fbpx
สมองเราเป็นอย่างไร เมื่อต้องตัดสินใจเชิงจริยธรรม

สมองเราเป็นอย่างไร เมื่อต้องตัดสินใจเชิงจริยธรรม

ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

1

 

คุณกำลังยืนอยู่บนสะพาน

ใต้สะพานนั้นมีทางรถรางวิ่งลอด

คุณมองไปฝั่งหนึ่งรถรางกำลังวิ่งเข้ามา

อีกฝั่งหนึ่งคุณมองเห็นคน 5 คนอยู่บนรางรถ

ในเวลาไม่นาน คุณสังเกตว่ารถรางนั้นวิ่งมาด้วยความเร็วผิดปกติ และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอ มองเข้าไปพบว่าในรถรางนั้นไม่มีคนขับหรือผู้โดยสาร!

รถรางนั้นเข้ามาใกล้มากขึ้นจนไม่สามารถจะทำอะไรได้อีกต่อไป

อีกไม่กี่วินาทีจะต้องเกิดโศกนาฏกรรมเป็นแน่

ทันใดนั้น คุณก็สังเกตเห็นชายคนหนึ่งบนสะพานเดียวกันกับคุณ ชายคนนั้นมีรูปร่างสูงและใหญ่มาก กำลังนั่งห้อยขาอยู่บนสะพาน วินาทีนั้น ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

วิธีเดียวที่คุณจะหยุดรถรางนั้นได้ คือคุณจะต้องผลักให้ชายร่างใหญ่คนนั้นตกลงไปขวางรถราง!

คุณจะผลักชายคนนั้น หรือจะไม่ทำอะไรเลย?

 

 

The fat man (1976) ปริศนารถราง
The fat man (1976)
(ที่มา medium.com)

 

 

ถึงตอนนี้คุณคงมีคำถามในใจว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าชายร่างใหญ่นั้นจะหยุดรถรางไว้ได้จริงหรือไม่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น สถานการณ์ข้างต้นที่ผมอธิบายไปคือเรื่องราวแบบหนึ่งของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาการตัดสินใจของมนุษย์โดยเฉพาะการตัดสินใจในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม ที่เรียกว่า ‘ปริศนารถราง’ (trolley problem)

คำถามจึงไม่ใช่ว่าชายคนนั้นจะหยุดรถรางได้จริงหรือไม่ ถ้าผมบอกคุณว่า ชายร่างใหญ่นั้นจะหยุดรถรางได้แน่นอน คุณจะตัดสินใจยังไง?

 

2

 

ถ้าคำตอบของคุณคือ ไม่

คุณสบายใจได้ (?) เพราะคนประมาณ 90% ก็ตอบเหมือนคุณ​

แต่เอาละ ผมดีดนิ้วหนึ่งที (หรือจะวิ่งเข้าอุโมงค์ย้อนเวลาก็ได้) คุณก็กลับมาอยู่ที่สถานการณ์เดิมอีกครั้ง รถรางกำลังวิ่งเข้ามา คนงานชะตาขาด 5 คนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

ความแตกต่างก็คือ คราวนี้คุณไม่ได้อยู่บนสะพาน

คุณยืนอยู่ข้างๆ รางรถ และสังเกตเห็นว่า ข้างตัวคุณมีสวิตช์สำหรับสับรางให้รถรางวิ่งออกไปทางอื่น

แต่เรื่องก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะทางอีกทางหนึ่งนั้น ก็มีคนอยู่ 1 คน

ไม่มีเวลาแล้ว รถรางกำลังวิ่งเข้ามา คุณต้องตัดสินใจแล้วว่าคุณจะสับสวิตช์นี้หรือไม่

เอายังไงดี  เอายังไงดี

 

 

The switch (1967)
The switch (1967)
(ที่มา medium.com)

 

ถ้าคำตอบของคุณคือ สับสวิตช์สิ!

คุณสบายใจได้ (?) เพราะคนประมาณ 90% ก็ตอบเหมือนกับคุณ​

อาาาาห์ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย สองกรณีนี้เหมือนกันซะที่ไหน

กรณีหนึ่งเราต้องทำให้คนคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยน้ำมือเรา

ส่วนอีกกรณีนึง เราแค่ …

เดี๋ยวนะ มันก็เหมือนกันนี่หว่า??

