fbpx
“ถอยดีกว่า..” BRI กับมาเลเซียที่เปลี่ยนไป

“ถอยดีกว่า..” BRI กับมาเลเซียที่เปลี่ยนไป

N509FZ ภาพประกอบ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เกิดเหตุฟ้าผ่าทางการเมืองที่มาเลเซีย สาเหตุมาจากผลเลือกตั้งทั่วไปที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) นำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) และอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ได้รับชัยชนะอย่างไม่คาดฝัน ถล่มบัลลังก์ของแนวร่วมรัฐบาลบาริซาน เนชันนัล (Barisan Nasional) ของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก (Najib Razak) หัวหน้าพรรค United Malays National Organisation (อัมโน) พรรคที่ครองอำนาจมากว่า 60 ปี

น่าเสียดายที่รัฐบาลใหม่มีอายุเพียง 18 เดือนก่อนจะล้มลงเพราะการย้ายมุ้งของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ส่งผลให้แนวร่วมอัมโนและกลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยมกลับมาครองอำนาจ แม้เวลา 18 เดือนจะน้อยนิดสำหรับการปฏิรูปการเมืองที่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็เพียงพอที่นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด จะเริ่มกระบวนการเช็คบิลอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัก ด้วยการเริ่มต้นสืบสวนเอาผิดในคดีทุจริตยักยอกเงินจากกองทุน 1MDB (1 Malaysia Development Berhad) มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นมหากาพย์ทุจริตที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนและใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย

การจัดการนาจิบ ราซัก ไม่ใช่เรื่องเดียวที่มหาเธร์ทำในเวลาอันน้อยนิด ตรงข้าม เขาสร้างข่าวพาดหัวใหญ่ระดับโลกอีกครั้งเมื่อประกาศเหยียบเบรคโครงการ BRI หรือข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road Initiative) ลูกรักของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จนสร้างความฮือฮาข้ามประเทศ

ไม่ถึงสองเดือนหลังมหาเธร์เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ฟ้าที่ผ่าลงบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนาจิบ ราซัก ก็ฟาดเปรี้ยงลงบนโครงการ BRI ยักษ์ใหญ่ในมาเลเซีย รัฐบาลใหม่สั่งระงับการก่อสร้างโครงการ East Coast Rail Link (ECRL) ทางรถไฟรางคู่เชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออกระยะทางกว่า 680 กิโลเมตรที่บริษัท China Communications Construction Co Ltd (CCCC) ของรัฐบาลจีนได้รับสัมปทานก่อสร้าง นอกจากนั้นยังสั่งยุติโครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติบนเกาะซาบาห์มูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะสร้างโดยบริษัทพลังงานของจีน ด้วยเหตุผลว่าโครงการเหล่านี้มีเงื่อนไขที่ “ไม่แฟร์”

ECRL เป็นโครงการ BRI ที่มีมูลค่าเงินกู้จากรัฐบาลจีนที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลนาจิบ ราซัก ผู้ทำสัญญากับจีนระบุมูลค่าการก่อสร้างที่ 1.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่รัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน ประมูลค่าใช้จ่ายที่แท้จริงไว้ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กระทรวงการคลังในรัฐบาลนาจิบตั้งบริษัท Malaysia Rail Link Sdn. Bhd. (MRL) ขึ้นเพื่อดำเนินการโครงการร่วมกับบริษัท CCCC ของจีน 

การศึกษาของ AidData ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยในสังกัด William & Mary’s Global Research Institute ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ECRL ติดหนึ่งในสามโครงการ BRI จากอาเซียนที่อยู่ในกลุ่มที่มีมูลค่าเงินกู้ใหญ่ที่สุด 50 โครงการในโลก น่าสังเกตว่าอีกสองโครงการในอาเซียนที่ติดอันดับล้วนเป็นโครงการสร้างทางรถไฟ นั่นคือ ทางรถไฟสายจาการ์ต้า-บันดุงในอินโดนีเซีย (2.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และทางรถไฟความเร็วสูงในลาว (3.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

รัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน ลงดาบอย่างเป็นทางการด้วยการแถลงของลิม กวน อิง (Lim Guan Eng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเดือนกรกฏาคม 2561 โดยอ้างคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ระงับโครงการ ECRL และโครงการก๊าซ พร้อมสั่งให้บริษัท CCCC ของจีน ระงับกิจกรรมทั้งหมด ด้วยเหตุผลด้านผลประโยชน์ของชาติ

