fbpx
ปรากฏการณ์ Brainy Books

ปรากฏการณ์ Brainy Books

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

คนไทยไม่อ่านหนังสือ!

 

คำพูดนี้เหมือนเป็นคำสาปและวงจรอุบาทว์ เพราะถ้าเราเชื่อเสียแล้วว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ ก็แปลว่าคนผลิตหนังสืออาจไม่ค่อยอยากผลิตหนังสือเท่าไหร่ เพราะผลิตออกมาก็รังแต่จะเอาไปถมที่ถมทาง ไม่ได้มีที่ทางอยู่ในมือหรือหัวใจของคนอ่าน อย่างที่หนังสือควรจะเป็น

ตอนที่ผมลุกขึ้นมาทำสำนักพิมพ์อย่าง Salt ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่เลือกพิมพ์เฉพาะหนังสือแนววิทยาศาสตร์และปรัชญา (ฝากโฆษณาเล็กน้อยว่า ติดตามได้ที่เพจ facebook.com/saltread นะครับ) มีคนถามว่า – จะบ้าหรือไง ทำหนังสือแนวนี้ไม่มีทางหรอกที่จะขายได้

แต่ช้าก่อน ลองย้อนกลับไปดูงานทั้งมหกรรมและสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมาของเราสิครับ จะเห็นได้ชัดเลยว่า แม้ ‘ยอดรวม’ ของหนังสือทั้งงานจะขายได้ลดลง แต่หนังสือประเภทหนึ่งกลับอยู่ได้ และมีทีท่าว่าจะอยู่ได้อย่างดีเสียด้วย

ฝรั่งเรียกหนังสือประเภทนี้ว่า Brainy Books ซึ่งฟังดูเหมือนโอ่อวดว่าเป็นหนังสือฉลาดๆ อะไรทำนองนั้น แต่ที่จริงผมคิดว่ามันคือหนังสือที่เพิ่มข้อมูลให้กับสมองของเราต่างหาก ดังนั้นจึงไม่ได้แปลว่าคนอ่านหนังสือพวกนี้จะต้องฉลาดหรืออยากฉลาดอะไรนะครับ เพียงแต่พวกเขา ‘อยากรู้’ เพิ่มเติมจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่เท่านั้นเอง

ผมคิดว่ากระแสของ Brainy Books เริ่มจะ ‘มา’ ราวๆ สัก 4-5 ปี (ในต่างประเทศ) และ 1-2 ปี (ในไทย) ที่ผ่านมานี่เอง เราอาจลองย้อนกลับไปดูหนังสือประเภท ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ดูก็ได้นะครับ ค่ายหนึ่งที่ทำหนังสือขายดีทำนองนี้ออกมาหลายเล่ม คือค่ายวีเลิร์น ที่หนังสือเล่มดังที่สุดในช่วงแรกๆ ของค่ายนี้น่าจะเป็น Outliers ที่ออกมาหลายปีแล้ว ตอนนั้นหลายคนคิดว่ามันน่าจะเป็นหนังสือดังประเภทวูบมาแล้วหายลับไป แต่การยืนหยัดของหนังสือทำนองนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นอยู่ว่า สังคมไทยต้องการอะไร

อีกค่ายหนึ่งที่ทำหนังสือประเภท Brainy Books ออกมาจำนวนมาก คือค่าย Openworlds ซึ่งผมเคยไปร่วมแปลอยู่ด้วยหลายเล่ม เล่มหนึ่งคือ ‘ประวัติศาสตร์กินได้’ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์การกินและอาหารของมนุษย์ตั้งแต่ยุคล่าหาอาหารมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเล่มที่ขายดีพอสมควร ผมเข้าใจว่ามีการพิมพ์ซ้ำ ซึ่งทำให้ตัวเองประหลาดใจอยู่ไม่น้อยที่หนังสือแนวนี้มีผู้นิยมอ่านกันไม่น้อย

