fbpx
Bubble Tea Trends : การกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าของชานมไข่มุก

Bubble Tea Trends : การกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าของชานมไข่มุก

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ชานมไข่มุกไม่ได้เพิ่งฮือฮาโด่งดังนะครับ แต่มี ‘คลื่น’ ของความนิยมในชานมไข่มุกหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน

แรกสุดก็คือเมื่อมันถือกำเนิดขึ้นในราวยุคแปดศูนย์ ตอนนั้นเป็นความฮิตที่เกิดขึ้นในยุคแรกเริ่ม เป็นความฮิตแบบ ‘ของใหม่’ และมีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะบนเกาะไต้หวันเท่านั้น

กำเนิดของชานมไข่มุกนั้นมีหลายสาย บางสายก็บอกว่าเป็นเจ้านั้นเจ้านี้จากเมืองนั้นเมืองนี้ ที่คิดค้นสูตรชานมไข่มุกขึ้นมา บางสายก็บอกว่าน่าจะเป็นร้านชาชุนสุ่ยถังในเมืองไถจง โดย หลิวฮั่นเจี้ย ที่ใส่ขนมหวานลงไปในชา แล้วทำให้เกิดเป็น ‘กระแส’ (แบบที่เรียกว่า fad) ขึ้นมา บางสายก็บอกว่าเป็นร้านชาชื่อฮั่นหลิน ในไถหนาน โดย ถูจงเหอ ใส่เม็ดสาคูสีขาวลงไปในชาก่อน แล้วต่อมาก็เปลี่ยนเป็นสาคูสีดำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเจ้าไหน ต่างก็มีส่วนทำให้ชานมไข่มุกโด่งดังขึ้นมากันทั้งนั้น

นั่นคือคลื่นแรกในไต้หวัน

คลื่นลูกที่สองเริ่มโด่งดังขึ้นมาในยุคเก้าศูนย์ โดยแพร่ไปในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ที่จริงแล้ว ตอนนั้นก็มีชานมไข่มุกแพร่หลายเข้ามาในไทยบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่

คลื่นลูกนี้ค่อยๆ ซัด ตามแบบการเกิดเทรนด์ที่ต้องเริ่มจากวงเล็กก่อน แล้วจึงค่อยกระจายไปในวงกว้าง แต่คลื่นนี้มาเติบโตจริงๆ ก็หลังยุค 2000 โดยแพร่หลายไกลไปถึงโลกตะวันตก ความนิยมในชานมไข่มุกดังระเบิดระเบ้อในโลกตะวันตกเป็นอันมาก ในไทยก็เหมือนกันครับ ชานมไข่มุกเริ่มโด่งดังในไทยครั้งแรกราวปี 2008-2009 ซึ่งถ้าใครยังจำได้ ยุคนั้นการดื่มชานมไข่มุกถือเป็นแฟชั่นกันเลยทีเดียว

กระแสชานมไข่มุกยุคต้น 2000 นั้นมาแรงไม่หยุด จนกระทั่งเมื่อถึงปี 2012 แม้แต่ร้านแม็คโดนัลด์ก็ยังเริ่มขายชานมไข่มุก โดยขายในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย

การที่ชานมไข่มุกโด่งดังเป็นพลุแตกในยุคนั้น ที่สุดก็เป็นเหมือนวงจรของเทรนด์อื่นๆ ทั่วไปนั่นแหละครับ กล่าวคือพอฮิตมากเข้า ก็เกิดการลอกเลียนแบบ ทำชานมไข่มุกที่คุณภาพไม่ดีออกมาขาย ใช้ชาที่ไม่ได้ปรุงสด หรือบางครั้งก็แต่งเติมกลิ่นรส ทำให้เกิดชาแบบที่เรียกว่า ‘รสชาติปลอม’ (fake-tasting tea) ขึ้นมา