มาตรการฟ้าผ่าของรัฐบาลมหาเธร์คงจะสร้างความปั่นป่วนให้จีนไม่น้อย เห็นได้จากการที่นักข่าวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในกัวลาลัมเปอร์คอยตามติดไล่บี้ถามเรื่องนี้กับนายกฯ ทุกวัน 

ไม่กี่วันหลังการแถลงของกระทรวงการคลัง แจ็ค หม่าแห่งอาลีบาบา ผู้ซึ่งขณะนั้นยังเป็นดาวรุ่งก็รุดเดินทางเข้าคารวะนายกฯ มหาเธร์ แล้วพบปะให้สัญญากับนักธุรกิจมาเลเซียว่าเรื่องนี้จะไม่ทำลายสายสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสองประเทศแต่ประการใด ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ขยับส่งเจ้าหน้าที่ระดับบริหารจากของคณะกรรมการกลางพรรคฯ มาเดินสายพบสื่อมวลชน หยอดคำหวานถึงความสัมพันธ์ฉันพี่น้องอันยาวนานระหว่างสองประเทศ

ความห้าวของมหาเธร์ที่นอกจากจะเริ่มเปรยๆ เรื่องน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่เป็นประเด็นแสนจะอ่อนไหวของจีนแล้ว ยังห้าวขนาดไปยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกลางกลาง The Great Hall of the People ในกรุงปักกิ่ง หลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียงของจีน ในเดือนสิงหาคม 2561 โดยพูดตรงๆ ว่า “เราไม่ต้องการสถานการณ์ที่การล่าอาณานิคมแบบใหม่เกิดขึ้น  เพราะ (สาเหตุจาก) ประเทศที่จนกว่าสู้รบปรบมือกับประเทศที่ร่ำรวยกว่าไม่ได้”

ต่อรองกันไปมาพักใหญ่ ในที่สุดสองประเทศบรรลุข้อตกลงลดต้นทุนลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และลดความยาวของเส้นทางรถไฟจาก 688 กิโลเมตรเป็น 640 กิโลเมตร  ทำให้มาเลเซียเลี่ยงการเสียค่าปรับในการยกเลิกโครงการกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐได้ รัฐบาลมหาเธร์เผยข้อมูลว่า 85% ของต้นทุนในการก่อสร้างมาจากเงินกู้จาก Export-Import Bank of China (EXIM Bank) ในอัตราดอกเบี้ย 3.25% และมีระยะการพักหนี้ 7 ปี

มหาเธร์คงเสียดายไม่น้อยที่ยังไม่ทันเริ่มต้นโครงการตามข้อตกลงใหม่รัฐบาลปากาตัน อาราปัน ก็มีอันเป็นไป ต่อมามูยีดดีน ยาซซีน (Muyiddin Yassin) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ สั่งเจรจา ECRL อีกรอบได้ข้อสรุปให้เพิ่มระยะเส้นทางรถไฟ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

The Red File

BRI ในมาเลเซียเฟื่องฟูในรัฐบาลนาจิบ ราซักแห่งพรรคอัมโน ผู้อยู่ในตำแหน่งสองวาระระหว่าง พ.ศ. 2552–2561 ใน พ.ศ. 2556 หลังจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศเปิดตัว BRI อย่างเป็นทางการ รัฐบาลนาจิบก็เริ่มโครงการ BRI แรกของมาเลเซียคือสวนอุตสาหกรรม Malaysia-China Kuantan Industrial Park (MCKIP) และท่าเรือกวนตันทางตะวันออกของประเทศที่ตีคู่ไปกับสวนอุตสาหกรรม Qinzhou Industrial Park (CMQIP) ในประเทศจีน

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2561 มาเลเซียมีโครงการ BRI ทั้งหมด 11 โครงการ เป็นที่จับตามองของสื่อต่างประเทศ รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ในเวลานั้นวิจารณ์ว่า โครงการ BRI ในมาเลเซียแสดงถึงการแผ่อิทธิพลของจีนภายในประเทศ

ในขณะเดียวกัน กรณีการทุจริต 1MDB ที่เชื่อมโยงกับ BRI ก็กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง มหาเธร์กล่าวหา นายกฯ นาจิบว่าจับมือกับจีนตั้งราคาโครงการ ECRL สูงเกินจริงเพื่อใช้เงินที่ได้ไปใช้หนี้ของกองทุน 1MDB ที่มีหนี้สินรุงรังเพราะถูกดึงเงินเข้ากระเป๋านายกฯ นาจิบ การดึงเงินจีนเข้าประเทศของนายกฯ ทำเพื่อเป้าหมายส่วนตัวทางการเมือง แม้ว่ารัฐบาล นาจิบ ราซักจะแก้ต่างว่าเงินทุนจีนเพื่อใช้ในการการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างงานในประเทศมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมาเลเซีย แต่นั่นก็ไม่สามารถโน้มน้าวใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกส่วนใหญ่ได้