ย้อนกลับไปที่หนังสือแนวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสักเล็กน้อย ในระดับโลก เขาบอกว่าหนังสือเล่มสำคัญที่ทำให้คนหันมาอ่านงานประเภทนี้มากขึ้นก็คือ Thinking, Fast and Slow ของคุณแดเนียล คาห์นีมาน (Daniel Kahneman) ซึ่งเป็นเหมือนผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคนสำคัญ (เขาเป็นนักจิตวิทยาที่ได้รับรางวัลโนเบลด้วยนะครับ) แล้วพอปีที่แล้ว คุณริชาร์ด ธาเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอีกคนหนึ่งได้รางวัลโนเบลซ้ำเข้าไปอีก หนังสืออย่าง Misbehaving ของเขาก็เลยขายดิบขายดี ไม่ใช่แค่ในต่างประเทศนะครับ แต่รวมถึงในไทยที่ Openworlds แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาพอดี

อย่างไรก็ตาม หลักหมายสำคัญที่ผมคิดว่าเป็นตัวปูพื้นกระแสของ Brainy Books โดยเฉพาะในแง่วิทยาศาสตร์ คือหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกได้แก่ The Sixth Extinction ของคุณเอลิซาเบธ โคลเบิร์ต (Elizabeth Kolbert) ซึ่ง Openworlds ก็แปลมาอีกเช่นกัน เล่มนี้โด่งดังในระดับโลกอย่างมาก เพราะพูดถึงการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 (ใน 4,500 ล้านปีของโลก เราเคยมีการสูญพันธุ์ใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง) ซึ่งหมายถึงการสูญพันธุ์ของมวลมนุษยชาติอย่างเราๆ ด้วย แต่น่าเสียดายที่ในไทย กระแสของหนังสือเล่มนี้ไม่ค่อยเกิดเท่าไหร่ ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ

อีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับวิทยาการทางการแพทย์และความตายของมนุษย์ คือ Being Mortal ของคุณหมออตุล กาวานดี (Atul Gawande) ซึ่งก็ประสบชะตากรรมคล้ายๆ The Sixth Extinction เหมือนกัน เพราะโด่งดังมากในต่างประเทศ แต่ในไทยเหมือนคนยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ แต่ผมคิดว่าจะเป็นหนังสือที่ขายไปได้เรื่อยๆ เพราะคือหนังสือว่าด้วย ‘ความรู้’ ที่เขียนสนุก อ่านสนุก และอัดแน่นไปด้วยข้อมูลและการนำเสนอการวิจัยจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ที่เล่าถึงหนังสือเหล่านี้มาทั้งหมด ก็เพื่อจะบอกคุณว่า หนังสือพวกนี้เป็นคล้ายๆ กับการ ‘เตรียมตัว’ ให้กับกระแสของ Brainy Book ได้ ‘เกิด’ อย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกับหนังสืออย่าง Sapiens ของนักเขียนชาวอิสราเอล ยูวาล โนอาห์ ฮาราริ (Yuval Noah Harari) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2014 เล่มนี้พูดได้ว่า ‘ดังระเบิดเถิดเทิง’ กันไปเลยครับ มันคือหนังสือประวัติมนุษย์ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ (เช่น เศรษฐศาสตร์) เล่าถึงมนุษย์ตั้งแต่กำเนิดเกิดมาในโลก แล้วมีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เป็นหนังสือที่ขายได้หลายแสนเล่ม จนต้องมี ‘ภาคต่อ’ อย่าง Homo Deus ซึ่งพอเล่มที่สองนี้ออกมา ก็กลับไปผลักให้เล่มแรกขายได้อีกครึ่งล้านเล่ม จึงพูดได้ว่า Sapiens นั้นเป็นปรากฏการณ์แห่งหนังสือจริงๆ ซึ่งเราก็ต้องรอดูนะครับ ว่าตอนนี้สำนักพิมพ์ยิปซีนำเอา Sapiens มาพิมพ์ในฉบับภาษาไทย (เข้าใจว่าจะออกในราวๆ เดือนหน้า) แล้วสังคมไทยจะตอบรับอย่างไร

