fbpx
'แผนขจัดความโง่ของประชาชน' กับ ความงุนงงของวรรณกรรมสะท้อนสังคมของไทย

‘แผนขจัดความโง่ของประชาชน’ กับ ความงุนงงของวรรณกรรมสะท้อนสังคมของไทย

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

แผนขจัดความโง่ของประชาชน เป็นรวมเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่องล่าสุดของไพฑูรย์ ธัญญา นามปากกาของ ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2530 และนักวิชาการทางด้านวรรณกรรม ไพฑูรย์มีผลงานมากมายทั้งในฐานะที่เป็นนักเขียนและนักวิชาการทางด้านวรรณกรรม ความสนใจในด้านวิชาการวรรณกรรมของไพฑูรย์มีความหลากหลายทั้งในเรื่องทฤษฎีทางวรรณกรรม ประวัติวรรณกรรมสมัยใหม่ การวิจารณ์วรรณกรรมในแนวนิเวศวิทยา ส่วนผลงานเขียนของเขามีทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และกวีนิพนธ์ เนื้อหาในงานของเขาเป็นการนำเสนอชีวิตของผู้คนตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองเสมอมา

เนื้อหาของ แผนขจัดความโง่ของประชาชน นั้นถูกร้อยเรียงด้วยสองประเด็นใหญ่ๆ คือ การปะทะกันระหว่างความเป็นเมืองกับความไม่เป็นเมือง และประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่กลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน สิ่งที่ช่วยยึดโยงทั้งสองประเด็นเข้าไว้ด้วยกันนั้นไพฑูรย์ใช้เรื่องเทคโนโลยีในการสื่อสารเข้ามาช่วยอธิบายว่าเหตุใดสังคมไทยร่วมสมัยจึงมีปัญหาการแบ่งขั้วที่ชัดเจนระหว่างความเป็นเมืองกับความไม่เป็นเมือง และผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่

ลักษณะของเรื่องที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างความเป็นเมืองกับความไม่เป็นเมืองนั้นปรากฏในวรรณกรรมไทยสมัยใหม่มาอย่างยาวนานหลายสิบปี ในแง่หนึ่งมันสะท้อนให้เราเห็นว่า การพัฒนาของสังคมไทยนั้นยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมือง (?) ทำให้คนที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองนั้นเผชิญกับความแปลกแยกความไม่คุ้นเคยจนไม่อาจรู้สึกเชื่อมต่อกับความเป็นเมืองได้แม้ว่าในสังคมไทยปัจจุบันจะมีเครื่องมือสื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน (?)

ท่าทีที่มีต่อเมืองของรวมเรื่องสั้นชุดนี้เกือบทุกเรื่องมีลักษณะคล้ายคลึงกันจนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ภาพสำเร็จรูป’ ของความเป็นเมือง นั่นคือ ความสับสนวุ่นวาย ความไม่เป็นมิตร แม้เทคโนโลยีจะถูกสร้างขึ้นและนำเอามาใช้เพื่อลดระยะห่างที่เคยมีระหว่างพื้นที่ของเมืองกับพื้นที่ที่ไม่ใช่เมือง การวิพากษ์วิจารณ์เทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำให้ทุกคนเชื่อมต่อกันอย่างแท้จริงจึงกลายเป็นประเด็นที่ช่วยสนับสนุนการแบ่งขั้วระหว่างความเป็นเมืองกับความไม่เป็นเมืองในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ได้อย่างชัดเจน  ดังที่ปรากฏในเรื่องสั้น เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นความแปลกแยกของตัวละครหญิงสาวที่มีต่อเมือง ความเป็นเมืองมีลักษณะที่สับสนวุ่นวายแม้จะทุกอย่างจะถูกเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยเทคโนโลยีแต่ ‘เธอ’ ก็ยังไม่ถูกนับหรือเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นเมืองได้ นอกจากนี้ความเป็นเมืองยังมีลักษณะเป็นภัยคุกคามอีกด้วย