หลังการเลือกตั้ง ลิม กวน อิง (Lim Guan Eng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เปิดเผยว่ามีการค้นพบเอกสารของกระทรวงการคลังที่เรียกว่า ‘แฟ้มแดง’ (The Red File) ซึ่งเป็นเอกสารลับที่มีแต่บุคคลระดับสูงที่เกี่ยวข้องบางรายเข้าถึงได้ เขาเปิดเผยข้อมูลที่พบในแฟ้มแดงต่อหนังสือพิมพ์ในมาเลเซียว่า รัฐบาลนาจิบ ราซัก ได้ดึงเงินของกระทรวงการคลังจำนวน 7 พันล้านริงกิตมาเลเซีย (1.67 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ไปจ่ายหนี้ 1MDB นอกจากนั้นยังพบรายละเอียดสัญญาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่มีเงื่อนไขให้รัฐบาลกลางจ่ายเงินอย่างไม่ชอบมาพากล เอกสารสัญญา ECRL และโครงการ BRI บางโครงการเช่นท่อก๊าซมีเงื่อนไขที่น่าสงสัย

ระหว่างที่เจรจากับจีน นายกฯ มหาเธร์ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เขากล่าวว่าต้นทุนโครงการ ECRL ถูกดันให้สูงกว่าความเป็นจริงถึง 3 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย เพื่อนำเงินไปจ่ายหนี้ 1MDB พร้อมเปิดเผยว่ารัฐบาลนาจิบ ราซัก มีการจ่ายเงินอย่างไม่ถูกต้องระหว่างการดำเนินโครงการ คือจ่ายเงินไป 33% ของมูลค่าโครงการทั้งหมดในขณะที่การก่อสร้างดำเนินไปเพียง 15% การจ่ายเงินในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับโครงการท่อก๊าซที่ซาบาห์เช่นเดียวกัน

ปัญหาทุจริตเกี่ยวในโครงการ BRI ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมาเลเซีย งานศึกษาของ AidData ที่เผยแพร่ในปี 2564 เกี่ยวกับโครงการในต่างประเทศจำนวน 13,427 โครงการรวมทั้งโครงการ BRI ใน 165 ประเทศ ที่รับเงินกู้จากรัฐบาลจีนและบริษัทของรัฐกว่า 300 แห่งมูลค่ารวม 8.43 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีแผนดำเนินการครอบคลุมช่วงเวลา 22 ปีระหว่างปี 2543-2564 พบว่า 35% ของโครงการ BRI ในฐานข้อมูลมีปัญหาทุจริต ละเมิดสิทธิแรงงาน และทำลายสิ่งแวดล้อม และมีความล่าช้า รวมทั้งถูกรัฐบาลประเทศต่างๆ ระงับมากกว่าโครงการจีนอื่นๆ ที่มาก่อนก่อน BRI

AidData ชี้ว่าการทำความเข้าใจเงื่อนไขเงินกู้ของจีนยากกว่าเงินกู้จากแหล่งอื่น เพราะรัฐบาลจีนไม่เต็มใจเปิดเผยข้อมูลพอร์ตสินเชื่อเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศ โดยทั่วไปจีนจะใช้มาตรการประกันสินเชื่อที่เข้มข้นขึ้นตามขนาดของสินเชื่อที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการใช้หลักประกันหรือการค้ำประกันการชำระหนี้ของบุคคลที่สาม ความซับซ้อนสำคัญของเงื่อนไขเงินกู้จีนที่ AidData พบคือ ‘หนี้แอบแฝง‘ (hidden debt) ที่มีมูลค่ารวมอยู่ราว 3.85 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยหนี้แอบแฝงหมายถึงการกู้ที่ผู้กู้อยู่ในรูปของบริษัทของรัฐ ธนาคารหรือองค์กรพิเศษของรัฐและเอกชน แทนที่จะเป็นรัฐบาลกลางตามแบบแบบการกู้เงินจีนในโครงการอื่นๆ ก่อนหน้า BRI โดย AidData พบว่ามีผู้กู้ในลักษณะนี้อยู่ราว 70% ของโครงการ BRI ในฐานข้อมูล

