ได้โดยง่าย จึงนำมาสู่ข้อเสนอด้วยภาษาที่กระตุกจิตกระชากใจอย่าง ‘เผด็จการโดยธรรม’ ที่หวังว่าขอให้ผู้ปกครองเป็น ‘คนดี’ ก็จะนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นไปด้วย สัญญา ธรรมศักดิ์ผู้เป็นสหายทางธรรมของพุทธทาสที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2517 สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างสังคมที่ดีได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากคนดีขึ้นครองอำนาจอย่างเผด็จการจริง อะไรจะเป็นสิ่งพิสูจน์เมื่อเผด็จการนั้นปิดปากผู้เห็นต่าง และปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างเฉียบขาด ดังที่เราได้เห็นจากการรัฐประหารในแต่ละครั้ง ล้วนอ้างว่าตัวเองเป็นผู้มาปราบปรามผู้ทุจริตอันเลวร้าย แต่ในที่สุดร้อยทั้งร้อยก็เป็นผู้ทุจริตเสียเอง

แนวคิดแบบพุทธศาสนามีจุดอ่อนสำคัญอยู่ที่การไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแนวคิดสายเอเชียตะวันออกอย่างขงจื่อ วัฒนธรรมแบบพุทธแทบจะไม่มีธรรมใดที่จะสนับสนุนบทบาทดังกล่าว ดังนั้นการให้ความชอบธรรมแก่ผู้มีคุณธรรมโดยไม่มีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์เลยอาจเป็นสิ่งที่เป็นผลร้ายแก่สังคมประชาธิปไตยเอาง่ายๆ

ที่สำคัญ ในหลายปีที่ผ่านมา เรายังไม่เห็นว่าลูกศิษย์พุทธทาสจะพยายามตีความคำสอนพุทธทาสให้สนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยเลย


[1] ดูการวิเคราะห์นี้ได้ใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105”. ประชาไท สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2566 จาก https://prachatai.com/node/35144/talk (27 พฤษภาคม 2554)

[2] พุทธทาสภิกขุ, ตัวกู-ของกู ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2547), หน้า 121

[3] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 9

[4] ดู ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105”. ประชาไท สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2566 จาก https://prachatai.com/node/35144/talk (27 พฤษภาคม 2554)

[5] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 104

[6] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 105

[7] พุทธทาสภิกขุ, ตัวกู-ของกู หรือ หลักพุทธศาสนาสำหรับนักศึกษาผู้ไม่เคยสนใจมาก่อน (กรุงเทพฯ : ธรรมบูชา, 2516)

[8] เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินปัญโญ, BIA7/5 กล่อง 2 [1]-[211], “ขอเรื่องลงพิมพ์” (28 ส.ค. 2495 ถึง 23 เม.ย. 2536) สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2566 จาก http://archives.bia.or.th/front-description_bak.php?refcode=BIA07000002-0050-0001-00-0000&pdfid=7315&main_level=2

[9] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 117

[10] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 118

[11] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 143

[12] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 152-153

[13] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 154-155

[14] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 164-165

[15] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 182-183

[16] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 166

[17] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 184

[18] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 218-222

[19] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 230-231

[20] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 246

[21] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 247

[22] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 253

[23] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 263

[24] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 311

[25] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 290

[26] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 297

[27] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 311

[28] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 314

[29] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 315

[30] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 316-317

[31] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 319

[32] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 312

[33] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 386

[34] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 388-389

[35] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 390

[36] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 399

[37] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 417

[38] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 418-421

[39] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 235

[40] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 242

[41] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 242-243

[42] พุทธทาสภิกขุ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 243

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save