ในเรื่องสั้น ถ้าสัญญาณดีจะโทรหา เรื่องราวของตัวละครชายชาวกรุงเทพฯ ที่ออกมาอยู่ต่างจังหวัดหลายสิบปี เขาเริ่มมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่มีเจ้าของแล้วโดยที่หญิงสาวผู้นั้นเองก็พยายามติดต่อกับตัวละครชายผ่านไลน์ที่เป็นแอปพลิเคชันยอดนิยมในสังคมไทย เขาและเธอพยายามจะนัดเจอกันในป่า แต่จนแล้วจนรอดในป่าก็สัญญาณไม่ดี อีกทั้งตัวละครชายเองก็อยู่ในภาวะสับสนกับความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้ทั้งคู่ไม่ได้เจอกันในป่า ในเรื่องนี้เราอาจพิจารณาได้ว่าสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในต่างจังหวัดให้ใกล้ชิดมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น แต่สิ่งที่เทคโนโลยีไม่มีหรือเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันเลยก็คือ จิตสำนึกและจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ต้องการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ ดังที่ย่อหน้าสุดท้ายได้อธิบายเอาไว้ว่า “เสียงนกระวังไพรร้องเรียกเกรียวกราวในสุมทุมเบื้องหน้า เหมือนเสียงทักทายเพื่อนเก่าที่ไม่เจอกันมาเนิ่นนาน” (หน้า 52) เทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่นั้นแม้จะช่วยให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้นแต่ตัวเรื่องสั้นเรื่องนี้ในท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ต้องการแสวงหาความเงียบสงบที่ไม่มีสัญญาณใดๆ รบกวน นั่นคือการกลับไปสู่ธรรมชาตินั่นเอง

ในเรื่องสั้น ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ได้ชี้ให้เห็นถึงความแปลกแยกของผู้เล่าเรื่องที่มีท่าทีต่อการขยายตัวของเมืองได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ แม้ผู้เล่าเรื่องจะพยายามไม่ตัดสินว่าความเป็นเมืองที่ขยายตัวนั้นเป็นสิ่งแปลกประหลาดต่อความเป็นอื่นที่ไม่ใช่เมือง เช่น การเข้ามาของ “ร้านกาแฟข้ามชาติเกรดเอ” ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า และร้านกาแฟนี้เองได้ทำให้ “จังหวัดของเราเจริญแล้ว การมาถึงของร้านกาแฟยี่ห้อนี้เป็นบทจบของทุกข้อสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาและอารยธรรมสมัยใหม่” (หน้า 139) ตัวเรื่องของเรื่องสั้นชิ้นนี้เป็นการเล่าถึงผู้คนที่ผู้เล่าเรื่องได้พบเห็นทั้งในร้านกาแฟและผู้คนที่เดินผ่านไปมานอกร้านกาแฟ ท่าทีในการมองของของผู้เล่าเรื่องนั้นพยายามที่จะอธิบายกิจกรรมของผู้คนที่ได้พบเห็นด้วยตาตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

สิ่งที่น่าสนใจก็คือความขัดแย้งในตัวเรื่องที่เริ่มจากผู้เขียนรู้สึกขัดแย้งกับตัวสถานที่คือร้านกาแฟที่เปิดใหม่ รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า ความรู้สึกแปลกแยกที่เกิดขึ้นคือความไม่รู้ว่าจะจัดตัวเองลงไปอยู่ในจุดไหนของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวสถานที่กับผู้คน ท่าทีของผู้เล่าเรื่องจึงเต็มไปด้วยความสงสัยต่อผู้อื่นและสถานที่อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ตัวผู้เล่าเรื่องเองก็อยู่ในร้านกาแฟนี้ด้วย เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนและสถานที่ (อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ) จนในสุดท้ายเขาก็เดินออกจากร้านไป “ขณะเดินออกมานอกร้าน เปิดแอปพลิเคชั่นบันทึกความจำ แล้วพิมพ์ข้อความสั้นๆ ลงไปว่า ‘ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ’ กดเซฟแล้วเดินออกจากร้าน ก่อนกลืนหายไปในคลื่นคนที่เดินไหลตามกันไปเหมือนฝูงเป็ดไล่ทุ่ง” (หน้า 150)