ประเด็นสำคัญคือเงินกู้ของผู้กู้ดังกล่าวมักไม่มีการระบุไว้ในบัญชีงบดุลแห่งชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเงินกู้ที่รัฐให้ความคุ้มครองพิเศษในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง สร้างเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนระหว่างหนี้ของรัฐและเอกชนที่มีต่อจีน ในปี 2564 The Institute for Democracy and Economic Affairs (IDEAS) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงกำไรด้านการต่อต้านการทุจริตในมาเลเซีย เรียกร้องให้รัฐบาลมูยีดดีน ยาซซีน แจกแจงมูลค่าที่แท้จริงของเงินกู้โครงการ ECRL ที่กู้จาก Export-Import Bank of China รวมทั้งเงื่อนไขและผลกระทบที่จะมีต่อหนี้สาธารณะมาเลเซีย หลังการปรับเปลี่ยนสัญญา ECRL ใหม่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อสาธารณะ แม้กระทั่งเมื่อมาเลเซียเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นมูยีดดีน ยาสซีน ในปัจจุบัน

ฝันใหญ่ที่ไม่ทำเงิน

ปี 2559 เป็นปีของความเฟื่องฟูของการลงทุน BRI ในมาเลเซีย การลงทุนจากจีนโตถึง 119% แต่ความตื่นเต้นดำรงอยู่ไม่นาน ก่อนปัญหานานาชนิดจะปรากฏใน 2 ปีถัดมา ท่าทีของรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้กระตือรือร้นตอบรับ BRI เหมือนยุคนาจิบ ราซัก โครงการจีนโดยเฉพาะ BRI หลายโครงการส่อแววขาดทุนล้มหายตายจาก เริ่มจากโครงการมะละกา เกตเวย์ (Melaka Gateway) ที่เริ่มต้นในปี 2557 มูลค่า 1.026 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท KJA Development ของมาเลเซีย กับบริษัทจีนสามบริษัท หนึ่งในนั้นคือบริษัทของรัฐบาลจีนชื่อ PowerChina ที่สัญญาว่าจะสนับสนุนโครงการด้วยเงินทุนเกือบ 100% ของโครงการ

มะละกา เกตเวย์ เป็นโครงการดาวเด่นขั้นที่นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนต้องเดินทางมาเยี่ยมชม  โครงการนี้ตั้งเป้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวในรัฐมะละกา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 พันไร่ มีการสร้างเกาะเทียมสี่เกาะและท่าเรือน้ำลึกในช่องแคบมะละกา มีพื้นที่ธุรกิจ โรงแรม คอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ แต่ก็เป็นโครงการที่ถูกมองว่าไม่จำเป็นมาตั้งแต่ต้น โดยหู เคอ ปิง (Hoo Ke Ping) นักเศรษฐศาสตร์มาเลเซียให้สัมภาษณ์นิตยสาร Forbes ในปี 2563 ว่า เป็นเรื่องยากที่มะละกา เกตเวย์ จะทำกำไรเพราะลำพังท่าเรืออื่นๆ ในมาเลเซียที่มีจำนวนมากอยู่แล้วก็ยังใช้งานไม่ถึง 70% และไม่มีทางเลยที่จะสู้กับท่าเรือน้ำลึกในสิงคโปร์ได้

ในทางยุทธศาสตร์ มะละกา เกตเวย์ อาจสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) ของจีนซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ BRI และอาจเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยให้เรือขนน้ำมันดิบของจีนล่องในช่องแคบมะละกาได้โดยไม่ต้องใช้ท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ แต่กระนั้น มะละกา เกตเวย์ต้องปิดตัวลงหลังจากรัฐบาลแห่งรัฐมะละกายกเลิกข้อตกลงกับบริษัท KJA Development ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากไม่มีกิจกรรมมาเป็นเวลาหลายปี

โครงการ BRI ที่อื้อฉาวและทำท่าง่อนแง่นอีกโครงการหนึ่งคือ ฟอร์เรสต์ ซิตี้ (Forest City) มูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัท Esplanade Danga 88 Sdn Bhd ที่มีสุลต่านแห่งยะโฮร์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมทุนกับบริษัท Country Garden Holdings ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของจีน เพื่อสร้างเกาะเทียมพื้นที่ 1.5 หมื่นไร่สำหรับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีเป้าหมายคือลูกค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ ถือเป็นการลงทุนในต่างประเทศที่มีมูลค่ามากที่สุดของบริษัทเอกชนจีน มีการลดจำนวนพนักงานในมาเลเซียลงเรื่อยๆ จาก 1,700 คนในปี 2562 เหลือ 500 คนในปี 2564 และมีรายงานว่า ในช่วงปีดังกล่าว บริษัทขายบ้านไปได้ไม่ถึง 10 ยูนิต