นั่นทำให้กระแสชานมไข่มุกในคลื่นยุคที่สอง ที่หลายคนเรียกว่า Bubble Burst หรือการระเบิดของชานมไข่มุก ตายจากเราไปในเวลาไม่กี่ปี เหตุผลเป็นเรื่องของคุณภาพล้วนๆ ความนิยมที่มากเกินไปทำให้คุณภาพตกต่ำลง เมื่อคุณภาพตกต่ำลง ในที่สุดความนิยมก็ลดลงด้วย

แต่กระนั้น ชานมไข่มุกก็ไม่ได้ ‘ตาย’ ไปจริงๆ นะครับ เพราะยังหลงเหลือร้านชานมไข่มุกแท้ๆ ที่มีลูกค้าประจำอยู่ แม้จะไม่มากนักและไม่ได้เป็นกระแสจริงๆ โดยในไต้หวัน ชานมไข่มุกยังคงเป็นเหมือนเครื่องดื่มประจำชาติกันอยู่ คนชอบกันมาก มีการปรุงรสชานมแบบใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนทั้งชาเขียวและชาฝรั่งออกมาขาย ทั้งแบบที่เป็นหน้าร้านและที่เป็นกระป๋องขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต

หลังยุคชานมไข่มุกแล้ว ชาที่เข้ามาแทรกแทนที่ ก็คือชาเขียวแบบญี่ปุ่น ในไทย เราจะเห็นการต่อสู้เรื่องนี้ชัดเจน การทำตลาดของแบรนด์ชาเขียวเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่ง ด้วยการทุ่มแจกของไม่อั้นมากมาย ทำให้กระแสชาเขียวเกิดขึ้น

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวหรอกนะครับ ที่ทำให้ชาเขียวได้รับความนิยม

มีคนวิเคราะห์ว่า หลังยุคชานมไข่มุกแล้ว เมกะเทรนด์หรือเทรนด์ใหญ่อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ก็คือการดูแลสุขภาพร่างกาย หรือเป็น Well-Being Trend ซึ่งชานมไข่มุกในยุคคลื่นลูกที่สอง ถือได้ว่าเป็นศัตรูตัวร้ายของสุขภาพเลย เพราะมีทั้งครีมเทียม น้ำตาล และแป้ง จึงให้พลังงานสูงมาก แล้วถ้าใส่สารเสริมปลอมๆ ลงไปเยอะ ก็จะย่ิงทำให้คนที่กินชานมไข่มุกได้รับสารอาหารที่ล้นเกิน ส่งผลร้าย และสะสมอยู่ในร่างกายอีกต่างหาก

เทรนด์ ‘ชาวเขียว’ จึงเข้ามาแทรกซอนอยู่พักหนึ่ง

ชาเขียวนั้นมี ‘สัญญะ’ ที่ปนมากับตัวเองว่าเป็นชาที่ดีต่อสุขภาพ ชาเขียวมีอนุมูลอิสระมาก ดีต่อหัวใจ ไม่ทำให้อ้วน และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น กระแสชาเขียวจึงเกิดขึ้น แล้วไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเรื่องเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงสิ่งอื่นๆ อีกมาก เราเริ่มเห็นชาเขียวเข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เค้กชาเขียว คุกกี้ชาเขียว ขนมขบเคี้ยวรสชาติเขียว (ทั้งที่ไม่ค่อยมีรสเท่าไหร่หรอกนะครับ!) หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น เครื่องหอม ฯลฯ ก็ยังต้อง ‘เข้าชาเขียว’ คือมีชาเขียวเป็นส่วนผสม

กระแสชาเขียวไม่ได้หายไปนะครับ ยังคงอยู่ แม้จะราแรงลงไปเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ ‘วูบดับ’ หายไปจากตลาดเลยแบบเดียวกับชานมไข่มุกคลื่นลูกที่สอง

แต่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ กระแสของ ‘ชานมไข่มุก’ กลับมาใหม่อีกครั้ง จนนิตยสาร Nylon จากอเมริกา ถึงขั้นประกาศว่านี่คือ Bubble Tea’s New Revival หรือการฟื้นคืนชีพของชานมไข่มุกกันเลยทีเดียว

คำถามก็คือ  ทำไมชานมไข่มุกถึงฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้?