ในย่อหน้าสุดท้ายนี้เองปริศนาของผู้เล่าเรื่องก็ได้รับการไขอย่างกระจ่างแจ้ง เพราะมันได้แสดงให้เห็นว่า ในบรรดาความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกแทนค่าด้วยร้านกาแฟเป็นเพียง ‘ความใหม่’​ ที่เข้ามาในพื้นที่ที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้อารยธรรมสมัยใหม่เลย ผู้เล่าเรื่องได้ทดลองความจริงด้วยการนั่งสังเกตและพยายามเข้าใจและอธิบายอย่างเที่ยงตรงว่าเขาเห็นอะไร จนเขาค้นพบว่าไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะสุดท้ายคนทั้งหมดทั้งที่อยู่ในร้านกาแฟและห้างสรรพสินค้า “ไหลตามกันไปเหมือนฝูงเป็ดไล่ทุ่ง”

คำตอบของปริศนานี้ก็คือ ความเป็นสมัยใหม่ทำให้คนเดินตามๆ กันไปโดยไม่มีจุดหมาย เป็นเพียง ‘เป็ด’ ที่เดินอยู่ในทุ่งเท่านั้น และผู้เล่าเรื่องก็เป็นเพียงผู้เดียวที่ตระหนักถึงความไม่พิเศษนี้ ผู้เล่าเรื่องจึงอยู่เหนือปัญหาใดๆ ทั้งปวง เพราะเป็นผู้รู้แจ้งตลอดว่าความเป็นสมัยใหม่ทั้งหมดนั้นเป็นของแปลกปลอมและเปลี่ยนให้คนกลายเป็น ‘เป็ดไล่ทุ่ง’

นอกจากนี้รวมเรื่องสั้น แผนขจัดความโง่ของประชาชน ยังมีท่าทีของการวิพากษ์วิจารณ์โลกออนไลน์ที่ถูกใช้เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยโดยที่ไม่ต้องระบุตัวตน เช่นในเรื่อง ผมยังไม่ได้นอนสักงีบ ท่าทีของเรื่องสั้นนี้ที่มีต่อการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์นั้นเป็นไปในลักษณะพยายามจะเข้าใจว่าพื้นที่แบบใหม่สร้างตัวตนและเปลี่ยนแปลงคนได้อย่างไร แต่ขณะเดียวกันการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ก็ทำให้คนหมกมุ่นอยู่กับการแสดงความคิดเห็นกัน  และแทนที่ความคิดเห็นเหล่านั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนสังคมได้แต่กลับกลายเป็นเพียงพื้นที่ที่ให้คนมาแสดงตัวตนที่สามารถปกปิดตัวเองได้ ความสัมพันธ์ของโลกออนไลน์กับผู้คนบนโลกออนไลน์จึงมีลักษณะที่ขัดแย้งกัน นอกจากนี้ ผู้เล่าเรื่องยังได้ใช้คำว่า “สังคมแบบรูดเลื่อน” ซึ่งเป็นการใช้คำที่แสดงให้เห็นถึงอากัปกิริยาของคนขณะเล่นโทรศัพท์ที่สามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ได้ การใช้คำว่า ‘รูดเลื่อน’ มีท่าทีที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่ามีความรู้สึกของการเย้ยหยันอยู่เพราะผู้เล่าเรื่องได้แสดงให้เห็นว่าคนที่หมกมุ่นอยู่กับรูดเลื่อนนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

ในประเด็นที่ว่าด้วยสังคมผู้สูงอายุ เราจะเห็นได้ชัดจากเรื่อง ฉุยฉายดิจิทัล ที่เล่าเรื่องของครูมะลิ หญิงสูงวัยผู้เกษียณอายุที่มีโอกาสได้อ่านเรื่องสั้นของหลานชาย ซึ่งครูมะลิเข้าใจว่าหลานชายกำลังเอาเรื่องของตัวเองมาเขียน เรื่องสั้น (ที่ซ้อนเรื่องสั้นอีกทอดหนึ่ง) ของหลานชายได้กระตุ้นภาพอดีตอันงดงามของเธอและเรื่องก็เล่าควบคู่ไปกับปัจจุบันของตัวเรื่อง (ช่วงเวลาที่หญิงสูงวัยกำลังอ่านเรื่องสั้น) เวลาในเรื่องนี้จึงแบ่งออกเป็นสองตอนคือ อดีตและปัจจุบันของครูมะลิ ในช่วงเวลาปัจจุบันของครูมะลินั้นเธอกำลังจะไปงานเลี้ยงรุ่นกับเพื่อนๆ ของเธอ และเรื่องสั้นของหลานชายก็ได้เล่าถึงการรำฉุยฉายที่ทำให้ครูมะลิมีชื่อเสียง จนเธอคิดว่าในตอนเย็นเธอจะใส่ชุดฉุยฉายพราหมณ์ไปงานเลี้ยงรุ่น