 

3

 

กรณีของการสับสวิตช์รถราง (the switch, 1967) ที่ผมเพิ่งเล่าให้ฟังนี้ คือต้นฉบับของ trolley problem ซึ่งคิดขึ้นโดยนักปรัชญา จูดิส ทอมสัน เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ส่วนกรณีของชายร่างใหญ่ (the fat man, 1976) คือกรณีดัดแปลงจากต้นฉบับ

คำถามแนวนี้ยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น ถ้าคุณเป็นคนขับเครื่องบินแล้วเครื่องบินกำลังจะตก คุณต้องเลือกว่าจะบังคับเครื่องบินให้ไปตกตรงไหน ระหว่างหมู่บ้านที่มีประชากรมากกว่า หรือหมู่บ้านที่มีประชากรน้อยกว่า

หรือกรณีที่คุณเป็นหมอผ่าตัดเชี่ยวชาญการเปลี่ยนอวัยวะ มีคนไข้ 5 รายกำลังจะเสียชีวิตจากอวัยวะล้มเหลว (เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต) การแลกชีวิตของผู้ที่มีอวัยวะครบถ้วนหนึ่งคน (ที่ยังมีชีวิต) เพื่อเอาอวัยวะไปต่อชีวิตให้กับคน 5 คน เป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด?

หรือคน 5 คนกำลังหนีฆาตกรโรคจิตไปหลบอยู่ในห้องห้องหนึ่ง ฆาตกรกำลังอยู่ใกล้ๆ ทุกคนพยายามกลั้นหายใจ หญิงคนหนึ่งในกลุ่มคนนั้นอุ้มทารกอยู่ในอ้อมกอด และทารกกำลังจะร้องไห้ เอ่อ … ผมคงไม่ต้องเล่าให้ฟังต่อนะครับว่าจะถามว่าอะไร

กลับมาที่กรณีรถรางของเรากันต่อดีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากมองในมุมของผลของการกระทำนั้น ทั้งสองกรณีนั้นให้ผลไม่ต่างกัน (ผลักชายร่างใหญ่ หรือ สับสวิตช์) คือหากลงมือกระทำ มีผู้เสียชีวิต 1 คนแทนที่จะเป็น 5 คน

แต่คนเดียวกันที่ตัดสินใจว่าจะไม่ผลักชายร่างใหญ่ กลับตัดสินใจว่าจะสับสวิตช์ เป็นเพราะอะไรกัน?

ทฤษฎีหนึ่งก็คือ มันต่างกันที่ ‘เจตนา’

กรณีของชายร่างใหญ่ เราคือผู้กระทำโดยตรง กรณีของการสับสวิตช์ ชายผู้โชคร้ายคนหนึ่งคนนั้น ‘โดนลูกหลง’ จากความพยายามที่จะช่วยชีวิตคน 5 คนต่างหาก

ฟังดูเข้าที ความแตกต่างก็คือว่าเราเจตนาที่จะทำให้ใครคนหนึ่งเสียชีวิตหรือไม่ แต่เพื่อจะพิสูจน์หรือหักล้างทฤษฎีนี้ มีผู้สร้างสถานการณ์จำลองใหม่ขึ้นมากรณีหนึ่ง กรณีนี้คล้ายกับสองกรณีข้างต้น ต่างกันเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น

รถรางวิ่งเข้ามา — กำลังจะพุ่งชนคนงาน 5 คน — เรายืนอยู่ข้างสวิตช์ที่จะสับรางให้รถรางเปลี่ยนเส้นทาง ความแตกต่างคือ เส้นทางใหม่นั้นเป็นเพียงแค่การชะลอเวลา เพราะสุดท้ายแล้วรถรางจะวิ่งกลับมาที่เส้นทางหลักและวิ่งชนคน 5 คนเหมือนเดิม แต่เส้นทางใหม่นั้นมีคนงานร่างใหญ่หนึ่งคน ซึ่งร่างของชายผู้นั้นจะหยุดรถราง! พูดง่ายๆ ว่า หากตัดสินใจสับสวิตช์รถราง ก็เท่ากับว่าเจตนาที่ใช้ร่างอันใหญ่โตของชายคนนั้นเป็นเครื่องมือหยุดรถราง มีเจตนาแลก 1 ชีวิตกับ 5 ชีวิตอยู่ดี (แบบดัดแปลงนี้ชื่อว่า the loop, 1987)