คำตอบก็คือ ชานมไข่มุกยุคใหม่ที่ฟื้นตัวขึ้นมานี้ เราจะเห็นได้เลยนะครับว่าไม่เหมือนชานมไข่มุกแบบเดิมๆ นั่นคือไม่ได้มุ่งเน้นขายที่ ‘ปริมาณ’ กันอีกต่อไปแล้ว แน่นอน หลายเจ้ายังมีการใช้วัตถุดิบประเภทเจือปน สารเสริม ครีมเทียมต่างๆ กันอยู่ แต่นั่นไม่ใช่เทรนด์ เพราะเทรนด์ใหม่ที่ทำให้ชานมไข่มุกอยู่ได้ ก็คือชานมไข่มุกประเภทที่เรียกว่า top-grade เช่น ใช้นมสด (บางเจ้าก็ใช้นมจากฮอกไกโดมาเป็นจุดขาย) การใช้น้ำผึ้ง หรือการชงชาสดๆ ไม่ได้ชงชาทิ้งเอาไว้แล้วแค่รินใส่แก้ว รวมทั้งมีการคิดค้นประดิษฐ์ ‘ความแท้’ (Originality) ต่างๆ ใส่เข้าไปในชานมของตัวเอง เช่น ทำไข่มุกสีทอง ไข่มุกลาวา หรือการผสมไข่เค็มหรือชีสลงไปในชานมเพื่อเพิ่มความเข้มข้น รวมไปถึงการใช้สิ่งอื่นๆ ที่เข้ากันได้กับเทรนด์สุขภาพ เช่น ผงมัตฉะชาเขียว หรืออะโวคาโด

จะเห็นว่า ชานมไข่มุกยุคใหม่นี้ คือการผสานรวมของหลากเทรนด์เข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การผสมผสานใหม่ๆ ไปจนถึงการดูแลสุขภาพด้วยการใช้วัตถุดิบธรรมชาติทั้งหมด เราจะเห็นการอ้างว่าไม่ใช้วัตถุกันเสียหรือแต่งเติมกลิ่นสังเคราะห์มากขึ้น รวมทั้งการชงชาผลไม้สดรสชาติต่างๆ ใส่ลงไปในสูตรด้วย ผลไม้ที่ฮิตๆ ก็มีอาทิมะม่วง (หรือในบางเจ้าที่กล้าหาญมาก ก็ทำชาทุเรียนออกมาขายเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่)

คำโฆษณาชานมไข่มุกอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย ก็คือเป็นชาที่ชงแบบ handmade ซึ่งไม่ได้แปลว่าชาเจ้าอื่นๆ ไม่ได้ใช้มือทำนะครับ แต่หมายถึงว่าไม่ได้ใช้เครื่องจักรต่างๆ มาช่วยชงชาเท่านั้นเอง ชานมไข่มุกยุคใหม่จำนวนมาก มีการออกแบบให้สีสันสวยงามหลากหลาย ซึ่งก็บอกใบ้กลับไปที่วัตถุดิบ เช่น ชาสีเขียวเข้ม คือชาที่ ‘คลอโรฟิลริช’ หรือชาสีม่วง ก็มีส่วนผสมของมันม่วง เป็นต้น

คลื่นลูกที่สามของชานมไข่มุก จึงเป็นคลื่นที่น่าจับตาดูอย่างยิ่ง ว่าบัดนี้ขึ้นมาถึงจุดพีคแล้วหรือยัง แต่ก็มีการทำนายว่า การบริโภคชาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดูการบริโภคชาทั้งหมด (ไม่ใช่แค่ชานมไข่มุกนะครับ) พบว่าโลกบริโภคชา 1.17 ล้านตัน ในปี 2007 แต่เมื่อถึงปี 2016 การบริโภคเพิ่มเป็น 2.44 ล้านตัน คือมากกว่าเดิมถึงกว่าสองเท่า และในจำนวนนี้ก็เป็นชานมไข่มุกจำนวนไม่น้อย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save