ในขณะเดียวกัน เรื่องของครูมะลิในเรื่องสั้นของหลานชายเป็นเรื่องของมอลลี่ หญิงเกษียณอายุที่มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ผ่าน ‘ไลน์ชรา’ ทั้งอดีต (ที่ถูกเล่าผ่านเรื่องสั้น) และปัจจุบันของครูมะลิถูกเล่าเอาไว้ในเรื่องสั้น เป็นเส้นเวลาสองเส้นที่เกือบจะทาบทับกันอย่างสนิท มีเพียงครูมะลิเท่านั้นที่ไม่อาจตระหนักได้ว่าเรื่องที่จริงกับเรื่องที่ไม่จริงนั้นแบ่งแยกอย่างไร เรื่องราวดำเนินต่อไปจนกระทั่งตอนสุดท้ายของเรื่องสั้นของหลานชายที่วิพากษ์วิจารณ์งานเลี้ยงรุ่นของมอลลี่ว่าเป็นเหมือนละครลิง นั่นทำให้ครูมะลิรู้สึกสะเทือนใจและตอกย้ำความโดดเดี่ยวอ้างว้างและความแปลกแยกที่ตัวเองมีต่อโลก นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องวิกฤตตัวตนของผู้สูงวัยที่อยู่ในตัวครูมะลิให้เด่นขัดขึ้นมาอีกด้วย เรื่องสั้น ฉุยฉายดิจิทัล จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงโลกที่ไม่สามารถบรรจบกันได้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

ประเด็นดังกล่าวนี้เรายังเจอได้ในเรื่องสั้น ลับหาย ไลน์ชรา ได้อีกเช่นกัน เพราะเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้พูดถึงความแตกต่างของคนสองวัยที่ต่างคนก็ต่างพยายามจะเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่น้ำเสียงของเรื่องนี้มีท่าทีที่ทำให้คนรุ่นใหม่เป็นคนหุนหันใจร้อน ไม่เข้าใจโลก ไม่มีความเอื้อเฟื้ออารีให้กับโลก ต่างจากคนรุ่นเก่าที่แม้จะเป็นตัวตลกและเป็นคนรุ่นที่น่ารำคาญเวลาใช้เครื่องมือสื่อสารชนิดใหม่อย่างเช่น ‘ไลน์’ ในการส่งข้อความจำพวก ‘สวัสดีวันศุกร์’ หรือบรรดาคำคมต่างๆ ปัญหาและความขัดแย้งที่เป็นปมสำคัญในเรื่องสั้นชิ้นนี้จึงเป็นความแตกต่างในการใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างใหม่ และเป็นอีกครั้งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปและได้ทำให้ผู้คนที่มีวัยแตกต่างกันมีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่มันควรจะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน

แผนขจัดความโง่ของประชาชน เรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายที่เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่ชวนให้ฉงนเป็นที่สุด เพราะไพฑูรย์ได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการใช้เทคนิคทางวรรณกรรมเพื่อเย้ยหยันความเป็นเรื่องเล่า/ความเป็นวรรณกรรมของตัวเอง และเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมรวมถึงวิจารณ์ความเป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมของตัวเองอีกด้วย เรื่องสั้นเรื่องนี้ใช้กลวิธีที่เปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการเป็นเรื่องเล่าของตัวเอง มีทั้งการอธิบายว่าในส่วนนี้ควรจะเขียนอย่างไร ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ทั้งการทำงานของนักเขียนเพื่อสังคม/นักเขียนวรรณกรรมสะท้อนสังคมในการพยายามจะวิจารณ์อำนาจรัฐ วิจารณ์ผู้มีอำนาจที่เห็นประชาชนเป็นคนโง่ เรื่องสั้นเรื่องนี้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะชี้ให้เห็นว่ารัฐได้ควบคุมประชาชนอย่างไรผ่านระบบราชการ มันอาจจะกำลังวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการอยู่ก็เป็นได้ แต่ความพยายามที่จะ ‘เล่น’ กับกลวิธีการนำเสนอ ทำให้สาระสำคัญของตัวเรื่องนั้นกลืนหายไปกับกลวิธีอย่างน่าผิดหวัง สิ่งที่น่าฉงนไปกว่านั้นก็คือ ทั้งตัวเรื่องและกลวิธีการนำเสนอนั้น เราอาจพบได้และอ่านเจอในวรรณกรรมไทยสมัยใหม่อย่างน้อยที่สุดในทศวรรษ 2490 และ 2510 มาแล้ว

ในด้านกลวิธีการเล่าของเรื่องสั้นในเล่มนี้มีลักษณะร่วมกันคือ ใช้การเล่าเรื่องที่ทับซ้อนกันในแต่ละเรื่อง กล่าวคือตัวเรื่องที่ผู้อ่านจะได้รับนั้นไม่ได้มาจากผู้เล่าเรื่องในตัวเรื่อง แต่ผู้เล่าเรื่องมีการอ้างถึงหรือกล่าวถึงหรือใช้การเล่าเรื่องอีกชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่อง หรือในบางครั้งผู้เล่าเรื่องก็ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ผู้อ่านฟัง หรืออาจกล่าวได้ว่าโดยมากเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องนั้นได้นำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครอื่นๆ โดยมีการกำกับของผู้เล่าเรื่องอีกทอดหนึ่งนั่นเอง

กลวิธีแบบนี้ในแง่หนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘ชุดเรื่องเล่า’ เรื่องหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมานั้นประกอบขึ้นมาจากอะไรบ้างและเรื่องเล่าแต่ละชุดมีคติแอบแฝงอย่างไร การเปิดเผยกระบวนการสร้างเรื่องเล่านั้นอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงอคติที่แอบแฝงอยู่ภายใต้เรื่องเล่าชุดนั้นๆ หรืออาจพิจารณาได้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่าที่สามารถสถาปนาตนเองกลายเป็นความรู้ความเข้าใจชุดหนึ่งๆ ในสังคมนั้นไม่ได้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่มีความพยายามที่จะชี้นำให้คนในสังคมเข้าใจและตระหนักได้ว่าชุดเรื่องเล่าเหล่านั้นคือสารัตถะหรือเนื้อแท้ของความรู้

อย่างไรก็ตาม กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ อาจให้ผลในทางตรงกันข้าม ในขณะที่กลวิธีดังกล่าวพยายามจะวิพากษ์ความเป็นเรื่องเล่าและอำนาจของเรื่องเล่าที่ส่งอิทธิพลต่อสังคม มันก็ได้แสดงให้เห็นถึงอคติบางอย่างของผู้เขียนได้เช่นกัน กล่าวคือ ในบรรดาเรื่องเล่าที่มีความซับซ้อนนั้น มีเพียงแต่ผู้เขียนเท่านั้นที่สามารถตระหนักและเข้าใจได้ว่าความรู้และเรื่องเล่าชุดหนึ่งๆ นั้นประกอบขึ้นมาจากอะไรบ้างและมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ได้อยู่ในวงจรของการถูกชักจูงหรือถูกทำให้เชื่อด้วยกลวิธีของเรื่องเล่าแบบนี้ มิหนำซ้ำยังสามารถแจกแจงและทำให้เห็นได้อีกว่า เรื่องเล่าชุดหนึ่งสร้างขึ้นอย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร ทำงานอย่างไร ดังนั้นกลวิธีเช่นนี้เราพิจารณาได้หรือไม่ว่าการเป็นนักเขียนเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาของสังคมนั้นในแง่หนึ่งอาจมีความเป็นปฏิปักษ์ในตัวเอง กล่าวคือนักเขียนอาจจะพยายามนำเสนอปัญหาออกมา แต่ด้วยท่าทีและกลวิธีบางอย่างที่ทำให้สิ่งที่นักเขียนนำเสนอออกมานั้นกลายเป็นสิ่งที่แยกตัวนักเขียนออกจากปัญหาของสิ่งที่กำลังเขียนเสียเอง ดังนั้นนี่อาจเป็นปัญหาของนักเขียนที่พยายามเขียนงานสะท้อนสังคมแต่กลับดึงตัวเองออกจากปัญหานั้นๆ