นอกจากนั้นยังมีโครงการบันดาร์ มาเลเซีย (Bandar Malaysia) ซึ่งเป็นโครงการที่จะเป็นที่ตั้งของอาคารผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูง HSR ที่เชื่อมระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้มีความพยายามจะอัดฉีดเงินหลายพันล้านริงกิตเข้ากอบกู้ เพราะฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตกลงกันเรื่องเงื่อนไขได้ แม้บันดาร์ มาเลเซียจะไม่ใช่โครงการ BRI โดยตรง แต่ทางรถไฟ HSR เป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับแผนทางรถไฟจากคุณหมิงสู่สิงคโปร์ที่ผ่านหลายประเทศในอนาคต

เมื่อมาเลเซียเปลี่ยนไป

AidData ระบุว่า ในปี 2564 มาเลเซียแบกรับหนี้สินรวม 8.38 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐจากโครงการ BRI ทั้งหมด 6 โครงการ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปฏิเสธหนี้ BRI รายใหญ่รายเดียวจากการระงับหรือยกเลิกโครงการระหว่างปี 2013–2021 รวมมูลค่า 1.158 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

อากาธา คราธซ์ (Agatha Kratz) ผู้อำนวยการร่วมศูนย์วิจัย Rhodium Group ในสหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาโครงการในต่างประเทศของจีน 24 โครงการกล่าวไว้ในรายการพอดคาสต์ของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) ในสิงคโปร์ว่า กระแสการการระงับหรือชะลอโครงการ BRI เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เนื่องจากความกลัวปัญหากับดักหนี้ของจีน และท่าทีที่เปลี่ยนไปของมาเลเซียก็มาจากความกลัวนี้เช่นเดียวกัน

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19 ยิ่งทำให้มาเลเซียและหลายประเทศมีทิศทางที่เปลี่ยนไปต่อ BRI อย่างชัดเจนขึ้น แม้ว่าจีนพยายามดำเนินการด้วยการทูตวัคซีนและบริจาคสิ่งจำเป็นด้านอนามัยให้ประเทศต่างๆ 150 ประเทศ รวมทั้งการบริจาควัคซีนซิโนแวค 1.5 ล้านโดสให้มาเลเซีย แต่ปัญหาเศรษฐกิจผนวกกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่จีนมีกับประเทศอาเซียนเป็นระยะ ทำให้ความกระตือรือร้นเรื่อง BRI ของรัฐบาลมาเลเซียชักจะแผ่วลง

เงียว เชา บิง (Ngeow Chow Bing) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนแห่งมหาวิทยาลัยมลายาตั้งข้อสังเกตในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ว่า เวลานี้ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและจีนมีความ “เย็นชาขึ้นและมีความสมจริงมากขึ้น”


อ้างอิง

Sangeetha Amarthalingam. MoF confirms ECRL, SSER projects suspended ‘until further notice’. <https://www.theedgemarkets.com/article/mof-confirms-ecrl-sser-projects-suspended-until-further-notice>

Bhavan Jaipragas. 5 Aug 2017. 11 projects that show China’s influence over Malaysia – and could influence its election. https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/2105440/11-projects-show-chinas-influence-over-malaysia-and-could

Alifah Zainuddin. 5 October 2021. What Happened To China’s BRI Projects in Malaysia?. https://thediplomat.com/2021/10/what-happened-to-chinas-bri-projects-inmalaysia/#:~:text=The%20two%20oil%20and%20gas,continue%20to%20remain%20in%20limbo

Wade Shepard. 5 October 2021. Inside The Belt And Road’s Premier White Elephant: Melaka Gateway. https://www.forbes.com/sites/wadeshepard/2020/01/31/inside-the-belt-and-roads-premier-white-elephant-melaka-gateway/?sh=49650842266e

Bonnie S. Glaser. The Impact of Covid-19 on China’s Belt and Road Initiative: A Conversation with Agatha Kratz. https://www.csis.org/podcasts/chinapower/impact-covid-19-chinas-belt-and-road-initiative-conversation-agatha-kratz

Alex Wooley. 29 September 2021. AidData’s new dataset of 13,427 Chinese development projects worth $843 billion reveals major increase in ‘hidden debt’ and Belt and Road Initiative implementation problems. https://www.aiddata.org/blog/aiddatas-new-dataset-of-13-427-chinese-development-projects-worth-843-billion-reveals-major-increase-in-hidden-debt-and-belt-and-road-initiative-implementation-problems

FMT Reporters. 7 April 2021. Come clean on new cost of financing ECRL, Putrajaya told. https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2021/04/07/come-clean-on-new-cost-of-financing-ecrl-putrajaya-told/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save