 

 

The loop (1987)
The loop (1987)
(ที่มา medium.com)

 

ผลก็คือ คนส่วนใหญ่ยังคงตัดสินใจสับสวิตช์…

นั่นแปลว่า (แค่) เจตนาหรือไม่ อาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว

 

4

 

โจชัว กรีน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือคนหนึ่งที่ขบคิดปัญหานี้อย่างมาก

เขาเห็นด้วยว่าปัจจัยหนึ่งคือจงใจจะทำให้มีคนเสียชีวิตหรือไม่ แต่ก็ยังขึ้นกับว่าตัวผู้กระทำนั้นอยู่ใกล้ชิดกับผู้ถูกกระทำหรือไม่ (ไม่ใช่แค่ในทางจิตใจ แต่ในทางกายภาพด้วย คือตัวอยู่ใกล้ๆ กันหรือไม่)

กรณีของ the fat man นั้น มีทั้งเจตนาและความใกล้ชิด

กรณีของ the loop หรือ the switch นั้น แม้ว่าจะมีเจตนาแต่ไม่ได้มีความใกล้ชิด

เพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ต่อ ใช่แล้วครับ เขาจึงคิด trolley problem ใหม่ขึ้นมาอีก! ซึ่งมีความใกล้ชิดแต่ทำให้ผู้ถูกกระทำเสียชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจ

กรณีนี้คือ คุณกำลังอยู่บนสะพานแคบๆ มองเห็นรถรางกำลังวิ่งเข้ามา มีคน 5 คนอยู่ที่ปลายทางอีกข้าง คุณเหลือบไปเห็นว่าบนสะพานอีกฝั่งหนึ่งนั้นมีสวิตช์เพื่อเปลี่ยนเส้นทางวิ่งของรถราง เส้นทางใหม่นั้นก็ไม่มีคนอยู่ด้วย! ไม่ต้องคิดมากแล้ว คุณต้องวิ่งอย่างเร็วไปสับสวิตช์! ปัญหาก็คือ ดันมีชายร่างใหญ่ขวางทางคุณอยู่บนสะพานแคบๆ นั้น! ถ้าคุณจะวิ่งไปสับสวิตช์คุณจะต้องเบียดเขาตกไปอย่างแน่นอน

ซึ่งคนส่วนมากคิดว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้

เขาคิดว่าเหตุที่การจงใจและความใกล้ชิดกับผู้ถูกกระทำนั้นมีผลต่อการตัดสินใจทางจริยธรรม เป็นเพราะว่า 2 ปัจจัยนั้นน่าจะไปกระตุ้นต่อมความรู้สึกเข้าอย่างแรง

เขานำผู้เข้าร่วมการทดลองมาสแกนภาพถ่ายสมองด้วยเครื่องฟังก์ชันนอลเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจวัดสัญญาณสมองในบริเวณต่างๆ โดยขณะที่กำลังถูกตรวจวัดสัญญาณอยู่นั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องตอบคำถามสถานการณ์ ‘น่ากระอักกระอ่วนทางจริยธรรม’ 60 ข้อ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ คำถามแบบ the fat man เช่น คำถามหมอผ่าตัดกับการเปลี่ยนอวัยวะ คำถามเด็กทารกกับฆาตกร เป็นต้น) และคำถามแบบ the switch (เช่น ลงคะแนนเสียงให้กับนโยบายที่ทำให้คนส่วนน้อยต้องเสียชีวิตแต่รักษาชีวิตของคนส่วนใหญ่ไว้ เป็นต้น)

ผลก็คือ เวลาที่ผู้เข้าร่วมการทดลองตัดสินใจคำถามอย่างกรณี the fat man นั้น สมองที่เกี่ยวข้องกับบริเวณความรู้สึกทำงานอย่างมากเมื่อเทียบกับตอนตัดสินใจคำถามอย่างกรณี the switch ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานของเขา

ทฤษฎีที่โจชัวเสนอกล่าวไว้ว่าการตัดสินใจทางจริยธรรมของคนเรานั้นเกิดจากกระบวนการสองกระบวนการที่ทำงานคู่ขนานกัน (dual-process theory) กล่าวอย่างง่ายๆ ว่า กระบวนการหนึ่งคือกระบวนการตัดสินใจด้วยเหตุผล ส่วนอีกกระบวนการหนึ่งเกิดจากการตัดสินใจด้วยความรู้สึกหรือการตัดสินใจด้วยโดยสัญชาตญาณ โดยเหตุที่ต้องการการตัดสินใจสองระบบนี้เพราะต่างมีข้อดีข้อเสีย การตัดสินใจด้วยการไตร่ตรองนั้นรอบคอบแต่ก็กินเวลาและพลังงาน ส่วนการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณนั้นแม้จะไม่รอบคอบแต่ก็เหมาะสมในเวลาที่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วฉับไว อีกทั้งยังประหยัดพลังงานกว่า (ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการตัดสินใจมนุษย์ของเดเนียล คาร์เนแมน และ เอมอส ไทฟสกี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์)

ทฤษฎีกระบวนการคู่ขนานมีองค์ประกอบสำคัญอยู่อย่างน้อยสามส่วน คือ ส่วนของการตัดสินใจด้วยเหตุผล ส่วนของการตัดสินใจด้วยอารมณ์ และส่วนของการชั่งน้ำหนักระหว่าง 2 ระบบ โจชัวเสนอว่าสมองส่วนของการตัดสินใจด้วยเหตุผล ได้แก่ ตำแหน่งของผิวสมองส่วนหน้าฝั่งด้านนอกค่อนไปทางบนๆ ที่เรียกว่า ดอร์โซแลทเทอร์ราลพรีฟรอนทอลคอร์เทกซ์ หรือ dlPFC (ดอร์โซ แปลว่า ด้านบน, แลทเทอร์ราล แปลว่า ด้านนอก, พรีฟรอนทอลคอร์เทกซ์ คือ สมองส่วนหน้า) ส่วนของการตอบสนองทางอารมณ์คือ อวัยวะส่วนเล็กๆ รูปร่างเรียวๆ ในสมอง ที่เรียกว่า อะมิกดาลา (amygdala) สมองส่วนที่การชั่งน้ำหนักว่าจะตัดสินใจนั้นคือ สมองส่วน เวนโทรมีเดียลพรีฟรอนทอลคอร์เทกซ์ หรือ vmPFC (เวนโทร แปลว่า ด้านล่าง, มีเดียล แปลว่า ด้านใน)

 

 

Ventromedial prefrontal cortex
Ventromedial prefrontal cortex
(ที่มา researchgate.net)

 

5

 

อีเลียตโตขึ้นมาในฟาร์มกับน้องอีกสี่คน เขาเป็นเด็กแข็งแรง เรียนดี และเป็นที่รักของเพื่อนๆ หลังจบมัธยมปลาย เขาแต่งงานและเข้าทำงานเป็นนักบัญชี เขามีลูกกับภรรยาสองคนและก้าวหน้าทางการงานอย่างรวดเร็ว เป็นที่ชื่นชมของคนในครอบครัว ชีวิตของเขาดูเหมือนจะเป็นปกติดี

จนกระทั่งอายุได้สามสิบกว่า เขาเริ่มมีปัญหาตามัวและพฤติกรรมเปลี่ยนไป จนต้องไปหาหมอ

ผลการตรวจพบว่า อีเลียตมีก้อนเนื้อตรงฐานสมองส่วนหน้า

ข่าวดีก็คือ ก้อนเนื้อนั้นเป็นเนื้องอกเยี่อหุ้มสมองซึ่งไม่ใช่เนื้อร้าย หลังผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกจากสมองส่วนหน้าของเขา สองอาทิตย์เขาก็กลับบ้านได้