กลวิธีเปิดเผยกระบวนการของ ‘การเป็นเรื่องเล่า’ จึงไม่เป็นอะไรมากไปกว่าการ ‘เล่น’ และ ‘ล้อเลียน’ กับขนบการประพันธ์ โดยเฉพาะในแนวสัจนิยมที่ต้องการสะท้อนภาพและนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา กลวิธีดังกล่าว ในแง่หนึ่งเป็นการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างความจริงกับความเป็นเรื่องแต่งที่ผสมปนเปกันอยู่ในวรรณกรรมซึ่งมีความซับซ้อนในการนำเสนอภาพความเป็นจริง แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมมีความซับซ้อนมากกว่าในยุคที่กลวิธีเช่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นปัญหาที่สำคัญก็คือ สังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไพฑูรย์ไม่เคยเปลี่ยนมุมมองของตัวเองในการมองและเข้าใจสังคมไทยเลย

กลวิธีและเนื้อเรื่องของรวมเรื่องสั้น แผนขจัดความโง่ของประชาชน นั้นสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพที่ชัดเจน แต่หากเอารวมเรื่องสั้นชุดนี้ไปวางทาบทับบนประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ หรือความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยแล้วเราจะพบว่า แผนขจัดความโง่ของประชาชน นั้นมีท่าทีและวิธีการเข้าใจสังคมไทยสมัยใหม่ที่ไม่เคลื่อนออกจากจุดเดิมของวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาหลายทศวรรษแล้ว คือ ความเป็นปฏิปักษ์และความเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างความเป็นเมือง/ความไม่เป็นเมือง, ความเป็นสมัยใหม่/ความไม่เป็นสมัยใหม่ ซึ่งมีเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของโครงสร้างในเรื่องสั้นทั้งชุด นอกจากนี้ ปัญหาที่ใหม่ล่าสุดอย่างสังคมผู้สูงวัยก็ถูกนำเสนอด้วยโครงสร้างความเข้าใจที่ไม่ต่างจากวรรณกรรมยุค 2510 นั่นคือวิกฤตตัวตน ความอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว การไม่ถูกเชื่อมต่อกับสังคม ดังนั้นหากพิจารณาในแง่ฝีมือ แผนขจัดความโง่ของประชาชน นั้นทำได้ดี ลื่นไหล แต่ต้องมาสะดุดกับโลกทัศน์ของเรื่องที่ไม่นำพาผู้อ่านไปยังอนาคตของประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ได้เลย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือมันเป็นความพยายามในการเข้าใจและอธิบายเหตุการณ์และปรากฏการณ์ของสังคมไทยร่วมสมัย แต่ท้ายที่สุดเรากลับพบว่าความพยายามที่จะกันตัวเองของนักเขียนออกไปจากปัญหาเพื่อนำเสนอเรื่องราวหรือปัญหาที่ตนเห็นว่าส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องความคลุมเครือของนักเขียนที่อาจจะเข้าใจปัญหาผิดสัดส่วนจนกระทั่งตัวเองอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา (ที่ตนเองไม่เคยตระหนักเลยก็เป็นได้) เพราะทั้งในด้านเนื้อหาและกลวิธีในการนำเสนอ ดูเหมือนว่าไพฑูรย์มองเห็นว่าปัญหาของสังคมไทยร่วมสมัยนั้นคืออะไร (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรใหม่ – และแทบไม่ต่างไปจากยุคตุลาฯ ด้วยซ้ำ) และนำมาเล่นกลทางภาษาทำให้งานชิ้นนี้ดูเหมือนใหม่มากขึ้น

เมื่ออ่านจบก็ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมไทยแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย…ในรอบหลายสิบปีมานี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save