หลายคนคิดว่า หนังสือแนวนี้คือหนังสือที่เอา ‘ความรู้’ มาย่อยให้อ่านง่าย อ่านสนุกๆ ข้อมูลอาจไม่ต้องลึกซึ้งอะไร แต่ที่จริงแล้วต้องบอกว่า แนวโน้มที่คนหันมาหา Brainy Books นี้ ทำให้หนังสือประเภทที่ ‘ยากจริงๆ’ แต่อาจเคลือบไว้ด้วยน้ำตาลบางอย่าง กลายเป็นหนังสือยอดนิยมขึ้นมาได้เหมือนกัน อย่างเช่น Seven Brief Lessons on Physics ของ คาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli) หรือ Astrophysics for People in a Hurry ของ Neil deGrasse Tyson (หรือกระทั่งหนังสือที่โด่งดังมากๆ เมื่อหลายปีก่อน อย่าง Brief History of Time ของสตีเฟน ฮอว์กิง) เป็นต้น

เดอะการ์เดี้ยนวิเคราะห์ไว้ว่า คนในศตวรรษที่ 21 พบว่าตัวเองอยู่ในท่ามกลาง ‘ทะเลข้อมูล’ ที่ไว้ใจไม่ได้จนจะจมตายอยู่แล้ว พวกเขาจึงต้องการคนที่คัดสรร พิถีพิถัน และ ‘เลือกเล่า’ เรื่องที่สำคัญๆ ต่อพวกเขาจริงๆ คนสมัยนี้กระหายหาทั้ง ‘ข้อมูล’ (Information) และ ‘ข้อเท็จจริง’ (Facts) ที่ต้องมีวิธีถักทอร้อยเรียงสนุกสนานด้วย ดังนั้น หนังสือประเภทนี้ที่จริงจัง มีข้อมูล แต่เล่าด้วยวิธีที่น่าอ่าน จึงกลายเป็นหนังสือที่กำลัง ‘มา’ อย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน

เทรนด์ Brainy Books สอดรับกับคนยุคใหม่ที่ต้องการทักษะหลายๆ อย่าง ทักษะไม่ได้ได้มาง่ายๆ แต่ต้องเกิดขึ้นผ่าน Inputs ใหม่ๆ ดังนั้น ผู้คนจึงต้องแสวงหาเพื่อเติมเต็มความรู้หลากหลายด้านให้ตัวเอง หนังสือประเภทนี้จึงไม่ใช่หนังสือฟองสบู่ลูกโป่งสีสวยที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอเท่านั้น แต่ยังเป็นลูกโป่งสีสวยที่มีเนื้อหาข้างในเต็มเปี่ยมด้วย จึงมีคนวิเคราะห์ว่า หนังสือเหล่านี้เริ่มสร้าง ‘ที่ทางพิเศษ’ (Special Place) ให้เกิดขึ้นทั้งในตลาดหนังสือและใน ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะในสมัยก่อน หนังสือดีที่ได้รับการยกย่อง มักจะเป็นงานวรรณกรรมแนว Fiction หนักๆ ที่สะท้อนให้เห็นชีวิต ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ท่วมท้นของมนุษย์ แต่โลกผันตัวมาสู่ยุคที่คนต้องการ Non-Fiction ที่หนักหน่วงขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น ผู้ผลิตหนังสือจึงมีคน ‘หน้าใหม่’ ก้าวเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการที่คลุกคลีอยู่กับข้อมูล ทำให้นักเขียนที่เคยครอบครองพื้นที่อยู่ต้องทำงานหนักขึ้นในแง่ของการหาข้อมูล โดยเหล่านักวิชาการก็ต้องหาวิธีในการเรียบเรียงและเขียนเพื่อสื่อสารไปถึงคนวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ หนังสือแนว Brainy Books จึงเป็นคล้ายจุดบรรจบของแม่น้ำหลายสาย ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินในการอ่านที่จะไม่ทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนเสียเวลา เพราะเวลาของคนในศตวรรษที่ 21 นั้น ดูเหมือนจะหดเล็กลงทุกทีๆ กับไลฟ์สไตล์และการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

 

และนี่คือเหตุผล – ที่หนังสือแนว ‘ความรู้’ หลากหลายด้านกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save