สามเดือนหลังจากนั้น เขาก็กลับไปทำงานตามปกติ เขาตัดสินใจลงทุนกับเพื่อนร่วมงานด้วยเงินที่เก็บออมไว้เกือบทั้งหมด คนในครอบครัวและเพื่อนต่างก็เป็นห่วงและเตือนเขาแต่ก็ไม่เป็นผล ผลสุดท้ายการลงทุนครั้งนั้นล้มเหลว เขาหมดตัวและต้องหางานทำใหม่ อีเลียตเปลี่ยนงานใหม่และถูกไล่ออกในเวลาไม่นานอยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุผลว่า เขาเป็นคนที่ ‘เอื่อยเฉี่อยและทำงานไม่เป็นระบบ’ แม้ว่ากิริยามารยาทและความรู้ความสามารถจะไม่มีปัญหา

เขากลับมาหาหมออีกครั้งเพื่อประเมินว่าพฤติกรรมเขามีอะไรผิดปกติหรือไม่

จิตแพทย์ตรวจร่างกายของเขาไม่พบความผิดปกตินอกไปจากว่า เขาจะสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นเล็กน้อย

ผลการตรวจ IQ test ด้านภาษา อยู่ในระดับสูงถึง 120 และ IQ ทั่วไปอยู่ที่ 108 และมีความจำเป็นเลิศ

แต่ญาติของเขาเล่าว่า เขาดูจะมีปัญหาในการตัดสินใจ เช่นว่า เวลาที่จะต้องตัดสินใจเรื่องง่ายๆ อย่างการออกไปทานข้าวข้างนอก เขาจะเสียเวลาในการตัดสินใจอยู่หลายชั่วโมง เพราะเขาจะถามรายละเอียดมากมายอย่าง รายการอาหาร บรรยากาศร้าน การบริการ ไปยันเรื่องแผนผังที่นั่ง แล้วก็ต้องขับรถไปดูสถานที่หลายๆ แห่ง แต่ก็ยังตัดสินใจไม่ได้ จะซื้อของอะไรก็ตาม แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่

สุดท้ายคุณหมอคิดว่าเขาไม่ได้มีปัญหาทางจิต จึงส่งตัวเขาไปหาหมอระบบประสาทท่านหนึ่งชื่อ แอนโทนีโอ ดาร์มาซิโอ

หมอแอนโทนีโอ ไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจนใดๆ ทางการตรวจประเมินเบื้องต้น แต่เพื่อจะประเมินปัญหาการตัดสินใจของอีเลียต เขาเล่าเหตุการณ์สมมติหนึ่งในอีเลียตฟัง

“ชายคนหนึ่งเข้าไปในร้านขายของชำและขโมย นม เนย ขนมปัง แต่ถูกจับได้ ปรากฏว่าเขาไม่มีเงินติดตัวเลย และที่เขาขโมยของก็เพราะเขาจะนำไปให้ลูกๆ เขาสามคนที่กำลังหิวข้าว เขาทำถูกหรือเปล่าครับ?”

“ไม่ถูก ของพวกนั้นไม่ใช่ของของเขา ทำแบบนั้นก็เท่ากับเป็นการขโมย ผิดหลักการ ถ้าเขาอยากได้จริงๆ ก็ต้องหาวิธีอื่น ถามดีๆ ขอดีๆ ไม่ใช่ไปขโมยออกมาแบบนั้น” อีเลียตตอบ

อีกกรณีหนึ่ง

“คนสองคนติดอยู่บนเกาะลำพังเป็นเวลานานจนอาหารหมด ชายคนหนึ่งจึงฆ่าเพื่อนเพื่อความอยู่รอด พอสุดท้ายกลับมาจากเกาะได้ เขาก็เริ่มฝันร้ายซ้ำๆ และล้มป่วยด้วยอาการทางจิต จิตแพทย์ปฏิเสธที่จะให้การรักษา เขาทำถูกหรือผิดครับ?”

“ผิดครับ เพราะจิตแพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจว่าใครควรจะได้รับการรักษาหรือไม่”

ผู้ทดสอบลงความเห็นว่าเป็นการตอบที่สมเหตุสมผล

 

 

รูปรอยแผลในสมองส่วน vmPFC ของอีเลียต
รูปรอยแผลในสมองส่วน vmPFC ของอีเลียต
(ที่มา Neurology 1985)

 

ผลการตรวจภาพถ่ายสมองพบแผลซึ่งเป็นผลจากการผ่าตัด ในสมองส่วนหน้าด้านล่างของเขา (vmPFC) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจด้วยการใช้สัญชาตญาณ

อีเลียตอาจจะตอบคำถามสถานการณ์จำลองได้อย่างมีตรรกะ (อาจเป็นเพราะสมองในส่วนวิเคราะห์ตรรกะของเขาอย่าง dlPFC ไม่ได้รับการกระทบกระเทือน) แต่น่าสนใจว่าในสถานการณ์ชีวิตประจำวันอย่างการเลือกซื้อของหรือร้านกินข้าว เขากลับไม่สามารถตัดสินใจได้

นั่นเป็นเพราะ ในสถานการณ์ปกติของคนเรานั้น เรามักไม่ได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอที่จะให้วิเคราะห์ตัดสินใจด้วยตรรกะได้ ส่วนมากเราจะมีเพียงข้อมูลเพียงบางส่วน หากเราต้องการจะใช้ตรรกะเท่านั้น เราคงจะต้องใช้เวลาตัดสินใจเป็นเวลานาน หรือคงต้องออกไปเก็บข้อมูลมาเพิ่ม (อย่างที่อีเลียตต้องขับรถออกไปดูสถานที่ก่อนจะตัดสินใจได้ว่าจะไปกินข้าวที่ไหนดี)

คำถามคือ หากคนอย่างอีเลียตตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความน่ากระอักกระอ่วนทางจริยธรรมล่ะจะเป็นอย่างไร? หาก vmPFC คือตำแหน่งของสมองที่ทำหน้าที่ชั่งน้ำหนักระหว่างการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณและตรรกะจริงๆ ผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ vmPFC อย่างอีเลียตจะตอบคำถามของ trolley problem แบบไหนกัน?

แอนโทนีโอรวบรวมอีเลียตและผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ vmPFC แบบคล้ายๆ กันรวม 6 คน มาศึกษาการตัดสินใจด้วยการให้ตอบคำถามชุดเดียวกับที่โจชัว กรีนใช้ในการทดลองของภาพถ่ายรังสีสมอง (ซึ่งประกอบไปด้วยคำถามแบบ the fat man กับ the switch) และนำผลไปเปรียบเทียบกับคนปกติและคนที่มีแผลในสมองในตำแหน่งอื่นๆ ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ vmPFC มีแนวโน้มที่จะเลือกสละชีวิตของหนึ่งคนเพื่อรักษาชีวิตของคน 5 คนมากกว่าคนปกติที่ไม่มีโรคทางสมอง หรือเมื่อกระทั่งเมื่อเทียบกับคนไข้โรคสมองในตำแหน่งอื่นๆ

ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานว่า vmPFC นั้นมีความจำเป็นต่อการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณจริงๆ

 

6

 

ปัญหาปริศนารถรางนี้ เป็นแค่สถานการณ์จำลอง ซึ่งคงไม่เกิดขึ้นในชิวิตจริง และน่าสงสัยว่า หากเกิดขึ้นในชีวิตจริง จะมีคนที่สับสวิตช์เพื่อแลก 1 ชีวิตกับ 5 ชีวิตจริงๆ สักกี่คน (แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะตอบว่าสับสวิตช์เป็นเรื่องที่ควรทำ)

ถึงกระนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ทำนองเดียวกันนี้หรือความกระอักกระอ่วนทางจริยธรรมแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง

ในอนาคตอันใกล้นี้ เรากำลังจะมียานพาหนะขับขี่ไร้คนขับ แน่นอนว่า ผู้โปรแกรมการขับขี่ย่อมต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ แต่อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และเมื่อถึงเวลานั้นเราย่อมต้องตัดสินใจว่าจะให้รถขับขี่อัตโนมัตินั้นทำอย่างไร

ถ้าถนนเลนหนึ่งมีเด็ก อีกเลนคือคนชรา

เลนหนี่งคือผู้ชาย อีกเลนคือผู้หญิง

เลนหนึ่งคือคุณครู อีกเลนคือคุณหมอ

ฯลฯ

 

หรือหากพูดถึงผู้มีอำนาจ ซึ่งต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ นโยบายที่จะมีผลกระทบต่อคนหมู่มาก ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะประสบกับสถานการณ์ที่ตัดสินใจลำบาก

ดังนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการศึกษา trolley problem จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า คนส่วนมากตัดสินใจอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ แต่กลับอยู่ที่สิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการการตัดสินใจของเราต่างหาก

สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้ว่าคุณธรรมจริยธรรมของคนเรานั้นไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนเชื่อ

ตอนที่ฟังเรื่องนี้ครั้งแรก ผมเองก็เลือกที่จะสับสวิตช์แต่ไม่ผลักชายร่างใหญ่ หากถามถึงเหตุผลว่าทำไมผมถึงคิดว่าควรสับสวิตช์ ผมจะตอบว่าถ้าต้องเลือกรักษา 5 ชีวิตย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า (หรือเลวร้ายน้อยกว่า) แต่หากถามผมว่าแล้วทำไมผมถึงไม่ผลักชายร่างใหญ่ ผมคงจะบอกว่า ผมไม่อยากจะรู้สึกผิดว่าผมมีเจตนาฆ่าคนไปตลอดชีวิต

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วทั้งสองเหตุผลนั้นต่อให้สลับที่ก็กันก็เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นไม่แพ้ของเดิม (คือ ไม่สับสวิตช์เพราะกลัวรู้สึกผิด และ ผลักเพราะว่ารักษา 5 ชีวิตย่อมสำคัญกว่า)

การที่คนคนเดียวกันสามารถตัดสินใจทั้งทำและไม่ทำได้ด้วยการเปลี่ยนรายละเอียดของเรื่องราวเพียงเล็กน้อย บอกกับเราว่า เรามิได้เป็น ผู้มีคุณธรรมจริยธรรมผู้ซื่อตรงต่อความคิด, หลักการและเหตุผล อย่างบริสุทธิ์อย่างที่เราหวังหรือเข้าใจ ที่สุดแล้วคุณธรรมจริยธรรมของมนุษย์เรานั้นก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของความรู้สึกลึกๆ หรือสัญชาตญาณของเราด้วยโดยที่ไม่รู้ตัว

อย่างน้อยการที่เรารู้เท่าทันว่าการตัดสินใจของเรามีสองกระบวนการ น่าจะทำให้เราตัดสินใจได้รอบคอบขึ้น

หากสัญชาตญาณนั้นหล่อหลอมขึ้นจากประสบการณ์และเหตุการณ์ชีวิตในอดีต จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนที่เป็นคนมีตรรกะสมบูรณ์แบบสองคนจะสามารถมีจุดยืนหรือมุมมองทางจริยธรรมแตกต่างกัน และทำไมการหักล้างกันด้วยเหตุผลและตรรกะต่อให้ดีเพียงใด บางครั้งบางคราวก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเห็นของอีกฝากฝ่ายได้

และหากเรายอมรับว่า สังคมในอุดมคติไม่ใช่สังคมที่จะมีเพียงชุดความคิดใดความคิดหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสังคมที่มีที่ยืนให้ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย การสร้างบรรยากาศหรือความรู้สึกของการยอมรับจุดยืนที่แตกต่างมีความสำคัญอย่างมาก

เพราะสุดท้ายแล้ว การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้

ต่อให้ ‘เหตุผลและตรรกะ’ จะหนักแน่นเพียงใด

ต้องเปิดประตู ‘ความรู้สึก’ ให้สำเร็จเสียก่อน

 

 

อ่านเพิ่มเติม

  1. Greene JD. Solving the trolley problem. A companion to experimental philosophy. 2016 May 5:175-8.
  2. Greene JD, Sommerville RB, Nystrom LE, Darley JM, Cohen JD. An fMRI investigation of emotional engagement in moral judgment. Science. 2001 Sep 14;293(5537):2105-8.
  3. Eslinger PJ, Damasio AR. Severe disturbance of higher cognition after bilateral frontal lobe ablation: patient EVR. Neurology. 1985 Dec 1;35(12):1731-.
  4. Koenigs M, Young L, Adolphs R, Tranel D, Cushman F, Hauser M, Damasio A. Damage to the prefrontal cortex increases utilitarian moral judgements. Nature. 2007 Apr;446(7138):908-11.
  5. Greene JD. Moral tribes: Emotion, reason, and the gap between us and them. Penguin; 2013.
  6. Damasio AR. Descartes’ error. Random House; 2006.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save